สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๔ เดือน เมษายน ๒๕๔๔ "โลกของเฟิน"

นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๔ เดือน เมษายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

โ ล ก ข อ ง เ ฟิ น

    ครั้งหนึ่งในการเดินทางลงใต้เพื่อสำรวจพรรณไม้ยังป่าฮาลา ป่าดิบผืนใหญ่ชายแดนไทยมาเลเซีย ที่อุดมไปด้วยพรรณไม้ และชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่พบเห็นได้ยาก เราเลือกสำรวจโดยทางเรือ มุ่งหน้าไปยังหลังเขื่อนบางลาง ส่วนหนึ่งก็เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทากนับแสน ที่ซุ่มซ่อนอยู่ตามซากใบไม้ผุ ที่ทับถมอยู่ในราวป่า
    เหนือคาคบไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตายแช่น้ำ มีพืชประหลาดเกาะตัวแน่นอยู่ ใบที่แลดูคล้ายกาบสีน้ำตาลม้วนตัวเป็นกระเปาะใหญ่ เกาะแน่นอยู่กับคบไม้ ใบสีเขียวสดที่แตกออกคล้ายเขากวางชูตั้งขึ้น มันคือเจ้าริดเลย์หรือชายผ้าสีดาเขากวาง หรือเฟินเขากวางใบตั้ง (Platycerium ridleyi) หนึ่งในเฟินหายาก ที่พบเฉพาะตามคาคบไม้สูงในป่าดิบทางตอนใต้ และเป็นหนึ่งในสกุลชายผ้าสีดา ที่เป็นปัญหาคาใจผมมาหลายปี
 คลิกดูภาพใหญ่     ในขณะที่ชายผ้าสีดาหรือเฟินชนิดอื่น ซึ่งแขวนตัวอยู่เหนือคบไม้ ไกลจากแหล่งน้ำ และธาตุอาหาร มักมีใบส่วนหนึ่งตั้งขึ้นเหมือนตะกร้า เพื่อดักเอาเศษใบไม้กิ่งไม้ที่ร่วงหล่น สะสมเป็นอินทรียสารหล่อเลี้ยงชีวิต ใบของริดเลย์ที่ควรจะตั้งเหมือนตะกร้า กลับม้วนตัวห่อหุ้มกิ่งไม้ไว้แน่น ปิดโอกาสในการสะสมธาตุอาหารไปโดยสิ้นเชิง ...เมื่อเป็นเช่นนี้ มันเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีใด ?
    ระดับน้ำในเขื่อนที่ท่วมสูง เปิดโอกาสให้ผมเข้าถึงริดเลย์ ซึ่งตามปรกติแล้วมักจะเกาะอยู่บนคบไม้ สูงจากพื้นดินร่วม ๓๐ เมตร และแทบจะทันทีที่ผมเอื้อมมือไปสัมผัสมัน คำตอบต่อปริศนาคาใจก็เผยตัวออกมาพร้อม ๆ กับฝูงมดดำขนาดเล็กจำนวนมหาศาล ที่กรูกันออกมาปกป้องรัง...
    มดเหล่านี้ไม่เพียงสร้างรังอยู่ในโพรงกระเปาะอันสลับซับซ้อนของริดเลย์ หากยังช่วยปกป้อง และขนเศษซากอินทรียวัตถุไปหล่อเลี้ยงชีวิต มอบธาตุอาหารให้แก่เจ้าริดเลย์ไปด้วยในตัว
    ...นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในสารพัดวิธี ในการอยู่รอดของเฟิน--พืชโบราณที่น้อยคนนักจะรู้ว่า เผ่าพันธุ์ของมันเป็นเสมือนตัวแทนของสิ่งมีชีวิตอันน่าอัศจรรย์ ที่ผ่านช่วงเวลาของวิวัฒนาการ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ในระดับที่รุนแรงมาหลายยุคสมัย ทั้งยังยาวนานยิ่งกว่าช่วงเวลาวิวัฒนาการของมนุษย์ และพืชสัตว์ชนิดอื่น ๆ หลายเท่า
 คลิกดูภาพใหญ่

๑.

    กล่าวกันว่าสีเขียวของเฟินเป็นเสมือนตัวแทนความชอุ่มชุ่มชื้นของผืนป่า ในสวนหย่อมกลางเมือง ในสวนหน้าระเบียงแคบ ๆ ของคอนโดฯ หรือแม้ในม่านน้ำตกจำลองที่ชุ่มชื่นไปด้วยสายน้ำ และสีเขียวชื่นตาของไม้ประดับ จึงมักมีสีเขียวของเฟินปรากฏร่วมอยู่เสมอ สีเขียวหลากเฉด รวมทั้งรูปใบที่แตกต่างหลากหลายของเฟิน เป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากในพันธุ์ไม้อื่น และทำให้คนส่วนใหญ่คุ้นตากับเฟิน ในฐานะไม้ประดับที่พบเห็นได้ทั่วไป
    แต่ถึงแม้เราจะคุ้นเคยกับเฟินกันดี ทว่ากลับมีน้อยคนนัก ที่จะรู้จักเฟินอย่างแท้จริง
    จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า เฟินต้นเล็ก ๆ แลดูบอบบางที่เราอาจพบได้ตามริมกำแพงชื้น ๆ หลังบ้านนั้น เป็นเสมือนตัวแทนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ยาวนานหลายร้อยล้านปี ก่อนหน้าการถือกำเนิดของไดโนเสาร์เสียอีก
    กว่า ๔๐๐ ล้านปีมาแล้วที่พืชบกพัฒนาตัวเองขึ้นจากน้ำ พวกมันมีปริมาณไม่มาก และมีลักษณะโครงสร้างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน อีก ๖๐ ล้านปีต่อมา เมื่อโลกเปลี่ยนจากยุคดีโวเนียน (Devonian) เข้าสู่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) บรรยากาศของโลกยังคงถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกสลัวราง พื้นดินมีสภาพเป็นพรุ และปลักเลนเสียส่วนใหญ่ พืชโบราณต่าง ๆ อันได้แก่ คลับมอส (clubmoss) โบราณ หญ้าถอดปล้อง หรือต้นหางม้าโบราณ รวมทั้งบรรพบุรุษของเฟิน ต่างพากันยืดตัวแผ่กิ่งก้านผ่านชั้นเมฆหมอก สู่แสงอาทิตย์เบื้องบน ทำให้พวกมันมีขนาดใหญ่โตมหึมาสูงกว่าตึก ๑๐ ชั้นทีเดียว
    ป่าเฟินยักษ์ยังคงกระจายพันธุ์ ยึดครองอาณาบริเวณไปทั่วทุกหัวระแหง กระทั่งเข้าสู่ยุคเพอร์เมียน (Permian) ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อมีการเคลื่อนชนกันของเปลือกโลกอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น สภาพภูมิอากาศทั่วโลกเริ่มเกิดความแปรปรวน ความแห้งแล้งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมฆหมอกที่เคยมีอยู่ชั่วนาตาปีกลับจางหายไปสิ้น น้ำในบึงต่าง ๆ แห้งขอด แสงแดดอันร้อนแรง สาดส่องเผาไหม้เหล่าพืชยักษ์ในป่าโบราณ จนล้มตายเป็นจำนวนมาก บางกลุ่มที่ปรับตัวได้ก็ลดขนาดตัวเองลง และพัฒนาตัวไปเป็นเฟินที่แท้จริง ที่มีลักษณะเด่น คือมีใบอ่อนม้วนงอคล้ายลานนาฬิกา (circinated frond) ได้แก่ วงศ์บัวแฉก (Dipteridaceae) วงศ์โชน (Gleicheniaceae) วงศ์ออสมันดา (Osmundaceae) วงศ์ลิเภา (Schizaeaceae) และวงศ์กีบแรด (Marattiaceae) เป็นต้น

 คลิกดูภาพใหญ่     ปัจจุบันเรายังคงพบเห็นกลุ่มเฟินโบราณนี้ได้ในป่า บางชนิดมีวิวัฒนาการน้อยมาก ทำให้มันมีรูปร่างหน้าตา แทบจะไม่แตกต่างจากซากบรรพบุรุษของมัน ที่เราขุดพบในชั้นหินเลย จึงถือได้ว่าพวกมันเป็นฟอสซิลที่มีชีวิต (living fossil) ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน
    หลังจากยุคเพอร์เมียน เฟินยังคงมีวิวัฒนาการไม่หยุดหย่อน แต่ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเคย เมื่อป่าส่วนใหญ่ที่ครอบคลุมผิวโลก ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มพืชเมล็ดเปลือย เช่นสนและปรง ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเต็มที่อีกครั้ง ในยุคจูแรสสิก (Jurassic ๒๐๘-๑๔๖ ล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์ บนพื้นดินอุดมไปด้วยไดโนเสาร์กินพืช ไดโนเสาร์กินเนื้อ รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานอย่างเต่าและจระเข้ ขณะที่บนฟ้าเต็มไปด้วยไดโนเสาร์ที่บินได้ และบรรพบุรุษของนก เช่น Archeopteryx
    กระทั่งเข้าสู่ยุคครีเตเชียส (Cretaceous ๑๔๖-๖๕ ล้านปีก่อน) โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง ทำให้บรรดาไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ยุคนี้เองที่พืชดอก (Flowering Plants) ชนิดแรกได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับแมลงยุคใหม่ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ส่วนเฟินก็ยังคงมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรุนแรงหลายครั้ง แต่พวกมันก็สามารถผ่านยุคพาลีโอซีน (Palaeocene) มีโอซีน (Miocene) และพลีสโทซีน (Pleistocene-ยุคน้ำแข็ง) มาได้จวบจนปัจจุบัน
    กาลเวลาอันยาวนานหลายร้อยล้านปีนี้เอง ที่ส่งผลให้เฟินมีวิวัฒนาการแตกสาขาออกไป เป็นเฟินชนิดต่าง ๆ มากกว่าหมื่นชนิดทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น เฟินยังสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อม ที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ ดังจะเห็นได้จากการที่เฟินบางชนิด ขึ้นได้ดีบนโขดหินริมทะเล แม้ว่าจะถูกน้ำเค็มสาดซัดในยามคลื่นลมแรง ขณะที่บางชนิดขึ้นอยู่ได้ในพื้นที่อันเย็นยะเยือก บนเขาสูงกว่า ๔,๐๐๐ เมตรเช่นในเปรู หรือแม้แต่เขตทะเลทรายอันแห้งแล้งของแอฟริกา เราก็ยังพบเฟินได้ที่นั่น สำหรับในประเทศไทยนั้น เราพบเฟินกว่า ๖๐๐ ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภาค ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป
    พวกมันดำรงชีวิตอยู่กันอย่างไร ? อีกสักครู่เราจะเดินทางเข้าป่าเพื่อค้นหาความลับของเฟินด้วยกัน
 คลิกดูภาพใหญ่

๒.

    นับเป็นโชคดีของผมที่ได้มีโอกาสติดตาม ผู้เชี่ยวชาญเฟินเมืองไทยซึ่งได้แก่ อาจารย์ทวีศักดิ์ บุญเกิด และอาจารย์หม่อมหลวงจารุพันธ์ ทองแถม ออกสำรวจพรรณไม้ทั่วป่าเมืองไทย ทำให้ได้พบเห็นกลยุทธ์อันน่าทึ่ง ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของพืช และสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ทั้งยังได้พบว่าทุกชีวิตในผืนป่านั้น ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันทั้งสิ้น
    ครั้งหนึ่งในป่าใต้ หลังจากที่เดินตัดขึ้นเนินเขาเตี้ย ๆ เราก็ได้พบกับเฟินข้าหลวงหลังลาย เกาะอยู่บนคบไม้สูง (ลายที่หลังหรือใต้ใบของเฟินข้าหลวง ก็คือกลุ่มอับสปอร์นั่นเอง) การแขวนตัวอยู่กลางอากาศเช่นนี้ แม้จะได้เปรียบพืชเบื้องล่าง ตรงที่ไม่ต้องแก่งแย่งพื้นที่กับพืชอื่น ๆ นัก ทั้งยังได้รับแสงอย่างเต็มที่ตามความต้องการ แต่สิ่งที่ต้องสูญเสียไปก็นับว่าใหญ่หลวงเอาการ เพราะบนอากาศเช่นนี้ ไม่มีแหล่งน้ำ และธาตุอาหารอันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพของพืช เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชีวิตบนยอดไม้จะดำเนินไปอย่างไร ?
    ผมพบคำตอบหลังจากพยายามปีนต้นไม้อย่างทุลักทุเล จนสามารถเห็นเฟินข้าหลวงได้ในระยะใกล้ ข้าหลวงหลังลายหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า เฟินรังนก (Bird's nest fern) นั้น มีวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแยบยล ใบของมันเรียงเวียนเป็นวงกลม ดั่งรังนกยักษ์ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า ๒ เมตร ตะกร้าธรรมชาติขนาดใหญ่นี้ จะคอยดักเอาเศษใบไม้กิ่งไม้ต่าง ๆ ที่หมดอายุ และร่วงหล่นลงมาจากกิ่งไม้ที่อยู่ถัดขึ้นไป เพียงเท่านี้มันก็ได้ปุ๋ยไว้ใช้เองแล้ว หลังจากนั้นใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพังในตะกร้า จะถูกฝอยรากเข้าหุ้มห่อ ทำให้มันมีสภาพคล้ายฟองน้ำ และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้จำนวนมาก ในยามที่มีฝนตกลงมา คราวนี้เจ้าเฟินข้าหลวง ก็มีแทงก์น้ำส่วนตัว เอาไว้ใช้เองในยามขาดแคลนแล้ว
    ข้าหลวงหลังลายเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในบรรดาเฟินกว่า ๖๗๐ ชนิดของไทย ซึ่งหากเราจะทำการจัดกลุ่มของเฟินอย่างง่าย ๆ โดยพิจารณาจากลักษณะที่อยู่อาศัย ก็อาจแยกเฟินออกได้เป็นสามกลุ่ม

