นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๓ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

จากหนังตะลุงถึงโทรศัพท์มือถือ

อาวุธบ่อนเซาะอำนาจรัฐในอุษาคเนย์

อัมพร จิรัฐติกร
ampornfa@yahoo.com
 
 
        ในช่วงที่ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ยังดำรงตำแหน่งผู้นำของฟิลิปปินส์อยู่นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ฮิตมาก ในหมู่คนทุกระดับ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (text messaging)
(คลิกดูภาพใหญ่)       การส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนฟิลิปปินส์ในทุก ๆ ด้าน แม้กระทั่งเมื่อประชาชนเกิดเบื่อหน่ายผู้นำของเขา แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ พวกเขาก็ระบายออกด้วยการ ส่งโจ๊กล้อเลียนประธานาธิบดีเอสตราดา หรือ "อีแหรป" ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
      "ด่วน ! กบฏอาบูไซยาปจับอีแหรปไปเป็นตัวประกัน เรียกร้องค่าไถ่จำนวนมหาศาล ถ้าหากไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ พวกกบฏขู่ว่าจะปล่อยตัวประกัน"
      หรืออย่าง Headline News เรื่องนี้
      "ข่าวด่วน ! นับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันแรกที่อีแหรปเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี การเล่าเรื่องโจ๊กของอีแหรป ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ถือเป็นความผิด แต่อย่างไรก็ตามการแสดงสด (live performance) มีให้ชมได้ทุกวันที่ทำเนียบมาลากันยัง"
      หรือแม้กระทั่งล้อว่าอีแหรป ใช้เพจเจอร์ไม่เป็น
      วันหนึ่งอีแหรปโทรศัพท์เข้าไปที่เพจเจอร์ ๑๕๐ โอเปอเรเตอร์รับสายถามข้อความที่จะส่ง
      อีแหรปรีบบอกหมายเลขและข้อความ "จิงกอย (ชื่อลูกชายอีแหรป) แกลืมเพจฯของแกไว้ที่ฉัน"
      !?!
      แม้ว่าในระหว่างเป็นประธานาธิบดี เอสตราดาจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรนัก กับการส่งต่อโจ๊กล้อเลียนเขาผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ถึงวันนี้เอสตราดาคงได้รับบทเรียนครั้งใหญ่แล้วว่า อานุภาพของโทรศัพท์มือถือนั้นมีจริง
      เพราะตัวเขาเองก็ถูกไล่ลงจากบัลลังก์ประธานาธิบดี ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเจ้าเครื่องมือสื่อสารเล็ก ๆ เครื่องนี้นี่เอง
(คลิกดูภาพใหญ่)       กล่าวกันว่าการรวมตัวกันของฝูงชนจำนวนหลายแสน ที่หน้าโบสถ์เอ็ดซา กลางกรุงมะนิลาในค่ำคืนของวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา นั้นสำเร็จได้ด้วยพลังของโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือไฮเทคของโลกยุคใหม่นี่เอง
      นิตยสาร Time และ Newsweek กล่าวว่า การรวมพลังครั้งนี้เป็น "Cellphone Revolution" เลยทีเดียว
      เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ เมื่ออดีตผู้ว่าราชการคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของเอสตราดาเปิดโปงว่า เอสตราดารับเงินสินบนก้อนโต จากบ่อนการพนันเถื่อน แถมโกงกินเงินกองทุนของรัฐบาลอีกด้วย
      กระบวนการสอบสวนเพื่อถอดถอน (impeachment) เอสตราดาเริ่มต้นขึ้น แต่จบลงด้วยการที่วุฒิสมาชิก ๒๑ คน ซึ่งทำหน้าที่ผู้พิพากษาในการถอดอีแหรปออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาคอร์รัปชัน และรับสินบนลงมติด้วยคะแนนเสียง ๑๑ ต่อ ๑๐ ห้ามไม่ให้อัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ตรวจสอบบัญชีลับในธนาคารของเอสตราดา ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญ ที่จะมัดตัวประธานาธิบดีว่าโกงกินประชาชน ไปฝากเงินในชื่อปลอมถึง ๓,๓๐๐ ล้านเปโซ
