|
|
|
|
|
|
|
|
|
เย็นวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
บนถนนราชดำเนินกลางรอบ ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่ประชาชนประมาณ ๕ หมื่นคนนั่งชุมนุมกันอยู่ เครื่องบินฝึกปีกชั้นเดียวลำหนึ่งก็บินมาวนเวียนประกาศให้ทราบถึงการลาออกของจอมพล ถนอม กิตติขจร และขอให้สลายการชุมนุม
๒๘ ปีผ่านไป...
|
|
|
|
บนถนนสายเดียวกัน ประชาชนเกือบ ๕ หมื่นคนนั่งชุมนุมอย่างสงบ บนท้องฟ้าไม่มีเครื่องบินมาบินวนเวียนประกาศว่าใครลาออก มีเพียงเสียงปราศรัยจาก "คนเดือนตุลา" ซึ่งขณะนี้เป็นนักการเมืองในพรรคแกนนำรัฐบาล
"พี่น้องประชาชนครับ วันนี้มีคนมาร่วมงานมากถึง ๕ หมื่นคน บรรยากาศคล้ายกับ ๒๘ ปีก่อนมากจริง ๆ ครับ ถ้าไม่มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เราคงไม่ได้เห็นบรรยากาศอย่างนี้แน่นอน"
แต่เสียง "คนเดือนตุลา" ผู้ซึ่งเมื่อ ๒๘ ปีก่อนยืนอยู่บนเวที หากวันนี้ยืนฟังอยู่ด้านล่าง กลับมีความเห็นไปอีกแบบ
"บนเวทีมีแต่นักการเมือง
"คนเดือนตุลา" ในพรรคไทยรักไทยยืนกันเต็มไปหมด เวทีนี้จึงเป็นเวทีของพรรคไทยรักไทยไม่ใช่เวทีสาธารณะ"(เสาวนีย์ ลิมมานนท์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ไฮด์ปาร์กในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖)
...........................
ปีนี้...งานรำลึกเดือนตุลาจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ด้วยมีพิธีเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาที่รอคอยมานาน ๒๘ ปี และเหตุการณ์ ๖ ตุลาเวียนมาครบ ๒๕ ปีพอดี คณะกรรมการจัดงานจึงเชื่อมงานรำลึกเหตุการณ์ทั้งสองให้เป็นงานเดียวกัน บรรยากาศงานเดือนตุลาปีนี้จึงมีผู้มาร่วมงานมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะ "คนเดือนตุลา" จากทั้งสองเหตุการณ์ ซึ่งวันนี้ต่างก็เติบโตไปตามทางของตน บางคนก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง บางคนยังคงเดินขบวนประท้วงเคียงข้างคนจน และบางคนกลายเป็นวีรชนข้างถนนที่ไม่มีใครเหลียวแล งานรำลึกเดือนตุลาปีนี้จึงมีเรื่องราวมากมายให้บันทึกและจดจำ
|
|
|
|
๑.
"ท่านนายกฯ ทักษิณา...ลูกสาวอิฉันหายไปตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลา ๑๙ ฉันรู้ว่ามันตายไปแล้ว แต่ฉันยังหากระดูกมันไม่พบ ท่านช่วยตามหากระดูกมาให้อิฉันทำบุญจะได้ไหม
ขนาดไดโนเสาร์มันตายไปเป็นล้านปี
ยังมีคนขุดหามันเจอ แล้วลูกอิฉันเพิ่งตายแค่ ๒๕ ปีทำไมถึงยังหากระดูกมันไม่เจอละคะท่าน..."
