เครื่องบินของบริษัทการบินไทย บินออกจากภูเก็ต ข้ามทะเลสีคราม ผ่านเกาะพีพี มุ่งหน้าตรงไปยังนราธิวาส ขณะที่เครื่องบินลดเพดานบินเตรียมลงจอด มองไปเบื้องล่างเห็นเทือกเขา ปกคลุมไปด้วยเรือนยอดของไม้สีเขียวแน่นไปหมด ภาพที่เห็นคงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเทือกเขาบูโด ที่กินอาณาบริเวณเกือบแสนไร่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มฉกรรจ์วัย ๓๐ ปี แห่งโครงการศึกษานิเวศวิทยา ของนกเงือก มายืนรอรับเราที่หน้าสนามบินนราธิวาส ไม่นานนักรถโฟร์วีล ที่ผ่านการใช้งานในป่าอย่างทรหด มาร่วม ๒ แสนกิโลเมตร ตั้งแต่เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง จนถึงเขาบูโด ก็พาเรามาที่อำเภอบาเจาะ ลัดเลาะเข้าไปตามเส้นทางในป่า ผ่านบ้านมุสลิมหลายแห่ง แล้วมาหยุดอยู่ที่หน้าเขาปูลา--เขาเล็ก ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโด การเดินทางในป่าใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้น เราข้ามห้วยเล็ก ๆ ผ่านสวนยางพาราของชาวบ้าน เดินเข้าป่าไต่ขึ้นเขาที่ค่อนข้างชัน ไม่นานนักเราก็ขึ้นมาถึงซุ้มดูนก บริเวณสันเขาแห่งหนึ่ง ที่มีดงต้นดาหลาออกดอกสีชมพูขึ้นหนาแน่น มองลงไปเป็นป่าทึบ เห็นสวนทุเรียน สวนลองกองของชาวบ้าน ที่มาบุกรุกทำสวนกลางป่าเป็นหย่อม ๆ เบื้องหน้าเราคือต้นกาลอสูงใหญ่ต้นหนึ่ง มีรังนกเงือกหัวแรด อยู่ตรงกลางต้น "นี่เป็นรังนกเงือกรังเบอร์ ๒๙ ตอนนี้นกเงือกตัวเมียเข้ารังแล้ว รอสักพักนะครับ ประเดี๋ยวนกเงือกตัวผู้ จะบินมาป้อนอาหาร" ปรีดากล่าวอย่างมั่นใจ ปรีดาเป็นผู้ช่วยวิจัยของโครงการฯ ที่มี รศ.ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีม เขาจบจากเพาะช่าง และสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ชีวิตที่ผ่านมา ทุ่มเทให้แก่การศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจัง ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เขาอยู่ในป่าตลอด ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยนกเงือกที่เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง และล่าสุดที่เขาบูโด "สมัยก่อนแถวเขาบูโด คงไม่มีใครกล้าเข้ามา จนกระทั่งปี ๒๕๓๗ มีชาวบ้านมาบอกอาจารย์พิไลว่า พบนกเงือกหัวแรด ตอนนั้นนกชนิดนี้เป็นนกหายาก ซึ่งคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว พออาจารย์พิไลเข้ามาสำรวจ ก็พบว่ายังมีนกเงือกหัวแรด และพบนกเงือกชนิดอื่น ๆ อีก ๕ ชนิด คือ นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกปากดำ รวมเป็น ๖ ชนิดจากจำนวนนกเงือกในเมืองไทยที่มี ๑๓ ชนิด แต่จากการสำรวจเราพบว่า สถานการณ์ของนกเงือกไม่สู้ดีนัก เพราะเขาบูโดมีหมู่บ้านตั้งอยู่ล้อมรอบ ชาวบ้านเริ่มรุกป่ามากขึ้น และมีการขโมยลูกนกเงือกในรัง ไปขายเป็นประจำทุกปี"
