นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว |
www.sarakadee.com ISSN 0857-1538 |
|
|
แต่สำหรับผม การส่งออกมีแง่มุมอื่นที่น่าสนใจกว่านั้น โดยเฉพาะความเชื่อมโยงบางประการของมัน กับการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า เรื่องราวของเนื้อสมัน กวางเขางามที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทย น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ ตามปรกติแล้วสัตว์จำพวกกวางไม่ว่าที่ใดในโลก มักจะมีโอกาสสูญพันธุ์น้อยมาก เพราะแต่ละชนิด มักจะมีจำนวนประชากรอยู่ค่อนข้างมาก แต่ถึงกระนั้นไทยก็กลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่สามารถทำให้กวางหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสมัน ละอง ละมั่ง เนื้อทราย สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดิน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือการล่าเพื่อส่งออก |
||||
มองย้อนกลับไปในอดีต ในสมัยอยุธยา มีชาวฮอลันดาหรือชาวดัตช์จำนวนไม่น้อย เข้ามาทำการค้า และตั้งบ้านเรือนอยู่ในอยุธยา พ่อค้าชาวดัตช์มีอาชีพหลักอย่างหนึ่ง
คือการตั้งโรงรับซื้อหนังกวางจากคนไทย เพื่อส่งไปขายต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่มีความต้องการหนังกวางสูงมาก มีบันทึกของชาวต่างประเทศรายงานว่า ในเวลานั้น
หนังกวางจากสยามถูกบรรทุกลงเรือส่งออกนอกประเทศ ปีละกว่าหมื่นผืน หากคำนวณกันหยาบ ๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา คงมีหนังกวางส่งออกนอกประเทศ เป็นจำนวนนับล้านผืน ซึ่งนั่นก็เท่ากับจำนวนชีวิตของสมัน ละอง ละมั่ง เนื้อทราย ที่เราต้องสูญเสียไป สมันเป็นสัตว์ที่อาศัยตามทุ่งหญ้าที่ราบต่ำ ป่าโปร่ง แถวภาคกลางบริเวณ ทุ่งรังสิต เรื่อยมาจนถึง สำโรง พระโขนง บางปู บางบ่อ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมันไม่อาศัยในป่าทึบ เพราะเขาขนาดใหญ่สมันเป็นอุปสรรคสำคัญ เข้าป่ารกเขาอาจเกี่ยวกิ่งไม้ หรือเถาวัลย์ได้ง่าย แต่การหากินอยู่ในที่โล่งแจ้ง จึงมีโอกาสถูกล่าได้ง่ายมาก คำว่า สมัน จึงกลายเป็นคำไทยที่มีความหมายถึง อะไรที่ได้มาง่าย ๆ พอระหว่างสงครามครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นเข้ามายึดเมืองไทย ได้ทำสัญญาซื้อขายหนังกวางมากขึ้น และต่อมาจอมพลป.พิบูลสงครามได้ตั้งโรงงานฟอกหนังขึ้นมา เพื่อผูกขาดอุตสาหกรรมการทำหนังสัตว์ ที่ขยายตัวมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สมันตัวสุดท้ายในโลก ได้ตายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อม ๆ กับ ละอง ละมั่ง และเนื้อทราย ที่ได้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย แต่โชคดีกว่าที่ในประเทศอื่น ๆ ยังพอมีให้เห็นได้ ขณะที่สมันในโลกนี้ มีเพียงเขา และภาพเหลือเป็นเพียงความทรงจำ การค้าขายของมนุษย์ จึงเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลก |
|||||
ฉบับหน้า หุ่นจีนไหหลำ ในเมืองไทย |
เรื่องราวของสมันก็ไม่ต่างจากเรื่องราวของวัวไบซัน ในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อน มีไบซันอาศํยอยู่หลายสิบล้านตัว
และแม้ชาวอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ ล่าไบซันกินเพื่อเป็นอาหาร มันก็ยังเหลือสืบเผ่าพันธุ์ได้อีกมาก เป็นอย่างนี้มานานหลายพันปี แต่พอคนขาวจากยุโรปมายึดครองทวีปอเมริกาเหนือ และขับไล่ฆ่าฟันคนอินเดียนแดง เจ้าของถิ่นตัวจริงให้ไปอยู่ในเขตสงวน ไบซันได้สูญหายไปจากทวีปอเมริกาเหนือ ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี ไบซันที่เคยมีอยู่หลายสิบล้านตัว ลดจำนวนเหลือเพียงไม่กี่พันตัว จนเกือบสูญพันธุ์ ที่เหลือถูกคนขาวไล่ฆ่า เพื่อเอาหนังวัวส่งไปขายในทวีปยุโรป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ปีไหนคนยุโรปนิยมกินสตูลิ้นวัวไบซัน คนขาวก็จะไล่ฆ่าไบซัน เพื่อตัดเอาเพียงลิ้น และทิ้งส่วนที่เหลือ ในช่วงเวลานั้น แผ่นดินของอเมริกาเหนือจึงเน่าเหม็น เต็มไปด้วยซากไบซันนับล้านตัว ที่ถูกทิ้งเกลื่อน หลังจากถูกถลกหนังและตัดลิ้น แต่ไบซันยังโชคดีกว่าสมัน ตรงที่ว่าผู้ปกครองหลายคนในเวลานั้น เห็นถึงลางร้ายแห่งการสูญพันธุ์ของไบซัน จึงเริ่มออกกฎหมายคุ้มครอง ไบซันจึงยังเหลือรอดมาให้เราได้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งสมัน ละอง ละมั่ง เนื้อทรายจนมาถึงไบซัน เป็นตัวอย่างในอดีตที่ชี้ให้เห็นว่า การผลิตเพื่อการค้าส่งออกที่มากเกินไปของมนุษย์ มีส่วนในการทำลายธรรมชาติเพียงใด เพราะที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดว่า สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของพรานจำนวนมาก ที่ล่าสัตว์ด้วยความคึกคะนองเพียงประการเดียว แต่เหตุผลสำคัญคือ การล่าเพื่อการค้าส่งออก ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ลองนึกดูให้ดีว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนในอดีตบทนี้บ้าง |
||||
|