ข้างต้นเป็นการแสดงละครเวที "เหลียวหลัง แลหน้า ตุลง ตุลา" ของกลุ่มละครมะขามป้อม
หนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความประทับใจ
ให้แก่ผู้มาร่วมงานรำลึกเดือนตุลามากที่สุด เห็นได้จากจำนวนผู้ชมกว่า ๒,๕๐๐ คนที่แน่นขนัดหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเสียงปรบมืออันยาวนานหลังละครปิดฉาก
ความประทับใจที่เกิดขึ้นคงต้องยกความดีให้แก่ทีมงานทุกคน
ตั้งแต่บทละครอันสนุกสนาน
แต่แฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระครบถ้วนของ ทองขาว ทวีปรังษีนุกุล ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดัง และ ประดิษฐ์ ประสาททอง หัวหน้ากลุ่มละครมะขามป้อม ไปจนถึงนักแสดง ผู้ดูแลแสง สี เสียง และอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งทำหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม
ละครเรื่องนี้กล่าวถึงสภาพสังคมก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านตัวละครหลักสี่ตัว คือ นางเฮงกับนายซวยผู้เป็นแม่และพ่อ กับลูกชายลูกสาวชื่อ สุดปรารถนาและฟ้าใส
นายซวยถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ชาติอยู่หลายสิบปี หลังรบจนขาพิการจึงได้กลับบ้าน ส่วนนางเฮงขายที่นามาเก็บขยะส่งลูกเรียน ลูกชายคนโตเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และหนีเข้าป่าไปหลายปี
ภายหลังกลายเป็นนักการเมือง
ที่มุ่งเน้นแต่การหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ส่วนลูกสาวคนเล็กหายตัวไปตั้งแต่เหตุการณ์ ๖ ตุลา เมื่อนายกฯทักษินามาเยี่ยมชาวบ้านผู้ยากไร้ นางเฮงจึงขอให้ท่านช่วยค้นหากระดูกของลูกสาว
และขอให้ทุกคนออกมาพูดความจริง
เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เสียที
|
|
|
|
เนื้อหาของละครข้างต้นสอดคล้องกับประเด็นสำคัญ
ที่คณะกรรมการจัดงาน ๒๕ ปี ๖
ตุลา
พยายามนำเสนอต่อสาธารณชนมาตลอด คือ เรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา เพราะตลอดเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ ๖
ตุลาถูกหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง
และมีคนพยายามบอกให้ลืมมันไปอยู่เสมอ
กิจกรรมรำลึก ๖
ตุลาปีนี้
เริ่มต้นตั้งแต่รุ่งเช้า บริเวณสวนประติมากรรมกำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรดาญาติวีรชน คณะกรรมการจัดงานฯ และประชาชน
ร่วมกันตักบาตรและทำพิธีบังสุกุล
ให้แก่วีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ในปีนี้มีบุคคลสำคัญมาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นางประทีป อึ้งทรงธรรม เป็นต้น
ต่อจากนั้น ศ. (พิเศษ) ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา
ประธานคณะกรรมการรับข้อมูล
และสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ได้มอบหนังสือรายงานชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ๒ เล่ม แก่นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา
เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณา
ดำเนินการชำระประวัติศาสตร์ต่อไป
หนังสือดังกล่าวจัดทำโดย "คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙" มี ศ. (พิเศษ) ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน ทำการรวบรวมข้อมูลทั้งจากเอกสาร สิ่งพิมพ์ วิดีโอ เทปบันทึกเสียง ภาพถ่าย ฯลฯ รวมทั้งถ้อยคำจากพยานเหตุการณ์ทั้งหมด ๖๒ คน
หนังสือเล่มแรกมีชื่อว่า อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง จัดทำโดย ผศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหนังสือเล่มที่ ๒ มีชื่อว่า กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง โดยผู้หญิง ๖ ตุลาฯ จัดทำโดย ศ. ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา
ดร. ชลธิรากล่าวถึงกระบวนการจัดทำหนังสือดังกล่าวว่า
|
|
|
|
"คณะกรรมการรับข้อมูลฯ
เริ่มต้นทำงานโดยกระบวนการ
มีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเวลา หนึ่งปีเต็ม ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผู้มีจิตใจกล้าหาญ เสียสละ ๖๓ ราย โดยไม่มีอามิสสินจ้าง หากดูจากพยานที่มาให้การในรายงานทั้งสองเล่มนั้น
จะเห็นว่ามีทั้งนายตำรวจระดับสูง
ที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำในวันนั้น และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดงที่กลับใจมาให้การ
สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ๒๕ ปี แม้แต่กลุ่มคนที่เคยอยู่ในขบวนการของฝ่ายที่ทำร้าย
ก็สามารถสรุปบทเรียนได้ว่า
ขณะนั้นรัฐกระทำเกินเลย ไม่ถูกต้อง
ข้อมูลเหล่านี้เป็นที่มาของการเขียนประวัติศาสตร์
ในลักษณะวิเคราะห์และเรียบเรียงวิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเล่มแรก
ที่มาจากกระแสสำนึกต่อเหตุการณ์ ความรับผิดชอบต่อประชาชน และมุ่งให้ชาติสรุปบทเรียนร่วมกัน และเป็นก้าวแรกของการเขียนประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาที่ประชาชนมีส่วนร่วม"
ในบทนำของหนังสือ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง ได้สรุปผลการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ว่า
"ในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐไทยได้ก่ออาชญากรรมทางการเมือง โดยลงมือปราบปรามขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยอาวุธสงคราม
การปราบปรามครั้งนั้น
ไม่มีเหตุผลที่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ได้ร่วมมือกับอันธพาลฝ่ายขวา
ที่มาชุมนุมต่อต้านนักศึกษาที่หน้ามหาวิทยาลัย
โดยปล่อยให้ผู้บริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่าอย่างทารุณ
ที่ท้องสนามหลวง หน้าวัดพระแก้ว และวัดมหาธาตุ"
จากนั้นนายจินดา ทองสินธุ์ นางเล็ก วิทยาภรณ์ และตัวแทนญาติวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ มอบโล่ "ตุลาชนหาญกล้า" ให้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย ตัวแทนหน่วยรักษาความปลอดภัย นางสุชีลา ตันชัยนันท์ ตัวแทนหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน และนายสุธรรม แสงประทุม ตัวแทนผู้ต้องหา ๑๘ คนในเหตุการณ์ ๖ ตุลา
เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษา ๑๔ ตุลา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "๖ ตุลา ความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณและศีลธรรมของสังคมไทย" ได้ข้อสรุปว่า
|
|
|
|
"เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ถูกแยกออกจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องกัน เหตุการณ์ ๖ ตุลา
ถูกระบุว่าเป็นความพ่ายแพ้
และไม่ได้รับการยกย่องหรือให้เกียรติ ผมเสนอว่าควรมีการชำระประวัติศาสตร์ โดยทุกฝ่ายร่วมกัน
มีรัฐบาลให้การสนับสนุน
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม นอกจากนี้เหตุการณ์ ๖
ตุลา
ก็ควรมีอนุสาวรีย์ของตนเอง ไม่ใช่แค่สวนประติมากรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมคิดว่าสถานที่สร้างอนุสาวรีย์ ๖ ตุลา น่าจะเป็นมุมสนามหลวง บริเวณที่มีการเผา ฆ่า แขวนคอนักศึกษาในเหตุการณ์นั้น"
ต่อจากนั้น ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี จึงเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "รวมพลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙" ส่วนในภาคบ่ายที่หอประชุมเล็ก มีการอภิปรายเรื่อง "การชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา และผลกระทบของ ๖ ตุลาต่อสังคมไทย" และพิธีรำลึกและไว้อาลัยแก่วีรชนผู้เสียชีวิต
โดยตั้งขบวนญาติวีรชนและผู้ร่วมในเหตุการณ์
เดินรอบหอประชุมใหญ่
แล้วไปวางพวงมาลาที่กำแพงประวัติศาสตร์
ก่อนปิดท้ายงานด้วยการแสดงดนตรีของวงคาราวาน
และผองเพื่อน บรรยากาศของงานรำลึก ๒๕ ปี ๖ ตุลาวันนี้มีผู้มาร่วมงานคับคั่งตลอดทั้งวัน
................................
วันนี้เหตุการณ์ ๖ ตุลาผ่านไป ๒๕ ปีแล้ว
บางคนยังคงเฝ้ารอคอยการชำระประวัติศาสตร์
ให้สังคมยอมรับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
บางคนเฝ้ารอคอยการลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ครั้งนั้น
และบางคนยังคงเฝ้าคอยว่า
จะพบศพลูกรักที่หายไปตั้งแต่ ๒๕ ปีก่อน
"แม้เหตุการณ์จะผ่านไป ๒๕ ปีแล้ว
แต่ผมก็ยังมีความอาลัยอาวรณ์
ต่อการจากไปของลูกชาย ผมรู้ว่าถึงอย่างไรลูกชายก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังหาศพไม่พบ และผมยังคงหวังที่จะค้นหาต่อไป" (นายจินดา ทองสินธุ์ บิดาของนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์
นักศึกษาซึ่งถูกยิงเสียชีวิต
และถูกกลุ่มอันธพาลใช้ผ้ารัดคอ
แล้วลากไปตามสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
|
|
|
|
๒.
"ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่เราสามารถสร้างอนุสรณ์สถานจนเสร็จ และเปิดทันพิธีสมโภชสถูปดวงวิญญาณวีรชนประชาธิปไตยในโอกาสเดียวกัน
การสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้
ใช้เวลาเนิ่นนานที่สุดในบรรดาอาคารทั้งหลาย
อนุสรณ์สถานแห่งนี้
เป็นที่รวบรวมตั้งแต่การจารึกชื่อของผู้เสียชีวิต ๑๔
ตุลา
และประวัติผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม
กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมไม่ใช่เฉพาะอิฐปูน
และวัตถุต่าง ๆ ตรงกันข้าม
รากฐานของอนุสรณ์สถาน
จะเป็นที่ตั้ง
และรวมจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตย"
ศ. นิคม จันทรวิทุร ประธานมูลนิธิ ๑๔ ตุลา กล่าวในพิธีสมโภชดวงวิญญาณวีรชนประชาธิปไตย ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา สี่แยกคอกวัว ในช่วงสายวันที่ ๑๔ ตุลาคม หลังจากพิธีทำบุญตักบาตรบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มาร่วมงานจึงตั้งขบวนเดินมาร่วมพิธีสมโภชดวงวิญญาณวีรชนฯ ที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า ๔๐๐ คน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และองค์กรต่าง ๆ นำพวงหรีดมาสักการะวิญญาณวีรชนจำนวนมาก อาทิ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ หรือ "ไอ้ก้านยาว" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อดีตนักศึกษารุ่น ๑๔ ตุลา ญาติวีรชน และวีรชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์
พิธีในช่วงเช้าวันนี้เป็นพิธีทางศาสนา
ซึ่งมีตัวแทนจากทุกศาสนา
ประกอบพิธีกรรมตามแบบของตน โดยมี นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ และตัวแทนศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม กล่าวไว้อาลัยและรำลึกดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต
ส่วนบริเวณทางขึ้นอนุสรณ์สถาน
มีการจัดโต๊ะเซ่นไหว้หัวหมูและกระดาษกงเต็ก
สำหรับผู้ต้องการทำพิธีแบบจีน |
|
|
|
นายณิปไทย ศาสนันท์ ตัวแทนคณะกรรมการญาติวีรชนกล่าวคารวะดวงวิญญาณวีรชนว่า
"ในขณะนี้อนุสรณ์สถานได้เสร็จสิ้นตามเจตนารมณ์ของผู้รักเสรีภาพ
และรักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำนี้ถือเป็นการกตัญญูต่อผู้เสียสละ แต่เมื่อกตัญญูแล้ว ต้องมีกตเวทีด้วย เพื่อพิทักษ์เจตนารมณ์ของวีรชนเดือนตุลาให้มั่นคงด้วยการปฏิบัติ
"โอกาสนี้ญาติวีรชนจึงขอแสดงกตเวที
ด้วยการเรียกร้องต่อรัฐบาลในสามข้อ คือ หนึ่ง ขอให้ประกาศให้วันที่ ๑๔ ตุลา เป็นวันแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน สอง ขอให้รัฐบาลประกาศจัดงานรำลึก ๑๔ ตุลา
เป็นงานรัฐพิธีอย่างสมเกียรติ
และสมศักดิ์ศรีของวีรชนผู้เสียชีวิต และ สาม
ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ
และญาติวีรชนที่ยังมีชีวิตอย่างเป็นธรรม"
สิ่งที่เรียกว่าเป็น "ไฮไลท์" ของงานปีนี้มีสองอย่าง คือ พิธีเปิดประติมานุสรณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ กำแพงประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีขึ้นในช่วงบ่าย และพิธีฉลองเปิดอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ในช่วงเย็น ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธี
ประติมานุสรณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ เป็นประติมากรรม ๑ ใน ๑๑ ชิ้นงาน ของโครงการกำแพงประวัติศาสตร์ มีลักษณะเป็นประติมากรรม ๔ ชิ้น เรียงกันเป็นผนัง ด้านในสุดเป็นรูปขบวนของ ๑๓ กบฏและประชาชน ด้านซ้ายและขวาเป็นภาพเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลา เช่น ไอ้ก้านยาว นักศึกษา ชายหญิงเดินแบกศพ ตรงกลางเป็นอนุสาวรีย์สลักรายชื่อผู้ชีวิต
นายมารุต บุนนาค ประธานกรรมการดำเนินการจัดทำกำแพงประวัติศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมาและความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวว่า
"โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๙
เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานบันทึกประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่เกี่ยวพันกับการต่อสู้
และสร้างสรรค์การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีก ๘ ชิ้นงานยังไม่เสร็จ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๔๙"
ส่วนอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาที่รอคอยมานานถึง ๒๘ ปี มีลักษณะเป็นลานกิจกรรมและสวนสาธารณะ ประกอบด้วยชั้นใต้ดินสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ๑๔ ตุลา ห้องสมุด ห้องประชุม และสำนักงาน ใช้งบประมาณกว่า ๒๖ ล้านบาท สามารถรองรับคนได้ ๗๐๐-๘๐๐ คน ปัจจุบันเปิดใช้งานได้บางส่วน |
|
|
|
สัญลักษณ์สำคัญของอนุสรณ์สถานแห่งนี้คือ สถูปวีรชน ๑๔ ตุลา มีเป็นประติมากรรมรูปทรงกรวยคว่ำ สูง ๑๔ เมตร