วันนี้เรามีนัดกับพี่น้องชาวมุสลิมหลายคนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ เขาบูโด หลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของโครงการศึกษานิเวศวิทยา ของนกเงือก ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการพูดคุยให้พี่น้องมุสลิมเหล่านี้ เห็นความสำคัญ และคุณค่าของนกเงือก "ตอนแรก ๆ พวกผมพยายามอธิบายให้ฟังว่า หากชาวบ้านขโมยนกเงือกแล้ว นกเงือกจะค่อย ๆ สูญพันธุ์อย่างไร ผมเอาวิดีโอเทปเกี่ยวกับนกเงือกไปฉาย ให้เห็นถึงความสำคัญของนกเงือก แต่สิ่งที่ได้คือ ผมถูกกล่าวหาว่า เป็นสายของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาจับพวกลักลอบตัดไม้" ปรีดาเล่าขณะเลี้ยวรถเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านตะโละตา เจ้าของบ้านที่ออกมาต้อนรับ ชื่อ นิมุ รายาคารี หรือ แบมุ "อัสลาโมไลกุม" แบมุทักทายด้วยภาษายาวี แปลว่า สบายดีหรือ และยิ้มอย่างยินดี เมื่อเห็นปรีดามาเยี่ยม แบมุเชื้อเชิญพวกเราให้ไปนั่งคุยกัน ใต้ต้นปูโปหรือต้นมะไฟ "ลูกปูโปในหมู่บ้านเปรี้ยว ไม่อร่อย วันหลังแบมุจะเก็บลูกปูโปสีแดงสดจากในป่ามาฝาก หวานอร่อยกว่านี้มาก" แบมุสนทนาด้วยภาษาไทยผสมภาษายาวี แบมุเป็นชายไทยมุสลิมวัย ๕๕ ปี รูปร่างสันทัด ชอบนุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ เป็นคนใจคอกว้างขวาง คนในหมู่บ้านให้ความเกรงใจมาก "คนมุสลิมไม่กินนกใหญ่ ไม่กินนกที่โฉบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร" แบมุยืนยันว่าชาวมุสลิมไม่ล่านกเงือกกินเป็นอาหาร แต่ยอมรับว่าขโมยลูกนกเงือกมานับสิบปีแล้ว "แบมุขโมยลูกนกเงือกอย่างไรครับ" เรายิงคำถามตรง "ไม่ยากหรอก แบมุรู้ว่าเดือนไหนลูกนกใกล้จะออกจากรัง ก็จะไปที่ต้นไม้ที่นกเงือกทำรัง ปีนขึ้นไปแล้วเอามือล้วงเข้าไปในรัง แม่นกจะบินหนี แบมุก็เอื้อมมือไปคว้าคอลูกนกลงมา" แบมุเล่าให้ฟังว่า เขาเคยพยายามจะจับพ่อแม่นกเงือกไปขายด้วย "แบมุเอายางเหนียว ๆ ที่ทำด้วยยางตะเคียนผสมยางพารากับน้ำมันมะพร้าว มาทาที่กิ่งไม้ที่คิดว่านกเงือกจะเกาะ ถ้านกเงือกมาเกาะจะติดแหมะเลย แต่ลองหลายทีแล้ว นกเงือกฉลาด ไม่ยอมมาเกาะ" แบมุเล่าว่า ลูกนกเงือกหัวแรดขายได้ตัวละ ๑,๕๐๐ บาท ลูกนกกกตัวละ ๕๐๐ บาท นำไปขายที่ปัตตานี มีคนมารับซื้อประจำ แต่หากลักลอบขนลูกนกเงือกเหล่านั้นมาขายที่ตลาด อตก. ในกรุงเทพฯ ได้ จะได้ราคาดีมาก คือ นกเงือกหัวหงอกตัวละ ๓ หมื่นบาท นกชนหินตัวละ ๒ หมื่นบาท "ตอนนั้นแบมุไม่รู้หรอกว่า การอนุรักษ์นกคืออะไร รู้แต่ว่าจับลูกนกได้เงินดี ก็มาแบ่งกันกับพรรคพวกที่ช่วยกันจับ"
