กลับไปหน้า สารบัญ
ติ ม อ ร์ ต ะ วั น อ อ ก:
กำเนิดประเทศชาติใหม่ในอุษาคเนย์
เรื่อง : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ / ภาพ :
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
อารัมภบท
   
การขึ้นศตวรรษใหม่ในปี ๒๐๐๐/๒๕๔๓ มาพร้อมกับ "กำเนิด" ของ "ชาติ" (ประชาชาติ) ใหม่ในอุษาคเนย์ นั่นคือ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ส่งกระแสสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทำให้ต้องทบทวนกันใหม่ว่า สิ่งที่เรียกว่า "ลัทธิชาตินิยม" (nationalism) ที่เคยถูกมองว่าเป็นพลังล้าสมัยในยุค "เศรษฐกิจฟองสบู่" ตอนปลายศตวรรษที่แล้ว และก็ถูกท้าทายจากอะไรต่อมิอะไรก็ตามที่ "ข้ามชาติ" และ/หรือ "ลอดเล็ดชาติ" ดังนั้น "ชาติ" แทนที่จะถูกกลบลบรัศมีไปแล้วด้วย "โลกาภิวัตน์" (globalization) และ/หรือ globalism นั้น ก็กลับ "ผงาด" ขึ้นมาใหม่ ชาติบางชาติพังทะลายไป บางชาติเกิดขึ้นใหม่ หรือบางชาติรอการเกิด สร้างความหวั่นวิตกในเรื่องของ "ความมั่นคงของชาติ" ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (แล้วก็เกิด "ชาติ" ใหม่ๆ ขึ้นในเอเชียกลาง) หรือการที่ "มหาอำนาจ" อย่างจีน มีปัญหาความเป็นชาติ "ร่วมหรือรวม" กับทิเบตและไต้หวัน (ซึ่งมีคำถามว่าจะแตกออกมาเป็น "ชาติ" ใหม่หรือไม่ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้)
คลิกดูภาพใหญ่    ปมปัญหาเช่นนี้มีให้เราเห็นทั่วไปในอุษาคเนย์ใกล้ๆ ตัวเรา (ซึ่งอาจไม่ยกเว้นไทยเรา) กรณีของอินโดนีเซียดูจะชัดแจ้งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาแจห์ อัมบอน ปาปัว และ/หรืออย่างพม่า ที่มีปัญหาความเป็นชาติร่วมกับกะเหรี่ยง มอญ ชาน ฯลฯ
   เมื่อเดือนกันยายน (๒๕๔๓) ที่ผ่านมา ผมและคณะรวม ๕ คน ได้ไปเยือนติมอร์ตะวันออก 5 วัน/ 4 คืน เราไปในนามของ อบศ. ๕ (โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค) ซึ่งได้รับความสนับสนุนจาก สกว (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ ในการทำหนังสือคู่มือประเทศใหม่แห่งอุษาคเนย์ ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็คงทำให้ "อาเซียน" กลายเป็น 11 ประเทศ (ซึ่งก็คงน่าสนใจอย่างยิ่งยวด ในเมื่อนายกรัฐมนตรี และ/หรือรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ แบบอนุรักษ์นิยม หรือเผด็จการฟาสซีสม์ทั้งหลาย จะต้องนั่งประชุมเผชิญหน้ากับนักปฏิวัติอย่าง ซานานา กุสเมา หรือ โจเซ รามอส-ฮอร์ตา)
คลิกดูภาพใหญ่     เราออกเดินทางไปด้วยวิตกจริตนานาประการ กลัวไข้มาลาเรีย (ถึงกับเกือบจะเอามุ้งไปกางนอน เราขนยาทาตัวไล่ยุง และยาอะไรต่อมิอะไรไปเยอะแยะ) เรากลัวไม่มีอะไรจะกินที่นั่น (ถึงกับขนขนม บีสกิต ปาป้า มาม่า อะไรก็ไม่รู้ไปอีกพะเรอเกวียน) เรากลัวความไม่ปลอดภัยจาก "ทหารเถื่อน" (militia) ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะเดินทาง มีข่าวว่าเพิ่งสังหารเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ อย่างโหดเหี้ยมไปหมาดๆ กอร์ปกับราคาตั๋วเครื่องบินราคาแพงหูฉี่ เกือบ 4 หมื่นบาทไปกลับ กทม-บาหลี-ดิลี่ ทำให้เราเกือบจะเลิกล้มโครงการเสียกลางคัน
    แต่เราก็ไปติมอร์ฯ จนได้ และกลับได้รับการตอนรับอย่างดี จากสายสัมพันธ์ของ NGO ผ่าน Forum Asia และจากทหารไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลโทบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ดิลี่ และพันเอกพิเชษฐ์ พิสัยจรที่บาวกาว
    ที่ติมอร์ฯ เราพักอย่างสดวกสบายที่ Dili Sands Motel โรงแรมขนาดจิ๋วเปิดใหม่ บูรณะปรับปรุงจากบ้านชั้นเดียว ที่ถูกเผาไปหลังการลงประชามติ ที่นั่นมีทั้งเครื่องปรับอากาศ (ทั้งๆที่อยู่เกือบติดทะเล) มีเคเบิลทีวี มีอาหารเช้าขนมปังปิ้ง และ "คอร์นเฟลก" แถมยังออกไป "จ๊อกกิ้ง" ร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ ที่ถนนเลียบหาด และอ่าวกรุงดิลี่ได้ด้วยซ้ำไป ทุกอย่างตรงกันข้ามกับวิตกจริตของเราหมด

คลิกดูภาพใหญ่ กรุงดิลี่-Force Commander-General Merit-Made
   ภาพแรกของกรุงดิลี่ไม่ว่าจะทางอากาศ หรือตามข้างทาง คือทั้งแห้งทั้งแล้ง หาน้ำในแม่น้ำลำธารสักหยดได้ยาก ติมอร์ฯ มีเพียง 2 ฤดู คือ ฝนกับแล้งคล้ายบ้านเรา (แต่กลับกัน คือถ้าเรามีฝน เธอ/เขาก็แล้ง เวลาเธอ/เขาแล้ง เราก็มีฝน) แถมด้วยภูมิประเทศบางตอนแบบ "ซาร์วานนา" รับลมแล้งจากทะเลทรายตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย
   ดิลี่เหมือนเมืองร้างหลังสงครามแบบ "เสียกรุง" บ้านเรือนสถานที่ทำงาน ร้านค้า ธนาคาร โรงเรียน มหาวิทยาลัย ถูกเผาผลาญเรียบเป็นจุล และราบเป็นกลอง ทั้งนี้หลังจากชัยชนะของ "ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย" ในการลง "ประชามติ" ครั้งประวัติการณ์เมื่อ 30 สิงหาคม 2542/1999 "ทหารเถื่อน" พร้อมด้วยความสนับสนุน ของราชการทหาร/ตำรวจอินโดนีเซีย จัดการปล้นสดมภ์ และทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ขวางหน้า การ "เสียกรุง " ดิลี่คราวนั้นคงไม่ต่างกับสงคราม และการทำลายล้างศัตรู สมัยศักดินาโบราณในอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสียกรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) การเสียกรุงศรีอยุธยา และ/หรือการเสียกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันท์เท่าไรนัก
