กลับไปหน้า สารบัญ
น ก เ ค้ า ห น้ า ผ า ก ข า ว
วิหคไพรในรัตติกาล
สมาน คุณความดี 
    หน้าฝนที่ผ่านมา ฝนโปรยปรายมาตั้งแต่ต้นฤดู ผืนวขจีไปทั่ว ต้นไม้ในป่าดูสดชื่นมีชีวิตชีวาบรรดากบเขียดที่อาศัยอยู่ตามแอ่งน้ำเล็ก ๆ ต่างพากันเริงร่า โดยไม่ระแวงว่าเหล่านักล่า ก็กำลังคึกคักที่จะออกหาเหยื่อเช่นกัน โดยเฉพาะนักล่ายามรัตติกาล อย่างนกเค้าหรือนกฮูก นกกลางคืนที่หลายคนมองว่ามันดูลึกลับ น่ากลัว
คลิกดูภาพใหญ่     สำหรับผม เรื่องราวของนกกลางคืนเป็นสิ่งน่าสนใจศึกษา ทว่าการติดตามดูพฤติกรรมตลอดจนการบันทึกภาพนั้นนับว่ายุ่งยากพอสมควร ผมเองนั้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าที่จะรวบรวมภาพถ่ายของนกกลางคืนเหล่านี้ โดยตระเวนไปตามป่าต่าง ๆ ที่เป็นแอหล่งอาสียของนกเหล่านี้ ทั้งในพื้นที่ราบต่ำหรือที่สูง ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ 
    การเตรียมตัวส่องนกกลางคืน ต้องมีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นกว่ากล้องสองตาธรรมดา คือกระบอกไฟฉายขนาดสามท่อน สปอร์ตไลท์ที่มีแสงสว่างกว่าไฟฉายจะใช้งานได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังต้องแต่งกายให้รัดกุม สวมรองเท้ามิดชิด เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ ซึ่งจัดเป็นอันตรายสำหรับการดูนกกลางคืนอย่างยิ่ง
    แหล่งดูนกเวลากลางคืนนั้น เราสามารถไปดูในหลาย ๆ พื้นที่ จุดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่มากนัก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งนี้ ผมเลือกเอาพื้นที่อุทบยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ผมคุ้นเคยในพื้นที่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านกร่างที่ผมได้อาศัยเป็นที่พักแรมอยู่เป็นประจำนั้น ผมมักจะได้ยินเพียงเสียงของนกเค้าร้องอยู่เป็นประจำ แต่การจะเห็นตัวมันแต่ละครั้งนั้นก็แสนลำบาก บางครั้งก็อยู่ในป่าที่รกชัฏ หรืออยู่บนยอดไม้สูง ๆ 
    นกในวงศ์นกเค้า มีขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง (๑๖-๕๕ ซม.) ใบหน้าค่อนข้างกลม ขนปลายปีกสั้น ที่ ๑-๖ นับจากด้านนอกสุดมีรอยเว้า หางมนหรือตัดขาสั้น ขณะบินจึงไม่เห็นขาเหยียดไปจรดปลายหางอย่างวงศ์นกแสก ปัจจุบันมีกระจายพันธุ์ทั่วโลกทั้งสิ้น ๑๕๑ ชนิด ใน ๒๓ สกุล ในประเทศไทยพบ ๑๗ ชนิด ใน ๘ สกุล คือ สกุลนกเค้าหูยาว สกุลนกเค้าใหญ่ สกุลนกทึดทือ สกุลนกเค้าป่า สกุลนกเค้าโมง สกุลนกเค้าจุด สกุลนกเค้าเหยี่ยว และสกุลนกเค้าแมว 
    คืนนี้ที่แคมป์บ้านกร่างดูจะสงบเงียบกว่าอาทิตย์ที่ผ่านมา อากาศค่อนข้างเย็นสบาย ผมนั่งคุยกับเพื่อน ๆ ด้วยเรื่องสัพเพเหระ ส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นเรื่องของการดูนกหรือถ่ายภาพนกในตอนกลางวันที่ผ่านมา
 คลิกดูภาพใหญ่     ขณะที่กำลังคุยกันอย่างออกรส จู่ ๆ ก็มีเสียงอะไรบางอย่างตกตุ้บลงกระทบหลังคารถยนต์ ทั้ง ๆ ที่จอดรถในที่โล่ง ทุกคนสะดุ้ง หันมองด้วยความสงสัย ด้วยความเคยชิน ผมรีบคว้ากระบอกไฟฉายขนาดสามท่อนที่ติดตัวอยู่ประจำ ส่องไปยังหลังคารถทันที จึงได้เห็นแขกที่มาเยือนในยามวิกาล ก็คือ เจ้านกเค้ากู่ หนึ่งในนกกลางคืนที่ผมสนใจ
