สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย

    การเล่นหุ่น น่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ในภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music มีฉากการเล่นหุ่นมืออย่างวัฒนธรรมออสเตรียน (ตามฉากท้องเรื่องในหนัง) จูลี แอนดรูว์ กับเด็ก ๆ ช่วยกันเล่น มีเพลงประกอบน่ารักและสนุกสนาน ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ เอลวิส เพรสลีย์ นำแสดง คือ GI Blue (ถ่ายทำที่เยอรมนี ซึ่งใกล้กับออสเตรียในภาพยนตร์เรื่องแรก) ก็มีฉากที่ตาแก่เชิดหุ่นในสวนสาธารณะ และพระเอกของเรื่องร้องเพลง Wooden Heart ที่แสนจะไพเราะ จีบนางเอก แต่หุ่นในเรื่องหลังนี่ คนชักแอบอยู่หลังม่านระดับเดียวกับตัวหุ่นหน้าโรง ต่างจากเรื่องแรกที่คนบังคับสายหุ่นอยู่ข้างบน
      อันที่จริง การเล่นหุ่นนั้นมีความสัมพันธ์ที่ไปกันได้ดีกับเด็ก ๆ ปัจจุบันในบ้านเราก็มีคณะเชิดหุ่นมือของคนรุ่นใหม่ ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่ออย่างน้อยก็ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการสร้างความคิดงดงามในหัวใจน้อย ๆ ของเรา และทำให้นึกถึงหุ่นมือของครูองุ่น มาลิก ที่ท่านทำนำร่องไว้
    อย่างไรก็ดี การเล่นหุ่น นอกจากจะเป็นวัฒนธรรมของคนหลากหลายกลุ่มแล้ว ยังน่าจะเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติด้วย
    น่าคิดว่า วัฒนธรรมครั้งแรกหลาย ๆ อย่างเกิดจากการทำสงคราม หุ่นก็เช่นกัน ว่ากันว่า จีนเป็นประเทศแรกที่ใช้หุ่นและใช้เพื่อประโยชน์ในการสงคราม 
(คลิกดูภาพใหญ่)

การเล่นหุ่นในสังคมไทย

    จากการค้นคว้าของอรไท ผลดี ระบุว่า การเล่นหุ่นในเมืองไทยนั้นปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมุดไทยขาว สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) จากเรื่อง พระเนมิราช เป็นกลอนสวด ตอนพิธีราชาภิเษกพระเนมิราช มีมหรสพฉลองหลายอย่าง ทั้งหุ่น โขน ไทย ชวา โดยระบุคำโบราณว่า "หุ่นโขนไทยชวา" (จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๑๑) ในเอกสารจดหมายเหตุมากมายที่ระบุอย่างน่าสนใจว่า มีการเล่นหุ่นหลายเชื้อชาติมากในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากการไหลถ่ายเทวัฒนธรรมสู่กันนั่นเอง สิ่งนี้น่าจะเกิดจากการทำศึกสงคราม ที่จะมีการเกณฑ์เชลยศึก เข้ามาเป็นไพร่พลกับประเทศที่ชนะ ดังเราทราบกันดีว่า มีพี่น้องชาวมอญมากแถบพระประแดง เกาะเกร็ด มีลาวแถวสระบุรี ลพบุรี เป็นต้น เชลยเหล่านี้ต่างก็ใช้ชีวิตตั้งบ้านเรือน อยู่ในบ้านเมืองของเราอย่างผาสุก ทำนองเดียวกัน เชลยไทยที่ไปตกหล่นมีครอบครัว อยู่ในดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียงเราก็คงมีไม่น้อย ในพม่ายังมีละครโยเดีย คำว่า โยเดีย เป็นภาษาพม่า หมายถึง อยุธยา นั่นเอง
    ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกที่สังคมไทยแต่ก่อนตั้งแต่อยุธยาจนมาถึงรัตนโกสินทร์จะมีหุ่นชวา หุ่นพม่า หุ่นลาว หุ่นทวาย หุ่นมอญ หุ่นจีน เฉพาะหุ่นจีนนี้ชักสายข้างบน ตากลอกไปมาได้ และระบุลงไปชัดเจนว่า เป็นของพวก "จีนจะจิว" หรือ แต้จิ๋ว ดังปรากฏในสมุดไทยขาวว่า
    "พวกจีนจะจิว ชักหุ่นเล่นงิ้ว บิดพลิ้วไปมา เหลือกตายักคิ้ว เล่นงิ้วภาษา"
            (อ้างจาก จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๑๕)