คลิกดูภาพใหญ่    กรุงดิลี่จากทางอากาศดูเป็นสีน้ำตาลแห้งตัดกับสีน้ำเงินเข้มของทะเล งามแบบประหลาดๆ บนยอดเขาหาต้นไม้ได้ยาก ทั้งๆ ที่เคยเป็นเกาะที่มีไม้จันท์หอมลือชื่อ แต่ 400 ปี ภายใต้ลัทธิอาณานิคมโปรตุเกส ก็ถูกตัดทำลายไปขายจนหมดสิ้น (เหลือให้เราดูเป็นตัวอย่างไว้ 1 ต้นที่โรงแรมริมทะเล) และ 24 ปีภายใต้การยึดครองของเอกาธิปไตยซูฮาร์โต (2518-2542) ป่าก็ถูกทำลายเพิ่มอีก ทั้งนี้เพื่อการพาณิชย์ และที่สำคัญคือการทำลายฐานที่มั่นในการต่อสู้ เพื่อเอกราชของกองจรยุทธติมอร์ฯ (ดูไม่ต่างกับการทำลายป่า ในเวียดนามของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในไทยสมัยต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และ/หรือที่พม่ากำลังทำ เพื่อตัดกำลังกะเหรี่ยง มอญ ฯลฯ นัก)
   ที่สนามบิน "นานาชาติ" เราผ่านการ "ฝึก" ตรวจคนเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่ใหม่ชาวติมอร์ฯ ภายใต้การควบคุมของ UN เราได้รับการต้อนรับจาก คาริโต คามินเลีย หนุ่มน้อยหน้าตาเหมือนรูปสลักของพระเยซูเจ้า (และก็ชอบใส่เสื้อยืดรูปโฮจิมินห์) ผู้ผ่านมากับสายสัมพันธ์ของ Forum Asia นำรถแท็กซี่ "เอกชน" บีเอ็มไร้ป้ายไร้ทะเบียนมารับเรา
    ไม่น่าเชื่อว่าโลกนี้แสนจะกลม เพราะหนึ่งในคนขับนั้น คือ ซีซาร์ ควินทัส หนุ่มหน้าเข้มผู้ติดตามอยู่ในคณะของ ซานานา กุสเมา และ รามอส-ฮอร์ตา เมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยกุมภาพันธ์ 2543 ซีซาร์นั่งร่วมโต๊ะดินเนอร์ที่ ร.ม.ต. สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงในคราวนั้น น่าเชื่อว่านี่คือองครักษ์ หรือ รปภ. เสียมากกว่าคนขับแท็กซี่ อาจจะไม่น่าสงสัยอะไร ถ้าซีซาร์จะกลายเป็นอธิบดีสักกรมหนึ่ง หรือเป็นข้าราชการชั้นสูง ประจำทำเนียบประธานาธิบดี ในไม่ช้าไม่นานนี้
คลิกดูภาพใหญ่    เย็นวันนั้นพลโทบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ให้นายทหารนำรถประจำตำแหน่งโตโยต้า 4WD (ราคาสัก 4 ล้านบาท) มารับพวกเราไปทานข้าวเย็นที่บ้านพัก ตึกชั้นเดียวสไตล์โคโลเนียล มีต้นกะทิงใหญ่มหึมา กำลังออกดอกขาวผ่อง เบื้องหน้าคืออ่าวดิลี่ หาดทรายขาวโค้งยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา ด้านขวาเป็นท่าเรือ พร้อมโรงแรมลอยน้ำจอดอยู่ 2 ลำ ลำหนึ่งคือ Olympia (หนังสือพิมพ์ประเภทหัวเขียวหัวแดง ในจาการ์ตาลงข่าวว่า เป็นที่มั่วสุม "เซ็ก" ของกองกำลัง UN) อีกลำเป็นของบริษัทเซ็นทรัล ประเทศไทย นามเมฆขลา เพิ่งส่งมาเปิดใหม่เอี่ยมอ่อง เข้าใจว่าเป็นลำเดียวกันกับ ที่เคยจอดอยู่ที่แม่น้ำเมืองย่างกุ้ง
   พลโทบุญสร้าง (ซึ่งผมแอบตั้งชื่อท่านเป็นภาษาอังกฤษว่า General Merit-Made) วัย 50 กว่า รูปร่างสะโอดสะอง คุยสนุก ข้อมูลเยอะ ท่าทีเป็นมิตรและเป็นกันเองในรูปลักษณ์ของทหารแบบใหม่ ว่าไปแล้วท่านก็คือหมายเลข 2 ในติมอร์ฯ นั่นเอง เพราะมีตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (Force Commander หรือ FC ของ UN Peace Keeping Force) คุมกองกำลังกว่า 8,000 คน จาก 24 ประเทศ ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุด ที่คนไทยเคยได้ ในระดับสากลของการรักษาสันติภาพ กิจกรรมด้านนี้ ไทยไม่ค่อยได้เล่นมาก่อนเท่าไรนัก ปล่อยให้ชาติอื่นๆ ในเอเชียและอัฟริกาคว้าไปหมด 
คลิกดูภาพใหญ่    ท่าน FC สร้างความประทับใจ ด้วยการพาเราไปสุดปากอ่าว ยามอาทิตย์อัศดง ปีนบันไดขึ้นไปกว่า 500 ขั้น เพื่อนมัสการพระเยซูเจ้า ที่ประทับตระหง่านอยู่เหนือยอดเขา ดูราวกับอนุสาวรีย์ที่หน้าเมืองริโอเดอเจไนโร บราซิล แต่พระเยซูเจ้าที่นี่ ประทับยืนบนลูกโลก เหนือแผนที่อุษาคเนย์ กล่าวกันว่าซูฮาร์โตสร้างเพื่อเอาใจชาวคริสต์ติมอร์ฯ และให้พระเยซูเจ้าหันพระพักตร์ ไปทางกรุงจาการ์ตา เพื่อประชากรติมอร์ฯ จะได้จงรักภักดีต่ออินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามการกลับตรงกันข้าม หลายสำนักคิดบอกว่านี่ผิดตำรา "ฮวงจุ้ย" เพราะกรุงจาการ์ตา ต้องเผชิญต่อพระพักตร์ที่เพ่งมาจากกรุงดิลี่ทุกวี่ทุกวัน เมืองหลวงของอินโดฯ ก็เลยสูญเสียพลังอำนาจ  และบารมีจนสิ้น ดังนั้นในการลงประชามติ 30 สิงหาคม 2542 ก็มีเพียง 20 % เท่านั้นที่จงรักภักดีอยากอยู่ใต้ร่มธงทวิรงค์ (ขาวแดง) ของอินโดนีเซียต่อไป ในขณะที่ 78.5 % ต้องการเอกราชและอธิปไตย
   นี่เป็นวันแรกของมิตรภาพจากท่าน FC ที่จะเลี้ยงข้าวเย็นคณะเราเกือบทุกมื้อ แถมจัดงานเลี้ยงใหญ่เชิญคนไทยที่อยู่ที่นั่น  ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือพลเรือน มาร่วมด้วยคับคั่ง FC คุยกับเราหลายเรื่อง จากเรื่องทหารไทย และบทบาทใหม่ในการรักษาสันติภาพ เลยไปจนเรื่องของอุษาคเนย์ศึกษา (ท่านกำลังคิดว่าจะเรียนภาษาอินโดนีเซีย หรือ ภาษาแต้ตุนของติมอร์ฯดี) เรื่อยไปจนเรื่องนวนิยาย วรรณกรรม ดูท่านจะเป็นนักอ่านไม่น้อย ในห้องนอนมีหนังสือเล่มสำคัญว่าด้วยติมอร์ฯ คือ John G. Taylor-East Timor: The Price of Freedom (1999)
คลิกดูภาพใหญ่    จากการสนทนา เราก็เข้าใจได้ว่าทำไม UN ถึงเลือกท่านดำรงตำแหน่ง FC ก็บุคคลิกและภูมิหลังกระมัง ที่เป็นทั้งทหาร และเป็นทั้งนักการทูต FC บุญสร้างเรียนโรงเรียนนายร้อย จปร. ปีเดียว ได้ทุนไปต่อจนจบ West Point ดังนั้นท่านก็รู้ภาษาอังกฤษดี มีความสัมพันธ์อันดี กับมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ในขณะเดียวกัน ท่านดูจะรู้จักมักจี่กับนายพลอินโดฯด้วย  ท่านชูให้ดูหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของอินโดฯ ในติมอร์ เขียนโดยนายพลวิรันโต อดีต ผบ.ทบ. คู่กรณีติมอร์ฯ (ที่กำลังถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยู่เบื้องหลังการสังหารทำลายของ "ทหารเถื่อน") หนังสือเล่มนั้น มีลายเซ็นวิรันโตมอบให้เป็นหลักฐาน ท่าน FC พูดถึงนายพลกิกี ผู้บัญชาการกองกำลังอุทยานา ที่บาหลีอย่างสนิทสนม เยี่ยมเยียนกันด้วยของกำนัลอย่าง "ทุเรียนบางกอก" ของโปรดของคนอินโดฯ
