|
|
|
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : รายงาน / สพสันต์ เพชรคำ : ภาพ |
ผืนน้ำเหนือหนองหานแห่งสกลนครขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เกือบเท่าตัว หลังจากกรมประมงเริ่มสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำก่ำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่มาเสร็จเอาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
จุดมุ่งหมายหลักเพียงคิดจะทำให้หนองหาน
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของภาคอีสาน
และเก็บน้ำไว้สำหรับชุมชนรอบหนองหาน
เพื่อเกษตรกรรม |
|
|
|
กว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะไม่ลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหวัง
กลับก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อม
รวมไปถึงชีวิตวัฒนธรรมแก่ชุมชนและผู้คนรอบหนองหานเกินกว่าจะคาดคิด
เป็นอีกหนึ่งโครงการ "พัฒนา" ของรัฐ ที่พิสูจน์ว่า ใช่จะศักดิ์สิทธิ์และถูกต้องเสมอไป
สภาพของหนองหานแต่เดิม
คือแอ่งรับน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุด
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายขอบบางส่วนเป็นท้องนาและทุ่งหญ้า มีที่ดอนเป็นเกาะในหนองน้ำอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งมีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มาก เป็นแหล่งรวมของนกหลากชนิด สายน้ำลำห้วยกว่า ๑๔ สายต่างไหลลงหนองหาน ซึ่งมีลำน้ำพุงจากเทือกเขาภูพานเป็นต้นน้ำสำคัญที่สุด หนองหานติดต่อกับแม่น้ำโขงด้วยลำน้ำก่ำ ซึ่งมีปากน้ำอยู่ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นเส้นทางนำพันธุ์ปลาหลากหลายจากแม่น้ำโขงเข้ามาวางไข่ในแหล่งน้ำภายใน
ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติในหนองหาน
ด้วยการควบคุมปริมาณ
และการไหลเวียนของสายน้ำต่างๆ ในหนองหานมีฤดูกาลน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงฝนตกใหม่ ๆ ราวพฤษภาคม
ลำน้ำพุงที่ไหลจากภูพาน
จะทำให้น้ำในหนองมีสีแดงขุ่น
ปลาหลากพันธุ์ทั้งจากลำน้ำโขง
และสายน้ำอื่น
จะว่ายทวนน้ำก่ำ
เพื่อมาวางไข่ในหนองหาน เช่น ปลาโด ปลาค้อ ปลาเคิง ปลาค้าว ปลาโจก ปลาอีจน ปลาแมว ปลาเพี้ย ปลาอีกุ่ม ปลาหมากผาง ปลาเซือม ปลาซวย ปลานาง ปลายอน ปลายี่สก ปลาเสือ ปลาดุก ปลาช่อน เป็นต้น
|
|
|
ย่างเข้าเดือนสิงหาคมและกันยายน
น้ำจะเต็มหนองหาน
หากปีไหนน้ำมาก
ก็จะท่วมถึงนาและชายหมู่บ้าน กลายเป็นทะเลสาบตามธรรมชาติขนาดใหญ่
ที่นาของชุมชนรอบหนองหาน
จะมีทั้งนาที่ดอน
ที่เรียกว่า "นาโคก"
นาที่ลุ่ม ที่เรียกว่า "นาท่ง"
และนาริมฝั่งหนอง
เรียกว่า "นาตีนน้ำ" ทั้งนี้ชาวบ้านมักมีนาหลายๆ
แบบเพื่อประกันว่า
จะได้มีข้าวกินทั้งในยามน้ำมากและน้ำน้อย
เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำจะลดระดับห่างออกไปกว่า ๒-๓ กิโลเมตร เกิดเป็นหาดสวยงามหลายๆ แห่ง
ชาวบ้านที่อยู่รอบหนองหาน
จะขูดดินเอียดหรือดินขี้ทา
มาใช้สำหรับต้มเกลือ
เพื่อไว้ทำปลาแดก
ที่ได้จากปลาในหนองไว้กินในครัวเรือน แต่ละบ้านทำปลาแดกไว้เพียงพอกิน ปีละสองสามไหเท่านั้น
ดอนกลางหนองที่มีแต่ต้นไม้ใหญ่
ก็สามารถนำวัวควายไปเลี้ยง หาเห็ดผึ้ง เห็ดปลวก เห็ดดิน หน่อไม้ป่า
กลับมากินได้ ้
แม้หนองหานจะเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เริ่มสร้างประตูกั้นลำน้ำก่ำ
