นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๓ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

เยี่ยมฟาร์มนกกระจอกเทศ ของ เสธ. หนั่น

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : รายงาน
สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ
 
        "คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คือผู้จุดประกายความคิด ในการทำฟาร์มนกกระจอกเทศให้ผม ท่านบอกผมว่า การเลี้ยงนกกระจอกเทศให้มูลค่าเพิ่มสูงสุด ในบรรดาสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย กล่าวคือ เลี้ยงนกกระจอกเทศตัวหนึ่งจนอายุประมาณ ๑๒-๑๓ เดือน จะมีน้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ชำแหละแล้วสามารถให้เนื้อได้ ๓๐ กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ ๕๐๐ บาท หนังของนกกระจอกเทศยังขายได้ผืนละ ๕,๐๐๐ บาท เปลือกไข่ก็ขายได้ฟองละ ๕๐๐ บาท รวมแล้วนกกระจอกเทศตัวหนึ่ง สร้างมูลค่าให้แก่เจ้าของ ประมาณ ๒ หมื่นกว่าบาท" พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งพาสื่อมวลชน มาดูฟาร์มนกกระจอกเทศ ที่สร้างขึ้นที่กิ่งอำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร หลังจากต้องยุติบทบาทการการเมืองชั่วคราว และหันมาสนใจด้านการเกษตรอย่างจริงจัง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปัจจุบัน ฟาร์มนกกระจอกเทศที่เพิ่งตั้งขึ้นมาไม่กี่ปีนี้ มีนกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ถึงประมาณ ๙๐๐ ตัว จัดเป็นฟาร์มนกกระจอกเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในฟาร์มแห่งนี้มีทุกอย่างครบวงจร นับตั้งแต่โรงเลี้ยง โรงเพาะไข่นก ไปจนถึงโรงชำแหละเนื้อ
      เนื้อนกกระจอกเทศนับเป็นเนื้อชั้นดี ราคาแพง ด้วยมีรสชาติอร่อยนุ่มลิ้นเหมือนเนื้อวัวเกรดดี แต่มีโคเลสเทอรอลน้อยกว่า ทุกวันที่ฟาร์มแห่งนี้ จะชำแหละเนื้อนกกระจอกเทศสองถึงสามตัว ส่งขายตามร้านอาหารชั้นนำและครัวการบินไทย ที่มีเมนูนกกระจอกเทศ ให้บริการเฉพาะผู้โดยสารชั้นหนึ่งเท่านั้น "ในระยะแรก เราจำเป็นต้องสั่งไข่ และลูกนกจากต่างประเทศ มาเพาะเลี้ยง แต่ทุกวันนี้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในฟาร์มของเรา สามารถผลิตไข่ได้เอง ประมาณอาทิตย์ละ ๑๐ ฟอง ซึ่งแม้จะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในการเพาะเลี้ยง แต่อีกสองสามปีข้างหน้า เราคงจะลดการนำเข้าได้มากขึ้น" เฉลิมพล กันจนา ผู้รับผิดชอบการเพาะเลี้ยงนกกระจอกเทศ ในฟาร์มแห่งนี้ กล่าว
      "ตอนนี้เราพยายามคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จากนกกระจอกเทศทั้ง ๙๐๐ ตัวที่เรามี เพื่อลดการสั่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากเมืองนอก ซึ่งราคาแพงถึงตัวละ ๒ แสนกว่าบาท ส่วนนกกระจอกเทศ ที่ไม่ผ่านการคัดเป็นพ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๒ เดือนก็จะถูกนำไปชำแหละในโรงฆ่าที่อยู่ด้านหลัง"
      นอกจากนี้กระดูกนกกระจอกเทศ บางส่วนยังสามารถส่งไปขายในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปป่นเป็นปุ๋ยชั้นดี ขณะที่กระดูกอีกส่วนหนึ่ง จะนำไปแต่งกลิ่น เพื่อผลิตเป็นกระดูกอัดแท่ง ที่เป็นของกินเล่นสำหรับสุนัขเลี้ยง และในอนาคตทางฟาร์มยังมีโครงการ จะนำขนนกกระจอกเทศ มาผลิตเป็นไม้ขนไก่ รวมถึงขนนกสำหรับประดับ เครื่องแต่งกายนักร้องลูกทุ่ง และหางเครื่องด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ในอนาคตเราจะใช้ที่นี่ เป็นสถานที่ให้ความรู้ แก่เกษตรกร เกี่ยกับการเพาะเลี้ยงนกกระจอกเทศ เรามีโครงการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ลูกนกอายุ ๓ เดือน เราขายตัวละ ๑๕,๐๐๐ บาท อายุ ๖ เดือน ตัวละ ๒๑,๐๐๐ บาท และลูกนกอายุ ๑ ปี เราขายตัวละ ๓๘,๐๐๐ บาท ตอนนี้เรามีลูกค้าจากราชบุรี พะเยา แปดริ้ว ที่มาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไป เพื่อเพาะเลี้ยงในฟาร์มนกกระจอกเทศแล้ว" คุณเฉลิมพลกล่าวในที่สุด
      ฝั่งตรงข้ามกับฟาร์มนกกระจอกเทศแห่งนี้ จัดทำเป็นสวนสัตว์ขนาดย่อม เลี้ยงจระเข้ไว้ประมาณยี่สิบกว่าตัว โดยนำชิ้นส่วนนกกระจอกเทศที่ขายไม่ได้ มาใช้เป็นอาหารจระเข้ จระเข้เหล่านี้ทางฟาร์มเลี้ยงไว้ดูเล่น จะไม่ถูกส่งไปขาย หรือชำแหละแต่อย่างใด เนื่องด้วยพลตรีสนั่น ถือเคล็ดไม่ยอมฆ่าจระเข้ เพราะพิจิตรเป็นเมืองชาละวัน
      เมื่อมีผู้ถามว่า เหตุใดเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้จุดประกายความคิด ในการทำฟาร์มนกกระจอกเทศให้แก่พลตรีสนั่น กลับไม่ยอมทำฟาร์มนกชนิดนี้เสียเอง
      คำตอบก็คือ คุณแม่ของเจ้าสัวธนินท์ ห้ามไม่ให้ลูกชาย ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัตว์ใหญ่