(คลิกดูภาพใหญ่)     หุ่นจีนนั้นมิใช่มีจำเพาะหุ่นจีนแต้จิ๋วเท่านั้น ยังมีหุ่นจีนฮกเกี้ยนด้วย และเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูง เช่น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๕) ซึ่งโปรดมาก ถึงกับให้ตั้งคณะหุ่นจีนเป็นของพระองค์เอง โดยทำแบบ "หุ่นจีนฮกเกี้ยน" ใช้มือของผู้เชิดสอดเข้าไปในเสื้อหุ่น และใช้นิ้วของผู้เชิดสอดเข้าไปบังคับคอหุ่น และมือหุ่นทั้งสองข้าง (จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๗๐) ปัจจุบันตัวหุ่นเหล่านี้ ยังพอมีให้ชมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่สนามหลวง คนรุ่นเราควรหาโอกาสเข้าไปดูทำความรู้จักไว้ เพราะปู่ย่าตายายของเราชอบดูหุ่นจีนกันมาก ถึงแก่มีหลักฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเก็บภาษีแสดงหุ่นจีนเท่ากับหุ่นไทยทีเดียว คือเก็บวันละ ๑ บาท (จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๖๖) ซึ่งนับว่าราคาสูงมากในยุคสมัยนั้น
    นอกจากนี้ยังมีหุ่นจีนไหหลำอีกประเภทหนึ่งที่เกิดทางเมืองเหนือของไทย และคลี่คลายเป็นหุ่นกระบอกไทยในสมัยต่อมา
    หากจะเทียบง่าย ๆ หุ่นจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นต้นเค้าของหุ่นกรมพระราชวังบวรฯ เป็นวัฒนธรรมในราชสำนัก
    ก็อาจกล่าวได้ว่า หุ่นจีนไหหลำจากเมืองเหนือ ซึ่งเป็นต้นเค้าของหุ่นกระบอกไทยนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน
    หากพิจารณาจากภาพประกอบ ก็จะเห็นความต่างในเรื่องความประณีตและเรียบง่ายได้ชัดเจนขึ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)

หุ่นจีนไหหลำกับหุ่นกระบอกไทย

    ทบทวนนิดหน่อยว่า ขณะนี้เราพบการเล่นหุ่นจีนแต้จิ๋ว หุ่นจีนฮกเกี้ยน และหุ่นจีนไหหลำในสังคมไทย ซึ่งอันที่จริงอาจมีหุ่นจีนกลุ่มภาษาอื่น ๆ อีก เช่น กวางตุ้ง แคะ ฯลฯ เป็นสิ่งที่จะต้องสืบสวนกันต่อไป
    อย่างไรก็ตาม ความเป็นมาของหุ่นจีนไหหลำในไทยนั้น ก็น่าสนใจไม่น้อย และน่ารู้ว่าทำไมจึงเรียก "หุ่นเลียนแบบเมืองเหนือ"
    ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐ หน้า ๒๘๖ มีหลักฐานว่าใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้มีหุ่น (เลียนแบบ) เมืองเหนือ แสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งก็คือหุ่นกระบอก แต่เวลานั้นยังไม่เรียกหุ่นกระบอก (จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๓๓)
    จากประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ค้นคว้าอย่างละเอียดโดยอาจารย์จักรพันธุ์ เล่าว่า นายเหน่งซึ่งเป็นคน อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ได้เห็นการแสดงหุ่นจีนไหหลำ เกิดติดใจจึงคิดแกะหัวหุ่นขึ้นเป็นหุ่นไทย แต่ทำตัวหุ่นเลียนแบบจีนไหหลำ คือมีกระบอกเป็นแกน นายเหน่งทั้งร้องและเชิดหุ่นนี้ หุ่นกระบอกนายเหน่งมีชื่อเสียงและถือกำเนิด ณ เมืองสุโขทัยนี่เอง เวลานั้นยังอยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ (จักรพันธุ์, ๒๕๒๙ : ๑๑๕)
    ยังมีเกลอของนายเหน่งชื่อตาดัด ซึ่งเคยไปเชิดหุ่นกระบอกอยู่กับนายเหน่งพักหนึ่ง ต่อมาจึงตั้งคณะหุ่นของตัวเรียกว่า หุ่นตาดัด ที่เมืองพิจิตรเก่าอันเป็นนิวาสสถานของตน
    บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้หุ่นกระบอกได้รับการจดจารเป็นลายลักษณ์ครั้งแรก (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๙, ๒๕๐๔:๑๒๐-๑๒๑) คือ หม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา หรือคุณเถาะ สรุปความว่า 
    พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการเมืองเหนือ คุณเถาะได้ตามเสด็จด้วย ในฐานะพี่เลี้ยงพระโอรสเสด็จในกรม พระยาศรีธรรมศุภราช (ครุธ หงสนันท์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสุโขทัย ได้จัดหุ่นกระบอกมาเล่นให้ดู และเล่าว่า ตาขี้ยาคนหนึ่งชื่อเหน่ง* ซึ่งเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัด เห็นหุ่นจีนไหหลำจึงเอาอย่างมาคิดทำเป็นหุ่นไทย และคิดกระบวนร้องตามรอยหุ่นไหหลำ มีคนชอบจึงเลยเที่ยวเล่นหากิน หม่อมราชวงศ์เถาะเกิดความคิดที่จะเล่นหุ่น จึงทูลขอเงินสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปลงทุนทำ จึงเกิดหุ่นกระบอกขึ้นในกรุงเทพฯ ราว พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่แรกมักเรียกว่า หุ่นคุณเถาะ** 