ในสายตาของชาวบ้าน แต่ พ.ศ. ๒๕๓๖
นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หนองหานวันนี้
ประสบภาวะวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด จากที่กรมประมงสร้างประตูน้ำใหม่ที่ชื่อ "ประตูสุรัสวดี"
สร้างคันดินกั้นน้ำ
และอาคารรับน้ำอีกห้าแห่ง
วัตถุประสงค์ที่ให้ไว้ก็เพื่อป้องกันน้ำท่วม
ในพื้นที่ลุ่มรอบหนองหาน
หน้าที่ของหนองหานแต่เดิมที่วางไว้เพื่อเพาะพันธุ์
และส่งเสริมการเลี้ยงปลาให้มากขึ้น และเพื่อทำการเกษตร
ต่อมามีการใช้น้ำ
เพื่อการประปาในตัวเมืองสกลนคร เมื่อชุมชนเมืองขยายตัวมากขึ้น ก็ใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากชุมชนโดยรอบ
อีกทั้งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาค
ตามโครงการพัฒนาหนองหาน
ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗
|
|
|
ผลจากการ "พัฒนา" นับแต่ปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา
รวมถึงการขยายตัวทั้งจำนวนประชากร
และด้านกายภาพของชุมชนรอบหนองหาน
ทำให้หนองหานวันนี้
เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศอย่างพลิกผัน
การปิดประตูน้ำเพื่อเพิ่มระดับการกักเก็บน้ำ
ที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตชุมชนรอบหนองหานกว่า ๓๒ แห่ง
ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินรอบหนองหาน
ทั้งที่มีโฉนด
และเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ เมื่อระดับน้ำขึ้นถึงที่ใด กรมประมงก็จะนำหลักเขตที่มีสัญลักษณ์เป็น "หัวพญานาค" ไปปักไว้
ทำให้พื้นที่อย่างเป็นทางการหนองหาน
ขยายเพิ่มมากขึ้นจากเดิมราว ๔๘,๖๐๐ ไร่ มาเป็นราว ๗๗,๐๑๖
ไร่
ที่นาตีนน้ำของชาวบ้านหลายแห่ง
ที่อยู่อาศัยกันมาหลายร้อยปี
ถูกริบเป็นเขตของกรมประมง
จนชาวบ้านท่าวัด
ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่คู่กับหนองหาน
มีโบราณวัตถุโบราณสถานมากมาย
รวมถึงจารึกภาษาลาวที่เก่าที่สุดในอีสาน กล่าวว่า รัฐสร้าง "หัวพญานาคลักเขต" ที่ดินของชาวบ้าน บางคนสงสัยว่า "เป็นการปิดเขื่อนเพื่อไล่ที่"
ระดับน้ำที่คงที่ แม้จะมีน้ำมากแต่ก็เป็นน้ำนิ่ง การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำให้น้ำในหนองหาน "เน่า"
เกิดวัชพืชหนาแน่น
เป็นดงลอยน้ำที่เรียกกันว่า "ขี้สนม" และมีผักตบชวามากมหาศาลที่กำจัดไม่หมด
แม้จะมีเรือกำจัดอยู่สองลำ
แต่ก็สู้กำลังไม่ไหว
|
|
|
เกิดการแพร่ระบาดของหอยคัน
และศัตรูพืชในนาริมหนอง
เนื่องจากการหมักหมมของน้ำเน่า
และของเสียจากชุมชนเมือง
และชุมชนรอบหนองหานที่ถ่ายเทเข้าไป วัวควายเป็นโรคปากเปื่อย มีพยาธิ และขายไม่ได้ราคา ทำให้ชาวหนองหานเลิกเลี้ยงจนเกือบหมด
อีกเหตุผลหนึ่งคือ
ไม่มีพื้นที่รอบหนองให้เลี้ยงอีกต่อไป
ความหลากหลายของพันธุ์ปลาหมดไป
เหลืออยู่แต่จำพวกปลาเกล็ด
ที่กรมประมงนำมาปล่อย เช่น ปลานิล ปลาไน ปลานวลจันทร์ ส่วนปลาที่ตัวใหญ่และกินอร่อยขายได้ราคาดี ที่เรียกว่าพวกปลาหนัง
กลับสูญพันธุ์
และหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก เพราะปลาเหล่านี้จะไม่วางไข่ในน้ำนิ่ง
อีกทั้งสภาพของน้ำ
ทำให้ปลาเป็นโรคจับปลาตามธรรมชาติแทบไม่ได้ นอกจากพวกที่ใช้ไฟฟ้าช๊อต ชาวบ้านหาปลาทั้งวันก็ยังได้ไม่ถึง ๑ กิโลกรัม
ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงในหนองหาน
ต่างหมดอาชีพไปตาม ๆ กัน
หมู่บ้านบางแห่ง
ไม่สามารถออกเรือได้เลย เนื่องจากความหนาแน่นของกอผักตบชวาปิดทางน้ำหมด
นอกจากจะทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ
แพร่ระบาดในสัดส่วนที่สูงกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำกินน้ำใช้ที่เคยใช้น้ำจากหนองหานโดยตรง
ก็ไม่สามารถใช้ได้
ทั้งอาบหรือดื่มกิน เพราะมีแต่สาหร่าย จอกแหน หนาแน่นท้องน้ำ จึงต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ ส่วนการประปาซึ่งต้องผลิตน้ำแจกจ่ายแก่ชาวเมืองสกลนคร แม้จะยังใช้น้ำจากหนองหานได้ แต่ก็ต้องสร้างท่อสูบน้ำยื่นออกไปห่างฝั่งเรื่อย ๆ ปัจจุบันเป็นระยะทางเกือบ ๑.๕ กิโลเมตรแล้ว
|
|
|
ชาวบ้านรอบหนองหานมีความเห็นร่วมกันว่า
อยากให้กรมประมงลดระดับกักเก็บน้ำ
มาอยู่ในระดับที่ทำให้ผักตบชวาตายได้
และชาวบ้านจะระดมช่วยกันเก็บ
เพราะต่อให้เรือกำจัดเป็นร้อยลำ
ก็ไม่สามารถเก็บได้หมด
และเปิดประตูระบายน้ำ
ให้ปลาจากน้ำโขงขึ้นมาวางไข่
เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติของหนองหาน
ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก แม้จะเป็นปัญหาระดับท้องถิ่น
แต่หน่วยงานท้องถิ่น
ก็ไม่สามารถแก้ไข
เพราะสถานีประมงหนองหาน
ไม่อาจรับผิดชอบเปิดประตูน้ำให้ชาวบ้านได้ โดยให้เหตุผลว่าต้องมีคำสั่งจากเจ้ากระทรวงฯ เท่านั้น
ปัญหาของหนองหานเกิดจากการพัฒนา
ที่มองปัญหาแต่เพียงด้านเดียว นั่นคือ "น้ำ"
เป็นทรัพยากรที่ต้องการการจัดการในด้านปริมาณ
โดยคิดว่าน้ำมาก
เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
และพยายามกระจายทรัพยากรนี้
ไปตอบสนองพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะชุมชนรอบหนองหานเท่านั้น
แต่ได้กลายเป็นการตัดระบบนิเวศ
ของหนองน้ำขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ
ลงอย่างสิ้นเชิง
ความอุดมสมบูรณ์ที่คาดว่าจะมี
กลับกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง
ต่อชีวิตผู้คนรอบหนองหานทั้งในเมือง
และนอกเมือง
คนเมืองสกลนครต้องหวาดผวากับการดื่มน้ำ
ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพเพียงพออีกต่อไปหรือไม่
ไม่ต้องหวังถึงชุมชนชาวบ้านรอบหนองหาน
ที่แม้แต่จะลงอาบน้ำก็ยังไม่กล้า
อาชีพพออยู่พอกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ต้องเปลี่ยนเป็นการรับจ้างนอกชุมชน ไม่มีใครออกเรือหาปลา ไม่มีใครเลี้ยงวัวควายเป็นอาชีพเสริม ที่นาหมดสิ้นสูญหายไปกับเขตประมง ป่าไม้บนดอนต่างๆ ถูกลักลอบตัดไปจนหมด
หาดทรายที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวพักผ่อน
ไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้
|
|
|
แม้การเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งครั้งนี้
จะทำให้ "ออเดอร์" เสื้อแจ็กเกตผ้าร่มของพรรคต่าง ๆ สั่งเข้ามาที่จังหวัดสกลนครมากมาย
ชาวบ้านในหมู่บ้านรอบหนองหาน
ต้องเย็บผ้าส่งกันมือเป็นระวิง
แต่เมื่อคิดถึงการถูกตัดขาดจากระบบนิเวศ
ที่เอื้อให้หาอยู่หากินได้อย่างสบายรอบๆ หนองหาน
และอนาคตที่กำลังจะกลายเป็นหนองน้ำเน่าขนาดใหญ่ที่สุด
ในภาคอีสาน ก็ต้องมาร่วมช่วยกันคิดว่า
คนหนองหานต้องการ "การพัฒนา" จริง ๆ หรือ
หมายเหตุ : ข้อมูลจากการสัมมนาเรื่อง "อารยธรรมหนองหานหลวง" ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
|