|
|
|
คณะนักวิจัยจากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค* : สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : ถ่ายภาพ |
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๙ เมื่อ โจเซ่ รามอส ฮอร์ต้า ผู้นำคนหนึ่งของติมอร์ตะวันออก
ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์
เนื่องในโอกาสที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขากล่าวว่า "บุคคลที่ควรจะได้รับรางวัลนี้ ควรจะเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่ง อดทน และเป็นรัฐบุรุษของพวกเรา ขณะที่ผมพูดอยู่นี้ เขากำลังติดคุกเพราะความปรารถนาที่จะเห็นอิสรภาพ และเสรีภาพของพวกเรา ...ซานาน่า กุสเมา ผู้เป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวติมอร์ตะวันออกทุกคน" |
|
|
|
ซานาน่า กุสเมา เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ ในเมืองมานาตูโต
ซึ่งขณะนั้นเพิ่งรอดพ้นจากการยึดครองของทหารญี่ปุ่น
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ติมอร์ตะวันออกยังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ซานาน่ามีพี่น้องหกคน
บิดาซึ่งเป็นครู
ส่งซานาน่าเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิก ด้วยหวังว่าลูกชายจะบวชเป็นพระ แต่เมื่อซานาน่าจบการศึกษาระดับมัธยม เขาก็เดินทางเข้าเมืองดิลี ยึดอาชีพเป็นครูสอนภาษาโปรตุเกสที่โรงเรียนจีน ในปี ๒๕๑๗
เขาสมัครเป็นนักข่าว
และเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติของติมอร์ตะวันออก (FRETILIN) ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายข่าว
๗ ธันวาคม ๒๕๑๘ ทหารอินโดนีเซียบุกเข้ายึดติมอร์ตะวันออก และผนวกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่สหประชาชาติไม่ให้การรับรอง ซานาน่าพร้อมกองกำลังของกลุ่ม FRETILIN
ได้เดินทางขึ้นภูเขา
เพื่อจับอาวุธสู้รบกับกองทัพอินโดนีเซีย และในปี ๒๕๒๔ เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยติมอร์ตะวันออก ซานาน่าเดินทางไปทั่วติมอร์ตะวันออก
เพื่อสร้างแนวร่วม
และจัดตั้งกองกำลังอิสระ
ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ ต่อสู้กับทหารอินโดนีเซีย จนซานาน่ากลายเป็นบุคคลที่ทางการอินโดนีเซียต้องการตัวมากที่สุด
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
ทหารอินโดนีเซีย
ได้สังหารหมู่ชาวเมืองดิลี ในสุสานซานตาครู้ส
ขณะที่คนเหล่านั้น
กำลังเดินขบวนเรียกร้องเอกราช มีผู้เสียชีวิต ๒๐๐ กว่าคน นักข่าวต่างประเทศแอบบันทึกภาพเหตุการณ์นั้นไว้ได้ และนำออกเผยแพร่จนเป็นที่สะเทือนใจของคนทั่วโลก
ทำให้การเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก
เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
|
|
|
ปีต่อมาซานาน่าลักลอบเข้าเมืองดิลี
เพื่อติดต่อกับแนวร่วมในเมือง แต่ถูกเพื่อนคนหนึ่งทรยศ ซานาน่าจึงถูกทหารอินโดนีเซียจับกุมตัว ส่งไปอยู่ในเรือนจำที่กรุงจาการ์ตา และต่อมาศาลได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนานาชาติ
ซานาน่ากลายเป็นนักโทษการเมือง
ที่โดดเด่นคนหนึ่งของโลกในเวลานั้น
ซานาน่าใช้ชีวิตภายในคุก
ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์
ต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างลับ ๆ เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาอินโดนีเซีย กฎหมาย นอกจากนั้นเขายังแต่งบทกวี วาดภาพติมอร์ตะวันออกจากความทรงจำ
ซึ่งมีการนำภาพของเขาไปประมูลขายในออสเตรเลีย
เพื่อหาทุนให้แก่กองกำลังเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออกด้วย
ซานาน่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเอกราช
ของชาวติมอร์ตะวันออก ในขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศพากันขนานนามเขาว่า "แมนเดลาแห่งติมอร์" อันเป็นนามของประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้
ซึ่งเคยเป็นนักต่อสู้
เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเหยียดผิวในประเทศแอฟริกาใต้ จนประสบความสำเร็จ
กรกฎาคม ๒๕๔๐ ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา เดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย
และได้เข้าเยี่ยมซานาน่าในเรือนจำ
เป็นเวลาถึงสองชั่วโมง เพื่อสนทนาถึงปัญหาอนาคตของติมอร์ตะวันออก
เมษายน ๒๕๔๑ มีการจัดตั้งสภาเพื่อการต่อต้านแห่งชาติติมอร์ตะวันออก (CNRT) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของชาวติมอร์ตะวันออก ซานาน่าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสูงสุด เดือนถัดมาเมื่อประธานาธิบดีซูฮาร์โตลาออก
เสียงเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก
ได้กระหึ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ผู้นำทั่วโลกพากันกดดันให้รัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซีย
ยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกตัดสินว่าจะขอเป็นเอกราช
หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย
|
|
|
๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ รัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้มีการลงประชามติทั่วติมอร์ตะวันออก
โดยมีเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ
เป็นผู้ควบคุมการลงประชามติ ผลปรากฏว่าร้อยละ ๗๘.๕
ของชาวติมอร์ตะวันออก
ต้องการเป็นเอกราช แต่หลังจากนั้นฝ่าย militias ซึ่งเป็นชาวติมอร์ตะวันออกที่นิยมอินโดนีเซีย และได้รับการติดอาวุธจากทหารอินโดนีเซีย ได้ออกมาเข่นฆ่าชาวติมอร์ตะวันออกล้มตายจำนวนมาก ทั้งยังเผาบ้านเรือนจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยไปอยู่ติมอร์ตะวันตกถึง ๒ แสนกว่าคน
ในช่วงเวลานั้นซานาน่าได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
เขาไปลี้ภัยทางการเมืองในสถานทูตอังกฤษ
ก่อนจะหลบหนีไปเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย
๑๕ กันยายน ๒๕๔๒
กองทหารสหประชาชาติ
ที่มีทหารออสเตรเลียเป็นกำลังหลัก
ได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองดิลี
ทำหน้าที่รักษาความสงบในติมอร์ตะวันออก
และกวาดล้างพวก militias ซานาน่าได้กลับไปติมอร์อีกครั้งหนึ่ง
เพื่อร่วมกันสร้างชาติที่ถูกเผา
จนย่อยยับให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
|
|
|
กันยายน...หนึ่งปีถัดมา คณะนักวิจัยเรื่องติมอร์ตะวันออกชุดแรกของประเทศไทย จากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ (อบศ. ๕) ซึ่งมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เดินทางมาที่ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้และมีโอกาสได้สนทนากับซานาน่า กุสเมา ผู้นำสูงสุดของ CNRT (National Council of Timorese Resistence) ในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างเป็นกันเอง และด้วยอารมณ์ขันของ ซานาน่า กุสเมา ผู้กำลังจะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางซากปรักหักพังและปัญหานานาที่จะติดตามมา
* คณะนักวิจัยติมอร์ตะวันออกจากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค ประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร.วิทยา สุจริตธนารักษ์ ดร.จุฬาพร เอื้อรักสกุล และดร.สรณรัชฎ กาญจนะวณิชย์
|
|
|
สารคดี :
|
|
คุณคิดอย่างไรที่สั่งไม่ให้กองกำลัง FALINTIL
ของคุณออกไปช่วยเหลือชาวติมอร์ตะวันออก
ที่กำลังถูกฝ่าย militai