(คลิกดูภาพใหญ่)     พิจารณาจากมิติต่าง ๆ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ นายเหน่ง ตาดัด และคุณเถาะ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันคือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนสถานที่เกิดเหตุ คือ สุโขทัย พิจิตร เราคงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดหุ่นกระบอก ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากหุ่นจีนไหหลำ ซึ่งนิยมเล่นในแถบภาคเหนือช่วงสุโขทัย พิจิตร
    สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ คือ หุ่นไหหลำนั้นนิยมกันมากในแถบภาคเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวจีนไหหลำ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเราจะทำความเข้าใจเชื่อมโยงเรื่องราวอื่น ๆ ต่อไป
    ชาวจีนไหหลำ นับเนื่องเป็นกลุ่มจีนภาษาหนึ่ง เฉกเช่นกลุ่มจีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนฮกเกี้ยน จีนกวางตุ้ง คือมีภาษาพูดเฉพาะกลุ่ม ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เกาะไหหลำ อันเป็นเกาะทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ และมีขนาดพื้นที่มากเป็นที่ ๒ รองจากเกาะฟอร์โมซา เดิมเกาะไหหลำขึ้นอยู่กับมณฑลกวางตุ้ง เพิ่งแยกตัวเป็นมณฑลไห่หนาน (Hainan) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ นี้เอง คำว่าไหหลำนั้นเราเรียกอย่างสำเนียงไทย ๆ อันที่จริงมาจากคำว่า ไห่หนาน มีแห่งเดียวที่ใช้ว่าใหหนำ คือ สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย บนเกาะไหหลำนี้มีประชากรราวแปดล้านคน จำแนกได้ถึง ๓๗ ชาติพันธุ์ กลุ่มใหญ่สุดคือพวกฮั่น (มติชน, ๒๕๔๓ : ๑๘) พวกฮั่นก็คือพวกจีนไหหลำซึ่งเป็นบรรพบุรุษของลูกหลานจีนไหหลำในเมืองไทยนี่เอง
    ทางภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป แถบอุทัยธานี พิจิตร อุตรดิตถ์ สวรรคโลก สุโขทัย นั้น มีคนจีนไหหลำตั้งถิ่นฐานกันมาก เหตุหนึ่งเพราะพวกนี้เชี่ยวชาญทางทำไม้ ทำโรงเลื่อย มีชุมทางลำเลียงจุดสำคัญอยู่ที่นครสวรรค์หรือปากน้ำโพ เมื่อล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ก็มักมาหยุดที่บางโพ ที่นี่จึงเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของชาวจีนไหหลำในกรุงเทพฯ โดยมีศาลเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบเนี้ยว) ที่พวกนี้นับถือมาก เป็นศาลใหญ่มีมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ปัจจุบันอยู่เชิงสะพานซังฮี้ฝั่งพระนคร (แสงอรุณ, ๒๕๔๑ : ๑๗)
(คลิกดูภาพใหญ่)

