นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๓ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

เมืองโบราณ

ฝันยิ่งใหญ่ ของชายชื่อเล็ก

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
 
(คลิกดูภาพใหญ่) พฤศจิกายน ๒๕๔๓

      สมัยนี้ ยังมีสักกี่รายในกรุงเทพฯ ที่จะมีงานสวดศพที่บ้าน หากแต่ที่บ้านเลขที่ ๑๐๒๔ ถนนพระรามที่ ๔ ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ศาลาริมสระว่ายน้ำขนาดย่อม ๆ นั้น ถูกจัดแปลงเป็นที่ตั้งศพสวดพระอภิธรรมของคุณเล็ก วิริะยะพันธุ์ กลางโถงศาลา คือโกศโถที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน เพิ่มเติมขึ้นเป็นกรณีพิเศษ มีฉัตรเบญจาตั้งประดับ ริมผนังด้านหนึ่งตั้งโต๊ะหมู่บูชา และอาสน์สงฆ์ หากแต่โลงที่บรรจุร่างของ เล็ก วิริยะพันธุ์ วางหลบอยู่ข้างผนังอีกด้าน รอบ ๆ สระว่ายน้ำ จัดวางเก้าอี้สำหรับแขกเหรื่อ ที่มาในงานกันอย่างคับคั่ง พวงหรีดหลายร้อยที่ตั้งซ้อน ๆ กันขึ้นไปรอบบริเวณนั้น แลดูเหมือนกำแพงดอกไม้ละลานตา ใช่แต่เท่านั้น ในสระว่ายน้ำยังลอยดอกบัวสีชมพู ที่พับกลีบอย่างประณีตจนเต็ม ราวกับเป็นบึงบัว

      ความตายนั้นเป็นภาวะธรรมชาติธรรมดา ทุกรูปทุกนามย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้น เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-แล้วก็แปรเปลี่ยนไป หากแต่ที่ผมรู้สึกว่าน่าประหลาดใจก็คือ ดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณเล็กหลีกลี้มากว่า ๓๐ ปี ไม่ว่าจะเป็นผู้คนมากมาย เกียรติยศ พิธีกรรม หรือแม้แต่การเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ กลับไล่กวดทันเอาเมื่อสิ้นชีวิตแล้วนี่เอง

     สิ่งต่างๆ ในจักรวาลนี้เกิดขึ้นด้วยความเหมาะสมของธรรมชาติ และความสำเร็จของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เหมาะสมหนึ่ง จุดศูนย์กลางที่พอดีหนึ่ง เวลาที่ถูกต้องหนึ่ง

      ตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นหมายถึง ตำแหน่งที่ต้องอยู่อย่างพอเหมาะพอดี จุดศูนย์กลางนั้นหมายถึง ความเจริญอยู่ในกฎเกณฑ์ เวลาที่ถูกต้องนั้นหมายถึง สิ่งแวดล้อมที่ต้องการในขณะนั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       เล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นบุตรชายคนโตของนายชีเซ็ง เจ้าของร้านขายยาเทียนแซตึ๊ง ย่านสำเพ็ง พระนคร เกิดเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ตามความนิยมในยุคนั้น ทางบ้านได้ส่งนายเล็กให้กลับไปเรียนหนังสือในเมืองจีน เมื่ออายุ ๑๗ ปี นายเล็กสอบเข้าเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ได้
      เซี่ยงไฮ้ในยุคนั้น มีผู้เปรียบว่าเป็นเสมือน "ปารีสแห่งตะวันออก" ที่เต็มไปด้วยแสงสี ตึกรามบ้านช่องใหญ่โตโอฬาร เป็นศูนย์กลางการศึกษา การค้า และการลงทุนจากชาติตะวันตก
      ประสบการณ์ชีวิตในมหานครเซี่ยงไฮ้ ผนวกกับความเข้มแข็งของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม อันเป็นแม่แบบแห่งอารยธรรมตะวันออกสายสำคัญ เหล่านี้ได้หล่อหลอมให้นายเล็กเป็นคนสองโลก
      ในทางหนึ่ง ท่ามกลางความก้าวหน้าทางวิทยาการของศตวรรษที่ ๒๐ เขาตระหนักดีว่า ชีวิตของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่นี้ จะหลีกเลี่ยงจากเทคโนโลยีจักรกลของตะวันตกไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภูมิปัญญาตะวันออกอันหยั่งรากในความนอบน้อมต่อธรรมชาติ และการเคารพบรรพชน ก็เป็นความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่จำเป็นแก่ความเป็นมนุษย์
      เมื่อบิดาป่วยหนัก นายเล็กในวัย ๒๐ ต้น ๆ ก็ต้องกลับมาสยาม หลังจากนั้นไม่นาน นายชีเซ็งก็ถึงแก่กรรม ทิ้งกิจการเทียนแซตึ๊งไว้ให้เขาสืบต่อ
      ด้วยเหตุแห่งการติดต่อค้าขายนี่เอง ชักนำให้นายเล็กได้พบกับนางสาวประไพ วิริยะพานิช ธิดาของขุนวิจารณ์พานิช (ชุ่ม) คหบดีชาวแปดริ้ว ผู้ผลิตยาไทยหลายขนาน และน้ำมันทาไม้ตราปลาตะเพียน ในนามห้างน้ำมันวิริยะพานิช ย่านสามแยก ทั้งสองแต่งงานกันในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
      ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นายเล็กได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารไทย (ธนาคารมณฑล) ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกิจการกับธนาคารเกษตร กลายเป็นธนาคารกรุงไทย
      จากประสบการณ์ในวงการธุรกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เขาจึงก่อตั้งบริษัทอาเซียพานิชการ (แผนกประกันภัย) ขึ้น ปัจจุบันคือบริษัทวิริยะประกันภัย
      จังหวะสำคัญของเขามาถึงในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อนายเล็กตัดสินใจ รับซื้อกิจการของบริษัทธนบุรีพานิชทั้งหมด ต่อจากหุ้นส่วนเดิม ซึ่งกำลังประสบปัญหาการเงิน
      การเข้ามาของเขาในครั้งนั้น ว่ากันว่าเป็นไปตามคำขอร้องของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ต้องการจะรักษาบริษัทธนบุรีฯ ไว้ให้เป็นบริษัทของคนไทย เพราะในขณะนั้น ธนบุรีพานิช เป็นบริษัทอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
      ธุรกิจของธนบุรีพานิชมีตั้งแต่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อเมริกันคันยาว ไม่ว่าจะเป็นไครสเลอร์ (Chrysler) แนช (Nash) หรือเดโซโท (DeSotho) รวมทั้งรถยนต์ยุโรปอย่างฮิลแมน (Hillman) ฮัมเบอร์ (Humber) และเรโนลท์ (Renault) นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้รถไฟ เครื่องจักรขนาดหนักสำหรับอุตสาหกรรม อุปกรณ์ฉายภาพยนตร์ สารเคมี ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ส่วนสินค้าที่ธนบุรีฯ เป็นผู้ส่งออก ก็คือสินค้าออกสำคัญของเมืองไทยยุคนั้น ทั้งข้าว ยางพารา ไม้สัก และดีบุก
      เมื่อมาดำเนินธุรกิจของธนบุรีพานิช นายเล็กพยายามติดต่อ ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย ที่จริง ก่อนหน้านั้น เคยมีบริษัทอื่นเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเบนซ์ในประเทศไทยอยู่แต่เดิมแล้ว หากแต่สภาวะสงครามโลก ทำให้ขาดช่วงไป เขาใช้ความเพียรพยายาม และความจริงใจ ติดต่อไปยังบริษัทแม่ที่เยอรมนี จนได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย นำไปสู่การก่อตั้งบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อให้บริการในลักษณะ "ครบวงจร" แก่ลูกค้า
      ด้วยความสามารถของเขา ได้ผลักดันให้รถเบนซ์ ก้าวขึ้นมาได้รับความนิยมในสังคมชั้นสูงของไทย กลายเป็นตำนานของ "ดาวสามแฉก" ที่เลื่องลือตราบจนปัจจุบัน
      ในวัยไม่ถึง ๔๐ ปี เล็ก วิริยะพันธุ์ สามารถขึ้นมายืนแถวหน้าในฐานะนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ

      เมื่อลองมองย้อนกลับไปในสมัยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ที่บริษัทธนบุรีพานิช ถนนราชดำเนินกลางนั้น ถือได้ว่าเป็นแวดวงสมาคมของคนใหญ่คนโตในสังคมกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ราชบัณฑิต และศิลปินแห่งชาติ ในวันวัยเมื่อเป็นสถาปนิกหนุ่ม ที่อยากมีรถเบนซ์คันแรกในชีวิต ท่านยังจำได้ถึงความรู้สึกที่อาจเรียกได้ว่า "ตัวลีบ"
      "วันหนึ่ง ผมได้ค่าแบบจากนายสุริยน ไรวา แล้วอยากได้รถเบนซ์ เขาก็พาไปหาเสี่ยเล็ก ซื้อรถเบนซ์ ๒๒๐ คันหนึ่ง แปดหมื่น รุ่นนั้นตะเกียง (หมายถึงไฟหน้า-ผู้เขียน) ยังอยู่ข้างนอก
      บริษัทธนบุรี ที่ราชดำเนินตอนนั้นเป็นสโมสรกลาย ๆ คนใหญ่ ๆ เขาไปกันที่นั่น นายตำรวจใหญ่นายทหารใหญ่ไปชุมนุม ไปคุยไปพบปะอะไรกัน พวกใหญ่โตทางบ้านเมือง...ผมไม่รู้จัก"
      ในช่วงวัย ๔๐-๕๐ ปีของนายเล็ก วิริยะพันธุ์ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบสำหรับปุถุชนทั่วไป เขาเป็น "เสี่ยเล็ก" เจ้าของกิจการค้ามากมาย มีฐานะอยู่ในระดับเศรษฐีคนหนึ่งของประเทศ มีครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นด้วยลูกชายหญิงถึงหกคน แวดล้อมด้วยวงสังคมระดับไฮโซ...
      แต่บางทีนั่นอาจจะยังไม่พอ

