|
|
|
เรื่อง : นิพัทธ์พร
เพ็งแก้ว
ภาพ : บุญกิจ
สุทธิญาณานนท์
|
สี่แยกราชประสงค์เป็นย่านธุรกิจอันคึกคักที่สุด
แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
นอกไปจากซีกด้านโรงพยาบาลตำรวจแล้ว
รอบข้างล้วนแออัดด้วยโรงแรมต่าง
ๆ ห้างสรรพสินค้า
ศูนย์การค้า พลาซ่านานา
ผุดประชันกันทุกทิศ
และที่น่าสังเกตก็คือ
มิใช่เพียงบริษัทธุรกิจเท่านั้น
ที่กำลังเผชิญหน้ากัน
หากยังมี "รูปเคารพ"
ภายใต้ฉายาของเทพเจ้าต่าง
ๆ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ทั้งพระพรหม พระวิษณุ
พระลักษมี พระอินทร์
พระพิฆเณศวร
ตั้งเป็นเทวสถาน ศาล
หรือกระทั่งยืนตระหง่านอยู่หน้าบริษัทธุรกิจอย่างโดดเด่น
อลังการ
ประจันหน้ากันอยู่ด้วย !
จนราวกับว่า
เทพเจ้าทั้งหลาย
ได้พากันเดินพาเหรดจากอินเดีย
มายึดหัวหาดประเทศไทย
เป็นที่ตั้งตำหนักไปแล้วก็ไม่ปาน
!
|
|
|
|
สี่แยกเทพเจ้า
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
ตรงหัวมุมมีรูปเคารพสีทองอร่าม
ประทับยืนอยู่ในซุ้ม
ดูเผิน ๆ เหมือนเป็น
พรหมปัญจมุข พระพรหมที่มี ๕
หน้าตามปกรณัมดั้งเดิม
แต่ป้ายประกาศที่ประทับอยู่
กล่าวว่าคือ "ตรีมูรติ"
ซึ่งหมายถึงพระเป็นเจ้าสามพระองค์รวมเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว
คือ พระพรหม พระศิวะ
และพระนารายณ์
อาคารเวิลด์เทรด
บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าอิเซตัน
ยังมีรูปหล่อของพระพิฆเณศวร
อยู่ในซุ้มด้านหน้า
พระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งวิชาการ
และศิลปศาสตร์ทั้งปวง
ถัดมาที่ฝั่งตรงข้าม
คือบนชั้นสี่ของอาคารเกษรพลาซ่า
บริเวณดาดฟ้า
เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ลักษมี
พระองค์เป็นศักติ (consort)
ของพระนารายณ์ เป็นพลังแฝง
(potentiality)
ให้พระนารายณ์มีกำลัง
ที่จะทำหน้าที่บริหารรักษาโลกได้
ตรงขึ้นไปอีกบริเวณหน้าโรงแรมรอยัลเมอริเดียน
(Le Royal Meridian)
มีรูปเคารพของพระนารายณ์ทรงครุฑ
ปั้นพระพักตร์แบบนารายณ์ในศิลปะเขมร
ในพระหัตถ์ขวาล่างพระองค์ถือ
"ภู" หรือก้อนดิน
อันทำให้ระบุชัดลงไปได้ว่า
เป็นรูปเคารพของพระนารายณ์
ในภาคของ "พระวิษณุ"
ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด
ของนิกายไวษณพ
ข้ามไปอีกฟากถนน
หน้าอมรินทร์พลาซ่า
คือซุ้มเทวาลัย
ขององค์อมรินทราธิราช
วรกายเขียว
ราชาแห่งสรวงสวรรค์
ที่ชาวบ้านไทยรู้จักกันในนามของ
"พระอินทร์"
เทวดานักสังคมสงเคราะห์ที่ยาม
"ทิพยอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา
กลับกระด้างดังศิลาประหลาดใจ"
เมื่อแท่นประทับแข็งกระด้าง
หมายถึงมีเหตุการณ์ไม่ปรกติ
คนดีถูกรังแก
พระอินทร์ก็มักจะลงมาช่วยพระเอกนางเอก
ในนิทานพื้นบ้าน
หรือพระโพธิสัตว์ในนิทานชาดก
เวลาตกทุกข์ได้ยากเสมอ
นับเป็นเทพที่พึ่งของชาวบ้านไทยมาแต่ดั้งเดิม
|
|
|
|
และที่เก่าแก่ที่สุด
มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙
อันจุดประกายให้เกิด "สี่แยกเทพเจ้า"
ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
ก็คือเทวสถานท่านท้าวมหาพรหม
บริเวณหัวมุมโรงแรมเอราวัณเดิม
ที่ตลอดทั้งวัน
จ้าละหวั่นไปด้วยนักท่องเที่ยวมาเลย์
สิงคโปร์ ไต้หวัน จีนฮ่องกง
ผลัดเปลี่ยนมาบนบานสักการะ
จนอยู่ในโปรแกรมสำคัญของการมาทัวร์เมืองไทย
บริเวณเทวสถานอบร่ำไปด้วยควันธูปเทียน
ระรัวเสียงพิณพาทย์
และการขยับเยื้องกราย
ของนางละครรำแก้บน
อยู่ข้างพระพรหม
รอบหนึ่งราว ๕ นาที
ส่วนอัตราค่าบริการนั้น
นางรำ ๒ คน-๒๖๐ บาท, ๔ คน-๓๖๐
บาท, ๖ คน-๖๑๐ บาท, ๘ คน-๗๑๐ บาท
และยังมียอดเงินบริจาค
ให้แก่พระพรหม
ซึ่งมีมูลนิธิท่านท้าวมหาพรหม
โรงแรมเอราวัณ
ดูแลอยู่นั้น จนถึงวันนี้ (๒๘
มิถุนายน ๒๕๔๓)
เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๔๓๖,๒๕๘,๑๗๖.๓๙
บาท
ที่มาของพระพรหมเอราวัณนั้น
นาวาเอก สมภพ ภิรมย์
สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเล่าไว้ว่า
ในราว ๔๐ กว่าปีก่อน
ครั้งเปิดโรงแรมเอราวัณในช่วงแรก
ๆ นั้น ได้มีเหตุการณ์ที่
"มนุษย์ไม่อาจทราบได้"
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
ซึ่งรับผิดชอบ
ควบคุมการก่อสร้างอาคารหลังนี้
จึงไปกราบเรียนพลเรือตรี
หลวงสุวิชานแพทย์
ซึ่งเป็นอาจารย์ทางเทววิทยา
ซึ่งได้ตรวจสอบตามวิธีการของท่าน
ทราบว่า นาม "เอราวัณ"
เป็นช้างของเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์
การเอาพระนามเอราวัณ
มาเป็นชื่อโรงแรมจำเป็นต้องแก้ไข
ฉะนั้นท่านอาจารย์ พล.ร.ต.
หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น.
จึงได้ขอให้ พล.ต.อ.
เผ่าบนบานศาลกล่าว
ตั้งศาลท้าวมหาพรหมขึ้นล้างอาถรรพ์
และได้อัญเชิญพระรูปท่านท้าวมหาพรหม
มาประดิษฐานสำเร็จเรียบร้อย
นับแต่ได้ตั้งศาล
และได้ทำการบูชาถูกต้อง
ตามวิธีการของ พล.ร.ต.
หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น.
เรียบร้อยแล้ว
กิจการของโรงแรมก็เจริญก้าวหน้า
มีผู้คนทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ
เข้ามาสักการบูชาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนักธุรกิจ นักพนัน
นักเรียนที่ปรารถนาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เด็กเล็กที่จะสอบเข้าชั้นอนุบาล
ที่พ่อแม่จูงมาไหว้พระพรหม
หรือกระทั่งสุภาพสตรีที่เข้าประกวดนางงาม
ก็ยังมีมาแก้บน
รำถวายพระพรหมกันอยู่เสมอ
|
|
พระพรหม
เทพเจ้าที่เสื่อมสลาย
ในอินเดียแหล่งกำเนิด
แต่กลับฟู่ฟ่า
ในเมืองไทยอย่างที่สุด
ด้วยอิทธิพลของ "พรหมเอราวัณ" |
|
ปกรณัมกำเนิด
ตำนานกำเนิดพระพรหมนั้น
มีหลายกระแส
ในฝ่ายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุดเล่าว่า
พระพรหมเกิดอยู่ในดอกบัวซึ่งผุดมาจาก
"สะดือ" ของพระวิษณุ
ในขณะที่บรรทมหลับอยู่บนหลังพระยาอนันตนาคราช
ที่เกษียรสมุทร
พรหมจึงมีกำเนิดจากวิษณุ
ส่วนฝ่ายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดเล่าว่า
เมื่อโลกยังว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุอยู่นั้น
พระเวทย์ทั้งหลายได้มาประชุมรวมกัน
เกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าขึ้นองค์หนึ่ง
ทรงพระนามว่า พระปรเมศวร
หรือพระศิวะนั่นเอง
พระศิวะได้เอาพระหัตถ์ลูบพระอุระ
สะบัดออกไปเบื้องหน้าพระพักตร์
บังเกิดเป็นพระอุมาภควดี
แล้วเอาพระหัตถ์ซ้าย
ลูบพระหัตถ์ขวาบังเกิดเป็นพระนารายณ์
และเอาพระหัตถ์ขวา
ลูบพระหัตถ์ซ้าย
บังเกิดเป็นพระพรหมขึ้น
มารับภาระในการสร้างโลกสร้างมนุษย์
พรหมจึงมีกำเนิดจากพระศิวะ
ส่วนตำนานที่แพร่หลายอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า
แต่เดิมครั้งยังไม่มีโลก
ทั้งหมดเต็มไปด้วยความมืดมิด
พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะ
"สวยัมภู"
คือกำเนิดขึ้นมาเอง
ได้ปรากฏขึ้น
และสร้างน้ำหว่านพืชลงในน้ำ
จากพืชได้กำเนิดเป็นไข่ทอง
เรียกหิรัณยครรภ์
ภายในไข่นั้นคือพระพรหม
ไข่นั้นหมายถึงจักรวาลและโลก
เวลายาวนานหลายกัปกัลป์
ไข่นั้นได้แตกออกเป็นสองซีก
ซีกหนึ่งลอยสูงขึ้นเป็นท้องฟ้า
อีกซีกลงต่ำกลายเป็นแผ่นดิน
แล้วพระพรหมก็ก่อเกิดเป็นรูปกายขึ้น
และ เนรมิตสตรีเพศยาม "สรัสวดี"
ภายหลังกลายมาเป็นมเหสี
ร่วมกันสร้างสัตว์พืชพันธุ์
เทวดา อสูร และมนุษย์ขึ้นมา
พระพรหมทรงหงส์เป็นพาหนะ
มี ๘ พระกร เดิมพระองค์มี ๕
เศียร เรียกว่า "พรหมปัญจมุข"
สาเหตุที่พระองค์มี ๕
เศียรมีตำนานเล่าว่า
พระองค์ทรงรักหวงแหนมเหสีมาก
เพื่อให้การคุ้มครองแก่พระมเหสี
ไม่ว่าพระนางจะเสด็จไปอยู่ที่ใด
พระองค์จะต้องเห็นและรู้หมด
หากมีอะไรเกิดขึ้น
จะได้เสด็จไปช่วยได้ทัน
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมี ๕
เศียร ๔
เศียรหันไปสู่สี่ทิศ
อีกเศียรหนึ่งอยู่บนยอด
