กลับไปหน้า สารบัญ
อัลไซเมอร์ : มัจจุราชเงียบ
สุทัศน์ ยกส้าน
    วันที่ ๒๑ กันยายนของทุกปี คือวันอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้โลกได้ระลึกและระวังโรคร้ายชนิดนี้ ว่าสามารถทำลายสมองและชีวิตของคนทุกคนได้ ถึงแม้คนคนนั้นจะได้รับการรักษาและป้องกันแล้วก็ตาม ทุกวันนี้ โรคอัลไซเมอร์กำลังคุกคามคนทั่วโลก บุคคลทุกชั้นวรรณะตั้งแต่ประธานาธิบดของสหรัฐ (นายโรนัลด์ รีแกน) จนกระทั่งคนยากจนไร้การศึกษา ก็มีโอกาสเป็นเหยื่อของโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งสิ้น
คลิกดูภาพใหญ่
การทำงานของสมอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สมองของคน ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (ซ้าย) ทำงานน้อยกว่า สมองของคนปรกติ (ขวา) และมีขนาดเล็กกว่ามากด้วย
    โดยทั่วไป อาการเริ่มต้นของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ คือลืมบ่อย เช่นจำไม่ได้ว่าตนวางอะไรไว้ที่ไหน ลืมชื่อคนรู้จัก ลืมนัดที่เคยตกลงกันไว้ สับสนเรื่องทิศทาง เช่น ขับรถผิดทางจราจร หรือเลี้ยวผิดซอย เป็นต้น และเมื่ออาการอัลไซเมอร์กำเริบมากขึ้น หลายคนปฏิเสธอาหาร บ้างก็ไม่ยอมไปห้องน้ำ และเดินหกล้มบ่อย เปิดประตูหรือแต่งตัวเองไม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป แม้แต่หนังสือที่เคยชอบอ่านก็อ่านไม่ออก และเมื่ออาการถึงระดับรุนแรง กล้ามเนื้อ แขน ขา กระเพาะปัสสาวะจะหมดสมรรถภาพในการทำงาน ความนึกคิด อารมณ์และความจำ ความรู้สึกต่าง ๆ จะสูญหายไปจนหมดสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา แล้วจากนั้นก็อาจกินเวลาอีกนาน ๘-๑๐ ปี เขาก็จะตาย
    ดังนั้น สำหรับคนใกล้ชิด ที่เฝ้าพยาบาลคนที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว การติดตามดูความเสื่อมสลายของชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ทารุณจิตใจมาก เพราะผู้เฝ้าดู จะรู้ตัวตลอดเวลาว่ามีอะไรบางอย่างที่ร้ายแรง กำลังทำลายชีวิตของคนที่ตนรัก แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เวลาที่พญามัจจุราชเข้ามาปิดหลอดไฟฟ้าในสมองของคนไข้ ที่เคยติดสว่างเป็นล้าน ๆ ดวงให้ดับไปทุกวัน วันละหลายดวง
    สำหรับความเป็นมาของชื่อโรคชนิดนี้ ประวัติศาสตร์การแพทย์ได้บันทึกว่า เมื่อ ๙๔ ปีก่อนนี้ มีแพทย์ชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Alois Alzheimer ซึ่งทำงานประจำที่มหาวิทยาลัย Johann Wolfgang Goethe ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ได้รายงานการรักษาอาการไข้ของ Auguste D. ว่า บรรดาญาติของสตรีผู้นี้ ได้นำนางไปเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลโรคจิตก่อน ด้วยทุกคนมีความเห็นว่า เธอกำลังเสียสติ เพราะมีอาการความจำเสื่อม และมีความรู้สึกอิจฉาริษยาสูง แต่เมื่อ Alzheimer ได้ทดสอบอาการด้านจิตใจของคนไข้วัย ๕๑ ปีผู้นี้ เช่น ถามชื่อเสียงเรียงนาม และชื่อสามี Auguste D. ก็ไม่สามารถตอบได้เลย หลังจากที่พำนักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานสี่ปี นางก็ถึงแก่กรรม เมื่อ Alzheimer ผ่าสมองของเธอ เพื่อตรวจดูสภาพภายใน เขาก็ได้พบว่า สมองส่วนที่เรียกว่า hippocampus ซึ่งทำหน้าที่จำนั้น มีปมพังผืด (plaque) มากกว่าสมองของคนธรรมดา รายงานการแพทย์ที่หนา ๓๒ หน้าฉบับนั้นจึงถือได้ว่า เป็นรายงานโรคอัลไซเมอร์ฉบับแรกของโลก
คลิกดูภาพใหญ่
