สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ในประเทศไทย

ดร. ยุพา หาญบุญทรง ภาควิชากีฏวิทยา  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น : รายงาน

      ด้วงมูลสัตว์หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า แมงกุดจี่ เป็นแมลงปีกแข็งจำพวกพวกด้วงแรด (scarab) มีจำนวนชนิดราว ๗,๐๐๐ ชนิดทั่วโลก จากหลักฐานฟอสซิลพบว่า ด้วงมูลสัตว์มีกำเนิดมานานกว่า ๑๘๐ ล้านปีในยุคจูแรสสิก มีแหล่งที่อยู่อาศัยแพร่กระจายทั่วไปในทวีปต่าง ๆ ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ด้วงมูลสัตว์เป็นแมลงที่เรียกว่าผู้ย่อยสลาย (scavenger) ซึ่งนอกจากจะกินมูลสัตว์เป็นอาหารแล้ว ยังกินผลไม้เน่า เศษซากพืช ซากสัตว์ เช่น ซากงู ซากกิ้งกือ ซากหอยทาก และมีบางชนิดกินดอกเห็ดเป็นอาหาร 
 ด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ ๓ ชนิด Synapsis kiuchii
(คลิกดูภาพใหญ่)
(ภาพที่ ๑)
Synapsis dickinsoni 

    พฤติกรรมสำคัญของด้วงมูลสัตว์คือพฤติกรรมวางไข่ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ พวกกลิ้งมูล (วงศ์ย่อย Scarabaeinae) ให้ไกลออกจากกองมูลเดิม และพวกปั้นก้อนมูล (วงศ์ย่อย Coprinae) แล้วฝังลงใต้กองมูลเดิม พฤติกรรมดังกล่าวช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุในดิน ลดการแพร่ระบาดของแมลงวัน และปาราสิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกองมูล ด้วงมูลสัตว์จึงเป็นแมลงที่มีประโยชน์ และมีบทบาทสำคัญต่อการเกษตร และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก 
    อย่างไรก็ตาม แม้ด้วงมูลสัตว์จะมีประโยชน์มากมาย และประเทศไทยมีประชากรด้วงมูลสัตว์หลากหลายชนิด แต่การศึกษาด้านอนุกรมวิธาน และนิเวศวิทยาของด้วงมูลสัตว์กลับมีน้อยมาก และเพิ่งเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๔๑ ที่ผ่านมา หลังจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้ และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ ในประเทศไทย (Biodiversity Research of Thailand หรือ BRT) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาด้วงมูลสัตว์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้พบด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ปัจจุบันมีด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ (new species) ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว จำนวน ๓ ชนิด ชนิดย่อย (new subspecies) อีก ๑ ชนิด และยังมีอีกหลายชนิดที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง

(คลิกดูภาพใหญ่)
(ภาพที่ ๒)
Synapsis boonlongi 
    ด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ที่พบทั้ง ๓ ชนิด คือ Synapsis kiuchii (ภาพที่ ๑) พบครั้งแรกที่ดอยอ่างขาง จ. เชียงใหม่ มีแพร่กระจายทางภาคเหนือของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ อีกสองชนิดคือ Synapsis dickinsoni (ภาพที่ ๒) และ Synapsis boonlongi (ภาพที่ ๓) พบครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ. ชัยภูมิ มีเขตแพร่กระจายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ด้วงมูลสัตว์ชนิดสุดท้าย ผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน การวิจัยด้านแมลงมาโดยตลอด ด้วงชนิดนี้พบค่อนข้างยาก และมีจำนวนการแพร่กระจายน้อยมาก เมื่อเทียบกับสองชนิดแรก 
    ด้วงมูลสัตว์ทั้งสามชนิดมีเขตแพร่กระจายทางแถบอินโด-มาลายัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณป่า กินมูลสัตว์ป่าเป็นอาหาร เช่น มูลช้าง มูลหมูป่า และมูลกระทิงป่า เป็นต้น มีพฤติกรรมการสร้างรังแบบขุดเจาะ เป็นรูอยู่ใต้ดินใต้กองมูล (tunneler dung beetles) โดยขุดทำรังเป็นท่อหรือปล่องในลักษณะตื้น ๆ จนถึงลึกประมาณ ๕๐ - ๘๐ ซม. จากนั้นจึงนำมูลที่ปั้นเป็นก้อนกลมหลายก้อน ลงไปเรียงกระจัดกระจาย หรือต่อเนื่องติดกันคล้ายท่อนไส้กรอก แล้ววางไข่ลงในก้อนมูล เพื่อให้ตัวอ่อนได้อาศัยมูลที่แม่ปั้นไว้กินเป็นอาหาร ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในก้อนมูล จนกระทั่งเข้าสู่ดักแด้ และกลายเป็นตัวเต็มวัยบินออกมาสู่โลกภายนอก
    ส่วนด้วงมูลสัตว์ชนิดย่อยใหม่ของโลกมีชื่อว่า Sisyphus thoracicus chaiyaphumensis (ภาพที่ ๔) พบครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ. ชัยภูมิ ได้รับการยอมรับว่า เป็นชนิดย่อยใหม่ของโลกเมื่อปี ๒๕๔๓ สถานที่พบส่วนใหญ่มีสภาพป่าโปร่ง เช่น ทุ่งหญ้า ป่าสน และป่าเต็งรัง เป็นต้น มีพฤติกรรมวางไข่แบบกลิ้งก้อนมูล (roller dung beetles) โดยแม่ด้วงจะปั้นมูลเป็นก้อนกลม มีขนาดใหญ่กว่าตัวสองเท่า หลังจากนั้นจึงกลิ้งมูลออกไปจากกองมูลเดิม เพื่อหาสถานที่เหมาะสม สำหรับฝังก้อนมูล โดยตัวผู้ใช้ขาคู่หลังผลักกลิ้งก้อนมูลถอยหลัง ส่วนตัวเมียขึ้นไปนั่งบนก้อนมูล ใช้ขาคู่หน้าช่วยกลิ้งมูลอีกแรงหนึ่ง เมื่อพบสถานที่เหมาะสม ด้วงผัวเมียจะช่วยกันขุดดิน กลิ้งมูลลงไปในหลุมที่ขุดขึ้น แล้ววางไข่ลงในก้อนมูลให้ลูกน้อยเติบโตต่อไป 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
(ภาพที่ ๓)
เป็นด้วงขนาดกลาง มีขนาดความยาวลำตัว ๒๓ - ๒๘ มม. รูปร่างลำตัวเป็นรูปไข่แบน ลำตัวมีสีดำมัน ส่วนหัวกว้างขยายออก มีลักษณะคล้ายพัด ส่วนตากลมใหญ่เห็นชัดเจน ขาคู่หน้าสั้น มีซีjฟันแข็งแรง เหมาะสำหรับใช้ขุดดิน ส่วนขาคู่กลางและคู่หลัง ขนาดเล็กและเรียวกว่า ส่วนท้องด้านบนมีลักษณะอ้วนป้อม 
(คลิกดูภาพใหญ่)
(ภาพที่ ๔)
ด้วงมูลสัตว์ชนิดย่อย Sisyphus thoracicus chaiyaphumensis  มีขนาดความยาวลำตัว ๖-๗ มม. มีรูปร่างเด่นพิเศษคือ มีลักษณะคล้ายแมงมุม ลำตัวโค้งนูนขึ้น และมีขาคู่กลาง และคู่หลังเรียวยาวมาก ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีดำด้าน ๆ ไม่เป็นมันวาว