หุ่นจีนไหหลำในบรรยากาศจีนไหหลำ

    วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๓ ความหวังที่เคยวาดไว้นานแล้วว่า ภพนี้ชาตินี้จะต้องดูการเล่นหุ่นไหหลำให้ได้สักครั้งก็มาถึง หลังสืบเสาะอย่างเพียรพยายาม (ท่านที่สนใจจริง ๆ อ่านต่อไป เราจะบอกว่าที่ไหนบ้างที่พอมีให้ดู) มานานปี เมื่อเจ้าภาพสุภาพสตรีสูงวัยชาวจีนไหหลำ ว่าจ้างหุ่นภาษาไหหลำมาเล่นแก้บนถวายเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบเนี้ยว) ที่เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร (ดูแผนที่) ทำให้เราทราบว่าการต่ออายุของหุ่นจีนไหหลำในยุคปัจจุบันก็คือกิจกรรมแก้บนนี่เอง อาจมีบ้างที่คณะกรรมการศาลเจ้าจะจัดให้เล่นในวันเกิดเจ้าแม่ เจ้าพ่อ ที่ชาวไหหลำนับถือ ซึ่งผู้ติดค้างสินบนก็จะมาทำพิธีแก้ในคราวนั้นเลย แต่กรณีที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ เข้าใจว่าจะเป็นการจ้างเป็นกรณีพิเศษ คือมิได้จัดในเทศกาลที่เป็นวันเกิดเจ้าแม่
    ด้วยเหตุที่เป็นกิจกรรมแก้บนนี่เอง ทำให้การเล่นหุ่นไหหลำคราวนี้ไม่สู้สมบูรณ์นัก แต่สมบูรณ์ในแง่พิธีกรรม คือเน้นฉากไหว้เจ้า โปรยทาน แล้วจับเรื่องเล่นเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ วันที่ไปเฝ้าดูและพูดคุยกับคนเล่นก่อนเปิดฉาก ทราบว่าจะเล่นเรื่อง ตา ฉิน เซ (สามพี่น้อง) เป็นเรื่องรัก โศก รันทด ปัญหาแม่ผัว ลูกสะใภ้ เข้าสูตรละครไทย แต่ก็มีบริบทจีน ๆ คือเรื่องสอบจอหงวนเข้ามาเป็นสาเหตุของความพลัดพราก ตัวละครออกมาสองสามตัว เล่นถึงแค่นี้ คนเล่นก็ดูไม่มีทีท่าจะเล่นต่อ เลยไม่รู้ว่าสามพี่น้องนี่มีเรื่องอะไรกันบ้าง เพราะคนเล่นเน้นไหว้เจ้า เวียนเข้า เวียนออกอยู่นั่นแล้ว เรียกว่าทำไปตามพิธีกรรมโดยแท้ เอ่ยชื่อผู้แก้บนหลายรอบ แล้วเชิดหุ่นตัวเอก ๆ ออกมาทำพิธีคารวะเจ้าแม่ แล้วโปรยทาน ดูเป็นที่พึงใจของทั้งผู้หา (ผู้จ้างมาแก้บน) ผู้เล่นและผู้ดูส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กเล็กแถว ๆ นั้น ที่ได้แย่งสตางค์กันหน้าโรงตอนโปรยเหรียญให้ทาน ทั้งดูเป็นการเอื้อให้เจ้าภาพได้ทำบุญทำทานสมประสงค์