การทดสอบว่า ใครจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือไม่โดยใช้ยาหยอดตา แพทย์พบว่า เวลาตาได้รับยาหยอด ตาดำของคนปรกติ จะขยายขนาดเพียง ๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ตาดำจะขยาย อย่างน้อย ๑๓ เปอร์เซ็นต์
   สถิติที่แพทย์ได้จากการตรวจรักษาโรคอัลไซเมอร์ แสดงให้เห็นว่า ๑ ใน ๒๐ ของคนที่มีอายุ ๗๕-๘๔ ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และ ๑ ใน ๕ ของคนที่มีอายุเกิน ๘๕ ปีก็จะเป็นโรคชนิดนี้เช่นกัน ส่วนคนที่อยู่ในวัย ๔๐-๗๐ ปี สถิติการเป็น คือ ๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อศตวรรษก่อนนี้ ประชากรโลกน้อยกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์มีอายุเกิน ๖๕ ปี ณ วันนี้ประชากร ๗ เปอร์เซ็นต์ มีอายุเกิน ๖๕ ปี และอีก ๕๐ ปี ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ของพลโลกจะมีอายุเกิน ๖๕ ปี และนั่นก็หมายความว่า ในอนาคต โลกจะถูกโรคอัลไซเมอร์คุกคามหนัก เพราะจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีมากขึ้น ๆ ทุกปี และภาระในการเฝ้าดูแลรักษา โดยแพทย์และญาติ ก็จะต้องมีมากขึ้นด้วย
    ด้วยเหตุนี้แพทย์ทั่วโลก จึงให้ความสนใจศึกษา และวิจัยโรคอัลไซเมอร์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในประเด็นป้องกันหรือรักษา และก็พบว่าการศึกษาโรคชนิดนี้ มีอุปสรรคตั้งแต่การวิเคราะห์ ว่าใครกำลังจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ทั้งนี้เพราะเวลาคนชรามีอาการ "หลง" คนใกล้ชิดก็มักคิดว่า คงมีสาเหตุมาจากความชรา เมื่อเซลล์สมองบางส่วนเสื่อมสมรรถภาพ หรือไม่ร่างกายคนคนนั้นขาดวิตามินอี หรือในสมองของเขามีเนื้องอก หรือเส้นเลือดในสมองบางส่วนถูกอุดตัน แพทย์จึงให้คนคนนั้นกินฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือวิตามินอี เพื่อช่วยเสริมความจำ เป็นต้น แต่เมื่ออาการของคนไข้ทรุดลง เช่น มีช่วงเวลาของความสนใจสั้นลง ๆ มีความสามารถในการสนทนาจำกัดมากขึ้น ๆ รวมทั้งไม่สนใจไยดีในอาหารการกิน ชอบเดินสะเปะสะปะ รู้สึกกระวนกระวาย อาบน้ำไม่เป็น แปรงฟันไม่ได้ และนอนไม่หลับเลย ถึงเวลานั้นก็ สายเกินที่แพทย์จะช่วยอะไรได้แล้ว การวิเคราะห์คนไข้ ก่อนที่คนคนนั้นจะตกเป็นเหยื่อของโรคอัลไซเมอร์ จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในกรณีของประธานาธิบดีรีแกนนั้น แพทย์ต้องใช้เวลานานถึงสองปีจึงจะรู้ชัด
    เมื่อปีกลายนี้ แพทย์ที่โรงพยาบาล Ghent ในประเทศเบลเยียมได้ตรวจพบว่า ถ้าน้ำไขสันหลัง (spinal fluid) ของใครก็ตามทีมีโปรตีนชนิด tau มากผิดปรกติ ในอนาคตคนคนนั้น มีโอกาสจะล้มป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์
คลิกดูภาพใหญ่
 ภาพส่วนหนึ่ง ของเซลล์สมอง บริเวณสีดำขนาดใหญ่ คือ ปม beta-amyloid
    แต่แพทย์บางคนก็เชื่อว่าพันธุกรรม มีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่นคนที่มียีน apolipoprotein (APOE 4) มักมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ สถิติที่ได้จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า บุคคลใดที่มีพ่อและแม่ ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เลย จะมีโอกาสเป็นโรคชนิดนี้ น้อยกว่าคนที่พ่อหรือแม่ เป็นโรคอัลไซเมอร์ถึงสามเท่า ส่วนคนที่ทั้งพ่อและแม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ จะมีโอกาสสูงกว่าคนที่พ่อและแม่ไม่เป็นถึงห้าเท่า ส่วนคนที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนบ่อยจนสลบ จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ สูงกว่าคนที่สมองไม่ถูกกระทบกระเทือนเลยสามเท่า คนที่ได้รับการศึกษาต่ำ มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงกว่าคนที่ได้รับการศึกษาสูง ประมาณ ๖.