      การตัดสินครั้งนี้เท่ากับเป็นการช่วยให้เอสตราดาพ้นผิด อันดูจะเป็นเรื่องปรกติของการเมืองแบบอุษาคเนย์ อัยการทั้งหมดจึงประท้วงด้วยการลาออก ทำให้กระบวนการอิมพีชเมนต์คว่ำลงไม่เป็นท่า
      แต่เรื่องไม่จบลงแค่นั้น นาทีที่กระบวนการอิมพีชเมนต์จบลงด้วยผลเช่นนี้ ข้อความนับหมื่นนับแสนที่แสดงความโกรธแค้น และประนามวุฒิสมาชิก ๑๑ คนที่ออกเสียง ไม่ให้เปิดซองบัญชีลับของเอสตราดา ก็ถูกส่งผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
      และหลังจากนั้นไม่นาน ข้อความก็ส่งต่อ ๆ กันไปเพื่อเรียกร้องให้ทำอะไรสักอย่าง แทนที่จะอยู่เฉย ๆ เช่น ให้ติดป้ายคำว่า Guilty ไว้ที่รถยนต์ทุกคัน และให้ใส่ชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ ให้แก่อวสานของประชาธิปไตย แล้วพอถึงเวลาประมาณสี่ทุ่ม ข้อความที่ว่า GO TO EDSA เรียกร้องให้ประชาชนไปรวมตัวกันที่โบสถ์เอ็ดซา กลางกรุงมะนิลาก็ปรากฏขึ้น และถูกส่งต่อ ๆ ไปเป็นลูกโซ่
(คลิกดูภาพใหญ่)       แล้วค่ำคืนนั้นที่โบสถ์เอ็ดซาก็คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนหลายแสน พวกเขาจุดเทียนขึ้น เพื่อส่องแสงให้กับความมืดมน ของระบบประชาธิปไตย การชุมนุมดำเนินไปด้วยความสงบ ผู้คนพากันตะโกน "อีแหรป ลาออกไป" และแน่นอนในการชุมนุมวันนั้น ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือ ตรวจสอบว่าเพื่อนฝูงของแต่ละคนอยู่ที่ไหนกันบ้าง ข้อความเหล่านี้เข้าไปติดพันกัน จนสถานีเครือข่ายต้องดีเลย์ข้อความ มีข้อความนับล้านที่ถูกส่งต่อกันในค่ำคืนนั้น ชายคนหนึ่งเล่าว่าเย็นวันนั้น เขาได้รับข้อความถึง ๑๕๐ ข้อความ มีทั้งข้อความประณามเอสตราดา โกรธแค้นวุฒิสมาชิก ๑๑ คน และข้อความเรียกร้องให้ไปที่โบสถ์เอ็ดซา
      นอกจากการรวมตัวกันที่โบสถ์เอ็ดซา กลางกรุงมะนิลาแล้ว ตามเมืองใหญ่ ๆ ของเกาะฟิลิปปินส์ ก็มีการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ นัดหมายให้ประชาชนไปรวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังขับไล่เอสตราดา ในค่ำคืนนั้นเช่นกัน
      แล้ววันรุ่งขึ้นหลังจากการรวมตัวครั้งใหญ่ของประชาชน อีแหรปก็ถูก "ปฏิวัติเงียบ" ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เปิดทางให้ กลอเรีย อาร์โรโย รองประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งแทน
      ผู้คนพากันเรียกการรวมพลังขับไล่เอสตราดาในครั้งนี้ว่า People Power II เพราะนี่เป็นครั้งที่ ๒ แล้วที่ชาวฟิลิปปินส์ออกมารวมพลังขับไล่ประธานาธิบดี ครั้งแรกนั้นเป็นการรวมตัว เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในฟิลิปปินส์ ให้เครดิตการรวมพลังของประชาชนในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะพลานุภาพของโทรศัพท์มือถือ หรือ texting power
      มันเกิดขึ้นอย่างไม่มีการวางแผนมาก่อน เพียง ๓-๔ ชั่วโมงหลังกระบวนการอิมพีชเมนต์จบลงเท่านั้น ประชาชนเรือนแสนก็ไปรวมตัวกันที่โบสถ์เอ็ดซา มันเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และรวดเร็วทันใจ เพราะเครื่องมือสื่อสารติดตามตัวที่สามารถส่งข้อความได้ถึงกันนี่เอง

      เป็นเรื่องน่าสนใจพอ ๆ กับน่าประหลาดใจที่พบว่า คนฟิลิปปินส์นั้นบ้าโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือที่เรียกว่าบริการแบบ SMS (Short Message Service)
      กล่าวได้ว่า ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่หนวกหูที่สุด ทั้งในชีวิตจริงและในโลกดิจิตอล
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุก ๆ วัน ข้อความจะถูกส่งผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือถึง ๓๒ ล้านข้อความ นั่นหมายความว่า ในแต่ละชั่วโมงมีข้อความมากกว่า ๑ ล้านข้อความ ถูกส่งต่อให้กันผ่านการให้บริการของบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัท คือ Globe Telecom และ Smart Communication Inc ประมาณกันว่าข้อความที่ส่งกันในประเทศฟิลิปปินส์ต่อปีนั้น มากกว่าที่ส่งกันในยุโรปทั้งทวีปเสียอีก
      นั่นทำให้ฟิลิปปินส์ กลายเป็นประเทศที่มีการส่งข้อความมากที่สุดในโลก
      ข้อความที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือนั้นก็มีตั้งแต่ถามข่าวคราว นัดหมาย บอกรักคู่รักของตน ไปจนถึงแพร่สะพัดข่าวลือและเล่าเรื่องโจ๊กล้อเอสตราดา
      คนฟิลิปปินส์นั้นช่างขยันหาขยันแต่ง เรื่องตลกของเอสตราดามาเล่าสู่กันฟังได้ทุกวัน ทุกคนจะพยายามแข่งกันคิดมุขใหม่ ๆ เพื่อทำให้เอสตราดากลายเป็นตัวตลกได้มากที่สุด โดยดึงจุดอ่อนของเขา ทั้งเรื่องใช้ภาษาอังกฤษไม่เก่ง มีเมียน้อย และขี้เมา มาสร้างเป็นเรื่องโจ๊ก
      แม้กระทั่งเรื่องระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ที่ในฟิลิปปินส์มีเพียงสองเจ้าใหญ่ ๆ เท่านั้นคือ Globe และ Smart คนฟิลปปินส์ก็ยังอุตสาห์คิดมุข มาตั้งเป็นคำถามว่า เหตุใดอีแหรปจึงเลือกใช้ Globe
      คำตอบก็คือ เพราะอีแหรปไม่ smart (อันแปลว่าโง่) นั่นเอง
      เล่ากันว่า วันดีคืนดีก็มีคนส่งข้อความมาเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือตำรวจ ที่อารักขาเอสตราดา มีข้อความว่า "อีแหรปตายแล้ว" ตามมาด้วยประโยคต่อไปว่า
      "ภาวนาอย่าให้นี่เป็นแค่เรื่องโจ๊กเลย"
      เอสตราดาเห็นข้อความนี้แล้ว ก็ถึงกับขำไม่ออกเลยทีเดียว
      สาเหตุที่ทำให้คนฟิลิปปินส์ใช้บริการ ส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือกันอย่างมากเช่นนี้ ก็คงเป็นเพราะในช่วงแรกของการเปิดตลาด บริการส่งข้อความผ่านหน้าจอมือถือนั้น บริษัทเปิดให้ส่งข้อความได้ฟรีโดยไม่คิดเงิน แม้ในระยะหลังจะเริ่มจำกัดจำนวน ให้ส่งได้คนละไม่เกิน ๑๐ ข้อความต่อวัน ข้อความที่เกินกว่านั้นจะถูกคิดค่าบริการ แต่มันก็ยังราคาถูกกว่าโทรออกจริง ๆ มาก
      แถมการส่งก็สะดวกสบาย เพียงแค่กดลงไปที่แป้นโทรศัพท์ ข้อความก็จะถูกส่งไปยังหมายเลขนั้นโดยตรง จะส่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอาราบิก ก็ย่อมทำได้ทั้งสิ้น
      นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือในฟิลิปปินส์ก็ถูกแสนถูก เครื่องหนึ่งราคาประมาณ ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น แถมส่งข้อความฟรีอีกด้วย คนฟิลิปปินส์จึงมีโทรศัพท์มือถือใช้กันถึง ๕ ล้านเครื่อง และทำสถิติส่งข้อความกันเป็นว่าเล่นถึงวันละ ๓๒ ล้านข้อความ
(คลิกดูภาพใหญ่)       สำหรับคนไทยแล้ว อุปสรรคที่ทำให้การบริการแบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ก็คงเป็นเพราะว่าการส่งข้อความนั้นต้องเสียเงินในอัตราที่แพงเท่า ๆ กับการโทรออกแต่ละครั้งเลยทีเดียว (๒-๕ บาท)