ยอดแหลมทรงสถูป
หมายถึงจิตวิญญาณสูงส่งของมนุษย์
ส่วนปลายมีรอยหยักคล้ายยังสร้างไม่เสร็จ สื่อความหมายว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนยังไม่สิ้นสุด ด้านหน้ามีป้ายจารึกข้อความ "๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖" บทกวี "สิทธิเสรีภาพ" ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และรายชื่อวีรชนทั้ง ๗๒ คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น
นายโคทม อารียา
กล่าวถึงสาเหตุที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้
ใช้เวลาสร้างยาวนานถึง ๒๘ ปีว่า
"หากเราต้องการสร้างอนุสรณ์สถานกันเอง เช่น หาที่ดินสักแปลงหนึ่งแล้วสร้างอาคารขึ้นมา ก็อาจจะไม่ต้องใช้เวลานานถึงปานนี้ แต่เราเห็นว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเป็นเรื่องส่วนรวม ดังนั้นการสร้างอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา จึงควรเป็นเรื่องของรัฐร่วมกับประชาชน และสถานที่ตั้งก็ควรจะอยู่ในบริเวณถนนราชดำเนิน อันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้
เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และมีผู้ค้าสลากเช่าอยู่ก่อน
การเจรจาขอเช่าที่ดินและโยกย้ายกลุ่มผู้เช่าเดิมออกไป
จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน"
หลังจากพิธีเปิดประติมานุสรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จบลงในเวลาสี่โมงเย็น
ผู้ร่วมงานทั้งหมดจึงตั้งขบวนเดินไปยังอนุสรณ์สถาน ๑๔
ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
บรรยากาศของการเดินขบวนค่อนข้างคึกคัก
เนื่องจากมีผู้มาร่วมเดินมากเป็นประวัติการณ์
ของงานรำลึกเดือนตุลาซึ่งเคยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อาทิ ขบวนของรัฐมนตรีที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา ขบวนญาติวีรชน ขบวนนักศึกษาเดือนตุลา ขบวนสมัชชาคนจน และขบวนของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
สำหรับขบวนหลังสุดนั้น
ดูเหมือนจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน
และผู้มาร่วมงานมากที่สุด
เนื่องจากเป็นขบวนที่พรรคไทยรักไทย
เป็นผู้ชักชวนมาร่วมงาน
โดยใช้งบประมาณของรัฐบาล เห็นได้จากทุกคนใส่เสื้อสีขาวปักคำว่า อสม. บริเวณแขนด้านซ้าย บริเวณหน้าอกติดป้ายจังหวัดของตัวเอง มือหนึ่งถือธงชาติ หนังสือพิมพ์ มติชน รายวัน ฉบับวันรุ่งขึ้นได้รายงานเรื่องนี้ว่า
"การจัดงานวันนี้เป็นการจัดโดยทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งนายสุธรรมของบฯ เหลือจ่ายเพื่อใช้ในงานนี้ประมาณ ๑๘ ล้านบาท
โดยคนของพรรคไทยรักไทย
ไปเชิญอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมู่บ้านละ ๔ คน จากภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ ๒ หมื่นคน มีค่าเดินทาง ค่าอาหาร และเสื้อสีขาวแจกฟรี" |
|
|
|
แม้ว่าในวันต่อมา
นายสุธรรมจะออกมาชี้แจงว่า
งบประมาณที่ใช้จ่ายในการพาคนมาร่วมงาน
มีประมาณ ๒ ล้านบาท และเงินที่เหลือจากการจัดงานทบวงฯ จะโอนเข้ามูลนิธิ ๑๔ ตุลาทั้งหมด
แต่หลายคนก็ยังแสดงความไม่เห็นด้วย
กับการกระทำดังกล่าว
เพราะทำให้บรรยากาศของงาน
ดูไม่เป็นธรรมชาติและไม่มีพลัง
หลังจากขบวนทั้งหมดเดินทางมาถึงถนนราชดำเนิน
ผู้เข้าร่วมขบวนจึงนั่งลงบนพื้นถนน
เพื่อฟังปราศรัยจากเวทีบริเวณสี่แยกคอกวัว
โดยในตอนแรกหลายคนคาดหวังว่า
จะได้ฟังตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ที่มาร่วมงาน อาทิ ญาติวีรชน วีรชนผู้พิการ หรือสมัชชาคนจน
ขึ้นปราศรัยปัญหาของตน
เพื่อให้สังคมรับรู้และร่วมแก้ไขปัญหา ดังเจตนารมณ์ของคนเดือนตุลาเมื่อ ๒๘ ปีก่อนบนถนนสายนี้ แต่ทว่าตลอดเวลาช่วงเย็นจนถึงจบงาน คนที่ได้ยืนพูดบนเวทีมีเพียง "คนเดือนตุลา" ซึ่งบัดนี้กลายเป็นนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล หลายคนเริ่มลังเลว่า "คนเดือนตุลา" ซึ่งวันนี้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
จะช่วยแก้ปัญหาของพวกเขา
ดังเจตนารมรณ์ที่เคยมีหรือไม่ ที่สำคัญ รัฐบาลซึ่งมี "คนเดือนตุลา" อยู่มากที่สุด
คิดอย่างไรกับการชำระประวัติศาสตร์
ทั้งสองเหตุการณ์ซึ่งตนเคยมีส่วนร่วม
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตผู้นำนักศึกษา ๖ ตุลา ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า
"เหตุการณ์ ๖ ตุลา และ ๑๔ ตุลา ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไปแล้ว ต้องนำเรื่องราวที่ถูกต้องออกมาตีแผ่ให้สาธารณชนได้รับรู้
การสืบหาข้อเท็จจริง
และชำระประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เดือนตุลาคม มิใช่เพื่อก่อความขัดแย้งขึ้นในสังคม แต่เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดเช่นในอดีตขึ้นอีก
"ทบวงมหาวิทยาลัยจะนำเหตุการณ์ ๖ และ ๑๔
ตุลาคม
มาดำเนินการเพื่อบรรจุเข้าหลักสูตรการศึกษา