๕ เท่า คนที่เป็นโรค Down ก็มักจะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย นอกจากนี้แพทย์ยังพบอีกว่า อาหารการกินเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถทำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ เช่น คนที่บริโภคไขมันมาก หรือกินอาหารที่มีกรด folic น้อย (ผักสีเขียว ถั่ว และตับ เป็นอาหารที่มีกรด folic มาก) จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์มาก งานวิจัย ณ วันนี้ยังชี้ให้เรารู้อีกว่า การเป็นโรคอัลไซเมอร์กับโรคความดันโลหิตสูงนั้น เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นถ้าเราสามารถลดความเครียดลงได้ โอกาสที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะลดตามไปด้วย ดังที่ D. Snowdon แห่งมหาวิทยาลัยเคนทักกีในสหรัฐอเมริกา รายงานในวารสาร Journal of the American Medical Association เมื่อสามปีมาแล้วว่า เขาพบว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของคนที่เส้นเลือดในสมองอุดตัน ได้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย
    ขณะนี้วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังสนใจวิจัยหาสาเหตุ ที่ทำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์มาก เมื่อ ๑๖ ปีก่อนนี้ George Glenner ได้พบว่า โมเลกุลชื่อ amyloid precursor protein (APP) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่เซลล์ประสาทผลิต สามารถเคลื่อนทะลุผ่านผนังเซลล์ได้อย่างสะดวก เสมือนเข็มที่สามารถแทงผ่านเนื้อผ้าได้ ดังนั้นเมื่อ APP เผชิญเอ็นไซม์ในร่างกายคน อันได้แก่ alpha, beta และ gamma ซึ่งเอ็นไซม์ชนิด beta สามารถตัดแบ่ง APP ออกเป็นท่อนเล็ก ๆ ที่สั้น และเหนียวหนืดได้ นักวิทยาศาสตร์จึงเรียก APP ที่สั้นและเหนียวนี้ว่า beta-amyloid หรือ A-beta ดังนั้นในร่างกายของคนทุกคนจะมี beta-amyloid ซึ่งจะถูกกำจัดออกไปจนหมดสิ้นในเวลาต่อมา ถ้าเซลล์ทำงานปรกติ แต่ในเซลล์สมองของคนบางคน สาร beta-amyloid ไม่สลาย มันจึงรวมตัวกันเป็นปม และเมื่อปมเหล่านี้ ปลดปล่อยอนุมูลอิสระออกมาทำลายเซลล์ประสาท เซลล์ประสาทก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคส จากเลือดเข้าไปในเซลล์ได้อีกต่อไป และเมื่อเซลล์ขาดกลูโคส เซลล์ก็ตายเพราะขาดพลังงาน ดังนั้นการมี beta-amyloid จำนวนมากในเซลล์สมอง จึงทำลายเซลล์ดุจเดียวกับที่ โคเลสเทอรอลปริมาณมากจะอุดตันเส้นเลือด
      แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่เชื่อว่า คงมีสาเหตุอื่นอีก ที่ทำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่น การที่ร่างกายมีโปรตีนชนิด tau ที่ผิดปรกติมากเกินไป ดังนั้นเวลา tau อปรกติเหล่านี้ จับตัวกันมากมายภายในเซลล์ประสาท เส้นใยที่ระเกะระกะของมัน จะทำลายสมรรถภาพในการทำงานของเซลล์ประสาทเช่นกัน
