ลูกเรือต่างชาติยืนรอรับเจ้าพนักงานนำร่องอยู่ที่ปลายขั้นบันไดบนกราบเรือ เขาเดินนำพวกเราเข้าสู่อาคารหอบังคับการทางด้านท้ายเรือ กลิ่นอันพิเศษเฉพาะภายในเรือเดินสมุทรอาจมาจากผนังเหล็กที่ฉาบสีนวลเย็นตา เราเดินขึ้นบันไดเหล็กแคบ ๆ ที่ทอดวนสูงขึ้นไปอีกห้าชั้น ระดับความสูงของห้องสะพานเดินเรือ อาจวัดได้จากอาการเหนื่อยหอบขณะเราขึ้นไปถึง สะพานเดินเรือของเรือ เซ็ตสุ มีพื้นที่ไม่กว้างขวางเพราะเป็นเรือรุ่นใหม่ ทว่ามีอุปกรณ์เดินเรือทันสมัยครบครัน แผงกระจกใสยาวเต็มผนังด้านหน้า ทำให้มองเห็นทัศนวิสัยภายนอกได้กว้างไกล หน้าปัดเครื่องวัดทรงกลม เรียงรายบนผนังเหนือแนวกระจก ทั้งนาฬิกาบอกเวลา เครื่องวัดรอบความเร็ว clino meter หรือเครื่องวัดอาการโคลงของเรือ เข็มวัดมุมหางเสือ ส่วนหน้าห้องคือแผงคันโยกสั่งเครื่องจักรใหญ่ (เทเลกราฟ) พังงาหรือพวงมาลัยเรือ เข็มทิศไยโร แผงจอเรดาร์ อยู่ถัดมา ด้านหลังเป็นโต๊ะแผนที่เดินเรือขนาดใหญ่ เครื่องหาตำบลที่จากดาวเทียมระบบ GPS สะพานเดินเรือจึงเป็นศูนย์บัญชาการเดินเรือ ปรกติกัปตันเรือจะออกคำสั่งนำเรือผ่านพนักงานสั่งเครื่องจักรใหญ่และคนถือท้าย ทว่าต่อไปนี้เจ้าพนักงานนำร่องจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเดินเรือ เรือเอกทนงศักดิ์ตรงเข้าจับมือทักทายกัปตันเรือวัยกลางคน จากนั้นขอดู pilot card และ ship particular ซึ่งบันทึกรายละเอียด-ข้อมูลเรือด้านต่าง ๆ นาวาเอกอาณัติอธิบายว่า "เมื่อขึ้นนำเรือแต่ละเที่ยว ผู้นำร่องจะต้องรู้ข้อมูลเรือลำนั้นทุกด้าน ว่าเป็นเรือหนักหรือเรือเบา เรือใหญ่หรือเรือเล็ก ความยาวตลอดลำเท่าไหร่ ความกว้างเท่าไหร่ ต่อตั้งแต่ปีไหน กินน้ำลึกเท่าไหร่ ความเร็วหรือสปีดเทเบิลเป็นอย่างไร เรือลำนี้เดินหน้าเบากี่นอต เต็มตัวกี่นอต ถอยหลังกี่เปอร์เซ็นต์ของเดินหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจ" เรือ เซ็ตสุ จดทะเบียนที่ประเทศปานามา เจ้าของเรือเป็นชาวฮ่องกง กัปตันและลูกเรือบางส่วนจึงเป็นชาวฮ่องกง เซ็ตสุ มีความยาวตลอดลำ ๕๒๕ ฟุต (๑๕๙.๕๓ เมตร) ความกว้าง ๒๕ เมตร อัตรากินน้ำลึกสูงสุด ๑๘.๒ ฟุต น้ำหนักตันกรอส ๑๓,๔๔๘ เป็นเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ แล่นมาจากท่าเรือประเทศเวียดนาม ระหว่างกัปตันเรือสั่งงานผ่านระบบวิทยุสื่อสารให้ลูกเรือตรวจเช็คระบบต่าง ๆ ก่อนออกเรือ เรือเอกทนงศักดิ์ก็วิทยุสั่งการให้เรือทัก (tug) เตรียมพร้อม เพราะเรือ เซ็ตสุ จอดเทียบท่าเรือทางกราบขวา โดยหันหัวไปทางทิศเหนือ จึงต้องกลับเรือเพื่อมุ่งหน้าออกทะเล เรือใหญ่ขนาดนี้ไม่สามารถกลับลำด้วยตัวเองได้ จำเป็นต้องใช้เรือทักช่วยดึงหรือดันเสมอ
๑๗.๐๐ น. หลังจากรอให้เรือไลท์เตอร์ (lighter) หรือเรือลากจูงเรือเหล็กขนสินค้าขบวนหนึ่งผ่านไป เรือเอกทนงศักดิ์ก็แจ้งวิทยุให้เรือไลท์เตอร์ และเรือลำอื่น ที่กำลังจะผ่านเข้ามาหยุดรอก่อน เรือ เซ็ตสุ เริ่มกลับลำ ใบจักรเป่าหัว (bow thruster) ตรงหัวเรือทำงาน พ่นน้ำออกทางด้านขวา ขณะเรือทักที่โยงเชือกกับท้ายเรือ ด้านกราบซ้ายเริ่มเดินหน้า ทำให้เรือ เซ็ตสุ ถอยห่างออกจากท่าเทียบเรือ เมื่อได้ระยะ เรือเอกทนงศักดิ์บอกให้หยุดใบจักรเป่าหัว แล้วเปลี่ยนเป็นเป่าออกทางด้านซ้าย เรือ เซ็ตสุ เริ่มหมุนช้า ๆ ในทิศตามเข็มนาฬิกา ระหว่างนั้นเรือเอกทนงศักดิ์ เดินไปมาระหว่างกราบเรือด้านซ้ายกับขวา เพื่อดูระยะปลอดภัย เมื่อเห็นหัวเรือค่อนข้างใกล้ริมฝั่ง เขาแนะนำคนสั่งเครื่องจักรใหญ่เดินเครื่องถอยหลังเบา "สโลว์ อัสเทิร์น" เรือถอยหลังอย่างช้า ๆ เมื่อหัวเรือห่างจากฝั่งในระยะปลอดภัยแล้ว เรือเอกทนงศักดิ์แนะนำให้หยุดเครื่องจักรใหญ่ ใบจักรบาวทรัสต์เริ่มทำงานต่อ เรือหมุนตามเข็มนาฬิกาอีกอย่างช้า ๆ กระทั่งขวางลำกลางแม่น้ำ เรือขนาดมหึมาลำนี้แทบจะเต็มความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยา หัวและท้ายเรือห่างจากสองฝั่งเพียงนิดเดียว เรียกได้ว่าคับแม่น้ำ ไม่เหลือช่องทางให้เรือลำอื่นแล่นผ่าน การกลับลำเรือใหญ่กลางแม่น้ำแต่ละครั้ง จึงเป็นเรื่องยุ่งยากเสมอสำหรับผู้นำร่อง ไม่คล่องตัวเหมือนขณะกลับรถบนถนน "ผู้นำร่องต้องดูทั้งด้านซ้าย ด้านขวา เพื่อความปลอดภัย การกลับลำครั้งนี้ถือว่านิ่มนวลใช้ได้ ค่อย ๆ หมุนไปเรื่อย ๆ ระยะห่างจากฝั่งกำลังพอดี บังเอิญช่วงนี้จังหวะดีที่น้ำนิ่ง ถ้ากระแสน้ำแรง หรือลมแรง การบังคับเรือจะต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพการณ์ อาจยากกว่านี่" นาวาเอกอาณัติกล่าว เมื่อเรือกลับลำได้เรียบร้อย ลูกเรือปลดเชือกโยงเรือทัก ใบจักรเป่าหัวหยุดทำงาน เรือเอกทนงศักดิ์แนะนำให้ปรับความเร็วเครื่องจักรใหญ่ไปที่เดินหน้าเบา "สโลว์ อเฮด" "สโลว์ อเฮด เซอร์ !" คนสั่งเครื่องจักรใหญ่ทวนคำแนะนำเจ้าพนักงานนำร่อง เขาโยกก้านคันโยกเทเลกราฟไปที่ตำแหน่ง สโลว์ อเฮด ออดสัญญาณเสียงแหลมดังก้อง กลไกจากคันโยกจะลงไปแสดงผลในห้องเครื่อง บอกให้ช่างเครื่องปรับแต่งความเร็วเครื่องยนต์ตามคำสั่ง เรือยักษ์เคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่ความคดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยา
ร่องน้ำเจ้าพระยาแบ่งออกได้เป็นสองช่วง ช่วงแรกจากสะพานตากสินถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า เขตจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางเกือบ ๔๐ กิโลเมตร ร่องน้ำช่วงแคบที่สุดกว้าง ๑๘๐ เมตร ช่วงกว้างที่สุด ๓๐๐ เมตร ลึก ๘.๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ช่วงที่ ๒ จากป้อมพระจุลฯ เข้าร่องน้ำที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ขุดลอก ผ่านสันดอนปากอ่าวไทย จนถึงสถานีนำร่อง ระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร ร่องน้ำทางตรงกว้าง ๑๕๐ เมตร ทางโค้งกว้าง ๒๕๐ เมตร ลึก ๘.๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กรมเจ้าท่ากำหนดให้เรือเดินสมุทรที่จะผ่านเข้าสู่ร่องน้ำนี้มีความยาวตลอดลำไม่เกิน ๕๖๕ ฟุต (๑๗๒.๔๐ เมตร) ตลอดความยาวร่องน้ำ ถือว่าเจ้าพนักงานนำร่องเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเดินเรือ อำนาจในการควบคุมเรือยังคงเป็นของกัปตัน เขามีสิทธิ์ระงับคำแนะนำของนำร่อง หากเห็นว่าอาจทำให้เกิดอันตรายแก่การเดินเรือ นาวาเอกอาณัติอธิบายว่า หลักการเดินเรือในร่องน้ำ เรือทุกลำต้องวิ่งชิดฝั่งด้านขวา สวนกับเรือลำอื่นทางฝั่งกราบซ้าย ในการนำเรือ ผู้นำร่องใช้คำแนะนำภาษาอังกฤษที่เป็นสากล คนเรือเข้าใจตรงกันทั่วโลก คำแนะนำมีลักษณะสั้น รัดกุม เข้าใจได้ทันที "คำแนะนำสำหรับการนำร่องมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือแนะนำความเร็ว หรือสั่งเครื่องจักรใหญ่ ให้เรือเดินหน้าหรือถอยหลังด้วยระดับความเร็วต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งคือแนะนำทิศทาง ทำได้ทั้งแนะนำหางเสือเรือ ถ้าแนะนำหางเสือขวาก็สตาร์บอร์ด (starboard) หางเสือซ้ายก็พอร์ต (port) อีกวิธีหนึ่งคือแนะนำตามเข็ม บนเรือจะมีเข็มไยโร เริ่มจาก ๐ องศาคือทิศเหนือ ไล่ตามเข็มนาฬิกามา ๙๐ องศา ๑๘๐ องศา ๒๗๐ องศา จนถึง ๐ หรือ ๓๖๐ องศา เช่นถ้าเราแนะนำเรือมุ่งตามเข็มศูนย์ สี่ ห้า เรือก็จะวิ่งตามเข็ม ๔๕ องศา" "มิดชิป" เรือเอกทนงศักดิ์แนะนำหางเสือตรง "ฮาล์ฟ อเฮด" แม่น้ำช่วงนี้โล่ง ผู้นำร่องจึงเพิ่มความเร็วเรือจากเดินหน้าเบาเป็นเดินหน้าครึ่งตัว คนสั่งเครื่องจักรใหญ่ทวนคำแนะนำ เสียงออดดังขึ้น "สตาร์บอร์ด เท็น" นำร่องแนะนำหางเสือขวา ๑๐ องศา "สโลว์ อเฮด" เรือลดความเร็วลง เพราะเริ่มมีไลท์เตอร์สวนมาเป็นระยะ เรือเหล็กสี่ถึงหกลำในแต่ละขบวนบรรทุกข้าว หรือสินค้าจนเพียบหนัก จึงแล่นเอื่อยช้าอย่างยิ่ง "พอร์ต เท็น" นำร่องแนะนำหางเสือซ้าย ๑๐ องศา "เดดสโลว์ อเฮด" เรือเอกทนงศักดิ์ลดความเร็วเรือเป็นเดินหน้าเบามาก เพราะในร่องน้ำช่วงนี้เต็มไปด้วยเรือยนต์โดยสารลำเล็ก และเรือหางยาววิ่งผ่านไปมา หางยาวบางลำแล่นตัดหน้าเรือยักษ์ เซ็ตสุ ในระยะกระชั้นชิด ชวนให้หวาดเสียว
๑๘.๕๐ น. เราผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้าทางฝั่งขวา หมายถึงขณะนี้เรือ เซ็ตสุ แล่นมาถึงปลายแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังเข้าสู่ร่องน้ำช่วงที่ ๒ เรายังคงอยู่ที่กราบเรือด้านนอก มองเห็นทะเลปากอ่าวเป็นสีเทาแผ่กว้างสุดสายตา ทว่าท้องน้ำนอกร่องน้ำบริเวณนี้กลับมีความลึกเฉลี่ยเพียง ๒ เมตรเศษเท่านั้นเอง เป็นเพราะทุกปีสายฝน จะชะดินทรายริมฝั่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นปริมาณมหาศาล รวมทั้งเศษขยะที่คนทิ้งลงแม่น้ำ ตะกอนเหล่านั้นจะถูกกระแสน้ำพัดลงทางทิศใต้ ถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบรรจบกับทะเลที่อ่าวไทย ตะกอนในน้ำจืดเมื่อกระทบกับน้ำเค็ม ที่มีเกลือละลายอยู่จะจมลงสู่เบื้องล่างทันที ทับถมกลายเป็นชั้นดินโคลนตื้นเขิน แผ่ออกไปโดยรอบ เหมือนรูปพัดซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ยาวเหยียดจากปากอ่าวนับสิบกิโลเมตร ซึ่งเราเรียกว่าสันดอนปากแม่น้ำนั่นเอง หากไม่มีร่องน้ำ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ย่อมไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการขุดลอก และดูแลรักษาร่องน้ำสันดอนปากอ่าวไทย ผลการสำรวจพบว่า แต่ละปีจะมีตะกอนทับถมที่ปากอ่าวไทย ประมาณ ๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเวลาสี่ปีถ้าไม่มีการขุดลอก ตะกอนจะทับถมจนร่องน้ำตื้นเขิน เรือขุดสันดอนของการท่าเรือฯ จึงต้องออกปฏิบัติงานทุกวัน เพื่อรักษาร่องน้ำให้ลึกตลอดเวลา ดังที่เราเห็นเรือขุดลำหนึ่งเพิ่งสวนไปเมื่อสักครู่ ลมทะเลยังคงพัดแรง ท้องฟ้ามืดลงทุกขณะ เราเกิดความสงสัยว่า กลางทะเลกว้าง ถึงยามกลางคืนมืดมิด ผู้นำร่องจะนำเรือให้แล่นอยู่ในร่องน้ำได้อย่างไร นาวาเอกอาณัติชี้ให้เราดูทุ่นไฟกะพริบสีเขียวด้านซ้ายมือ บอกว่า มันคือทุ่นไฟกำกับร่องน้ำ การท่าเรือฯ เป็นผู้ดูแลรักษา จัดวางในระบบสากล ขาเรือออกสู่ทะเล จะเห็นทุ่นไฟสีเขียวทางซ้ายวางห่างกันทุ่นละ ๑ กิโลเมตร สลับกับแนวทุ่นสีแดงทางฝั่งขวามือ เพื่อให้เป็นที่สังเกตแนวของร่องน้ำ "นอกจากนี้ นำร่องจะต้องดูกระโจมไฟหลักนำ หรือ leading mark ลักษณะเป็นเสาสูง ตั้งบนฐานคอนกรีต ด้านบนเป็นกระโจมไฟ บางตัวตั้งอยู่ในน้ำ บางตัวตั้งอยู่บนบก การวางหลักนำจะวางเป็นคู่ หน้าและหลังห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร ตัวหลังจะสูงกว่าตัวหน้า หลักนำใช้กำกับร่องน้ำที่เป็นทางตรง เส้นที่ลากผ่านหลักนำตัวหลังไปยังหลักนำตัวหน้า จะเป็นเส้นแบ่งร่องน้ำ ปรกติเราจะนำเรือให้มองเห็นหลักนำตัวหน้า และหลังทับกันเหมือนกับเราเล็งปืน แสดงว่าเรือกำลังแล่นอยู่กลางร่องน้ำ ถ้ามีเรือสวนมา เราจะนำเรือ ให้เห็นหลักนำเยื้องกัน เพื่อให้เรือแล่นอยู่ในเลนของเรา"
เรือ เซ็ตสุ เบาเครื่องลดความเร็วหลังแล่นพ้นร่องน้ำ เพื่อให้เจ้าพนักงานนำร่องลงจากเรือใหญ่ สู่เรือยนต์เล็กที่มารับพวกเขาไปสู่สถานีนำร่อง เมื่อเจ้าพนักงานนำร่องหมดหน้าที่นำเรือใช่ว่าจะได้รับความผ่อนคลายโดยทันที เขายังต้องตั้งสติระมัดระวังขณะไต่บันไดเชือกหรือที่เรียกว่าบันไดลิง (pilot ledder) ลงจากกราบเรือที่สูงจากผิวน้ำทะเลเกือบเท่าตึกสองชั้น สภาพการณ์เช่นนี้ อาจทำให้คนที่กลัวความสูง และว่ายน้ำไม่เป็นต้องหวั่นใจเป็นสองเท่า เหตุที่ลูกเรือไม่อาจกางบันไดโลหะ (gangway) ให้ เพราะคลื่นกลางทะเล อาจตีบันไดกระแทกเรือเล็กอย่างรุนแรง จนเกิดอุบัติเหตุ เราหันหน้าสู่กราบเรือ สองมือยึดเชือกบันไดเส้นใหญ่ที่แข็งสากไว้แน่น ค่อย ๆ หย่อนเท้าลงบนแผ่นไม้ขั้นบันไดแคบ ๆ ที่เหยียบไม่ค่อยเต็มฝ่าเท้านัก ไต่ลงไปอย่างระมัดระวัง จนถึงบันไดขั้นสุดท้าย เรือเล็กที่เทียบอยู่นั้นโยนตัวสูงต่ำ ตามแรงหนุนของคลื่น ต้องคอยอยู่ท่ามกลางละอองน้ำทะเลที่เปียกชื้นอยู่รอบตัว เมื่อได้จังหวะจึงเอื้อมมือไปยึดราวโลหะ แล้วก้าวขาตามขึ้นไปเหยียบบนกราบเรือเล็ก ที่ลื่นคราบน้ำ เรือยนต์เล็กฝ่าคลื่นลมมุ่งสู่สถานีนำร่องอันสว่างไสว เราต้องระวังอีกครั้งขณะก้าวจากเรือสู่บันไดโลหะที่พาดลงมาจากอาคาร ขึ้นได้แล้วจึงได้ฟังเหตุการณ์ในคืนที่คลื่นลมแรง เจ้าพนักงานนำร่องคนหนึ่งพลัดตกทะเลขณะกำลังขึ้นบันไดสถานีนำร่อง คลื่นซัดเรือเล็กอัดร่างเขากับตอม่ออาคาร เขาไม่ตายแต่ต้องนอนรักษาตัว ในโรงพยาบาลอยู่หลายเดือน สถานีนำร่องแห่งนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ ๒๔ เมตร อาคารทาสีขาวสลับแดง ตัวอาคารตั้งอยู่บนตอม่อขนาดใหญ่สี่ต้น ฝังดินในบริเวณน้ำลึกประมาณ ๑๒ เมตร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนดาดฟ้าบนหลังคาของชั้น ๓ ติดตั้งเสาอากาศวิทยุ และเครื่องมือตรวจวัดข้อมูลทางอุตุนิยม รวมทั้งเป็นที่ตั้งของประภาคารสูง ๑๖.๓๖ เมตร บนยอดประภาคารติดตั้งไฟสัญญาณรอบทิศ ลักษณะเป็นไฟวาบสีขาวประมาณ ๒ วินาที และจะวาบทุก ๆ ๑๐ วินาที มองเห็นได้ไกลในระยะ ๒๐ ไมล์ทะเล ช่วยให้เรือสินค้าสามารถเดินทางเข้ามาใกล้สถานีเพื่อรับเจ้าพนักงานนำร่อง หลังอาหารมื้อค่ำ นาวาเอกอาณัติก็พาเราเดินชมส่วนต่าง ๆ ของสถานีนำร่อง ชั้นล่างเป็นที่พักของกะลาสีและนายท้ายเรือยนต์ ชั้นสองเป็นห้องอาหาร ห้องครัว ห้องวิทยุสื่อสาร ห้องปฐมพยาบาล ห้องเจ้าหน้าที่อุตุนิยมพร้อมเครื่องมือตรวจวัด ห้องพักเจ้าหน้าที่สื่อสาร พนักงานบริการ รวมถึงคนครัวหรือสหโภชน์ ชั้น ๓ เป็นห้องนั่งเล่น และห้องพักเจ้าพนักงานนำร่องจำนวน ๑๕ ห้อง
เรือ เศรษฐภูมิ เป็นเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าขนาดใหญ่ ความยาวตลอดลำ ๑๔๕.๖๕ เมตร กว้าง ๒๕ เมตร ขนสินค้ามาจากประเทศสิงคโปร์ แวะจอดท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เรือลำนี้ถือสัญชาติไทย บริษัทในประเทศไทยเป็นเจ้าของ กัปตันเรือและลูกเรือเป็นคนไทยเช่นกัน บรรยากาศในห้องสะพานเดินเรือจึงค่อนข้างเป็นกันเอง เจ็ดโมงเช้า เรือ เศรษฐภูมิ แล่นผ่านเข้าร่องน้ำสันดอนปากอ่าวไทย ขณะน้ำกำลังขึ้นเต็มที่ ริมร่องน้ำช่วงโค้งบางปูมีเสาไม้โพงพางปักอยู่เป็นดง ชาวประมงชอบเข้ามาปักโพงพางในร่องน้ำลึกเพราะเต็มไปด้วยสัตว์น้ำ จึงเป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินเรือ บางครั้งนำร่องต้องนำเรือซิกแซ็กไปมา เพื่อหลบหลีกโพงพางระเกะระกะ แปดนาฬิกาเศษ เรือ เศรษฐภูมิ ลดความเร็วลงเมื่อเข้าสู่ร่องน้ำเจ้าพระยา เรือไลท์เตอร์และเรือเดินสมุทรแล่นสวนออกไปเป็นระยะ เรือเบาเครื่องที่ปากน้ำ เพื่อรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรขึ้นมาปฏิบัติพิธีการ และตรวจสินค้าผิดกฎหมาย เมื่อถึงเขตจอดเรือบางปลากดน้ำเริ่มลง เรือเอกทนงศักดิ์ ชี้ให้เราดูขยะที่ไหลตามกระแสน้ำไปออกทะเล ขยะเหล่านี้ จะจมลงทับถมทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน ตะวันขึ้นสูงแล้ว ขณะเรามาถึงเขตหลักผูกเรือบางหัวเสือ ผิวน้ำสะท้อนแสงเป็นประกายจัดจ้า ริมฝั่งแม่น้ำมีแต่ท่าเรือเรียงราย ผู้ที่เป็นนำร่องต้องจำให้ได้ว่า ท่าเรือหมายเลขใดตั้งอยู่ตรงจุดไหน เพื่อนำเรือเข้าเทียบได้ถูก เรือ เศรษฐภูมิ มีกำหนดเข้าเทียบท่าเรือเอกชนหมายเลข TPT ๑๐ ทางฝั่งขวาไม่ไกลจากโค้งพระประแดง