      ข้าพเจ้าเชื่อว่าศีลธรรมของพลโลกปัจจุบันนี้เสื่อมลง ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิเสธว่า วิทยาศาสตร์เจริญมีคุณค่าที่ปรากฏแก่มวลมนุษย์ ไม่มียุคไหนเทียบเท่า แต่ชาวตะวันออกเราเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้ความรู้แก่มนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถที่จะยกระดับจิตของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้ มีแต่ทำให้ผู้คนนับถือลัทธิวัตถุนิยม มุ่งแต่ความสุขทางโลก
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ที่เมืองโบราณ บางปู หลังการตายของ "เสี่ยเล็ก" ไม่ถึงเดือน
      ผมนัดพบกับคุณปรีชา วิบูลย์ศิลป์ ผู้จัดการทั่วไปของเมืองโบราณ ที่ "เพชรบุรี"
      ณ ใต้ถุนศาลาที่จำลองแบบมาจากศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรีนี่เอง ที่เป็นเสมือนกองบัญชาการของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ หรือ "ท่านเจ้าเมือง" ของชาวเมืองโบราณ
      ดูเหมือนว่าสภาพทั่ว ๆ ไปของที่นี่ คงยังไม่ต่างไปจากวันสุดท้าย ที่ท่านเจ้าเมืองเข้ามาเท่าใด บนโต๊ะไม้ตัวใหญ่ยังมีหนังสือศิลปะชนิดที่เป็นเล่มยักษ์ ๆ ปกแข็ง กองซ้อนกันเป็นตั้ง ๆ หลายสิบเล่ม ปนกับอัลบัมภาพโบราณวัตถุสถาน และกองกระดาษ ข้างโต๊ะมีเก้าอี้เก่า ๆ ตั้งอยู่ตัวหนึ่ง กับเก้าอี้โยกที่ถูกตัดขาจนโยกไม่ได้อีกตัว ถัดมาก็คือโต๊ะเขียนแบบ ที่เป็นโต๊ะทำงานของคุณปรีชา
      "ท่านเจ้าเมืองไม่อยู่แล้ว เป็นยังไงบ้างครับ" ผมเริ่ม
      คุณปรีชาว่า "ทุกอย่างก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนะ เพราะท่านก็วางโครงการไว้หมดแล้ว พวกศาลาพักร้อน ก็ให้สเก็ตช์แบบไว้อีกประมาณสิบกว่าหลัง ศาลาพระอรหันต์ก็สเก็ตช์แบบไว้จนหมด งานในเมืองโบราณตอนนี้ก็มีแต่บำรุงรักษา ทำความสะอาด ที่คิดจะสร้างใหม่ยาก...ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องของพลัง การตัดสินใจ ตอนอาเสี่ยอยู่ เขาตัดสินใจของเขาคนเดียว อะไรก็แล้วแต่ เขาทำของเขาคนเดียว"
      ผมนึกภาพคนอายุ ๘๐ กว่าปี ที่ยังมีพลังขนาดนั่งคุมงานก่อสร้างคนเดียวไม่ออก
      "ที่ว่าเสี่ยเล็กทำของเขาคนเดียวนี่ทำยังไงครับ"
      "ส่วนมากเขาจะนั่งพูด จะให้ทำอะไร เขาจะพูด เราจับคำพูดมาสเก็ตช์เป็นแบบ ก็ต้องนั่งฟัง ต้องเข้าใจคำพูดเขา แล้วสเก็ตช์ออกมาเป็นแบบให้ได้ อย่างถ้าเขาพูดถึงโครงสร้าง เอาเสาใหญ่ ๆ สูงให้คนเข้าได้ หลังคาแอ่น ๆ ทรงแบน ๆ หน่อย ชายคาไม่ต้องสูงมาก แปดมุม แปดเหลี่ยม เขาจะบอกหมด หลังคาสามชั้น สี่ชั้น มีเต้า มีทวย กี่มุขกี่มุข พูดหมด เขาจะดูที่เราสเก็ตช์ ถ้าไม่ดีเขาจะแก้ช่วงนั้นเลย แล้วให้ไปเขียนใหม่ ถ้าเขียนแล้วไม่พอใจ เขาจะเปิดหนังสือให้ดู ใช้ได้เมื่อไหร่ โอเค ทำเลย..."
(คลิกดูภาพใหญ่)       คุณปรีชาหันไปมองดูกองหนังสือบนโต๊ะ
      "ผมเขียนอยู่ตรงนี้ เขาก็นอนเก้าอี้อย่างนี้ (ชี้ที่เก้าอี้โยก) ผมเขียน ๆ เขาก็ลุกมาดู..."
      ผู้จัดการทั่วไปของเมืองโบราณเอนหลังพิงเก้าอี้ ทอดสายตาออกไปข้างนอก ช่างแกะสลักไม้สามสี่คน กำลังง่วนอยู่กับงานของเขาที่ลานข้าง "เพชรบุรี" แดดบ่ายเต้นยิบยับ
      "พอเขาไม่อยู่...มันไม่มั่นใจ จะตั้งอะไรก็ตัดสินใจไม่ได้ กลัวคนอื่นเขาจะว่า"
      คุณปรีชาอยู่กับท่านเจ้าเมืองมากว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นบัณฑิตใหม่ จากคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร เวลานั้นคือ พ.ศ. ๒๕๐๘ คุณหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) พาลูกศิษย์ที่เพิ่งจบ ยกโขยงไปเที่ยวพัทยากัน อาจารย์หลวงบอกว่า ขอแวะเยี่ยมเสี่ยเล็กที่บางปูหน่อย เมื่อรู้ว่าจบศิลปากรกันมา คุณเล็กจึงชวนให้มาทำงานด้วย นี่เองจึงเป็นเหตุให้คุณปรีชา และเพื่อนนักเรียนศิลปากรอีกสี่คน ได้มาอยู่กับ "เสี่ยเล็ก"
      บางปูในความรับรู้ของชาวกรุง ตั้งแต่รุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลงมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ คือ "ชายทะเล" ที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด สามารถเดินทางไปถึงได้ด้วยถนนสายกรุงเทพฯ- สมุทรปราการ (หรือที่รู้จักกันต่อมาในนามถนนสุขุมวิท) ด้วยว่ารัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พัฒนาป่าแสมโกงกางของบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นสถานที่ตากอากาศ มีการสร้าง "สะพานสุขตา-ศาลาสุขใจ" ยื่นลงไปกลางทะเล เปิดเป็นเวทีลีลาศสำหรับดาราเท้าไฟทั้งหลาย
      ฉากของบางปูจะแทรกอยู่ในนิยายของทศวรรษ ๒๔๙๐ จำนวนไม่น้อย ในยุคนั้น หนุ่มสาวชาวพระนคร มักนิยมขี่จักรยานเป็นหมู่ใหญ่ ๆ ไปเที่ยวบางปูกันในวันเสาร์อาทิตย์ แค่ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ดูนกนางนวล ดูปลาตีน ดูเวิ้งอ่าวไทยกว้าง ยืนให้ลมทะเลปะทะหน้าตา เพียงเท่านี้ ชีวิตก็แสนจะมีสุข
      แต่ในปลายทศวรรษ ๒๕๐๐ เสี่ยเล็กกำลังจะสร้างนิยามใหม่ให้บางป

(คลิกดูภาพใหญ่) ู      ณ ตึกโบราณอายุกว่าร้อยปีของต้นสกุลบุนนาค ริมคลองบางกอกใหญ่ คือที่พำนักของคุณด่อน บุนนาค เมื่อเทียบกับว่าอายุ ๘๒ ปี ท่านก็นับเป็นชายไทยร่างเล็ก ที่ยังคงแข็งแรงกระฉับกระเฉงมาก ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คุณด่อนเคยทำงานอยู่กับ "นายห้าง" หรือคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ภรรยาของเสี่ยเล็ก ที่บริษัทวิริยะพานิช แม้ว่างานในหน้าที่ของคุณด่อน คือการดูแลสินค้าของวิริยะฯ ในเขตภาคใต้ แต่ก็ยังได้รับความไว้วางใจ ให้ช่วยงานด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นการสำรวจที่ดินที่มีผู้เสนอขาย
      "พอข้าพเจ้ากลับจากต่างจังหวัด ว่างอยู่ นายห้างก็ให้ไปซื้อที่ที่บางปู มีคนมาขาย
      เดินหาหมุดหลักเขตกันจนเมื่อยขา เขาขายทีละแปลง ๆ ๑๐๐ ตารางวาบ้าง ๒๐๐ บ้าง ๓๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง จำไม่ได้ว่าไปกี่หน ที่ตรงนั้นเป็นนา แต่ทำนาไม่ค่อยได้ ไร่หนึ่งได้ข้าว ๘-๙ ถัง...น้ำเค็มมันเข้า"

      จากนาร้างบางปูที่ "นายห้าง" เคยซื้อทิ้งไว้นี้ คุณเล็กคิดว่าที่ดินผืนใหญ่ริมถนนสุขุมวิท และไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนักเช่นนี้ น่าจะนำมาทำประโยชน์ แต่แรก ความคิดคืออยากทำสถานที่ท่องเที่ยว ให้คนมาพักผ่อน โดยตั้งใจจะจำลองสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมาสร้างให้ขนาดเล็ก ๆ
      หากแต่ในเวลาไม่นาน คุณปรีชาและเพื่อน ๆ จากศิลปากรจึงได้รู้ว่า สิ่งที่พวกเขากำลังลงแรงกันอยู่นี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว

      ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากความไม่รู้ แต่ไม่รู้จริงเสียหายมากกว่า ยิ่งไม่รู้จริงแล้วทำเป็นรู้ ผลที่สุดคือหายนะ โบราณและปัจจุบัน ความสำเร็จกับความล้มเหลว ตกอยู่ในห้วงแห่งสาเหตุนี้มากต่อมาก การที่จะรู้จริงนั้นต้องมาจากความยากลำบาก จะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ

      ความรื่นรมย์อย่างสำคัญในชีวิตของ "เสี่ยเล็ก" ก็คือโบราณวัตถุ เรื่องนี้ พ.ต.อ. เลื่อน กฤษณามระ เพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่งเคยเล่าถึงที่มาไว้ว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เมื่อแรกรู้จัก คุณเล็กเป็นเจ้าของร้านขายยาจีนชื่อ "เทียนแซตึ๊ง" ในถนนสำเพ็ง ตอนใกล้ถนนราชวงศ์... รู้จักกันไม่นานก็สนิทสนมกัน ไปมาหาสู่เที่ยวด้วยกันบ่อย ๆ ข้าพเจ้ามีนิสัยรักของเก่า มาแต่สมัยยังเป็นนายร้อยตำรวจชั้นผู้น้อย เมื่อมีเงินเดือนเหลือ จะซื้อของเก่าเก็บไว้เสมอ บางคราวพบของถูกใจแต่ไม่มีเงินพอซื้อ เกรงว่าจะถูกคนอื่นชิงซื้อเสียก่อน จึงขอยืมเงินคุณเล็กบ้าง ให้คุณเล็กซื้อไว้ก่อนทำนองฝากบ้าง ชั้นแรกคุณเล็กหาว่าข้าพเจ้าบ้าซื้อกระเบื้องถ้วยกะลาแตกมาเก็บไว้ เมื่อนานเข้าเกิดใจรักขึ้นมา จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง หาตำราทั้งจากยุโรป เอเชีย มาศึกษา ศึกษาจริงจากผู้มีความชำนาญ..."
      เมื่อคุณเล็กหันมาสนใจเรื่องของเก่า และลงมือศึกษาอย่างจริงจังแล้ว ก็เกิดความรักในโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่นพวกเครื่องลายคราม สังคโลก และเบญจรงค์ ขึ้นมาอย่างจับจิตจับใจ ถึงขนาดว่าเมื่อเสร็จจากงานที่บริษัทธนบุรีพานิชในช่วงเช้าแล้ว เกือบทุกวันในช่วงบ่าย ก็จะต้องไปแวะเวียนในเวิ้งนาครเขษม แหล่งรวมของเก่าแห่งยุค
      ความต้องการที่จะ "ศึกษาจริงจากผู้มีความชำนาญ" จึงนำคุณเล็กเข้าสู่แวดวงผู้หลักผู้ใหญ่ ที่มีความรู้ และความสนใจอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสด็จพระองค์ชายใหญ่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) เจ้าคุณประดิพัทธ์ฯ (พระยาประดิพัทธภูบาล - คอ ยู่เหล ณ ระนอง) หรือเจ้าคุณอุเทนฯ (พระยาอุเทนเทพโกสินทร์ - ประสาน บุรณศิริ) แม้ในบรรดาท่านเหล่านี้ เขาจะมีอายุน้อยที่สุด
      นิสัยที่เมื่อทำอะไรแล้วต้อง "รู้จริง" เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะประจำตัว ของเสี่ยเล็กมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้น เมื่อเขาจะหันมาสร้างสถานที่สำคัญของจังหวัดต่าง ๆ ที่บางปู บุคคลที่จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน ก็ต้องเป็นมือหนึ่งทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทย
      คุณหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สถาปนิกคนสำคัญของกรมศิลปากร จึงเข้ามารับหน้าที่ด้านการออกแบบก่อสร้างในระยะแรก

