สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ชีวิตที่ต้อง "เยียวยา"
ของชนกลุ่มน้อยผู้พลัดถิ่นในพม่า

เรื่องและภาพ : เทียรี ฟาลีส์
แปลและเรียบเรียง : เบญจรัตน์ ฉั่ว

 
      เครื่องยนต์ที่ส่งเสียงกระหึ่มขับเคลื่อนเรือหางยาวฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว และสายน้ำวนของแม่น้ำสาละวิน ที่ยังคงห่มคลุมด้วยหมอกยามเช้า สายน้ำอันยิ่งใหญ่นี้ไหลผ่านเขาสูงที่ปกคลุมด้วยป่าทึบ เป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่านับเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ 
    จากจุดนี้ไปอีกไม่กี่ไมล์ มีกองกำลังรักษาการณ์ของทหารพม่า ตั้งอยู่บนเนินเหนือหาดทรายสีเทา เรือหางยาวเบาเครื่องลง นักรบชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งคลี่ผ้าใบพลาสติกคลุมร่างของ แชนนอน อลิสสัน ชายร่างสูงกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร ศีรษะใหญ่ ผิวสีชมพู และตัวโตเหมือนนักรักบี้ ซึ่งนอนราบอยู่ที่ท้องเรือ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของพลแม่นปืนพม่า 
    เพียงไม่ถึง ๔๘ ชั่วโมงก่อนหน้า ชาวอเมริกันวัย ๓๙ ปีผู้นี้ได้ละจากงานทันตแพทย์ และจากครอบครัวของเขาในเมืองแมนเดอวิลล์ รัฐลุยเซียนา แชนนอนจูบลาซูซาน-ภรรยา และลูกอีกสามคน แล้วออกเดินทางไปเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อต่อเครื่องบินอีกหลายลำ ที่พาเขาสู่การเดินทางอันยาวนานและน่าเบื่อหน่ายกว่า ๓๐ ชั่วโมง 
(คลิกดูภาพใหญ่)

    ณ สนามบินกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ศุลกากรประหลาดใจกับกล่องอะลูมิเนียมต่าง ๆ กระเป๋าที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ของแชนนอน เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมงในการค้นอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างละเอียดลออ แชนนอนเล่าว่า "พวกเขาถามว่าผมทำธุรกิจหรือ ผมก็บอกว่า อุปกรณ์พวกนี้เอาไว้ใช้ในภารกิจให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เขาก็เลยให้ผมมา" แชนนอนทำเป็นลืมบอกเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่า ภารกิจนั้นจะปฏิบัติในพม่า--หลังจากที่เขาได้ลักลอบข้ามพรมแดนไทยไปแล้ว
    หลังจากที่เรือแล่นผ่านกองกำลังทหารไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผ้าพลาสติกก็ถูกเลิกออก เผยให้เห็นแชนนอนที่ตัวแดงนอนเหงื่อท่วมเพราะความร้อน เช้าวันต่อมา หลังจากที่ค้างคืนกันบนหาดทรายฝั่งขวาของแม่น้ำสาละวิน คณะเดินทางที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล กองกำลังกะเหรี่ยง และลูกหาบ ๓๐ คนที่ทำหน้าที่แบกอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา ก็เริ่มเดินทางไปตามเส้นทางวกวนในป่า เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ คือ จังหวัดมือตรอว์ ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีผู้ลี้ภัย หรือที่เรียกกันในแถบนี้ว่า "ผู้พลัดถิ่นในประเทศ" (Internally Displaced People-IDPs) หลบซ่อนตัวอยู่ราวกับสัตว์ป่าที่ตื่นกลัว กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชาวนาที่ถูกขับไล่ออกมาจากหมู่บ้านของตน ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งถือเป็นพลเมืองร้อยละ ๓๐ ของประเทศพม่า พวกเขาถูกกดดันให้ไปอาศัยป่าเป็นที่พักอาศัย เป็นเวลานับวัน นับเดือน หรือนับปี ภายใต้การคุกคามอย่างต่อเนื่องของกองทหารพม่า 
    โดยปรกติแล้ว สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) ซึ่งเป็นองค์กรของชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้มานานนับครึ่งศตวรรษเพื่อประเทศกอทูเล หรือประเทศกะเหรี่ยงอิสระ จะจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย คราวนี้ การที่มีทันตแพทย์อลิสสันร่วมในการเดินทางนานสองสัปดาห์นี้ด้วย ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมและการรักษาความปลอดภัยมากกว่าปรกติ 
    แชนนอนเดินทางมายังแผ่นดินกะเหรี่ยงเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตสิบปีในหน่วยรบพิเศษอเมริกัน ซึ่งเป็นเหล่าทหารชั้นสูงของกองทัพ และอีกเก้าเดือนในหน่วยปฏิบัติการพายุทะเลทรายในสงครามอ่าวเปอร์เชีย 
    เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเคยร่วมรบด้วยกันกล่าวว่า "ในกองทัพ แชนนอนเป็นหมอฟันที่ดีที่สุด เป็นเหมือนศิลปินเลยทีเดียว การถอนฟันกับเขานี่เกือบจะเป็นความสุขเลยละครับ" 
    แชนนอนเล่าถึงแรงบันดาลใจของเขาด้วยถ้อยคำเรียบง่ายว่า "ผมอยากจะนำความหวังไปให้คนเหล่านี้ อยากให้พวกเขาเห็นว่า ยังมีชาวต่างชาติที่สนใจพวกเขา ให้เขารู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกลืม" ในฐานะคริสเตียนที่มีศรัทธาแรงกล้า แชนนอนยังถือว่าตนมี "จิตวิญญาณดวงเดียวกัน" กับชาวกะเหรี่ยงในภูมิภาคนี้ซึ่งส่วนมากเป็นคริสเตียนอีกด้วย

(คลิกดูภาพใหญ่)     คนที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วยอีกคน คือ พอทู--ชื่อภาษากะเหรี่ยงที่มีความหมายว่า "ดอกไม้สีทอง" พยาบาลชาวกะเหรี่ยงวัย ๓๑ ปีผู้นี้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ในสายตาของชาวกะเหรี่ยง หญิงสาวที่พูดจาเปิดเผยกว่าใครผู้นี้ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอันตราย ในเขตแดนของศัตรูเมื่อสองสามปีก่อน ประวัติสั้น ๆ ของเธอเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทั้งน่าทึ่งและน่าเศร้า ในปี ๒๕๓๕ ขณะที่เธอตั้งท้องได้สามเดือน สามีซึ่งเป็นทหารกะเหรี่ยงถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตา พอทูถูกคุมขังและคลอดลูกชายในคุก เธอจึงต้องฝากลูกน้อยให้แม่สามีช่วยเลี้ยง หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว พอทูถูกเพื่อนชาวกะเหรี่ยงสงสัยว่าเป็นสายลับ เพราะตอนที่อยู่ในคุกเธอสนิทกับชาวพม่าคนหนึ่ง เธอรอดพ้นการถูกนินทามาได้ โดยความช่วยเหลือของผู้นำกะเหรี่ยงที่เป็นที่เคารพผู้หนึ่ง ซึ่งรับเธอเป็นบุตรบุญธรรม 
    หากเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น เขาอาจจะมีชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่คิดทำอะไร แต่นั่นไม่ใช่พอทู เนื่องจากเธอไม่สามารถขจัดความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องน่าเศร้าที่ทำลายวัยเด็กของเธอไปได้ เรื่องราวนั้นเกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของภาคตะนาวศรีทางตอนใต้ของพม่า ที่ซึ่งลูกสาวชาวนาอย่างเธอฝันเพียงอยากเล่นตุ๊กตากับเด็กคนอื่น ๆ เธอเล่าให้ฟังว่า "มีเรื่องมากมายที่พวกทหารพม่าก่อขึ้น พวกเขามักจะมาที่หมู่บ้านของฉัน และขโมยข้าวและไก่ไป พวกผู้ชายถูกบังคับให้เป็นลูกหาบ ใครขัดขืนก็จะถูกทุบตี"
    หลังจากนั้น ภายหลังเข้ารับการฝึกเป็นพยาบาล กับหน่วยแพทย์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนอยู่สองสามปี เธอก็ตัดสินใจที่จะช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งมีเด็ก ๆ จำนวนมากที่กำลังจะตาย เพราะไม่ได้รับการดูแล และไม่ได้รับการรักษาด้วยยาพื้นฐาน 
(คลิกดูภาพใหญ่)     แชนนอน พอทู และคณะ เริ่มไต่เขาสูง ๓,๐๐๐ ฟุต ที่กั้นระหว่างแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโยนซาลิน--แม่น้ำที่งดงามมากอีกสายหนึ่ง แชนนอนซึ่งได้รับปืนพก .๔๕ มม. จากผู้นำกะเหรี่ยง กล่าวว่า "ในกรณีร้ายแรงที่สุด ผมอาจต้องเผชิญหน้ากับทหารพม่า" เขายิ้ม แชนนอนสวมชุดและอุปกรณ์หน่วยรบพิเศษที่เขาเคยทำงาน กางเกงขาสั้นสีกากี เสื้อยืดไม่มีแขน หมวกพราง และรองเท้าบูตทหาร หลอดพลาสติกงอโผล่ออกมาจากกระเป๋าพลาสติกนุ่ม ๆ ที่เติมน้ำไว้ และผูกติดไว้กับกระเป๋าอันหนักอึ้งของเขาให้สูงขึ้นมาถึงระดับไหล่ เพื่อที่เขาจะได้จิบน้ำได้ขณะเดิน ลูกหาบที่เดินตามหลังแบกสัมภาระหนักอึ้งอันประกอบด้วยกล่องพลาสติกสีแดงและเทา ในกล่องพวกนั้นมีเข็มฉีดยาชา กรรไกร ที่ขูดฟัน ช้อนตักยา ซึ่งแชนนอนบรรจุไว้อย่างประหยัดเนื้อที่ที่สุด อุปกรณ์ชิ้นสำคัญคือที่กรอฟันแบบพกพาได้ มันเป็นอุปกรณ์พิเศษใช้กับแบตเตอรี่ ๑๒ โวลต์ที่แชนนอนออกแบบมาเป็นการเฉพาะ สำหรับการเดินทางครั้งนี้ เขากล่าวติดตลกว่า "มันอาจจะมีเพียงชิ้นเดียวในโลกนี้ก็ได้ ผมน่าจะจดสิทธิบัตรไว้นะ"
    ราวเที่ยง คณะได้เดินทางมาพบผู้พลัดถิ่นประมาณ ๒๐ คน ที่หลบหนีจาก แม ชอง วิน หนึ่งในพื้นที่ที่เรียกว่า "ที่พักพิง" (relocation site) หรือชุมชนที่ถูกตั้งขึ้นในพื้นราบ บริเวณที่กองทัพพม่ากวาดต้อนชาวนา ให้มาอาศัยอยู่รวมกันภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด หลังจากที่ได้ทำลายหมู่บ้านของพวกเขาไปแล้ว 
    ซอพลอ หนึ่งในผู้พลัดถิ่นเล่าให้ฟังว่า "เราถูกบังคับให้ทำงานให้พวกทหาร ต้องตัดไม้ไผ่ ทำความสะอาดค่ายทหาร ไปหาน้ำ เรายังต้องทำรั้วล้อมรอบบริเวณที่เป็นเหมือนคุกของเราเองด้วยซ้ำ" ซอพลอมีจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว คือไปให้ถึงค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทยค่ายใดค่ายหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่มากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน 
(คลิกดูภาพใหญ่)

    ทีมแพทย์กะเหรี่ยงจัดการตรวจคนไข้อย่างรวดเร็วโดยใช้พื้นต่างเตียง ชายคนหนึ่งมีม้ามโต เด็กป่วยเป็นมาลาเรีย หลายต่อหลายคนเป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดในหมู่ผู้พลัดถิ่น
    แชนนอนใช้ไฟฉายตรวจฟันเน่า ๆ ของชายผู้หนึ่งและบอกว่า "เราต้องถอนฟันออก ขืนปล่อยเอาไว้ก็รังแต่จะเจ็บปวดทรมานเปล่า ๆ" 
    โทบี้ บี แพทย์หนุ่มชาวกะเหรี่ยงผู้มีประสบการณ์สองปีในการถอนฟัน ลงมือฉีดยาเข้าที่เหงือกของชายผู้หนึ่ง ชายคนนั้นประหลาดใจไม่น้อย ที่มีคนใส่ใจเขาถึงขนาดนั้น โทบี้ บี ใช้เวลาถอนฟันเพียงห้านาที ก็คีบฟันซี่นั้นออกมาอวดด้วยความภูมิใจ
    คณะแพทย์จะต้องเดินทางไปให้ถึงอีกหมู่บ้านก่อนมืด กองกำลังของพม่าอาจอยู่ไม่ห่างจากพวกเขานัก บางทีก็อยู่ห่างออกไปเพียงระยะเดินแค่ครึ่งชั่วโมง หรือใกล้เพียงโยนก้อนหินถึงกันได้ในทางป่าอย่างนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กองทหารกะเหรี่ยง ลูกหาบ และคณะแพทย์ เลิกพูดตลกกันเสียงดัง ระเบิดเสียงหัวเราะกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เปิดวิทยุหูหิ้วสุดเสียง เล่นกีตาร์ หรือทำอะไรที่เป็นการละเลยมาตรการความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่สุด นี่เป็นการยอมรับในโชคชะตาหรือ ? เป็นการเลินเล่อหรือ ? ...ก็อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ห้วงปีแห่งการสู้รบอันยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด ได้สอนให้พวกเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางอันตรายได้
    นับเป็นเวลาสองสัปดาห์ ที่วันคืนอันเจ็บปวดของผู้พลัดถิ่น ได้รับการบรรเทาไปด้วยยาปฏิชีวนะและยาชา คณะแพทย์ก็ออกเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปยังที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น ระหว่างการตรวจครั้งนี้ แชนนอนเรียกให้ชาวบ้านที่ปวดฟันมารวมกัน หญิงชราคนหนึ่งเข้ามาหาและบอกว่า "ยายก็อยากให้หมอถอนฟันให้สักซี่นะ แต่ว่า..." ว่าแล้วแกก็อ้าปาก อวดแถวฟันกุด ๆ ที่เสียจากการเคี้ยวหมากมานานนับสิบ ๆ ปี แล้วก็หัวเราะ "ยายไม่มีฟันแล้ว" แกยังคงหัวเราะเรื่องตลกของตัวเองอยู่อีกนับสิบนาทีหลังจากนั้น
    แชนนอนนั่งอยู่บนพื้นไม้ไผ่และเริ่มตรวจ ทำความสะอาด ขัด อุด และถอนฟัน เขาบอกหลังจากเสร็จจากคนไข้คนหนึ่งว่า "ถ้าผมสามารถให้คำแนะนำพวกเขาได้ ผมอยากจะบอกให้เขาหยุดเคี้ยวหมาก เพราะนั่นเป็นเหมือนศัตรูตัวฉกาจของฟันเลยทีเดียว" แต่เขาก็ตระหนักดีว่า ตนไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ชาวบ้านคุ้นเคยมานานนับศตวรรษได้ เขาจึงได้แต่รำพึงว่า "คราวหน้าเห็นจะต้องเอาแปรงสีฟันมาด้วยเยอะ ๆ"

(คลิกดูภาพใหญ่)     จากการเดินทางสามครั้งกับกลุ่มกะเหรี่ยง แชนนอนสารภาพว่าเขา "ไม่เก่งในการเรียนรู้ภาษาอื่น" คำภาษากะเหรี่ยงคำเดียวที่เขาจำได้คือ "ซาฮา" ซึ่งแปลว่า "เจ็บไหม" เขากล่าวติดตลกว่า "ถึงผมจะพูดได้แค่คำเดียว แต่ก็เป็นคำที่สำคัญที่สุดสำหรับหมอฟันไม่ใช่หรือครับ"
    แชนนอนไม่ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก มาเพียงเพื่อถอนฟันที่เสีย จากการเคี้ยวหมากเท่านั้น เขายังมาที่นี่เพื่อฝึกการทำฟันให้แก่แพทย์กะเหรี่ยงด้วย แชนนอนบอกว่า "พวกเขามีความสามารถสูง ภาพพวกเขาทำงานภาคสนามนี่ถือเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ทีเดียว" ภาพที่เห็นอยู่ไม่ห่างจากห้องตรวจฟันของแชนนอนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ ช่วยยืนยันคำพูดของแชนนอนได้ อีเลียด บุรุษพยาบาลวัย ๓๐ ปี ที่ได้รับการอบรมจากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนที่ชายแดน กำลังยุ่งอยู่กับการถอนเศษกระสุนออกจากต้นขาของทหารคนหนึ่งโดยใช้แค่ยาชาพื้นบ้าน อีเลียดสามารถผ่าตัดอวัยวะ ทำคลอด และรักษาปัญหาสุขภาพอื่นที่เกิดในป่า เขาใช้เวลา ๒๕ นาทีพอดีในการผ่าตัด รวมถึงการเย็บแผลอย่างประณีต หลังจากนั้นก็เป็นคราวของพอทูที่จะเรียนเทคนิคการถอนฟันและอุดฟันจากแชนนอน 
      ทันตแพทย์ชาวอเมริกันผู้นี้บอกว่า "ผมอยากจะใช้เวลากับคนเหล่านี้ให้มากกว่านี้ ผมกับภรรยาและลูกปรึกษากันบ่อยครั้งขึ้น ถึงเรื่องการมาอยู่เมืองไทยสักปีละสองสามเดือน แต่ก่อนอื่นผมต้องหาทันตแพทย์สักคนมาทำงานแทนผมที่ลุยเซียนาก่อน"
    ในวันต่อ ๆ มา คณะแพทย์ได้เดินทางลึกเข้าไปทางตะวันตกมากขึ้น และข้ามที่ราบใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาหินปูน และป่าบริสุทธิ์ชนิดที่อาจทำให้บริษัททัวร์ตะลึงได้ เมื่อคณะเดินทางมาใกล้แม่น้ำบีเล ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างสองจังหวัด ก็พบกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่หลั่งไหลกันเข้ามา พวกเขาข้ามแม่น้ำมาแล้วและพักอยู่ในป่า กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราวกับนกในรังที่ตื่นกลัว หัวหน้าครอบครัวหนึ่งอธิบายว่า "นี่เป็นมาตรการความปลอดภัยที่ง่ายที่สุด ยิ่งเรากระจายกันอยู่เท่าไร ความเสี่ยงที่ศัตรูจะเห็นเราก็น้อยลงเท่านั้น" 
    ยามค่ำคืน ท่ามกลางเสียงลมพัดแรงและเสียงร้องแหบห้าวของหมู่ลิง เราสามารถได้ยินเสียงไอโขลก ๆ ผสานกับเสียงขากถ่มของผู้พลัดถิ่นได้ชัดเจน
    เช้าวันต่อมา เจ้าหน้าที่วิทยุละล่ำละลักส่งข่าวมาทางวิทยุสื่อสาร จากตอนแรกที่ยังเป็นเพียงข่าวโคมลอย ก็ได้รับการยืนยันว่ามีคณะของผู้พลัดถิ่นมากกว่า ๒๐๐ คนกำลังจะเดินมาถึงแม่น้ำบีเลวันนี้ พอบ่ายแก่ ๆ พวกเขาก็ปรากฏตัวขึ้นโดยคณะแพทย์ไม่ทันตั้งตัว ผู้อพยพเดินเป็นแถวเบียดกันมาตามทางเดินที่รกด้วยพุ่มไม้และหญ้าสูง ผู้ชายแบกตะกร้าหวายใส่ข้าว หม้อไหและเครื่องครัว ส่วนพวกผู้หญิงก็เดินหลังงอ เพราะแบกเด็กเล็กที่ถูกผูกติดไว้กับกองเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ คนแก่ที่อ่อนแรงเกินกว่าจะแบกอะไรได้แม้กระทั่งจะพยุงตัวเอง ก็ใช้ท่อนไม้ต่างไม้เท้าเดินกะโผลกกะเผลกมา พวกเขาเดินกันมาอย่างเงียบเชียบผิดปรกติ มีร่องรอยของความหวาดกลัวบนใบหน้า พวกเขายังต้องเดินไปอีกห้าหรือหกวันจึงจะไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย คนอ่อนแอถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจุดที่เดินผ่านมาแล้วราวหนึ่งวันให้ทหารกะเหรี่ยงดูแล
(คลิกดูภาพใหญ่)

    ขณะนั้นเริ่มจะมืดแล้ว กลุ่มผู้พลัดถิ่นจึงต้องเร่งข้ามแม่น้ำบีเล ทารกคนหนึ่งร้องจ้าขึ้นมาทำลายความเงียบ ชายชราคนหนึ่งเกือบจะลื่นล้มไปกับกระแสน้ำเชี่ยว เมื่อพวกเขาข้ามแม่น้ำไปถึงอีกฝั่ง ซึ่งค่อนข้างจะปลอดภัยกว่า ก็รีบกระจายกันไปหาฟืนในป่า ต้มน้ำ และเตรียมที่พักสำหรับคืนนั้น ซอบอทู หัวหน้ากลุ่ม บอกว่า "กองทหาร SPDC (รัฐบาลพม่า) โจมตีหมู่บ้านของพวกเราในเมืองฉ่วยจิน แล้วบังคับให้พวกเราทำงานให้มัน เราเลยไม่มีเวลาหาเลี้ยงตัวเอง" ชาวบ้านจึงเริ่มหนีออกจากหมู่บ้านในเดือนมีนาคม ๒๕๔๓ 
    นับแต่นั้นมา ชีวิตของพวกเขาก็ไม่มีความสงบสุข ต้องเร่ร่อนอยู่ในป่าสลับกับกลับไปอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลาสั้น ๆ สถานการณ์แย่ลงไปอีกในเดือนพฤศจิกายนเมื่อทหารพม่าทำลายหมู่บ้านกว่า ๒๐๐ แห่งในภูมิภาคนั้น ซอบอทูเล่าเพิ่มว่า "ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ชาวนาสามคนที่กลับไปหมู่บ้านเพื่อไปเอาข้าวที่ซ่อนไว้ ถูกทหารพม่าจากกองทหารราบที่ ๓๖๐ ตีตาย" คนอื่น ๆ ยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผู้หญิงถูกข่มขืน การฆ่า และการทรมานอื่น ๆ
    ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ เป็นต้นมา มีผู้คนกว่า ๒,๐๐๐ คนจากเฉพาะภูมิภาคนั้น ข้ามแม่น้ำบีเลมาแล้ว ในขณะเดียวกัน ที่ย่างกุ้ง นายทหารพม่าหยิบมือหนึ่งเริ่มการเจรจาลับกับฝ่ายค้าน การตีสองหน้าเช่นนี้ทำให้ผู้นำชาวกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เป็นกังวลอย่างมาก ทูเลอวา เลขาธิการเขต กองพล ๕ ของ KNU ได้สรุปความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางในกลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อยว่า "แน่ละ พวกเราต้องการสันติภาพ แต่เราก็กลัวว่า สันติภาพแบบที่ SPDC ต้องการ จะได้มาบนความสูญเสียของชนกลุ่มน้อย" 
    เมื่อคุณเข้าใจถึงความกลัวบนใบหน้าของผู้พลัดถิ่นที่แม่น้ำบีเลแล้ว มันก็ยากที่จะไม่กังวลเช่นนั้นด้วย

 

ที่มาของปัญหาผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่า

(คลิกดูภาพใหญ่)     นับตั้งแต่สหภาพพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ ปัญหาใหญ่ที่สหภาพพม่าต้องเผชิญ คือ การเรียกร้องของชนกลุ่มน้อยที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง ทั้งนี้เพราะรัฐบาลพม่าได้ตกลงกับชนกลุ่มน้อย (ยกเว้นกะเหรี่ยง) ในสนธิสัญญาปางหลวงว่า หลังได้รับเอกราชแล้วจะอยู่ร่วมกันภายใต้ชื่อ "สหภาพพม่า" เป็นเวลา ๑๐ ปี จากนั้นจึงแยกตัวกันเป็นอิสระ ทว่าเมื่อครบกำหนดในปี ๒๕๐๑ รัฐบาลพม่ากลับไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือ ไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระ ในทางตรงกันข้าม กลับส่งทหารเข้าไปประจำการในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย เนื่องจากอูนุ นายกรัฐมนตรีของพม่าในขณะนั้น ได้ขอให้กองทัพทหารโดยการนำของนายพลเนวิน เข้ามาช่วยปกครองประเทศชั่วคราวเป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งเป็นเสมือนการปูทางให้ทหารเข้าปกครองประเทศเป็นการถาวรในเวลาต่อมา กล่าวคือ หลังจากอูนุกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งในปี ๒๕๐๓ อีกสองปีต่อมานายพลเนวินก็ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากอูนุ ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในการปกครองพม่าด้วยระบอบสังคมนิยมติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี และสิ้นสุดอำนาจหลังจากขบวนการนักศึกษาและประชาชน ลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในปี ๒๕๓๑ สามเดือนต่อมา รสช.พม่า หรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council) ก็ทำการยึดอำนาจ ปกครองด้วยเผด็จการทหารนับแต่นั้นเป็นต้นมา (ปัจจุบันเปลี่ยนจาก SLORC เป็น SPDC หรือ State Peace and Development Council) 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ในด้านความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อย นอกจากรัฐบาลทหารจะไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระแล้ว ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง ชนกลุ่มน้อยจึงตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นสู้รบกับทหารพม่าในทุกพื้นที่ ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่ายืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี และในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลเนวิน กองทัพพม่าก็ปราบปรามชนกลุ่มน้อยในทุกวิถีทาง ทั้งปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ การเจรจาหยุดยิง และใช้แผนยุทธศาสตร์ตัดทั้งเงินทุนและแหล่งอาหาร ที่ชาวบ้านจะนำไปสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยโยกย้ายชาวบ้าน ในหมู่บ้านออกไปพ้นรัศมีการติดต่อ กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย คือย้ายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านออกไปอยู่ในพื้นที่ที่ทหารพม่า สามารถควบคุมได้ง่าย ที่ทหารพม่าเรียกว่า "ศูนย์พักพิง" ซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างขึ้นในที่ราบ ล้อมรั้วไม้ไผ่และวางกับระเบิดป้องกันไม่ให้ชาวบ้านออกไปหาอาหารไกล ๆ แล้วแอบส่งเสบียงไปให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า 
    ชาวบ้านที่ทนอยู่ในศูนย์พักพิงไม่ได้จึงแอบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าลึก ทำเพิงพักชั่วคราว และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ 
    เมื่อรู้ว่าทหารพม่ากำลังใกล้เข้ามา ชาวบ้านเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ หรือ IDPs (Internally Displaced People) โดยส่วนใหญ่จะซ่อนตัวในป่าใกล้ชายแดนไทย 
    แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพม่าจะเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยได้เกือบหมดแล้ว แต่ตามป่าลึกในหลายพื้นที่ยังคงมีการสู้รบแบบกองโจรอยู่ การโยกย้ายชาวบ้านจากหมู่บ้านชนบทจึงยังดำเนินต่อไป อาทิ พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่โดยการนำของเจ้ายอดศึก หรือ SSA (Shan State Army) พื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงโดยการนำของนายพลโบเมียะ และพื้นที่ในรัฐคะเรนนี (กะเหรี่ยงแดง) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ตามราวป่าตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า จึงเต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยผู้พลัดถิ่นในประเทศที่พร้อมจะข้ามแดน มาเป็นผู้อพยพในประเทศอยู่ทุกเมื่อ
    (ข้อมูลจากหนังสือ พม่า : ประวัติศาสตร์และการเมือง โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)