|
|
|
บนยอดพะเนินทุ่ง
|
เรื่องและภาพ : วีระวัช
ศรีสุข |
|
|
|
|
|
พะเนินทุ่ง
คือชื่อของยอดเขาสูงแห่งเทือกเขาตะนาวศรี
อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
จังหวัดเพชรบุรี
พะเนินทุ่งเป็นจุดชมทะเลหมอก
และทิวเขาสูงสลับซับซ้อนที่อุดมไปด้วยป่าไม้เขียวขจีสุดสายตา
เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทั้งช้าง
กระทิง วัวแดง เสือ สมเสร็จ
ฯลฯ
รวมทั้งนกและแมลงนานาชนิด
และยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอย่างแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี |
|
บรรยากาศทะเลหมอก
ยามเช้าที่กิโลเมตร ๓๕ |
|
ผู้ที่จะเดินทางสู่พะเนินทุ่งต้องทำเรื่องขออนุญาต
ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก่อน
จากนั้นต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ
๑๐ กว่ากิโลเมตร
ผ่านเส้นทางทุรกันดารสู่จุดตรวจ
ซึ่งจะต้องแสดงหนังสืออนุญาตเพื่อขึ้นสู่เขาพะเนินทุ่ง
จุดตรวจแห่งนี้
คือจุดเริ่มต้นของการนับระยะทาง
หรือกิโลเมตรที่ ๐
สู่ยอดเขาพะเนินทุ่ง
มุ่งหน้าไปตามเส้นทางจะผ่านหน่วยบ้านกร่าง
ที่กิโลเมตร ๑๕
ซึ่งมีลานให้กางเต็นท์ตั้งแคมป์พักแรม
เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเงียบสงบของผืนป่า
และผู้ที่สนใจดูนกดูผีเสื้อก็สามารถเดินชมได้ตามถนนที่ตัดเลียบลำห้วยบริเวณกิโลเมตรที่
๑๖-๑๘
หลังจากผ่านกิโลเมตรที่ ๑๘
ไปแล้ว
เส้นทางจะเริ่มสูงชันขึ้นไปจนถึงหน่วยพะเนินทุ่งที่กิโลเมตร
๓๐
บริเวณนี้ผู้ขับรถต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก
เพราะมีรถเบรกไม่อยู่ตกเขามาแล้วหลายคัน
กิโลเมตรที่ ๓๐
เป็นจุดเดียวในบริเวณนี้ที่อนุญาตให้พักแรมได้
โดยจุดชมวิวและทะเลหมอก
จะอยู่ห่างออกไปที่กิโลเมตร
๓๑ (ศาลาชมวิว) และกิโลเมตร
๓๕
หลายปีที่ผ่านมาผมมักจะเดินทางขึ้นไปพักบริเวณกิโลเมตรที่
๓๐ อยู่เป็นประจำ
เนื่องจากประทับใจในความสวยงามของทะเลหมอก
และอากาศที่หนาวเย็นในยามเช้า
จุดชมทะเลหมอกที่ผมชื่นชอบที่สุด
คือบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๕
เนื่องจากเป็นบริเวณที่เปิดโล่ง
สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล
ทั้งยังมีฝูงค่างกระโดดกันโครมครามอยู่เหนือยอดไม้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ที่หลงใหลในธรรมชาติ
จะเดินทางมาเฝ้าชมบรรยากาศบริเวณจุดชมวิว
กิโลเมตรที่ ๓๕
ได้อย่างไม่รู้เบื่อ |
|
|
|
นอกจากบรรยากาศงดงามในยามเช้าแล้ว
ในช่วงเย็น
ก็ยังมีภาพพระอาทิตย์ตก
ที่สวยงามไม่แพ้กัน
ผมมักมาคอยเฝ้าดู
และบันทึกภาพขณะที่ดวงอาทิตย์
กำลังจะลับสันเขาสูงเบื้องหน้า
ยอดเขานี้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯ
สูงประมาณ ๑,๕๐๐
เมตรจากระดับน้ำทะเล
เจ้าหน้าที่อุทยานฯ
จึงมักจะเรียกกันว่า
ยอดพันห้า
หากข้ามเทือกเขานี้ไป
ก็จะเข้าสู่ดินแดนของประเทศพม่า
เมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว
ผู้คนยังรู้จัก
และมาเที่ยวแก่งกระจานกันไม่มากนัก
จะมีก็เฉพาะผู้ที่รักธรรมชาติจริง
ๆ
บริเวณนี้จึงพอจะมีสัตว์ป่าออกมา
เดินหากินให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่งระหว่างที่ผมและเพื่อนอีกสองสามคน
กำลังเฝ้าชมและรอบันทึกภาพพระอาทิตย์ตก
ที่จุดชมวิวกิโลเมตรที่ ๓๕
อยู่นั้น
เพื่อนคนหนึ่งก็ร้องสั่งมาอย่างตื่นเต้นว่า
"เปลี่ยนเลนส์เร็ว"
ถึงแม้เขาจะยังไม่บอกว่าเป้าหมายเป็นอะไร
แต่จากประสบการณ์
ที่เดินทางถ่ายภาพมาด้วยกันหลายครั้ง
ทำให้ผมเข้าใจดีว่า
เขาคงได้เจอสัตว์ป่าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าให้แล้ว
และผมก็ไม่รอช้าที่จะเปลี่ยนจากเลนส์มุมกว้าง
ที่ใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์
มาเป็นเลนส์ถ่ายภาพระยะไกลในทันที
เพื่อนผมชี้ไปยังเป้าหมาย
ที่อยู่ห่างออกไปทางด้านซ้ายมือประมาณ
๘๐ เมตร
สูงขึ้นไปจากผิวถนนประมาณ
๓
เมตรซึ่งเป็นหน้าตัดของภูเขา
ที่เกิดจากการสร้างถนน
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาใกล้หกโมงเย็น
ที่ปริมาณแสงเริ่มน้อยแล้ว
เมื่อมองปราดแรก
ผมจึงเห็นเพียงราง ๆ
ว่าเป็นร่างค่อนข้างใหญ่สีดำ
จนเมื่อได้มองผ่านเลนส์
จึงเห็นว่ามันคือเลียงผา
ที่กำลังเลียกินดินโป่งอยู่
ทุกคนในกลุ่มต่างตื่นเต้นที่ได้เห็นสัตว์ป่าใกล้
ๆ
จึงพยายามเข้าใกล้อย่างลืมตัวเพื่อเก็บภาพให้ได้
เลียงผา (Serow; Capricornis
sumatraensis)
มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น
เช่น เยือง
เป็นชื่อที่เรียกกันในแถบจังหวัดเพชรบุรี
แต่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และภาคใต้เรียกว่า
กูรำหรือโครำ ส่วนเลียงผา
คือชื่อทางการที่คนแถบภาคกลางใช้เรียก
เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่เหมือนวัวควาย
มีเขาแบบที่เรียกว่า "horn"
ข้างในกลวง
และไม่มีการผลัดเขาเหมือนพวกกวาง
แต่จะมีวงรอยหยักที่เรียกว่า
"พาลี"
ซึ่งจำนวนหยักนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ
เลียงผาชอบหากินอยู่ตามลำพัง
ตามหน้าผาหรือภูเขาหินปูน
จึงทำให้มันมีความสามารถในการปีนป่าย
หรือเดินไปตามหน้าผาสูงชันได้ดี
ช่วงผสมพันธุ์ของเลียงผา
จะตกประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
มีระยะตั้งท้องประมาณ ๗
เดือน
และตกลูกครั้งละหนึ่งตัวเท่านั้น |
|
เลียงผายืนอยู่ที่ชายป่า
ก่อนเดินลง
สู่หุบเขาที่ลาดชัน |
|
สาเหตุหลักที่คุกคามเลียงผาให้ใกล้สูญพันธุ์เข้าทุกทีนั้น