(คลิกดูภาพใหญ่)       บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในสมัยก่อร่างสร้างเมืองโบราณ ก็คืออาจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งได้รับการทาบทามจากคุณเล็ก ให้ไปช่วยงานที่เมืองโบราณภายหลังเกษียณ ดังที่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์ของคุณพ่อ
      "พ่อเกษียณตอนข้าพเจ้าไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย แต่ก็ไม่ได้ออกไปนั่งกินบำนาญอยู่เฉย ๆ เพราะมีงานทำ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ได้ชวนให้ไปทำงานด้วยที่เมืองโบราณ ระยะนั้นกำลังทำการก่อสร้าง คุณเล็กเป็นคนมีความรู้ ไม่ชอบทำอะไรโดยไม่มีข้อมูล และหลักฐาน การจะสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็มีการหารือกันโดยเอาข้อมูล และความคิดของคนหลาย ๆ คนที่ร่วมงานด้วยมาประมวลเข้าแล้วจึงตัดสินใจทำ แต่ถ้าหากเกิดการผิดพลาด ก็จะแก้ไขทันที ถึงแม้ว่าจะต้องรื้อสิ่งที่ทำไปแล้วก็ตาม พ่อก็ช่วยทางเมืองโบราณไปตามความรู้ และประสบการณ์ที่มีมาเท่าที่จะทำได้ อย่างเช่นให้ข้อมูล และหลักฐานว่าที่จังหวัดนั้น ท้องถิ่นนั้น มีอะไรที่น่าสนใจ ควรแก่การพิจารณาสร้างขึ้นที่เมืองโบราณหรือไม่ รวมทั้งช่วยนำไปดูให้เห็นของจริงด้วยตนเอง"
      การ "ดูให้เห็นของจริงด้วยตนเอง" นี้ ก็คือการออกเดินทาง สำรวจโบราณวัตถุสถานทั่วประเทศนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกือบ ๔๐ ปีก่อน การตระเวนไปตามจังหวัดห่างไกล เมื่อถนนหนทางยังลำบาก โรงแรมหายาก และกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังเพ่นพ่านอยู่ทั่วไป ก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
      รองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช อาจารย์อาวุโสของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นลูกศิษย์คุณหลวงวิศาลศิลปกรรมอีกคนหนึ่ง ที่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับคุณเล็กมากว่า ๔๐ ปีแล้ว อาจารย์เสนอเล่าบรรยากาศสมัยนั้นให้ผมฟังว่า
      "อาเสี่ยแก่กว่าฉัน ๒๐ ปี เป็นรุ่นพ่อ ฉันเรียกเขาว่าคุณน้า แต่ทางศิลปะ เราเป็นสหายอาวุโส จะเถียงกันได้อย่างชนิดที่เรียกว่า... ต่างคนต่างไม่ยอม
      "ตอนไปสำรวจ มีอยู่คราวหนึ่ง ตั้งแต่ตอนที่ทางสายเด่นชัย-ศรีสัชนาลัยเริ่มตัด มันมีทางแยกขวา-ซ้าย ก็ถามกันว่าจะไปขวาหรือซ้าย ทางขวาอ้อมหน่อย ทางซ้ายเขาว่าทางลัด ทุกคนว่าไปทางลัด โอ้โห ! หนูเอ๊ย...กว่าจะโผล่ได้ตายเลย ทางมันไปไม่ได้ ต้องลงเข็นรถตลอด แต่จะดูศรีสัชฯ (เมืองโบราณศรีสัชนาลัย ในจังหวัดสุโขทัย - ผู้เขียน) ก็ต้องดูให้ได้
(คลิกดูภาพใหญ่)       "มาถึงศรีสัชฯ กลางคืน ตอนนั้นสะพานยังไม่มี ทางลงข้ามแม่น้ำมีแต่รถจี๊ปข้ามได้ เอารถไปสามคัน จอดเปิดไฟหน้าเรียงแถวริมแม่น้ำ แล้วข้ามเรือไปกัน พวกเราต้องเดินหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ถือตะเกียงเจ้าพายุมือหนึ่ง อีกมือถือไม้ไผ่ยาว ๆ ตีหญ้าไล่งู... ไปดูวัดนางพญาเพื่อให้แน่ใจ กินข้าวเที่ยงคืนที่สวรรคโลก ถึงกรุงเทพฯ เช้า
      "ที่ไปศรีสัชฯ นี่ ฉันว่า เอ๊อ...กำไรชีวิต ทีหลังพอต้องลงเข็นรถกันอีก เสี่ยเล็กก็จะล้อว่า...กำไรชีวิต (หัวเราะ)"

      อีกท่านหนึ่งที่ได้รับการเชื้อเชิญ ให้มาร่วมงานกับเมืองโบราณก็คือคุณพิชัย วาศนาส่ง
      "ผมไม่เคยรู้จักกับเสี่ยเล็กเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่ผมออกทีวี ทำรายการวิเคราะห์ข่าว เขาก็คงรู้จักว่า ผมออกแบบทำสถาปัตยกรรมได้ ตอนที่ผมออกจากทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม เขาโทรมาเช้าวันหนึ่ง จากนั้นเดี๋ยวก็โทรมา ๆ คุยจนถูกเส้นกันแล้ว ผมก็ไปหาเขา
      "ตอนที่ผมเข้าไปครั้งแรก เมืองโบราณยังจมอยู่ในโคลน สร้างครึ่งทิ้งครึ่ง ความคิดเดิม คุณเล็กจะทำอะไรไม่รู้ แต่เมื่อผมไปเห็นก็ประทับใจ คุณเล็กรวบรวมของที่กระจัดกระจายในเมืองไทยมารวมไว้ เป็นสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็มีจิตรกรรม ประติมากรรมรวมอยู่ในนั้น
      "ผมเห็นคนรวยมามาก คนที่ไม่ทำอะไรให้สังคมเลยก็เยอะ คนรวยที่ชอบทำบุญ บริจาคให้วัดก็เยอะ แต่คนรวยที่คิดทำอะไรเพื่อสังคม ขณะเดียวกันก็สนใจศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นวิชาการ  มีปรัชญาในตัวเสร็จ ผมไม่เคยเห็นคนไหนเป็นอย่างนี้ เขาสนใจทุกอย่าง โบราณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม แล้วเข้าใจทุกอย่าง... เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อะไรที่ไม่รู้ หาหนังสือมาอ่าน หาผู้รู้มาถก จนรู้"

(คลิกดูภาพใหญ่)       เมืองโบราณคือเมืองในอดีต อดีตคือช่วงเวลาที่ผ่านไป ช่วงเวลาที่ผ่านไปย่อมต้องมีช่วงเวลาที่ติดตามมา ความแตกต่างอยู่ที่ถึงก่อนถึงหลังเท่านั้น เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ต่างผลัดกันให้แสงสว่าง เกิดวัน เดือน ปี ปรากฏการณ์ทั้งหลายย่อมไม่มีจุดเริ่มต้นให้เห็นได้ เป็นวัฏฏะที่หมุนเวียน เหตุวันนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากเมื่อวานนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ย่อมมาจากวันนี้ ฉะนั้นเรื่องของอดีต คนปัจจุบันจำเป็นต้องรู้ หากเราไม่รู้อดีต ก็เหมือนเดินเรือในท้องทะเล โดยปราศจากเข็มทิศและหางเสือ ผลที่จะเกิดขึ้นกับเรือลำนั้นเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง

      เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ น. ณ ปากน้ำ หรืออาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ได้เล่าให้ผู้อ่าน ชาวกรุง ฟังด้วยความอัศจรรย์ใจว่า
      "ก่อนจะถึงบางปูสักเล็กน้อย ณ บริเวณตรงกันข้ามกับสวางคนิวาสน์ มองไปยังทุ่งนาด้านซ้ายมืออันเวิ้งว้าง จะเห็นเจดีย์ และปรางค์โบราณ ผุดสลอนราวกับป่าเจดีย์ คล้ายเมืองพุกามโบราณ ณ สถานที่นี้ ข้าพเจ้าเคยผ่านเสมอ และก็ได้ยินกิตติศัพท์เข้าหูอยู่ตลอดเวลา จากพวกศิลปากร ซึ่งไปร่วมงานกับคุณเล็ก...  ภาพที่เห็นเบื้องหน้า ณ สถานที่อันแผ่กว้างนับเป็นร้อย ๆ ไร่ ทำให้ข้าพเจ้าต้องตะลึงงัน"
      "พวกศิลปากร" ที่มาชุมนุมกันในเมืองโบราณครั้งกระนั้น มีทั้งที่เป็นรุ่นเล็ก ได้แก่บรรดาศิษย์หาของอาจารย์คุณหลวงวิศาลศิลปกรรม อันมี ปรีชา วิบูลย์ศิลป์ พรชัย เหมะรัต และ ไกรษร ศรีสุวรรณ เป็นอาทิ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพวก "รุ่นใหญ่" ด้วย เช่นอาจารย์สนั่น ศิลากร ประติมากรและจิตรกรฝีมือชั้นครู ที่ลาออกจากกรมศิลปากร มาร่วมงานกับเมืองโบราณโดยเฉพาะ และ "ท่านกูฏ" หรือ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ จิตรกรแนวไทยประเพณีคนสำคัญแห่งยุค เพื่อนนักเรียนศิลปากรร่วมรุ่นกับ น. ณ ปากน้ำ
      หากแต่ "กิตติศัพท์" ที่ น. ณ ปากน้ำ ได้ยินมา ล้วนแต่เป็นเรื่องของคุณเล็กทั้งสิ้น เช่น
      "การก่อสร้างทำอย่างประณีต ข้อสำคัญก็คือ คำนึงถึงหลักฐานจากบันทึกในประวัติศาสตร์ทุกอย่าง หากมาค้นพบภายหลังว่าผิดพลาดไป ก็จะถูกทุบทิ้ง โดยเจ้าของไม่เสียดมเสียดายเงินทอง ที่ลงทุนไปแต่อย่างไร เคยมีตัวอย่างแล้วว่าปรางค์และเจดีย์บางองค์ เมื่อสร้างแล้วผิดส่วน คุณเล็กจะสั่งทุบทิ้งทันที ทั้ง ๆ ที่เป็นงานใหญ่โตมโหฬาร แล้วสั่งสร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนของจริงทุกอย่าง งานก่อสร้างสถานที่นี้ จึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะมุ่งในคุณภาพ และความถูกต้องเป็นเกณฑ์"
(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่ละสิ่งแต่ละอย่างในเมืองโบราณนั้น กว่าจะได้รับการก่อสร้าง ก็ต้องผ่านการค้นคว้า วินิจฉัย ตรวจสอบ ถกเถียงกันอย่างดุเดือดเอาจริงเอาจัง ทั้งในระหว่างนักวิชาการที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา กับตัวของคุณเล็กเอง แม้แต่เมื่อ น. ณ ปากน้ำ เข้าไปดูเมืองโบราณเพียงครั้งแรกนั้น ก็ "ยังไปยืนเถียงกับคุณเล็ก ซึ่งเป็นเจ้าของ และผู้อำนวยการก่อสร้าง กลางแดดเปรี้ยง... เราเถียงกันด้วยหลักวิชาข้อปลีกย่อยบางอย่าง แต่ก็ต้องชมเชยว่าเขากล้าทำ แล้วก็ทำอย่างตั้งใจจะให้ดี"
      ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของวิธีการสร้างเมืองโบราณ ก็คือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ซึ่งของจริงในพระราชวังโบราณ ที่อยุธยาถูกเผาราบ เหลือเพียงซากฐาน คุณพิชัย วาศนาส่ง ยกตัวอย่างขั้นตอนการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า
      "พระที่นั่งสรรเพชญที่อยุธยา ถ้าเราไปดูก็เห็นแต่ฐานราก หลังคาจะเป็นอย่างไร อาจารย์มานิต (วัลลิโภดม) บอกว่ามีของดีน่าศึกษา คือสังเค็ด (ธรรมาสน์ขนาดใหญ่ สำหรับพระสงฆ์สี่รูปขึ้นสวดได้พร้อมกัน-ผู้เขียน) ทำด้วยไม้ ยังมีเหลืออยู่สองหลัง อันหนึ่งอยู่ที่วัดมหาธาตุพิษณุโลก อีกอันหนึ่งอยู่วัดเชิงท่า เวลาทำพิธีสวดมนต์ในวัง นิมนต์พระขึ้นไปนั่งบนนั้น ผมไปถ่ายรูปมาทุกแง่ทุกมุม มาให้คุณเล็กดู เขาก็ว่าให้ใช้อย่างนี้
      "กระเบื้องหลังคา คุณเล็กลงทุนเอาดีบุกผสมตะกั่ว รีดเป็นแผ่น เพราะมีในจดหมายเหตุขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เล่าไว้ว่าหลังคาเป็นดีบุก พอทำออกมา เป็นสีเงินสวยงามมาก คุณเล็กนึกถึงว่าฝรั่งใช้ทองแดง ของจีนไม่ค่อยมี เพราะใช้เป็นกระเบื้อง แต่ว่าถ้า (ที่พระที่นั่งสรรเพชญที่อยุธยา) เป็นกระเบื้อง เมื่อถูกเผาก็ต้องเหลือซาก ไปค้นดูก็ไม่มี ดังนั้นน่าจะเป็นดีบุกจริง ๆ พอเผาหลอมละลายแล้ว ก็มีคนมาเก็บเอาไป... ความคิดเขาลึกซึ้งจริง ๆ
      "บนสันหลังคา เขาให้ทำบราลี เขาไปนึกถึงสุโขทัยที่มีของเก่าเป็นบราลีสังคโลก คุณเล็กบอกว่าโบราณ จีนก็เป็นแบบนั้น ทำมังกรไว้ไล่นกบนสันหลังคา พอทำบราลีไปติดไว้ ดูแล้วก็สวยงามดี
      "คุณเล็กรื้อทิ้งเสียเยอะ ที่สรรเพชญ พอยกช่อฟ้าขึ้นไปติดแล้วเล็กไป ภาษาช่างเรียกว่าอากาศกิน ช่อฟ้านั้นมาจากที่เขียนแบบ ดูเหมือนจะสูง ๓.๒๐ เมตร แต่เอาขึ้นไปแล้วเล็กไป คุณเล็กให้ไปวัดสุทัศน์ฯ ไปวัดขนาดช่อฟ้ามาว่าขนาดไหนถึงจะได้ แล้วกลับมาทำ พอดูดี อากาศไม่กินแล้วก็ทำขนาดนั้นทุกตัว ของแต่ละชิ้นในเมืองโบราณไม่ได้เกิดจากการทำส่งเดช ความงามถึงเกิดขึ้น"
(คลิกดูภาพใหญ่)