ที่นิยมอินโดนีเซียฆ่าตายอย่างมากมายภายหลังการลงประชามติ |
ซานานา :
|
|
มันเป็นเรื่องลำบากใจมาก
เมื่อประชาชนที่หนีตายจากการถูก
militia
เข่นฆ่าและมาร้องขอให้ทหารของเราช่วยป้องกัน
เพราะต้องยึดมั่นในแผนทางการทหารของเรา
เรารู้ถึงแผนยุทธศาสตร์ของทหารอินโดนีเซีย
ที่ต้องการวางกับดักล่อให้ทหาร
FALINTIL ออกมาสู้กับพวก militia
ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกมองว่า
เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ
ทำให้กองกำลังสหประชาชาติ
ไม่กล้าเข้ามาแทรกแซง
เรารู้ถึงแผนการนี้
เราจึงอดทนที่จะไม่ยอมตกหลุมพรางของทหารอินโดนีเซีย
และถึงตอนนี้ประชาชนของเราจึงเข้าใจแล้วว่า
ทำไมเราจึงไม่สามารถออกไปช่วยเหลือพวกเขาได้ในเวลานั้น
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
คุณมีแผนในการสร้างความปรองดองในชาติอย่างไรกับพวก militia ซึ่งเป็นชาวติมอร์ที่ยังฝักใฝ่อินโดนีเซีย
|
ซานานา :
|
|
เราให้ความสำคัญมากกับการปรองดองกันในชาติ แต่ต้องพิจารณาถึงความยุติธรรมด้วย
การสร้างความปรองดองในชาติ
เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน
แต่ก่อนอื่นเราต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
และสังคมก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนของเรายอมให้อภัย แต่จะไม่ลืม ผมเชื่อว่าพวก militia
เองก็คงจะเริ่มสำนึกได้
ในสิ่งที่พวกเขากระทำลงไป และบทบาทอะไรที่พวกเขาควรจะเล่นในเวลานี้
ผมรู้ว่าตอนนี้ประชาชนกำลังเรียกร้องหาความยุติธรรม
ในสิ่งที่พวก militia ได้กระทำลงไป
แต่ผมเชื่อว่าหากประชาชนได้เข้าใจอะไรมากขึ้นว่า
ทำไมเราต้องสร้างความสมานฉันท์ในชาติ สักวันหนึ่งประชาชนจะให้อภัยคนเหล่านั้นเอง
  ...คนในรุ่นผมเองก็ผ่านประสบการณ์มาเยอะมาก ผ่านการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มาถึงสามครั้ง จึงปลงอะไรบางอย่างได้ คือ ครั้งแรกประมาณปี ๑๙๔๕ เมื่อตอนผมเกิดใหม่ ๆ ติมอร์อยู่ในการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พวกเราถูกฆ่าตายเยอะมาก พอปี ๑๙๗๕ ทหารอินโดนีเซียมายึดประเทศของเราไป คนตายไปร่วม ๒ แสนคน และมาถึงปัจจุบันที่พวก militia ไล่เข่นฆ่าคนติมอร์ตะวันออกด้วยกัน ดังนั้นการปรองดองในชาติจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ผมย้ำว่าเราจะเจรจาปรองดองกันได้ แต่มีข้อแม้ว่าฝ่ายที่นิยมอินโดนีเซีย จะต้องยอมรับในเอกราชของชาวติมอร์ตะวันออก จะต้องไม่หวนกลับไปปกครองอย่างเดิมอีก
ผมย้ำว่าพวกเขาต้องล้มเลิกความคิดเดิม
ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย
ก่อนที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
ตอนนี้สภาพธรรมชาติในติมอร์ตะวันออกเป็นอย่างไรบ้าง
|
ซานานา :
|
|
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผมสนใจมาก ๒๔ ปีที่ผ่านมาทหารอินโดนีเซียได้ทำลายป่าของเราจำนวนมาก
เพราะกองกำลังของเราซ่อนตัวอยู่ในป่า
ตามภูเขา ทำการซุ่มโจมตีพวกทหารอินโดนีเซีย พวกเขาจึงเผาป่าไม่เหลือ เผาป่าสี่ครั้งต่อปี ทำให้ทุ่งหญ้ารุกเข้าไปในป่า จนเหลือหย่อมป่าไม่กี่แห่ง จนผมร้องออกมาว่า "ช่วงหน้าฝน โอ สวยเหลือเกิน แต่ช่วงหน้าแล้ง โอ แสนปวดร้าว" ตอนนี้มองไปทางไหนเราจึงเห็นแต่ไร่กาแฟอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสผมอยากให้พวกคุณขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินดูปัญหาป่าไม้ของเรา
เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูป่า
จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ
เราตั้งใจจะเริ่มปลูกป่าใหม่
ตามเขาตอนกลางของประเทศ ซึ่งมีสภาพไม่แห้งแล้งเท่าภาคเหนือ เรื่องนี้ทางนิวซีแลนด์อยากเข้ามาช่วย
แต่ผมสนใจที่จะร่วมมือกับทางไทยมากกว่า
