สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันในเปชะวา (Peshawar)
ชายแดนปากีสถาน

เรื่อง : เอริก อัลเบิร์ต 
ภาพ : ปิยะวิทย์ ทองสอาด 
แปลและเรียบเรียง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
 
       ผมค่อนข้างช็อก เมื่อนักข่าวชาวอิตาเลียนคนหนึ่งบอกผมว่า กลุ่มชาวอิสลามจะจัดให้มีการแถลงข่าวย่อย ๆ ขึ้นในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ในที่สุด ณ กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน เมืองที่ไม่ค่อยจะมีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในเหล่าข้าราชการของรัฐ ก็มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก ไม่ใช่การประท้วงหรือการจลาจล เป็นเพียงการแถลงข่าวเท่านั้น 
คลิกดูภาพใหญ่      ผมยิ่งแปลกใจมากขึ้น เมื่อเดินเข้าไปในห้องแถลงข่าวในเมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) เมืองคู่แฝดของกรุงอิสลามาบัด เพราะในนั้นแออัดยัดเยียดไปด้วยนักข่าวต่างประเทศราว ๑๐๐ คน กล้องวิดีโอสิบกว่าตัวตั้งเรียงรายอยู่ที่ด้านหลังของห้อง หันหน้ากล้องไปที่ชายไว้หนวดเคราจำนวนหนึ่ง
     สักครู่ ชายสูงอายุไว้หนวดเครายาวคนหนึ่ง แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของปากีสถาน ก็จำเป็นต้องเดินข้ามช่างภาพคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนพื้น ชายผู้นี้เดินวนอยู่รอบ ๆ เก้าอี้ที่ขวางทางเดินไปยังเวทีขนาดย่อม เพื่อหาทางเดินไปรวมตัวกับพรรคพวกคนอื่น ที่ยืนรออยู่ต่อหน้ากลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมาก เป็นไปตามคาดหมาย นายมูลเลาะห์ ซาเมล ฮัค ประธานสภาอัฟกัน กำลังจะกล่าวแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ ที่อเมริกาใช้ปฏิบัติการทางการทหารต่ออัฟกานิสถาน เขากล่าวว่า "วันศุกร์นี้ ผู้นำทางศาสนาและการเมืองทั้งหมด จะทำการเรียกร้องให้มีการชุมนุมทั่วปากีสถาน" เมื่อล่ามแปลภาษาเริ่มแปลผิด ๆ ถูก ๆ ความสับสนต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นในห้องแถลงข่าว นักข่าวต่างชาติพยายามที่จะยิงคำถามแบบตรงประเด็น ซึ่งยิ่งเพิ่มความสับสนเข้าไปอีก 
     กรุงอิสลามาบัดช่างไม่ใช่เมืองที่เราควรจะอยู่เลย หลังการประท้วงย่อย ๆ ในวันศุกร์ซึ่งว่าไปแล้วค่อนข้างจะประสบความล้มเหลว ผมก็ตัดสินใจมุ่งหน้าไปทางตะวันตกสู่ เปชะวา (Peshawar) เมืองชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ห่างจากพรมแดนราว ๓๐ กิโลเมตร หนึ่งเดือนหลังการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้กลับกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมืองเปชะวามีประชากรราว ๓ แสนคน ยังไม่รวมประชากรแถบชานเมืองและผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพ ร้อยละ ๖๐ ของประชากรที่นี่เป็นชาวอัฟกันที่ลี้ภัยสงคราม ในประเทศของตนเข้ามา ประชาชนในเมืองเปชะวา เป็นผู้ที่ได้เห็นการทำสงครามในอัฟกานิสถานมาตลอด ๒๒ ปีที่ผ่านมา เปชะวาเป็นที่พำนักให้แก่ผู้อพยพชาวอัฟกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๙ ในช่วงที่สหภาพโซเวียต ส่งกองกำลังเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้นำคนใหม่ของอัฟกานิสถาน ดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศ โน้มเอียงไปทางตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ต่อมาในช่วงการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ (จีฮัด) ซึ่งเป็นการทำสงครามต่อต้านการรุกราน ของสหภาพโซเวียต โดยกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนในอัฟกานิสถาน เมืองเปชะวาถูกใช้เป็นฐานที่มั่น ของนักรบมูจาฮีดีนกลุ่มต่าง ๆ โดยมีหน่วยซีไอเอของอเมริกา และหน่วยสืบราชการลับของปากีสถาน คอยให้การหนุนหลังอยู่ เรียกได้ว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังนักรบมุสลิมเหล่านี้ เพื่อทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต ตั้งแต่นั้นมา เมืองที่เหมือนต้องคำสาปแห่งนี้ ก็เป็นที่รองรับผู้อพยพลี้ภัย ซึ่งหนีการสู้รบของมู จาฮีดีนกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงแรก ต่อมาก็หนีพวกตาลีบัน และเมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ต้องอพยพหนีภัยความอดอยากและแห้งแล้ง ในอัฟกานิสถานที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 
คลิกดูภาพใหญ่

     แน่นอนว่าสถานที่ที่น่าสนใจที่สุดที่ควรจะไปบันทึกเรื่องราวและภาพถ่าย คือค่ายผู้ลี้ภัยในปากีสถาน แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ เจ้าหน้าที่ของปากีสถานบอกผมว่า จะต้องขออนุญาตก่อน ผมเกลียดคำนี้เหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ผมทำเรื่องขออนุญาต เพื่อเดินทางไปยังพรมแดนปากีสถาน และอัฟกานิสถาน วันนั้นเป็นวันแรกของผมที่เปชะวา การตรวจสอบเริ่มขึ้นที่หน้าด่านซึ่งมีนักข่าวจำนวนหนึ่งรออยู่แล้ว ผ่านจากที่นี่ เราก็ต้องเข้าไปในอาคารหลังเล็กซึ่งมีนักข่าวราว ๑๐ กว่าคนรออยู่เช่นกัน
     "ขอสำเนาพาสปอร์ตของคุณด้วยครับ" เจ้าหน้าที่บอกผม
     "ถ้าไม่มีคุณต้องเสียเงิน ๓๐ รูปี (๒๐ บาท)"
     จากนั้นการรอคอยอันยาวนานก็เริ่มต้นขึ้น ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น พยายามที่จะเริ่มบทสนทนา ขณะที่ตากล้องชาวฝรั่งเศส ก็เริ่มก่อกวนเจ้าหน้าที่ โดยหวังว่าจะช่วยเร่งการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น หลังจากหนึ่งชั่วโมงกว่าผ่านไป ชายหัวล้านคนหนึ่งก็เชิญผมเข้าไปในห้อง เขานั่งลงหน้าเครื่องพิมพ์ดีดเก่า ๆ แล้วเริ่มถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผม 
     "ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร" 
     หลังจากใช้เวลาไปกว่า ๒๐ นาทีด้วยการพิมพ์ดีดที่แสนเชื่องช้า เขาก็พร้อมที่จะเซ็นเอกสารให้ผม... แต่... นั่นก็เป็นเวลาเดียวกับที่เขาจะต้องละหมาดพอดี
     ผมต้องเสียเวลารอไปอีกหนึ่งชั่วโมง กว่าจะได้เอกสารสำคัญพร้อมลายเซ็นของเขา เพียงเพื่อที่จะรับรู้ว่าผมจะต้องไปยังอีกห้องหนึ่ง เพื่อขอเอกสารใหม่อีก หลังจากนั่งรอในห้องพร้อมตอบคำถาม "ชื่อ ? อายุ ? อาชีพ ?" ได้เอกสารชุดใหม่แล้วเดินไปอีกห้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อ พร้อมกับคำถามเดิม ๆ "ชื่อ ? อายุ ? อาชีพ ?" แล้วกลับมาที่ห้องแรกอีกเพื่อประทับตรา ผมก็ถูกส่งไปยังห้องที่ ๓ คราวนี้ผมได้รับคำถามใหม่

คลิกดูภาพใหญ่      "เจ้าหน้าที่ที่มากับคุณอยู่ที่ไหน ?"