โดยจะเชิญนักวิชาการที่สนใจประวัติศาสตร์
และมีความเป็นกลางมาร่วมเรียบเรียง
ซึ่งจะนำผลสรุปเหล่านั้น
มาดูความเหมาะสมอีกครั้ง"
แต่ทว่าหากพิจารณาคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ
ในช่วงปิดงานกลับพบคำตอบที่ต่างออกไปว่า |
|
|
|
"วันที่ ๑๔ ตุลาทุกครั้งต่อไปนี้
เราต้องร่วมกันคิดว่าจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติอย่างไร
ให้เขายืนบนลำแข้งของตนเอง ไม่ใช่ทุก ๑๔
ตุลา มานั่งเถียงกันว่า
ประวัติศาสตร์ถูกหรือไม่ถูก ช่วยคนพิการหรือไม่ช่วย จากนี้ไป เหตุการณ์เหล่านี้ต้องยุติ ประวัติศาสตร์ก็ต้องเป็นประวัติศาสตร์ รัฐบาลนี้มีคนเดือนตุลา ก็ไม่มีรัฐบาลไหนเข้าใจ ทุกอย่างต้องนำความจริงออกมา แต่วันนี้เราต้องแก้ปัญหาความยากจน ไม่ต้องเรียกร้องให้ชำระประวัติศาสตร์"
ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเริ่มไม่แน่ใจว่า
ประวัติศาสตร์เดือนตุลาจะได้รับการชำระ
ดังที่ใครบางคนประกาศไว้ หรือจะถูกกลบเกลื่อนเอาไว้จนกระทั่งทุกคนลืมมันไป
หลังสิ้นเสียงนายกฯ กล่าวปราศรัยบนเวที
เสียงพลุหลายสิบนัดดังก้องไปทั่วท้องฟ้า
เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา อย่างยิ่งใหญ่
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี
จึงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
เพื่อปิดงานรำลึกเดือนตุลา
แทนเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
ซึ่งระบุไว้ในกำหนดการ
.........................
งานรำลึกเดือนตุลาซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่จบลงแล้ว ตลอดระยะเวลา ๙ วันมีกิจกรรมมากมายที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่งานปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวิชาการ ศิลปะ และบันเทิง อาทิ สัมมนาวิชาการ ๒๕ ปี ๖ ตุลา ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านวรรณกรรม และด้านสื่อมวลชน, สัมมนาสรุปบทเรียน ๔ ปี รัฐธรรมนูญกับการเมืองภาคประชาชน, สัมมนาเชิงปฏิบัติการทิศทางของประเทศ นิทรรศการ "ศิลปะกลางแจ้ง" บริเวณกำแพงประวัติศาสตร์, การแสดงดนตรีเพื่อชีวิตจากนานาศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น แอ๊ด คาราบาว พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หงา คาราวาน ซูซู โฮป ฯลฯ |
|
|
|
นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ
ภายในงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาแล้ว สิ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่งานรำลึกเดือนตุลาปีนี้ดูคึกคักมากขึ้น เห็นจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง ๑๔ ตุลา สงครามประชาชน ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในช่วงเข้าป่าหลังเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เดิมภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ชื่อว่า คนล่าจันทร์
แต่ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อ
ด้วยเหตุผลในการโฆษณาประชาสัมพันธ์
ชื่อใหม่ที่อิงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ซึ่งมีผู้ร่วมรับรู้เหตุการณ์จำนวนมาก ทำให้ผู้ชมคาดหวังกับข้อมูลของเหตุการณ์ในทุกแง่มุม มิใช่มุมมองของตัวเอกเพียงอย่างเดียว
ภาพยนตร์เรื่องนี้
จึงได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศงานรำลึกเดือนตุลาให้มีสีสันขึ้นไปอีกคือ หนังสือ อนุทิน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เรียบเรียงโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
แรกทีเดียวหนังสือเล่มนี้
จะได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนมัธยมต้น ซึ่งกรมวิชาการจะเป็นผู้จัดพิมพ์ แต่ภายหลังกลับปฏิเสธ
เนื่องจากถือว่า
เป็นหนังสือที่ยังไม่ได้ผ่านการชำระประวัติศาสตร์
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้เรียบเรียง กล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ว่า
"ผมเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า อนุทิน ๑๔ ตุลา
เพราะเป็นหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ระหว่างวันที่ ๖-๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีจำนวน ๑๐ ตอน ผมไม่ได้ต้องการแต่งให้เป็นตำราประวัติศาสตร์
แต่ต้องการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
ของเด็กมัธยมต้น ให้เขาไปหาหนังสืออื่น ๆ ที่มีคนเขียนไว้เยอะแยะอ่านต่อเอาเอง"
แม้เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลาจะผ่านไปแล้วเกือบสามทศวรรษ ภารกิจของคนเดือนตุลาก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเดินขบวนเรียกร้องเมื่อ ๒๐
กว่าปีก่อน
ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับเพิ่มพูน ถมทับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ดังคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ในช่วงปาฐกพิเศษเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคมที่ผ่านมาว่า |
|
|
|
"ในอดีต ภัยที่คุกคามประชาธิปไตยคือเผด็จการ แต่วันนี้ภัยดังกล่าวมาจากสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิด
อำนาจเผด็จการไม่ได้มาจากทหาร
หรือคนในเครื่องแบบสีกากีอีกแล้ว
แต่ขึ้นอยู่ที่ใจของคนคนนั้น
ว่าเข้าใจระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด
มีการแสวงหาอำนาจ
และใช้ไปในทางที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ภัยที่มาจากคนที่มีความเอนเอียง
ไปในทางที่เป็นเผด็จการยังไม่สูญหายไปจากประเทศไทย ความเข้มข้นอาจมีน้อยลงไป วิธีการเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน วิธีการปราบประชาธิปไตย เป็นวิธีการพรางตาคน กล่อมให้ประชาชนพึงพอใจ ให้หลับไปชั่วคราว มีความสบายใจ ดังนั้น ๒๘ ปีของการต่อสู้ยังไม่เสร็จสิ้น กระบวนการนี้จะยังต้องมีชีวิตต่อไป"
และภารกิจที่สำคัญที่คนเดือนตุลา
จะต้องผลักดันต่อไปคือ
การชำระประวัติศาสตร์ทั้งสองเหตุการณ์
ให้เป็นที่ประจักษ์
และนำเข้าสู่บทเรียน
ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพราะ...
"ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ และบอกให้ลืมประวัติศาสตร์ ถือเป็นการพยายามหลอกให้ลืม
โกหกตัวเอง
ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องสรุปให้ได้
เพื่อเป็นบทเรียน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีก ผู้ที่บอกให้ลืม ถ้าไม่เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็ต้องเป็นผู้กระทำในเหตุการณ์นั้น" (นายโอริสสา ไอยราวัณวัฒน์ อดีตเลขาธิการแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย)
|
|
|
|
ลำดับเหตุการณ์ ๒๘ ปี อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
๑. วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ : เหตุการณ์ประวัติศาสตร์
นิสิตนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมประท้วงมาหลายวันแล้ว ได้มารวมตัวกันบริเวณสวนจิตรลดา เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. หลังจากฟังผู้แทนพระองค์อ่านพระบรมราโชวาทแล้ว ก็เริ่มสลายการชุมนุม แต่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนรุ่งอรุณ เหตุการณ์ได้บานปลาย มีการใช้กำลังทหารและตำรวจเข้าปราบปรามจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย หนังสือพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชน ณ เมรุท้องสนามหลวง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ ได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย ไว้ดังนี้
ผู้เสียชีวิต ๗๑ คน(ได้รวมการแจ้งชื่อเพิ่มเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๗ จำนวน ๒ ราย)
ผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ ๕๖ คน
ผู้มีจิตฟั่นเฟือน ๒๗ คน
ผู้สูญหาย ๔ คน
รวม ๑๕๘ คน
๒. วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๗ : รับหลักการสร้างอนุสาวรีย์
คณะรัฐมนตรีสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีอนุสาวรีย์สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ และมอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงาน
๓. การประกวดแบบแปลนอนุสาวรีย์สำหรับวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จัดให้มีการประกวดแบบ ปรากฏว่า นายเทอดเกียรติ ศักดิ์คำดวง เป็นผู้ชนะการประกวดในปี ๒๕๑๘
๔. วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๘ : วางศิลาฤกษ์
พีธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์วีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธี |
|
|
|
๕. วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๙ : ยกเลิกโครงการ
คณะรัฐมนตรีสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติเห็นด้วยกับกระทรวงการคลัง ตามหนังสือลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๙
ให้ยกเลิกโครงการสร้างอนุสาวรีย์
สำหรับวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖
๖. วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐ : ยึดเงินบริจาค
คณะรัฐมนตรีสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติให้ยึดเงินที่ประชาชนบริจาคให้ ศนท. โดยให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาดำเนินการ
๗. วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๑ : นำเงินที่ยึดส่งคลัง
คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับทราบการที่กระทรวงการคลังได้นำเงินที่ประชาชนบริจาคให้ ศทน. รวมเป็นเงิน ๔,๐๒๓,๑๐๖.๖๐ บาท ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๒๑
๘. วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๒ : ตั้งคณะกรรมการติดตามการสร้างฯ
