|
|
|
|
ท่านที่อ่านหนังสือ
แกะรอย ก ไก่ ซึ่ง เอนก
นาวิกมูล เป็นผู้เขียน
และสำนักพิมพ์สารคดีเป็นผู้พิมพ์เมื่อ
พ.ศ. ๒๕๓๖ คงจะรู้แล้วว่าตัว
ก ข ค ง
เริ่มมีคำควบหรือคำกำกับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๓ หรือราวหลัง พ.ศ. ๒๓๗๘
ที่เริ่มมีการเล่นหวยในเมืองไทย |
|
|
|
|
|
กล่อง และแผ่นภาพ ก ไก่
ซึ่งพิมพ์โดย
บริษัทประชาช่าง จำกัด
ตลาดน้อย พ.ศ. ๒๔๙๙
จำหน่ายกล่องละ ๒๕ บาท
ปัจจุบัน
กระดาษค่อนข้างกรอบ
และหักง่าย มณู พีระพันธุ์
เอื้อเฟื้อให้ยืมถ่ายภาพ
สไลด์เอนกม้วนที่ ๒๕๔๕-๒๕๕๐ |
|
ทีแรกเป็นการเอาตัว ก ข
ไปกำกับตัวหวยก่อน เช่น ก
สามหวย ข ง่วยโป๊ ฃ เจียมกวย
ค หะตั๋ง
การกำกับเช่นนี้
หาได้ใช้เพื่อการเรียนการเขียนการสะกดใด
ๆ ไม่ เพราะคำข้างหลัง
เป็นเพียงชื่อคนในนิทานจีน
เช่น สามหวยเป็นชื่ออุปราช
ง่วยโป๊ เป็นชื่อทหาร
ดังนี้เป็นต้น
ต่อมาราว พ.ศ.
๒๔๑๔-๒๔๒๐
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย
อาจารยางกูร)
คิดคำกำกับพยัญชนะ
เฉพาะตัวที่มีเสียงพ้องกัน
เช่น ข ขัดข้อง ฃ อังกุษ (อังกุษ
หมายถึง ฃอของควาญช้าง
ถ้าจะเขียนคำว่า
ฃอของควาญช้าง ให้ใช้ ฃ
หัวหยัก)
ค คิด กับ ฅ กัณฐา
นี่หมายความว่า
ถ้าจะเขียนคำว่า คิด ก็ใช้
ค หัวไม่หยัก
ถ้าจะเขียนคำว่า ลำฅอ
ให้ใช้ ฅ หัวหยัก
ตรงนี้ต้องหมายเหตุว่า
ใครที่พยายามเอา ฅ
หัวหยักมาเขียนคำว่า คน
อย่างที่ ตั้งใจ "อนุรักษ์"
กันอยู่ในเวลานี้
น่ากลัวจะผิดที่ผิดทางอยู่
เพราะแบบเรียน ก ข แต่ก่อน
เขาใช้ ฅ
เพื่อเขียนเฉพาะคำว่า ลำฅอ
เท่านั้น ถ้าจะเขียนคำว่า
คน ก็ใช้ ค หัวธรรมดา (ดูหนังสือ
อักขราภิธานศรับท์
ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๑๖ เทียบเคียง)
เพิ่งมาผิดเพี้ยนเป็น ฅ ฅน
เสียเมื่อครูย้วน ทันนิเทศ
แต่งแบบเรียนไว ใน พ.ศ. ๒๔๗๓
นี้เอง
ครูย้วนเผลอตัดคำว่า ลำฅอ
ออก แทนที่ ฅ จะเป็น ฅ ลำฅอคน
ลำฅอม้า หรือฅอเสื้อ
ก็จึงเหลือแค่ ฅ ฅน
ให้เป็นที่ลักลั่น
และสงสัยมานับแต่นั้น
รายละเอียดและคำชี้แจงนอกเหนือจากนี้
ขอให้ดูเพิ่มเติมในข้อเขียนของ
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ ๓
พ.ศ. ๒๕๔๑
สุดแดนอธิบายขยายความเรื่องนี้ได้ดีมาก
ผู้เขียนต้องขอชมเชย
พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเริ่มคิดคำกำกับพยัญชนะครบทั้ง
๔๔ ตัว
ตีพิมพ์ในหนังสือแบบเรียนเร็วที่ทรงแต่ง
