ดร. จอร์จ วอล์ด ศาสตราจารย์วิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
"เทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามที่ยิ่งเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกร หรือสามารถลดการใช้แรงงานลงได้ จะยิ่งทำให้เกษตรกรบุกรุกถางป่า เพื่อให้ได้ผืนดินเพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น" สตีฟ วอสติ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนของเกษตรกร กับการบุกรุกทำลายป่าแอมะซอน จากตัวอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เรามุ่งหน้าเดินทางไปตามเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติพุเตย ในอดีตบริเวณพื้นที่รอบอุทยานแห่งนี้ เคยมีข่าวชาวบ้านบุกรุกป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูก และไม่นานมานี้ก็เริ่มมีข่าวว่า ชาวบ้านหลายรายกำลังปลูกฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งทางการยังไม่อนุญาตให้ทำการเพาะปลูกได้ ราว ๒๐ กว่าปีก่อน จังหวัดสุพรรณบุรี เคยเป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่สำคัญของประเทศ ในเวลานั้นประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกฝ้ายประมาณ ๑ ล้านไร่ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง ๒-๓ แสนไร่ จากปัญหาโรคหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องพ่นยากำจัดศัตรูฝ้าย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้งต่อหนึ่งรอบการปลูก เมื่อต้นทุนในการปลูกฝ้ายสูงขึ้น ชาวบ้านจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่ได้กำไรมากกว่า อาทิ ข้าวโพด จนกระทั่งสองสามปีที่ผ่านมา ฝ้ายเริ่มกลับมาได้รับความนิยมจากบรรดาชาวไร่อีกครั้ง สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ข้าวโพด และพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ชาวไร่ปลูกกันอยู่ก่อนหน้านั้น ราคาตกต่ำลง แต่สาเหตุหลัก ๆ นั้นเชื่อว่ามาจาก "ฝ้ายเทวดา" ที่เล่าลือกันว่า "หนอนไม่กิน" ชาวบ้านไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายที่ว่านี้มีชื่อพันธุ์ว่าอะไร ใครผลิต มีเพียงคำอวดสรรพคุณของพ่อค้าที่ว่า หากปลูกฝ้ายพันธุ์นี้แล้ว จะไม่มีหนอนมาเจาะสมอฝ้ายอีก ถุงที่ใส่เมล็ดฝ้ายก็เป็นถุงเปล่าไม่มีชื่อยี่ห้อใด ๆ ชาวบ้านจึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า ฝ้ายพันธุ์หนอนไม่กิน ฝ้ายพันธุ์หนอนไม่กินคือฝ้ายบีที ซึ่งเป็นฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม บริษัทผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์คือบริษัทมอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่อนุญาต ให้ทางบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ฝ้ายชนิดนี้ได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อนุญาตให้ทดลองปลูกในแปลงทดสอบ ตามสถานีทดลองพืชไร่ได้ มอนซานโต้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จัดเป็นบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก แต่เป็นบริษัทผลิตยากำจัดวัชพืชอันดับ ๑ ของโลก โดยมียากำจัดวัชพืชยี่ห้อ "ราวด์อัพ" เป็นสินค้าขายดีที่สุด เมื่อปีที่ผ่านมา ราวด์อัพมียอดขายสูงถึง ๒.๖ พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ ๑๑๗,๐๐๐ ล้านบาท เกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดของมอนซานโต้ และในปัจจุบันมอนซานโต้ กำลังส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลก หันมาสนใจเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ
GMOs เป็นตัวย่อของคำว่า genetically modified organisms แปลว่า สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลง หรือตกแต่งสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการเปลี่ยนรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติ ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ก่อนจะรู้จักจีเอ็มโอ คงต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวของพันธุกรรมกันเสียก่อน พระเอกในเรื่องนี้มีอยู่สองตัวคือ ยีนและดีเอ็นเอ ยีนคือคำสั่งให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะตามพันธุ์ของมัน หรืออาจจะเรียกว่า ยีนคือหน่วยพันธุกรรม ที่ถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน และอยู่ในรูปของสารเคมี ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อของ ดีเอ็นเอ ยีนจะเป็นตัวการสั่งสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะสร้างและผลิตอะไรออกมา สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีมวลสารดีเอ็นเอ และจำนวนยีนแตกต่างกัน เช่น แบคทีเรียมียีนประมาณ ๔,๐๐๐ ยีน แมลงหวี่ ๒ หมื่นยีน พืชชั้นสูง ๓-๕ หมื่นยีน และมนุษย์ประมาณ ๑ แสนยีน มวลสารดีเอ็นเอและจำนวนยีน จึงเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละพันธุ์ ความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับดีเอ็นเอ เป็นเรื่องค่อนข้างเข้าใจยาก จึงมีการเปรียบเปรยให้ใกล้เคียงว่า หากเรากำลังฟังเพลงซิมโฟนีหมายเลข ๕ ของบีโธเฟน พึงระลึกเสมอว่า ดีเอ็นเอก็เปรียบเสมือนตัวโน้ตจำนวนมาก บนแผ่นกระดาษที่นักดนตรีใช้บรรเลง และยีนก็เปรียบเสมือนบทเพลงที่เราได้ยิน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้ยินเสียงเพลงหรือยีนผ่านตัวโน้ตต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างทางดนตรีชัดเจน โครงสร้างของดีเอ็นเอมีลักษณะเป็นสายเกลียวคู่ คล้ายบันไดเวียนที่แต่ละขั้นเป็นตัวอักษรแต่ละตัว เมื่อยีนทำงาน กลไกของเซลล์จะอ่านรหัสในดีเอ็นเอ แล้วแปลออกมาเป็นการผลิตโปรตีนต่าง ๆ โปรตีนบางตัวเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต บางตัวเป็นตัวทำหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเซลล์ เช่นย่อยอาหาร สร้างส่วนประกอบอื่น ๆ ของเซลล์ ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม การที่ยีนแต่ละตัวมีหน้าที่เฉพาะ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตัดต่อยีนแต่ละตัวออกมาจากสิ่งมีชีวิต และนำเข้าไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกลไกในการทำให้ยีนจากที่อื่น สามารถทำงานได้เช่นเดียวกัน วิธีการดังกล่าวนี้เรียกว่า "พันธุวิศวกรรม" อันเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวภาพ
"ความแตกต่างสำคัญระหว่างการปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยวิธีดั้งเดิมกับการดัดแปลงพันธุกรรมก็คือ ในการดัดแปลงพันธุกรรม มีการนำพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจากพืช สัตว์ แบคทีเรีย หรือไวรัส มาใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง กระบวนการเช่นนี้ ไม่มีวันเกิดขึ้นในธรรมชาติ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรม และการปฏิบัติในใจข้าพเจ้า "เราแทบจะไม่ทราบผลกระทบระยะยาว ของการปลูกพืชจีเอ็มโอ ที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือต่อสิ่งแวดล้อม แม้พวกเราจะได้รับการยืนยันว่า ได้มีระเบียบและขั้นตอนในการทดสอบพืชเหล่านี้อย่างเข้มงวดแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ขั้นตอนในการประเมินผลกระทบของจีเอ็มโอ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าพืชเหล่านี้ปลอดภัย เว้นแต่จะมีการแสดงให้เห็นว่า พืชชนิดนี้ไม่ปลอดภัย "เรามีความจำเป็นต้องใช้จีเอ็มโอหรือไม่ เทคโนโลยีได้สร้างประโยชน์มากมายให้มนุษย์ แต่มันก็มีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องละเอียดอ่อน เช่น อาหาร สุขภาพ และอนาคตของสิ่งแวดล้อม ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราควรจะหยุดก่อน เพื่อตอบคำถาม... หลักการเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และกฎระเบียบแต่เพียงอย่างเดียว ข้าพเจ้าโดยส่วนตัวไม่ต้องการที่จะกิน สิ่งที่เป็นจีเอ็มโอ และไม่อยากเสนออาหารนี้ให้ครอบครัว แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้ในทางปฏิบัติ ถ้าปราศจากกลไกที่จะจำแนกแยกแยะ ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอด้วยฉลากที่ระบุชัดเจน ในทุกขั้นตอนของการผลิตอาหาร" เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร เดอะอีโคโลจิสต์ ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๑ ที่ผ่านมา การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงนั้น เกษตรกรจะใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์ โดยการนำพันธุ์พืชที่มีความต้านทานโรคและแมลง แต่อาจจะให้ผลผลิตไม่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ตามป่า มาผสมกับพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง แต่อ่อนแอไม่ค่อยต้านทานโรคและแมลง การปรับปรุงพันธุ์ในลักษณะนี้ ลูกผสมที่ได้ จะมีลักษณะหลากหลาย ต้องเสียเวลาคัดเลือกพันธุ์ต่ออีกอย่างน้อย ๘-๑๐ ปี กว่าจะได้พันธุ์ต้านทาน และมีลักษณะอื่นที่ดีด้วย
"คุณเห็นใบมะละกอใบนี้ไหม ใบจะด่างและหดเรียว เขาเรียกว่าโรคใบด่างจุดวงแหวน คราวนี้ลองมาสังเกตดูลูกมะละกอ จะเห็นเป็นรอยวง ๆ ด่าง ๆ ช้ำ ๆ ถ้าเป็นโรคมากมันจะกินลึกเข้าไปในเนื้อเป็นไต ๆ จนต้องปอกทิ้ง แต่คนกินไม่เป็นอันตราย มันทำลายเฉพาะพืชเท่านั้น โรคนี้ระบาดไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง บางแห่งปลูกไม่ได้เลย ทุกวันนี้ไม่มียากำจัด ต้องฟันต้นทิ้งอย่างเดียว" ดร. สุณี เกิดบัณฑิต หนึ่งในคณะผู้วิจัยแห่งสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้ดูต้นมะละกอที่เป็นโรคใบด่างจุดวงแหวน บริเวณแปลงทดลอง ชาวสวนมะละกอรู้จักโรคใบด่างจุดวงแหวนกันเป็นอย่างดี โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ring Spot Virus) หรือเชื้อไวรัสพีอาร์เอสวี แพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ มันทำให้มะละกอแคระแกร็น ใบด่าง ผลผลิตตกต่ำ เนื้อมะละกอเป็นจุด และปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์มะละกอธรรมชาติพันธุ์ใด ที่ต้านทานการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นมะละกอพันธุ์แขกดำ หรือพันธุ์แขกนวล ซึ่งเป็นพันธุ์ยอดนิยมของชาวไร่ "ทุกวันนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะละกอประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีผลผลิตรวมปีละกว่า ๓ แสนตัน และมะละกอส่วนใหญ่ ก็ถูกรบกวนจากโรคใบด่างจุดวงแหวน ต่างประเทศเขาประสบความสำเร็จ ในการนำยีนจากเปลือกไวรัส มาใช้ในการสร้างมะละกอข้ามสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้ได้ เราก็คิดว่าคนไทยเองน่าจะใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม สร้างมะละกอต้านทานโรคไวรัสชนิดนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นโครงการวิจัยจึงได้เริ่มขึ้นจากการศึกษายีนเปลือกไวรัส ของไวรัสใบด่างจุดวงแหวน ที่พบระบาดในจังหวัดราชบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ และชลบุรี แล้วนำยีนเปลือกไวรัสชนิดนั้น มาสร้างมะละกอข้ามสายพันธุ์ ซึ่งสามารถต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวนได้" ดร. สุณีให้คำอธิบายขณะพาเราเดินเข้าไปในแปลงทดลองต้นมะละกอจีเอ็มโอ ที่มีรั้วรอบขอบชิด ต้นมะละกอในแปลงอายุได้ประมาณ ๗ เดือน และไม่พบลักษณะใบด่างเหมือนต้นมะละกอที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ "เราใช้เวลาทดลองสร้างพันธุ์ต้านทานโรคชนิดนี้มานาน ๗ ปี โดยการนำยีนของไวรัส ที่เป็นเชื้อใส่เข้าไปในมะละกอ จากนั้นปลูกเลี้ยงหลาย ๆ ต้น แล้วนำลูกหลานของต้นที่มีความต้านทานนั้น มาปลูกเลี้ยงต่อ ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ"
ภายในห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ อันเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวอย่างพืชผล หรืออาหารแปรรูปว่ามาจากกระบวนการตัดต่อยีน โดยใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอหรือไม่ เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทางบริษัทผู้ผลิตส่งเข้ามา อย่างขะมักเขม้น ทุกวันนี้ทางสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่ยอมรับอาหารจีเอ็มโอ ได้ประกาศออกมาว่า อาหารที่จะนำเข้า ต้องระบุให้ชัดเจนว่าปลอดจีเอ็มโอ มิเช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้นำเข้าไปจำหน่าย ส่งผลให้บริษัทผู้ส่งออกอาหารในประเทศไทย ต้องมาใช้บริการของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอแห่งนี้เพิ่มขึ้น ในปี ๒๕๔๒ ปลาทูน่ากระป๋องของไทย ถูกกักที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และกรีก เนื่องจากเป็นปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งอาจเป็นจีเอ็มโอ ต่อมาบริษัทดอยคำผู้ผลิตแป้งถั่วเหลืองดอยคำ ก็ถูกประเทศเยอรมนีปฏิเสธการนำเข้า โดยกล่าวหาว่าถั่วเหลืองที่นำมาทำแป้ง เป็นพืชจีเอ็มโอ ปี ๒๕๔๓ ทางการซาอุดีอาระเบีย สั่งห้ามนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง และในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอจากทั่วโลก ที่ไม่ติดฉลากจีเอ็มโอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ ทั้งนี้แต่ละปี ไทยส่งอาหารไปขายยังซาอุดีอาระเบีย เป็นมูลค่ากว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ด้วยเหตุนี้สินค้าไทยที่ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่จึงต้องการใบรับรองว่า สินค้าของบริษัทตนปลอดจากจีเอ็มโอ "ช่วงนี้มีบริษัทส่งอาหารเข้ามาให้ตรวจเยอะมาก ตั้งแต่ไวน์ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ แป้ง เต้าหู้ กากถั่วเหลือง ข้าวโพด อาหารสัตว์ กะทิกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันถั่วเหลือง เรียกได้ว่าตอนนี้ตรวจกันแทบทุกอย่าง เพราะผู้ซื้อจากเมืองนอก คาดว่าในกระบวนการผลิต อาจจะมีการปนเปื้อน จึงต้องมีใบรับรองว่า อาหารเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ปลอดจากจีเอ็มโอ" ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอ กล่าวกับเราภายหลังพาไปชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บ "ตัวอย่างที่ส่งมาถ้าเป็นวัตถุดิบก็ตรวจง่าย แต่ถ้าเป็นพวกแป้ง กากถั่วเหลืองจะตรวจยากขึ้น ยิ่งเป็นน้ำมัน อย่างปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันถั่วเหลืองยิ่งตรวจยากใหญ่ สมัยก่อนตรวจไม่ได้ ประเทศในยุโรปก็ไม่ซื้อเลย แต่เดี๋ยวนี้เราตรวจได้แล้ว ถ้ามีใบรับรองว่าปลอดจีเอ็มโอก็ไม่มีปัญหา" ทุกวันนี้มีหลายประเทศ ที่ยังไม่มั่นใจว่าอาหารที่ปนเปื้อนด้วยพืชจีเอ็มโอนั้น จะเป็นอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคจริงหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้
สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BOI THAI