นักศึกษา นักวิชาการ และตัวแทนองค์การพัฒนาเอกชน ที่ประสงค์จะให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชน ๑๔ ตุลา ได้ร่วมตัวกันในชื่อว่า "คณะกรรมการติดตามการสร้างอนุสรณ์สถานวีรกรรม ๑๔ ตุลาคม" โดยมีกรรมการ ๑๘ คน และได้มีการประชุมครั้งแรกในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๒ ที่ประชุมมีมติให้ ศ. ระพี สาคริก เป็นประธาน ศ. นิคม จันทรวิทุร และนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นรองประธาน
๙. วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ : คืนเงินบริจาค
คณะรัฐมนตรีมีมติให้คืนเงินบริจาค โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณปี ๒๕๓๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน ๔,๐๒๓,๑๐๖.๖๐ ให้ทบวงมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ร่วมกับนิสิตนักศึกษาตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
๑๐. วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๓ : ตั้งคณะกรรมการจัดสร้างฯ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ทบวงมหาวิทยาลัย
แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขึ้นแทนคณะกรรมการติดตามการสร้างฯ ตามข้อ ๘ แต่ยังคงมี ศ. ระพี สาคริก เป็นประธานกรรมการตามเดิม และมีกรรมการอื่นอีกรวมทั้งสิ้น ๒๒ คน |
|
|
|
๑๑. วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๓ : ก่อตั้งมูลนิธิ ๑๔ ตุลา
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติอนุญาตให้ตั้งมูลนิธิ ๑๔ ตุลา โดยในระยะเริ่มแรกมี ศ. ระพี สาคริก เป็นประธานมูลนิธิ และมีกรรมการอีก ๘ คน ที่ทำการของมูลนิธิฯ คือ ๓๒๘ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กทม. ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดย ศ. นิคม จันทรวิทุร เป็นประธานมูลนิธิจนถึงปัจจุบัน
๑๒. วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ : ขอให้สร้างอนุสรณ์สถานที่บริเวณสี่แยกคอกวัว
คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือและมีความเห็นว่า น่าจะพิจารณาสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ณ สถานที่เดิม (บริเวณสี่แยกคอกวัว) โดยคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์รับจะเจรจากับสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่อไป
๑๓. ประสบความสำเร็จในการขอเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ปี ๒๕๔๑ เป็นวาระครบรอบ ๒๕ ปีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน ๒๕ ปี ๑๔ ตุลา โดยนายธีรยุทธ บุญมี ประธานกรรมการ ร่วมกับบุคคลอีกหลายคน เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายธีรพล นิยม ได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์จากนายอานันท์ ปันยารชุน ให้เจรจาขอเช่าที่ดินบริเวณสี่แยกคอกวัวจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนประสบผลสำเร็จ
๑๔. การสร้างสถูปวีรชน ๑๔ ตุลา
มูลนิธิ ๑๔ ตุลา เห็นควรให้มีการสร้างสถูปรำลึกวีรชน ๑๔ ตุลา ตั้งไว้บริเวณอนุสรณ์สถาน โดยมีการจารึกชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ และมอบหมายให้นายธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้วางแนวคิดและรับผิดชอบการสร้าง นางสุโรจนา เศรษฐบุตร เป็นผู้ดำเนินการสร้าง และบริษัทแปลน แอสโซซิเอท จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานโครงสร้าง |
|
|
|
๑๕. วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ : ก่อสร้างแล้วเสร็จ / จัดงานฉลอง
ช่วงเช้า : พิธีสมโภชสถูปวีรชน ๑๔ ตุลาคม
ช่วงเย็น : พิธีเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาคม
การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาคม มีประวัติอันยาวนาน โดยมีการเสนอเรื่องผ่านคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง เพื่อให้เป็นการก่อสร้างโดยรัฐร่วมกับประชาชน มีรัฐบาลที่เห็นด้วย คือรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายอานันท์ ปันยารชุน, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
ผู้ประสานงานหลักของราชการ คือ ทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง
ผู้ที่อนุเคราะห์ให้เช่าที่ดินสำหรับการก่อสร้าง คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยการติดต่อประสานงานของนายอานันท์ ปันยารชุน
เงินที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากการบริจาคของประชาชน ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี ตุลา และยังมีเงินบริจาคจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ทบวงมหาวิทยาลัย และการบริจาควัสดุก่อสร้าง โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ๗ ตุลาคม ๒๕๔๔, โคทม อารียา |
|