สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ไดโนเสาร์มีขนชนิดใหม่

เรื่อง : เยาวลักษณ์ ชัยมณี ฝ่ายโบราณชีววิทยา กรมทรัพยากรธรณี 
(ที่มา : วารสาร Nature, เมษายน ๒๕๔๔)
ภาพ : American Museum of Natural History, 2001

      แม้ในปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า นกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก โดยมีการค้นพบฟอสซิล ที่มีลักษณะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงจาก ไดโนเสาร์สู่นก ทว่าในวงการโบราณชีววิทยาทุกวันนี้ ก็ยังคงมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับกำเนิดของนก ว่าแท้จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับไดโนเสาร์หรือไม่
(คลิกดูภาพใหญ่)

    อย่างไรก็ตามในระยะหลัง ความเชื่อที่ว่านกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์ หรือมีความเชื่อมโยงกับไดโนเสาร์ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่มีขน ("ขน" ในที่นี้ หมายถึง ขนนก (feather) ไม่ใช่ขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  ห่อหุ้มลำตัว ขนนก คือลักษณะเฉพาะตัวของนกปัจจุบัน วิวัฒนาการของขนนก เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของการบิน การค้นพบครั้งนี้จึงยืนยันได้ว่า ขนนกที่แท้จริงเกิดขึ้นในไดโนเสาร์ที่ยังบินไม่ได้ ซึ่งเป็นญาติของนก และเกิดก่อนที่จะมีนกและมีการบิน 

(คลิกดูภาพใหญ่)     ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่เมืองเลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อหลายชนิดที่มีขน หรือมีโครงสร้างคล้ายขนห่อหุ้มลำตัว แต่บินไม่ได้ ในหินชุดยี่เซียนซึ่งมีอายุราว ๑๒๕-๑๔๗ ล้านปี หรือในยุคจูแรสสิกตอนปลาย (แม้ฟอสซิลบางชิ้นจะเกิดจากการนำเอาชิ้นส่วนฟอสซิลหลาย ๆ ชิ้นมาปะติดปะต่อ ให้เป็นตัวที่สมบูรณ์ จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายปีที่แล้ว ในวารสาร National Geographic) หินชุดยี่เซียนเกิดจากการตกทับถมของตะกอนในทะเลสาบ และมีชั้นเถ้าถ่านภูเขาไฟสลับ มีคุณลักษณะพิเศษคือ มีเนื้อละเอียด ช่วยเก็บรักษาร่องรอยของเนื้อเยื่อ ที่อ่อนนุ่มของสัตว์ไว้ได้ ทำให้ฟอสซิลหลายชนิดทั้งสัตว์บก สัตว์ที่บินได้ และสัตว์น้ำที่พบในหินชุดนี้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ บางครั้งยังพบส่วนที่เป็นลำไส้สัตว์ด้วย 
    ไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีสิ่งที่คล้ายขน มีโครงสร้างคล้ายเส้นประสานกัน บริเวณส่วนหัว คอ หลัง และหาง ชนิดแรกที่พบในหินชุดนี้ ได้แก่ ไซโนซอรอปเทอริก (Sinosauropteryx) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบนี้ยังไม่ใช่ขนที่แท้จริง เพียงแต่มีลักษณะที่เรียกกันว่า "ก่อน-ขนนก" (proto-feather) ในหินชุดเดียวกันนี้ ยังมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์อีกสองชนิด คือ คอดิปเทอริก (Caudipteryx) และโปรโตอาร์คีออปเทอริก (Protoarchaeopteryx) ซึ่งมีขนที่แท้จริงห่อหุ้มลำตัว โดยที่คอดิปเทอริกมีขนเล็ก ๆ อยู่บริเวณนิ้วมือ และมีขนเป็นพู่คล้ายพัดอยู่ที่ปลายหาง โปรโตอาร์คีออปเทอริก ก็มีขนคล้ายพัดอยู่ที่ปลายหางเช่นกัน 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ปัจจุบันยังมีบางกลุ่มคัดค้านว่า นกไม่ได้มีความสัมพันธ์กับไดโนเสาร์ โดยแย้งว่าโดรมีโอซอร์ (Dromaeosaurs) ซึ่งเป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีลักษณะโครงสร้างหลายอย่างคล้ายนกนั้นไม่มีขน โดรมีโอซอร์ คือกลุ่มไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่บินไม่ได้ เวโลซิเรปเตอร์ (Velociraptor) ที่ปรากฏในหนังจูแรสสิก พาร์ก ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ลักษณะพิเศษคือ มีกรงเล็บขนาดใหญ่ที่นิ้วเท้าที่สอง มีแขนยาว และนิ้วมือยาว เพื่อใช้ในการหยิบจับ แต่ไม่ได้พัฒนาแขนไปเป็นปีก นอกจากนี้ยังกล่าวว่า คอดิปเทอริกนั้นแท้จริงแล้ว เป็นนกที่ยังบินไม่ได้ ไม่ใช่ไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนก ดังที่อีกฝ่ายเชื่อแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามความเห็นดังกล่าว ขัดแย้งกับลักษณะโครงกระดูกของสัตว์ชนิดนี้
    นอกจากนี้ในหินชุดเดียวกัน ยังมีรายงานการค้นพบไซนอร์นิโตซอรัส (Sinornithosaurus) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ในกลุ่มโดรมีโอซอร์ ฟอสซิลที่พบนี้มีสิ่งห่อหุ้มลำตัวกระจายอยู่ทั่วไป และเห็นได้ชัดเจน แสดงลักษณะเชื่อมโยงวิวัฒนาการ ของขนไปสู่ขนนกอย่างเด่นชัด 
    ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนนี้ มีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ในหินชุดเดิม ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่พบจัดอยู่ในกลุ่มโดรมีโอซอร์เช่นกัน แต่ไม่ได้ตั้งชื่อชนิดใหม่ มีลักษณะพิเศษคือ เป็นฟอสซิลที่มีโครงกระดูกครบสมบูรณ์ และมีขนปกคลุมอยู่ทั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนที่ปกคลุมบริเวณแขนและหาง นอกจากนี้ขนของมัน ยังแผ่เป็นรัศมีออกจากจุดใดจุดหนึ่ง ลักษณะคล้ายคลึงกับขนของนกมาก เห็นได้ชัดบริเวณแขน ปัจจุบัน ขนหรือสิ่งปกคลุมร่างกายที่มีลักษณะโครงสร้างดังกล่าว ก็มีเพียงขนนกเท่านั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่าฟอสซิลที่พบใหม่นี้ เป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนก
(คลิกดูภาพใหญ่)     การค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวใหม่ครั้งนี้ นอกจากจะแสดงความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นของไดโนเสาร์และนกแล้ว ยังแสดงให้เห็นกำเนิดของขนนก และความหลากหลายของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กที่บินไม่ได้ ขนนกเกิดขึ้นก่อนกำเนิดนก และก่อนจะมีการบิน โดยเริ่มแรกขนนกอาจพัฒนาขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ที่ไม่ใช่เพื่อการบิน เช่น เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม เวลาต้องการหาคู่ ใช้ท้าทายคู่ต่อสู้ หรือใช้ป้องกันการโจมตีของศัตรู