      หลังจากเหตุการณ์พลังประชาชนที่โบสถ์เอ็ดซาเกิดขึ้นแล้ว หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจถึงพลังอำนาจ ของโทรศัพท์มือถือในฐานะเครื่องมือทางการเมือง หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจของตัวกลางชิ้นนี้ว่ามันควบคุมได้หรือไม่
      ตัวอย่างของการใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความแพร่สะพัดข่าวลือว่า "โปปตายแล้ว" ในวัน April Fool's Day ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นเรื่องโกหก ที่สร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมากในฟิลิปปินส์ ที่นับถือคริสต์นิกายคาทอลิก ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ ต้องหันมาจับตามองมากขึ้นถึงความล่อแหลมของตัวกลางชิ้นนี้
      แม้แต่ในช่วงที่กระบวนการอิมพีชเมนต์ยังดำเนินอยู่ในสภา ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนไปถอนเงินจากธนาคารอีควิเทเบิล พีซีไอ ที่ถูกระบุว่ามีเงินฝากในชื่อปลอมของเอสตราดา ก็ถูกส่งต่อ ๆ กันไปนับหมื่นนับแสนข้อความ
      คนจำนวนมากรับข้อความที่มีคำพูดต่อท้ายว่า Pls pas dis (Please pass this) แล้วรีบลบทิ้งทันที แต่คนอีกไม่น้อยที่ส่งต่อมันไปให้เพื่อนฝูง คนรู้จัก และคนอีกไม่น้อยเช่นกันที่เดินไปถอนเงินที่ธนาคารแห่งนี้ บอกให้เรารู้ว่ามันมีพลังในการแพร่กระจายความคิดได้เป็นอย่างดี
      หลังข่าวลือเรื่องโปปตายระบาดในจอมือถือ บริษัทโทรศัพท์ก็ตัดสินใจลงโฆษณาเต็มหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์รายวัน เพื่อขอร้องลูกค้าของตนให้มีความรับผิดชอบในการส่งข้อความ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีใครควบคุม หรือเซ็นเซอร์การส่งข้อความเช่นนี้ได้ เพราะกฎหมายฟิลิปปินส์บัญญัติไว้ ห้ามมิให้มีการสอดแนม แอบดู หรือเซ็นเซอร์การสื่อสารของประชาชน
      หากจะมองว่าเสรีภาพในการส่งข้อความเช่นนี้ เป็นดาบสองคมก็คงได้ ต่อไปใครคิดจะชักชวนคนมาก่อม็อบล้มรัฐบาล ก็คงทำได้ง่าย ๆ แค่เริ่มต้นด้วยการส่งข้อความออกไปสักสิบยี่สิบข้อความ แล้วก็บอกให้ส่งต่อกันไป แต่มองให้ลึกลงไปแล้ว การมารวมตัวกันของคนจำนวนมากนั้น แม้จะอาศัยตัวกลางคือจอโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อ แต่อารมณ์และความรู้สึกร่วมของฝูงชน ที่โกรธแค้นในตัวประธานาธิบดีและวุฒิสมาชิก ๑๑ คนนั้นต่างหากที่เป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจที่จะทำเช่นนั้น
      คนฟิลิปปินส์คนหนึ่งบอกว่า เราจะไม่ยอมเงียบเสียงอีกต่อไป อย่างน้อยเราก็สามารถพิมพ์ข้อความส่งความคิด และความรู้สึกของเราออกไปได้
      ขอบคุณโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถส่งข้อความได้วันหนึ่งเป็นล้าน ๆ ข้อความ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์ในยุคดิจิตอลและไอทีเช่นนี้แล้ว ก็ให้รู้สึกเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะลองหันกลับไปมองว่า เครื่องมือหรือสื่อในการบ่อนเซาะอำนาจรัฐนั้นมีพัฒนาการมาอย่างไร และในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ สื่อที่สามัญชนใช้แสดงออกถึงความคิดของพวกเขานั้นมีอะไรบ้าง
      ตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน ในยุคที่สื่อสารมวลชนยังไม่พัฒนาก้าวหน้าดังเช่นทุกวันนี้ เมื่อรัฐบาลอยากจะประชาสัมพันธ์เผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐ พวกเขาจะใช้หนังตะลุงเป็นสื่อ เพื่อให้เข้าถึงคนในระดับชาวบ้านจริงๆ เพราะธรรมชาติของหนังตะลุงนั้นคือการเดินทางเคลื่อนย้ายไปเปิดวิกในที่ต่าง ๆ เมื่อเปิดการแสดงครั้งใด คนก็จะแห่กันมาดูทั้งหมู่บ้าน
