สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

จากบรรณาธิการ

     ผมมีโอกาสไปเดินซื้อหนังสือในงานมหกรรมหนังสือและสื่อการศึกษาระดับชาติครั้งที่ ๖ ซึ่งจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา
     บรรยากาศอาจจะไม่ค่อยคึกคัก เท่ากับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัดกันในช่วงปิดภาคฤดูร้อนเดือนเมษายนของทุกปี 
     งานหนังสือระดับชาติเคยจัดที่คุรุสภา และถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม มีปัญหาเรื่องความแออัด อากาศก็ร้อน ห้องน้ำและที่จอดรถมีไม่มากพอ ต่อมาย้ายมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ค่อยได้รับความสะดวกมากขึ้น แม้จะเดินทางไปลำบากสักหน่อย สำหรับผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว แต่โดยรวมแล้ว ก็เป็นที่พอใจของผู้ซื้อนับหมื่นคน ที่หลั่งไหลไปชอปปิงหนังสือกันไม่ขาดสาย
     ผมสังเกตเห็นว่า การขายหนังสือในงานมีรูปแบบหลากหลายขึ้น มีตั้งแต่การตะโกนเรียกให้คนเดินเข้าร้าน เชิญนักเขียนมามอบลายเซ็นให้แก่ผู้อ่าน การเปิดตัวหนังสือออกใหม่อย่างเป็นทางการ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ที่พิมพ์ผลงานเล่มล่าสุดของคุณหมอพรทิพย์ ก็ให้พนักงานแต่งตัวเป็นหมอผ่าตัด สวมชุดเขียว มีผ้าคาดจมูก เดินถือป้ายโฆษณาหนังสือไปรอบ ๆ งาน บางร้านก็เอาแหม่มหน้าใส มายืนขายหนังสือไทย ก็ดูน่ารักไปอีกแบบ 
     แต่ที่ผมรู้สึกทึ่งก็คือ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งซึ่งพิมพ์หนังสือแปลจำหน่ายอยู่เล่มเดียว ได้ลงทุนว่าจ้างสาวรูปร่างหน้าตาน่ารัก แต่งตัวเซ็กซี่ในชุดกระโปรงสั้นสีทอง สวมรองเท้าส้นตึก ยืนโปรโมตหนังสือออกใหม่เล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของหนังสือ ไม่ได้เป็นเรื่องประเภทปลุกใจเสือป่า แต่เป็นหนังสือเยาวชน
     ผลก็คือ มีคนมามุงร้านหนังสือร้านนี้ตลอดเวลา แต่จะมุงดูคนขาย หรือมุงดูหนังสือก็ไม่ทราบแน่ชัด
     หากวิธีการนี้ประสบความสำเร็จ ปีหน้าเราคงได้เห็นพนักงานสาวแต่งตัวเซ็กซี่ ยืนขายหนังสือตามร้าน ไม่ต่างจากพริตตี้เกิร์ล ในงานมอเตอร์โชว์อย่างแน่นอน
       แต่อย่าลืมว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถูกบวกไว้ในราคาหนังสือเรียบร้อยแล้ว
     ผมสังเกตต่อไปว่า ปีนี้มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่มากมาย และมีหนังสือใหม่ ๆ จำนวนมากอวดโฉมบนแผงหนังสือ
     ที่น่าสนใจคือ สำนักพิมพ์ทั้งเก่าและใหม่ พากันพิมพ์หนังสือเนื้อหาแนวเดียวกัน หากไม่ใช่หนังสือที่เขียนโดยดารา นักร้อง และคนดังในวงการต่าง ๆ ก็จะเป็นหนังสือที่อาศัยสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ เช่นเรื่องของ บิน ลาเดน ในงานนี้น่าจะมีไม่น้อยกว่า ๑๐ ปก 
     การที่สำนักพิมพ์พิมพ์แต่หนังสือที่อยู่ในกระแส ทำให้สำนักพิมพ์ขาดแนวทาง ขาดบุคลิกที่ชัดเจนของตัวเอง 
     การผลิตหนังสือที่ขายได้ สำนักพิมพ์ไหน ๆ ก็ต้องการ แต่การผลิตหนังสือ ที่ขาดบุคลิกของสำนักพิมพ์เป็นเวลานาน ๆ ผมไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร
     สำนักพิมพ์หลายแห่งในอดีต ที่ยังยืนยงมาจนทุกวันนี้ เพราะมีแนวทางและบุคลิกหนังสือ ของตัวเองอย่างชัดเจน เป็นที่รู้จักและจดจำในหมู่นักอ่าน 
     หากเราสนใจหนังสืออาหาร คงนึกถึงสำนักพิมพ์แสงแดด สนใจแนวปรัชญา ความคิด คงนึกถึงสำนักพิมพ์เคล็ดไทย สนใจนวนิยายคงนึกถึงบูรพาสาส์น เป็นต้น
     อย่างไรก็ตาม บุคลิกที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงเนื้อหาเท่านั้น แต่การออกแบบหนังสือ ที่รวมตั้งแต่โลโก้สำนักพิมพ์ หน้าปก และรูปเล่มของหนังสือ ก็มีส่วนทำให้คนซื้อรู้ด้วยว่า บุคลิกของสำนักพิมพ์นั้นคืออะไร
     ลองหลับตานึกถึงหนังสือของสำนักพิมพ์ Penguin หรือ DK ที่ผลิตงานระดับโลก เราพอจะนึกถึงหน้าตาของหนังสือค่ายนี้ได้
     ลองหลับตานึกถึงหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่ผลิตงานวรรณกรรมเยาวชน เราก็จะนึกออกว่า หนังสือของสำนักพิมพ์นี้หน้าตาเป็นอย่างไร
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
๖๐ ปีเสรีไทย
     แต่มีสำนักพิมพ์จำนวนมาก ที่ไม่สามารถสร้างบุคลิกหนังสือของตัวเองได้ มิหนำซ้ำยังทุ่มไปกับการออกแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ ๆ ราคาแพง จนทำให้หนังสือดูเปรอะ และเพิ่มต้นทุนหนังสือให้สูงขึ้นโดยใช่เหตุ
     เพื่อนถามผมว่า ทำไมเดี๋ยวนี้หนังสือจึงแพงมาก ผมบอกไปตามความเห็นส่วนตัวว่า อันที่จริงผู้ผลิตหนังสือก็ไม่ได้กำไรมากขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตต่างหากที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าเทคนิคการพิมพ์ใหม่ ๆ ค่าส่งเสริมการตลาด ค่าเปิดตัวหนังสือ หรือค่าจ้างคนมาโฆษณาขายหนังสือ ตามวิถีทางการผลิตแบบบริโภคนิยม และต้นทุนเหล่านี้เอง ที่ผู้ผลิตต้องบวกไว้ในราคาหนังสือ
     งานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งนี้ ผมจึงเลือกซื้อหนังสือเก่าที่พิมพ์มาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี ราคาไม่กี่บาท พิมพ์สีเดียว เนื้อหาน่าอ่าน อันเป็นหนังสือในยุคที่มีต้นทุน เพียงค่าพิมพ์กับค่าลิขสิทธิ์คนเขียน ยังไม่มีต้นทุนอื่น ๆ อีกมากดังเช่นทุกวันนี้ 
     ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับที่หนังสือในยุคนี้ราคาแพง เพราะวงการหนังสือ ได้เข้าสู่การแข่งขันแบบทุนนิยมเต็มรูปแบบแล้ว

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com