ในภายหลังพระพรหมต้องเสียเศียรบนสุดไป
เพราะไปกล่าววาจาดูถูกพระอุมาเทวี
มเหสีของพระศิวะ
จนถูกพระศิวะลงโทษตัดพระเศียร
พระพรหมจึงเหลือเพียง ๔
เศียร ๔
พักตร์ตั้งแต่นั้นมา
|
|
พระพรหมเอราวัณ จุดกำเนิด
ของสี่แยกเทพเจ้า |
|
พระพรหมเป็นเทพผู้สร้างโลก
(the creator)
ในอดีตเคยได้รับการยกย่องนับถือจากพราหมณ์
ในฐานะเท่าเทียมกับเทพสำคัญอีก
๒ พระองค์ในตรีมูรติ
คือพระวิษณุ
หรือพระนารายณ์ผู้บริหาร
และคุ้มครองโลก (the preserver)
กับพระศิวะผู้ทำลายโลก (the
destroyer) แต่ในภายหลัง
เนื่องจากสังคมอินเดียมีลักษณะหลากหลาย
ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้เลือกนับถือ
เฉพาะเทพเจ้าบางองค์ที่ตนศรัทธา
จึงได้เกิดนิกายย่อย
นับถือเทพเจ้าองค์เดียวเป็นเทพสูงสุด
คือนิกายไศวะนับถือพระศิวะ
และนิกายไวษณพนับถือพระวิษณุ
หรือพระกฤษณะ
หรือพระนารายณ์ (แต่เดิมเป็นเทพเจ้าคนละองค์
แต่พัฒนาการในช่วงหลัง
ได้รวมเป็นองค์เดียวกัน
ที่อวตารลงมาในภาคต่าง ๆ)
การเกิดขึ้นของทั้งสองนิกายนี้
ทำให้เทพเจ้าทั้งสองโดดเด่น
และมีความหมายขึ้นมาก
บางเทวาลัยที่มีรูปปั้นของพระวิษณุ
และพระศิวะประดิษฐานอยู่แลเห็นเป็นสง่า
แต่ในคูหา หรือช่องเล็ก ๆ
ของผนังเทวาลัยนั้น
จะมีรูปปั้นของพระพรหมองค์เล็ก
ๆ
ประดิษฐานรวมอยู่ด้วยเท่านั้น
ฐานะของพระพรหมจึงเปลี่ยนแปลงไป
พระองค์ถูกลดอันดับไม่ได้เป็นเทพเคารพสูงสุด
เหมือนเมื่อครั้งโบราณ
แต่กลายเป็นเทพเจ้าชั้นรอง
และมีเทวาลัย โบสถ์
อุทิศให้พระองค์น้อยมาก
ในอินเดียสมัยโบราณมีแห่งเดียว
คือเทวาลัยที่เมืองปุษการะ
(Pushkar) ในแคว้นแคชเมียร์
อินเดียเหนือเท่านั้น
ความนิยมในพระพรหม
เริ่มกลับมาบ้างในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่
๑๐ เป็นต้นมา
แต่ก็ไม่มีนิกาย
หรือลัทธิโดยเฉพาะให้พระองค์
และนับว่ามีเทวาลัย
ที่อุทิศถวายให้พระพรหมเป็นจำนวนน้อยมาก
เมื่อเทียบกับศรัทธาที่มีต่อพระศิวะ
และพระวิษณุในอินเดียปัจจุบัน
แม้พระพรหมจะเสื่อมสลายในอินเดียถิ่นกำเนิด
แต่พระพรหมเอราวัณ
ได้กลายเป็นจุดกำเนิดสำคัญ
ของลัทธิบูชาเทพเจ้าแขกในเมืองไทย
ที่ปัจจุบันมีเทวาลัยสร้างเป็นศาลอลังการ
ประดิษฐานพระพรหม
หรือเทพองค์อื่น ๆ
เป็นจำนวนมากอยู่ตามห้างสรรพสินค้า
หมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาล
ไม่เว้นกระทั่งมหาวิทยาลัย
!
|
|
"ตรีมูรติ" พระเป็นเจ้า
สามพระองค์ คือ พระพรหม
พระศิวะ และพระนารายณ์
รวมเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว
ประดิษฐานอยู่หน้าอาคาร
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ |
|
ชุมนุมเทพเจ้า
"เทพเจ้าบ้านผมย้ายมาอยู่เมืองไทยหมดแล้ว
!"
นักท่องเที่ยวชาวอินเดียคนหนึ่งอุทานดังนี้
ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์
คำพูดของเขาไม่ผิดความจริงนัก
เพราะนอกจากบริษัทธุรกิจต่าง
ๆ ที่แข่งกันประจันหน้า
รอบตัวล้วนเต็มไปด้วยรูปเคารพ
ของเทพเจ้าแขกหลากหลายองค์ชุมนุมกันอยู่
ด้วยความเชื่อของผู้ก่อสร้าง
เพราะการสร้างเทพเจ้าองค์ต่าง
ๆ ขึ้นมา
นัยเพื่อเป็นการสร้างสมดุลของ
"พลัง"
ไม่ให้ธุรกิจตนซวดเซ
เนื่องจากถูกพลังของเทพเจ้าองค์อื่น
รายรอบรบกวนเอาจนเพลี่ยงพล้ำ
!
เป็นไปได้ว่าการบูชาพระพรหมเอราวัณ
ได้สอดคล้อง
สวมทับลงตัวกับลัทธินับถือ
"ผี"
วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของสังคมไทย
ที่มีมาแต่ดั้งเดิม
และพระพรหม
ยังเป็นเทพที่คุ้นเคยกับคนไทยชาวพุทธ
เนื่องจากปรากฏอยู่ในพุทธประวัติหลายตอน
ทั้งจิตรกรรมพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ก็ยังปรากฏภาพพระพรหมกั้นฉาก
และพระอินทร์ปกป้องลงมาคุ้มครองอยู่ข้าง
ๆ ซึ่งการที่ชาวพุทธ
หรือพระพุทธเจ้าเชื้อเชิญพระพรหม
เข้ามาในพุทธศาสนา
นับเป็นการประยุกต์ความเชื่อ
ของคนในชมพูทวีป
ประสานกับศาสนาใหม่
ของพระพุทธเจ้า
ได้อย่างแยบยล
พระพรหมยังคุ้นเคยกับคนไทยในระดับชาวบ้าน
ธรรมะข้อพรหมวิหาร คือ
เมตตา-ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
กรุณา-ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา-ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา-การวางเฉย
ถือเป็นธรรมะสำหรับคนทุกชนชั้น
ที่พึงปฏิบัติต่อกัน
แม้กระทั่งสำนวนไทยที่ใช้ด่ากำราบกัน
ก็ยังกล่าวไว้ว่า -ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
ความคุ้นเคยที่มีต่อพระพรหม
และมีลัทธินับถือผีเป็นพื้นฐานแน่นหนาเช่นนี้
รวมถึงธุรกิจอันเนื่องจากพระพรหม
อันได้แก่
การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ
ที่เข้ามาสักการะ การแก้บน
สะเดาะเคราะห์
ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
พวงมาลัย ละครรำ
ช้างไม้สลัก ฯลฯ
จึงทำให้การบูชาพระพรหมหยั่งลึก
แพร่หลายอยู่ในสังคมไทย
อย่างแน่นหนามั่นคงตามไปด้วย
แต่พรหมวิหารธรรมซึ่งจะยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงเสมอพรหม
ไม่อาจบันดาลความมั่งคั่งทางวัตถุได้
การบูชาพระพรหม
จึงเป็นคนละเรื่องกับพรหมวิหารธรรม
อาจารย์โกวิท เขมานันทะ
วิปัสนิกที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย
ได้ให้ความเห็นว่า
"ความงมงายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ที่คิดว่าพระพรหมจะบันดาลโชคลาภให้ถ่ายเดียว
โดยไม่ประกอบกรรมดีใด ๆ
โดยไม่มีพรหมวิหารในจิตใจ
ทุกเรื่องถูกตีค่าเป็นวัตถุไปเสียหมด
เนื่องจากในกระแสบริโภคนิยมนี้
คำว่า โชค หมายถึง
เงินหรือหวยใต้ดิน
หรือปาฏิหาริย์อะไรบางอย่าง
การที่มนุษย์ไปอ้อนวอน
เต้นระบำบวงสรวงแก้บน
กับพระพรหมเอราวัณ
เนื่องจากเชื่อปาฏิหาริย์
อย่างถูกเบอร์นี่ถือเป็นปาฏิหาริย์
อยู่ดี ๆ ไม่ต้องทำอะไร
ทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ของการดิ้นรน
ภายใต้กระแสบริโภค
มีการอ้อนวอนเพื่อเอื้ออำนวยวัตถุปัจจัย
ให้สมปรารถนา
หรือวัตถุปัจจัยรวมทั้งลูก
บุตร ทายาท
ความมั่งคั่งอะไรต่าง ๆ
เป็นปรากฏการณ์ภายใต้กระแสบริโภคนิยม |
|
เจ้าแม่ลักษมี
ศักติของพระนารายณ์
สง่างามอยู่บน
ตึกเกษรพลาซา |
|
"สาเหตุที่คนอยากได้วัตถุปัจจัยมาก
เนื่องจากระบบการปกครอง
ที่มุ่งสู่ความมั่งคั่ง
ลักษณะเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่งคั่ง
ประชาชนมั่งมีนั้น
ใช้ไม่ได้หรอก
แต่เศรษฐศาสตร์ควรจะมุ่งกำจัด
หรือขจัดความยากไร้
ความไม่เป็นธรรมออกไป
จุดมุ่งหมายคนละอย่าง
มุ่งสู่ความมั่งคั่ง
โดยไม่แยแสความยากไร้ของคนจน
เมื่อผู้คนถูกกระทำ
ให้เห่อเหิมอยากได้วัตถุปัจจัยมาก
ๆ ทางเดียวก็คือ
อ้อนวอนเทพเจ้าแล้วเชื่อในปาฏิหาริย์
เหมือนสมัยนี้ครับ
เพราะมันเชื่ออะไรไม่ได้
พึ่งอะไรไม่ได้
ไม่อาจโยงความหวังไว้กับรัฐบาลชุดไหนได้
มีทางเดียว
คือพระพรหมนั่นแหละ
รัฐบาลถาวรของคนที่เชื่อ
การสวดอ้อนวอนพระพรหม
อัญเชิญให้เข้ามาแสดงปาฏิหารย์
เชื่อว่าพระพรหมสามารถสำแดงปาฏิหาริย์ได้
ประชาชนที่เชื่ออย่างนี้น่าสงสาร
เพราะว่าเมื่อเชื่ออย่างนี้
เขาก็รู้สึกมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่