   น่าเชื่อว่าที่ UN เลือกไทย และนายพลไทยครั้งนี้นั้น ก็เพราะต้องการให้ไทยประสานกับอินโดฯ การเข้ามาปกครองของ UN นั้นเป็นเรื่องชั่วคราว (ในนามของ UNTAET หรือ United Nations Transitional Administration in East Timor) หลังการลงประชามติครั้งนั้น กลียุคที่ตามมา (และถูกรายงานไปทั่วโลกนาทีต่อนาทีโดย CNN หรือ BBC) ทำให้อินโดฯ ถูกประนามอย่างรุนแรงว่า "ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม" ไปทั่วโลก และก็ถูกบีบให้ยินยอมให้ "ทหารต่างชาติ" ยกเข้ามาในติมอร์ฯ อินโดฯหมดความชอบธรรมใดๆที่จะอ้างว่าติมอร์ฯ "เป็นดินแดนของอินโดนีเซีย" และ "ทหารต่างชาติ" ในนาม UN นำโดยออสเตรเลีย ที่ตามติดมาด้วยทหารหลายชาติ มีแม้กระทั่งทหารกูรข่า ก็เข้ามาแทนที่ ในขณะที่อินโดฯ อพยพโยกย้าย "พ่ายจะแจ" ข้ามไปติมอร์ตะวันตก นายพลออสเตรเลีย กลายเป็นผู้บัญชาการกองกำลังใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็แน่นอนว่าอินโดฯ "เสียหน้าและเกียรติภูมิ" เป็นอย่างยิ่ง
คลิกดูภาพใหญ่    ออสเตรเลียเป็นประเทศ "เพื่อนบ้าน" ที่สำคัญใกล้ชิดมากที่สุดประเทศหนึ่ง ออสเตรเลียเป็นประเทศเดียวที่รับรองการยึดครองติมอร์ฯ ของอินโดฯ ตั้งแต่ปี 2518 แต่มติมหาชน และสื่อมวลชนออสเตรเลีย ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของตน และเมื่อเกิดวิกฤต รัฐบาลออสเตรเลียก็ "กลับลำ" 90 องศา หันไปสนับสนุน "ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย" ติมอร์ฯ ดังนั้นหากจะหาทางออกให้อินโดฯบ้าง ประเทศในอาเซียนนั่นแหละคือคำตอบ ประเทศไหนจะเหมาะกับสถานการณ์เช่นนี้ มาเลเซียแสดงท่าทีสนใจเป็นอย่างยิ่ง (เพราะเคยมีบทบาทในบอสเนีย ฯลฯ มาก่อน) แต่ในความเป็นมุสลิมและความเกรงใจ "พี่เบิ้ม" อินโดฯ ก็เลยต้องถอยออกไป ฟิลิปปินส์เองก็ต้องการบทนี้มาก แต่ในความเป็นประเทศคริสตศาสนา (ที่มีปัญหากับมุสลิมภายใน) ก็ดูกระไรๆอยู่ จะกลายเป็นหนามยอกอกอินโดฯ กลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนาไปก็ได้ 
   ดังนั้นพุทธแบบไทยๆ ก็ดูจะเหมาะกับสถานการณ์ที่สุด กอร์ปกับชื่อเสียงในแง่ของการทูต การต่างประเทศของไทย ที่มีมาช้านาน ตำแหน่ง FC จึงตกเป็นของไทยอย่างพลโทบุญสร้างไป และก็ทำให้มีทหารไทยกว่า 600 นายประจำการในตอนที่เราไปเยือน นับเป็นจำนวนสูง ดูจะรองก็จากออสเตรเลียที่มีอยู่ 1,000 นางสาว/นาง/นายเท่านั้นเอง (ที่ต้องใช้คำว่า "นางสาว/นาง/นาย" ก็เพราะเราพบทหารหญิง และทหารชายออสเตรเลีย เดินตรวจการริมอ่าวดิลี่ด้วยกัน เธอทักทายด้วยเสียงดังว่า Good Morning)
คลิกดูภาพใหญ่    แน่นอนแม้บุคคลหมายเลข 2 ในติมอร์ฯ จะเป็นหน้าเอเชียอย่างเรา แต่มหาอำนาจ "ฝรั่ง" ในนาม UN ก็ยังคงรักษาอิทธิพลของตนไว้ด้วยการตั้งหมายเลข 1 ไว้ทางฝ่ายตนอีกนั่นแหละ เพราะตำแหน่ง "ผู้แทนพิเศษ" ของเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของ UNTAET ก็คือ Sergio Vieira de Mello ถึงตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า แผนนี้ค่อนข้างชาญฉลาด และสลับซับซ้อนเสียนี่กระไร เพราะท่านเดอเมลโล เป็นฝรั่งก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ชาติตะวันตก กลับเป็นลาตินอเมริกามาแสนไกล คือจากบราซิล ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาแต่เก่าก่อน 
   ที่ดิลี่ นอกจากเราจะพบทหารไทย ตำรวจไทย พลเรือนไทย และกินข้าวไทยแล้ว เรายังตระเวณดูสถานที่ เดินชมตัวเมืองที่แสนจะร้างผู้คน ธุรกิจการค้าเพิ่งจะเริ่มต้นกันใหม่ เราแวะไปตลาดที่ถูกเผาเรียบเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เต็มไปด้วยสินค้า พืชผลเกษตรพื้นเมืองงามๆ เครื่องอุปโภคบริโภคที่ส่วนใหญ่มาจากติมอร์ตะวันตก ส่วนใหญ่ผลิตในอินโดฯ ราคานั้นแพงหูฉี่ ว่ากันว่า 3-5 เท่าของราคาก่อนกลียุค นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคนติมอร์ฯ นั้นจะซื้อหาได้อย่างไร น่าเชื่อว่าสินค้าส่วนมากคงไว้ขายเจ้าหน้าที่ของ UN หรือไม่ก็คนที่รับเงินเดือน UN แต่ผู้คนส่วนใหญ่ของติมอร์ฯ ซึ่งเป็นชาวชนบทก็คงพึ่ง "เศรษฐกิจพอทน" ของตน (คำนี้ทหารไทยให้มา) คงกินและอยู่อย่างประหยัด สมถะ ตามแต่สภาพท้องไร่ท้องนาเสียมากกว่า

คลิกดูภาพใหญ่ คริสต์ศาสนา-ชาติ-ชุมชนในจินตนาการ
   เราแวะไปที่โบสถ์คริสต์หลายแห่ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ดูเหมือนโบสถ์เท่านั้น ที่ได้รับการยกเว้นไม่โดนเผา เราไปที่โบสถ์ Motael ริมทะเลกรุงดิลี่ ที่นี่เป็นจุดสำคัญ ของการชุมนุมทางศาสนาพิธีมิสซา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534/1991 ผุ้ชุมนุมได้เดินขบวนต่อไปยังสุสานซานตาครู๊ซ จำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นๆ จนกลายเป็นคลื่นมนุษย์ไหลบ่า และการชุมนุม ก็เปลี่ยนเป็นการเปล่งเสียงเรียกร้อง "เอกราชๆๆๆ" และโดยที่ไม่มีใครคาดฝัน ทหารอินโดฯ ก็เข้าปิดล้อมสุสานซานตาครู๊ซ เปิดฉากยิงกระหน่ำ ฝูงล้มตายเป็นใบไม้ล่วง ประมาณกันว่ามีคนตายถึง 200 คน (แน่นอนตัวเลขรัฐบาลก็ต่ำเป็นปกติ ว่ามีเพียง 50-60 เท่านั้น) แต่รามอส-ฮอร์ตา และบาดหลวงเบโล เจ้าของร่วมรางวัลโนเบลสันติภาพ ประมาณว่าคนตายอาจมีมากถึง 500 คน