 คลิกดูภาพใหญ่     กลุ่มแรกเป็นเฟินที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เฟินดิน (Terrestrial Ferns) เฟินกลุ่มนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปบนพื้นดิน บางครั้งเป็นเถาทอดเลื้อยขึ้นตามต้นไม้ แต่ก็ยังคงมีเหง้าอยู่ในดิน ผู้รู้บางท่านได้จำแนกกลุ่มเฟินดินย่อยลงไปอีก ตามลักษณะที่มันขึ้นอยู่เป็น เฟินดินทนแดด (Terrestrial Sun Ferns) และเฟินดินชอบร่ม (Terrestrial Shade Ferns) ตัวอย่างเฟินดินที่เรามักพบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ กูดต้นหรือมหาสดำ (Cyathea ssp.) กูดกวาง (Tectaria spp.) กูดหางค่าง (Pteris spp.) กูดช้างป่า (Thelypteris spp.) โชน (Dicranopteris spp.) ลิเภา (Lygodium spp.) และกูดเกี๊ยะ (Pteridium spp.) เป็นต้น
    กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่ม เฟินเกาะอาศัย หรือ เฟินอิงอาศัย (Epiphytic Ferns) เฟินในกลุ่มนี้มักขึ้นเกาะอยู่ตามลำต้น คาคบ หรือกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ พวกมันมิได้เป็นกาฝาก (Parasite) แต่อย่างใด มันเพียงใช้รากเกาะยึดอยู่กับเปลือกไม้ คอยอาศัยธาตุอาหารจากการสะสมตัวของอินทรียสาร ตามเปลือกไม้ที่ผุกร่อนเท่านั้น จึงไม่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ เว้นแต่บางครั้งที่มันมีจำนวนมากเกินไป ก็อาจมีน้ำหนักมาก จนกิ่งไม้ทานไม่ไหว และฉีกหักลงมาได้ เราพบเฟินอิงอาศัยได้ทั่วไป ในป่าแทบจะทุกประเภท แต่จะพบได้มากบนเขาสูง ที่มีความชุ่มชื้นดังเช่นบริเวณยอดเขาหลวง นครศรีธรรมราช หรือยอดดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ป่าตามยอดเขาดังกล่าว มักถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกเกือบตลอดปี จนเราเรียกได้ว่าเป็นป่าเมฆ (Cloud Forest) ตามกิ่งก้านของต้นไม้ในป่าประเภทนี้ จะแน่นขนัดไปด้วยพืชอิงอาศัยหลากหลายชนิด โดยเฉพาะมอส และเฟิน ทำให้บางครั้งชาวบ้านพากันเรียกว่า "ป่าต้นไม้มีขน"
    ถึงตรงนี้ผมอยากจะขอแก้ไขการใช้คำผิด ๆ เกี่ยวกับการเรียกชื่อป่าที่ว่านี้สักหน่อย เราคงเคยได้ยินบางคนเรียกป่าแบบนี้ว่า "ป่าดึกดำบรรพ์" (พบได้บ่อยตามหนังสือท่องเที่ยวต่าง ๆ) คำว่าป่าดึกดำบรรพ์นั้น น่าจะหมายถึงป่ายุคโบราณ (Ancient Forest) ยุคไดโนเสาร์ หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) เสียมากกว่าที่จะใช้เรียกป่าในปัจจุบัน หรือไม่เช่นนั้นแล้ว ป่าที่ว่าก็ควรจะมีพืชโบราณจำพวกเฟิน และปรงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ผมได้ลองสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์หลายต่อหลายท่าน ต่างก็ลงความเห็นว่า ไม่มีป่าชนิดใดในปัจจุบันที่เรียกว่า "ป่าดึกดำบรรพ์" มาก่อน ผมจึงถือว่าคำดังกล่าวถูกอุปโลกน์ขึ้นมาอย่างผิด ๆ และไม่ควรใช้ให้เกิดการเข้าใจผิดอีก ดังนั้นการเรียกป่าดิบบนยอดดอยสูง ที่ถูกต้องจึงควรใช้คำว่า "ป่าเมฆ" หรือ "ป่าดิบเขาสูง" (Upper Montane Forest)
 คลิกดูภาพใหญ่     กลับมาที่เฟินเกาะอาศัยกันต่อ ในบางพื้นที่เช่นตามเขาสูงที่มีอากาศเย็น พื้นดินส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยชั้นอินทรียวัตถุหนา เราจะพบว่าเฟินเกาะอาศัยหลายชนิด ขึ้นอยู่ได้บนพื้นดิน และก็บ่อยครั้งที่เราพบเหล่าเฟิน เกาะอาศัยขึ้นอยู่บนโขดหิน หรือลานหินทรายตามเทือกภูต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกเลยหากสภาพแสง อุณหภูมิ ความชื้น และการระบายน้ำ ของบริเวณพื้นที่นั้น ไม่แตกต่างกันกับตามเปลือกและยอดไม้ สำหรับเฟินที่เกาะอาศัยอยู่ตามหินผานั้น บางท่านได้จัดจำแนกแยกออกต่างหากเป็น กลุ่มเฟินผา (Lithophytic Ferns) ซึ่งหากเป็นเฟินผาที่แท้จริงแล้ว มันจะไม่สามารถขึ้นบนต้นไม้ได้เลย ตัวอย่างเฟินเกาะอาศัยที่มักจะพบเห็นได้ง่าย ได้แก่ เฟินข้าหลวง (Asplemium spp.) ชายผ้าสีดา (Platycerium spp.) กระแตไต่ไม้ (Drynaria spp.) เถางูเขียว (Pyrrosia spp.) เฟินอีแปะ (Drymoglossum spp.) และลิ้นผีไม้ (Microsorum spp.) เป็นต้น
    กระแตไต่ไม้และชายผ้าสีดา มีกลเม็ดในการเอาตัวรอด คล้ายกับเฟินข้าหลวงหลังลาย คือมีตะกร้าประจำตัวคอยดักเศษกิ่งไม้ใบไม้ ที่ร่วงหล่นสะสมเป็นธาตุอาหาร กระแตไต่ไม้เป็นเฟินที่มีเหง้ายาวทอดเลื้อยไปตามคาคบ หรือโขดหิน มันจะสร้างใบอยู่สองแบบ แบบแรกคือ ใบตะกร้าหรือใบหุ้มเหง้า (Nest Leaves) ซึ่งเป็นใบที่ไม่สร้างสปอร์ (Sterile) ใบชนิดนี้จะมีขนาดเล็กสั้น และตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่คอยดักเอาเศษใบไม้ ในขณะเดียวกันยังช่วยป้องกันอันตราย และลดการสูญเสียน้ำ ให้แก่เหง้าอีกทางหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่ามันจะหมดอายุแล้ว แต่มันจะยังคงติดแห้งอยู่กับเหง้าไปจนกว่าจะผุพัง ซึ่งก็กินเวลานานทีเดียว ใบแบบที่ ๒ ของกระแตไต่ไม้เป็นใบที่ใช้สร้างสปอร์ (Fertile) มีขนาดใหญ่ และยื่นยาวออกไปรอบ ๆ เพียงปีละครั้งในหน้าฝนเท่านั้น ที่ใบแบบนี้จะงอกออกมาทำหน้าที่ของมัน จากนั้นมันจะหลุดร่วงไป เมื่อฤดูหนาวอันแห้งแล้งมาเยือน
    ทีนี้มาดูชายผ้าสีดากันบ้าง เฟินเกาะอาศัยชนิดนี้มีใบตะกร้าที่ตั้งขึ้น และใบสร้างสปอร์ที่ห้อยย้อยแตกแขนง ดูคล้ายกับชายผ้า ที่มีความพลิ้วไหวอยู่ในตัว ในบ้านเรามีชายผ้าสีดาอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด มีชื่อเรียกต่างกันไปตามชนิดและพื้นที่ที่มันขึ้นอยู่ เช่น กระจาด ห่อข้าวสีดา ชายผ้าสีดา เขากวาง หัวสีดา หัวเฒ่าอีบาหรือห่อข้าวย่าบา ฯลฯ
    หัวเฒ่าอีบาหรือห่อข้าวย่าบานั้น เป็นชื่อเรียกชายผ้าสีดาชนิดหนึ่ง ที่พบได้ง่ายทางภาคเหนือ มันเป็นชายผ้าสีดาชนิดเดียวของไทย ที่มีการพักตัวเด่นชัดในหน้าแล้ง ทุกส่วนของมันจะแห้ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลราวกับว่ามันตายไปแล้ว กระทั่งฝนใหม่มาเยือน มันจึงจะงอกใบออกมาใหม่อีกครั้ง
 คลิกดูภาพใหญ่     ส่วนชายผ้าสีดาอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะพิเศษต่างไปจากชายผ้าสีดาชนิดอื่น ๆ คือ ชายผ้าสีดาเขากวาง หรือ เฟินเขากวางใบตั้ง ซึ่งเล่าถึงไว้เมื่อตอนต้นเรื่องนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ของการพึ่งพาอาศัยกันของพืช และสัตว์แบบที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (Mutualism) ใบที่ห่อหุ้มกิ่งไม้อย่างแน่นหนา ของเฟินเขากวางใบตั้ง มีลักษณะเป็นร่องไขว้ไปมา ทำให้เกิดช่องว่างภายในจำนวนมาก เหมาะแก่การอยู่อาศัยของมด เพราะปลอดภัยและกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี ขณะที่ใบที่ตั้งขึ้นทำหน้าที่เป็นรางรองน้ำฝน ให้ไหลลงสู่ส่วนเหง้าที่อยู่โคนใบเท่านั้น ทำให้ส่วนที่มดอาศัยอยู่ยังคงแห้งสนิท ส่วนผู้อยู่อาศัยอย่างมด ก็จะคอยคาบเศษอินทรียวัตถุเข้าไปทำรัง รวมทั้งนำเอาเศษซากแมลงต่าง ๆ เข้าไปเป็นอาหารด้วย ดังนั้นสิ่งที่มดขับถ่าย และเศษอินทรียวัตถุต่าง ๆ ที่มดนำเข้ามาในรัง ก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่เฟินอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้มดยังคอยขับไล่หนอน และแมลงต่าง ๆ ที่จะเข้ามากัดกินต้นเฟินอีกด้วย การเอื้อประโยชน์ของมดกับเฟินเช่นนี้ เราไม่เพียงพบในเฟินเขากวางใบตั้งเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้ในเฟินชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่นพวกเฟินในกลุ่มตานมังกร (Lecanopteris spp.) ก็มีการออกแบบเหง้าของตัวเอง ให้มีรูกลวงเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของมดด้วยเช่นกัน
    ปัจจุบันชายผ้าสีดาเขากวาง ถูกนำออกจากป่ามาขายในตลาดต้นไม้เป็นจำนวนมาก ในราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชากรของพวกมันในธรรมชาติ ลดจำนวนลงอย่างมาก แม้แต่มดเองก็ไม่สามารถปกป้องบ้านของมันไว้ได้ เพราะผู้ที่ขึ้นไปตัดเอาเฟินชนิดนี้ลงมาจากต้นไม้ มักจะนำเอายาฆ่ามดติดขึ้นไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ชายผ้าสีดาเขากวางที่มีผู้ซื้อไปจากตลาดต้นไม้ มักจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ไม่นาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถูกนำไปเลี้ยงในสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นเพราะมันขาดธาตุอาหาร ที่เคยได้รับจากมดนั่นเอง
      มาถึงเฟินกลุ่มสุดท้ายได้แก่ เฟินน้ำ (Aquatic Ferns) เฟินในกลุ่มนี้ขึ้นอยู่ในน้ำ หรือตามพื้นที่ชื้นแฉะ พบได้ตามห้วยหนองคลองบึงทั่วไป เพียงแต่รูปร่างหน้าตาของพวกมันอาจดูไม่ค่อยจะเหมือนเฟินสักเท่าไร ยิ่งถ้าหากเอ่ยชื่อออกไปแล้ว คงมีหลาย ๆ ท่านที่ประหลาดใจ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าเจ้าพืชน้ำเหล่านี้ ก็เป็นเฟินด้วยเหมือนกัน เฟินน้ำที่เราพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ได้แก่ ผักแว่น (Marsilia spp.) จอกหูหนู (Salvinia spp.) และแหนแดง (Azolla spp.) ส่วนจอกแหนธรรมดานั้นไม่ใช่เฟิน
    เฟินน้ำเหล่านี้มีวิวัฒนาการสูงกว่าเฟินทั่วไป พวกมันมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยให้ลอยน้ำได้ และมีการสร้างสปอร์สองแบบอยู่ในถุงสปอโรคาร์ป ซึ่งเป็นถุงพิเศษ ที่จะช่วยรักษาสปอร์ภายใน ให้ปลอดภัยแม้ว่าจะเกิดความแห้งแล้งขึ้นก็ตาม ปัจจุบันเราพบว่าประชากรของเฟินเหล่านี้ มีจำนวนไม่มากนัก และอาจสูญพันธุ์ไปแล้วในบางพื้นที่ ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผักแว่น เฟินน้ำที่เคยมีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ตามหัวไร่ปลายนา กลายเป็นพืชหายาก ที่แทบจะไม่พบเห็นอีกเลยบนเกาะญี่ปุ่น สาเหตุหลักเกิดจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืช การลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของผักแว่นในวันนี้ ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ และนักสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เริ่มตระหนักถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีของมนุษย์มากขึ้น จนกระทั่งมีการรณรงค์เผยแพร่ และให้ความรู้ในการทำการเกษตรแผนใหม่ ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติมากขึ้น
 คลิกดูภาพใหญ่