แต่ว่าที่ตั้งของกำลังใจของเขา
ช่างเหลวไหลเหลือเกิน
ช่างน่าเวทนาเหลือเกิน
เขาไม่เชื่อในศักยภาพในตัวเอง
ว่าเขาจะอยู่ได้ถ้าเขากระเหม็ดกระแหม่
หรือมีความเพียรสม่ำเสมอ
สุจริต
เมื่อเชื่อพระพรหมแล้วก็คือตรงข้าม
ไม่เชื่อในสุจริตธรรม
ในการกระทำที่ตรงไปตรงมา
และกล้าหาญที่จะยากจน
ด้วยความสมัครใจ
หรือกระเหม็ดกระแหม่ค่อย ๆ
สร้างฐานะทีละน้อย
มันตรงข้าม
"การงมงายในเทพเจ้าเป็นการปฏิเสธความจริง
ปฏิเสธสุจริตธรรม
การโกงมีหลายชั้น โกงซึ่ง ๆ
หน้า โกงในความรู้สึก
อ้อนวอนพระเจ้า
ก็เหมือนประจบเจ้านายนั่นแหละ
โกงตัวเอง โกงสุจริตธรรม
โกงความขยัน
โกงความเพียรของตัวเองไป
อยากได้มาก ๆ
โดยไม่ต้องทำอะไร
แล้วทะลึ่งไปเรียกมันว่าปาฏิหาริย์
(หัวเราะ)"
แต่ที่น่าสนใจก็คือ
การตั้งศาลบูชาเทพเจ้า
เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายรุนแรงอยู่ในสังคมเมือง
ขณะที่ตามบ้านนอกชนบท
มีเพียงศาลเล็ก ๆ
อย่างศาลพระภูมิ
ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ตามต้นไม้
หรือศาลผีปู่ตาของหมู่บ้านทั้งนั้น
อาจารย์โกวิทได้ให้ทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า
"การบวงสรวงเทพเจ้า
เป็นปรากฏการณ์ของการมีชีวิต
เพื่อดิ้นรนแสวงหาที่พึ่ง
สัตว์ทุกชนิดต้องการที่พึ่ง
มนุษย์ก็ต้องมีที่พึ่ง
อารยธรรมเมือง
โดยเฉพาะภายใต้กระแสบริโภคนิยมนั้น
การได้และเสียค่อนข้างรุนแรง
คนเมืองมีชีวิตที่แข่งขันสูง
เสี่ยงสูง
ภายใต้กระแสบริโภค
ลาภและการเสื่อมลาภ
โชคและการไร้โชค
มีความหมายที่ค่อนข้างรุนแรง
และมีความหมายทางด้านวัตถุเท่านั้น
โดยมีเงินเป็นตัวกลาง
เป็นแกนกลาง
พอได้เงินก็หมายถึงได้ทุกสิ่ง
ผู้คนในสังคมบริโภคนิยม
จะคิดกันเช่นนั้น
คนในเมืองมันเพ้อฝันเอามาก
ๆ เชื่อโชคเชื่อลาภกันมาก
ความงมงายต่าง ๆ
อย่างเรื่องพระพรหมอะไรนี้
มักเป็นเรื่องของคนที่ล้มเหลว
ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
แล้วปรารถนาโลภลาภ
หวั่นไหวอยู่ลึก ๆ
กลัวอยู่ลึก ๆ
มีมูลฐานความงมงายเข้าด้วย
ยิ่งจะทำให้ออกมาอ้อนวอนบวงสรวง
เป็นไปได้ที่คนเหล่านี้คือ
คนในระดับสูงทีเดียว
สูงทั้งฐานะทางสังคม
สูงทั้งฐานะทางเศรษฐกิจที่หมิ่นเหม่
แต่ในชาวบ้านยากจนไม่เกี่ยวข้องมากมายอยู่แล้ว
เราจะพบว่าถ้าเราไปในชนบท
ใต้ต้นไทรจะมีศาลพระภูมิหลังโย้เย้เล็ก
ๆ คือเขาเชื่อ
แต่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องมากมาย
ปีหนึ่งบางทีไปดันเสาที่เอน
ๆ ให้ตรง
แล้วก็ทิ้งร้างไว้ปีหนึ่ง
ไม่มีเวลาจะมางมงาย
เพราะว่าต้องไถนา
ต้องทำมาหากิน"
|
|
องค์อมรินทราธิราช หรือ
พระอินทร์
เทวดานักสังคมสงเคราะห์
ที่คุ้นเคยยิ่งกับคนไทย
ประดิษฐาน
อยู่ในซุ้มเทวาลัย
หน้าอมรินทร์พลาซา |
|
มายาคือสรณะ
ในกรณีสังคมชนบทนั้น
เป็นไปได้ว่าแต่เดิมความเสี่ยงรุนแรง
ของสังคมเกษตร
มีเพียงเรื่องเดียว
คือเรื่องความแปรปรวนของธรรมชาติ
ขณะที่ชีวิตทางด้านปัจจัยสี่
คนชนบทสามารถพึ่งพิงตัวเองได้แทบทั้งหมด
เขาได้รู้จักข้าว ปลา อาหาร
หยูกยา
จากธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้าจริง
ๆ หากสังคมเมืองปัจจุบัน
พึ่งพิงตัวเองแทบไม่ได้ "เงิน"
คือสิ่งเดียวที่จะนำทุกอย่างมาให้
จึงทำให้คนรุ่นใหม่
แทบไม่เคยตระหนักว่า "เงิน"
เป็นสิ่งมายา
หากหลงไปว่าเงินคือสรณะ
ความหวังของผู้คนในสังคม
ที่แต่เดิมเคยมุ่งปรารถนา
ที่จะขัดเกลาจิตใจไปสู่พระนิพพาน
ได้พบศาสนาของพระศรีอาริย์
ดังที่เคยปรากฏอยู่ในจารึกต่าง
ๆ
บัดนี้ได้กลายเป็นเรื่องทางวัตถุ
ความโลภกับความหวัง
กลายเป็นสิ่งเดียวกัน
เป็นอุดมคติร่วมของคนในสังคมปัจจุบัน
ที่หากพึ่งพิงปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า
ให้ได้มาอย่างรวดเร็วนั่น
คือผลสำเร็จของชีวิต !
