|
|
|
วันดี สันติวุฒิเมธี :
รายงาน / บุญกิจ
สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ
|
ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ลานกลางแจ้งสวนลุมพินี
คึกคักไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ
ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในงาน
"วิถีไท" งานซึ่งจัดขึ้น
โดยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ
และเอกชน
เพื่อเผยแพร่วัฒธรรม
และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากสี่ภาคของไทย
รวมทั้งจำลองวิถีชีวิตผู้คนจากถิ่นอื่น
ให้คนเมืองได้สัมผัส
และเรียนรู้อย่างใกล้ชิด |
|
|
|
ที่มุมหนึ่งของ "ลานเด็ก"--พื้นที่สำหรับสำหรับเด็กและเยาวชน
ที่มีพี่เลี้ยงจากองค์กรอิสระหลายกลุ่มนำกิจกรรม
และการละเล่นต่าง ๆ
มาให้เด็ก ๆ
ได้ร่วมสนุกมากมาย
เราได้พบกับเด็กกลุ่มใหญ่
กำลังก้มหน้าก้มตา
ทำอะไรสักอย่างอยู่บนสนามหญ้า
รอบตัวมีใบมะพร้าวเส้นยาว
วางระเกะระกะอยู่เต็มไปหมด
พักหนึ่ง
เสียงเครื่องเป่าอะไรสักอย่างที่ฟังดูบี้
ๆ แบน ๆ ก็ดังออกมาจากวง
ตามด้วยเสียงหัวเราะเอิ้กอ้ากสนุกสนาน
พอเดินเข้าไปใกล้จึงได้รู้ว่า
เสียงแห่งความสุขนั้น
เกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ
ได้ลงมือแปลงร่างใบมะพร้าวเส้นยาว
ให้เป็นของเล่นนานาชนิด
ไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียน
จั๊กจั่น ตั๊กแตน ตะกร้อ
รวมถึงปี่ที่ส่งเสียงบี้ ๆ
แบน ๆ อยู่เมื่อครู่
"เด็กกรุงเทพฯ
ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำของเล่นด้วยตัวเอง
พอมาเจอของเล่น
ที่เขาสามารถทำเองได้
ก็เลยรู้สึกสนุก และภูมิใจ
พ่อแม่ผู้ปกครองบางคน
ก็มาให้เราสอนเหมือนกัน
เพื่อที่เขาจะได้เอาไปสอนลูกที่บ้าน
เพราะพ่อแม่เองก็ทำไม่เป็น
แม้ว่าหลายคนจะมีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด
เคยหัดทำของเล่นมาก่อน
แต่พอเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ
นานวันเข้าก็ลืม
เลยไม่รู้จะสอนลูกยังไง"
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน
หรือ กุ๋ย
พี่เลี้ยงจากกลุ่มไม้ขีดไฟ
กลุ่มอิสระที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็ก
บอกถึงเหตุที่คนให้ความสนใจ
ของเล่นใบมะพร้าวมากเป็นพิเศษ
พร้อมทั้งเหตุผลที่เลือกกิจกรรมนี้
เป็นส่วนหนึ่งของลานเด็กว่า |
|
|
|
"ทุกวันนี้เด็กไทยมีปัญหาใหญ่
คือ
ขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง
ๆ เด็กมักถูกตีกรอบ
ห้ามทำนู่น ทำนี่
ใช้ชีวิตอยู่แต่ในคอนโดฯ
ห้องเรียน ไม่เคยทำอะไรเอง
เด็กจึงไม่เกิดการเรียนรู้
ถ้าเรามองว่าเด็กเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม
เขาก็ควรจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมหลาย
ๆ
อย่างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
และเด็กจะเติบโตได้จากการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้
เป็นการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันไม่ใช่ในห้องเรียน
ดังนั้นกิจกรรมในลานเด็กทั้งหมด
จึงพูดถึงการมีส่วนร่วม
โดยให้เด็กทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง
เช่น ปั้นขนมบัวลอย
ทำเครื่องจักสาน วาดรูป
ทำยาหม่อง
ทำให้เด็กเกิดความภูมิใจ
และเห็นคุณค่าในสิ่งของที่ตนทำขึ้นเองกับมือ
"ส่วนพวกเราก็คิดกันว่าน่าจะสอนให้เด็กทำของเล่น
เพราะเด็กทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ทำของเล่นเล่นเอง
ผมคิดว่าถ้าเราสอนให้เขาทำเอง
มันจะเกิดอะไรขึ้นเยอะเลยในหัวใจเขา
อย่างน้อยเขาก็ได้ของเล่นกลับไป
และได้ความภูมิใจ
นอกจากนี้ความรู้ในการทำของเล่น
ก็จะอยู่กับเขาตลอดไป
เขาสามารถกลับไปสอนน้อง
พ่อแม่เองก็เอาไปสอนลูกได้"
เมื่อตกลงกันได้ว่าจะให้เด็ก
ๆ ทำของเล่นใบมะพร้าว
พอถึงวันงาน
บรรดาพี่เลี้ยงกลุ่มไม้ขีดไฟ
ก็ขนใบมะพร้าวจากสวนของเพื่อนพ้องคนรู้จัก
มากองไว้ที่บริเวณลานเด็ก
หลังจากนั้นพี่เลี้ยงก็เริ่มเรียกความสนใจ
ด้วยการหยิบใบมะพร้าวมาแปลงร่างเป็นสิงสาราสัตว์
แล้ววางโชว์ไว้บนสนามหญ้า
สักพักหนึ่ง
เด็กตัวน้อยตัวใหญ่
ก็เริ่มเดินเข้ามาหาดังคาด
สุเทพ วิไลเลิศ
แอบเผยความลับให้เราฟังว่า |
|
|
|
"ความจริงพวกเราทำของเล่นได้ไม่กี่อย่างเท่านั้น
เพราะความตั้งใจของเรา
ไม่ใช่ไปสอน
แต่เราต้องการไปกระตุ้น
ให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เราเชื่อว่าคนที่มาร่วมงาน
จะต้องมีคนที่ทำของเล่นใบมะพร้าวเป็นมาก่อน
แค่เราหาใบมะพร้าวไปวางไว้
เดี๋ยวก็ต้องมีคนมาทำให้ดู
แล้วก็มีจริง ๆ
มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่
มาช่วยกันสอน
และแลกเปลี่ยนวิธีทำของเล่นกัน
เพราะแต่ละคนจะทำได้คนละอย่างสองอย่าง
อย่างคุณลุงคนหนึ่ง
ปรกติขายเขียงอยู่แถวคลองเตย
พอเห็นเราเอาใบมะพร้าวมาวางไว้
แกก็มานั่งแล้วก็สอนคนอื่น
ๆ ให้ทำปลาตะเพียน ตั๊กแตน
ระหว่างสอน
แกก็เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองให้คนอื่น
ๆ ฟัง ผมรู้สึกได้เลยว่า
แกมีความสุข
และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
เพราะมีทั้งเด็ก
และผู้ใหญ่มานั่งเรียนกับแก
พวกเราเองก็ได้เรียนรู้
จากคนเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน"
งานวิถีไทจัดขึ้นทั้งหมดห้าวัน
คือระหว่างวันที่ ๗-๑๑
มีนาคม
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว
บริเวณลานเด็กเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ
รอยยิ้ม แววตาใสซื่อ
และสองมือที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนของเด็ก
ๆ
และผู้ใหญ่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
เด็กบางคนมาทุกวันจนทำกิจกรรมได้หมดทุกอย่าง
พอถึงวันสุดท้ายจึงได้เลื่อนตำแหน่ง
จากผู้ชมให้เป็นวิทยากรนำกิจกรรมเสียเลย