เพราะมีพรรณพืชคล้าย ๆ กัน
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
ในฐานะที่เป็นประเทศเกิดใหม่ ชาวติมอร์จะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ
|
ซานานา :
|
|
ในติมอร์ตะวันออก
เราจะใช้สี่ภาษา คือภาษาแต้ตุน ภาษาพื้นเมืองของเราจะเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาราชการมีสองภาษาคือ
ภาษาโปรตุเกส
ซึ่งคนติมอร์ตะวันออกเคยใช้กันก่อนที่จะถูกอินโดนีเซียยึดครอง
สามารถใช้ติดต่อกับประเทศในทวีปแอฟริกา
และอเมริกาใต้
ที่เคยเป็นอาณานิคมเก่าของโปรตุเกสได้ และภาษาบาฮาซ่า
ภาษาราชการของอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นภาษาที่เราใช้มากที่สุด และไม่เฉพาะจะใช้ติดต่อกับคนอินโดนีเซียเท่านั้น
แต่เป็นภาษาที่คนมาเลเซีย
และสิงคโปร์ใช้ด้วย
ส่วนภาษาสุดท้ายเป็นภาษาสากล
คือภาษาอังกฤษซึ่งพูดกันทั่วโลก
โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรเลีย
และนิวซีแลนด์ และจะเป็นภาษาที่บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาด้วย ทุกวันนี้ในระหว่างคนติมอร์ตะวันออกด้วยกันเอง เราใช้ภาษาบาฮาซ่าของอินโดนีเซียมากที่สุด เพราะตลอดเวลา ๒๔ ปีที่อินโดนีเซียปกครองชาวติมอร์ตะวันออก
คนที่เกิดในช่วงเวลานี้
จึงพูดภาษาบาฮาซ่ากันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาษาโปรตุเกสมีคนพูดได้ไม่มาก เด็กรุ่นใหม่จะพูดอังกฤษมากกว่าภาษาโปรตุเกส คนติมอร์จำนวนหนึ่งก็ยังพูดภาษาแต้ตุนได้ แต่ภาษานี้ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานของภาษาอยู่ คงต้องใช้เวลาอีก ๕-๑๐
ปี
กว่าที่คนติมอร์ตะวันออกจะใช้ภาษาแต้ตุนได้แพร่หลาย ภาษาแต้ตุนเป็นการแสดงความเป็นชาติของเรา สมมุติว่าผมมีโอกาสสนทนากับทูตไทยอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งคู่ก็คงใช้ภาษาอังกฤษคุยกัน แต่หากผมเจอทูตไทยในงานพิธีการ ต่างคนก็ต้องใช้ภาษาของตัวเองใช่ไหม ตอนนี้เราพยายามมากในเรื่องการสอนภาษา แต่เรายังขาดแคลนงบประมาณจำนวนมาก ความสำคัญตอนนี้เราต้องใช้งบประมาณไปซ่อมแซมโรงเรียนก่อน
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
หมายถึงโรงเรียนที่ถูกกองกำลัง militia เผาหมดทั่วประเทศใช่ไหม
|
ซานานา :
|
|
เราใช้เงินไปแล้ว ๑๔ ล้านดอลล่าร์สหรัฐในการซ่อมโรงเรียนระดับประถม แต่ไม่ใช่มีเพียงแต่โรงเรียนเท่านั้นที่ถูกเผา โรงพยาบาลก็ถูกเผา โรงพยาบาลหลายแห่งยังเปิดใช้การไม่ได้ เพราะยังไม่มีเงินซ่อมแซม
|
สารคดี : |
|
ก่อนหน้านี้เราไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยติมอร์ตะวันออก
ซึ่งถูกเผาเกือบหมด
แต่ก็เห็นนักศึกษาหลายคนกำลังเรียนคอมพิวเตอร์
และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคอร์สสั้น ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลี อยากทราบว่านโยบายทางการศึกษาเป็นอย่างไร |
ซานานา :
|
|
เราหวังว่าปลายปีนี้เราสามารถเปิดมหาวิทยาลัยได้ แต่คงรับนักศึกษาได้เพียง ๕๐๐ คนก่อน จากผู้สมัคร ๕,๐๐๐ คน
เราได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น
และประเทศอื่น ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่ไม่มากนัก
ทุกวันนี้ยังมีนักศึกษาของเราหลายคน
เรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยของอินโดนีเซียด้วย เพราะพูดภาษาบาฮาซ่าเหมือนกัน และโปรตุเกสก็เสนอให้ทุนการศึกษา ๑,๐๐๐ ทุนส่งคนติมอร์ไปเรียนที่โปรตุเกส แต่มีเงื่อนไขว่าเราต้องซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่มีเงินเลย เช่นเดียวกับออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศให้ทุนนักศึกษาของเราไปเรียน แต่อุปสรรคคือนักศึกษาที่นี่พูดอังกฤษไม่ได้ พวกเขาพูดได้แต่บาฮาซ่าเท่านั้น