"สังคมเมื่อก่อนยังมีความจริงเหลือให้สัมผัส"
อาจารย์โกวิทให้คำอธิบาย
"ธรรมะยังไม่แปรปรวนยังไม่ถูกเลอะเลือน
มีความยุติธรรมเหลืออยู่ในสังคม
คือไปในวัดยังได้พบพระจริง
พอจะมีพระจริงบ้าง
ไม่ใช่ผีเปรต พวกต้มตุ๋น
ไม่ใช่พวกนอกรีต
นอกลู่นอกทาง
ไปในนาพอจะพบข้าวจริง ๆ
ไม่ใช่ข้าวพ่นสารเคมี
พิธีเผาศพเขาก็เอาศพมาเผาให้ดูจริง
ๆ ของจริงทั้งนั้น
การมีความจริงหลาย ๆ
ด้านให้สัมผัส
คนหัวใจมันก็ชุ่มชื่นชุ่มฉ่ำ
มันก็เต็มอิ่ม
สมมนุษย์ที่เกิดมาได้พบสิ่งจริง
ๆ
แต่ว่าสังคมเมืองเราอยู่ในช่วง
uncertainly ช่วงไม่แน่นอน
ช่วงโยกโคลง
กลอกกลิ้งกะล่อน
อย่างพอเจรจาเรื่องร่วมงานใหม่
แต่ละคนก็ต้องระวัง
เรื่องการกลอกกลิ้งให้ดี
เราเริ่มต้นด้วยความไม่วางใจซึ่งกันและกัน
จึงต้องสร้างพันธะสัญญาขึ้นมา
แม้แต่สหประชาชาติ
ในการเจรจาระหว่างชาติ
ต้องร่างกันเป็นเดือน ๆ
กว่าจะเซ็นแก๊กเดียว
แล้วก็ไม่ปฏิบัติซะด้วย
ไม่มีใครปฏิบัติตามสนธิสัญญา
ล้วนแต่มีความไม่จริงเป็นเจ้าเรือน
เดี๋ยวนี้มีแต่ของอำพราง
เป็นธรรมะกำมะลอ
เป็นวัฒนธรรมเทียมธรรม
เสแสร้งแกล้งทำ
ไม่ได้มีความจริงอยู่ในนั้น
รอบตัวเต็มไปด้วยมายา
และอันตราย
กลายเป็นสังคมกลอกกลิ้ง
สังคมกลอกกลิ้งคือสังคมที่ไม่มีคนจริง
ไม่มีคนดีให้สัมผัส
สังคมแต่ก่อนนี้คนดีหาไม่ยาก
เดินสักสองสามบ้านก็เจอ
เดี๋ยวนี้เดินกันทั้งวันเป็นเดือนเป็นปี
ลองเดินทางดูเถอะ
หลายประเทศเจอคนกะล่อนเป็นส่วนใหญ่
เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเอย
แอร์โฮสเตสเอย
ไม่ใช่มนุษย์ทั้งนั้น
ทำไมไม่ใช่มนุษย์
เธอยิ้มให้คุณบนเครื่องบิน
แต่ลองไปเจอกันบางลำพู
เธอจะยิ้มให้คุณอยู่ไหม
ที่เห็นน่ะเป็นเครื่องยนต์ทั้งนั้น
เป็นกลไกของรัฐ
โดยมีสินจ้างรางวัลเป็นสื่อ
เราพบแต่กลไก
พบแต่เสียงเทป พบแต่วิดีโอ
พบแต่สิ่งที่กลอกกลิ้งได้
เป็นเงารางเป็นมายาภาพทั้งสิ้น
คนอยู่บนความไม่จริงตลอดเวลา
จึงรู้สึกเสี่ยง
รู้สึกไม่มั่นคงอย่างรุนแรง
เมื่อผู้คนอยู่บนความเสี่ยงทุกขณะ
มันก็หาอะไรยึด
และสิ่งที่ยึดก็พยายามสร้างให้จริง
ซึ่งมันก็ไม่มีความจริงอยู่ในตัวมันเอง
เมื่อมนุษย์เป็นมายาภาพเสียเอง
โลกที่เขาอาศัยอยู่ก็ถูกแปลงหมด |
|
นารายณ์ทรงครุฑ
เทพเจ้าสูงสุด
ของไวษณพนิกาย หน้าโรงแรม
รอยัลเมอริเดียน |
|
ความเชื่อปาฏิหาริย์
เชื่อการดลบันดาลจากเทพเจ้า
เป็นเรื่องทางไสยศาสตร์
เมื่อเชื่อสิ่งนั้นแล้ว
มันก็ไม่เชื่อในอีกด้านหนึ่งที่ฉันทะ
วิริยะ จิตตะ วิมังสา
มันก็ไม่เชื่อเท่านั้นเอง
หรือน้ำหนักก็น้อยลง
ดังนั้นการเชื่อปาฏิหาริย์มากขึ้นเท่าไหร่
ก็ยิ่งทอนแรงพระพุทธศาสนาลง
พระพุทธศาสนาจะค่อย ๆ
ถูกกลืนทีละน้อย
เคลือบทีละน้อย
จนกระทั่งมองไม่เห็นเนื้อหาแท้
ๆ ของพุทธเลยก็เป็นได้
แต่สิ่งสำคัญก็คือ
