วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (Vanchai Tantivitayapitak)นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา พ.ศ. 2554 ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ปัจจุบันเป็น รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และยังทำงานเขียนในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ประวัติ
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2504 เป็นชาวสีลม กรุงเทพมหานคร พ่อแม่เกิดในประเทศจีนและอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่เมืองไทย มีพี่น้อง 7 คน หนึ่งในนั้นคือพี่สาว คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ มด นักต่อสู้เพื่อคนยากคนจน
เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้น ป. 1 จนถึงชั้น ม.ศ. 5 ตอนอยู่ชั้น ป. 7 เริ่มทำกิจกรรมโดยไปช่วยครูประทีป อึ้งทรงธรรม สอนหนังสือที่สลัมคลองเตย พอขึ้นชั้น ม.ศ. 1 ก็หนีพ่อแม่ไปค่ายสร้างโรงเรียนของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ที่จังหวัดสุรินทร์เป็นเวลาเกือบเดือน และกลายเป็นชาวค่ายสร้างโรงเรียนในชนบททุกช่วงปิดเทอมใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนจบการศึกษาจากโรงเรียน ขณะเดียวกันสมัครเป็นนักดนตรีวงดุริยางค์ของโรงเรียน เป่าคลาริเน็ตเสียงหนึ่งมาตลอด และยังได้ร่วมเป็นกองบรรณาธิการของ อัสสัมชัญสาสน์ วารสารรายเดือนของโรงเรียนซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล รุ่นพี่อัสสัมชัญ เป็นสาราณียกร และเคยเป็นกองบรรณาธิการตอน 15 ขวบอายุน้อยที่สุดของนิตยสารวิชาการชื่อดังในเวลานั้นคือ ปาจารยสาร
เรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 3 ไปร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับนักศึกษา จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่หนีรอดออกมาได้ก่อน เมื่อกลับไปเรียนหนังสือก็ถูกครูกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ปี 2521 ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 5 รับตำแหน่งสาราณียกร อุโฆษสาร หนังสือประจำปีของโรงเรียน ช่วงปลายปีทางบ้านประสบปัญหา คุณพ่อล้มละลาย จึงต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นพี่เลี้ยงสอนพิเศษแก่เด็กชั้นประถม
ปี 2522 สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ในช่วงนั้นหารายได้ด้วยการเป็นลูกจ้างของบริษัทเคล็ดไทย ทำหน้าที่แบกหนังสือไปส่งตามร้านค้า และทำกิจกรรมชุมนุมเชียร์ ชุมนุมศิลปการแสดง เขียนบทกำกับละคอนเวทีและงิ้วธรรมศาสตร์
ปี 2526 ทำหน้าที่ฝ่ายโค้ดของชุมนุมเชียร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ได้ทำสิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือการแปรอักษรภาพอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในรอบ 30 กว่าปี ที่มีการแสดงความเคารพท่านในที่สาธารณะ จนอาจารย์ปรีดีมีจดหมายจากฝรั่งเศสแสดงความขอบคุณที่ยังระลึกถึงท่านอยู่
ปี 2527 จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าทำงานในกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ
ปี 2528 ร่วมก่อตั้งนิตยสาร สารคดี และดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารตั้งแต่ พ.ศ. 2533-2553 เขียนสารคดีขนาดยาวลงตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 100 ชิ้น
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ให้นิยามคำว่า บรรณาธิการ ในฐานะบรรณาธิการ สารคดี ว่า เป็นเสมือนกุ๊กปรุงอาหาร ที่ต้องมีศิลปะในการปรุงอาหารให้มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการจะได้มีคนกินมากมาย เพราะหากอร่อยอย่างเดียวก็เหมือนอาหารขยะ หรือหากมีแต่คุณค่าทางโภชนาการแต่รสชาติจืดชืดก็แทบจะไม่มีคนกิน ซึ่งการรักษาความสมดุลของทั้งสองอย่างเป็นเรื่องที่ยาก แต่สามารถทำได้และพิสูจน์ให้เห็นจากอายุของนิตยสารและจำนวนผู้อ่านที่ยังเหนียวแน่นอยู่จนถึงปัจจุบัน และเป็นนิตยสารรายเดือนไม่กี่เล่มในประเทศที่ห้องสมุดทุกแห่งบอกรับเป็นสมาชิก มีคนอ่านจำนวนมาก ได้รับการยกย่องจากคนในวงการสื่อสารมวลชนว่า เป็นนิตยสารสาระที่ให้ความรู้ มีคุณภาพสูงสุดเล่มหนึ่งของประเทศ มีความน่าเชื่อถือของข้อมูลจนทำให้เป็นหนังสือที่แหล่งข่าวนำไปอ้างอิงและใช้ประโยชน์ และมีจุดยืนชัดเจนในการแสวงหาความจริง ความดี ความงาม เป็นสื่อกลางให้คนอ่านได้รับรู้ปัญหาของผู้ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคม
ปี 2554 เปลี่ยนสายงานไปสร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย
มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดรายการสารคดีคุณภาพดี ฝีมือคนไทย และสนับสนุนให้นักคิด นักเขียน คนรุ่นใหม่หลายคนได้มีโอกาสมาทำรายการโทรทัศน์ อาทิ นิ้วกลม ปกป้อง จันวิทย์
ทรงกลด บางยี่ขัน โตมร ศุขปรีชา ฯลฯ