ได้แก่พื้นที่อยู่อาศัยที่ลดน้อยลง
เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่
เพื่อทำการเกษตร
และระเบิดเขา
นอกจากนี้ด้วยความเชื่อผิด
ๆ ของคนไทยที่ว่า
น้ำมันเลียงผาเป็นยาสมานกระดูก
(เพราะเห็นว่าเลียงผาสามารถเลียแผล
หรือกระดูกที่หักเวลาพลัดตกเขาให้หายได้)
ก็ทำให้เลียงผาถูกล่า
เพื่อนำหัว
และกระดูกมาต้มเคี่ยวเอาน้ำมัน
มาทำเป็นยาแก้ฟกช้ำ
และรักษากระดูก
แม้จะมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ออกมาแล้วว่า
น้ำมันจากเลียงผาไม่มีสรรพคุณดังกล่าว
แต่อย่างใดก็ตาม ที่สำคัญ
นิสัยที่ชอบออกมายืนตามหน้าผาที่โล่งแจ้ง
ก็ยิ่งทำให้มันถูกล่าได้ง่ายขึ้น
ครั้งหนึ่งผมเดินทางข้ามไปเขตพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์
อำเภอสังขละบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี
ยังได้เห็นหัวเลียงผานับสิบหัว
รวมกันอยู่ในหม้อเคี่ยวขนาดใหญ่
เตรียมทำน้ำมันบรรจุใส่ขวดขาย
เป็นภาพที่น่าสลดใจที่สุด
หลังจากบันทึกภาพกันอยู่ชั่วครู่
เลียงผาก็เริ่มมีอาการระแวดระวังตัว
โดยผละลงจากหน้าผา
มายืนมองพวกเราอยู่กลางถนน
เป็นจังหวะเดียวกับที่ฟิล์มในกล้องผมหมดม้วนพอดี
จึงต้องวิ่งย้อนมาเอาฟิล์มที่กระเป๋ากล้อง
ตรงจุดชมวิว
เมื่อกลับมาอีกครั้ง
ก็พบว่ามันย้ายไปยืนอยู่ชายป่าที่ด้านหลัง
คือหุบเขาลึก
ผมบันทึกภาพของมันตรงจุดนี้ได้อีกพักหนึ่ง
ก่อนที่มันจะไต่ลงสู่หุบเขาที่ลาดชันหายลับไป
เมื่อพิจารณาตรงจุดที่เลียงผาขึ้นไป
และเล็มดินกินก็พบว่า
บริเวณนั้นเป็นผาหินที่มีผงดินสีขาวเคลือบอยู่
และมีร่องรอยการเลียกินของเลียงผา
จึงคาดว่าบริเวณนี้
น่าจะมีดินเค็ม
หรือดินโป่ง
ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายของสัตว์ป่าทั่วไป
ต่อมาภายหลังยังได้ทราบว่า
ช่วงเดือนเดียวกันนั้น
มีผู้พบและถ่ายภาพเลียงผาตัวนี้
ตรงบริเวณเดิมได้อีก
แสดงว่าเลียงผาขึ้นมากินดินโป่ง
ที่จุดนี้อยู่เป็นประจำ
เพราะยังมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาไม่มากนัก
ปัจจุบันบริเวณนี้
เริ่มเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง
ของแก่งกระจาน
ทางจังหวัดเพชรบุรีเองก็พยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
มีโครงการปรับปรุงและขยายถนนเป็นระยะ
ๆ
โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่า
เพราะเมื่อถนนหนทางดีขึ้น
ปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาก็จะมากขึ้นเรื่อย
ๆ
ผลกระทบย่อมตกกับเลียงผาและสัตว์อื่น
ๆ ที่ต้องเป็นฝ่ายหลบหนี
และย้ายถิ่นหากินไปยังพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป
นี่ดูจะเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอกับสัตว์ป่าเมืองไทย |
|