(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่สำหรับคนเฝ้าดูชนิดเอาเรื่องอย่างพวกเราสองสามคน ออกจะผิดหวังนิดหน่อย ก็ไม่เป็นไร เพราะการได้มาเห็นบรรยากาศอย่างนี้ ก็ดีกว่าที่จะไม่ได้เห็นเสียเลยในชาติภพนี้ คราวหน้าค่อยคืบคลานทำความรู้จักให้มากกว่านี้ แล้วอาจจะแจ้งข่าวมาทาง สารคดี สำหรับมิตรรักนักเที่ยวที่ต้องการเที่ยวแบบชาวบ้าน ๆ แม้เราจะฟังภาษาจีนไหหลำไม่รู้เรื่อง แต่หน้าโรงก็น่าจะยังพอหากง (ปู่ ตา) โผ่ (ย่า ยาย) โกไม่ (ป้า) หรือ โต้ (พี่สะใภ้ ซึ่งเป็นคนจีนไหหลำรุ่นเก่า มานั่งดูอยู่ด้วย และเราก็สามารถเข้าไปเลียบเคียงถามท่านได้ ดีเสียอีก เท่ากับเป็นการยกคุณค่าของท่านว่า เราเป็นผู้น้อย นอบน้อมเข้าไปหาความรู้ คนแก่ชาติไหนก็เถอะ มีลูกหลานมาถามเรื่องวัฒนธรรมของท่าน รับรองว่าเต็มอกเต็มใจบอกเล่าให้ฟังเพลินเลย
    อย่างไรก็ตามจากการสอบถามคุณฮงมู แซ่อุ่ย อายุ ๕๒ ปี (นับจากปี พ.ศ. ๒๕๔๓) ซึ่งเป็นผู้เชิดหุ่นหนึ่งในคณะ (ไม่เกิน ๑๐ คน) ได้ความว่า ค่าหาหุ่นไหหลำมาเล่นแก้บนนี้ ตกหมื่นกว่าบาท เล่นราว ๓ ชั่วโมง ซึ่งน่าสนใจมาก น่าหาเรื่องแก้บน เพราะราคาไม่สูงเกินไปนัก ที่สำคัญคือ เหลือคณะเล่นหุ่นจีนไหหลำเพียงสองคณะเท่านั้นในขณะนี้ คือ คณะผั่นวา กับหยุ่งวา (วา แปลว่าดอกไม้) เรื่องที่เล่นมักเลือกเรื่องที่ happy ending คือ ไม่เลือกเรื่องรบราฆ่าฟัน เลือดตกยางออก อย่าง สามก๊ก นี่จะไม่ค่อยเล่นในงานแก้บน ตรงนี้อาจเป็นเพราะ สามก๊ก เป็นเรื่องใหญ่ มีตัวละครสำคัญ ๆ มาก เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก็คงจะมากเรื่อง ดังนั้นการเลือกเล่นเรื่องชาวบ้านพื้น ๆ คงจะดีกว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)     เด็ก ๆ แถบศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ เท่าที่เห็นคราวนี้มีประมาณยี่สิบกว่าคน เราก็ได้แต่คาดหวังว่า เด็กบางคนในกลุ่มนี้จะได้มีความทรงจำวัยเด็กไว้เล่าให้เด็กรุ่นหลังลงไปฟังว่า ตัวเขาเคยดูหุ่นจีนไหหลำเมื่ออดีตกาลนานโพ้น เป็นความทรงจำที่น่าจะประทับใจ เพราะนอกจากได้แย่งเหรียญโปรยทานไปเป็นค่าขนมแล้ว ยังได้ปีนขึ้นไปหลังโรง ดูผู้ใหญ่เขาชักเชิดหุ่นอย่างใกล้ชิด ได้ซักได้ถามคนเล่นดนตรีประกอบ ซึ่งแม้มีน้อยชิ้น แต่แต่ละชิ้นก็น่าสนใจไม่เบาเลย เช่น ซออู้ ซออี้ ปี่ โหล กลอง เต้ง โหม่ง กก (กก เรียกอีกชื่อว่า บังบั่น หรือกลองไม้ ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดย่อม นับเป็นเครื่องดนตรีที่น่าสนใจมาก) ส่วนทำนองเพลงหุ่นไหหลำนี้ฟังดูคล้าย ๆ ทำนองเพลงงิ้วไหหลำ คือ หวานเจื้อย น่าสังเกตว่า ไม่พบทำนองเพลงสังขาราแบบที่เป็นทำนองเพลงในหุ่นกระบอกไทย 
    การที่หุ่น (เลียนแบบ) เมืองเหนือ หรือหุ่นจีนไหหลำ ที่ว่าเป็นต้นเค้าของหุ่นกระบอกไทยก็ไม่ผิด เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนส่วนที่เป็นหัวหุ่นและทำนองเพลงเท่านั้น แต่แกนของหุ่นยังเป็นกระบอกเหมือนกัน รวมทั้งวิธีชักเชิดด้วย
    ก่อนจะมาเป็นโรงหุ่นอย่างที่เห็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความน่าประทับใจอีกจุดหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อแรกเห็น หีบไม้ของคณะหุ่นวางเรียงรายบนตั่ง (ร้าน) ของโรงหุ่น ก็ดูไม่น่าสนใจอะไรนัก ต่อเมื่อคณะมากันพร้อมเพรียง เขาก็ช่วยกันประกอบฝาสองด้านครึ่ง แล้วยกขึ้นมาล้อมร้านที่ว่านี้ ก็จะได้โรงหุ่นขนาดกะทัดรัดในพริบตา ช่างง่ายดาย รวดเร็วอะไรปานนั้น อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ หน้าโรงมีม่านเป็นจอครึ่งหนึ่ง สำหรับเชิดหุ่นออกมาเล่น สองข้างมีฝา และหลังโรงเปิดโล่ง เด็ก ๆ จึงขึ้นไปนัวเนียดูผู้ใหญ่ชักเชิดหุ่นได้สบาย สังเกตว่าเขาก็ไม่หวงห้าม ไม่เอ็ดเด็ก ถ้าไม่เกะกะเขาจริง ๆ จัง ๆ นับว่าเป็นบรรยากาศน่ารัก น่าประทับใจทีเดียวในความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้เล่นกับผู้ดู โดยเฉพาะผู้ดูกลุ่มเด็ก ๆ ที่น่ารักและยังเป็นผ้าขาว
(คลิกดูภาพใหญ่) เที่ยวแบบชาวบ้าน ชาวบ้าน กับแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