   เบน แอนเดอร์สัน อาจารย์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ศึกษาเปรียบเทียบกรณีของการสังหารหมู่ที่ดิลี่ กับอาชญากรรมของรัฐไทยในกรณี "พฤษภาเลือด" 2535/1992 (ซึ่งคนไม่น้อยเรียกว่า "พฤษภาทมิฬ" ทั้งๆที่เป็น "ไทย" ด้วยกันเอง) เขียนไว้ใน Two Massacres: Dili-Bangkok (Southeast Asian Network Bulletin, Thammasat University, Bangkok, Thailand, December 1992) น่าสนใจว่ากรณีทั้งสองนี้ เรียกได้ว่าเป็น "รัฐอาชญากรรม" หรือ state crime นั่นเอง และก็น่าสนใจว่า ในยุคที่สื่อมวลชนมีพลังและเทคนิคสูง และแพร่กระจายข่าวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทั้งรัฐไทย และรัฐอินโดฯ ก็ต้องหมด "ความขอบธรรม" ในฐานะที่จะเป็นผู้ปกครองไปทั้งสองกรณี
คลิกดูภาพใหญ่    การสังหารหมู่ที่ดิลี่ในวันนั้น บังเอิญเหลือเกิน ที่มีนักหนังสือพิมพ์อังกฤษ เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ เขาได้แอบถ่ายวิดีโอแล้วเอาเทปซ่อนไว้ในสุสาน เมื่อเหตุการณ์สงบ ก็กลับเข้าไปเอา แล้วลักลอบออกนอกประเทศ เอาทั้งข่าว และภาพไปเผยแพร่ไปทั่วโลก นับแต่ปีนั้นเป็นต้นมาติมอร์ฯ ก็กลายเป็นข่าวในระดับสากล ทั้งๆ ที่นับแต่การเข้ายึดครองของอินโดฯ และการสังหารชาวติมอร์ฯ ที่ต่อต้านได้ดำเนินมาเป็นเวลานาน ระหว่าง 2518-2534 เป็นเวลาถึง 16 ปี ก็ไม่เคยเป็นที่ใครที่ไหนจะให้ความสนใจแม้แต่น้อย ทว่านับแต่นั้นมา เมื่อผู้นำจรยุทธอย่างซานานา กุสเมาถูกจับ และจำคุกอยู่ในจาการ์ตา เขาก็หาได้ถูกขังลืมไม่ บุคคลสำคัญระดับโลก อย่างพระสันตปาปาแห่งกรุงโรม หรืออย่างเลขาธิการ UN โคฟี อันนัน และ/หรือนักสันติภาพอย่างเนลสัน มันเดลา ผู้นำอัฟริกา ต่างก็ให้ความสนใจ ติดตามและไถ่ถาม สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลอินโดฯขึ้นเป็นลำดับ
คลิกดูภาพใหญ่    และดังนั้นอีกนั่นแหละ เมื่อนักต่อสู้อย่างโจเซ รามอส-ฮอร์ตา (อดีตนักหนังสือพิมพ์-ผู้ลี้ภัยการเมือง) กับ บาดหลวงซิมินนิส เบโล ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2539/1996 (ก่อนการล่มสลายของเศรษฐกิจ และเงินตราของอินโดนีเซีย/ไทยเพียงปีเดียว) ติมอร์ฯก็หาใช่เรื่อง "กิจการภายใน" ของอินโดนีเซีย หรือเข้าทำนอง "constructive engagement" อันเป็นนโยบายที่ถูกประนามว่า "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" แบบของอาเซียนอีกต่อไปไม่
   ที่น่าสนใจคือคริสตศาสนา นิกายโรมันคาธอลิค ได้กลายเป็น "อัตตลักษณ์" ของชาวติมอร์ฯ และก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่จะสร้าง "ชาติ" ติมอร์ฯ หรือ "ชุมชนในจินตนาการ" ขึ้นมา ก่อนการยึดครองของอินโดนีเซียนั้น มีสถิติทางการว่า คนติมอร์ที่นับถือคริสต์มีเพียง 17 % เท่านั้นเอง ซึ่งหมายความว่า 400 ปีที่โปรตุเกสปกครองอยู่ คนติมอร์ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ที่มีถึง 30 กลุ่มนั้น ต่างกลุ่มก็ต่างอยู่ หาได้รวมกันมีจิตสำนึกร่วมเป็น "ชุมชน" หรือ "ขาติ" เดียวกันไม่ แต่ 24 ปีของการยึดครองของอินโดฯ กลับทำให้ชาวติมอร์หันไป "เข้ารีต" เป็นคริสต์ถึง 90 % ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสนจะมหัศจรรย์ และนี่ก็เป็นจุดร่วมของความสมัครสมานสามัคคีต่อต้านอินโดฯ และเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายว่า ทำไมวันนั้น วันที่ 30 สิงหาคม ผู้คนจึง "กา" ตรงช่องด้านล่างของบัตรว่า "เอกราช"

คลิกดูภาพใหญ่ บาวกาว ทหารไทย สันติภาพ และการเกษตรไร้สารเคมี
   บาวกาวเป็นเมืองใหญ่ที่สองของติมอร์ฯ อยู่ทางด้านตะวันออกสุด ในการแบ่งกองกำลังดูแลติมอร์ฯนั้น UN จัดเป็น 3 ส่วน คือ เขตตะวันออก เขตกลาง และเขตตะวันตก เขตตะวันออกมีทหารไทยดูแล เขตกลางเป็นของโปรตุเกส ส่วนเขตตะวันตกที่ติดกับอินโดฯ ที่มีอันตรายจาก "ทหารเถื่อน" มากที่สุดเป็นส่วนรับผิดชอบของทหารออสเตรเลีย ดังนั้นเขตที่ทหารไทยอยู่ก็ค่อนข้างไกลจากสถานการณ์สู้รบ
   บาวกาวห่างจากดิลี่ไปเพียง 120 กิโลเมตร แต่เราต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง ต้องข้ามเขาที่มีถนนตัดเลาะเลียบหน้าผาสูงสุดเสียวและชายฝั่งทะเลอันยาวเหยียด หาดทรายขาวงามสุดลูกหูลูกตา บางตอนเป็นกรวดลวดลายงดงาม บางตอนเป็นป่าลาน ที่สำคัญคือแทบไม่พบมนุษย์มนา (เหมาะสำหรับผู้รักธรรมชาติและมนุษยชาติ แต่ทนคนไม่ค่อยได้ทำนอง I love humanity, only the people I cant stand)
   เกือบเที่ยงวัน เราก็ถึงค่ายทหารไทย และที่น่าอัศจรรย์ใจ ก็คือ พันเอกพิเชษฐ์ พิสัยจร ผบ. ที่นั่นต้อนรับอย่างอบอุ่นและแสนจะเป็น "ไทย" นั่นคือเชิญให้รับประทานอาหารทันที โดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง อาหารผีมือทหารมื้อนั้น เท่าที่ผมจำได้ว่ามีเต็มโต๊ะ มีตั้งแต่ไข่พะโล้ไปจนถึงส้มตำรสเด็ด ผมจำได้อีกว่า ที่โรงอาหารอันเนื่องแน่นนั้น เรานั่งโต๊ะกลมรับประทานโดยมีฉากหลัง "ลัทธิชาตินิยมไทย" เป็นภาพเขียนระบายสี "พระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา" ให้บรรยากาศของ "ชุมชนในจินตนาการเก่า" ใน "โลเคชั่น" ของ "ชุมชนในจินตนาการใหม่" เป็นอย่างดี