๓.

    หลังจากผมกลับจากป่าใต้ได้ไม่นาน ก็ตรงดิ่งขึ้นเหนือ จุดหมายอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ บนเทือกดอยที่สูงเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ นามว่า "ดอยเชียงดาว" แท่งหินปูนยักษ์ระดับสูงเช่นนี้ มักเกิดการกัดกร่อนชะล้างพังทลายอย่างรุนแรง จนต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่สามารถขึ้นอยู่ได้ ตามสันและยอดดอย จึงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ "ทุ่งหินปูน" ที่มีแท่งหินปูนโผล่ระเกะระกะ และที่นี่เองที่มีพันธุ์ไม้พิเศษหลายชนิดขึ้นอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมพืชพิเศษที่เราเรียกว่า "สังคมพืชกึ่งอัลไพน์" (Subalpine vegetation) มันเป็นสังคมพืชเขตอบอุ่น ที่ประกอบไปด้วยไม้ล้มลุก และไม้พุ่มขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่
    สภาพทางธรณีวิทยาของเขาหินปูนนั้น ประกอบไปด้วยหลืบร่องมากมาย ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ตามสันและยอดดอยเชียงดาว จึงไม่มีแหล่งน้ำ การที่เหล่าพืชพรรณต่าง ๆ จะได้รับน้ำนั้น จำต้องอาศัยการพัดผ่านของเมฆหมอก หรือน้ำฝนที่ตกในฤดูฝนเท่านั้น ส่วนในฤดูกาลอื่น ๆ ก็มักมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงอยู่เสมอ เป็นต้นว่าในฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด จนบ่อยครั้งเกิดน้ำค้างแข็ง ส่วนฤดูร้อน ความแห้งแล้งอย่างแสนสาหัสก็จะเข้ามาแทนที่ แต่ถึงแม้ว่าความแปรปรวนของอากาศจะรุนแรงเพียงใด เราก็ยังพบว่ามี "เฟิน" หลายต่อหลายชนิดขึ้นอยู่
    ผมเคยมาเยือนที่นี่ในฤดูฝน และพบว่าเฟินส่วนใหญ่บนยอดดอย ต่างผลิใบงอกงามอยู่ตามโขดหินเปล่าเปลือย คราวนี้ผมจึงกลับมาในหน้าร้อนบ้าง เพื่อที่จะดูว่าพวกมันจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้มีชีวิตรอดผ่านพ้นช่วงเวลา แห่งความแห้งแล้งนี้ไปได้
    ผมสอดส่ายสายตาไปตามซอกหินที่เวลานี้ทุกสิ่งทุกอย่างดูแห้งเป็นสีน้ำตาลไปหมด ไม่นานนักผมก็พบกับ เฟินนาคราชใบละเอียด (Araiostegia psudosystopteris) ซึ่งต่อสู้ความแห้งแล้ง โดยการสลัดใบทิ้งทั้งหมด เหลือไว้แต่เหง้าที่มีเกล็ด (Scale) ปกคลุมป้องกันการสูญเสียน้ำอีกขั้นหนึ่ง วิธีนี้ค่อนข้างธรรมดา เพราะเป็นวิธีที่เฟินหลายชนิดนิยมใช้กัน ผมยังคงสำรวจต่อไปโดยไต่ระดับสูงขึ้นไปอีก ไม่นานนักบนโขดหินร้อนก้อนหนึ่ง ผมก็พบกับ ดอกหิน (Selaginella tamariscina) พืชไร้ดอกพวกเดียวกับพ่อค้าตีเมีย ซึ่งเป็นญาติของเฟินอีกทีหนึ่ง โดยปรกติแล้วพืชจำพวกเดียวกับมัน มักจะชอบความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ทนแล้งได้ดี