บ่ายวันนั้นปรีดาพาเราไปพบ อนันต์ ดาหะแม ผู้ใหญ่บ้านวัย ๓๗ ปี แห่งหมู่บ้านตาเปาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ตีนเทือกเขาบูโด มีรังนกเงือกมากที่สุดถึง ๓๖ รัง ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แทบไม่มีคนแปลกหน้าเข้ามาที่บ้านตาเปาะเลย เพราะหนทางลำบาก และชุกชุมไปด้วยโจรพูโล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องของคนในหมู่บ้าน มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันเหตุการณ์เงียบสงบ เพราะโจรพูโลมอบตัวกับทางการแล้ว ทางเข้าหมู่บ้านตาเปาะ มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่แกะสลักไว้ว่า "หมู่บ้านนกเงือก" "ชาวบ้านที่นี่เอาจริงเอาจัง กับการอนุรักษ์นกเงือกมาก และแถวนี้มีปัญหาการตัดไม้เถื่อนมากทีเดียว โดยเฉพาะไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นกเงือกชอบทำรัง" ปรีดาเกริ่นให้เราฟัง ตามธรรมชาตินกเงือกมักจะทำโพรงรัง ในวงศ์ไม้ยาง คือต้นตะเคียนทอง ต้นกาลอ ต้นตะเคียนทราย และต้นยาง (คนละชนิดกับต้นยางพารา) เพราะไม้จำพวกนี้มีขนาดใหญ่ ลำต้นเกิดเชื้อรากินเนื้อไม้ได้ง่าย ทำให้เกิดโพรงขนาดใหญ่ พอดีกับตัวนกเงือกที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน ผู้ใหญ่อนันต์เชื้อเชิญให้เราเข้าไปนั่งในบ้าน เล่าว่าตอนนี้หมู่บ้านของเขา ไม่มีใครจับลูกนกเงือกไปขายแล้ว เพราะเขาขอร้องชาวบ้านไว้ ในช่วงเวลาสี่ห้าปีที่ทางโครงการนกเงือกฯ พยายามเข้ามาพูดคุย ฉายวิดีโอให้ชาวบ้านาดูอย่างสม่ำเสมอ จนพวกเขาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์นกเงือก ชาวบ้านที่เคยเป็นนักล่าลูกนกเงือก ปัจจุบันก็ผันตัวเอง มาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยหารังนกให้แก่โครงการฯ "ตอนแรกพวกผมจะมาคุยกับโต๊ะอิหม่าม และผู้ใหญ่บ้านก่อน ว่าที่นี่มีนกเงือกเยอะ ขนาดคนต่างประเทศ ชาวญี่ปุ่น ชาวสิงคโปร์ ยังพากันมาดูนกเงือกถึงที่นี่ แสดงว่าหมู่บ้านนี้ต้องมีอะไรดี เราน่าจะหันมาช่วยกันอนุรักษ์นกเงือก มากกว่าขโมยนกเงือกไปขาย ไม่อย่างนั้น วันหนึ่งนกเงือกต้องหมดป่าแน่นอน พอผู้นำหมู่บ้านเข้าใจและเห็นด้วย พวกเขาก็จะไปคุยเป็นภาษายาวีให้ลูกบ้านฟัง เราก็เอาวิดีโอเรื่องนกเงือกที่มาถ่ายแถวนี้ และออกฉายทางโทรทัศน์ไปแล้ว มาฉายให้ดู ทำให้พวกเขาภูมิใจที่บ้านตาเปาะ เป็นแหล่งนกเงือกที่สำคัญของเทือกเขาบูโด" ปรีดาอธิบายเสริม