คลิกดูภาพใหญ่    หลังอาหารเที่ยง เราได้รับฟัง "การบรรยายสรุป" ตามธรรมเนียมราชการอย่างละเอียดละออ ทั้งจากท่าน ผบ. เองและจากผู้ช่วย ทำให้เราทราบตั้งแต่เรื่องของตำนาน ภูมิสัณฐานของเกาะติมอร์ว่าเป็นรูป "จระเข้" ตัวเมืองบาวกาวนั้นมี 6 ตำบล ก่อนการสังหารหมู่เคยมีประชากร 9 หมื่น ตอนนี้เหลือเพียง 6 หมื่น ส่วนใหญ่เป็นคริสต์ถึง 95 % ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมและพึ่งพาตนเอง การศึกษาต่ำ มีการจับปลาและเลี้ยงสัตว์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งควาย ที่ปล่อยตามไร่นา ตัวใหญ่และอ้วนมากเป็นพิเศษ) ผู้คนส่วนใหญ่ค้าขายไม่เป็นนัก ไม่รู้เรื่องของอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล หรือระบบอะไรที่เป็นมหภาค 
   ที่สำคัญคือชาวติมอร์เชื่อในระบบอาวุโส รักหมู่รักคณะ รักขนบธรรมเนียมประเพณี (ระบบเครือญาติแข็งแกร่ง) สตรีทำงานหนัก ในขณะที่บุรุษมักไม่ค่อยช่วยงานบ้าน (ถึงตรงนี้สตรีในทีมของเราก็หันมาสบตาอย่างมีนัย) ระแวงชาวต่างชาติ (อย่าได้ไปเกาะแกะหรือแทะโลมสตรีติมอร์เป็นอันขาด และทหารไทย ก็ถูกกำชับอย่างเด็ดขาดเช่นกันในเรื่องนี้ จากผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) 
   จุดที่น่าสนใจในการบรรยาย ก็คือ การที่ไทยเน้นนโยบายใช้ "การเมืองนำการทหาร" และทหารเหล่านี้ของพันเอกพิเชษฐ์ ก็ใช้การเกษตรแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก เราไม่นึกว่าที่ติมอร์ฯ จะได้พบเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียง" "ไร่นาสวนผสม" ไปจนถึงการเลี้ยงไก่ด้วย "ปลวกบ้าน" การปลูกผัก เลี้ยงปลาดุก จนกระทั่งการรณณรงค์ให้คนติมอร์ฯ สนใจ "ปุ๋ยจุลินทรีย์" จากส่วนผสมของ EM (effective micro) กับมูลสัตว์ รำ น้ำมะพร้าว กากน้ำตาล แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาไทย แม้จะสร้างผลผลิตได้มาก แต่ก็กลับเป็นหนี้ค่าปุ๋ย และยากจนลงทุกวันๆ
คลิกดูภาพใหญ่    พันเอกพิเชษฐ์ย้ำนักย้ำหนาในเรื่องนี้ และเล่าให้เราฟังว่า หน่วยทหารของท่านพยายามช่วยให้ชาวนาปลดหนี้ จากการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยจาก EM ได้อบรมความรู้เรื่องนี้ในอีสานใต้ ให้หลายพันหลายหมื่นคนแล้ว ว่าแล้วก็พาเราเดินชมแปลงสาธิต พร้อมกับแสดงการทำ "ปุ๋ยไร้สารเคมี" ให้ดูอย่างตั้งอกตั้งใจ ทราบว่าทหารเหล่านี้ มีเวลาปฏิบัติการในติมอร์ฯเพียง 6 เดือน ที่ทำได้มากมายขนาดนี้ ก็เพราะได้มาดูงาน และวางแผนไว้แล้วก่อนล่วงหน้า พอมาถึงก็ดำเนินการเลย พร้อมมีแผ่นพับประชาสัมพันธ์เป็นอังกฤษ และพื้นเมือง "แต้ตุน" ด้วยอย่างน่าประทับใจ
   ท้ายที่สุด ข้อสังเกตที่เราได้จากการบรรยายสรุปวันนั้น คือ ทัศนคติของทหารไทยในบาวกาว ในขณะที่คนทั่วไปมอง "militia" รวมทั้งการปฏิบัติการของอินโดฯ อย่างเลวร้าย ดังนั้นคำว่า "militia" ก็มีความหมายลบแสนลบ เมื่อแปลเป็นไทยก็อาจเป็น "ทหารเถื่อน" แต่ในการบรรยายสรุปวันนั้น กลับใช้คำที่เป็นบวกเสียมากกว่าด้วยซ้ำ คือ "ทหารบ้าน" และตีความเข้าทำนองว่าเหมือน "ทสปช" ซึ่งย่อมาจากคำว่า "ไทยอาสาป้องกันชาติ"

  พบปะ-สังสรรค์-สัมภาษณ์
   เราพยายามใช้เวลา 5วัน/4คืน ที่มีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เข้าพบและสัมภาษณ์ทั้งองค์กรศาสนา นักศึกษา สื่อมวลชน และท้ายที่สุดคือท่านอนาคตประธานาธิบดี (วีรบุรุษกู้ชาติ) ซานานา กุสเมา 
คลิกดูภาพใหญ่ มหาวิทยาลัยติมอร์ฯ
   เราแวะไปที่มหาวิทยาลัยติมอร์ ที่เคยมีนักศึกษาประมาณ 1,000 คน มี 5 วิชาเอก รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เกษตร เทคนิค และภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยถูกเผาเรียบและปิดมา 1 ปีเต็ม อาจารย์ส่วนใหญ่หายสาบสูญไปเกือบหมด เพราะอาจารย์เหล่านั้นถ้าไม่เป็นคนอินโดฯ ก็เป็นคนติมอร์ฯ ที่หันไปสนับสนุนอินโดฯ ดังนั้นก็ต้องหลบลี้หนีหน้าไปอยู่อินโดนีเซีย หรือไม่ก็ไปอยู่ติมอร์ตะวันตก มหาวิทยาลัยจึงปิดมา 1 ปีเต็ม สหรัฐฯ (ในนามของ USAID) ได้เข้ามาสร้างมหาวิทยาลัยให้ใหม่เอี่ยมอ่องแล้ว ตั้งอยู่ด้านหลังของสำนักงาน UNTAET ที่เคยเป็นทำเนียบของผู้ว่าราชการจังหวัดติมอร์ฯมาก่อน แต่นักศึกษารักแคมปัสเก่าของตนมากกว่า ไม่อยากย้ายที่
   วันที่เราแวะเข้าไปนั้น นักศึกษาวิชาเอกใส่เสื้อยืดรูปเชกูเวรา เร่เข้ามาทักทาย ถามได้ความว่า ในขณะที่รอมหาวิทยาลัยเปิดนั้น ออสเตรเลียว่องไวมาก เข้ามาเปิดอบรมภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ให้วิชาละ 2 เดือน ใช้ห้องเรียนที่ยังเต็มไปด้วยสภาพของเขม่าควันไฟนั่นแหละ
คลิกดูภาพใหญ่    โปรตุเกสเองก็เพิ่งส่งอาจารย์ และนักการศึกษาเข้ามาสมทบ 100 คน หลายๆ "ชาติ" ดูจะกระตือลือล้นเข้ามาร่วมกิจกรรม และสังฆกรรมใน "ชาติ" เกิดใหม่นี่เหลือเกิน มาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้า และการลงทุน แน่นอนสิ่งที่แสนจะยั่วยวน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งหลาย ก็คือน้ำมันและแกสธรรมชาติ ที่อาจจะมีจำนวนมากมายมหาศาลไม่แพ้บรูไน ที่อาจจะอยู่ในทะเลลึกที่เรียกว่า Timor Gap ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างติมอร์ฯ กับออสเตรเลีย และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมหลายประเทศจึง "มุ่ง" สู่ติมอร์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่มโลกตะวันตก ที่เชี่ยวชาญในการมุ่งไปสู่เรื่องของการศึกษา การให้ทุนเล่าเรียนต่อคนหนุ่มคนสาวของติมอร์ฯ แน่นอนคนเหล่านี้ ก็คืออนาคต และผู้นำของชาติใหม่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อกันว่ามีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก รอเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อเปิดใหม่ถึง 5,000 คน แต่มหาวิทยาลัยอาจจะรับได้เพียง 500 คนเท่านั้น ที่เหลือจะไปไหน?
   ผมแกล้งถามนักศึกษาหนุ่มที่แกร่วอยู่แถวนั้น อยากไปเรียนเมืองไทยไหม คำตอบที่ได้รับอย่างทันทีก็คือ yes ไม่รู้ว่ากรมอะไรในกระทรวงการต่างประเทศ หรือกรมวิเทศสหการของไทย หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างจุฬาฯ มธ. มหิดล ฯลฯ จะสนใจเล่นเกม "นานาชาติ"แบบนี้หรือไม่ หรือว่าโครงการทีอ้างว่าเป็น "นานาชาติ" ทั้งหลายของเรา มีความหมายเพียงเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษ (งูๆปลาๆ) แล้วก็เก็บค่าหน่วยกิตแพงๆเท่านั้นเอง

คลิกดูภาพใหญ่ Timor Post
   เราแวะไปที น.ส.พ. Timor Post พบบรรณาธิการหนุ่มอายุเพียง 28 นาม Da Costa ท่าน บก. บอกว่าหนังสือของเขาพิมพ์เป็น 2 ภาษา คือ อังกฤษกับอินโดฯ ครั้งละ 1,000 ฉบับ ราคา 3,500 รูเปีย (17 บาท) เริ่มงานมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว ในติมอร์ฯนั้นมี น.ส.พ. 4 ฉบับ นิตยสาร 2 ฉบับ Timor Post นั้นได้รับความสนับสนุนจากทั้ง USAID (อีกนั่นแหละ) และออสเตรเลีย ตัว บก. เองจบรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยติมอร์ฯ ในช่วงของกลียุคก็ลี้ภัยไปออสเตรเลียเหมือนกัน
   บก.หนุ่มมีข้อมูลเยอะ ตั้งแต่ปัญหาการศึกษาใหม่ที่จะขาดแคลนครูบาอาจารย์ หากจะเปิดมหาวิทยาลัยจะต้องการอาจารย์ถึง 90 คน ข้าราชการติมอร์ฯที่เคยมี 12,000 คน ก็หายไปถึง 7,000 คน บ้างหนีกลับไปอินโดฯ บ้างยังติดอยู่ในติมอร์ตะวันตก (ถึงประมาณ 1 พันคน) จะกลับมาได้หรือไม่ก็ไม่รู้ คนติมอร์ฯ เองก็หนีไปตั้งรกรากอยู่ในออสเตรเลียถึง 150,000 คน ขุมกำลังของทรัพยากรมนุษย์ดูจะอยู่นอกประเทศเสียสิ้น ไม่เหมือนกับคนหนีตายขึ้นเขาไปหลังเมืองดิลี่ประมาณ 20,000 คนๆเหล่านี้กลับลงมาหมดแล้ว
คลิกดูภาพใหญ่     ที่สำคัญทั้งน่าสนใจและน่าหวั่นวิตก คือ ตอนนี้ในขณะที่รอ "เอกราชสมบูรณ์" ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีมาในเดือนสิงหาคม 2001/2544 ทั้งนี้เพื่อจะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และให้ UNTAET ถอนออกไปได้นั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร มีพรรคการเมืองเก่าใหม่รอแข่งขันกันถึง 7 พรรค (แม้จะไม่มากเหมือนไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรืออย่างพม่าในการเลือกตั้ง 1989 สมัยที่อองซานซูจีชนะอย่างท่วมท้นก็ตาม) แต่หากพรรคการเมืองไม่สามารถจะประสานผลประโยชน์กันได้ ติมอร์ฯ "จะไปรอดหรือ" นี่เป็นโจทย์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
   ประเด็นสุดท้ายที่เราคุยกัน คือ เมื่อเป็นเอกราชสมบูรณ์ ติมอร์ฯ จะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาราชการประจำชาติ ถ้าจะเอาภาษาพื้นเมือง (เพื่อแสดงความเป็นชาติเอกราช) ก็ต้องเลือกภาษาแต้ตุน (ซึ่งก็ยังไม่มีมาตรฐาน) ถ้าจะเอาภาษาที่คนอายุต่ำกว่า 30 ปีลงไป ก็ต้องเลือกภาษาอินโดฯ (เพราะคนรุ่นนี้ต่างผ่านโรงเรียน และมหาวิทยาลัยสมัยอินโดฯ และใช้ภาษาอินโดฯในการเรียนการสอน) แต่ผู้มีการศึกษาในระบบเก่า ก่อนการยึดครองของอินโดฯ คนรุ่นกุสเมา หรือรามอส-ฮอร์ตา ก็ต้องเลือกภาษาโปรตุเกส แต่ บก. ก็ว่าหากจะให้ใช้การได้ดีมีความเป็นสากลก็ต้องเลือกภาษาอังกฤษ รวมแล้วต้องเลือกถึง 4 ภาษา และนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่มาก ของชาติที่เกิดใหม่เช่นนี้ เมื่อถูกรุกเร้าหนัก บก.หนุ่มตอบว่าตนเลือกทั้งอังกฤษและอินโดนีเซีย 

คลิกดูภาพใหญ่ ซานานา กุสเมา: วีรบุรุษกู้ชาติ
   ก่อนวันสุดท้าย พลโทบุญสร้างให้นายทหารมารับไปพบ และสัมภาษณ์ ซานานา กุสเมา มหาบุรุษหรือ "เนลสัน มันเดลา" แห่งติมอร์ฯ กุสเมาเกิดเมื่อวันที่ 20 ปี 1945 ที่เมืองเล็กๆ "ลาเลย์" (Laleia) ครึ่งทางระหว่างดิลี่และบาวกาว มีบิดาเป็นครู มีพี่น้องชาย 1 หญิง 5 เรียนหนังสือจากโรงเรียนคริสต์ และก็เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นครูและนัก น.ส.พ. พร้อมๆกับการเขียนบทกวีเป็นงานอดิเรก (จนได้รับรางวัล) กุสเมาหนุ่มเข้าร่วม FRETILIN (Revolutionary Front for the Independence of East Timor) หรือ แนวร่วมปฏิวัติเพื่อเอกราชติมอร์ฯ และก็โดยโชคชะตาของชีวิต ภายหลังที่อินโดฯ เข้ามายึดครอง และหัวหน้าขบวนการปฏิวัติ Nicolau Lobato เสียชีวิต กุสเมาก็ต้องเปลี่ยนบทจากครูและกวี กลายผู้นำแทน และกลายเป็นหัวหน้าของกองจรยุทธ FALINTIL (National Liberation Armed Forces of East Timor) ไปโดยปริยาย
   กุสเมาถูกทหารอินโดฯ จับได้เมื่อ 20 พฤศจิกายน 1992/2535 ภายหลังการสังหารหมู่ที่สุสานซานตาครู๊ซ ถูกทรมาณ และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และในคุกนี่แหละที่ "คุกขังเขาได้ แต่หัวใจอย่าปรารถนา" กุสเมาพัฒนาจิตและวิญญาณ ให้แข็งแกร่งทำนองเดียวกับเนลสัน มันเดลา (และอองซานซูจี) เขาใช้คุกและกระบวนการพิพากษา "ฟ้อง" ความอยุติธรรมต่อชาวโลก ในขณะเดียวกันก็เรียนภาษาอังกฤษ (ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังพูดไม่ดีเท่าไร) กับภาษาอินโดนีเซีย (ของศัตรู) ไปในเวลาเดียวกัน แน่นอนพร้อมๆ กับการเขียนบทกวี (แบบเดียวกับมหาบุรุษอย่างโฮจิมินห์) และเขียนรูปไปด้วย