"ควีนสนพระทัยเมืองโบราณ !
กรรมการเมืองจัดต้อนรับอย่างมโหฬาร
อดีตนางสาวจักรวาล นส. ไทยก็ไปเฝ้าด้วย"

      นี่คือข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันอาทิตย์ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ รายงานข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเมืองโบราณ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ เนื้อข่าวตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
      "...พอเวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป เสด็จฯ ถึงเมืองโบราณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ออกรับรองหน้ากำแพงเมืองโบราณ กรรมการฝ่ายสตรีของเมืองโบราณ ถวายพวงมาลัยคล้องข้อพระหัตถ์ และถวายหนังสือเมืองโบราณ แด่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ ประธานกรรมการเมืองโบราณ ขอพระราชทานเบิกคณะกรรมการเมืองโบราณ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเชิญราชอาคันตุกะเสด็จผ่านประตูเมืองโบราณ เสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่ง ผ่านโบราณวัตถุสถานสำคัญต่าง ๆ เริ่มด้วยเจดีย์วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช พระธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี ศาลาการเปรียญ วัดใหญ่ เพชรบุรี แล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของคนไทยโบราณ บนเรือนทวารวดี ซึ่งแสดงการจัดห้องนั่งห้องนอนห้องพระ และสาธิตการปรุงของหวานไทย มีฝอยทอง ข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ตลอดจนการร้อยมาลัย และการเจียนหมากจีบพลู รวมทั้งการแสดงมโหรีหญิง ซึ่งปรากฏว่าพระราชอาคันตุกะทั้งคู่ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไป ณ พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท ซึ่งตรงทางเสด็จฯ ขึ้นมีลาดพระบาทดอกบานไม่รู้โรย ร้อยเป็นลวดลายงดงาม สำหรับแทนพรมลาดพระบาท พรมนี้ทราบว่าใช้เวลาร้อยถึง ๖ วัน ๖ คืน ราคาประมาณ ๘,๐๐๐ บาท และภายในมีสตรีสาวแต่งกายแบบโบราณ คอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่
      เมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระที่นั่งสรรเพชรปราสาทแล้ว ทุกพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมเมืองโบราณ หลังจากนั้น... เสวยพระสุธารสชาและพระกระยาหารว่างที่บนพระที่นั่งสรรเพชรปราสาท... จนเวลา ๑๘ น. เศษ จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ...

(คลิกดูภาพใหญ่)       อนึ่ง ในวันนี้นางประไพ วิริยะพันธุ์ เจ้าของเมืองโบราณ ได้ทูลเกล้าถวายพระแสงดาบโบราณ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อมีผู้ที่เฝ้าใกล้ชิดท้วงว่าเป็นพระแสง ต้องถือเคล็ด โดยแลกเปลี่ยนกับเศษสตางค์ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีเศษเหรียญเลย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงทูลเกล้าถวายไป ๑ บาท"
      ลาดพระบาทดอกไม้สด ณ พระที่นั่งสรรเพชญนี้ยังสดอยู่ในความทรงจำ ของผู้ที่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จในวันนั้น หลายต่อหลายคน จะเล่าถึงเรื่องนี้เป็นอย่างแรก ๆ เมื่อผมถามถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
      ทว่า บุคคลหนึ่งที่ไม่ปรากฏตัวในข่าวนี้ก็คือเล็ก วิริยะพันธุ์ นี่มิใช่อาการ "ตกข่าว" หรือเกิดความผิดพลาดในการรายงานข่าว แม้ว่าในการเสด็จพระราชดำเนิน เป็นการส่วนพระองค์ก่อนหน้านั้น คุณเล็กจะรับเสด็จด้วยความปีติปลาบปลื้ม เช่นที่คุณพิชัย วาศนาส่ง จำได้ดี
      "พอคุณเล็กรู้ว่าในหลวงจะเสด็จมาดู ก็ระดมทำทั้งวันทั้งคืน คุณเล็กว่าโชคชะตาฟ้าบันดาลจริง ๆ เพราะเมืองโบราณนี้ ก็ตั้งใจจะทำให้เป็นศิลปะในรัชกาลที่ ๙ ที่ทำสำเร็จก็ด้วยพระบารมีจริง ๆ"
      หากแต่ในวันที่มีแต่ช่างภาพ สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรตินั้น เขาขอให้นายห้างออกหน้าแทน ส่วนตัวเองถอยไปยืนรับเสด็จอยู่เพียงห่าง ๆ ปะปนอยู่กับฝูงชนมากมายในวันนั้น
       เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งจากซีกโลกตะวันตก และซีกโลกตะวันออก ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโบราณพร้อม ๆ กัน ทางเมืองโบราณจึงถือเอาวันนั้น เป็นเสมือนวันเปิดตัวแก่สาธารณชน อย่างเป็นทางการ แต่พร้อม ๆ กันนั้น เล็ก วิริยะพันธุ์ กลับฝังตัวอยู่ในเมืองโบราณ มุ่งหน้ากระทำภารกิจของเขาต่อไป

      ความเหมาะสม และดีงามของสิ่งใด ๆ ไม่มีขอบเขตแห่งความเก่าแก่ พิสูจน์จากจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม เป็นมรดกของมนุษยชาติ ที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เรา เป็นเวลานานแสนนาน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้เสื่อมโทรมแม้แต่น้อย ศิลปะไม่มีลัทธิ ศาสนา และกาลเวลา ศิลปะเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงจิตในมนุษย์มาตราบเท่าทุกวันนี้

(คลิกดูภาพใหญ่)       เหตุที่เสี่ยเล็กยังคงต้องมุ่งหน้าสร้างเมืองโบราณโดยไม่หยุดยั้ง ก็เพราะงานของเขายังไม่เสร็จ หรือหากจะใช้คำให้ตรงกว่านั้นก็คือ ไม่มีวันเสร็จ เพราะเมืองโบราณไม่เคยมีการวางแผนล่วงหน้า ทั้งการดำเนินการก่อสร้าง และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่ทำมาแล้ว เกิดขึ้นตลอดเวลา
      ประเด็นนี้อาจแลเห็นได้ชัดเจนจากหนังสือนำเที่ยว
      บนพื้นที่เกือบ ๕๐๐ ไร่ของเมืองโบราณ "ไกด์บุ๊ก" ฉบับเก่าที่สุดที่ผมหาได้ (ซึ่งไม่บอกปีพิมพ์) มีสถานที่ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึง ๗๐ ฉบับปี ๒๕๒๐ บอกว่ามีสถานที่ทั้งหมด ๗๕ แห่ง ฉบับปี ๒๕๒๙ จำนวนเพิ่มเป็น ๘๙ แห่ง มาถึง "ฉบับปรับปรุงใหม่" ของปี ๒๕๓๙ มีเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๐๔ ข้ามมาเพียงปีเดียว คือ ๒๕๔๐ หนังสือนำเที่ยวเมืองโบราณ ฉบับนักเรียน มีสารบัญระบุสถานที่ไว้ถึง ๑๑๒ แห่ง
      การงอกงามของเมืองโบราณเยี่ยงนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะ เล็ก วิริยะพันธุ์ เอาชีวิตทั้งหมดลงไปทุ่มเท
      สิ่งที่คุณเล็กทำ เขาทำด้วยใจเท่านั้น ไม่เคยสนใจว่าจะต้องลงทุนไปเท่าไหร่ จะได้ทุนคืนหรือไม่ หรือแม้แต่จะมีใครมาดูมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญ แห่งสำนักธรรมศาสตร์ จึงให้นิยามเขาว่า "ศิลปิน" และใช้เมืองโบราณ เป็นตัวแทนของศิลปะไทยสมัยปัจจุบัน ในการบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ในประเทศไทยมาโดยตลอด อาจารย์พิริยะให้เหตุผลว่า
      "คนไม่เคยมองเห็นท่านในฐานะศิลปิน ที่จริงมันไม่เป็นธรรม...ท่านเป็นศิลปินร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านไม่เคยทำเอาเหรียญทอง หรือเอาเหรียญศิลปินแห่งชาติ ท่านไม่เคยฝันอยากได้อะไร
      "เราสอนมา ๒๐ ปีแล้ว (ว่า) เราเห็นว่าผลงานที่เสี่ยเล็กทำ เป็นงานที่เรียกว่าศิลปะบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ท่านทำเพื่อความสุขของท่าน ในการสร้างสรรค์ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝง ไม่เป็นเครื่องมือโฆษณาหาเสียง ไม่เป็นเครื่องมือปลุกระดม ท่านทุ่มเททั้งชีวิตให้สิ่งที่ตัวรัก ตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน... ที่จริงท่านน่าจะได้ศิลปินแห่งชาตินะ"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "งานศิลปะ" ที่เสี่ยเล็กทำนี้ ได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูก ๆ ดังเช่นเคยมีผู้สัมภาษณ์ "นายห้าง" ประไพ วิริยะพันธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการของเมืองโบราณ ว่าเมืองโบราณลงทุนไปเท่าไหร่แล้ว เธอตอบอย่างง่าย ๆ แต่เพียงว่า "จำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้หุ้นกับใคร เราก็เลยไม่ต้องไปคิดว่าเท่าไหร่ ก็ทำไปเรื่อย ๆ"
      ส่วนอาจารย์เสนอ นิลเดช ซึ่งได้รู้เห็นใกล้ชิดมาแต่แรก ยังออกปากชม "พวกลูก ๆ เขานี่ ไปตอกเสาเข็ม ไปคุมคนงานเอง ตอนทำสรรเพชญ หลังบ้านเขา (ที่ถนนพระราม ๔) นี่ ปลูกเป็นโรงงานเลย ตัดมุก เลื่อยมุก กรอมุก ฝังมุก สำหรับทำประตูหน้าต่างสรรเพชญ พวกนี้ลงไปช่วยเขาด้วย...ตะลุมบอนเลย"
      ในช่วงต้น ๆ ที่เริ่มโครงการเมืองโบราณ คุณเล็กจะใช้เวลาช่วงเช้า เข้าไปดูแลงานที่บริษัทธนบุรีพานิช จากนั้นจึงออกไปกินข้าวกลางวันที่เมืองโบราณ อยู่คุมงานจนเย็นค่ำ หรือบางทีถ้ามีที่ต้องดูแลต่อเนื่องก็อาจจะถึงดึกดื่น
      ต่อมา เมื่อวางมือให้คุณประไพดูแลงานด้านธุรกิจแทนทั้งหมดแล้ว คุณเล็กจะออกไปจากบ้านถนนพระรามที่ ๔ ตั้งแต่เช้ามืด อาจเรียกว่ามาสว่างเอาที่เมืองโบราณก็ว่าได้ คุมงานก่อสร้างด้วยตัวเองจนเที่ยง พักรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งก็เป็นเพียงกับข้าวง่าย ๆ พวกผักและปลา บางวัน "เสี่ยเล็ก" อาจลงมือทอดปลาผัดผักเองเสียด้วยซ้ำ ถ้าจะมีของหวานก็ไม่พ้นถั่วเขียวต้ม หรือกล้วยน้ำว้าเผา หลังอาหารจะอ่านหนังสือพิมพ์พอผ่าน ๆ เพื่อให้รู้ข่าวบ้านการเมือง แล้วหันมาอ่านหนังสือทางด้านศาสนา ปรัชญา และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความคิดที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้าง หลังจากนั้นนอนพักผ่อน ประมาณบ่ายสามโมงออกไปคุมงานต่อ ตอนเย็นกลับมารับประทานอาหารที่บ้านพัก หลังจากนั้นคุมงานต่อจนประมาณสี่ทุ่มจึงกลับไปบ้าน
      พอวันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ก็ออกมาที่เมืองโบราณอีก
      ชีวิตของ เล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นเยี่ยงนี้ตาปีตาชาติ ตราบจนเมื่อคุณประไพ ภรรยาคู่ชีวิตถึงแก่กรรมไปเมื่อแปดปีก่อน เสี่ยเล็กจึงเข้าไปพำนักอยู่ในเมืองโบราณ โดยไม่เคยออกไปไหนอีกเลย ใช้ชีวิตตลอดเวลากับการคิด การออกแบบก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ
      เขาเคยบอกคุณพิชัย วาศนาส่ง ว่า
      "อั๊วไม่ใช่เสี่ย... เสี่ยต้องมีเงินมาก ๆ แล้วหาความสุขใส่ตัว แต่อั๊วเป็นลูกจ้างมนุษยชาติ"