      ช่วงที่ซูฮาร์โตปกครองประเทศใหม่ ๆ ช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ "ดาลัง" หรือนายหนังตะลุงจะถูกเรียกประชุมเพื่อแจ้งให้ทราบว่า พวกเขามีหน้าที่ที่จะต้องเผยแพร่นโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนครอบครัว การชักจูงให้ชาวบ้านทำตามนโยบายเกษตรต่าง ๆ ตามแต่รัฐจะคิดขึ้นมา
      อินโดนีเซียภายใต้ยุคของซูฮาร์โตนั้นสื่อทุกอย่างถูกคุมเข้ม นักหนังสือพิมพ์ที่อาจหาญวิจารณ์รัฐบาล ถูกจับเข้าคุกเป็นว่าเล่น นักเขียนถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ นิตยสารที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกปิด นักสร้างหนังและคนเขียนบทมีหน้าที่ จะต้องเสนอบทให้รัฐตรวจเซ็นเซอร์ก่อนที่จะสร้างได้ และแม้แต่การละเล่นหนังตะลุง ซึ่งโดยธรรมชาติของมัน คือการเดินทางย้ายไปเล่นตามที่ต่าง ๆ ก็ยังต้องรายงานตัวขอใบอนุญาติเดินทาง และใบอนุญาติเปิดวิกก่อนที่จะเปิดการแสดงได้
      แต่ชาวบ้านตามชนบทของอินโดนีเซียรู้ว่าแม้สื่ออื่นๆจะถูกปิดกั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่นายหนังกางจอขึ้นที่หมู่บ้าน พวกเขาก็จะต้องได้ยินอะไรเด็ด ๆ ขำ ๆ เกี่ยวกับนโยบายของรัฐเป็นแน่
      เมื่อการแสดงเริ่มต้นขึ้น ตัวตลกที่โดยธรรมชาติของรูปแบบการแสดงหนังตะลุงแล้วจะสามารถโผล่มาเมื่อไรก็ได้ ก็จะออกมาทำหน้าที่เสนอนโยบายของรัฐ พอเผลอๆ นโยบายของรัฐที่เสนอไปตั้งแต่ต้น ก็จะถูกเอากลับมาล้อเลียนด้วยน้ำเสียงท่าทางต่าง ๆ และด้วยความชาญฉลาดของนายหนัง ชาวบ้านหัวเราะกับนโยบายของรัฐที่ฟังดูงี่เง่าครั้งเดียว อำนาจรัฐก็ถูกบ่อนเซาะลงไปได้ในระดับหนึ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ตัวอย่างของหนังตะลุงที่ทำหน้าที่เป็นสื่อ ในการบ่อนเซาะอำนาจรัฐนั้น สังคมไทยก็มีให้เห็นเช่นกัน
      ในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัวตลกในหนังตะลุงแกล้งเคี้ยวหมาก แกล้งใส่หมวกตามธรรมเนียม "รัฐนิยม" หรือแกล้งพูดไทยกลางด้วยสำเนียงทองแดงแบบทางใต้ แค่นี้ชาวบ้านก็หัวเราะกันครืน แล้วรัฐนิยมของจอมพล ป. ก็ถูกบ่อนเซาะลงไปเหลือเพียงนโยบายปัญญาอ่อน ที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริงของชาวบ้าน
      การที่หนังตะลุงสามารถเป็นสื่อในการบ่อนเซาะทำลายอำนาจรัฐได้นั้น ก็เพราะธรรมชาติของมันอันเป็นสื่อ ที่คนดูคาดหวังว่าจะต้องทำหน้าที่ในการวิพากษ์รัฐบาล วิจารณ์พ่อค้าจอมงกในหมู่บ้าน หรือเสียดสีนักการเมือง ด่าข้าราชการที่ชอบวางอำนาจ ทั้งหมดนั้นจักต้องทำด้วยอารมณ์ขันของตัวตลก ที่จะสามารถโผล่ออกมาเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ทำลายเนื้อเรื่อง
      แล้วพอนายหนังตะลุงถูกตำรวจจับ เพราะยั่วล้ออำนาจรัฐ ชาวบ้านก็จะพากันบอกว่า นี่ไม่ใช่นายหนังพูด แต่เป็นตัวตลกพูดต่างหาก

      ในยุคต่อมา เมื่อหนังตะลุงหรือสื่อพื้นบ้านอื่นๆเริ่มลดบทบาทลงไป "สื่อสารมวลชน" อย่างวิทยุและโทรทัศน์ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสื่อเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นอาวุธของสามัญชน ในการสะท้อนความคิดต่ออำนาจรัฐ ได้ทุกครั้งทุกคราวไป
      ถ้าย้อนกลับไปดูหน้าประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่านับแต่สื่อสารมวลชนได้พัฒนาขึ้นมานั้น รัฐทุกรัฐในอุษาคเนย์ต่างก็ตระหนักถึงพลังของมัน ในการที่จะบ่อนเซาะอำนาจรัฐได้เป็นอย่างดี จึงมีการคุมเข้มสื่อมาตลอดห้วงประวัติศาสตร์
      การสั่งต้องห้ามหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ มีให้เห็นเป็นเรื่องปรกติในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย การควบคุม และเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเสมอมาในอุษาคเนย์
      แต่ไม่ว่ายุคใดก็ตาม แม้ว่าสื่อจะถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐ มันก็ย่อมจะมีช่องว่างเล็กน้อย ให้สามัญชนได้แสดงออกทางความคิดของตัวเอง
      ในยุคที่สังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำการปิดกั้นสื่อสารมวลชนทุกชนิด สื่อมวลชนทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ถูกใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ละเลย บิดเบือน และใส่ร้ายพลังประชาชน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ ก็ยิ่งทำให้ข่าวสารถูกปิดกั้นมากขึ้น แต่ยังดีที่เรามีการสื่อสารทางโทรศัพท์ และโทรสาร ที่ทำให้การปิดหูปิดตาของรัฐบาล ไร้น้ำหนักลงไป
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในอินโดนีเซีย ช่วงที่ซูฮาร์โตปกครองประเทศ เป็นเวลายาวนานถึง ๓๒ ปีนั้น สื่อสารมวลชนทุกชนิดถูกคุมเข้ม การแสดงออกทางการเมืองถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซูฮาร์โตปกครองประเทศมาได้ยาวนานถึง ๓ ทศวรรษ ส่วนหนึ่งก็ด้วยการคุมสื่ออย่างเข้มงวด
      แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น นิตยสารอย่าง Tempo ที่เคยมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจนถูกปิดยาวถึงสองปี ก็ย้ายตัวเองไปลงอินเทอร์เน็ต ทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อไป
      ในปี ๒๕๔๑ เมื่อประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศ โดยรัฐบาลของซูฮาร์โตมากขึ้นทุกที การรวมพลังมวลชนก็เกิดขึ้น ทั้งในกรุงจาการ์ตาและเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมดาน ยอกยาการ์ตา หรือสุราบายา
      และแม้ "อาวุธ" ในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา เพื่อกดดันให้ซูฮาร์โตลงจากตำแหน่ง จะเป็นก้อนหิน อิฐและไม้ก็ตาม แต่ "เครื่องมือ" ที่ทำให้นักศึกษาจำนวนมาก มารวมตัวกันได้ก็คือ warnet อินเทอร์เน็ตสาธารณะที่เป็นที่นิยมมาก ในอินโดนีเซียเมื่อสามปีก่อน warnet พบเห็นได้ทั่วไปตามเพิงร้านค้า ตามแหล่งชุมนุมชน ในอัตราค่าบริการที่แสนถูก ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเพิ่งตื่นขึ้นมา ทำความรู้จักกับอินเทอร์เน็ต คนอินโดนีเซียก็ใช้อินเทอร์เน็ตกัน เป็นที่แพร่หลายทั่วไปแล้ว
      นั่นเป็นเพราะความง่ายของภาษา Bahasa ที่เป็นโรมันไนซ์ คือใช้ตัวอังกฤษนั่นเอง และเพราะความถูกของอัตราค่าบริการ และเพราะการไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้ ทำให้ข้อความนัดชุมนุมประท้วง แพร่สะพัดออกไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
      การล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โตลงได้ในครั้งนี้ คนอินโดนีเซียให้เครดิตกับการเคลื่อนไหวของพลังนักศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ ถึงประสิทธิภาพของตัวกลางคืออินเทอร์เน็ต
      ด้วยอำนาจของอินเทอร์เน็ตอันเป็นสื่อสาธารณะนี่เอง ทุกวันนี้สิงคโปร์จึงมีกฎหมายคุมเข้มอินเทอร์เน็ต มีการยอมรับว่ารัฐบาลสอดส่อง ดูแลเพื่อมิให้มีการเผยแพร่ข้อความ อันอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้
      ประเทศที่กำลังเปิดรับสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเวียดนาม และลาวก็ดูเหมือนจะกังวลกับอำนาจความเป็นสื่อ ที่ไม่อาจควบคุมได้ของมัน มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลเวียดนาม ได้ขอคำแนะนำปรึกษาจากรัฐบาลสิงคโปร์ ในการเซ็นเซอร์ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐบาลด้วย
      ส่วนพม่านั้นลืมไปได้เลย สามัญชนธรรมดา ๆ ไม่มีสิทธิจะใช้อินเทอร์เน็ต หรือมีสิทธิได้ใบอนุญาตใช้อินเทอร์เน็ตจากรัฐบาลได้เลย นั่นเป็นเพราะรัฐบาลทหารพม่า ตระหนักถึงพลังอำนาจของเทคโนโลยีตัวนี้ ที่จะสามารถบ่อนเซาะอำนาจเผด็จการให้คลอนแคลนได้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       จากหนังตะลุง มาถึงโทรศัพท์บ้านและโทรสาร (ในยุคพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕) มาถึงอินเทอร์เน็ต (พฤษภา ๒๕๔๑ - ขับไล่ซูฮาร์โต) จนกระทั่ง Cellphone Revolution ในฟิลิปปินส์ ตัวกลางในแต่ละยุคได้ทำหน้าที่ของมัน ในการส่งเสียงของประชาชนออกไปสู่คนอื่น ทำหน้าที่ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง ที่จะถ่ายทอดความคิดของประชาชน ที่มีต่ออำนาจรัฐให้กระจายออกไป
      สื่อแต่ละชนิดจะทำงานอย่างได้ผลขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมัน และสถานการณ์แวดล้อมที่จะเอื้ออำนวย
      สิ่งที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่ทุกวันนี้ เราได้ก้าวเดินมาถึงยุคที่สื่อ ไม่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในมือคนคนเดียวอีกต่อไป แม้ในความเป็นจริงรัฐหลายรัฐในอุษาคเนย์จะสามารถควบคุม หรือเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตได้ แต่สื่ออย่างอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแบบส่งข้อความได้ ก็ยังคงถูกมองว่ามีอำนาจในการแพร่กระจายความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเวทีสาธารณะที่ใครจะเข้ามา "ส่งเสียง" ของตนออกไปก็ได้
      กรณีของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เมื่อสองปีก่อน ที่ลงภาพหญิงถูกข่มขืนเสียจนดูเหมือนภาพเปลือย หากเป็นเมื่อก่อน คนอ่านคงนิ่งเฉย ไม่คิดจะส่งเสียงอะไรออกไป แต่ในยุคไอทีเช่นนี้ หลายคนเลือกที่จะแสดงความคิดเห็นของตนออกทางอินเทอร์เน็ต
      และนั่นปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ออกมากล่าวยอมรับผิด ในบทบรรณาธิการวันรุ่งขึ้น
      ก้าวย่างของสื่อในฐานะตัวกลางสะท้อนความคิดของคน ที่มีต่ออำนาจรัฐในอุษาคเนย์เป็นเรื่องน่าสนใจ เว็บไซต์ของ อันวาร์ อิบราฮิม (http:/member.tripod.com/~Anwar-ibrahim) เว็บไซต์อย่าง www.freeburmacoalition.org , www.karen.org, www.cybercambodia.com/dachs (เว็บเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้รอดชีวิต จากการสังหารโหดของเขมรแดง), เว็บไซต์ต่างอีกมากมาย ที่สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เกิดขึ้นมาได้ก็ในยุคที่มีสื่ออย่างอินเทอร์เน็ตนี้เอง
      คำถามที่ว่ามันจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน มันจะมีพลังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ได้มากน้อยอย่างไร คงเป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไป