ข้าวโพด สาเหตุแห่งการทำลายป่า น้ำแล้งและหมอกควันพิษ

คนในสังคมหลงเชื่อมานานแล้วว่า ปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนืออันเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้ง มาจากการเผาป่าเพื่อหาเห็ด หาผักหวานของชาวบ้าน แต่สาเหตุสำคัญคือการเผาซากไร่ข้าวโพด และเผาป่า

เพื่อทำไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง เราเผาป่าต้นน้ำหลายล้านไร่เพื่อเปลี่ยนเป็นข้าวโพด ทำอาหารสัตว์ ส่งออกขายเมืองนอกทำกำไรให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเกษตรมหาศาล กับสิ่งที่แลกมาคือ หมอกควันพิษ ดินถล่ม น้ำท่วม น้ำแล้ง และความยากจนเป็นหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย

หลายปีก่อน เคยขับรถมุ่งหน้าจากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไปสู่อำเภอสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คืออำเภอแม่แจ่ม หนทางคดเคี้ยว แต่สองข้างทางเป็นภูเขาป่าใหญ่ บางช่วงมีลำธารทอดขนานไปกับถนน

เห็นสภาพป่าแล้วต้องไขกระจกรถออกมาสูดอากาศและชมความสมบูรณ์ความเขียวขจีของป่าต้นน้ำ จำได้ว่าเคยหยุดพักทอดสายตาดูแม่น้ำแม่แจ่ม ไหลผ่านอำเภอแม่แจ่มและไปออกสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอฮอด

แต่วันนี้หากใครเดินทางไปแถวนั้น จะเห็นภาพจำได้ติดตาคือ ภูเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตา

ผู้บุกรุกเผาป่า ถางป่าเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไร่ข้าวโพด พอหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็เผาซากไร่เพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่

ปัจจุบันแม่แจ่มจึงเป็นหุบเขาแห่งข้าวโพด (corn valley) กลายเป็นอำเภอที่มีปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าและซากไร่แห่งหนึ่งของประเทศจากการติดตามและรวบรวมสถิติจุดที่ตรวจพบความร้อน หรือจุดที่เกิดไฟ (Hotspot) ของทางการพบว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าอำเภอแม่แจ่ม มีจำนวนมากถึง ๔๖ จุด โดยพื้นที่เผานั้น ส่วนใหญ่อยู่ในไร่ข้าวโพดซึ่งมีประมาณ แสนกว่าไร่ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำในระบบเกษตรแบบใหม่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จ ชาวไร่ต้องรีบกำจัดซากไร่ ตอซังข้าวโพด ฯลฯ ด้วยวิธีการที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด และไม่จำเป็นต้องใช้ทุนใด ๆ คือการเผาทิ้ง

เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการผลิตรอบใหม่ การเผาจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันแทบจะทุกพื้นที่เพราะต่างคนต่างก็เร่งที่จะกำจัดขยะและเริ่มทำการเพาะปลูกในรอบต่อไปให้เร็วที่สุด

เพื่อที่จะรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปขายให้พ่อค้าก่อนชาวไร่รายอื่นจะนำผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาด

เมื่อผลิตมาก ราคาก็ตก ผลประโยชน์ก็อยู่กับพ่อค้าเต็ม ๆ ขณะที่ต้นทุนราคาเมล็ดพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย คงที่ เป็นคำตอบว่าทำไมชาวไร่ที่หันมาทำไร่ข้าวโพด จึงมีฐานะยากจนไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ป่าถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

Image

และมีข้อสังเกตว่า หากราคาข้าวโพดปีใดสูงขึ้น การเผาก็จะมีมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศมีมากเกือบ ๓๐๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ปกติกำหนดให้ไม่เกิน ๑๒๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานเกือบสามเท่า

หากย้อนหลังไปดูสถิติย้อนหลัง จะพบว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ปริมาณฝุ่นละอองทางภาคเหนือมีประมาณร้อยกว่าไมโครกรัม เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการบุกรุกป่า เผา ถางเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา

รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจนถึงสมัยคสช.ในปัจจุบัน ได้สนับสนุนพืชเศรษฐกิจสำคัญสี่ชนิด คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ตามคำร้องของสภาหอการค้าไทย

และเมื่อเปิดดูรายชื่อของประธานสภาหอการค้าไทย ก็คือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลรายใหญ่ ขณะที่รองประธานคนหนึ่งคือ ผู้ใหญ่ในบริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ จึงพร้อมใจกันส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก และธนาคารของรัฐก็ปล่อยกู้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกพืชเหล่านี้ และในบางพื้นที่