 (คลิกดูภาพใหญ่)       จริงอยู่ว่า "เสี่ยเล็ก" อาจเป็นคนไทยเชื้อสายจีน หากแต่เขาเลือกที่จะผูกพันตัวเองกับแผ่นดินไทย หลังกลับมาจากเมืองจีนเมื่อยังหนุ่ม เขาก็ไม่เคยกลับไปที่นั่นอีก ไม่แม้แต่จะอยากไปเยือนถิ่นฐานดั้งเดิมของต้นตระกูล เช่นที่คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากเพียรพยายาม ความเป็นไทยในครอบครัวของเขา เข้มข้นถึงขนาดที่ว่าในรุ่นลูกนั้น ไม่มีใครรู้ภาษาจีนระดับอ่านออกเขียนได้เลย ลูกทุกคนถูกเลี้ยงดูมาให้เติบโตเป็นคนไทย
      คุณเล็กรู้สึกว่าเมืองไทยคือบ้าน... บ้านหลังเดียวของเขา อย่างที่เขาเคยบอกเสมอว่า คนเราอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด
      เมื่อเขาเป็นลูกจ้างมนุษยชาติที่มีหน้าที่สร้างเมืองโบราณ เขาก็เป็นเต็มตัว และด้วยนิสัยที่จะต้องทำงานให้เต็มที่เสมอ ก็ทำให้เสี่ยเล็กเป็นคน "ร้อน"
      ความใจร้อนของเขามีตัวอย่างมากมาย เช่นตั้งแต่สมัยที่ออกสำรวจโบราณสถานต่าง ๆ ด้วยกัน อาจารย์เสนอ นิลเดช เล่าว่า
      "เวลาไปต่างจังหวัด อาเสี่ยเขากินข้าวเร็ว ทุกคนจะมองหน้าฉันเลย ไม่ต้องพูด ฉันรู้แล้ว (เขาจะบอกว่า) อาจารย์อย่าเพิ่งอิ่มนะ ฉันก็สั่งกับข้าวอีกอย่างหนึ่งเลย..."
      หรือที่คุณพิชัย วาศนาส่ง เล่าเรื่องสมัยที่กำลังก่อสร้างเมืองโบราณ ว่า
      "ใจเขานี่นะ...วันหนึ่งกินข้าวกลางวันอิ่มแล้ว ฝนตก เขาเป็นห่วงงาน กลัวว่าอะไรที่ทำค้างไว้จะพัง สั่งคนงานให้เอาร่มมา จะไปดูงาน คนงานหาร่มไม่ทันใจ เขาใส่รองเท้าแตะพรวดฝ่าฝนออกไปเลย"
      อีกเรื่องหนึ่งที่ยังเล่ากันมาจนถึงทุกวันนี้ เกี่ยวกับลูกน้องที่ทำไม่ถูกใจเสี่ยเล็ก ขนาดบอกแล้วสอนแล้วก็ยังทำผิดอยู่อีก เลยถูกตะเพิดไล่ออกไปเดี๋ยวนั้น ฝ่ายที่ถูกไล่ก็ก้มหน้าก้มตาเก็บข้าวของเดินออกไปทันทีเหมือนกัน แต่เมื่อไปถึงหน้าประตูเมืองโบราณ เสี่ยเล็กนั่งรถมาดักรออยู่แล้ว ถามว่า "ลื้อจะไปไหน เวลาโมโหก็ยังงั้นซิวะ พูดแล้วอธิบายแล้วลื้อไม่ฟังนี่หว่า ไป...กลับไปทำงาน"
      คุณปรีชา วิบูลย์ศิลป์ ในฐานะชาวเมืองโบราณรุ่นบุกเบิกก็ยอมรับว่า
      "เราอยู่มาเป็น ๒๐-๓๐ ปีก็ยังกลัว เขาเป็นคนดุมาก แต่เรารู้ว่าไม่ตรงกับใจ...ดุจริงแต่ไม่ตรงกับใจ เวลาเขาดุมาก สักพักเดี๋ยวมาคุยเรื่องอื่นเลย สนุกสนานได้ ด่าแล้วด่าเลย ไม่คิดย้อนหลัง"
      แต่ก็แน่นอนว่า "พระเดช" ทำนองนี้ ย่อมไม่สามารถอยู่โดยลำพังตัวเองโดด ๆ หากแต่ต้องถูกกำกับอยู่ด้วยพระคุณเต็มเปี่ยมเยี่ยงชาวตะวันออกแต่โบราณ อย่างที่คุณปรีชาเล่าต่อว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เขาจะถามเรื่องทุกข์สุขเราตลอดเวลา กลัวเราจะเดือดร้อน เงินพอใช้นะ กินข้าวหรือยัง อย่าตากแดดนะ เดี๋ยวไม่สบาย เขาเป็นห่วงเราตลอดเวลา เห็นเราเดิน ๆ ตากแดดนี่ ให้เด็กเอาร่มไปให้เราเลย ใครต้องการอะไรเขาก็ให้ เรื่องเงินทองไม่ต้องพูด ต้องการก็ให้ แม้กระทั่งคนงานเขาก็ให้ ไม่ใช่ให้เราคนเดียว เขาให้ไปถึงครอบครัว...ให้อยู่อย่างสบาย"
      ดังนั้น จนถึงเดี๋ยวนี้ คนงานในเมืองโบราณที่มีอยู่ประมาณ ๘๐ คน ครึ่งหนึ่งก็ล้วนแต่ทำงานในเมืองโบราณมาตั้งแต่แรก ๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นลูกหลานของคนงานรุ่นเดิม

      แม้เมื่อสูงวัยขึ้น ความมุ่งมั่นที่แรงกล้าของเสี่ยเล็กก็ไม่ได้ลดลงเลย กลับจะขยายขนาดขึ้นอีก
      ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เขาเริ่มโครงการใหม่ที่ริมทะเลแหลมราชเวช อำเภอบางละมุง ชลบุรี ใกล้พัทยาเหนือ แม้ว่าแต่แรกจะเป็นการขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารหอประชุม แต่ดูเหมือนว่าก็เช่นเดียวกับเมืองโบราณ นั่นคือเมื่อทำการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ ปราสาทไม้ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า "ปราสาทสัจธรรม" กลับขยายขนาดขึ้นทุกที ๆ จนกลายเป็นการพรรณนาความคิดคำนึง ของคุณเล็กผ่านรูปแบบศิลปะ ที่สังเคราะห์ขึ้นจากศิลปะตะวันออก จากหลายแหล่งอารยธรรม
      "สัจธรรม" ที่ปราสาทจตุรมุของค์นี้มุ่งประกาศก็คือ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล อันได้แก่ พ่อ แม่ ดิน ฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว
      ความเชื่อพื้นฐานอย่างหนึ่งในการก่อสร้างปราสาทไม้ก็คือ ไม้เป็นวัสดุที่จะทนทานไปได้นานกว่าอิฐปูน อีกทั้งในหลักฐานประวัติศาสตร์ของไทย ก็เคยปรากฏว่ามีอาคารไม้ขนาดสูงนับร้อยเมตรมาแล้ว ดังนั้น คุณเล็กจึงให้สร้างปราสาทขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง โดยไม่ใช้โลหะหรือปูนใดใดเลย (ยกเว้นฐานรากที่เป็นคอนกรีต) แม้แต่สลักที่ใช้ยึดไม้แต่ละชิ้นก็ต้องเป็นไม้ด้วยกัน
      อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เล่าว่า ความประสงค์อย่างหนึ่งของคุณเล็กก็คือ ต้องการเปลี่ยนความรับรู้ของผู้คน จากที่ว่าพัทยาเป็นแดนคนบาป อันเต็มไปด้วยโลกียสถานกระฉ่อนโลก ให้มาเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม และปรัชญาของเมืองไทย
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลักฐานความอลังการของปราสาทองค์นี้ก็คือ หลังจากเริ่มก่อสร้างมา ๒๐ ปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จลงได้เมื่อใดแน่ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะชิ้นงานแต่ละชิ้น ที่มีน้ำหนักเป็นตัน ๆ ล้วนแต่ต้องมีการสลักเสลากันจนไม่มีที่ว่าง ช่างสลักไม้ในเมืองโบราณ ที่เราเห็นนั่งทำงานกันอยู่ข้าง "เพชรบุรี" ก็กำลังสร้างสรรค์ส่วนประกอบของปราสาทสัจธรรมนี่เอง
      ต่อมาเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน คุณเล็กเคยมีโครงการจะสร้างศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์วัฒนธรรมแห่งโลกขึ้น ที่ริมแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่พันไร่ ขนาดของอาคารประธานที่ทำแบบกันไว้ก็คือ ตัวตึกสูง ๗๐ ชั้น หรือ ๒๑๐ เมตร เหนือขึ้นไปจากนั้น เป็นประติมากรรมช้างเอราวัณสามเศียรขนาดยักษ์ สูง ๙๐ เมตร หรือเท่ากับตึกอีก ๓๐ ชั้น อาคารประธานนี้ยังจะมีอาคารบริวารล้อมรอบอีกเหลือคณานับ แม้ว่าในที่สุดโครงการนี้ จะไม่ได้รับการก่อสร้าง ทว่า แนวคิดเกี่ยวกับอาคารที่เป็นรูปช้างเอราวัณ ก็ยังได้รับการสืบทอดต่อมา
      พุทธศักราช ๒๕๓๗ คือปีที่เล็ก วิริยะพันธุ์อายุ ๘๐ ปี และงานก่อสร้าง "ตึกช้าง" ที่ริมถนนสุขุมวิทในเขตตำบลสำโรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ ก็เริ่มขึ้น
      แม้ว่าจะลดขนาดลงจากที่เคยกะการกันไว้เกือบครึ่งหนึ่ง คือเหลือเพียงราว ๕๐ เมตร ประติมากรรมขนาดยักษ์รูปช้างสามเศียร บุทองแดงสีดำมะเมื่อมนี้ ก็ยังสามารถสร้างความรู้สึก ตลอดจนอารมณ์นานาชนิดให้ผู้พบเห็น ตั้งแต่ทึ่ง ตกตะลึงพรึงเพริด หวาดหวั่น ไปจนถึงศรัทธาเลื่อมใส
      ความมุ่งหมายของคุณเล็กก็คือ จะใช้ตึกช้างนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาโบราณวัตถุ ที่สะสมมาทั้งชีวิต ให้เป็นสมบัติของบ้านเมืองสืบไป หากแต่สิ่งที่เขาคงจะไม่ได้คาดคิดไว้ ก็คือพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณของเขา ได้กลายเป็นวัตถุมงคลอย่างหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ถึงขนาดมีผู้มาตั้งโต๊ะขายดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนกล้วยอ้อยสำหรับไหว้ และมีภาพถ่ายรูปตึกช้างให้ "เช่า" บูชาอยู่ที่ป้ายรถเมล์บริเวณนั้น ผมยังเคยเห็นหิ้งบูชารูปตึกช้างนี้ อยู่ตามร้านก๋วยเตี๋ยวในสมุทรปราการ ส่วนเพื่อนอีกคนก็เล่าว่า เริ่มเห็นมีติดตามเพดานรถแท็กซี่ ร่วมกับพระเกจิอาจารย์ และเสด็จพ่อฯ แล้วด้วยซ้ำไป

      นี่คือจุดประสงค์ของข้าพเจ้าที่สร้าง "เมืองโบราณ" ขึ้น หวังเพื่อแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน แต่ปัญหายิ่งใหญ่จะสัมฤทธิผลได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้แก้ไข คำตอบของข้าพเจ้าคือ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องทุก ๆ คน ไม่ใช่เรื่องราวของเช้าเย็นวันหนึ่ง จะต้องเป็นเดือน เป็นปี เป็นศตวรรษ เสมือนที่โบราณกล่าวไว้ว่าหากจะสร้างภูเขาหนึ่งภูเขา ดินก้อนหนึ่งมีคุณค่าของดินก้อนหนึ่ง

