นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๓ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

ของเล่นพื้นบ้าน

จินตนาการที่ยังไม่รู้จบ

วันดี สันติวุฒิเมธี : รายงาน
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
 
        "อั่นนี้เรียก ผญาลืมงาย คนบ่มีผญา แก้เชือกไม่ออกก็บ่ได้กินข้าวงาย อั่นนี้เต่าแขวน อั่นนี้เต่าเดิน อั่นนี้กังหันลม อั่นนี้กังหันรอก ส่วนอั่นนี้วัวชน เป็นการละเล่นพื้นบ้านสมัยก่อน" พ่ออุ๊ยลำไย สุภาวะ ตัวแทนจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ แนะนำของเล่นพื้นบ้านชิ้นใหม่ ที่เพิ่งทยอยออกมาจากความทรงจำ ของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
(คลิกดูภาพใหญ่)       หากนับจากวันที่ สารคดี นำเสนอเรื่องราวคนเฒ่าคนแก่ กับของเล่นพื้นบ้านไปเมื่อสองปีก่อน ("ตามหาของเล่นพื้นบ้าน ตามหาความสุขคืนสู่ใจ" สารคดี ฉบับที่ ๑๗๐ เมษายน ๒๕๔๒) มาจนถึงวันนี้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ได้ขยายเครือข่ายจากหมู่บ้านป่าแดด ต. ป่าแดด อ. แม่สรวย จ. เชียงราย ไปสู่หมู่บ้านอื่น ๆ ทั้งในตำบลเดียวกัน และจังหวัดใกล้เคียง จนของเล่นชิ้นใหม่ ๆ พากันเดินแถวออกจากความทรงจำของผู้สูงวัยกันไม่หวาดไม่ไหว สร้างรายได้ให้พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย เลี้ยงตัวเองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหกโครงการสร้างฐานชุมชนดีเด่นประจำปี ๒๕๔๓ ของ องค์การอโชก้า ประเทศไทย วันนี้เราจึงอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับของเล่นชิ้นใหม่ และความคืบหน้าของพวกเขากันอีกครั้ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       วีระพงษ์ กังวานนวกุล หรือ เบิ้ม ชายหนุ่มผู้นำทีมคนเฒ่าย้อนอดีตวัยเยาว์ เล่าถึงความคืบหน้าของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาให้ฟังว่า
      "พอดีเมื่อปี ๒๕๔๒ เป็นปีผู้สูงอายุ หลาย ๆ หน่วยงานจึงให้ความสนใจกับผู้สูงอายุมากขึ้น มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ ออกมา และพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้ให้เป็นประโยชน์กับชุมชน เช่นตั้งกลุ่มกิจกรรมหรือสร้างตลาดทางเลือกในชุมชน อย่างในตำบลป่าแดดก็มีกลุ่มอักษรพื้นเมือง กลุ่มศิลปหัตถกรรม กลุ่มทอผ้า กลุ่มอาหาร ขนม และกลุ่มของเล่นพื้นบ้าน ทั้งหมดนี้รวมกลุ่มกันในนามโครงการศูนย์การศึกษา และพัฒนาตลาดทางเลือกในชุมชน สำหรับกลุ่มของเล่นพื้นบ้านที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ก็ได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกัน ของผู้สูงอายุในปีนั้นด้วย คือ ผู้สูงอายุได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กันและกัน ของเล่นจึงหลากหลายมากขึ้น "
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากความหลากหลายที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ได้รับตามมาโดยไม่รู้ตัว คือความรู้ในมิติของวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ เพราะของเล่นแต่ละชิ้นล้วนมีประวัติความเป็นมา สอดแทรกอยู่ในชิ้นงาน เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยา ที่ยังมีลมหายใจของคนรุ่นเก่ารวยรินอยู่ใกล้ ๆ คอยบอกเล่าประสบการณ์ในอดีต ให้คนรุ่นใหม่ฟังอย่างใกล้ชิด