   กุสเมาได้รับความสนใจอย่างมากในระดับสากล กาชาดส่งคนไปเยี่ยม UN ส่งตัวแทนไป และหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญคือ เมื่อประธานาธิบดีเนลสัน มันเดลา ไป state visit ที่อินโดนีเซีย (กรกฏาคม 2540 ตอนเงินบาทไทยดิ่งหัวทิ่ม) นั้น ซูฮาร์โตซึ่งใกล้จะหมดอำนาจ ก็ต้องยินยอมให้มันเดลาเข้าเยี่ยมเขาในคุกถึง 2 ชั่วโมง
คลิกดูภาพใหญ่    และเมื่อเอกาธิปไตยซูฮาร์โตล่มสลาย 21 พฤษภาคม 1998 ในปีถัดมา ประธานาธิบดีใหม่ฮาบิบี ก็ต้องยอมให้มีการลงประชามติในติมอร์ฯ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และก็ต้องยอมปล่อยกุสเมาเดินออกจากคุก เข้าสู่ประวัติศาสตร์และตำนานของการต่อสู้เพื่อเอกราช ความเป็น "ชาติ" และประชาธิปไตย
   ปัจจุบันกุสเมาดำรงตำแหน่ง เสมือนประธานาธิบดีรักษาการ แม้เขาจะปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จะไม่รับตำแหน่งการบริหาร เมื่อติมอร์ฯ ได้เอกราชสมบูรณ์ แต่วงการระหว่างประเทศก็เชื่อกันว่า ประธานาธิบดีตัวจริงของติมอร์ ฯ (ซึ่งเพิ่งแต่งงานใหม่ กับสาวออสซี่นาม Kirsty Sword Gusmao ) ก็คือกุสเมานั่นเอง
   ขณะที่นั่งรถไปกับ FC บุญสร้าง ท่านนายพลหันมาบอกเราว่า ให้ช่วยเปิดประเด็นการสนทนากับซานานาหน่อย โดยเฉพาะในเรื่องของ "การปรองดองในชาติ" บ่ายวันนั้นประมาณ 2 โมงเราก็ได้พบสัมภาษณ์มหาบุรุษ ก็อย่างที่รู้กันว่าซานานา นอกจะเป็นชายรูปหล่อแล้ว ยังมีกิริยามารยาทอ่อนโยน มีเสน่ห์ สร้างความประทับใจให้ผู้พบเห็นได้โดยง่าย ท่านเริ่มด้วยการปรารภว่าติมอร์ฯ ต้องการความช่วยเหลือในทุกๆด้าน ท่านมักจะหยุดถามบรรดาเจ้าหน้าที่แวดล้อมว่า คำนั้นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เพิ่มสีสันให้กับการสัมภาษณ์ ท่านคุยไปเรื่อย ตั้งแต่ปัญหาสภาพแวดล้อม ป่าที่ถูกทำลายอย่างหนักสมัยอินโดนีเซีย ไปจนถึงปัญหาจะเลือกใช้ภาษาอะไรเป็นราชการ ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาธุรกิจและการลงทุน ไปจนกระทั่งถึงการท่องเที่ยว กุสเมาบอกว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องอยู่ในลำดับความสำคัญเหมือนๆ กันหมด
คลิกดูภาพใหญ่    ต่อปัญหาการเลือกใช้ภาษาราชการสำหรับประเทศใหม่นั้น กุสเมาอาจจะต้องใช้ถึง 4 ภาษา เพราะภาษาโปรตุเกสเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของตน และก็จะเปิดติมอร์ฯออกสู่โลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป อัฟริกา และลาตินอเมริกา ในขณะที่อังกฤษเป็นภาษาสำคัญของโลกปัจจุบัน รวมทั้งความใกล้ชิดกับออสเตรเลีย ส่วนอินโดนีเซีย ก็เพราะคนหนุ่มสาวเยาวชนพูดและใช้ภาษานี้ได้คล่อง ทั้งยังต้องติดต่อกับอินโดฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ที่ต่างก็าใช้ "บาฮาซา" ท้ายที่สุดในแง่ของความเป็นชาติ "แต้ตุน" ก็ต้องเป็นภาษาของชาติด้วย แม้จะมีปัญหาว่ายังเป็นภาษาที่ขาดมาตรฐาน ในทัศนะคนไทยอย่างเราที่มีเพียงภาษาไทยภาษาเดียว ดูออกจะเป็นเรื่องน่างงงวยไม่น้อย แต่หลายคนก็อาจลืมไปว่า สิงคโปร์นั้นมีภาษาราชการถึง 4 ภาษาด้วยกันเช่นกัน คือ อังกฤษ มลายู ทมิฬ และจีนกลาง คนสิงคโปร์บอกว่า "no problem" 
   ต่อปัญหาคนว่างงาน กุสเมาว่านี่เป็นปัญหาใหญ่มาก (เราได้เห็นกับตาเช่นกันว่า ที่สำนักงานของ UNTAET มีคนเข้าคิวสมัครงานยาวเหยียด แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า คนที่จะได้งานนั้นมีน้อยมากๆ) พูดพลางท่านก็ทำมือทำไม้ให้ดูว่าคนเดินขบวนร้องหา job job job ครูระดับประถมและมัธยม ที่มีอยู่ถึง 7,000 คน แต่เมื่อเปิดโรงเรียนได้ใหม่ ก็จะรับกลับได้เพียง 4,000 ส่วนคนที่จะสมัครทำงานอาชีพพยาบาลถึง 5,000 ก็จะรับได้เพียง 1,000 ฯลฯ
   ส่วนในแง่ของธุรกิจการค้าก็แทบจะไม่มี จะทำอย่างไรที่จะดึงคนจีน ซึ่งเคยมีอยู่บ้าง ให้กลับมาประกอบธุรกิจ เปิดภัตตาคาร เปิดธนาคาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันและกาซที่มีอยู่ ก็ยังไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน จะเอาขึ้นมาใช้ได้อย่างไร (แน่นอนในเรื่องนี้บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ได้เข้าไปสำรวจ เพื่อดำเนินการมานานแล้วด้วยซ้ำไป)
คลิกดูภาพใหญ่    น่าสนใจที่นักปฏิวัติอย่างกุสเมา ก็ไม่ต่างกับผู้นำของโลกที่สามทั้งหลาย ที่มองเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นทางออกที่ง่าย และเร็วที่สุด ดูท่านจะตื่นเต้น และกระตือลือล้นไม่น้อย พูดพลางก็เดินออกไปอีกห้อง กลับเข้ามาพร้อมกับแผนผัง และรูปวาดของโรงแรมใหม่ขนาดใหญ่ ที่จะมีคนมาลงทุนในติมอร์ฯ (เข้าใจว่าเป็นผู้เสนอจากอินโดนีเซียด้วยซ้ำไป)