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจาก ๓๐ ปีผ่านไป ชื่อของ เล็ก วิริยะพันธุ์ ก็ค่อย ๆ จางหายไปจากความรับรู้ของสังคม แม้ว่าจะยังมีคนจดจำชื่อ "เสี่ยเล็ก" ได้ แต่ก็รู้เพียงเลือน ๆ ว่ามีใครบางคนที่เคยใช้ชื่อนี้อยู่ เช่นที่เคยมีกระทู้ในเว็บบอร์ด pantip.com อยู่หลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องเมืองโบราณ และเมื่อเกิดมีคำถามกันขึ้นว่า ใครเป็นคนสร้างเมืองโบราณ คำตอบของชาวเน็ตจึงเป็นเพียง
      "เจ้าของรู้สึกว่าจะชื่อ "เสี่ยเล็ก" เจ้าของบริษัทนำเข้าเบนซ์ หรือไงเนี่ย..."
      แต่เรื่องที่ว่าใครจะรู้จักหรือเปล่านี้ ก็คงไม่เคยอยู่ในความสนใจของเสี่ยเล็ก
      เท่าที่ปรากฏ ตลอดช่วง ๓๐ กว่าปีมานี้ เขาไม่เคยยินยอมให้สัมภาษณ์ กับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเลย แม้ว่าเขาจะยินดีพูดคุยกับผู้คนที่ประทับใจในเมืองโบราณเสมอ
      จริง ๆ แล้ว เมืองโบราณคืออะไร ?
      บางคนคิดว่าเมืองโบราณคือเมืองจำลอง ที่มีสถานที่สำคัญจากจังหวัดต่าง ๆ มาสร้างรวมกันไว้ บ้างก็อาจเคยได้ยินว่าเมืองโบราณ คือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ความเข้าใจต่าง ๆ เหล่านี้อาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะในพื้นที่ราว ๕๐๐ ไร่ของตัวเมืองโบราณ ก็ถูกจัดให้มีลักษณะเหมือนพื้นที่ประเทศไทย  มีแม่น้ำและภูเขาสำคัญ ๆ ในแต่ละภูมิภาค ในบริเวณที่จัดให้เป็นจังหวัดต่าง ๆ ก็จะสร้างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แสดงไว้ เช่นกรุงเทพฯ มีพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ศรีสะเกษเป็นเขาพระวิหาร หรือเชียงรายมีวิหารเชียงของ แต่คำอธิบายเช่นนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ทำความเข้าใจเมืองโบราณได้ทั้งหมด
      ถ้าเราไปยืนอยู่หน้าวิหารวัดพร้าว ใน "ตลาดน้ำ" ของเมืองโบราณ แล้วมองย้อนขึ้นไป สิ่งที่เห็นก็คือลำน้ำทอดตัวไปไกล มีเรือนแพ ศาลา บ้านเรือนไทยอุ่นหนาฝาคั่งสองฝั่งน้ำ ถัดไปเป็นแมกไม้ครึ้มเขียว เบื้องหลังในระยะไกลมียอดปราสาทราชวัง พระสถูปเจดีย์ ผลุดโผล่ทะมึนเป็นเงาทาบฟ้าทาบน้ำ ยิ่งเมื่อเดินเที่ยวดูในบริเวณตลาดน้ำ (นอกจากร้านอาหารและเรือก๋วยเตี๋ยวแล้ว) เราก็อาจแปลกใจที่มีทั้งศาลเจ้าจีน โบสถ์คริสต์ มัสยิด และวัดในพุทธศาสนา...
(คลิกดูภาพใหญ่)       หรือว่าที่จริงแแล้ว เมืองโบราณก็คือสังคมโลก ในอุดมคติของคุณเล็ก...
      เคยมีผู้ถาม "เสี่ยเล็ก" ว่าเหตุใดจึงไม่เขียนอธิบายเรื่องเมืองโบราณให้ผู้อื่นทราบ คำตอบของเขากลับเป็นคำถาม (เช่นที่มักกระทำเสมอ ๆ) "คิดว่าคนอื่นเขาโง่หรือ ?"
      ดังนั้น เมื่อเข้าไปในเมืองโบราณ ผมรู้สึกว่า "ท่านเจ้าเมือง" คงต้องการให้ความสนใจของผู้มาชม ไปอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่ตา เพื่อให้บังเกิดความซึมซับรับรู้ด้วยใจ โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาเท่าไหร่ หรือใครสร้าง
      นี่อาจเป็นเหตุให้หนังสือนำเที่ยวเมืองโบราณทุกรุ่น ที่เคยทำกันตลอดเวลาเกือบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมี (หรือไม่อาจมี) ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับประวัติการก่อสร้าง และประวัติคุณเล็กเลย
      ผมคิดว่าตัวตนของเขา ได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเมืองโบราณ นั่นคือถ้าคิดว่ามีก็มีอยู่ แต่ถ้ามองหาก็ไม่พบ เหมือนกับตัวของเขา ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินไปเดินมาอยู่ในนั้น โดยไม่มีใครคาดคิดว่าชายชราที่ใส่เพียงเสื้อเชิ้ตกับกางเกงขายาวสีเทา สวมรองเท้าแตะ นั่นแหละคือ "เสี่ยเล็ก" เจ้าของเมืองโบราณ

      ไม่ถึง ๑๐ ปีมานี้ เมืองโบราณขยายพื้นที่ต่อออกไปทางตะวันตกอีก เกือบ ๓๐๐ ไร่ บริเวณนี้ คนในเมืองโบราณจะเรียกกันว่า "ปลายนา" ที่ปลายนานี้ เสี่ยเล็กได้ให้เนรมิตสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม เสาชิงช้า สะพานสายรุ้ง เรือสำเภาโบราณ ศาลาพระอรหันต์ ๕๐๐ หรือแม้แต่กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค
      สิ่งที่เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากความคิดคำนึงทางศาสนา และปรัชญาของตัวเขาเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่จริงในประเทศไทย เช่นในตัวเมืองโบราณเดิมอีกต่อไป
      หนึ่งในบรรดาผลงานจากจินตนาการของคุณเล็กก็คือ "เขาพระสุเมรุ" ซึ่งตั้งอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่
      แวบแรกที่เห็น ใคร ๆ ก็คงรู้สึกได้ว่าเขาพระสุเมรุของเมืองโบราณ เป็นสถาปัตยกรรมแปลกประหลาดอันหนึ่ง มีสะพานคดเคี้ยวทอดไปยังเกาะน้อยกลางน้ำ ที่มีปลาตัวใหญ่นอนอ้าปากขดตัวอยู่รอบ ๆ บนเกาะนั้นมีศาลาหน้าตาแปลก ๆ หลังหนึ่ง ประดับด้วยรูปเทวดานางฟ้าอยู่ทั่วไป
      เขาพระสุเมรุในเมืองโบราณนี้ สร้างตามความในคัมภีร์ไตรภูมิที่ว่า บนยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นหลักแก่จักรวาลนั้น คือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีพระอินทร์เป็นเทพสูงสุด ผสมกับความเชื่อพื้นเมืองของไทย ที่ว่ามีปลาอานนท์หนุนแผ่นดินโลกอยู่
      ทว่า ณ ศูนย์กลางของวิมานไพชยนต์บนเขาพระสุเมรุของเมืองโบราณนั้น กลับเป็นทิพยอาสน์ว่างเปล่า
      เล่ากันว่า จุดมุ่งหมายของคุณเล็กในการสร้างเขาพระสุเมรุแบบนี้คือ เขาตั้งใจจะให้ทุกผู้ทุกนามที่เห็น ได้ระลึกว่าพระอินทร์ผู้เป็นประธานแก่ปวงเทพนั้น มิได้เป็นตำแหน่งอมตะตลอดกาล  หากแต่ผันเปลี่ยนไปตามบุญกิริยาที่สะสมไว้ ฉะนั้น ผู้ใดก็ตาม หากกอปรด้วยกุศลกรรมหนักแน่นเพียงพอ ก็อาจขึ้นมาประทับบนบัลลังก์แห่งนั้น ณ จุดศูนย์กลางของจักรวาลได้
      นั่นคือถ้ามองหาว่าใครคือคนผู้นั้นก็ย่อมหาไม่พบ ตราบกระทั่งหยุด ตรึกตรอง จนฉุกใจคิดได้ว่า ก็เรา... คนที่ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ

      หลังจากคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ถึงแก่กรรมไม่กี่วัน มีจดหมายภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ส่งทางอีเมล มายังโฮมเพจของเมืองโบราณ (www.ancientcity.com) โดยไม่ระบุนามจริง คงลงท้ายมาเพียงว่า Yoko (โยโกะ?) ผมลองแปลเนื้อความในจดหมาย ได้เป็นภาษาไทยกระท่อนกระแท่นทำนองนี้

(คลิกดูภาพใหญ่) ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

      ฉันไม่แน่ใจว่าจดหมายฉบับนี้ควรส่งถึงใครดี แต่ฉันเพียงอยากขอแสดงความเสียใจ กับเมืองโบราณในการจากไปของคุณเล็ก... ฉันรู้สึกเสียใจกับประเทศไทย และกับโลกนี้ที่ต้องสูญเสียเขาไป... ฉันเสียใจมาก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ฉันอดไม่ได้ที่จะร้องไห้ออกมา ฉันเป็นขาประจำของเมืองโบราณมาตลอด... ยังจำได้ว่าเคยไปเที่ยวเมืองโบราณกับพ่อแม่ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แต่นึกรายละเอียด หรือความรู้สึกอะไรไม่ออกเลย จนเมื่อได้เข้าไปที่เมืองโบราณอีกครั้งกับเพื่อน ๆ ตอนเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ครั้งนั้นนั่นเองที่ทำให้ฉันหลงรักเมืองโบราณเข้าจริง ๆ จัง ๆ ... ถึงแม้ฉันจะไม่เคยมีโอกาสพบคุณเล็ก แต่เขาก็เป็นแรงดลใจให้แก่ฉันเสมอ "ความประสงค์การสร้างเมืองโบราณ" ที่เขาเขียน สิ่งที่เขาทำให้กับประชาชนในประเทศนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจของฉัน...

      มาถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าพูดถึง "เมืองโบราณ" สิ่งแรกที่ผมนึกถึงก็คือความเงียบ
ในเมืองโบราณนั้นเงียบจริง ๆ เกือบไม่มีเสียงอะไรเลย ถ้าลมพัดก็อาจมีเสียงใบไม้ไหวเสียดใบ หรือนาน ๆ ทีก็อาจจะแว่วเสียงนกกาจากยอดไม้ตรงโน้นตรงนี้
      ทว่าในความสงัดนี้เอง เราอาจยินเสียงของความฝันดังกึกก้องกัมปนาท
 

เกี่ยวกับผู้เขียน :

ศรัณย์ ทองปาน จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันประจำกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ เริ่มมีผลงานตีพิมพ์ในคอลัมน์ "มุมสะสม" มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ข้อเขียนขนาดยาวเรื่องล่าสุดใน สารคดี คือ "ปีที่เจ็บสิบสองของชีวิต : ประยูร อุลุชาฏะ" (พฤศจิกายน ๒๕๔๓)


(คลิกดูภาพใหญ่)
เล็ก วิริยะพันธุ์
บุตรนายชีเซ็ง และนางเต่ง
เกิดที่จังหวัดพระนคร เมื่อปีขาล ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๗
อายุ ๑๗ ปี (ราว ๒๔๗๔) เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
อายุ ๒๒ ปี (ราว ๒๔๗๙) กลับมาเมืองไทย รับช่วงกิจการร้านขายยาเทียนแซตึ๊ง สืบต่อจากบิดา
ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น ออกหนังสือพิมพ์จีน กวงหัวป่อ ที่ถนนพาดสาย
๒๔๘๒ สมรสกับประไพ วิริยะพานิช บุตรสาวขุนวิจารณ์พานิช (ชุ่ม) เจ้าของบริษัทวิริยะพานิช
๒๔๘๕ ร่วมก่อตั้งธนาคารมณฑล และทำหน้าที่เป็น "กอมประโดร์" ดูแลด้านสินเชื่อ (ภายหลังธนาคารมณฑลควบรวมกิจการกับธนาคารเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารกรุงไทย)
๒๔๙๐ ก่อตั้งบริษัทอาเซียพานิชการ (ต่อมาคือบริษัทวิริยะประกันภัย)
๒๔๙๒ ซื้อกิจการของบริษัทธนบุรีพานิช
๒๔๙๓ ก่อตั้งบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์
๒๕๐๖ เริ่มการก่อสร้างที่เมืองโบราณ บางปู
๒๕๑๕ เปิดเมืองโบราณอย่างเป็นทางการ
๒๕๑๗ ก่อตั้งวารสารเมืองโบราณ
๒๕๒๔ เริ่มก่อสร้างปราสาทไม้ที่พัทยา
๒๕๓๗ เริ่มก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
(คลิกดูภาพใหญ่)