 คลิกดูภาพใหญ่     บนดอยเชียงดาวแห่งนี้เราพบดอกหินขึ้นตามซอก หรือแอ่งหินปูนในที่เปิด มันมีลักษณะคล้ายดอกไม้สีเขียว ที่เกิดจากการซ้อนตัวกันเป็นชั้น ๆ ของส่วนที่คล้ายใบ ในหน้าฝนดอกหินจะกางออกทำให้ดูเผิน ๆ แล้วคล้ายกับว่าก้อนหินนั้นออกดอกได้ แต่ในหน้าแล้ง มันจะห่อตัวเองเป็นก้อนกลม ป้องกันการสูญเสียน้ำ และรักษายอดอ่อนไว้ภายใน จึงดูคล้ายกับก้อนอะไรสักอย่าง ที่แห้งติดอยู่ตามก้อนหิน จนเมื่อเข้าสู่หน้าฝน ดอกหินก็จะกลับฟื้นคืนชีพ กางตัวออกอีกครั้ง หากใครสงสัย หรือนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ขอแนะนำให้ลองทดลองดูกับ "ดอกกระดาษ" พืชกลุ่มเดียวกับพวกเบญจมาศ-ทานตะวัน ก็ดอกกลีบแข็ง ๆ แดง ๆ ส้ม ๆ ที่เด็กชาวเขานำมาเสียบไม้ขายเป็นกำ ๆ นั่นไงครับ ลองนำมาจุ่มน้ำดู ไม่นานมันก็จะหุบ แต่ถ้าทิ้งไว้ให้แห้ง หรือเอาไปตากแดดมันก็จะบานดังเดิม แม้ว่าการหุบ - กางของมันจะกลับกันกับดอกหิน แต่มันก็คงพอจะช่วยให้เรานึกภาพออกได้บ้าง
    บนผาหิน ผู้ช่วยของผมชี้ให้ดูอะไรบางอย่างลักษณะเป็นขด ๆ สีขาว มันคือ เฟินท้องเงินเชียงดาว (Cheilanthes krameri) นั่นเอง เฟินชนิดนี้ปรับตัวได้ดีมากในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง มันไม่ได้ทิ้งใบไป หากแต่ม้วนงอขมวดใบเข้ามา เพื่อรักษาหลังใบที่มีสีเขียวไว้ภายใน พร้อมกันนี้ก็หันท้องใบที่มีแวกซ์สีขาวปกคลุมไว้ภายนอก แวกซ์ดังกล่าว นอกจากจะช่วยป้องกันการคายน้ำแล้ว สีขาวของมันยังช่วยสะท้อนแสง ป้องกันการสะสมความร้อนภายในต้นอีกด้วย นับเป็นกลยุทธ์แบบทูอินวันที่น่าทึ่งทีเดียว
    ทว่าหลังจากชื่นชมอยู่กับเทคนิคการเอาตัวรอด ของเหล่าเฟินทั้งหลายได้ไม่นาน บนสันดอยห่างออกไปไม่ไกลนั้นเอง ผมกลับต้องตกตะลึงกับภาพที่ได้เห็น กลุ่มพืชสีดำกลุ่มใหญ่ ที่หงิกงออยู่ตามซอกหินเบื้องหน้า ไม่ใช่พืชที่กำลังปรับตัว หรือพักตัวแต่อย่างใด หากเป็นกอพืชที่ตายแล้วจากการถูกไฟเผา !
    พรรณไม้ต่าง ๆ บนดอยเชียงดาวไม่ไช่พรรณไม้ในป่าเต็ง-รัง ที่มีการปรับตัวให้สามารถทนทานต่อไฟได้ พวกมันอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีไฟเข้าถึงมาก่อนเลย เป็นเวลานับพันนับหมื่นปี แต่มนุษย์ก็นำเอาความหายนะมาสู่เชียงดาวจนได้ ขณะที่คนบนเขาถางป่าเผาป่า เพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ฝิ่น คนพื้นล่างก็ตัดไม้เผาไร่ไม่น้อยหน้ากัน และคนอีกกลุ่มที่ขึ้นไปท่องเที่ยว เมื่อจากไปก็ทิ้งความเสื่อมโทรมเอาไว้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ดูเหมือนผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่จะไม่ว่ากระไร
      หลังจากวันนั้นผมยังคงกลับไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ผลจากการศึกษาประเมินได้ว่า จำนวนชนิดของเฟินดอยเชียงดาวได้ลดลง และสาบสูญไปกว่าร้อยละ ๓๐ ภายในระยะเวลาเพียง ๒๐ ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ถิ่นอาศัยของพวกมันถูกทำลาย เนี่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์... เห็นจะจริงตามคำกล่าวที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดียวในโลก ที่ไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ แต่พยายามปรับธรรมชาติให้เข้ากับตัวเอง !
 คลิกดูภาพใหญ่

๔.

    ประโยชน์ของเฟินในแง่ที่เป็นไม้ประดับนั้น เป็นที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไป หากแท้จริงแล้วเฟินยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ
    เฟินเป็นพืชกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรอย่างแพร่หลาย ในตำราสมุนไพรมักมีชื่อเฟินชนิดต่าง ๆ ปรากฏอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ผักแว่น (Marsilia crenata) ที่เป็นสมุนไพรใช้แก้อาการเจ็บคอ กระแตไต่หิน (Drynaria bonii) แก้อาการหอบหืด ยายเภา (Lygodium flexuosum) แก้เจ็บคอ, ขับปัสสาวะ ขนที่ปกคลุมยอดอ่อนของว่านลูกไก่ทอง (Cibotium barometz) ใช้ปิดแผลสดเพื่อห้ามเลือด ว่านกีบแรด (Angiopteris evecta) และชายผ้าสีดา (Platycerium coronarium) ใช้บรรเทาปวด-ลดไข้ เฟินตีนนกยูง (Helminthostachys zeylanica) ใช้ถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงแถบดอยอินทนนท์ ยังใช้กูดต้นก้านหนาม (Cyathea spinulosa) ต้มน้ำอาบแทนการอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ฯลฯ
    นอกจากนี้เรายังใช้เฟินทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้อีก เช่น ใช้รากของออสมันดา (Osmunda spp.) และเฟินสกุลกูดต้น (Cyathea spp.) เป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้ ประโยชน์ในข้อนี้ทำให้ออสมันดา และกูดต้นในป่าเขตร้อนหลายแห่ง ถูกตัดโค่นลง เพื่อเป็นสินค้าส่งออกจนแทบสูญพันธุ์
    ทางภาคใต้ของไทยเรา ก็มีการใช้ประโยชน์จากย่านลิเภา (Lygodium spp.) โดยใช้เปลือกของก้านใบ มาทำเป็นเครื่องจักสานที่มีความงดงาม ปัจจุบันเครื่องจักสานจากย่านลิเภา เป็นสินค้าส่งออกที่มีราคาแพง และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
    ในเรื่องของการเกษตรนั้น แหนแดง (Azolla pinnata) ซึ่งเป็นเฟินน้ำขนาดเล็ก ยังนำไปใช้ทำปุ๋ยพืชสดได้ แหนแดงอาศัยอยู่ร่วมกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ทำให้มันมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้พืชตระกูลถั่ว นักวิชาการเกษตรจึงแนะนำว่า เมื่อชาวนาปลูกข้าวแล้ว ก็ควรจะปล่อยแหนแดงเข้าไปในนาด้วย เพราะแหนแดงจะช่วยตรึงธาตุไนโตรเจนที่เหลือใช้ จากข้าวแทนที่จะปล่อยให้สลายไปโดยเปล่าประโยชน์ และหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็ให้ไถกลบตอซังข้าวรวมทั้งแหนแดงเสีย เป็นการคืนแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะไนโตรเจน ที่แหนแดงเก็บไว้กลับคืนสู่ดิน

 คลิกดูภาพใหญ่     นอกจากประโยชน์โดยตรงอันมากมายต่อมนุษย์แล้ว เฟินยังมีคุณค่ามหาศาลทางนิเวศวิทยาอีกด้วย เฟินหลายชนิด เช่น บัวแฉก (Dipteris spp.) มหาสดำ (Cyathea contaminans) และโชน (Dicranopteris spp.) ถือได้ว่าเป็นกลุ่มพืชเบิกนำชั้นดี พวกมันมักจะขึ้นในบริเวณพื้นที่ป่าที่ถูกเปิด ทั้งจากการโค่นล้มของต้นไม้ใหญ่จากลมพายุ การเกิดดินถล่ม การทำถนน ฯลฯ เมื่อเฟินเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว จะช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน และทำให้เกิดการทดแทนของสังคมพืช (plant succession) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อป่าเริ่มฟื้นคืนสภาพ มีพืชชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทน เฟินเบิกนำเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หมดหน้าที่ และลดจำนวนลงจนหมดไป อาจกล่าวได้ว่าการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ตามธรรมชาติที่เป็นไปในรูปของการเคลียร์พื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เฟินเหล่านี้ยังคงอยู่ และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของมันต่อไปได้ ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดในบริเวณพื้นที่เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากเกิดฝนตกหนัก จนเกิดดินถล่มทลายในปี ๒๕๓๑ ถึงปัจจุบันพื้นที่ที่ถูกเปิดจากการถล่มของดิน ได้ถูกแทนที่ด้วยเฟินเบิกนำหลายชนิด โดยเฉพาะเฟินขนาดใหญ่ ที่เรียกกันว่ามหาสดำ หรือหัวอ้ายเป็ด (Cyathea contaminans) จนบางพื้นที่ กลายสภาพเป็นป่าเฟินยักษ์ไป ป่าเฟินเหล่านี้ จะคงอยู่ไประยะหนึ่ง (อาจกินเวลาหลายสิบปี) จนสภาพแวดล้อมฟื้นตัว และเอื้ออำนวยต่อการเกิดขึ้นของไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เมื่อถึงเวลานั้น เฟินเหล่านี้ก็จะหมดหน้าที่และค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนหมดไป และในท้ายที่สุดป่าทึบก็จะเข้าครอบคลุมพื้นที่นั้นอีกครั้ง
    นอกเหนือไปจากการเป็นพืชเบิกนำแล้ว เฟินที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งยวด เช่น เฟินแผ่นฟิล์ม หรือ ฟิล์มมี่เฟิน (filmy ferns) ยังมีประโยชน์ทางนิเวศวิทยา ในแง่ที่เป็นตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้วย ฟิล์มมี่เฟินเป็นเฟินอิงอาศัยวงศ์ Hymenophyllaceae ที่มีใบบางจัด เพราะใบของมันประกอบไปด้วยเซลล์เพียงชั้นเดียว ทำให้มันสามารถดูดซับเอาน้ำจากเมฆหมอก และความชื้น ในอากาศเข้าสู่ใบได้โดยตรง ซึ่งในทางกลับกัน มันก็สูญเสียน้ำได้อย่างง่ายดายเช่นกัน หากเกิดความแห้งแล้งขึ้น ดังนั้นฟิล์มมี่เฟิน จึงมักขึ้นอยู่เฉพาะในป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ และมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ และหากป่าดังกล่าวถูกทำลาย จนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ฟิล์มมี่เฟินเหล่านี้เอง ที่จะเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุนี้บรรดานักนิเวศวิทยา จึงพากันยกให้ฟิล์มมี่เฟิน เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่า การศึกษาจำนวน และชนิดของฟิล์มมี่เฟินในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้นักนิเวศวิทยา ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมในป่าได้อย่างชัดเจน
 คลิกดูภาพใหญ่     อย่างไรก็ตาม เฟินก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งในโลก ที่มิได้มีแต่ด้านที่เป็นประโยชน์เท่านั้น บางครั้งการงอกงามมากเกินไปของเฟินบางชนิด ก็ทำให้มันกลายเป็นวัชพืชร้ายแรงไป ดังเช่นในกรณีของกูดเกี๊ยะ ซึ่งขึ้นได้ดีตามพื้นที่สูงทางเหนือ เหง้าของมันฝังลึกลงไปในดิน ทำให้มันไม่กลัวไฟ และกำจัดได้ยาก เช่นเดียวกับจอกหูหนู ซึ่งเป็นเฟินน้ำ ในบางพื้นที่เราพบว่ามันแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว จนปกคลุมไปทั่วคุ้งน้ำ ซึ่งนอกจากจะกีดขวางการจราจรทางน้ำแล้ว มันยังบดบังแสงสว่าง ไม่ให้ส่องลงไปใต้ผิวน้ำอีกด้วย เป็นผลให้พืชน้ำอื่น ๆ และสัตว์น้ำบางชนิด ไม่สามารถเจริญอยู่ได้
    การแพร่กระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใด ๆ ในโลกมักถูกควบคุมอยู่ภายใต้ระบบนิเวศ ในพื้นที่ที่มันอาศัยอยู่ หรือในพื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิดของมัน การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือการนำพืช หรือสัตว์จากแหล่งหนึ่งไปแพร่กระจายยังแหล่งอื่น จึงมักจะสร้างปัญหาตามมาเสมอ เฟินก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับเรื่องนี้
    ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มผู้เลี้ยงแกะต้องระดมกำลังกำจัดเฟินพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งหากแกะกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ทว่าเมื่อสืบสาวราวเรื่องดูก็พบว่า เฟินชนิดนี้เป็นพืชพื้นถิ่นของทวีปออสเตรเลีย ทวีปซึ่งไม่เคยมีแกะมาก่อน มนุษย์ต่างหากที่นำแกะเข้ามาเลี้ยงทีหลัง จนทำให้เกิดปัญหาตามมา แต่อย่างไรก็ดี บทสรุปของเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่ที่การกำจัดเฟินเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป แม้ว่ามันจะเป็นเจ้าของบ้านอยู่แต่เดิมก็ตาม
    ในบริเวณอุทยานแห่งชาติบึงเอเวอร์เกลด รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เช่นกัน ที่นั่นมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ของย่านลิเภาชนิดหนึ่ง ที่ในบ้านเราเรียกกันว่า ย่านงอแง (Lygodium japonicum) มันขึ้นพันต้นไม้ขนาดใหญ่ไปทั่ว ทำให้ต้นไม้เหล่านั้นเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร มิหนำซ้ำในฤดูแล้ง ย่านงอแงจะเหี่ยวแห้ง เป็นเชี้อเพลิงชั้นดีเมื่อเกิดไฟป่า เป็นเหตุให้ไฟป่าลุกลาม กินอาณาบริเวณกว้างขวาง และลุกไหม้อย่างรุนแรงยากแก่การควบคุม ร้อนถึงนักกีฏวิทยา ต้องพยายามหาแมลงศัตรูของย่านงอแง ไปปราบมัน การแก้ปัญหาในครั้งนั้น ต้องเสียเวลา และเงินทองจำนวนมาก ถึงกับต้องเดินทางข้ามโลก มาหาแมลงดังกล่าวถึงในประเทศมาเลเซีย ทว่าข้อเท็จจริงก็คือ ย่านงอแงมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก พวกมันเติบโตอยู่ภายใต้การควบคุมของธรรมชาติในพื้นที่ แต่ต่อมาได้มีผู้นำย่านงอแงเข้าไปปลูกในอเมริกา จนแพร่กระจายไปในธรรมชาติ มันปรับตัวเก่ง และเจริญเติบโตอย่างสุขสบายโดยไร้ศัตรู ไม่นานมันก็แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่ว จนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ตกลงใครกันแน่ที่สร้างปัญหา ?
................................................................
 คลิกดูภาพใหญ่     ขณะที่ประโยชน์ของเฟินในด้านต่าง ๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ทว่าในทางกลับกัน อัตราการสูญพันธุ์ของพืชชนิดนี้ ก็ทวีขึ้นเรื่อย ๆ จากการคุกคามของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ จึงต้องเร่งมือศึกษาวิจัยเฟินในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้นพร้อม ๆ ไปกับการหาแนวทางอนุรักษ์ ก่อนที่พืชโบราณเหล่านี้จะสูญพันธุ์ไป
    การเร่งค้นคว้าวิจัยดังกล่าว ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเฟินเป็นไปอย่างน่าพอใจ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังคงมีเรี่องราวและคำถามเกี่ยวกับเฟินอีกมากที่ยังรอคอยคำตอบ
    และคำถามสำคัญหนึ่งในนั้นก็คือ เฟิน--พืชโบราณซึ่งสามารถพาเผ่าพันธุ์ของมัน ผ่านพ้นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงของโลกมาได้ หลายต่อหลายครั้ง ตลอดช่วงวิวัฒนาการหลายร้อยล้านปี จะสามารถพาเผ่าพันธุ์ของมันรอดพ้นวิกฤตของโลกยุคปัจจุบัน ที่มีมนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญไปได้หรือไม่ ? และอย่างไร ?
 