22 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีการยึดอำนาจจากฝ่ายทหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และมีคำสั่งให้โทรทัศน์ทุกช่องยุติการออกอากาศ แต่เย็นนั้นสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ได้ออกอากาศแพร่ภาพข่าวการทำรัฐประหารทาง youtube สื่อออนไลน์ นายวันชัย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจาต่อรองกับฝ่ายทหาร เพราะขัดคำสั่ง คสช. เพื่อยืดระยะเวลาการรายงานข่าวให้นานที่สุด ทำให้มีผู้เข้าชมทั้งในและต่างประเทศประมาณ 5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วไป ในการยืนหยัดรายงานข่าวช่วงวิกฤติอย่างกล้าหาญ แสดงจุดยืนของความเป็นทีวีสาธารณะได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อต้องยุติการออกอากาศ นายวันชัยได้ถูกทหารควบคุมตัวไปในข้อหาขัดคำสั่งคสช.ที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถือเป็นคนแรกที่ถูกทหารควบคุมตัวไปภายหลังการทำรัฐประหาร
รางวัล
- พ.ศ. 2536 หนังสือเรื่อง “ก่อนจะไม่มีลมหายใจสำหรับพรุ่งนี้” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2548 หนังสือเรื่อง “จากคลองด่านถึงเชียงดาว ความจริงที่หายไป” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีจากงานสัปดาห์หนังสือ
- พ.ศ. 2548 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัล The First Penguin Award จากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC จัดขึ้นเพื่อเชิดชูคนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางต่างๆ โดยคัดเลือกจากผู้ที่กล้าเสี่ยงในการบุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่
- พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัล “คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” จากสมาคมนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในโอกาสที่สมาคมฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 50 ปี เพื่อยกย่องบรรณาธิการผู้มีผลงานดีเด่น ประกอบอาชีพบรรณาธิการมาเป็นเวลานาน และได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งต่อสังคมเป็นที่ประจักษ์แจ้ง
- พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัล “ศรีบูรพา” จาก กองทุนศรีบูรพา และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้มีผลงานอันทรงคุณค่าแก่สังคมและมนุษยชาติ
กิจกรรมพิเศษ
2535- 2543 เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2550-ปัจจุบัน รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2537- 2554 ประธานตัดสินข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2546- 2555 ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2544- 2556 รองประธานมูลนิธิโลกสีเขียว
2545-2550 อนุกรรมการป่าเขตร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2546-ปัจจุบัน กรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว สถาบันลูกโลกสีเขียว
2548-ปัจจุบัน กรรมการตัดสินรางวัลหนังสือเซเว่น บุ๊คอวอร์ด
2550-2557 กรรมการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม)
2551-2554 กรรมการหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน สถาบันอิศราฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2553 พิธีกรรับเชิญ รายการ เปลี่ยนประเทศไทย 2563 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผู้บรรยายพิเศษ :
- คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะมัณฑนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- คณะนิเทศศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุนการศึกษาและดูงาน
- พ.ศ. 2537 สอบชิงทุนมูลนิธิเอเชีย ไปดูงานการสื่อสารมวลชนด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 เดือน
- พ.ศ. 2540 ได้รับทุนจากสถานทูตอังกฤษ ไปดูงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 เดือน
- พ.ศ. 2541 สอบชิงทุนจาก British Chevening Scholarships เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศอังกฤษ แต่ได้สละสิทธิ์เพราะเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์ของบริษัทผลงานหนังสือเล่ม
- ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง (2528)
- ชีวิตและความตายของสืบ นาคะเสถียร (2533)
- ก่อนจะไม่มีลมหายใจสำหรับพรุ่งนี้ (2536)
- โลกใบเล็ก (2537)
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 2459-2542 (2542)
- คนกล้า (2544)
- อ้วนแล้วไง (2545)
- คน เขื่อน น้ำ ป่า กาแล็กซี่ (2546)
- ยียวนก๊วนสี่ขา (2546)
- ผมซักฟอก (2547)
- จากคลองด่านถึงเชียงดาว ความจริงที่หายไป (2548)
- ไปเที่ยว ไปทำงาน ( 2548)
- หนังสือรวมบทสัมภาษณ์ 6 เล่ม Thought, Life, Business, Independent, Person, Health
- ผมรวยแล้ว ผมพอแล้ว (2549)
- บันทึกญี่ปุ่น (2549)
- บันทึกอิยิปต์ (2551)
- บันทึกฝรั่งเศส (2552)
- ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เล่ม 1(2553)
- Editor’s note (2553)
- เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ เล่ม 2 (2554)
- เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ เล่ม 3 (2557)
- เอเชียใต้ พระเจ้าไม่หลงลืม แผ่นดินไม่เลือนราง (2558)คติ
- การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว
Comments
Pingback: Small Oasis 2010 « Eco Question – Green Space for Thinking