ข้าราชการกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดอีกต่างหาก โดยมีบริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และการประกันราคาพืชผล หรือที่รู้จักกันในนามของเกษตรแบบพันธะสัญญา (Contract Farming)

หลายครั้งที่ผมเดินสำรวจป่าบนภูเขา พบต้นไม้ใหญ่ถูกตัดและเผาทิ้งเป็นถ่าน เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่า มีเจ้าหน้าที่บริษัทเอาเมล็ดพันธุ์มาให้บอกแค่ว่า ปีนี้ปลูกได้ ๖๐๐ กิโล ปีหน้าขอเป็น ๘๐๐ กิโลนะ จะรับซื้อหมด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องถางป่าเพิ่มผลผลิต

หากรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพด ไม่มีการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ไม่มีการรับซื้อจะมีชาวบ้านรายใดกล้าขยายพื้นที่ บุกรุกเผาป่าหลายล้านไร่ โดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่กล้ายุ่ง

สิ่งที่ตามมาคือ คนเชียงใหม่ มีอัตราการป่วยของมะเร็งปอดสูงกว่ากรุงเทพมหานครและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องหมอกควัน มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ๙ เท่า โรคหลอดเลือด โรคตาอักเสบและโรคผิวหนังอักเสบ มีผู้เข้ารับการรักษาวันละ ๑๐,๐๐๐ คน

ภาคเหนือของประเทศ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ ๕.๖ ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ป่าเกินครึ่ง นั่นหมายความว่า มีภูเขาหัวโล้นประมาณ ๓ ล้านไร่ การส่งเสริมให้บุกป่าปลูกพืชไร่ ไม่ได้มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้นแต่ยังลุกลามไปในประเทศพม่า ลาว จีน กินอาณาบริเวณหลายล้านไร่

ในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ คณะรัฐมนตรีไทยมีมติ ให้ดำเนินงาน Contract Farming บริเวณชายแดน ประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี กำหนดพื้นที่นำร่อง ๓ ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ๘ ชนิด

ที่สำคัญคือ ข้าวโพด คนในวงการทราบดีว่า ผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรกรรมของไทยที่มีอยู่ไม่กี่ราย

ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นถึงจุดที่เกิดไฟ ตามบริเวณประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ก็สันนิษฐานได้เลยว่า ปัญหาหมอกควันพิษเช่นเดียวกับบ้านเราคือการเผาป่า เผาซากไร่ข้าวโพดในอนาคตการทำลายป่าต้นน้ำเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด จะทำให้แม่น้ำปิง วัง ยม น่านขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง

เราทราบกันมานานแล้วว่า ป่าต้นน้ำมีความสำคัญมาก ในพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ เมื่อฝนตกลงมา ร้อยละ ๘๐ ของปริมาณน้ำฝนจะถูกกักเก็บไว้ในป่า ที่เหลือจะถูกไหลลงมาสู่สายน้ำ และค่อย ๆ ปล่อยน้ำซึมไหลออกมาตามลำธารทำให้แม่น้ำมีน้ำมาเติมตลอดในช่วงหน้าแล้ง ที่ไม่มีฝนตกมาหลายเดือนเลย

แต่เมื่อป่าต้นน้ำกลายเป็นไร่ข้าวโพด เป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกลงมา น้ำส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ข้างล่างหมด ไม่มีป่าคอยกักเก็บน้ำ พอถึงหน้าแล้ง จะไม่มีน้ำในแม่น้ำอีกต่อไป

ดังนั้นในอนาคต อย่าได้แปลกใจหากหน้าแล้ง แม่น้ำปิงน้ำอาจจะแห้งเหือด เพราะน้ำจากป่าต้นน้ำอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ไหลลงสู่แม่น้ำปิงมากที่สุด แต่ป่าในอำเภอแม่แจ่มกำลังถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ไม่นับปัญหาดินถล่มจากภูเขาเพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่มีรากคอยยึดผืนดินไว้เมื่อฝนตกหนัก และปัญหาน้ำท่วมบนที่ราบฉับพลัน เพราะไม่มีป่าใหญ่บนภูเขาคอยซับน้ำไว้

แม่น้ำน่านก็เช่นกัน เมื่อป่าต้นน้ำเมืองน่านหายไปล้านกว่าไร่แล้ว เพื่อเปลี่ยนเป็นทุ่งข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ และมีความเป็นไปได้ ในอนาคตแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือกำเนิดมาจากแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ก็จะขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ส่งผลให้น้ำทะเลทะลักเข้ามา จะสร้างอีกกี่เขื่อนก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง

น่าอนาถใจที่เราเปลี่ยนพื้นที่ป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์หลายล้านไร่ ที่ให้อากาศบริสุทธิ์ ให้น้ำ ให้ความสมบูรณ์กลายเป็นไร่ข้าวโพดนำมาแปรรูปเป็นอาหารให้หมู เป็ด ไก่ ปีละร่วม ๕ ล้านตัน

และสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหารสำเร็จรูปเพื่อบริโภคภายในและเป็นสินค้าส่งออก สร้างความร่ำรวยกำไรมหาศาลให้กับหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และภูมิใจกันว่า เราคือแหล่งอาหารโลก เราคือครัวของโลก

ไร่ข้าวโพดที่ต้องเผาซากไร่ เผาป่า มีส่วนทำให้ลูกหลานเราสูดอากาศเป็นพิษ ทำให้น้ำในสายน้ำเหือดแห้ง ทำให้เกิดดินถล่ม และเกิดไฟป่า

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรหลายบริษัท พวกท่านสบายใจดีอยู่ใช่ไหม

หัวใจพวกท่านทำด้วยอะไรครับ

สารคดี เมษายน 2558

Comments

  1. ปวลี เลิศศุภานนท์

    เรื่องนี้จริงที่สุด เพราะอยู่เชียงใหม่ เป็นอย่างที่เขียนเลย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลยอมได้อย่างไร ทำลายโลกจริงๆ เห็นแก่ตัวมากๆ

  2. สมเกียรติมีธรรม

    บทความคุณวันชัย..บทนี้ดูว่าจะเขียนด้วยอารมณ์มากไปจนขาดข้อมูลที่ถูกต้อง ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ..ไม่ใช่เรื่องที่ว่าสังคมเชื่อว่าสาเหตุการเผามาจากหาของป่า ฯลฯ หรอกครับ…แต่เขาอยู่กับความจริง..ไม่ได้นั่งเทียนเขียนส่งเดชอย่างที่คุณวันชัยเขียนในบทความนี้ จนทำให้ชาวอำเภอแม่แจ่มเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อความนี้ “…ปัจจุบันแม่แจ่มจึงเป็นหุบเขาแห่งข้าวโพด (corn valley) กลายเป็นอำเภอที่มีปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าและซากไร่มากที่สุดในประเทศ…” ซึ่งส่อแสดงว่าคุณวันชัยไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย..จนมองว่าแม่แจ่มเป็บหุบเขาข้าวโพด เผาป่ามากที่สุดในประเทศ…แน่นอนครับถ้าในระดับจังหวัดเชียงใหม่ แม่แจ่มถือว่ามากกว่าทุกอำเภอ…แต่ถ้าในระดับประเทศแล้ว แม่แจ่มมองไม่เห็นฝุ่นหรอกครับหากเทียบจังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ น่าน ตาก เชียงราย ฯลฯ

    สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คุณวันชัย..ไม่เคยมีปัญญาเสนอทางออกต่อปัญหาเหล่านี้ ดีแต่วิจารณ์อย่างขาดข้อมูลในการวิเคราะห์ และไม่มีความอาจหาญทางจริยธรรมที่จะเอ่ยชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพีแม้แต่น้อย

  3. สมชาย มีจรรยา

    อย่าบอกว่าที่เชียงใหม่ ปัญหาหมอกควัน มาจากการเผาป่าของชาวบ้าน
    นายสมเกียรติมีธรรม แกมันมั่วแล้ว แกร้อนตัวแทนซีพีทำไม

  4. The Side Story

    สวัสดีค่ะ คุณวันชัย ตัน

    พอดีดิฉันได้ไปลงพื้นที่จังหวัดน่านมาค่ะ
    ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่นั่นและชาวบ้าน

    อยากจะแชร์สิ่งที่ได้พบที่นั่นให้คุณวันชัย ตันลองอ่านดูค่ะ

    ขอบพระคุณมากค่ะ
    The Side Story
    FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory

  5. The Side Story

    ต้องขอโทษด้วยค่ะ เผลอกด โดยที่ยังไม่ได้ส่ง link ส่งที่อยากจะแชร์ให้ค่ะ

    http://pantip.com/topic/33883391

    ตามลิ้งค์ด้านบนนี้เลยค่ะ

    ขออภัยในความไม่สะดวกและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
    The Side Story
    FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory

  6. The Side Story

    เรียนคุณวันชัย

    เข้าใจว่า เมื่อวานอินเตอร์เน็ตของดิฉันน่าจะมีปัญหา จึงไม่สามารถแปะลิงค์
    ที่อยากจะแชร์ข้อมูลได้ค่ะ ดิฉันจึงขอแปะลิงค์อีกครั้งค่ะ

    http://pantip.com/topic/33883391

    ทั้งนี้ต้องขออภัยในความไม่สะดวกและขอขอบพระคุณมากค่ะ
    The Side Story
    FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory

  7. The Side Story

    จากแพะภูเขาถึงล่องแก่งน้ำว้ากับความเข้าใจในการแก้ปัญหาสังคม

    ครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์เคยเล่านิทานให้ฟังว่า มีคนเอาพันธุ์แพะภูเขาที่เลี้ยงง่ายและให้ลูกดกไปให้ชาวบ้านในหมู่บ้านลองเลี้ยง และบอกกับชาวบ้านว่า
    ต่อไปแพะจะเพิ่มจากไม่กี่สิบตัวเป็นร้อยเป็นพันตัว ทำให้ชาวบ้านร่ำรวย แต่พอถึงสิ้นปี แพะกลับเหลือไม่กี่ตัว เพราะที่เหลือถูกชาวบ้านกินหมดแล้ว คนที่เอาแพะไปให้ก็สงสัยว่า ทำไมชาวบ้านพูดไม่รู้เรื่อง ก็บอกอยู่ว่า แพะพวกนี้จะทำให้พวกเขารวย
    จริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็พอจะเข้าใจสิ่งที่เขาพยายามบอก แต่ชาวบ้านยากจน ต้องเอาแพะมากินเพื่อให้ชีวิตรอดก่อน

    นิทานที่เจ้าสัวเล่ามาพยายามจะบอกอะไร?

    ไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเมืองน่าน เมืองน่านและหลายจังหวัดในภาคเหนือกำลังประสบปัญหาการเผาทำลายป่า แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาทั้งปราบปราม ทั้งรณรงค์ให้ความรู้ถึงผลเสียของการบุกรุกทำลายป่า เผาป่าสักแค่ไหน ก็ไม่เป็นผล

    ทำอย่างไรได้ล่ะ เหตุผลร้อยแปดที่ว่ามา ไม่ใช่ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ แต่ท้องมันร้อง ลูกเต้ายังต้องกินต้องใช้ เขาก็จำเป็นต้องทำ
    ชาวบ้านที่นี่ก็คงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกับชาวบ้านในนิทานที่เจ้าสัวเล่าให้ฟัง…

    จังหวัดน่านภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาถึง 85% (ความลาดชันเกินกว่า 30 องศา) ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด พื้นที่ราบลุ่มมีน้อย ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ถึง 85% อยู่ในภาคการเกษตร ปัญหาการขาดพื้นที่ทำกินจึงเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดน่านที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะปัญหาการรุกป่า และปัญหาหมอกควัน

    แทนที่จะมองว่า ชาวบ้านไม่เข้าใจที่เราพยายามจะบอก ที่พยายามจะให้ความรู้ว่า การรุกป่ามันไม่ดี พวกเราคนเมืองทั้งหลายเองหรือเปล่าที่ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง?

    …ไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านเขาก็ต้องมีรายได้
    …ไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านก็มีลูกเต้าต้องเลี้ยง
    …ถ้าไม่ให้เขาขึ้นไปเพาะปลูกบนภูเขา แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนกิน?

    เมื่อไม่เข้าใจ ก็แก้ไขปัญหากันไม่ตรงจุด ตีความไปว่า ชาวบ้านไม่มีความรู้ ก็เลยส่งคนไปพูดให้ฟัง ทำเอกสาร แผ่นป้ายรณรงค์มากมาย หรือถ้าใครตีความในมิติทางกฎหมาย ก็อาจจะไปแก้โดยการปราบปราม ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับเสียให้หมด

    ผู้เขียนได้มีโอกาสไปคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ พบความจริงที่ว่า การไล่จับชาวบ้านไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แถมเจ้าหน้าที่อาจจะเจอปัญหาเข้าเสียเองอีกต่างหาก

    ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ไปจับกุมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่จะถูกชาวบ้านทั้งชุมชนเกลียดชัง อย่าหวังเลยว่า ไปตลาดแล้วจะมีคนขายของให้ ครอบครัวของเจ้าหน้าที่เองจะถูกรังเกียจ ความปลอดภัยก็จะไม่มีอีกต่อไป อยู่ได้ไม่เป็นสุข เจ้าหน้าที่ที่ทนรับสภาพไม่ไหว ลาออกไปก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

    ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกมองว่า เป็นศัตรูกับชาวบ้านเสียแล้ว ก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือ ปัญหาก็ไม่มีทางได้รับการแก้ไข
    เมื่อไม่เข้าใจ ก็ตีความผิด ตีความผิดก็แก้ปัญหาผิด ไม่จบไม่สิ้น