    ในปฏิทินการท่องเที่ยวที่จัดทำโดยหน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐบาล ไม่เคยบรรจุรายการ "แบบชาวบ้าน ชาวบ้าน" อย่างนี้ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวจึงมักได้ดูการแสดงแสงสีเสียงที่ซ้ำไปมากับฉากโบราณสถานเดิม ๆ อยู่ร่ำไป หรืองานประเพณีแห่ที่บางแห่งก็แห่ซ้ำมาสิบกว่าปีแล้ว จนชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่นเองก็บ่นเบื่อไปตาม ๆ กัน ในขณะที่คนดูก็เบื่อ ฤทธิ์เพราะไม่มีอะไรแปลกใหม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่หน่วยงานดังกล่าวกับหน่วยงานอื่น ๆ หรือผู้เกี่ยวข้องจะสำรวจให้ถี่ถ้วนว่าแต่ละแห่งหนตำบลใดมีสิ่งดี ๆ ควรอวดบ้าง 
    แต่ก็นั่นแหละ ครั้นเมื่อเสาะหาของดีเจอ เขาก็พากันไป "พัฒนา" ให้นักท่องเที่ยวรู้จักอย่างฉาบฉวย ทำให้ฮอตอยู่ สองสามปี คนมาดูมาเที่ยวไม่นานเท่าไหร่ก็เบื่อ เพราะเขาจัดซ้ำซากอย่างที่ว่า
    การท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ (Ecotourism) ที่แท้จริง จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติจะดีที่สุด ททท. เพียงแต่บรรจุในปฏิทินการท่องเที่ยว โดยประสานงานขอข้อมูลมาประชาสัมพันธ์ให้ใคร ๆ เขารู้ หรืออาจเป็นพี่เลี้ยงคอยชี้แนะอยู่ห่าง ๆ ส่วนใครจะเลือกไปเที่ยวรายการไหน จะพอใจการ "จัดฉาก" แสงสีเสียงที่นักท่องเที่ยวได้รับบริการดีเยี่ยมหรือจะเป็นแบบ "ชาวบ้าน ๆ" คือ นักท่องเที่ยวต้องดูแลตัวเองพอสมควร ซึ่งอาจไม่สะดวกสบายเท่าแบบแรก แต่เขาก็จะได้สัมผัสเรียนรู้วิถีที่เป็นจริงของชาวบ้านหรือวัฒนธรรมแท้ ๆ ของชาวบ้าน การทำเช่นนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ คือ กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติ ลื่นไหลตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่แล้ว อย่าพยายามเข้าไปพัฒนาหรือจัดการกับแหล่งท่องเที่ยวนั้นจนหมดคุณค่า เหมือนกับที่เคยทำกันมาจนเสื่อมโทรมลงไปทีละจุด ทีละจุด แล้วก็หาที่เที่ยวใหม่มาปู้ยี่ปู้ยำอีก อย่างถ้ำลิเจียที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
    สำหรับท่านที่อ่านสารคดีเรื่องนี้ และสนใจ ต้องการสร้างแนวร่วมชมรมการท่องเที่ยวแบบชาวบ้าน ก็น่าจะพอทำได้ โดยเริ่มแบบไม่เป็นทางการ ใครรู้ว่ามีอะไรน่าสนใจ ก็บอกกล่าวกันมา เฉพาะมหรสพหรือการละเล่นของกลุ่มจีนไหหลำนั้น ราวเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีงิ้วไหหลำเล่นถวายเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ (ฝั่งพระนคร) คุณจะได้สัมผัสบรรยากาศไหหลำแท้ ๆ เช่น กินขนมจีนไหหลำ กินขนมโป้ยเกี้ย กินขนมบั่ว (บั่วะต่ม) กินขนมจินเด (ซาลาเปาทอด โรยงาขาว อร่อยมาก น่าจะสู้กับโดนัทฝรั่งได้สบายมาก) มีทั้ง กง ไม่ โกไม่ เด มา ตาเด โต้ หรือโก (พี่ชาย) มาให้เราถามไถ่วัฒนธรรมไหหลำได้อย่างดี ส่วนหุ่นจีนไหหลำนี้ นอกจากที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ ก็จะมีที่ศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำอีกสองสามแห่งในกรุงเทพฯ เช่น
    ศาลเจ้ารางบัว (ศาลเจ้ากวนอู) หมู่ ๖ แขวงบางว้า เขตภาษีเจริญ เป็นศาลเก่า มีงิ้ว หุ่น ปีละครั้ง