    ผมรีบมุดเข้าเต็นท์นอน คว้ากระเป๋ากล้อง จัดอุปกรณ์ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไม่ทันที่จะยกกล้อง เจ้านกเค้ากู่พลันก็บินเข้าไปข้างป่าห่างจากที่พักไม่ถึง ๒ เมตร เกาะต้นไม้สูงไม่ถึง ๒ เตร ให้ผมถ่ายรูปอยางจุใจ
    นกเค้ากู่ (Collared Scops Owl) เป็นนกขนาดเล็ก (๒๒-๒๓ ซม.) ปีกยาวกว่า ๑๖.๐ ซม. หางสั้นกว่า ๑๐.๐ ซม. ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลแกมสีเนื้อหรือสีน้ำตาลแกมเทา รอบคอมีแถบผีเสื้อ หน้าผากและคิ้วสีเนื้อหรือสีขาวแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างมีลายจุด แต่มักไม่เด่นชัด ตาสีน้ำตาล บางตัวเป็นสีเหลทือง ปากสีเทา ตัวไม่เต็มวัยลำตัวเป็นลายสีน้ำตาลแกมเทา 
    นกเค้ากู่อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา และทุ่งโล่ง ตั้งแต่ระดับพื้นล่างไปจนกระทั่งความสูง ๒,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เนื่องจากมันินในเวลากลางคืนเราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นมันนัก มักจะแต่ดัง "ฮู ฮู"อยู่ตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบหลบอยู่ในโพรงไม้ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเนื่องจากมีสิ่งรบกวน
    นกเค้ากู่กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ด้วงปีกแข็ง ตั๊กแตน กิ้งก่า หนู นก สำหรับเหยื่อที่เป็นแมลง มันจะใช้ปากจิกและกลืนกินทันที ส่วนเหยื่อขนาดใหญ่มันมักใช้กรงเล็บจับ เมื่อเหยื่อตายแล้วจึงค่อยฉีกกิน และสำรอกชิ้นส่วนที่ย่อยไม่ได้ออกมา เช่น กระดูก ขน เกล็ด นกเค้ากู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ทำรังในโพรงต้นไม้ที่ยังมีชีวิต หรือตอไม้ตาย อาจเป็นโพรงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือโพรงสัตว์อื่นทำเอาไว้ เช่น กระรอก นกหัวขวาน นกโพระดก โพรงอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๒-๕ เมตร อาจเป็นโพรงไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือ โพรงที่สัตว์อื่น เช่น กระรอก นกหัวขวาน นกโพระดก เจาะไว้ ภายในไม่มีวัสดุรองโพรง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาว วางไข่ครั้งละ ๓-๕ ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยปกคลุมลำตัวเล็กน้อย ช่วงแรกที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่นกจะคอยหาอาหารมาป้อน โดยในช่วงแรกมันจะฉีกอาหารเป็นชิ้น ๆ แล้วป้อนลูก เมื่อลูกนกโตพอประมาณแล้ว มันจะทิ้งเหยื่อทั้งตัว (ซึ่งบางครั้งยังไม่ตาย) ลงไปในโพรงรังให้ลูกนกฉีกกินเหยื่อเอาเอง เป็นการฝึกให้ลูกนกรู้จักการล่าจับเหยื่อ นกเค้ากู่เป็นนกประจำถิ่น พบทั่วทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ 

คลิกดูภาพใหญ่     รุ่งเช้าฝนโปรยพรำ ๆ โอกาสจะเห็นนกออกมานั้นน้อยมาก ผมตัดสินใจเดินทางขึ้นสู่ยอดพะเนินทุ่ง ตลอดเส้นทางที่ลาดชันถูกปกคลุมด้วยสายหมอก ลำห้วยที่เคยแห้งขอดเอ่อล้นด้วยสายน้ำ ไหลลงสู่เบื้องล่าง ค่างที่เคยพบเห็นอยู่ประจำก็พากันเงียบหายไม่ออกมากินยอดไม้อ่อน
    สุดถนนที่ กม. ๓๖ บริเวณจุดชมวิวมองไม่เห็นอะไรนอกจากสายหมอกปกคลุมหนาทึบ ผมต้องย้อนมาพักรอคอยเวลาลงจากยอดพะเนินทุ่งที่บริเวณพระตำหนัก ซึ่งบริเวณนี้เป็นแหล่งอาศัยของนกกระลิงเขียดหางหนาม นกที่หายากอีกชนิดหนึ่งของเมืองไทย วันนี้ได้ยินแต่เสียง มันไม่ยอมโผล่หน้ามาให้เห็นเลย