    ผู้เขียนได้ติดตามทีมงานโครงการธรรมชาติปลอดภัย (กลุ่มคนเล็กๆ ที่ผู้เขียนต้องยกนิ้วให้ในความอึด ถึก ลุย และมีความเพียรขั้นสูงจากกลุ่มธุรกิจครบวงจร :ข้าวโพด) ขึ้นไปที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ดูสภาพพื้นที่ พบว่า มีการรุกป่า เผาป่าอยู่จริง และข้าวโพด ก็คือ พืชที่มักถูกกล่าวอ้างถึงว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุของรุกป่าที่ว่านี้

    อันที่จริงแล้ว การปลูกข้าวโพดบนภูเขานั้นได้ผลผลิตต่ำและเสี่ยงอันตราย (ปลูกๆ อยู่ ตกเขา เสียชีวิต ก็มีบ่อยๆ) แต่เราจะไปห้ามเกษตรกรเขาปลูกแบบตรงๆ ก็คงไม่ได้ ชาวบ้านไม่ฟังเราแน่ๆ แถมจะไล่ตะเพิดกลับมาอีก เพราะไปขัดขวางทางหารายได้เลี้ยงครอบครัว

    หัวหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ที่ 2 จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เมืองน่านนี้มานาน มองเห็นปัญหา และรู้ว่า รากเหง้าของปัญหานั้นคือ เรื่องของปากท้อง การแก้ไขปัญหาด้วยการปราบปรามนั้นทำได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อท้องหิว ชาวบ้านก็ขึ้นมารุกป่าอีกอยู่ดี

    แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสมัครใจเลิกรุกป่า ลงมาจากภูเขาเอง?

    กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ชื่อว่า “ล่องแก่งน้ำว้าแม่สะนาน” จึงเกิดขึ้นภายใต้การนำของหัวหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ที่ 2 จังหวัดน่าน และการมีส่วนร่วมเล็กๆ จากโครงการธรรมชาติปลอดภัยในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนคนต้นน้ำ เป็นอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้านทดแทนการขึ้นไปรุกป่าทำการเกษตรบนภูเขา

    “ล่องแก่งน้ำว้าแม่สะนาน” จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจท่องเที่ยว แต่เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคม
    ที่นี่นอกจากจะให้ความสนุกตื่นเต้นในแบบที่ใกล้ชิดธรรมชาติแล้ว ใครที่ได้ไปยังได้มีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชาวบ้านเลิกรุกป่าและหันมาร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

    จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา ต้องมาจากความเข้าใจ จริงๆ…

    ปล.ต้องขออภัยอีกครั้งค่ะ เนื่องจากดิฉันไม่สามารถแปะลิงค์ได้ จึงขอแปะเนื้อหามาแชร์แทนค่ะ

    ต้องขออภัยในความไม่สะดวกและขอขอพระคุณมากค่ะ
    The Side Story

  8. คนตัวเล็ก ที่เจียงใหม่

    ขอบคุณที่กล้าหาญค่ะ นายทุนพวกนี้ไม่เคยมีจริยธรรมเพราะคิดว่า ทำผิดลายทิ้งได้ นอกจาก เอาข้าวโพดขึ้นภูเขา ทำลายทิ้งผืนป่า ไม่ช่วยเหลือแนะนำให้ชาวบ้านหยุดเผา เพียงเพื่ออยากได้ต้นทุนต่ำๆ ไม่สนคำครหา เพราะ เอาเงินซื้อได้ทุกอย่าง

    รัฐก็ไม่จริงใจแก้ปัญหา ในหลวงท่านสอนให้ปลูกป่า อยู่กับป่า ไม่ใช่ทำลายทิ้งอยู่กับกองดินเสื่อม
    เกษตรที่สูง ปล่อยให้ปลูกข้าวโพด รัฐต้องรับผิดชอบ นโบบายทำร้ายประชาชน

    ป่า เป็น ของประชาชน

    เอาเงินภาษีมาช่วยนายทุนแก้คำครหา เขาปลูกกาแฟกันมาหลายสิบปี จู่ๆมันเห็นกำไร รีบเข้ามา ทำสื่อว่า มาส่งเสริมมาสร้างป่า ชอบหลอกหลวงคนด้วยคำว่า CSR เบื้องหลัง คือ บริษัทที่ขอนำเข้ากาแฟ ตปท มากที่สุด ทั้งๆที่เพิ่งทำธุรกิจเพียง 2 ปี

  9. Pingback: Food Matters เรื่องกิน...เรื่องใหญ่ - Shot By Shot - มหาวิทยาลัย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.