เสี่ยเล็กที่เคยสัมผัส

      เสี่ยเล็กที่ข้าพเจ้ารู้จักและเคยสัมผัสในที่นี้คือ การคุ้นเคยในด้านศิลปวัตถุและโบราณสถานต่าง ๆ เพราะในช่วงระยะหลังของอาเสี่ย ได้อุทิศชีวิต เวลา กำลังกายและใจให้แก่ศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทย ทำคุณประโยชน์แก่การอนุรักษ์อย่างอเนกประการ ตั้งแต่ได้รู้จักกับอาเสี่ยประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นับได้เป็นเวลา ๓๐ ปีปลาย ๆ ๔๐ ปีต้น ๆ มากกว่าครึ่งอายุคนบางคน ใคร ๆ เขาว่าอาเสี่ยดุลูกน้อง ลูกน้องหรือผู้ร่วมงานกลัวอาเสี่ย เพราะอาเสี่ยมุ่งแต่งานให้เสร็จเร็ว ๆ เลยบางครั้งก็มีเสียงดัง แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งจะได้ยินเสียงอาเสี่ยพูดประชด ผู้ร่วมงานที่ทำงานพลาด แต่ก็ไม่เคยเห็นมีใจเจ็บเอามาคิดเป็นอารมณ์ เพราะคนเราไม่ใช่ผู้ละได้ ทุก ๆ คนยังเป็นปุถุชนที่ยังหวั่นไหวอยู่ เห็นอาเสี่ยเป็นคนง่าย ๆ สมถะ เรือนที่พักอยู่ในเมืองโบราณ เป็นธรรมชาติแบบชาวบ้านคนไทยธรรมดา ๆ มีคนเคยช่วยอย่างไรก็อย่างนั้น อาหารการกินก็ง่าย ๆ ตอนบ่าย ๆ จะมีถั่วเขียวต้มน้ำตาลรสอ่อน ๆ กล้วยปิ้งสองลูก
      ผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้ามาสัมผัสอาเสี่ยก็คือ ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) การทำเมืองโบราณระยะต้น ๆ ตั้งแต่เป็นทุ่งนาโล่ง ๆ การร่วมงานนั้นตัวเองไม่ได้เป็นผู้สำคัญใด ๆ เป็นเพียงเพื่อนคุย และขัดคอถ้าไม่เห็นด้วย เข้าไปบ้างไม่ไปบ้างตามอารมณ์ ตอนระยะหลังไม่ไปเลย เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ไปเมืองโบราณ ได้คุยกับอาเสี่ยนิด ๆ หน่อย ๆ และก็ลากลับ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรทุกอย่าง มีเกิดแล้วก็มีดับ ได้รับทราบอีกทีก็ทางโทรศัพท์ถึงการจากไปของอาเสี่ย ได้ยินแล้วก็ใจหาย ทำให้ขาดคนที่จะเถียงกันอย่างออกรสเท่าเทียมกัน และไม่เคยผิดใจกัน
      อาเสี่ยและทีมงานที่อาเสี่ยได้ทุ่มเทก็คือ งานรังวัดรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนการอนุรักษ์วิถีชีวิตไทย ๆ จะยังคงอยู่นานเท่านาน เป็นประโยชน์มหาศาลที่มีคุณค่ายิ่ง
      ขอดวงวิญญาณของอาเสี่ยหรือคุณน้าผู้ชาย ประสบแต่สุคติในทิพยวิมานเทอญ
      ลาก่อนอาเสี่ย คุณน้าผู้ชายผู้เป็นเสมือนสหายอาวุโส (รุ่นพ่อ) ทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมไทย

            ขอคารวะด้วยความเคารพรัก
            เสนอ นิลเดช


(คลิกดูภาพใหญ่)

คุณเล็ก ผู้ยิ่งใหญ่

      ใคร ๆ เรียกท่านว่า "เสี่ยเล็ก" ท่านบอกผมว่าท่านไม่ใช่เสี่ย เพราะถ้าเป็นเสี่ยก็ต้องใช้เงิน เพื่อหาความสบายให้ชีวิต ท่านว่าท่านเป็นลูกจ้าง เป็นลูกจ้างของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในโลก ต้องทำงานตั้งแต่เกิดไปจนตาย และงานที่ท่านเลือกแล้ว คือการใฝ่รู้และสร้างสรรค์งานศิลป์ เท่าที่กำลังความสามารถของตัวจะทำได้
      สำหรับผมซึ่งมีโชคดีที่ได้พบ และมีความคุ้นเคยกับท่านพอจะเข้าใจว่า เป็นความจริงที่ใคร ๆ เรียกท่านว่า "เสี่ยเล็ก" ท่านเข้าใจวิธีสร้างฐานะด้วยสติปัญญา ความขยัน และความสุจริต ท่านเล่าว่า เมื่อท่านขอนามสกุลกับพระสงฆ์อาวุโสรูปหนึ่ง พระให้ท่านใช้นามสกุล วิริยะพันธุ์ เพราะแม้แต่พระก็รู้ว่าคุณเล็กเป็นคนขยัน
      ท่านจะเป็น คุณเล็ก หรือ เสี่ยเล็ก ก็ตาม สำหรับผมซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ท่านเมตตาให้ความคุ้นเคย เป็นเหมือนเพื่อน (คุย) เป็นเหมือนน้องชาย เพราะท่านมีอาวุโสกว่าผมในทุก ๆ ด้าน เป็นนายจ้าง เพราะท่านเคยให้เงินเดือนผมอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อแลกกับรถยนต์เมอร์ซีเดส ๒๘๐ ที่ผมอยากได้ ตามประสาคนรสนิยมสูงแต่กระเป๋าเบา การได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านระยะหนึ่ง ทำให้ผมอยากสรุปว่า คุณเล็กนั้นไม่ใช่คนเล็ก ท่านเป็นอะไรทุกอย่างที่คนอยากเป็น แต่เป็นไม่ได้พร้อม ๆ กัน ท่านเป็นเศรษฐี แต่จะหาเศรษฐีที่เป็นนักปราชญ์อย่างท่าน คงมีอยู่ในโลกไม่กี่คน และในจำนวนไม่กี่คนนั้น ถ้าจะหาเศรษฐีที่ทำมาหากินด้วยสติปัญญา ภูมิธรรม ความรู้ ความขยัน สุจริต โดยมีความคิด และคำพูดเป็นนักปราชญ์ และเป็นนักศึกษาที่รอบรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวกับศิลป์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในด้านโบราณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม รวมกันอยู่ในตัวตนเพียงคนเดียวอย่างท่าน ผมเองรู้จักคนมามากมายในโลก ใครจะมีคุณสมบัติครบถ้วนอย่างท่านไม่มีอีกแล้ว
      ที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านเป็นผู้มีรสนิยมสูงในงานศิลป์ทุกด้าน เพราะความคิดอ่านการรังสรรค์งานศิลป์ต่าง ๆ ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของท่าน ที่ท่านใช้สายตา ใช้ปัญญา ใช้สมาธิ ใช้เวลาแรมสิบ ๆ ปีของชีวิตคลุกอยู่กับ อิฐ หิน ปูน ทราย ไม้ และเหล็ก ด้วยทุนทรัพย์ของตนเองและความตั้งใจสร้างสรรค์เมืองโบราณที่บางปู ช้างเอราวัณที่ปากน้ำ ปราสาทมหัศจรรย์แห่งยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๙ ที่พัทยา และโดยมิได้มีความปรารถนาที่จะได้สิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะมอบไว้เป็นสมบัติอันมีค่าของมนุษยชาติ
      ท่านจากไปแล้ว ท่านจากไปแต่ร่างกาย แต่ผมเชื่อมั่นด้วยอาศัยคำสนทนาอย่างใกล้ชิดกับท่านหลายครั้งหลายหนว่า จิตวิญญาณของท่านมิได้จากไปไหน ท่านคงวนเวียนอยู่ในจิตใจของผู้ที่รู้จัก และเข้าใจสิ่งที่ท่านปรารถนาอย่างลึกซึ้งอยู่ในใจ
      คุณเล็กที่ไม่เล็ก เป็นผู้ที่คนไทยและชาวโลกควรจะได้รู้จัก ผมระลึกเสมอว่าท่านเคยพูดว่า
      "ยามสังคมการเมืองของเราเกิดปั่นป่วน
      เราควรทิ้งความสงบสุขส่วนตัว
      ไปยืนตระหง่านบนยอดภูเขาแห่งมนุษยธรรม
      ยอมรับการจู่โจมของลมหนาว
      อุทิศชีวิตของเราให้เป็นไป
      เชิดชูคบไฟแห่งการกอบกู้ชีวิตมนุษย์
      ส่องทางอันรุ่งโรจน์ให้แก่คนที่กำลังดิ้นรน
      ท่ามกลางความทุกข์ร้อน

      ขอให้ผลงานของคุณเล็ก เป็นอมตะ... ขอให้ชื่อและชีวิตของคุณเล็กเป็นอมตะ เป็นคบไฟส่องทางให้คนที่กำลังดิ้นรน ท่ามกลางความทุกข์ร้อน ที่กำลังคุกรุ่นอยู่บนแผ่นดินไทยที่ท่านรัก แม้นท่านจากไปแล้ว

            ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง
            พิชัย วาศนาส่ง


(คลิกดูภาพใหญ่)