    เที่ยงวัน ฝนยังไม่ซาเม็ด ผมลงจากยอดพะเนินทุ่ง ใช้เวลาไม่นานมากนักมาถึง กม. ที่ ๑๖-๑๘ แหล่งดูนกที่เยี่ยมยอดที่สุดแห้งหนึ่งของคนเดินทาง ผมขับรถไปอย่างช้าๆ มองสองข้างทางที่เป็นป่าไปพลางๆ
    ฉับพลันผมต้องเบรกรถจนหัวทิ่ม เมื่อเพื่อร่วมเดินทางบอกว่ามีนกอะรไก้ไม่รู้เกาะคบไม้เรียงกันสามตัว จนผมต้องรีบลงจากรถไปดูด้วยตนเอง ผมต้องอึ้งกับภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผม นกเค้าเคยเจอมาหลายตัว พอมาเจอตัวนี้ผมต้องยืนคิดอยู่นานก่อนจะตัดสินใจว่ามันคือ "นกเค้าหน้าผากขาว" นกกลางคืนอีกชนิดหนึ่งที่โอกาสจะเห็นตัวมันในเวลากลางวันอย่างนี้มีไม่มากนัก ผมรีบคว้ากล้องออกจากรถมาบันทึกภาพทันที
    นกเค้าหน้าผากขาว (White-Fronted Scops owl) นี้ พบครั้งแรกที่มาเลเซีย เป็นนกเฉพาะถิ่นที่พบในประเทศพม่า ตอนใต้ของประเทศไทย และมาเลเซีย แม้จะจัดเป็นนกขนาดเล็ก (๒๖-๒๗ ซม.) แต่มันก็จัดเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ ที่พบในประเทศไทย ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมแดง ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเหลือง มีลายขีดสีเข้มกระจายทั่วตัว หน้าผากมีสีขาวเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร หัวมีขนงอกออกไปทั้งสองข้างคล้ายเป็นใบหู ขอบใบหน้าทางด้านล่างมีสีขาว ปากสีขาว ตาสีน้ำตาล หางยาวกว่า ๑๐ ซม. 
    นกเค้าหน้าผากขาว อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ในระดับที่ต่ำกว่า ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พบอยู่โดดเดี่ยว หากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะเกาะหลบซ่อนตามกิ่งไม้ที่ค่อนข้างแน่นทึบและแสงสว่างส่องไม่ถึง หรืออยู่ในโพรงไม้ นกชนิดนี้กินแมลงเป็นอาหาร ส่วนใหญ่มันใช้กรีงเล็บโฉบจับเหยื่อกลางอากาศ ในระยะใกล้กับที่เกาะ หรือตามพื้นดิน แล้วจึงใช้ปากคาบและกลืนกินทีหลัง
    เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ผมจึงพบว่าพวกมันมีทั้งหมดห้าด้วยกัน เป็นพ่อแม่นก กับลูกนกอีกสามตัว ลุกนกจะสังเกตเห็นหน้าผากสีขาวเด่นชัด ถึงจะเป็นตัวไม่เต็มวัย ก่อนหน้านี้ราวปีเศษ ผมเคบพบเห็นรังของนกเค้าหน้าผากขาวบริเวณนี้ตรงริมลำห้วย เมื่อครั้งที่ผมกำลังถ่ายภาพนกหัวขวานเขียวป่าไผ่ เสียดายที่เห็นตัวไม่ชัดเจน เนื่องจากถูกกิ่งไม้และใบไม้บังทั้งตัวและรังของมันเอาไว้

 คลิกดูภาพใหญ่     วันรุ่งขึ้นผมยังคงเดินดูนกระหว่าง กม. ๑๖-๑๘ ทว่าวันนี้ผมหลบจากถนน ลัดเลาะลงไปตามลำห้วยที่อยู่ห่างจากถนนไม่ไกลนัก ผมเดินคนเดียวเงียบ ๆ อย่างน้อยจะได้เช็กนกควบคุ่ไปด้วย บริเวณนี้พบเห็นนกมากมายหลายชนิด ส่วนแต่มีสีสันสวยงาม บางครั้งยังพบนกทางภาคเหนืออยู่ในบริเวณนี้เช่นกัน ยิ่งเป็นตอนเที่ยงวัน ผมชอบที่จะนั่งอยู่ริมลำห้วย พรางอยู่ตามโคนต้นไม้ แอบดูนกเล่นน้ำ หรือบางครั้งก็นั่งดูนกพญาปากกว้างอกสีเงินที่ทำรังห้อยอยู่เหนือผิวน้ำด้วยท่าทางน่ารัก