ถ้าเราไม่ให้มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า
พระพรหม พระอินทร์
ถ้าเราปฏิเสธสิ่งเหล่านี้แล้ว
เราจะเอาอะไรชดเชยให้คนซึ่งไม่อาจปฏิบัติโลกุตรธรรมได้
นี่น่าคิด สำหรับนักปกครอง
ผู้ที่มุ่งมองหาการพัฒนาสังคมอยู่
ก่อนอื่นผมอยากบอกว่า
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุที่ตั้ง
ของการปฏิเสธยอมรับ
เพราะว่ามันเกิดขึ้นตามบริบทของการเมือง
การศึกษาที่ต้องเป็นไปอย่างนี้
ถ้าเรามองว่าสิ่งเหล่านี้
เป็นอุปสรรคต่อพระพุทธศาสนา
คำถามต่อพระพุทธศาสนาคือ
แล้วพุทธศาสนามีอะไรให้นอกจากเรื่องอนัตตา
เรื่องไม่ยึดติด
ไม่ยึดมั่นแล้ว
ซึ่งเป็นเรื่องของคนมีสติปัญญาระดับสูง
ถามว่าวัฒนธรรมพุทธบริสุทธิ์มีหรือไม่
ที่จะรองรับ
พวกซึ่งเป็นพวกฟ้อนถวายพระพรหม
มีหรือไม่ ปรากฏว่าชาวพุทธ
ก็ไม่ได้พร้อมที่จะรองรับคนเหล่านี้
นักการเมืองก็ไม่มีคำตอบ
นักการศึกษาก็ไม่มีคำตอบจะให้
แล้วเราจะมุ่งกำจัดได้อย่างไร
อย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้
คอยค้ำจุนไม่ให้ล่มสลายด้วยซ้ำไป
ถ้าเรามองในระดับวัฒนธรรมพื้นฐาน
วัฒนธรรมไทยไม่จำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมพุทธ
เป็นวัฒนธรรมผสมผเสก็ได้เหมือนดังที่เป็นอยู่
ผมปฏิเสธความงมงายในเทพเจ้า
ในฐานะพุทธบริสุทธิ์
แต่ถ้ามองในระดับของวัฒนธรรมนั้น
วัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องสังกัดอยู่กับศาสนาหนึ่ง
ศาสนาใดก็ได้
วัฒนธรรมต้องสังกัดอยู่กับมนุษยธรรมเป็นหลัก
คือศาสนาไหนที่สนับสนุนวัฒนธรรม
สนับสนุนประชาธิปไตย
ความเสมอภาค
สิทธิเสรีภาพก็ใช้ได้
ถามว่าพระพรหมให้สิทธิเสรีภาพเราหรือเปล่า
น่าเชื่อถือไหมพระพรหมนี่
โอ๊ย
มีสี่หัวแล้วก็ปิดทองแพรวพราว
อย่าไปดูที่รูปแบบ
แต่ต้องดูว่าเบื้องลึกของสิ่งเหล่านี้
ให้ความหวังอะไรหรือไม่
ให้ความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม
ความสุจริตธรรม
การไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่
บางทีนะผู้ที่เชื่อเรื่องพระพรหม
ไปรำเปลือยกายถวายอะไรนี่
อาจจะมีความอหิงสาธรรม
มากกว่านักการเมืองชาวพุทธซึ่งฉ้อฉล
เราต้องมองในแง่มนุษยธรรม
ในระดับของวัฒนธรรม
ไม่ใช่เอา pure Buddhism
เข้าไปตัดสินเข้า
เหมือนที่พระหลายรูปคิด
แล้วผมขอย้ำว่าวัฒนธรรมไทย
ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ
แต่พุทธศาสนา
จำเป็นต้องสำแดงธาตุบริสุทธิ์
ของพุทธศาสนา
ของคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาให้ประจักษ์
ไม่ใช่ร่วมวงไพบูลย์
กับความงมงายด้วย
พระต้องไม่ทำ
ปล่อยให้ชาวบ้านเขาทำกัน
แล้วตัวเองคอย purify
คอยทำให้มันบริสุทธิ์
ยุติธรรม มีประโยชน์
มีคุณค่ายิ่งขึ้น" |
|
|
|
แต่สิ่งที่เป็นจริงคือ
ทุกวันนี้พระกระโดดลงไปทำเสียเอง
!
"พระไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นชาวพุทธ"
อาจารย์โกวิทย้ำหนักแน่น
"แทนที่เราจะมองว่า
ชาวบ้านงมงายแต่กับเรื่องพระพรหมยมโลก
พระนี่งมงายกว่าหรือเปล่า
พระที่นั่งรถเก๋งคันยาว ๆ
น่ะมีความละอายใจกว่าญาติโยม
ที่ไปบูชาพระพรหมไหม
หรือว่าจริง ๆ
แล้วธาตุแท้เหมือนกัน
คือความละโมบทัดเทียมกัน
ความหลงเท่ากัน
ถ้าอย่างนั้นหมดศักดิ์ศรีของชาวพุทธเลย
แล้วไม่ควรจะมาตำหนิ
ผู้ที่เชื่อพระพรหมอีก
"วัฒนธรรมบริสุทธิ์ของพุทธ
ที่จะรองรับการโอนถ่ายความเชื่อ
ที่เราถือว่างมงาย
ประโยชน์น้อย
ไร้สาระมาสู่สิ่งที่มีสาระกว่า
ถามว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่
มันมีจริง ๆ อย่างที่ลังกา
ซึ่งเป็นฐานรากของเถรวาท
หรือลังกาวงศ์
คนไทยก็เคยมีวัฒนธรรมพุทธที่งดงาม
เช่นพิธีที่ไม่งมงาย
รูปแบบงดงาม บริสุทธิ์ ง่าย
simple มีอยู่ แต่เราไม่คุ้นเคย
แล้วเราถูกรัฐนิยม
ทั้งราชสำนัก ทั้งรัฐ
กระทำให้พิธีเป็นเรื่องมั่งคั่งอลังการ
ซึ่งห่างไกลจากความมัธยัสถ์
ความเรียบง่ายยิ่ง ๆ ขึ้น
อย่างพิธีเวียนเทียนนี่เป็นเรื่องง่าย
ๆ เท่านั้น
ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร
เป็นเรื่องตามธรรมดา
อย่าไปสนับสนุนให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็แล้วกัน
ในชนบทชาวบ้านก็ทำกันอยู่
เรียบ ๆ ง่าย ๆ
"พูดอย่างถึงที่สุดก็คือ
พุทธต้องถอยกลับเข้าสู่พุทธโอวาท
ของพระพุทธองค์
แล้วงอกงามขึ้นมาใหม่
พิธีรีตองทำได้
แต่ต้องบนรากฐานของความจริง
ของการสืบสานพระวจนะ
สืบสานน้ำพระทัย
ของพระศาสดาเหล่านั้น
ถ้าจะเป็นอย่างนี้
ก็เกิดการปฏิวัติสังคม
ปฏิวัติวัฒนธรรมนั่นแหละ
จึงจะสำเร็จออกมาได้
|
|
พระพิฆเณศวร
เทพเจ้าแห่งวิชาการ
และศิลปศาสตร์ทั้งปวง
หน้าห้างสรรพสินค้าอิเซตัน |
|
ประโยชน์น้อยโทษมาก
"ในเรื่องพระพรหมนั้น
มีประโยชน์น้อยโทษมาก
สู้สุจริตธรรม
ความสัตย์ซื่อ
ซึ่งเป็นเนื้อหาของพรหมวิหารธรรมไม่ได้ด้วยซ้ำ
อันนั้นน่ะมีประโยชน์แท้
และยั่งยืน
เมื่อพูดถึงประโยชน์
เราต้องพิเคราะห์ว่า
มันประโยชน์ยั่งยืน
หรือประโยชน์ชั่วครั้งชั่วครู่
เป็นประโยชน์ทางโลก
หรือประโยชน์ทางธรรม
ถ้ามองในแง่ประโยชน์ทางโลก
ก็ทำให้มนุษย์เกิดรวมตัวกันได้
เกิดการสะพัดเงิน
แต่ประโยชน์ทางธรรมนั้น
หมายถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ความเชื่อ และการกระทำใด ๆ
เกี่ยวกับพระพรหม
นำไปสู่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
นำไปสู่ความเสมอภาคกันหรือไม่
นำไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่
คือการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันหรือไม่
นั่นแหละประโยชน์แท้
ต้องพิจารณาจากอันนั้น
คือมันมีทั้งคุณและโทษ
แต่ว่าอันไหนที่ก่อเกิดประโยชน์แก่มหาชน
อันนั้นถือว่าใช้ได้
จะอ้างว่าเรื่องพระพรหมมวลชนยอมรับกันก็ไม่จริง
มีคนไม่กี่คน
เป็นคนกลุ่มหนึ่ง
ที่หาผลประโยชน์อยู่นั่นเอง
ถ้าเลิกเสียบ้านเมืองนี้
ก็ยังอยู่ได้ไม่ล่มจมหรอก"
|
|
ชีวิตส่วนตัว
ของคนรำละครแก้บน
ภายใต้ร่มเงา ของเทพเจ้า |
|
หนังสือประกอบการเขียน
นาค ใจอารีย์.
อันเนื่องมาแต่วรรณคดี.
องค์การค้าของคุรุสภา,
กรุงเทพฯ: ๒๕๐๗.
ปราณี กล่ำส้ม. "พระครูวามเทพมุนี"
เมืองโบราณ. ปีที่ ๑๗
ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม
๒๕๓๔ หน้า ๔๒-๕๕.
พรหมศักดิ์
เจิมสวัสดิ์, ผศ.ดร.
คนกับพระเจ้า.
สำนักพิมพ์โคมทอง, กรุงเทพฯ:
๒๕๒๓.
สมภพ ภิรมย์, น.อ. ร.น.
"ระลึกถึงโรงแรมเอราวัณในอดีต"
อาษา. ฉบับประจำเดือน
กันยายน-ตุลาคม ๒๕๓๑. หน้า ๔๑-๔๓.
อุดม รุ่งเรืองศรี,
ผศ.ดร. เทวดาพราหมณ์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
เชียงใหม่: ๒๕๒๔.
เอกสารจากมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม
โรงแรมเอราวัณ พ.ศ. ๒๕๓๒.
|
|
|
|
ขอขอบคุณ :
อ. โกวิท เอนกชัย (อาจารย์เขมานันทะ)
สัมภาษณ์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓ |
|