คุณเล็กที่ข้าพเจ้ารู้จัก

      นับตั้งแต่คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ได้สร้างสถาบันศิลปะโบราณ ของเมืองไทยในที่ดิน ณ ตำบลบางปูใหม่ และใช้ช่างจากสถาบันมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้มาร่วมงานกันจัดทำให้สมส่วน จนสามารถบรรจุลงในแปลนซึ่งได้เตรียมการไว้ อย่างไรก็ดี การดำเนินการส่วนใหญ่อยู่ในความอำนวยการของคุณเล็ก มีการสร้างโบราณสถาน ที่ขึ้นชื่อลือชาเป็นที่รู้จักกันเช่น พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท จากซากที่เห็นร่องรอยหรือแนวจากรากฐานของจริง ซึ่งเหลือแต่ฐานปูนเป็นร่องรอยไว้ให้เห็น จากนั้นได้เนรมิตภาพจากจินตนาการ จากกลุ่มผู้ทรงความรู้ร่วมกัน ก่อสร้างขึ้นมาเป็นฐานปราสาท เสา ตัวปราสาท มุขเด็จ และดูโบราณวัตถุของจริง ในสมัยเดียวกันมาประกอบ ซึ่งโดยแท้จริงไม่มีเหลือแล้ว นอกจากการเดาที่เรียกว่า reproduction ขึ้นเป็นภาพฝันร่วมกัน โดยเอาแบบอย่างของจริงแต่โบราณ เช่น จากรูปทรงธรรมาสน์ และคำพรรณนาของจริงจากหลักฐานในเอกสารต่าง ๆ เช่น ธรรมาสน์อยุธยาจากที่ต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันโดยมิให้ผิดเพี้ยนจากของโบราณ การคลำโดยแบบอย่างของธรรมาสน์อยุธยา ที่ลอกมาจากปราสาทของจริง เช่นธรรมาสน์จากศาลาการเปรียญ วัดพระศรีมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ธรรมาสน์อยุธยาที่เด่น ๆ ในจำนวนหลายสิบแห่ง เช่น หลังคาพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเอาแบบอย่างมาจาก ธรรมาสน์พิษณุโลก และวัดเชิงท่า มีบราลี และเนรมิตคันทวยช่างสมัยอยุธยาตอนต้น เช่นทวยคชกฤชจากวัดหน้าพระเมรุอยุธยา หลังคามุขหน้าและหลัง นำแบบมาจากวัดราชบรรทม แม่น้ำป่าสัก และหลังคาธรรมาสน์วัดเชิงท่า กระเบื้องหลังคาลูกฟูกเป็นกระเบื้องลอน มีกระเบื้องเชิงชายคา คุณเล็กได้วินิจฉัยร่วมกับนายช่างสถาปนิก และศิลปินผู้มีความรู้ และฝีมือ คัดเลือกส่วนประกอบดังกล่าว มาจากแบบครูสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนแบบประตูหน้าต่างมีหลักฐานว่านำมาแก้ไขโดยศิลปะอยุธยารุ่นหลัง
      การทำคันทวยเป็นของรุ่นหลังเช่นกัน ซึ่งจำเป็นที่ผู้เขียนแบบ จะต้องมีความรู้ดีในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในแต่ละสมัย ตัวอย่างนี้เห็นได้จากศิลปะแบบโบราณ แบบรุ่นหลังกว่านำมาผสมผสานกัน ถ้าไม่รู้จักแยกแยะก็ทำให้หลงไปได้ง่าย ดังนี้คงจะเห็นได้ว่า ผู้ทำการลอกแบบของเดิม จำเป็นจะต้องพินิจพิจารณาแบบอย่างของแต่ละสมัย อะไรเป็นของเดิมและอะไรมาทำขึ้นทีหลัง
      เรื่องเช่นนี้จะเห็นว่าศาลาไม้หลังหนึ่ง ถูกรื้อมาจากวัดเลียบซึ่งเป็นของอยุธยาเดิม ด้วยแบบแผนศาลานั้นเก่ากว่ารัตนโกสินทร์ คุณเล็กได้นำศาลาเก่าที่รื้อแล้ว เอามาประกอบขึ้นใหม่ไว้ ณ ตรงด้านหลังของศาลาการเปรียญวัดใหญ่ เพชรบุรี เพื่อจะให้ดูเป็นการอนุรักษ์ของเก่าไว้ โดยให้ดูเป็นกลุ่มก้อนอันเดียวกัน ในพื้นที่ดังกล่าว นายช่างผู้ก่อสร้างเมื่อได้เห็นแบบ ก็รู้และเข้าใจว่าตรงเสาประกอบเป็นเก้าต้น ที่ใกล้หลังคาท่านได้รักษาของเดิมเอาไว้ แต่รู้จักฉลาดเอามาไว้ในหมวดเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ช่างรุ่นหลังได้เห็นฝีมือของโบราณ ไว้ว่ามีการแตกต่างกัน กับแบบของคนรุ่นหลังกว่านั้น
      ตรงศาลาไม้ใกล้กับของที่ซื้อมาจากของเก่าวัดเลียบ ท่านผู้เป็นนายช่างก็เอามาประกอบรูปศาลาขึ้นใหม่ ดังศาลาใกล้กับศาลาการเปรียญอยุธยาเป็นตัวอย่าง ผู้ที่ศึกษาฝีมือการช่างสมัยอยุธยา ก็จะได้ศึกษาแบบอย่างของอยุธยา ที่แปลกไปนั้น มีการแตกต่างจากฝีมือรุ่นหลังคือรัตนโกสินทร์ เรื่องเช่นนี้ผู้ที่สนใจในฝีมือการช่างรุ่นเก่าแต่ละสมัย เขามีเชิงช่างยักเยื้องศิลปะการช่าง ไม่ให้ดูซ้ำซ้อนกันแบบอย่างอันนี้
      น่านับถือคุณเล็กผู้อำนวยการช่าง ซึ่งท่านได้รวบรวมมาศึกษาการช่างแต่ละสมัย ผู้ที่มีนัยน์ตาในการช่างจะได้ศึกษาแบบโบราณ ด้วยว่าวิธีการเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คุณเล็กผู้อำนวยการสร้าง ได้คัดเลือกเอามาอนุรักษ์เก็บไว้ ของอย่างนี้ถ้าไม่เก็บงำไว้ให้นักศิลปะการช่างได้ศึกษากัน หรือรื้อทิ้งไปก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ผู้ที่สนใจในการช่างจะต้องมีตาสูง ดังเช่นบันไดทางขึ้นปราสาทไม้ที่พัทยานั้น เป็นศิลปะแบบแผนทวารวดีตอนปลาย มีความแตกต่างจากรูปศิลา ที่เรียกว่าอัฒจันทร์ เรียกสั้นว่าศิลาพระจันทร์ครึ่งซีก สมัยทวารวดีตอนต้น เมื่อเทียบกับอัฒจันทร์สมัยทวารวดีตอนปลาย ซึ่งคุณเล็กได้เห็นมาไว้ ทำให้เรารู้ว่าแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านผู้เป็นช่างก็ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถจะได้เห็น เชิงฝีมือการช่างของคนโบราณว่า ท่านมีฝีมือที่จะแก้ไขแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว สิ่งที่ออกแบบไว้อย่างดีในเมืองโบราณนั้น จะได้เห็นฝีมือ และความคิดของการช่างแต่ละยุคแต่ละสมัย เป็นเรื่องที่น่าจะต้องค้นคว้า ในประวัติศาสตร์ศิลป์แห่งชาติ ของบางอย่างถ้าเราไม่รู้จักพินิจพิจารณาก็เป็นการเสียเปล่า คุณเล็กเจ้าของเมืองโบราณ ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้า และเก็บเอาแบบแผนไว้ ดังที่เราได้เห็นกันในขณะนี้
      จากสิ่งก่อสร้างสมัยโบราณ ที่คุณเล็กได้ศึกษาไว้ ดังจากตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่ง ตรงหลังคาพระที่นั่งหลังหนึ่ง โดนพายุสาดจนฝนรั่ว กรณีเช่นนี้ทำให้นึกถึงข้อวินิจฉัยของคุณเล็กว่า ท่านได้แก้ไขในปีต่อมา ฝนที่สาดนั้นได้ถูกแก้ไขจนดีขึ้น กรณีเช่นนี้เคยมีผู้เขียนเล่าถึงพระที่นั่ง ๕ ยอด หรือพระที่นั่งศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เคยมีกรณีหลังคาถูกฝนสาดจนรั่ว เพราะพระที่นั่งหลังหนึ่ง มีการสร้างยอดเรียกว่า พระที่นั่ง ๕ ยอด ในปลายรัชกาลที่ ๕ บรรดาช่างก็ได้แก้ไข โดยเขียนรายงานหลังก่อสร้างไว้ว่า การทำหลังคาพระที่นั่งจะต้องศึกษาแบบแผนกันอย่างสุขุมประณีต กรณีเช่นนี้ เมื่อเกิดขึ้นกับเมืองโบราณท่านผู้เป็นเจ้าของเมืองโบราณ คงจะนึกถึงพระที่นั่งศิวาลัย จึงนำข้อเสียต่าง ๆ มาแก้ไขหลังคาในเมืองโบราณจนดีขึ้น เห็นได้ว่าคุณเล็กผู้อำนวยการช่าง เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ โดยรู้จักการแก้ไข สิ่งที่เสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้ดีขึ้น และเป็นผู้ที่ทำงานด้วยความตั้งใจจริงตลอดเวลา
            น. ณ ปากน้ำ


(คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารเพิ่มเติม

      - หลังจากคุณเล็กถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ มีข่าวลงในหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันรุ่งขึ้น เช่น มติชน ("พระราชทานน้ำอาบศพ "เล็ก วิริยะพันธุ์" เจ้าของเมืองโบราณ-สิ่งมหัศจรรย์โลก") และ ข่าวสด ("สิ้นแล้ว "เสี่ยเล็ก เมืองโบราณ" รูปปั้น "ช้าง ๓ เศียร" เจ้าสัวเบนซ์คนดังสิ้นลมสงบ")
      - ข้อความที่เป็นตัวหนา ตัดตอนมาจาก "ความประสงค์การสร้างเมืองโบราณ" หรือที่บางครั้งใช้เพียงว่า "ความประสงค์" มีพิมพ์อยู่ในหนังสือนำเที่ยวเมืองโบราณ แทบทุกฉบับทุกรุ่น
      - ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องธนาคารไทย (ธนาคารมณฑล) ตลอดจนการควบกิจการกับธนาคารเกษตร ได้มาจาก หนังสือที่ระลึกในโอกาสเปิดอาคารสำนักงานใหญ่  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (D&S ๒๕๒๕)
      - ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของธนบุรีพานิช ในช่วงก่อนที่คุณเล็กจะซื้อกิจการ ได้มาจากโฆษณาบริษัทที่ลงตีพิมพ์อยู่ใน The Siam Directory 2491 (1948) (Thai Company 1948) p. 34
      - เรื่อง "เมืองเนรมิตที่บางปู" ของ น. ณ ปากน้ำ พิมพ์ครั้งแรกใน ชาวกรุง มิถุนายน ๒๕๑๔ ภายหลังรวมเล่มในชื่อ ศิลปไทยตามวัด (โอเดียนสโตร์ ๒๕๑๕) ข้อเขียนอื่น ๆ เกี่ยวกับเมืองโบราณ ในระยะเริ่มแรก ได้แก่ "เมืองโบราณที่บางปู" โดยคณิตา เลขะกุล อนุสาร อสท. ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
      - อาจลองดูประวัติและผลงานของ "พวกศิลปากร" บางท่านที่เคยทำงานให้กับเมืองโบราณ ในหนังสืออนุสรณ์ หรือหนังสืองานศพของท่านเหล่านั้น เช่น อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสนั่น ศิลากรณ์ (พิฆเณศ ๒๕๒๙) อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายไกรษร ศรีสุวรรณ (วิสคอมเซ็นเตอร์ ๒๕๓๖)
      - รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนเล่าเรื่องประวัติการทำงานของคุณพ่อ - อาจารย์มานิต วัลลิโภดม กับเมืองโบราณ ใน รอยต่อทางโบราณคดีจากความทรงจำ (เมืองโบราณ ๒๕๓๑)
      - รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบ ก่อสร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในเมืองโบราณ อาจดูได้ใน พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และ มานิต วัลลิโภดม (เมืองโบราณ ๒๕๓๘)
      - บทสัมภาษณ์ "นายห้าง" ประไพ วิริยะพันธุ์ (น่าจะเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว) คือ "หลังชั่วโมงทำงาน ประไพ วิริยะพันธ์ ผอ. เมืองโบราณ" ใน ประชาชาติธุรกิจ ไลฟ์-สไตล์ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙
      - หนังสือนำเที่ยวเมืองโบราณที่อ้างถึง ได้แก่ เที่ยวเมืองโบราณ (Allied Printers ไม่ระบุปีพิมพ์) นำเที่ยวเมืองโบราณ (โรงพิมพ์พิฆเณศ ๒๕๒๐) เมืองโบราณ: สำนึกทางวัฒนธรรมที่เหนืออื่นใด (เมืองโบราณ ๒๕๒๙)นำเที่ยวเมืองโบราณ (เมืองโบราณ ๒๕๓๙) และหนังสือนำเที่ยวเมืองโบราณ ฉบับนักเรียน (เมืองโบราณ ๒๕๔๐)
      - อาจดูคำอธิบายแนวความคิด ในการสร้างเมืองโบราณใน เมืองโบราณ การสืบสานอารยธรรมสยามประเทศ โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (เมืองโบราณ ๒๕๔๒)
      - ประวัติเล็ก วิริยะพันธุ์ อย่างย่อ ๆ มีอยู่ใน สูจิบัตรปูชนียบุคคลดีเด่น ทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ส่วนใน พลอยแกมเพชร ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๗๙ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ก็มีเนื้อหาหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับคุณเล็ก และผลงานต่าง ๆ ของเขา รวมทั้งอาจดูเรื่องเล่าอื่น ๆ เกี่ยวกับ "เสี่ยเล็ก" ได้ใน ชีวิตนอกวัง ๑ ของ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ (ศรีสารา ๒๕๔๐)


(คลิกดูภาพใหญ่)

ขอขอบคุณ

คุณกฤตวิทย์ ศรีพสุธา
คุณกุลยา บุณยโชติ
คุณด่อน บุนนาค
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ
คุณปรีชา ต่อวงษ์
คุณปรีชา วิบูลย์ศิลป์
คุณพิจารณ์ วิริยะพันธุ์
คุณพิชัย วาศนาส่ง
รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์
รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม
คุณศิริรักษ์ รังสิกลัส
ศ. พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ รน.
คุณสุวพร ทองธิว
รศ. เสนอ นิลเดช