เกี่ยวกับผู้เขียน

    ปิยเกษตร สุขสถาน เป็นผู้สนใจศึกษาคลุกคลีอยู่กับพืชกลุ่มเฟินมากว่าแปดปี เขาจบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทำการวิจัยเฟินบริเวณดอยเชียงดาว จ. เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำหอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ. เชียงใหม่ และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาพฤกษศาสตร์ ณ ประเทศเดนมาร์ก


 

ขอขอบคุณ

รศ. หม่อมหลวง จารุพันธ์ ทองแถม, รศ.ดร. ทวีศักดิ์ บุญเกิด, อาจารย์สุมน มาสุทน, คุณสมควร สุขเอี่ยม, ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น, สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่, หัวหน้าสว่าง สีตะวัน และเจ้าหน้าที่ประจำสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าพิษณุโลก, คุณจรรยา จำนงค์ไทย ฝ่ายโบราณชีววิทยา กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี, คุณป๋อง, คุณธีร์, คุณเต่า, คุณโมทย์ และเพื่อน ๆ ที่ร่วมเดินป่าทุกท่าน


 คลิกดูภาพใหญ่

อย่างไรคือ เฟิน

    เราจะแยกเฟินออกจากพืชอื่น ๆ ได้อย่างไร ?
    หลักง่าย ๆ ประการแรกที่ใช้สังเกตก็คือ ยอดอ่อน เฟินส่วนใหญ่จะมียอดอ่อนที่ม้วนงอ ซึ่งเราเรียกว่า Crozier หรือ Fiddlehead ที่ต้องใช้คำว่าส่วนใหญ่ก็เพราะ เฟินบางชนิดมียอดอ่อนที่ไม่ม้วนงอ หรือม้วนงอไม่ชัดเจน เช่น เฟินในวงศ์ตีนมือนกเขา (Ophioglossaceae) ขณะเดียวกันพืชอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เฟินก็อาจมียอดอ่อนม้วนงอได้เช่นกัน อาทิพืชจำพวกหยาดน้ำค้าง (Droceraceae) บางชนิดซึ่งเป็นพืชกินแมลง ดังนั้นเพื่อความแน่นอน เราจึงต้องพิจารณาลักษณะหลาย ๆ อย่างประกอบกันไป
    ดอกก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งที่สำคัญ เพราะเฟินทุกชนิดเป็นพืชไร้ดอก พืชใดก็ตามที่มีดอกแม้ว่ามันจะมีใบที่คล้ายเฟินเพียงไร มันก็ไม่ใช่เฟิน อย่างไรก็ตาม การสังเกตว่าพืชชนิดใดเป็นเฟินหรือไม่ โดยดูจากดอก ก็มีข้อพึงระวัง เนื่องจากพืชหลายชนิดแม้จะเป็นพืชดอก แต่หากในช่วงเวลาที่เราสังเกต ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการออกดอก มันก็จะไม่มีดอกปรากฏให้เห็น และอาจทำให้เราสับสน หรือเข้าใจผิดว่า มันเป็นพืชไร้ดอกได้
    ในเมื่อเฟินไม่มีดอก สิ่งที่ตามมาก็คือมันจะไม่สามารถสร้างเมล็ดได้ ถ้าเช่นนั้นเฟินขยายพันธุ์ได้อย่างไร ?
    ธรรมชาติได้สรรค์สร้างให้เฟินมีสิ่งพิเศษที่เรียกว่า สปอร์ (spore) เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ เจ้าสปอร์ที่ว่านี่มีขนาดเล็กมาก จนแทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พวกมันจะเกิดรวมกันอยู่ในถุงขนาดเล็ก ที่เราเรียกว่า อับสปอร์ (sporangium) ซึ่งมีขนาดไม่แตกต่างไปจากฝุ่นผงสักเท่าไร อับสปอร์นี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณใต้ใบเรียกว่า กลุ่มอับสปอร์ (sorus) โดยการรวมกลุ่มของมันอาจมีรูปร่างต่าง ๆ กันไป เช่น รูปกลม รูปรี เป็นเส้นยาว ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด และประเภทของเฟิน กลุ่มอับสปอร์นี้เอง ที่เราสามารถเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า เมื่อพลิกดูด้านใต้ของใบเฟิน และเป็นจุดสังเกตอีกประการหนึ่งของเฟิน แต่ในบางครั้ง เราอาจจะไม่เห็นกลุ่มอับสปอร์ที่ว่า หากเฟินดังกล่าวยังโตไม่เต็มที่ หรืออยู่ในฤดูกาลที่ไม่เหมาะสม
    ใบของเฟินทุก ๆ ใบไม่จำเป็นจะต้องมีกลุ่มอับสปอร์อยู่เสมอไป การมีหรือไม่มีสปอร์นี้จะถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ใบยังม้วนงออยู่ หากใบคลี่ออกมาแล้วไม่มีกลุ่มอับสปอร์ ใบดังกล่าว ก็จะไม่สามารถสร้างสปอร์ได้อีกในภายหลัง เราจึงจำแนกใบของเฟิน ตามการสร้างสปอร์ออกได้เป็น สองแบบ คือ ใบไม่สร้างสปอร์ (sterile frond) และใบสร้างสปอร์ (fetile frond) ซึ่งในเฟินบางชนิดนั้น ใบทั้งสองแบบอาจมีรูปร่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่ามันจะอยู่บนต้นเดียวกันก็ตาม
    ในบางครั้งการใช้คำว่าเฟิน ยังอนุโลม ให้หมายรวมไปถึงญาติสนิทของเฟิน อันได้แก่ หวายทะนอย (Psilotaceae) ช้องนางคลี่ (Lycopodiaceae) พ่อค้าตีเมีย (Selaginellaceae) กระเทียมนา (Isoetaceae) และหญ้าถอดปล้อง (Equisetaceae) ด้วย กลุ่มพืชเหล่านี้ไม่ใช่เฟินที่แท้จริง แต่เป็นเพียงญาติ ๆ ที่โบราณกว่าเท่านั้น เนื่องจากพวกมันยังมีพัฒนาการในส่วนต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกับเฟิน อย่างไรก็ตามพวกมันมักถูกนำมากล่าวถึง ในหนังสือร่วมกันกับเฟินอยู่เสมอ ๆ โดยใช้คำว่า Ferns and Fern Allies นั่นเอง