รุ่งเช้าเราขับรถมาที่บ้านตะโหนด มารับเจ้าของรังนกชนหินสองพ่อลูก คือ มัสบูด หะแว วัย ๑๙ ปี กับพ่อของเขา มาฮามะ หะแว เตรียมตัวเดินข้ามเขาไปอีกสองสามลูก เทือกเขาบูโดส่วนใหญ่ค่อนข้างชัน คนที่เตรียมตัวมาไม่ดีคงจะเหนื่อยใจแทบขาดทีเดียว การเดินขึ้นเขานั้นมีหลักอยู่ว่า ไม่ต้องรีบเดิน ให้เดินช้า ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยกว่าการเดินอย่างรีบ ๆ ซึ่งจะทำให้เหนื่อยหอบตลอดทาง การเดินทางครั้งนี้ เราไม่ได้เร่งรีบ แต่เดินไปเรื่อย ๆ จึงสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติระหว่างทางได้ พอผ่านสวนยางพาราที่ปลูกอยู่ตีนเขา ก็เห็นชาวบ้านมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง กำลังกรีดยางในสวน คนเหล่านี้รับจ้างทำงาน ตั้งแต่ตีห้าจนเกือบเที่ยง ได้น้ำยางสีขาวข้นมารีดเป็นแผ่น วันละห้าแผ่น ขายได้เงินราว ๑๐๐ บาท แบ่งให้เจ้าของสวนยางครึ่งหนึ่ง วันหนึ่งจึงมีรายได้ ๕๐-๖๐ บาท แต่ถ้าไปรับจ้างตัดไม้เถื่อนจะได้วันละ ๔๐๐ บาท ตามทางเราเห็นรอยลากไม้เถื่อนชัดเจน เศษเปลือกไม้ตามพื้นยังมีกลิ่นสด ๆ ให้รู้ว่า ไม้เถื่อนเพิ่งถูกลากผ่านไปไม่นาน ทางที่เราเดินขึ้นเขานั้น ผ่านป่าใหญ่อันรกครื้ม เราเห็นต้นไม้ใหญ่บางต้น ถูกฟันที่โคนเป็นรอยลึก ซึ่งเป็นวิธีการทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายก่อนจะโค่นลงมา รอบบริเวณนั้นหากสังเกตดี ๆ จะเห็นต้นยางพารา อายุไม่ถึงปีปลูกแซมอยู่ "เป็นวิธีบุกรุกป่าของชาวบ้าน คือพอต้นยางโตขึ้นมา ต้นไม้ใหญ่ก็จะถูกตัดออก อีกหน่อยบริเวณนี้ก็จะกลายเป็นสวนยางพารากลางป่า" ปรีดาอธิบาย เดินต่อไปอีกก็พบต้นกระท้อน ต้นสะตอ ปลูกแซมในป่าเป็นระยะ พอจะสันนิษฐานได้ว่า ในอนาคตป่าแถวนี้ คงเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้กลางอุทยานแห่งชาติ แต่ต้องยอมรับว่า สวนยางพารา หรือสวนผลไม้กลางป่าหลายแห่ง เป็นของชาวบ้านมาเก่าแก่ ก่อนที่กรมป่าไม้ จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับพื้นที่ทำกินของพวกเขา สิทธิ์ในที่ทำกินของเขา ซึ่งมาก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ช่วงที่ข้ามเขาลูกแรกผ่านดงหวายไป มาฮามะ หะแว บอกว่า เมื่อสักครู่พวกตัดไม้เถื่อน เห็นพวกเราเดินขึ้นไป ก็พากันวิ่งหนีเข้าป่า คงนึกว่าพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้
รุ่งเช้าเราเดินทางไกลไปเทือกเขาฮาลา-บาลา ไปแอบซุ่มดูรังนกเงือกปากดำ หรือนกกาเขา ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าฮาลา-บาลา คราวนี้ไม่ผิดหวัง หลังจากซุ่มอยู่ในซุ้มครู่หนึ่ง นกเงือกปากดำ หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า บุหรง แรแง สองตัว ก็ทยอยบินมาเกาะกิ่งไม้ข้าง ๆ รังนกตัวเมีย นกเงือกปากดำ มีขนาดประมาณ ๗๐ เซนติเมตร จัดเป็นนกเงือกขนาดกลาง ตัวผู้มีปากดำสมชื่อ สักพักหนึ่งทั้งคู่ก็ผลัดกันบินคาบลูกไม้ ไปป้อนให้ตัวเมียในโพรงรัง ที่แย่งมาจากรังของนกเงือกปากย่น เมื่อโพรงรังที่เหมาะสมมีจำกัด การแย่งโพรงรังระหว่างนกเงือกด้วยกัน จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรของนกเงือกลดลง ปรีดาบอกเราว่า อย่าเข้าใจผิดว่า ตัวเมียในรังมีหลายผัวมาคอยเลี้ยงดู แต่นกเงือกปากดำ มีพฤติกรรมแปลกกว่านกเงือกชนิดอื่น คือมีนกผู้ช่วย ซึ่งอาจเป็นตัวผู้ หรือตัวเมียในฝูงของมันก็ได้ เชื่อกันว่านกผู้ช่วย เป็นลูกของนกเงือกที่เกิดในปีก่อน ๆ ซึ่งยังไม่ได้จับคู่ผสมพันธุ์ จึงมาฝึกงานเลี้ยงลูกตัวอื่นไปก่อน สำหรับรังนกเงือกนี้ มีนกผู้ช่วยเลี้ยงสี่ตัว "นกเงือกสีน้ำตาลก็มีนกผู้ช่วยเลี้ยง แต่มีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น" สิ่งที่ปรีดาพูดนั้น ห่างไกลกับพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ชายบางคนเสียจริง เราเดินออกจากซุ้มไปสำรวจเศษอาหารรอบ ๆ โคนต้นไม้ที่นกเงือกทำรัง "ระวังมันขี้ใส่ลงมา" ปรีดาร้องเตือน ให้เราออกห่างจาก "จุดอันตราย" ปรีดาเคยปีนขึ้นไปดูโพรงนกเงือกมาแล้ว บอกว่าข้างในโพรงสะอาดมาก นกเงือกจะไม่ขับถ่ายในโพรง แต่จะยื่นก้นมาที่ปากโพรง แล้วขี้ลงมาที่พื้นข้างล่าง พวกนักสำรวจนกต้องระวังให้ดี ถ้าไม่อยากถูกนกขี้ใส่หัว ที่โค้นต้นไม้มีซากตุ๊กแกป่าตัวโตที่ถูกนกจิกกินไปเกือบครึ่งตัว ถูกฝูงมดแดงรุมแทะเนื้อจนเป็นรูพรุน ข้าง ๆ มีลูกไม้หลายชนิดที่นกเงือกทำหล่นลงมาขณะป้อนอาหาร อาทิ ผลไทร ตาเสือใหญ่ มะอ้า รวมถึงเมล็ดแข็งใหญ่ ๆ ที่นกเงือกขย้อนทิ้งลงมา รอวันที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ต่อไป อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวว่า นกเงือกมีบทบาทสำคัญ ต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัด ในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรกรสัตว์เล็ก ในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศ นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือกช่วยกระจายพันธุ์ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็มีนกเงือกปากดำผู้ช่วยเลี้ยงอีกสองตัว บินมาเกาะกิ่งไม้ข้าง ๆ แต่แล้วก็บินจากไป ไม่ยอมเข้าไปป้อนอาหารตัวเมีย "สงสัยนกเงือกคงเห็นเรา ตอนที่เราไปสำรวจที่โคนต้น มันจึงไม่ยอมเข้ารัง" ปรีดากระซิบบอก "กลับเหอะ ตอนนี้มันแอบดูเราอยู่ วันนี้เราคงแอบดูมันไม่ได้แล้ว"
วันสุดท้ายในป่าใหญ่แห่งนี้ เราขึ้นไปเฝ้ารังนกเงือกหัวแรดเบอร์ ๒๙ บนเขาปูลาอีกครั้งหนึ่ง แทนความตั้งใจเดิม ที่จะไปดูนกเงือกหัวหงอก แต่มันไม่เข้ารัง ภาษายาวีเรียกนกชนิดนี้ว่า บุหรง หะยี บุหรงแปลว่า นก หะยี แปลว่า ผู้ที่เคยผ่านการไปแสวงบุญ ทำพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะมาแล้ว ซึ่งจะโพกหัวด้วยผ้าขาว ในขณะที่มุสลิมบางคนก็ให้ฉายานกเงือกหัวหงอกว่า พ่อมดผู้เลอโฉม วันนี้เราขึ้นเขาปูลาไปพร้อมกับเอก หรือ วิฑูรย์ นุตโร ผู้ช่วยนักวิจัย เอกเป็นหนุ่มเมืองโพธารามวัย ๒๐ ปี แต่ประสบการณ์ในการเดินป่าไม่ได้อ่อนวัยตาม หลายปีก่อน เอกเคยเฝ้าติดตามนกเงือกปากเรียบ และนกเงือกคอแดง ในป่าห้วยขาแข้งเป็นเวลา สามปีเต็ม ๆ สามปีที่เขากางเต็นท์นอนกลางป่า กับเจ้าหน้าที่สองสามคน เห็นสัตว์ป่ามากกว่าเห็นผู้คน เอกเห็นควายป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง หมาป่า และนกนานาชนิดจนเป็นเรื่องปรกติ "มีคืนหนึ่งนอนในเต็นท์อยู่ดี ๆ เจอช้างป่าเข้าไปรื้อเต็นท์ ต้องจุดไฟไล่ บางทีเดิน ๆ อยู่ก็เจอช้างป่าไล่ ต้องหนีแทบตาย" เอกพูดสั้น ๆ ตามนิสัยของคนที่อยู่ป่ามานาน จนแทบจะไม่ค่อยได้พูดจากับใคร วันนี้นกเงือกหัวแรดที่ภาษายาวีเรียกว่า บุหรง บาลง คำหลังแปลว่า นอแรด บินมาเกาะที่โพรงรัง เพื่อป้อนอาหารให้ตัวเมียถึงสามครั้ง ครั้งแรกมาเวลา ๘.๔๑ น. เอกนับลูกไทรที่ขยอกออกมาป้อนตัวเมียได้ถึง ๕๓ ลูก ครั้งที่ ๒ มาเวลา ๙.๕๐ น. มันคาบลูกรียู ผิวสีเขียวแก่ มาฝากตัวเมีย ๗ ลูก ครั้งที่ ๓ มาเวลา ๑๐.๕๕ น. คราวนี้มันยืนเกาะอยู่ตรงกิ่งไม้ข้าง ๆ คาบแมลงปอคาปากอยู่เกือบ ๒๐ นาที ก่อนจะบินเอาอาหารโปรตีนไปให้ตัวเมีย "ถ้าเป็นงูเขาจะงับให้ตายก่อน ถึงจะส่งเข้าไปในรัง บางทีพยายามยัดงูผ่านรูเล็ก ๆ ให้ตัวเมีย ก็ตกลงมาพื้นล่าง เจ้าตัวผู้ก็บินตามลงมาเก็บอีก บางทีตัวผู้งับแมลงส่งให้ตัวเมีย แมลงยังไม่ตาย ก็ต้องบินไล่งับอีก" เอกให้ความรู้เราอีกครั้ง อาจารย์พิไลเล่าให้เราฟังว่า เคยเห็นนกเงือกคาบหนู มาป้อนตัวเมีย แล้วยังขย้อนหนูจากกระเพาะพัก ออกมาอีกสองตัว บางทีก็ขย้อนไข่นกชนิดอื่นออกมาด้วย พอเจ้าหัวแรดป้อนแมลงปอเสร็จ ก็บินมาเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ แล้วจัดแจงไซ้ขนดูแลความสะอาดตัวเอง นับเป็นการพักผ่อนหลังเหน็ดเหนื่อย จากการหาอาหารมาป้อนให้คู่ชีวิตที่รังเบอร์ ๒๙ ทุกวันนี้รังนกเงือกที่ชาวบ้านร่วมกันค้นหามีประมาณ ๑๐๐ เบอร์ แต่ละปีจะมีนกเงือกเข้ารังประมาณ ๓๐-๔๐ รัง ทำให้ประชากรนกเงือกในป่าบูโดเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าขโมยลูกนกเงือกเช่นในอดีต คนในหมู่บ้านรอบ ๆ เทือกเขาบูโดต่างรู้กันว่า ใครเป็นเจ้าของรัง ใครดูแลรังไหน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวของนกเงือก ที่เป็นข่าวออกเผยแพร่ไปทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ทำให้นกเงือกกำลังกลายเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ เป็นความภูมิใจของชาวมุสลิมแห่งเทือกเขาบูโด จนไม่ค่อยมีคนกล้าไปรบกวนแล้ว
ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ คุณปรีดา เทียนส่งรัศมี คุณวิฑูรย์ นุตโร เจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก