|
|
|
กุลธิดา สามะพุทธิ รายงาน
|
หนังสือเรื่อง Epoch of Degraded Health หรือ "ยุคสมัยแห่งสุขภาพอันเสื่อมโทรม" เล่าให้ฟังว่า พ่อครัวชาวญี่ปุ่นจะไม่ใช้เกลือสินเธาว์ (เกลือที่ได้จากดินเค็ม)
ในการทำผักดอง
หรือหมักอาหารเด็ดขาด
เพราะเรียนรู้สืบต่อกันมาว่า
อาหารและพืชผักที่ดองด้วยเกลือสมุทร (เกลือที่ได้จากน้ำทะเล) จะมีรสชาติอร่อยกว่า
เนื่องจากเกลือชนิดนี้มีแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด
ที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี
แร่ธาตุเหล่านี้ไม่มีอยู่ในเกลือสินเธาว์
ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน |
|
|
|
ผู้เขียนยังกล่าวอีกด้วยว่า
เกลือสินเธาว์ซึ่งกลายมาเป็นที่นิยม
เพราะมีลักษณะขาวร่วนน่าใช้
มีความบริสุทธิ์
และความเค็มสูงถึง ๙๙.๙ เปอร์เซ็นต์นั้น มีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายน้อยมาก เมื่อเทียบกับเกลือทะเลที่รูปร่างหน้าตาไม่น่าใช้นัก เพราะมีสีขาวหม่น เม็ดใหญ่และมีความชื้นมาก การที่คนนิยมบริโภคกันแต่เกลือสินเธาว์ รวมทั้งการที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นประกาศว่า เกลือสมุทรมีแร่ธาตุสำคัญไม่กี่ชนิดซึ่ง "ไม่จำเป็นต่อร่างกาย" นั้น เป็นมหันตภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน
ในฝรั่งเศสก็มีงานวิจัยเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหาร
ระหว่างเกลือสมุทร
กับเกลือสินเธาว์เช่นกัน ซึ่งอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว
นักวิชาการอิสระผู้เกาะติดปัญหาเกี่ยวกับการทำนาเกลือ
ได้อ้างถึงในการบรรยายเรื่อง "นาเกลือ ฤาจะเหลือเพียงตำนาน" เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรว่า "แม้เกลือทะเลจะมีโซเดียมคลอไรด์
และความบริสุทธิ์น้อยกว่าเกลือหิน
หรือเกลือสินเธาว์ แต่เกลือทะเลมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายคนถึง ๘๔ ชนิด โดยมี ๒๔ ชนิดที่ร่างกายต้องการอย่างยิ่งยวด ในขณะที่เกลือสินเธาว์ไม่มีแร่ธาตุจำเป็นอื่น ๆ เลย
แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในเกลือสินเธาว์
ก็คือสารเคมีชนิดหนึ่ง
ที่ดูดความชื้นในเกลือ
ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ไอโอดีนที่เติมลงไปในเกลือ
มีปริมาณคงที่ ไม่สลายตัว" งานวิจัยชิ้นนี้ยังสรุปไว้ด้วยว่า
คนที่ขาดเกลือทะเล
จะทำให้เกิดโรคมะเร็ง หมดเรี่ยวแรง ความจำเสื่อม เซ็กซ์เสื่อม ต่อมควบคุมเกลือเสื่อม แก่เกินไว ฟันและกระดูกผุ เป็นต้น
ความเป็นจริงประการหนึ่งที่อาจารย์ล้อมชี้ให้เห็นก็คือ ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดบริโภคแต่เกลือสินเธาว์ บรรดาห้างสรรพสินค้าก็ขายแต่เกลือสินเธาว์
เกลือที่ตั้งอยู่บนโต๊ะอาหารของทุกบ้าน
หรือทุกร้านอาหารก็เป็นเกลือสินเธาว์ทั้งสิ้น
|
|
|
เมื่อสอบถามไปยังกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ข้อมูลว่า
ที่ผ่านมานักโภชนการไทย
ศึกษาในประเด็นว่าด้วยปริมาณสารไอโอดีนในเกลือ
เพื่อป้องกันปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของคนไทยเป็นหลักเท่านั้น โดยรายงานชิ้นล่าสุดของกรมอนามัย (กันยายน ๒๕๔๑) ชี้แจงว่า "เกลือที่ไม่มีสารไอโอดีนเลย คือ เกลือสินเธาว์
สำหรับเกลือทะเลนั้น
มีระดับไอโอดีนน้อยมาก ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย"
กรมอนามัยจึงไม่สนใจว่าคนจะนิยมบริโภคเกลือสมุทร
หรือเกลือสินเธาว์ แต่สิ่งสำคัญก็คือ
เกลือสำหรับบริโภคนั้น
ต้องเติมสารไอโอดีนเข้าไปไม่น้อยกว่า ๓๐ มิลลิกรัมต่อเกลือ ๑ กิโลกรัม
แต่เมื่อติดตามจากมติคณะรัฐมนตรีในช่วงระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๔๓,
จดหมายโต้ตอบทางราชการ
ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งข้อมูลที่นายวิระ มาวิจักขณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ผู้กำกับดูแลด้านการผลิตเกลือสินเธาว์
ให้สัมภาษณ์แก่ สารคดี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ แล้ว เห็นได้ว่าปัญหาเรื่อง "เกลือ"
ในประเทศไทยนั้น
ซับซ้อนวุ่นวายกว่าข้อถกเถียงในเรื่องคุณค่าทางอาหาร
ที่กล่าวถึงข้างต้นมากนัก แม้แต่การกำหนดค่ามาตรฐานความเค็ม
/ ความบริสุทธิ์ของเกลือ
หรือการที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ
แจกเกลือสินเธาว์ผสมไอโอดีนไปทั่วประเทศนั้น
ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่า
มีความไม่ชอบมาพากลบางประการ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลัง "เป็นเรื่อง" อยู่ในขณะนี้ ได้แก่
ความเดือดร้อนของชาวนาเกลือสมุทร
จากการที่ถูกเกลือสินเธาว์แย่งตลาด,
ความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตเกลือสินเธาว์รายย่อย
กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
ที่มาลงทุนผลิตเกลือสินเธาว์
เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของตัวเอง
|
|
|
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอธิบายที่มาของปัญหาว่า
ก่อนหน้านี้เกลือสมุทร
ซึ่งมีการผลิตมากในแถบจังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทย เช่น สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ชลบุรี เพชรบุรี
ถูกนำมาใช้ทั้งในการบริโภค
และอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตคลอรีน
โรงงานผลิตโซดาไฟและโซเดียมคาร์บอเนต
เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแก้ว ใยสังเคราะห์ สบู่ ผงซักฟอก โรงงานทำกระจก-กระเบื้องเคลือบ
แต่เมื่อมีการค้นพบเกลือสินเธาว์
ซึ่งอยู่ใต้ดินในแถบอีสานในปริมาณมาก เกลือสมุทรก็คลายความสำคัญลง
"ในแง่อุตสาหกรรม เกลือสมุทรมีความบริสุทธิ์สู้เกลือสินเธาว์ไม่ได้ เนื่องจากมีแร่ธาตุและสารปนเปื้อนอยู่หลายชนิด โรงงานต่าง ๆ จึงหันมาใช้เกลือสินเธาว์กันหมด ไม่ว่าราคาจะถูกหรือแพงก็ตาม"
กระบวนการผลิตเกลือทะเลทั้งสองชนิดนี้
แตกต่างกันตรงที่ เกลือสมุทรได้จากการสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา
ตากแดดและลมจนน้ำระเหยไป
เหลือเป็นผลึกเกลือสีขาว
ส่วนเกลือหินหรือเกลือสินเธาว์
ได้จากการปล่อยน้ำลงไปละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดิน
แล้วจึงสูบน้ำกลับขึ้นมาตาก
หรือต้มให้น้ำระเหยไป
การมาถึงของเกลือสินเธาว์นั้น
นำปัญหามาให้แก่ชาวนาเกลือสมุทร
โดยที่ชาวนาเกลือเองก็คาดไม่ถึง ในระยะแรก
ชาวนาเกลือสมุทรยังอุ่นใจ
เพราะคิดว่าผู้ผลิตเกลือสินเธาว์
จะนำเกลือไปใช้ในทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่แล้วมันกลับถูกนำมาบรรจุหีบห่อสะอาดตา
มีการโฆษณาอย่างแพร่หลาย
จนกลายเป็นเกลือที่ผู้คนนิยมบริโภคโดยทั่วไป
อาจารย์ล้อมกล่าวว่า ชาวนาเกลือสมุทรเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่ใช่บริษัทเอกชนใหญ่โต จึงไม่มีหัวทางธุรกิจการตลาด คิดบรรจุภัณฑ์สวย ๆ ให้ดูน่าใช้หรือทุ่มเงินโฆษณาเหมือนผู้ผลิตเกลือสินเธาว์
|
|
|
ปี ๒๕๓๖
มีการประชุมกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตเกลือสินเธาว์รายใหญ่
กับสหกรณ์ชาวนาเกลือว่าบริษัทฯ จะไม่นำเกลือสินเธาว์มาขายเป็นเกลือบริโภค เพราะจะเป็นการแย่งตลาดของชาวนาเกลือสมุทร แต่ข้อตกลงนั้นไม่มีผล ซ้ำร้าย
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ยังได้ออก "มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภค"
ซึ่งกำหนดว่าเกลือที่ใช้ในการปรุงอาหาร
จะต้องมีโซเดียมคลอไรด์ไม่ต่ำกว่า ๙๙.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจารย์ล้อมเล่าให้ฟังว่า การกำหนดมาตรฐานนี้เป็นไปอย่างลับ ๆ
ระหว่างตัวแทนจากบริษัทผลิตเกลือสินเธาว์
คือบริษัทไทยอาซาฮี
กับกระทรวงอุตสาหกรรม
และนักวิชาการบางท่าน ชาวนาเกลือไม่มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อย โดยมาตรฐานนี้นับว่าเป็นการ "ตอกฝาโรง" เกลือสมุทรเลยทีเดียว เนื่องจากเกลือสมุทร
แม้เมื่อผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์แล้ว
ก็จะมีโซเดียมคลอไรด์สูงสุดได้แค่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นั่นย่อมหมายความว่าเกลือสมุทร
ไม่มีทางได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลย ผลก็คือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่เคยซื้อเกลือสมุทรในปริมาณมาก ๆ เช่น โรงงานทำเต้าเจี้ยว น้ำปลา ผักดอง ฯลฯ
บอกลาเกลือสมุทร
แล้วหันมาซื้อเกลือสินเธาว์ที่มีค่าความบริสุทธิ์
ได้มาตรฐานดังกล่าวแทน
กระทรวงอุตสาหกรรมผู้ควบคุมโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์
ยอมรับว่าเกลือสินเธาว์
สร้างความเดือดร้อนให้ชาวนาเกลือสมุทรจริง ๆ แต่รองปลัดกระทรวงฯ
ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าการออกมาตรฐานความเค็มของเกลือนั้น
เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจผลิตเกลือสินเธาว์และกีดกันเกลือสมุทร เพราะมาตรฐานนี้ตั้งไว้เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้ผู้บริโภคใช้แต่เกลือสินเธาว์
"ปัจจุบันนี้มีโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์
ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานฯ อยู่ ๓๐๐ กว่าราย สิ่งที่เราทำก็คือ
จำกัดพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์
ให้เหลือเพียงห้าจังหวัด คือ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี มหาสารคาม และนครราชสีมา
และคอยตรวจสอบควบคุม
มิให้มีการประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์โดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ดินยุบและทำลายแหล่งน้ำจืดแล้ว ยังเป็นการจำกัดปริมาณเกลือสินเธาว์ด้วย" รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจง "อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงงานผลิตกระจกของบริษัทไทยอาซาฮี มีความต้องการใช้เกลือสินเธาว์ที่มีคุณภาพสูงเป็นจำนวนมาก
เขาจึงลงทุนตั้งบริษัทผลิตเกลือสินเธาว์เอง
ที่จังหวัดนครราชสีมา คือ บริษัทเกลือพิมาย
เนื่องจากเกลือสินเธาว์ที่ชาวบ้านที่ผลิตนั้น
มีคุณภาพไม่ดีพอ สำหรับเรื่องการแย่งตลาดเกลือสมุทรนั้น
เราไม่มีสิทธิไปห้าม
ไม่ให้เขาเอามาขายเป็นเกลือบริโภค รวมทั้งไม่มีสิทธิบังคับให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้เกลือสมุทร เพราะในทางอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องใช้เกลือสินเธาว์จริง ๆ"
|
|
|
อาจารย์ล้อมบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็น "ความเลวร้ายของวงการธุรกิจอุตสาหกรรม
ที่พยายามจะฟาดฟันชาวนาเกลือ
ให้ย่อยยับลงไป" ซึ่งก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้
ปี ๒๕๓๙
กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดไฟเขียว
ให้บริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด ดำเนินการทำเหมืองแร่โพแทชที่ อ. บำเหน็จณรงค์ จ. ชัยภูมิ โดยผลพลอยที่ได้จากการสกัดแร่โพแทชก็คือ เกลือสินเธาว์นั่นเอง
เพราะแร่ชนิดนี้อยู่ลึกลงไปจากชั้นหินเกลือ
ซึ่งมีความหนานับร้อยเมตร กระทรวงอุตสาหกรรมให้ตัวเลขไว้ชัดเจนว่า จนถึงปลายปี ๒๕๔๔
จะมีเกลือสินเธาว์ที่เป็นผลพลอยได้
จากการทำเหมืองโพแทชถึง ๒ ล้านตัน
ถ้าไม่เป็นเพราะรายงาน
การขอความช่วยเหลือจากวิกฤตการณ์ราคาเกลือสมุทรตกต่ำ
ที่คณะรัฐมนตรีได้รับเมื่อกลางปี ๒๕๔๓
กระทรวงอุตสาหกรรมก็คงไม่ได้ออกมาให้สัญญาว่า
จะประสานกับประเทศอินโดนีเซีย
ให้รับซื้อเกลือจากโครงการทำเหมืองแร่โพแทชอาเซียน
ปีละประมาณ ๙ แสนตัน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ก็ยังจำเป็นต้องรายงานคณะรัฐมนตรีไปว่า
จะพิจารณามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
เกลือบริโภคเสียใหม่ เพื่อให้เกลือทะเลของบรรดาชาวนาเกลือรายย่อย ๆ เข้าถึงมาตรฐานที่กำหนดได้
แม้จะมีการเอ่ยถึงมาตรการต่าง ๆ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ของชาวนาเกลือสมุทร แต่รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็ฟันธงว่า เกลือสมุทรคงหมดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเปิดเผยว่า
ขณะนี้มีบริษัทสัญชาติแคนาดา
กำลังเข้ามาลงทุน
ทำเหมืองแร่โพแทชอีกแห่งหนึ่งที่ จ.อุดรธานี นั่นหมายถึงว่าในอีกประมาณ ๑๐
ปีข้างหน้านี้
จะมีเกลือสินเธาว์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น
ไม่เพียงแต่ชาวนาเกลือสมุทรเท่านั้น
ที่จะเดือดร้อน หากแต่ผู้ผลิตเกลือสินเธาว์รายอื่น ๆ ก็คงเจอปัญหาหนักไม่น้อยไปกว่ากัน
|
|
|
|