 คลิกดูภาพใหญ่

โครงสร้างของเฟิน

คลิกดูภาพใหญ่     เหง้า (Rhizome) เหง้าหรือลำต้นของเฟิน มีอยู่หลายแบบแตกต่างไปตามชนิด และกลุ่มของเฟิน ซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้
    - เหง้าตั้งตรง (Erect) เฟินที่มีเหง้าชนิดนี้มักจะออกใบเรียงเวียนรอบเหง้า ได้แก่ เฟินข้าหลวงหลังลาย (Asplenium nidus) เฟินหางไก่ (Pteris spp.) เป็นต้น หากมีลำต้นขนาดใหญ่ ตั้งตรงขึ้นคล้ายต้นปรงหรือปาล์ม เรามักเรียกลำต้นแบบนี้ว่า trunk ซึ่งพบได้ในเฟินจำพวกกูดต้นหรือมหาสดำ (Cyathea spp.)
    - เหง้าทอดเลื้อย (Creeping) เหง้าลักษณะนี้จะทอดเลื้อยไปตามเปลือกไม้ ผิวดิน หรือใต้ดินในบางครั้ง โดยจะงอกรากทางด้านครึ่งล่างของเหง้า และออกใบทางด้านครึ่งบนของเหง้า เฟินในกลุ่มนี้ ได้แก่ เฟินนาคราช (Davallia spp.) บัวแฉก (Dipteris spp.) กระแตไต่ไม้ (Drynaria spp.) เป็นต้น
    ใบ (Fronds) ใบเฟินเมื่อม้วนงออยู่มักถูกปกคลุมไปด้วยขน (hair) หรือเกล็ด (scale) เมื่อคลี่ออกมาแล้วมีส่วนประกอบดังนี้
คลิกดูภาพใหญ่
ใบเฟินอาจมีรูปร่างแตกต่างกันหลายแบบ เช่น
คลิกดูภาพใหญ่
ใบเดี่ยว
คลิกดูภาพใหญ่
ใบประกอบแบบขนนก ๑ ชั้น
คลิกดูภาพใหญ่
ใบประกอบแบบขนนก ๒ ชั้น
คลิกดูภาพใหญ่
ใบประกอบแบบขนนก ๓ ชั้น
คลิกดูภาพใหญ่     สปอร์ (Spore) เฟินใช้สปอร์ในการขยายพันธุ์ สปอร์นี้จะบรรจุอยู่ในอับสปอร์ (sporangium) ซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า กลุ่มอับสปอร์ (sorus) ในเฟินบางชนิดจะมีเยื่อบาง ๆ คลุมกลุ่มอับสปอร์นี้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันอันตราย เราเรียกเยื่อนี้ว่า เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ (indusium) ส่วนตัวสปอร์เองเราแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามรูปร่างได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วซึ่งมีสองซีกเหมือนกัน (Bilateral) และกลุ่มที่มีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมพีระมิด (Tetrahedral)

 คลิกดูภาพใหญ่

วัฏจักรชีวิตของเฟิน

    เฟินมีวัฏจักรชีวิตแบบสลับ (alternation of generation) ประกอบด้วยระยะที่เป็น heploid plant มีโครโมโซมหนึ่งชุด (n) เรียก sexual generation (gametophyte) สลับกับระยะที่เป็น diploid plant มีโครโมโซมสองชุด (2n) เรียก non-sexual generation (sporophyte)
    เมื่อต้นสปอโรไฟต์ (ต้นเฟินที่เราเห็นทั่วไป) เจริญเติบโตเต็มที่ จะสร้างสปอร์เพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ สปอร์ดังกล่าวบรรจุอยู่ในอับสปอร์ (sporangium) และรวมกลุ่มอยู่ใต้ใบ เมื่อสปอร์แก่ อับสปอร์จะแตกออก ปล่อยสปอร์หลุดร่วงปลิวไปตามลมหรือน้ำ หากไปตกในที่ที่เหมาะสม สปอร์จะงอกเป็นเส้นสาย (filament) แล้วแบ่งเซลล์พัฒนาจนเป็นแผ่นบาง ๆ เรียกว่า โปรแทลลัส (prothallus) ต่อมาโปรแทลลัสนี้จะสร้างอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมีย (archegonium) ซึ่งมีเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียคือไข่ (egg) อยู่ภายใน และอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ (antheridium) ซึ่งภายในมีเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้คือสเปิร์ม (sperm)
    เมื่อมีความชื้นเหมาะสม สเปิร์มจะถูกปล่อยให้ว่ายน้ำไปผสมกับไข่ ได้เซลล์ที่มีโครโมโซม สองชุด (2n) เรียกว่า ไซโกต (zygote) จากนั้นมันจะเริ่มพัฒนาตัวเป็นต้นอ่อน (embryo) โดยการสร้างใบจริงให้เห็น กระทั่งโตเป็นต้นสปอโรไฟต์ในที่สุด
    จะเห็นได้ว่า ช่วงตั้งแต่สปอร์เริ่มงอกจนถึงระยะต้นอ่อนนั้น เฟินมีความอ่อนแอและเปราะบางมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สิ่งที่มันขาดไม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าวคือน้ำและความชื้น


 คลิกดูภาพใหญ่

เฟินกินได้

    ดังที่รู้กันว่าคนไทยนั้น "เรื่องกินเรื่องใหญ่" บรรพบุรุษของเราได้สืบเสาะหาของกินตามป่าตามดอย มาตั้งแต่โบร่ำโบราณจนรู้ว่ามีอะไรที่กินได้บ้างไม่ได้บ้าง เราจึงรู้จักเฟินกินได้หลากหลายชนิดพันธุ์
    ในบรรดาเฟินกินได้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เห็นจะได้แก่ "กูดห้วย" หรือ "กูดกิน" (Diplazium esculentum) ที่ทำอาหารได้สารพัด ตั้งแต่เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ชุบไข่ หรือเป็นส่วนผสมในแกงต่าง ๆ โดยเฉพาะแกงกะทิ เฟินอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้นิยมบริโภคพอควร คือ ลำเทง หรือ ผักกูดแดง (Stenochlaena palustris) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามที่ชื้นแฉะแม้ในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ
    ในแดนปลาดิบ ชาวญี่ปุ่นนิยมนำยอดอ่อนของกูดเกี๊ยะ (Pteridium equilinum) ไปดองเกลือรับประทาน เรียกกันว่า "วาราบิ" แต่ตำรับนี้ยังไม่ขอแนะนำ เพราะมีผู้วิจัยพบว่าต้นสดของเฟินดังกล่าวมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าสารที่ว่านี้จะหมดไปเมื่อถูกดองเกลือหรือเปล่า คงต้องรอดูให้แน่ใจก่อนดีกว่าแล้วค่อยมาว่ากันใหม่
    คราวนี้ไปทางแถบยุโรปกันบ้าง ชาวยุโรปมักจะนำเฟินก้านดำน้ำตก (Adiantum capilus-veneris) ซึ่งเป็นเฟินที่มีอยู่ทั่วไป มาตากแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำชา ว่ากันว่ามันช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและความกลมกล่อมให้แก่ชายิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในบางประเทศก็ยังนิยมใช้เฟินในการปรุงแต่งกลิ่นและรสของเบียร์อีกด้วย
    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของประโยชน์จาก "เฟินกินได้" เท่านั้น