    ผมเดินตัดจากลำห้วยแรก เข้าไปลำห้วยที่ ๒ ลัดเลาะไปทางด่านสัตว์ บางทีก้เดินตามลำห้วยสลับกันไป เพื่อจะหลบหลีกจากทากที่มีอยู่ในป่าดิบชิ้น วันนี้ในช่วงบ่าย ป่าดูจะเงียบเฉียบอย่างไรชอบกล ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้นกับสิ่งรอบข้าง นกระวังภัยที่เคยส่งเสียงร้องลั่นป่าก็ไม่รู้ว่าหายตัวไปไหน ผมเดินก้มหน้าดูพื้นที่ถูกทับถมด้วยใบไม้ เห็นขนนกกองอยู่กับพื้น ส่วนชิ้นส่วนอื่น ๆ นั้นไม่รู้หายไปไหน ดูไปดุมาเป็นขนนกพญาปากกว้างอกสีเงิน มันคงจะถูกเหยี่ยวล่าไปเสียแล้ว... ผมนึกพลางแหงนมองขึ้นไปบนยอดไม้บริเวณนั้น เกือบสะดุ้งเมื่อเห็นนกตัวค่อนข้างใหญ่เกาะนิ่งอยู่
    ผมเขม้นมองภาพที่ปรากฎ ไม่แน่ใจว่ามัน เหยี่ยวหรือนกอะไรกันแน่ ผมยกกล้องสองตาส่องดูทันที เมื่อเห็นชัดก็รู้ว่ามันคือนกทึดทือพันธุ์มลายูนั่นเอง ผมรีบจัดการเตรียมอุปกรณ์กล้องเลนส์เสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ค่อย ๆ เดินไปอย่างเงียบ ๆ จนได้ระยะของเลนส์ ผมจึงกดชัตเตอร์ถี่ยิบเสียงชัตเตอร์ลั่นทำให้มันเขม็งจนผมต้องหยุดเพื่อดูท่าที แต่เมื่อมันยังเฉย ผมก็ถือว่ามันยินยอมพร้อมใจให้ผมเก็บภาพมันได้ต่อไป
    นกทึดทือมลายู (Buffy Fish Owl) พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินดดนีเซีย ทั่วโลกมีนกทึดทือพันธุ์มลายูสี่ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ ๑ ชนิดย่อย คือ Ketupa ketupu aagaardi neumann โดยพบครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส นกทึดทือพันธุ์มลายูนี้กระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เหาะซุนดาใหญ่ เป็นนกขนาดกลาง (๔๙-๕๐ ซม.) ปีกสั้นกว่า ๔๐ ซม. ตาสีเหลืองจนถึงเหลืองแกมทอง ขนบริเวณเหนือโคนปากเป็นสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล มีลายสีจางกระจาย ลำตัวด้านล่างสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง มีลายขีดสีดำ เมื่อหุบปีกจะเห็นลายแถบสีน้ำตาลจางสลับสีเข้มบริเวณปลายปีก ขาสีเขียว 
    นกทึดทือพันธุ์มลายู อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พบใกล้แหล่งน้ำ ลำธารในป่า และบริเวณใกล้ฝั่งทะเล ส่วนใหญ่หากินในเวลากลางวันและช่วงเย็น ซึ่งแตกต่างไปจากนกทึดทือพันธุ์เหนือที่หากินในเวลากลางคืน นกทืดทือพันธุ์มลายูกินปลา กบ ปู ค้างคาว นก และสัตว์เลื้อยคลาน ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ทำรังในโพรงไม้หรือใช้รังเก่าของนกอื่น นกทึดทือเป็นนกประจำถิ่น พบไม่บ่อยนัก และมีจำนวนไม่มากนัก พบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตวันออกเฉียงใต้ แต่จะพบบ่อยทางภาคใต้ 

      ผมเดินทางกลับจากแก่งกระจานด้วยความอิ่มใจ แม้สายฝนจะโปรยปรายเกือบตลอดเวลา แต่ก็ต้องนับว่าคุ้มค่าอย่างผม เพราะนอกจากจะได้เห็นนกกลางคืนสมใจแล้ว ยังมีโอกาสได้เห็นพวกมันในเวลากลางวันด้วย ที่สำคัญ ผมดีใจที่ได้รับรู้ว่า แก่งกระจานในวันนี้ ยังคงเป็นผืนป่าอันอุดมที่สัตว์ป่านานาชนิดจะได้พักพิงอาศัย และผมก็หวังว่ามันจะเป็นบ้านที่ร่มเย็นเช่นนี้ได้ตลอดไปตราบนานเท่านาน
  หนังสือประกอบการเขียน
หนังสือชุดนกเมืองไทย เล่ม ๒ โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์ 
ขอขอบคุณ 
คุณปัญญา ปรีดีสนิท หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนแก่งกระจาน
คุณสุทัศน์ ทรัพย์ภู่ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านกร่าง