   การสนทนาของเราวนเวียนอยู่กว่า 1 ชั่วโมง แล้วเราก็ได้จังหวะยิงเป้าตามที่ FC ขอไว้ว่า เอาละเรื่องของ national reconciliation จะว่าอย่างไร เหมือนราวกับว่ากุสเมาคงคุ้นเคยกับคำถามทำนองนี้ สามารถสวนกลับได้ทันควันว่า yes, reconciliation, but justice too (ใช่ ปรองดอง แต่ก็ต้องด้วยความเป็นธรรมด้วย) ว่าแล้วท่านก็สาธยายต่อว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังเจ็บปวดอยู่ เหมือนอย่างที่เราเจ็บปวดมายาวนาน ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็โดนประหัตประหารโดยญี่ปุ่น ช่วง 24 ปีนับแต่ 2518 ภายใต้อินโดฯก็หนักหน่วง และยิ่งในปี 2542 ก็... กุสเมาพูดพลางก็เอานิ้วปาดคอให้ดู เหมือนจะบอกว่าเขา/เธอถูกเชือดและเฉือนอย่างไร ดังนั้นการปรองดองก็ทำได้กับบางคน แต่ไม่ใช่กับทุกคนเสมอไป 
   การสนทนาของเราวนเวียนอยู่ตรงประเด็นนี้สักครู่ แล้วก็ก้าวข้ามไปยังปัญหาของ "ทหารเถื่อน" ที่กุสเมาว่ากักกันผู้คนของท่านไว้ในติมอร์ตะวันตกในฐานะตัวประกัน เพื่อเอาไว้ต่อรอง ดังนั้นในแง่ของท่านก็คือขอให้ส่งคนกลับ ส่วนบรรดา "ทหารเถื่อน" นั้นจะอยุ่ในอินโดนีเซียต่อไปก็แล้วแต่จะเลือก เราจบการสัมภาษณ์กันตรงนี้ พร้อมกับร่ำลากันด้วยการถ่ายรูปหมู่พอเป็นธรรมเนียม

คลิกดูภาพใหญ่ ตำรวจไทย-ตำรวจอังกฤษ-อนาคตของติมอร์ฯ
   ลิกิซาเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ไกลจากดิลี่เท่าไร ที่นั่นเป็นเขตของฝ่ายนักปฏิวัติ และได้กลายเป็นข่าวระดับโลก เพราะก่อนการลงประชามติ "ทหารเถื่อน" ได้ออกปฏิบัติการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ด้วยการบุกเข้าไปสังหารหมู่ผู้คนในโบสถ์จำนวนระหว่าง 300-500 คนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2542 ลิกิซาก็เลยกลายเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ไป คนระดับเลขาธิการ UN โคฟี อันนัน หรือ ซานานา กุสเมา ก็ต้องมาเยือน
   เราแวะไปที่นั่นและก็โชคดีอย่างมหันต์เพราะนายตำรวจไทย "คุณพอล" จากเชียงรายให้การต้อนรับพร้อมด้วยข้อมูลน่าสนใจ UN ได้จัดตั้งกองกำลังตำรวจที่เรียกว่า Civil Police หรือ CIVPOL จากนายตำรวจจากหลายๆประเทศ (1,400) ที่สถานีตำรวจลิกิซา เราเห็นตำรวจมาจากอัฟริกา จากจีน จากสิงคโปร์ ไทยเองก็ได้โควต้าไปติมอร์ฯถึง 100 คน แต่ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษให้ได้ก่อน น่าเสียดายด้วยความอ่อนภาษาอังกฤษ ก็เลยผ่านมาได้เพียง 29 นาย ไม่เหมือนฟิลิปปินส์มีไปกว่า 100
   คุณพอลบอกว่าที่เมืองนี้แต่เดิมมีคน 3 หมื่น พอเกิดกลียุคก็เหลือ 1 หมื่น บ้านเรือนที่เราเห็นถูกเผาและร้างนั้น ส่วนใหญ่เป็นของพวกเข้าข้างอินโดฯ ตอนนี้กลับมาไม่ได้ ในแง่ของตำรวจก็พยายามให้กลับมา ถ้าใครมีคดีก็ต้องถูกดำเนินคดีไป โดยส่งไปขังที่ดิลี่ ขึ้นศาล ตำรวจไทยทำสำนวนคดี ศาลนั้น UN ตั้ง และกำลังฝึกให้คนติมอร์ฯขึ้นมาแทน สำหรับคนที่ไม่มีคดีอะไรร้ายแรงก็ให้ทำงานสังคม เช่น กวาดถนน
คลิกดูภาพใหญ่    คุณพอลไทย พาเราไปพบนายสถานีตำรวจเจ้านายของเขา ซึ่งก็ชื่อพอลเหมือนกัน แต่นามสกุลมอร์ริสัน ผู้ผ่านงานทำนองนี้มาแล้วหลายแห่ง รวมทั้งราวันดาในอัฟริกา เราถามคุณมอร์ริสันหลายๆ เรื่อง ดูเขาจะทัศนะคติที่เป็นบวก และเข้าอกเข้าใจคนติมอร์ฯไม่น้อย ผมเลยถามตรงๆ ว่า คุณมองปัญหาติมอร์ฯ ในอนาคตข้างหน้าใกล้ๆ ตัวนี้อย่างไร optimistic หรือ pessimistic และผมก็ต้องประหลาดใจ ที่จากความหายนะ จากปัญหาที่ติมอร์ฯเผชิญอยู่ คุณมอร์ริสันกลับตอบว่า ตนเอง optimistic เพราะเมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบมา ไม่ว่าจะเป็นบอสเนียหรือราวันดา คนติมอร์ฯนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท มีโครงสร้างสังคมและระบบเครือญาติที่แข็งแกร่ง มีความสำนึกในความต่อเนื่อง แม้จะดูเหมือนขลาด หวาดวิตก เคลื่อนไหวทำการทำงานเชื่องช้า แต่ก็ดูจะเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยดีกว่าคนในโลกตะวันตกด้วยซ้ำไป คนติมอร์ฯต้องผ่านระบบอาณานิคมโปรตุเกสมายาวนานถึง 400 ปี การรุกรานของญี่ปุ่น 3 ปี และท้ายที่สุดการยึดครองและปราบปรามของอินโดฯอีก 24 ปี โครงสร้างของสังคมติมอร์ฯ ได้พิศูจน์แล้วว่า สามารถต้านทานกับแรงกดดันจากภายนอกได้ ดังนั้นในยามทุกข์ยาก และดูจะมืดมนเช่นนี้ ก็น่าจะก้าวข้ามไปในที่สุด
   ผมอำลานายตำรวจอังกฤษท่านนั้นมา พร้อมกับรำพึงรำพันในใจว่า "นั่นซิพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช (ตากสิน) กู้บ้านกู้เมืองด้วยสองแขน พร้อมด้วยไทยจีน (แต้จิ๋ว) เพียงหยิบมือ" ทำไมติมอร์ฯที่มีทั้ง UN ทั้งองค์กรศาสนา NGO ประชามติของตนเอง และความเห็นอกเห็นใจจากเกือบจะทั่วโลก จะไม่สามารถ "กู้" หรือ "สร้าง" ชาติบ้านเมืองของตนไม่ได้แหละหรือ