    ปัจจุบันได้มีการพบว่า สาเหตุทั้งสองนี้ต่างก็มีบทบาททำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งคู่ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ในอนาคตแพทย์อาจจะมีอุปกรณ์วัดปริมาณ beta-amyloid และ tau ในสมองคนเพื่อทดสอบโรคอัลไซเมอร์ เหมือนกับที่เรามีอุปกรณ์ตรวจวัด ปริมาณโคเลสเทอรอล ในการทดสอบการเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันของคนไข้ก็ได้
    เมื่อเดือนตุลาคมปีกลายนี้ ได้มีรายงานการวิจัยในวารสาร Science โดยคณะนักวิจัยของบริษัท Amagln ในสหรัฐอเมริกาว่า ประสบความสำเร็จในการแยกเอ็นไซม์ชนิด protease ออกมาอย่างบริสุทธิ์ในหลอดทดลองได้แล้ว และเมื่อแพทย์หลายคนเชื่อว่าเอ็นไซม์ชนิดนี้ มีส่วนทำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นถ้านักวิทยาศาสตร์ นำยาที่สงสัยว่าสามารถรักษาคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ มาเติมลงในหลอดทดลองที่มี protease และพบว่า protease ไม่ทำงาน เพราะถูกยาดังกล่าวยับยั้งการทำงาน  และเมื่อมันหยุดทำงาน สมองของคนก็ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นงานขั้นต่อไปคือ การค้นหาตัวยา หรือสารเคมีที่ว่านี้ให้ได้
    ทุกวันนี้ แพทย์ใช้ยา Cognex, Aricept, Tacrine, Denepezil ในการช่วยกระตุ้นสมองของคนไข้ ที่กำลังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ให้ทำงานดีขึ้น ยาเหล่านี้แม้ใช้ได้ดีกับคนบางคน แต่หาได้ดีสำหรับคนทุกคนไม่
      ในวารสาร Nature ฉบับที่ ๔๐๐ หน้า ๑๗๓ เมื่อปีกลายนี้ D. Schenk แห่ง Athena Neurosciences ที่ Santa Fe ได้รายงานการวิจัยค้นหาวัคซีน ที่จะป้องกันมิให้เซลล์สมอง สะสมโปรตีนเน่าเสียเหล่านี้ โดยอาศัยแนวคิดว่า เพราะเซลส์สมองของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีโมเลกุล beta-amyloid ที่ยาวกว่าปรกติ คือมี amino acid เพิ่มขึ้นอีกสองโมเลกุล ความยาวพิเศษนี้ ทำให้มันไม่สามารถละลาย หรือสลายตัวได้ ดังนั้นมันจึงจับตัวกันเป็นปม Schenk ได้ทดลองนำ beta-amyloid ที่ยาวผิดปรกติเหล่านี้ ผสมกับจุลินทรีย์ และสารเคมีบางชนิด แล้วนำไปฉีดให้หนูก่อน เพื่อป้องกันมิให้สมองของหนูสร้างปม beta-amyloid และเขาก็พบว่า สมองหนูที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นมาก Schenk จึงมีความเห็นว่า วิธีการเดียวกันนี้ คงสามารถรักษาคนที่กำลังจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่เขาก็ตระหนักว่า การทดลองใด ๆ ที่ประสบความสำเร็จกับสัตว์ มิใช่ว่าจะนำมาใช้กับคนได้เสมอไป เพราะสรีระ และสมองของคน และสัตว์นั้นแตกต่างกันมาก
    ส่วนงานวิจัยของ A. Bush แห่ง Harvard Medical School ในสหรัฐอเมริกาที่ปรากฏในวารสาร Biochemistry ฉบับที่ ๙๙ หน้า ๔๓๘ ปีนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า beta-amyloid มักจะทำร้ายเซลล์สมองโดยการปลดปล่อย hydrogen peroxide ที่เป็นพิษออกมา ดังนั้นการที่จะรักษาคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องหายามายับยั้งการหลั่ง hydrogen peroxide โดย beta-amyloid ให้ได้
    ณ วันนี้ การสู้รบระหว่างนักวิทยาศาสตร์ กับโรคอัลไซเมอร์ยังไม่ยุติ เรายังไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่เราก็รู้ว่า ใช่ว่าคนทุกคนจะต้องเป็นโรคร้ายนี้ และสำหรับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์อยู่นั้น เขาต้องการยา ที่จะมาชะลอการเสื่อมสลายของสมอง ต้องการความเข้าใจ และต้องการความรัก จากคนใกล้ชิดมาก และในอนาคต เราก็เชื่อมั่นว่า มนุษย์จะชนะสงครามนี้ในที่สุด