แต่คำกำกับนั้น
ยังไม่คล้องจองเป็นคำกลอน |
|
|
|
ก ไก่
คำกลอน
เริ่มมีเมื่อครูย้วน
ทันนิเทศ
แต่งเผยแพร่ในหนังสือแบบเรียนไว
พ.ศ. ๒๔๗๓ (พิมพ์สีเดียวคือสีดำ)
ก ไก่
ครูย้วนซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า
ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ มาหา ฃ
ฃวดน้องชาย ค ควายเข้านา ฅ
ฅนขึงขัง ...มีคนท่องจำกันทั่วประเทศ
โดยเฉพาะคนที่เกิดในรุ่นนั้น
จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๐
เมื่อบริษัทประชาช่าง
จำกัด พิมพ์ แบบเรียน ก ไก่
ชั้นเตรียม ออกมา ก ไก่
ฉบับครูย้วนก็ค่อย ๆ
จางหายไปจากเมืองไทย เพราะ
ก ไก่
ของประชาช่างพิมพ์แบบสอดสี
มีภาพประกอบสวยกว่า
นับแต่นั้นเด็กไทยก็จดจำ ก
ไก่
ฉบับประชาช่างเป็นหลักเรื่อยมากระทั่งถึงปัจจุบัน
ถึงจะมี ก ไก่
สำนวนอื่นแต่งขึ้นมาแข่ง
ก็ดูจะยังสู้ กไก่
ฉบับประชาช่างไม่ได้
ก ไก่
ฉบับประชาช่างเป็น ก ไก่
ที่ดูคลาสสิก เริ่มแต่รุ่น
๒๔๙๐ ที่ใช้คนวาดภาพประกอบ
และพิมพ์สอดสีอย่างง่าย ๆ
ผู้ที่วาด ก ไก่ รุ่นนี้
เป็นใครกันแน่ยังไม่อาจระบุได้
เท่าที่ผู้เขียนพยายามสืบค้นเรื่อยมา
ก็ยังจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย
เพราะไม่มีการลงลายเซ็น
หรือระบุชื่อทิ้งร่องรอยใด
ๆ ไว้เลย
ต่อเมื่อประชาช่างมายักเยื้องพิมพ์
แบบหัดอ่าน ก. ไก่
สำหรับนักเรียนอนุบาลขึ้นอีกแบบ
เมื่อราว ๆ พ.ศ. ๒๕๓๔
จึงปรากฏลายเซ็นของคนวาดขึ้นเป็นครั้งแรก
ตรงมุมล่างของรูป ก ข ค ง
ลายเซ็นนั้นเขียนคล้ายตัว
ย กับ ล ผสมกัน
ภายหลังเมื่อหนังสือ
แกะรอย ก ไก่
พิมพ์ออกไปแล้ว
ปรากฏว่าทายาทของผู้วาดได้โทรศัพท์มาหาผู้เขียนบอกว่า
เดาถูกแล้ว ย กับ ล คือนายยล
มงคลรัตน์
นามเดิมของท่านคือ ยู่เก่ง
ล่อเฮง
ท่านผู้นี้เคยวาดภาพรามเกียรติ์
ที่ระเบียงวัดพระแก้วด้วย
ทว่าน่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสไปพบคุณยล
ก ไก่
ของประชาช่างพิมพ์ออกมาหลายครั้งมาก
เรียกว่าพิมพ์แล้วพิมพ์อีก
จนนับครั้งไม่ถ้วน
ยุคแรกพิมพ์เป็นลายเส้น
สอดสี
เริ่มต้นด้วยรูปไก่กำลังก้าวเท้า
และกำลังขัน ถ้าจะให้เดา
ก็อยากจะเดาว่าวาดโดยคุณยล
มงคลรัตน์ |
|
|
|
ต่อจากนั้นเป็นภาพชุด
ฉันรักพ่อ พ่อรักฉัน
ฉันรักแม่ แม่รักฉัน
ฉันมีพี่ ฉันมีน้อง
ภาพช่วงนี้
ดูฝีมือแล้วผู้เขียนอยากเดาว่า
เป็นฝีมือของ มนตรี ว.น.
ซึ่งก็อีกนั่นแหละ
ท่านผู้นี้ยังหาประวัติไม่ได้อีกเช่นกัน
แม้ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแม้นามสกุลเต็ม
สุดท้ายเป็นภาพชุด
กาเอ๋ยกา บินมาไวไว
มาจับต้นโพ โผมาต้นไทร
ลีลาการวาดคล้ายชุด ก ข
ข้างหน้า
จึงอยากจะเดาว่าคงเป็นฝีมือคุณยล
ภาพเหล่านี้
ในยุคปัจจุบันถูกตัดออกบ้าง
กลายเป็นฝีมือคนอื่นวาดเลียนแบบบ้าง
ส่วน ภาพ ก ข ใน แบบเรียน ก.
ไก่ ชั้นเตรียม (ยุค ๒๔๙๐)
ซึ่งปัจจุบัน (ยุค ๒๕๔๔)
ใช้ว่า แบบเรียน ก. ไก่
อนุบาล
ถูกปรับเปลี่ยนเป็นภาพถ่ายทั้งหมด
ภาพ ก ไก่
ที่นำมาเสนอในฉบับนี้เป็นแผ่นภาพ
ก ไก่ ฉบับประชาช่าง
พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ คุณมณู
พีระพันธุ์
นักสะสมหนังสือการ์ตูน
ซึ่งชอบพอกัน
ไปพบเข้าที่แผงขายหนังสือแห่งหนึ่ง
จึงซื้อมาให้ถ่ายก๊อบปี้ไว้เมื่อ
พ.ศ. ๒๕๔๓ (ขอขอบคุณคุณมณูไว้
ณ โอกาสนี้)
ผู้เขียนขอสารภาพว่าไม่เคยเห็นมาก่อน
ให้สังเกตว่าแทนที่จะพิมพ์เป็นหนังสือ
กลับพิมพ์ลงกระดาษแข็ง
ตัดเป็นแผ่น ๆ
บรรจุลงกล่องอย่างดี
จำหน่ายกล่องละ ๒๕ บาท
ที่จริงก็เหมือนกับฉบับพิมพ์เป็นเล่มทุกอย่าง
แม้ขนาดก็เท่า ๆ กัน
ดังเทียบได้กับฉบับพิมพ์ พ.ศ.
๒๔๙๙
ที่ผู้เขียนมีในห้องสมุดส่วนตัว
เพียงแต่ทำออกมาในอีกลักษณะหนึ่ง
ให้ดูแปลกตาเท่านั้น
จะว่าเป็นกลยุทธ์ในการขายที่ชาญฉลาดก็ได้
แผ่นภาพ ก ไก่
๒๔๙๙ พิมพ์ซ้ำกี่ครั้ง
เลิกและพิมพ์ไปเมื่อใดยังค้นไม่ได้
ส่วนประวัติผู้แต่งกลอน ก
ไก่ ก็ยังสืบไม่ได้เช่นกัน
คุณโอภาส นาคบัลลังก์
นักวาดภาพที่ผู้เขียนเคยเขียนถึง
ในคอลัมน์บ้านพิพิธภัณฑ์เคยโทรศัพท์จากเชียงใหม่
มาบอกว่า คนแต่งกลอน ก ไก่
ให้ประชาช่าง ชื่อครูชิน
จำนามสกุลไม่ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้าท่านผู้ใดเป็นลูกหลานครูชิน
หรือทราบเรื่องนี้ขอความกรุณาบอกด้วย
ประวัติ ก ไก่
ฉบับประชาช่าง
จะได้สมบูรณ์เสียที |
|