(คลิกดูภาพใหญ่)     ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว หรือศาลเจ้าเก่าของชาวจีนไหหลำย่านบางรัก มีงิ้วไหหลำเล่นช่วงหลังตรุษจีน และวันเกิดเจ้า ศาลนี้จึงมีงิ้วปีละมากกว่าหนึ่งครั้ง ท่านที่สนใจ อาจจะได้ชมพร้อม ๆ กับฝรั่งนักท่องเที่ยว เพราะศาลนี้อยู่ใกล้กับโรงแรมแชงกรีลามาก และฝรั่งมักสนใจมาเมียงมองทั้งในเวลาปรกติและเวลามีงานพิธีกรรมเสมอ
    ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลนี้ไม่ได้อยู่เชิงสะพานซังฮี้ที่อ้างถึงบ่อย ๆ ในบทความนี้ แต่ชื่อเหมือนกันเพราะคนจีนไหหลำนับถือเจ้าแม่ทับทิมมาก ศาลนี้อยู่ที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ มีหุ่นไหหลำมาเล่นด้วยตามเทศกาล
    ส่วนศาลเจ้าจีนไหหลำในต่างจังหวัด เช่น พิจิตร สวรรคโลก อุตรดิตถ์ ฯลฯ นั้น ทราบว่าไม่สู้จะมีงิ้วไหหลำหรือหุ่นไหหลำเสียแล้ว เพราะคณะที่เล่นต้องเดินทางไปจากกรุงเทพฯ เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง งิ้วไหหลำนั้นถึงกับต้องจ้างตัวงิ้วบางตัวจากเกาะไหหลำมาทีเดียว (สังเกตการณ์และสัมภาษณ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม ซังฮี้)
    เพราะฉะนั้นการคงอยู่ของวัฒนธรรม เช่น งิ้วไหหลำ หรือหุ่นกระบอกจีนไหหลำ จึงอยู่ในกำมือของพวกเรา ลูกหลานด้วย ลองสัมผัสดูว่า ปู่ย่า ตาทวดของพวกเรา ท่านใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะอย่างไร ชีวิตจิตใจท่านจึงอ่อนโยนละมุนละไม ไม่แข็งกระด้างดังคนรุ่นเราที่วัน ๆ ใครบางคนอาจนั่งหน้าดำคร่ำเครียดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนอาจจะลืมว่าชีวิต low tech นั้น บางทีก็ทำให้เราผ่อนคลาย สบาย สบาย เพียงใด
(คลิกดูภาพใหญ่)