      "เมื่อก่อนเคยเล่นหยังพ่อง คิดอันไหนได้ก็เอาออกมา เฮาค้นภูมิปัญญาที่เล่นสืบกันมา อย่างอั่นนี้วัวชนเป็นกาลละเล่นพื้นเมืองสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ทางบ้านเฮาบ่มีแล้ว อั่นนี้คนตำข้าว ต้องมีคนสองคนช่วยกันตำ เพราะคนเดียวตำบ่ไหว เหนื่อยแป้ อั่นนี้เครื่องดักปลาของคนโบราณมีหลายแบบ เพราะเมื่อก่อนปลามีหลายชนิด ส่วนอั่นนี้ธนู เอาไว้ล่าสัตว์ในป่า"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ส่วนผญาลืมงายที่พ่ออุ๊ยแนะนำไว้ เมื่อตอนเปิดเรื่อง ก็นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง เพราะมันท้าทายภูมิปัญญาของผู้คนมานักต่อนัก สมชื่อกับที่คนโบราณตั้งเอาไว้ทีเดียว เจ้าของเล่นที่ว่านี้ ทำจากจากกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่กว่านิ้วมือเล็กน้อย เจาะรูสองรูด้านข้างสำหรับร้อยเชือก เวลาเล่นจะต้องมีคนหนึ่งร้อยเชือกเข้าไปในรู และหาวิธีมัดที่สลับซับซ้อน เพื่อให้คนเล่นหาทางแก้เชือกออกไม่ได้ บางคนต้องนั่งเล่นทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า ยังหาทางออกไม่ได้ มันจึงถูกเรียกว่า ผญาลืมงาย แปลเป็นภาษากลางว่า เล่นจนลืมกินข้าวเช้า
      ด้วยเหตุที่ของเล่นพื้นบ้านมีทั้งความสนุก และความรู้ ทาง อบต. ตำบลป่าแดดจึงเตรียมสร้างศูนย์วัฒนธรรมของตำบลป่าแดดขึ้นมา เพื่อรวบรวมของเล่นเหล่านี้มาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แล้วปล่อยให้เด็กเข้ามาเล่นของเล่น ได้ตามใจชอบ โดยสอดแทรกประวัติความเป็นมาของของเล่นชนิดต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ไปในตัว เพราะของเล่นเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็กทุกคน
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ตอนนี้หลายโรงเรียนนำของเล่นพื้นบ้าน ไปใช้เป็นสื่อการสอน และให้คนเฒ่าคนแก่ เข้าไปสอนทำของเล่นในโรงเรียน เป็นลักษณะของการศึกษาแบบบูรณาการ ที่ไม่ได้เน้นความรู้จากในตำราเพียงอย่างเดียว อย่างโรงเรียนในชุมชนบ้านป่าแดด วันศุกร์จะมีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุไปสอนให้เด็ก ๆ ทำของเล่นพื้นบ้านด้วยตนเอง ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ ในหลายจังหวัดภาคเหนือ ก็มีติดต่อให้เราไปสอนเหมือนกัน เวลาเราไปสอน เราไม่ได้เน้นการสอนทำของเล่นอย่างเดียว แต่เราเน้นให้คนในชุมชนนั้น ๆ มาร่วมเรียนรู้กับเราด้วย ให้แต่ละโรงเรียน นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนออกมาใช้ กระตุ้นให้ผู้สูงอายุ และคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
      "จริง ๆ แล้วเป้าหมายของเรา ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะของเล่นพื้นบ้าน เราสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นภูมิปัญญาของแต่ละคน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน บางคนมีความรู้เรื่องสมุนไพร บางคนมีความรู้เรื่องทอผ้า ของเล่นก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในส่วนของรายได้ที่ได้รับจากการขายของเล่น เบิ้มแจกแจงให้ฟังว่า
      "รายได้จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของคนทำ อีกส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นกองทุน สำหรับดำเนินงานส่วนกลาง เช่น พิมพ์เอกสารเผยแพร่การทำงานของกลุ่ม ค่ารถ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด สำหรับคนหนุ่มสาว ที่เข้ามาร่วมทำงานอย่างผมกับน้อง ๆ อีกสี่ห้าคนก็มีรายได้จากการขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สมุดบันทึก ถ้ามีคนช่วยสนับสนุนในส่วนนี้มาก ๆ พวกเราก็คงจะยังชีพอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน"
      สิ่งที่น่าดีใจก็คือ แม้วันนี้ ของเล่นพื้นบ้านจะได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดภายนอกเพิ่มมากขึ้น แต่นโยบายการทำงานของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ก็ยังเหมือนเดิม คือ ไม่เน้นผลิตเพื่อขาย แต่เน้นผลิตเพื่อความสบายใจ ปล่อยให้บรรดาของเล่น ที่ซ่อนตัวอยู่ในความทรงจำ เดินทางมาถึงปัจจุบันอย่างช้า ๆ อย่างที่พ่ออุ๊ยลำไยว่า
      "ของเล่นเหล่านี้มาจากประสบการณ์ของแต่ละคน ใครจำได้อันไหน ไม่ได้รีบร้อน ยะกันเรื่อย ๆ ถ้าเหนื่อยก็พัก"
  (คลิกดูภาพใหญ่)