แต่เราหวังว่าในอนาคต
มหาวิทยาลัยของเราจะมีเงินทุนพอที่จะรับนักศึกษาได้เป็นพัน ๆ คน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกหลายปี เพราะต้องยอมรับว่าติมอร์เป็นประเทศยากจนมาก บ้านเมืองถูกเผาทำลาย
ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมบ้านเรือน
และโรงพยาบาลมากกว่า
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
บทบาทของคาทอลิกในด้านการศึกษาเอกชนเป็นอย่างไร
|
ซานานา :
|
|
ในอีกสี่ห้าปีข้างหน้าอาจจะเป็นไปได้
ที่มีการศึกษาโดยเอกชน
แต่วันนี้หากคุณไปที่บ้านผม
และบอกว่า ผมต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ๘ ดอลล่าร์ต่อเด็กหนึ่งคน
หากผมมีลูกสามคน
ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ๒๔ ดอลลาร์ ถามว่าผมจะเอาเงินมาจากไหน ผมอายที่จะตอบคำถามนี้ เพราะคนติมอร์ยากจนมาก และสมมุติว่าเด็ก ๆ มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน พอเรียนได้สี่ห้าปีจนจบการศึกษา และออกมาหางานทำ พวกเขาก็เจอปัญหาใหญ่อีกคือ ตกงาน
ปัญหาสังคมที่ใหญ่ที่สุดของคนติมอร์ในขณะนี้
คือการไม่มีงานทำ
มีการเดินขบวน
เพื่อเรียกร้องหางานทำบ่อย ๆ
เราบอกคนของเราว่า
หากมีการเดินขบวนทุกวัน ก็จะไม่มีงานทำ จะไม่มีใครมาลงทุน เราพยายามหางานให้คนติมอร์ทำตลอด เรามีครูตกงาน ๗,๐๐๐ คน เราหางานให้ทำได้ ๔,๐๐๐ คน มีคนเดินขบวนตกงาน ๒๗,๐๐๐ คน เราหางานให้ทำได้แค่ ๒,๐๐๐ คน นักศึกษาที่นี่หากเราหางานให้พวกเขาได้
พวกเขาก็ยินดีจะทำงานหาเงิน
แล้วค่อยคิดไปเรียนภายหลัง
เรายอมรับว่าปัญหาความยากจน
เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่รวมถึงปัญหาอื่น ๆ การขาดแคลนสาธารณูปโภค การขาดแคลนแหล่งน้ำ เราคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงไม่สามารถแก้ได้ทันทีทันใด คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
คุณอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ
มาลงทุนในประเทศอย่างเต็มที่หรือไม่
|
ซานานา :
|
|
ปัญหาก็คือ เมื่อนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ งานสำหรับประชาชนของเรา เทคโนโลยี ความรู้ต่าง ๆ เพียงแค่นั้นหรือ เราคิดว่าเราต้องคิดให้ชัดเจนมากกว่านั้น ปัญหาคือคนติมอร์เองก็ไม่พร้อม เรายังไม่ได้เตรียมคนของเราขึ้นมา เราไม่มีนักธุรกิจ ไม่มีผู้ประกอบการ เรามีเพียงผู้รับเหมารายย่อย ความชำนาญในการทำธุรกิจจึงเป็นปัญหาของเรา และในปีหน้าเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ
เราต้องเตรียมร่างกฎหมายหลายฉบับ
เกี่ยวกับการลงทุน ภาษี ศุลกากร ฯลฯ
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
คุณมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเทศติมอร์ตะวันออกอย่างไร
|
ซานานา :
|
|
เราจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ของผมเพียงคนเดียว แต่เป็นของชาวติมอร์ตะวันออกร่วมกัน
ภายในเดือนหน้าเราจะมีการระดมความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย
เพื่อช่วยกันมองประเทศไปข้างหน้าว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร จะแก้ไขปัญหาสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไร เราจะมีนโยบายด้านการเกษตร การประมงกันอย่างไร จะมีนโยบายการใช้ที่ดินอย่างไร และนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศจะเอาอย่างไร
แน่นอนว่าเราโชคดีที่ประเทศติมอร์ตะวันออก
ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เรามีน้ำมัน มีก๊าซธรรมชาติ แมงกานีส และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เราเพียงรู้ว่ามีปริมาณเท่าใด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสำรวจอีกหลายปี
ควบคู่ไปกับการที่เราต้องแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง
และพัฒนาศักยภาพของคนติมอร์ตะวันออกด้วย เราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ของประเทศติมอร์ตะวันออกให้ชัดเจน มองไปข้างหน้าให้ไกล ๆ เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะว่าครึ่งหนึ่งของประชากร ๘
แสนกว่าคนของติมอร์ตะวันออก
มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ดังนั้นภายใน ๑๐-๒๐ ปี
ชาวติมอร์ตะวันออกรุ่นใหม่
จะเข้ามาแทนที่รุ่นพวกเรา
ซึ่งคงจะไปอยู่อีกโลกหนึ่งแล้ว (หัวเราะ)
|
|
|
|
สารคดี :
|
|
ในกรุงดิลี่ค่าครองชีพสูงมาก จากการที่มีเจ้าหน้าที่สหประชาชาติมาทำงานหลายพันคน สินค้ามีราคาแพงมาก
เศรษฐกิจของติมอร์ตะวันออก
อยู่ได้เพราะเงินหมุนเวียนของสหประชาชาติ
ดังนั้นในปีหน้า
เมื่อเจ้าหน้าที่สหประชาชาติถอนตัวออกไป อะไรจะเกิดขึ้น
|
ซานานา :
|
|
เรายอมรับว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่
เราต้องหาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น
เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของเรา เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก
แต่ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ซึ่งเราไม่มีปัญญาจ่ายแน่นอน
แต่การให้ความช่วยเหลือแก่ติมอร์ตะวันออกนั้น
เพื่อให้เราสามารถตั้งตัวได้นั้น แน่นอนว่าทั้งหมดคงไม่ใช่การให้เงินเปล่า ๆ บางครั้งอาจจะเป็นเงินกู้ ซึ่งเราคงไม่สามารถจ่ายคืนได้ทันทีทันใด นักลงทุนชาวต่างชาติที่มาติมอร์คงจะเข้าใจดี ประชาชนของเรายังไม่มีบ้าน ยังไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่เราเชื่อว่าเมื่อเราฟื้นตัวได้ เราจะใช้คืนหนี้สินที่กู้มาให้หมดสิ้น
เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่า
จะสร้างประเทศได้แน่นอน แต่ต้องใช้เวลาอาจจะเป็นสิบปี
เราเชื่อมั่นในรัฐบาลของเรา
ที่จะจัดตั้งขึ้นว่าจะดูแลคนติมอร์ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ๆ หรือหนุ่มสาว แต่รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ คนที่ตกงาน อาทิตย์หน้าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจีนมาเยือน ผมไปขอความช่วยเหลือจากจีน ซึ่งทางจีนเข้าใจสถานการณ์ของเราดี และยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ยินดีที่จะช่วยเราสร้างบ้าน บูรณะประเทศขึ้นมา และแน่ละผมคงต้องเดินทางไปสิงคโปร์ ไต้หวัน ประเทศไทย ฯลฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ อาจจะเป็นการขยายตลาดกาแฟ (กาแฟพันธุ์อะราบีกา
ที่ปลูกในติมอร์ตะวันออก
มีชื่อเสียงมากว่ามีคุณภาพยอดเยี่ยม บริษัทผลิตกาแฟชื่อดังของโลก อาทิ Starbucks ก็ใช้เมล็ดกาแฟจากติมอร์ตะวันออก-ผู้สัมภาษณ์) สำหรับเมืองไทย เราอาจจะขอความช่วยเหลือเรื่องพันธุ์ข้าว
ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียง
ในเรื่องความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อมาช่วยให้เกษตรกรของเรา
เพิ่มผลิตผลในพื้นที่นาได้มากขึ้น เราอาจจะต้องการความช่วยเหลือด้านรถแทร็กเตอร์ ความช่วยเหลือในการสร้างระบบชลประทาน
ซึ่งการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง
เป็นปัญหาใหญ่ของเรามาก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เราจะเริ่มจากโครงการขนาดเล็ก ๆ ที่สามารถควบคุมได้ก่อน
ไม่ใช่เป็นโครงการขนาดยักษ์
ที่เราไม่สามารถควบคุมได้
|
สารคดี :
|
|
ติมอร์ตะวันออกมีแผนจะสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่
|
ซานานา :
|
|
แน่นอนครับ เรากำลังวางแผนจะสมัครเป็นสมาชิกอาเซียน หลังจากที่เราประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการแล้ว
|
|