หลังจากร่วมกิจกรรมกับเด็กมาเป็นเวลาหลายวัน
กุ๋ย
หัวเรือใหญ่ของกลุ่มไม้ขีดไฟ
ก็ได้พบสาเหตุสำคัญ
ที่ทำให้เด็กเมืองกรุง
ทำของเล่นไม่เป็น
"ปัญหาหนึ่งคือเรื่องทรัพยากร
หรือวัสดุจากธรรมชาติที่จะนำมาทำของเล่น
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่
เพราะเราหาวัสดุอื่นแทนก็ได้
ผมคิดว่าปัญหาใหญ่
อยู่ที่จินตนาการมากกว่า
เพราะถ้ามีจินตนาการ
เขาจะสามารถดัดแปลงหรือสร้างสรรค์อะไรก็ได้
สาเหตุที่เด็กขาดจินตนาการ
มาจากการที่เด็กมักถูกตีกรอบอยู่ตลอดเวลา
พอจะทำอะไรก็ถูกห้ามไปหมด
อีกสาเหตุหนึ่งคือ
เด็กมีเวลาที่จะได้เป็นอิสระน้อย
ถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ
วันหยุดก็ต้องไปเรียนพิเศษ
เรียนบัลเลต์ เรียนเปียนโน
ถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่ยากจน
ก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน
ไม่ค่อยมีเวลาที่จะคิดทำอะไรด้วยตัวเอง |
|
|
|
หลังจบงานวิถีไท
บรรดากลุ่มพี่เลี้ยงที่มาช่วยงานในลานเด็ก
ก็แยกย้ายไปทำงานอื่น ๆ
ตามเป้าหมายของกลุ่มตน
สำหรับกลุ่มไม้ขีดไฟ
ก็ต้องกลับไปทำงานด้านการพัฒนาเด็กของตนต่อไป
กุ๋ยกล่าวถึงภารกิจหลัก
และโครงการต่อไปของพวกเขาว่า
"เนื่องจากกลุ่มของเราเป็นกลุ่มอิสระ
ของบประมาณจากองค์การพัฒนาเด็ก
และเยาวชน
ในพระบรมราชูปถัมภ์แบบปีต่อปี
ดังนั้นในแต่ละปี
เราจึงต้องมาคิดกันว่า
เราจะทำกิจกรรมที่มีเนื้อหาอะไรบ้าง
โดยรูปแบบกิจกรรมที่เราทำส่วนมากเป็นละครเวที
ซึ่งนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
หรือปัญหาของสังคมในช่วงเวลานั้น
เช่น
ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
ปัญหาความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง
ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
เป็นต้น โดยหลังจากการแสดง
ก็จะมีการพูดคุยกันกับผู้ชมด้วย
"สาเหตุที่พวกเราเลือกทำละคร
เพราะเชื่อว่าละครมีพลังอะไรบางอย่างซ่อนอยู่
มันทำให้คนที่ได้ดูละครของเรา
รู้สึกไว้ใจเรา
และอยากระบายปัญหาต่าง ๆ
ให้ฟัง
ปัจจุบันเรากำลังทำละครเกี่ยวกับความรุนแรง
ในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ
พยายามนำเสนอเนื้อหาที่ทำให้เขารู้สึกว่า
สังคมเป็นของเขา
และเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
เขาควรจะเอาพลังที่จะทะเลาะวิวาท
มาทำเรื่องที่สร้างสรรค์ดีกว่า
"ในอนาคตพวกเรามีโครงการเปิดศูนย์
ให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น
โครงการพัฒนาศักยภาพ
เครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ต่าง
ๆ ให้มีความเข้มแข็ง
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น
รวมทั้งโครงการอื่น ๆ
ที่จะช่วยลดปัญหาสังคมเท่าที่เราจะพอทำได้
เราอยากเห็นสังคมไทย
มีปัญหาน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้" |
|