การฟื้นชีวิตของหุ่นไหหลำกับเด็กไทย

    ในตอนต้นเรื่อง ได้กล่าวถึงการเล่นหุ่นที่สัมพันธ์ไปได้ดีกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะกับเด็กชาติใดภาษาใด เด็ก ๆ ที่ได้ดูหุ่นไหหลำก็น่าจะเฉกเช่นกัน หลังเลิกเล่น เด็กหลายคนก็จะมาจับต้อง ลูบคลำ สงสัยว่าทำไมลูกตาของหุ่นจึงกลอกไปมาได้ สงสัยว่าทำไมหุ่นจีนจึงแต่งสาบเสื้อด้วยผ้าลายลูกสตรอเบอรี่ ฯลฯ ในขณะที่คนเชิดหุ่นรุ่นอากง-อาเน่ บอกให้ระมัดระวังหุ่นดี ๆ อย่าทำเป็นเล่นไป "หุ่นพวกนี้มีอาจารย์ ศักดิ์สิทธิ์นะ" อากงว่า ถ้าคนรุ่นกลาง ๆ อย่างเราจะช่วยเชื่อมให้คนสองรุ่นนี้มาเจอกันโดยใช้หุ่นเป็นสื่อกลาง ก็น่าจะไม่เลวเลย เพราะภาพที่เราอยากเห็นคือ ยังมีหุ่นกระบอกอย่างเก่าให้อากงอาเน่เล่นเลี้ยงชีพได้ และอากงกับอาเน่หลาย ๆ คนก็ได้นั่งดูสบายอารมณ์ ในขณะที่หลานตัวน้อยก็ได้มาลูบคลำหุ่นเล่นอย่างทะนุถนอม เพราะถ้าแตกหักเสียหายไป เขาก็จะไม่มีหุ่นให้ดูอีก ยิ่งหากมีบางช่วงการแสดง การเล่นได้สอดแทรกบทเด็ก ๆ ตลก ๆ ที่เล่นเป็นภาษาให้เขาฟังรู้เรื่อง อากงอาเน่ก็จะได้ร่วมหัวเราะไปกับหลาน ๆ ด้วย ถึงตอนนี้ เชื่อได้แน่ว่า หุ่นกระบอกไหหลำอายุเป็นร้อยปี ก็จะมีลมหายใจอย่างเบิกบานในหมู่เด็ก ๆ บนผืนแผ่นดินไทย และด้วยความยั่งยืนสถาวร


 

ขอบพระคุณ

- อาเน่ ติ้วเอ็ง แซ่ด่าน (ภัตตาคารกวนอา)
- ศาลเจ้าแม่ทับทิม / ศาลเจ้าเจี่ยวเอ็งเปี้ยว
- เจบ่วย / เจเบี้ยว / โกติวตง / โกฮงมู


(คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารประกอบการเขียน

    จักรพันธุ์ โปษยกฤต. หุ่นไทย. คณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ จัดพิมพ์, ๒๕๒๙.
    (อรไท ผลดี ค้นคว้าเรื่อง ประวัติหุ่น)
    นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้า
    บรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๙, ๒๕๐๔, องค์การค้าของคุรุสภา
    วิจัย อุทัย "เกาะไหหลำ" คอลัมน์ข้าราชการ มติชน รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๐๔๔ (๒๑ ส.ค. ๒๕๔๓) หน้า ๑๘.
    สมบัติ พลายน้อย. สารานุกรมไทย พิมพ์ครั้งที่ ๕, ไม่บอกปีพิมพ์ สำนักพิมพ์ธรรมสาส์น
    แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. ความกตัญญูของชาวจีนที่สะท้อนผ่านพิธีกงเต๊ก : กรณีศึกษาพิธีกงเต๊กจีนไหหลำ
    ในสังคมไทย งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, ๒๕๔๑ 


(คลิกดูภาพใหญ่)

สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม

    การเล่นหุ่นกระบอกแก้บนสองครั้ง
    ๑. ๒๘ กันยายน ๒๕๔๓ ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร
    ๒. ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ที่ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว ใกล้โรงแรมแชงกรีล่า บางรัก


(คลิกดูภาพใหญ่)

เชิงอรรถ

    *ข้อสังเกตว่าตาเหน่งเป็นขี้ยานั้น อาจไม่ใช่ หากเป็นคนมีฝีมือทางงานช่างอย่างมาก และสามารถร้องเล่น ตลอดจนเป็นเจ้าของคณะหุ่น
    **การนำลงมาเผยแพร่ในกรุงเทพฯ นี่เอง ทำให้เกิดการสืบต่อวัฒนธรรมการเล่นหุ่นชนิดใหม่ คือหุ่นกระบอก ขึ้นในเมืองหลวงอย่างสัมฤทธิผล และเกิดคณะหุ่นต่าง ๆ อีกมากมาย โดยก่อนหน้านี้คนไทยมีการเล่นหุ่นหลวงและหุ่นละครเล็กมาแล้ว