     "ใครนะ ?" ผมถามกลับไป
     "เจ้าหน้าที่น่ะ คุณต้องมีเจ้าหน้าที่ไปกับคุณด้วย" เขาตอบ 
     โชคยังดี ไม่ได้มีผมคนเดียว ที่ยืนจ้องเขากำลังเคี้ยวอาหารอยู่หน้าจอทีวี เขาจึงตกลงจัดเจ้าหน้าที่ให้ไปกับเราหนึ่งคนต่อรถแต่ละคันด้วยความไม่เต็มใจนัก เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นทหารที่ยังอายุน้อย มีปืนไรเฟิล kalashnikov (ปืนไรเฟิลชนิดหนึ่ง ผลิตในรัสเซีย) อายุหลายทศวรรษเป็นอาวุธ รวมเบ็ดเสร็จ ผมเสียเวลาไป ๕ ชั่วโมง เดินไปมาอยู่ ๓ ห้อง พบเจ้าหน้าที่ ๕ คน เพียงเพื่อจะให้ได้จดหมายรับรองที่มีตราประทับที่ถูกต้อง
     ด้วยประสบการณ์อันน่าเบื่อเช่นนี้ ทำให้ผมไม่อยากจะขออนุญาตอีกครั้ง เพื่อเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยเลย แต่ผมก็ไม่มีทางเลือก ปรากฏว่าคราวนี้เราไม่ต้องรอนานเหมือนครั้งก่อน เพราะผู้คุมไม่อนุญาตให้ผมและช่างภาพเข้าไปในอาคารด้วยซ้ำ เราจึงยอมแพ้เมื่อรออยู่ข้างนอกได้เพียง ๒ ชั่วโมง เราตัดสินใจเดินทางไปยัง Azakhel ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันอาศัยอยู่ราว ๑ แสนคน และอยู่ไม่ห่างจากเมืองเปชะวานัก ปัจจุบันนี้ Azakhel ไม่ได้เป็นเพียงค่ายผู้ลี้ภัยอีกต่อไป เพราะผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว เมื่อพวกเขามาถึงที่นี่ครั้งแรก พวกเขายังต้องพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง ๔๕ องศาเซลเซียสในฤดูร้อน และต่ำกว่า ๐ องศาเซลเซียสในฤดูหนาว แต่ปัจจุบันความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น อย่างเช่นน้ำ แม้ว่าจะไม่ได้มีให้ใช้ภายในบ้าน แต่ก็หาได้ทั่วไปตามบ่อน้ำในหมู่บ้าน องค์กรเอกชนบางส่วนเปิดสอนหนังสือให้โดยไม่คิดเงิน บ้านแต่ละหลังมีพัดลมคอยช่วยบรรเทาความร้อน นอกจากนี้ยังมีระบบระบายน้ำเสียด้วย โดยรวมแม้จะไม่สุขสบายนัก แต่ก็ค่อนข้างจะดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีแรก ๆ 
...............................
คลิกดูภาพใหญ่      "ตอนที่ผมมาถึงปากีสถานครั้งแรก ผมคิดว่าจะอยู่แค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น" ราฮีมูลเลาะห์ ชายชราอายุ ๖๐ ปี ไว้เครายาวสีขาว เล่าให้ฟัง จนถึงวันนี้ เขาอยู่ที่นี่เป็นปีที่ ๒๒ แล้ว ขณะจัดแจงหาชาเขียวรสหวาน เพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ชายผู้นี้ก็ใช้เวลาอยู่กับพวกเรา เท่าที่ชายชราผู้ผ่านโลกมามาก และหัวหน้าหมู่บ้านพึงจะกระทำได้ในดินแดนแห่งนี้ 
     "ผู้คนที่นี่มีน้ำใจมาก" นักข่าวอเมริกันที่อยู่ในปากีสถานกล่าวยืนยัน
     "พวกเขารู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับพวกคุณด้วยชา แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็อาจรู้สึกยินดีที่ได้ฆ่าคุณด้วยเช่นกัน"
     ได้ยินดังนี้ผมจึงสัมภาษณ์ราฮีมูลเลาะห์อย่างระมัดระวัง ซึ่งเขาก็ยินดีตอบทุกคำถามของผมโดยไม่ขัดข้อง
     "ใช่ พวกเราให้การสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน" เขากล่าว
     "อย่างน้อย ตาลีบันก็นำความสงบสุขมาสู่อัฟกานิสถาน" 
     ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๔ ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มตาลีบันเริ่มต้นขึ้น อัฟกานิสถานก็แทบจะเป็นพังพินาศย่อยยับโดยสิ้นเชิง เพราะสงครามกลางเมืองระหว่างมูจาฮีดีนกลุ่มต่าง ๆ การข่มขืน ฆาตกรรม ปล้นจี้ เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปรกติ 

คลิกดูภาพใหญ่      ในช่วงนั้นมีการจัดตั้งและฝึกฝนนักเรียนศาสนามากขึ้น (Talib-ตาลิป หมายถึง นักเรียนศาสนา ส่วน Taliban-ตาลีบัน หมายถึงกองทัพนักรบตาลีบันหรือกองทัพนักเรียนศาสนา) นักเรียนเหล่านี้ยึดมั่นกับความมีวินัยและเด็ดเดี่ยว และด้วยเวลาเพียงสองปี พวกเขาก็สามารถยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้ (ในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙) และในที่สุดก็สามารถครอบครองพื้นที่ร้อยละ ๙๕ ของอัฟกานิสถาน
     "แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าพวกเราจะไปร่วมสู้รบเพื่อปกป้องพวกเขาหรือไม่" ราฮีมูลเลาะห์กล่าวเพิ่มเติม 
     และนี่คือคำถามที่สำคัญที่สุด : ชาวอัฟกันที่อยู่ในปากีสถานส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนพวกตาลีบันก็จริง แต่...พวกเขาพร้อมที่จะไปร่วมสู้รบหรือไม่ ? พวกเขาพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อสงครามของโอซามา บิน ลาเดน หรือไม่ ? 
     คำตอบนี้น่าจะค้นหาได้จากสถานที่สองแห่งในเปชะวา
     แห่งแรกคือที่สำนักสอนศาสนาอิสลามในปากีสถาน ซึ่งมีอยู่ราว ๒๐๐ แห่งในเปชะวา ทุก ๆ เช้า นักเรียนศาสนา ๒๕๐ คนของสำนัก Darul-Aloom Islamia จะตื่นนอนก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แต่ละกลุ่มมีประมาณ ๓๐ คน ประกอบด้วยวัยรุ่นอายุระหว่าง ๑๒-๒๐ ปี พวกเขาจะนอน ละหมาด เรียน และกินอาหารในห้องเดียวกัน ไม่มีเตียงนอน ไม่มีโต๊ะ มีเพียงพรมปูพื้น ร้อยละ ๖๐ ของนักเรียนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน เหตุผลที่เด็กเหล่านี้มาอยู่ในโรงเรียนหรือสำนักแห่งนี้ก็เพราะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน มีที่อยู่และอาหารให้พร้อม มีนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวหาโรงเรียนเหล่านี้ว่า เป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนพวกตาลีบัน 
คลิกดูภาพใหญ่      มูลเลาะห์ โมฮาเหม็ด ฮาเจด ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ปฏิเสธคำกล่าวหานี้อย่างเต็มปากนัก เขาบอกว่า 
     "พวกเราสอนเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่หากนักเรียนอยากจะไปร่วมสู้รบด้วย เราก็ห้ามพวกเขาไม่ได้" 
     อีติชฮาม นักเรียนคนหนึ่ง อายุ ๑๘ ปี เห็นด้วย เขาใฝ่ฝันที่จะเข้าร่วมในค่ายฝึกในอัฟกานิสถาน แต่ก็ยังลังเลอยู่เพราะเขายังไม่ได้ขออนุญาตพ่อแม่ แต่ถ้าหากเขาได้ไปจริง ๆ เด็กชายท่าทางสุภาพขี้อายคนนี้ก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นเครื่องสู้รบอย่างสมบูรณ์แบบ
     สถานที่อีกแห่งที่จะให้คำตอบได้คือ ในการประท้วงเมื่อวันศุกร์ซึ่งมีประชาชนไม่เกิน ๓,๐๐๐ คนมาร่วมเดินขบวน หลายคนในกลุ่มผู้ประท้วงมีอาการโกรธเกรี้ยวมาก 
     "ผมไปอยู่ที่อัฟกานิสถานเป็นเวลาสามเดือนเพื่อเข้าร่วมฝึก" ริฟาดัลเลาะห์คุยให้ฟัง 
     "ถ้าอเมริกาโจมตีเมื่อไหร่ เราจะไปสู้" เขาบอกกับเราหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่อเมริกาจะโจมตีอัฟกานิสถานครั้งแรก
     "พวกเราพร้อมแล้ว" เพื่อน ๆ ของเขากล่าวสมทบ

     กว่าหนึ่งสัปดาห์หลังอเมริกาเริ่มโจมตี แทบจะไม่มีรายงานว่ามีชาวอัฟกันหรือปากีสถานเข้าร่วมการทำสงคราม แต่การตอบโต้ของชาวอัฟกันก็ยังคงมีความเป็นไปได้ เพราะมีชาวอัฟกันถึง ๒ ล้านคนลี้ภัยอยู่ในปากีสถาน และคนส่วนใหญ่ก็ไม่พอใจอเมริกา แม้เอาเข้าจริงอาจมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ แต่เท่านั้นก็อาจเพียงพอที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามในอนาคต