สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๓ เดือน มกราคม ๒๕๔๕ "Alien Species การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๓ เดือน มกราคม ๒๕๔๕
 กลับไปหน้า สารบัญ

ควิเบก
ฝรั่งเศสแห่งอเมริกาเหนือ

เรื่องและภาพ โดย กิตติกานต์ อิศระ
 
       ควิเบกเป็นดินแดนที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของทวีปอเมริกาเหนือ หรือแม้แต่มณฑลอื่นๆ ของแคนาดา ความต่างนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ภาษาพูด แต่ยังรวมไปถึงสภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม และความคิด 
     ความแตกต่างเหล่านี้มีที่มา และได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรง ถึงขนาดที่ชาวควิเบก
ส่วนหนึ่งคิดถึงการทำทุกอย่าง เพื่อแยกตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดา

(คลิกดูภาพใหญ่)

     พายุฝนหลงฤดูทำให้อากาศช่วงเวลาตีสี่ ปลายฤดูใบไม้ผลิ ที่สถานีขนส่งของเมืองควิเบก หนาวจับขั้วหัวใจ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเย็นยะเยือกมากขึ้นเมื่อรู้ว่า ภาษาฝรั่งเศสในระดับงู ๆ ปลา ๆ ของผมไม่เพียงพอที่จะสื่อสารกับยามหน้าสถานี เพื่อขอเข้าไปนั่งข้างในได้ 
     สิ่งที่ทำได้ระหว่างรอให้สถานีเปิดตอนตีห้า คือ หาที่นั่งในซอกตึก เพื่อหลบสายฝนและลมหนาว ที่พัดกระหน่ำมาไม่ขาดระยะ และคิดถึงคำถามที่เหล่าคนขับรถชาวแคนาดาผู้อารี (และใจกล้าพอที่จะรับคนโบกรถแปลกหน้าให้อาศัยมา) มักจะถามเสมอเมื่อรู้ว่า ผมจะเดินทางผ่านไปทางควิเบก 
     "พูดฝรั่งเศสได้หรือเปล่า"
     ครั้งแรก ๆ ที่ได้ยินคำถามนี้ ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร คงเป็นแค่เรื่องชวนคุย เพื่อฆ่าเวลา เพราะเท่าที่รู้มา แคนาดาเป็นประเทศที่ใช้สองภาษา คือ อังกฤษกับฝรั่งเศส และตลอดช่วงสัปดาห์ที่โบกรถจากเซนต์ สตีเฟน เมืองติดชายแดนสหรัฐอเมริกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคนาดา ถึงเฟรเดอริกตัน เมืองหลวงของมณฑลนิวบรันสวิก (New Brunswick) ผมก็พบแต่คนที่พูดภาษาอังกฤษมาโดยตลอด และเมื่อลองย้อนถามกลับไป กว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ และไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำ
     "มันเป็นภาษาที่กำลังจะหมดความสำคัญ ถ้าให้ผมเลือกเรียนภาษาต่างประเทศ ผมเลือกภาษาสเปนดีกว่า โลกนี้มีคนพูดภาษาสเปนเป็นร้อยๆ ล้านคน คุณคิดดูสิ ในสเปน ในอเมริกาใต้ หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็มีคนพูดภาษาสเปนเป็นภาษาหลักกว่า ๓๐ ล้านคน" นักศึกษาด้านดนตรีคนหนึ่งบอก

       "...แต่ไม่ใช่ที่ ควิเบก*๑ คนขับรถบรรทุกที่พาผมมาส่งที่สถานีขนส่งพูดให้ฟัง “ที่นั่น ผู้คนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาตั้งรกรากเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีก่อน และคุณอาจจะไม่เชื่อว่า มีชาวควิเบกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ"
.......................................................................
*๑ คนท้องถิ่น ออกเสียงชื่อเมืองนี้ว่า เกแบ็ก
.......................................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)      ควิเบก (Quebec) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของแคนาดา และเป็นมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา โดยมีเนื้อที่ราว ๑.๕ ล้านตารางกิโลเมตร และได้ชื่อว่าศูนย์กลางของผู้ที่พูดภาษาฝรั่งเศส ในทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากประชากรประมาณ ๗๕ % จากจำนวน ๗ ล้านคนของมณฑลแห่งนี้ ใช้ภาษาฝรั่งเศสในชีวิตประจำวัน ต่างจากมณฑลอื่นๆ ในแคนาดาที่ใช้ภาษาอังกฤษ มณฑลแห่งนี้มีเมืองหลวงชื่อ ควิเบกซิตี้ (Quebec City) ซึ่งเป็นทั้งเมืองท่า และหนึ่งในเมืองที่มีความเป็นมายาวนานที่สุด ในทวีปอเมริกาเหนือ จากการเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวอินเดียน และเป็นบริเวณที่นักบุกเบิกชาวฝรั่งเศส ได้เข้ามาตั้งชุมชนถาวรขึ้น เป็นแห่งแรกในแคนาดา ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๖๐๘ คำว่า ควิเบก มาจากคำว่า Kebec ในภาษาอินเดียนเผ่าอัลกอนเคียน (Algonkian) ที่แปลว่า "ส่วนแคบของแม่น้ำ" ซึ่งฟังดูก็เหมาะสมกับตำแหน่งที่ตั้งในปัจจุบัน ที่อยู่ทางฝั่งเหนือของบริเวณที่แม่น้ำเซนต์ ลอว์เรนซ์ (Saint Lawrence) คับแคบลง
     ใน ค.ศ. ๑๕๓๕ ฌากส์ การ์ติเยร์ (Jaques Cartier) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้พากองเรือล่องเข้ามาในแม่น้ำสายนี้ และได้พบกับหมู่บ้านของชาวชาวอินเดียนเผ่าอิโรเควียน (Iroquoian) ซึ่งเรียกพื้นที่แถบนี้เรียกว่า สตาดาโคเน (Stadacone) หมู่บ้านแห่งนี้มีคนอาศัยอยู่ราว ๑,๐๐๐ คน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ ค้าขาย และเพาะปลูกข้าวโพด ถั่ว ส้ม ยาสูบ และธัญพืชอื่น ๆ และใน บันทึกการเดินทาง*๒ ของเขาในครั้งนั้น ได้กล่าวถึงคำว่า คานาตา (Kanata) คำในภาษาอิโรเควียน ซึ่งแปลว่า หมู่บ้านหรือชุมชนเล็ก ๆ  ซึ่งได้เพี้ยนมาเป็นคำว่า แคนาดา ในปัจจุบัน 
.......................................................................
*๒ บันทึกของการ์ติเยร์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นบันทึกเรื่องราว ของแคนาดา ก่อนยุคบุกเบิก ที่สมบูรณ์ที่สุด
.......................................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)      การ์ติเยร์ไม่ได้ตั้งหลักแหล่งในควิเบกในครั้งแรกที่พบ เพราะหลังจากที่เขาได้ปักธงชาติ และประกาศให้ดินแดนแถบนี้ เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทั้งเขาและลูกเรือ ต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่หฤโหด ความอดอยาก โรคภัย ความตาย และความบาดหมางกับคนพื้นเมือง เขาจึงตัดสินใจเดินทางจากไปใน ค.ศ. ๑๕๓๖ แต่เขาก็กลับมาใหม่อีกครั้งในช่วง ค.ศ. ๑๕๔๑-๔๒ และมาตั้งค่ายพักที่แหลมแดง (Cap Rouge) ที่ตั้งอยู่ห่างไปไม่ไกล
     ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๐๘ ซามูแอล เดอ ช็องแปล็ง (Samuel de Champlain) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสอีกคน ได้อาศัยบันทึกของการ์ติเยร์ นำกองเรือแล่นเข้ามาจนถึงควิเบก และตั้งสถานีการค้า เพื่อค้าขายขนเฟอร์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้คนในฝรั่งเศสยุคนั้น แต่ในการเดินทางครั้งนี้เขาพบว่า ชาวอิโรเควียนที่การ์ติเยร์เคยพบ ได้สูญหายไปหมดแล้ว คนพื้นเมืองที่ช็องแปล็งค้นพบในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๗ กลับเป็นชาวอินเดียนเผ่าอัลกอนเคียน ซึ่งได้มีส่วนช่วยเหลือเขา ในการสร้างบ้านเรือนขึ้น และเจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองควิเบกในเวลาต่อมา
     ................................
     ทันทีที่ฟ้าสว่างและฝนเริ่มขาดเม็ด ผมออกเดินจากสถานีขึ้นสู่ตัวเมืองบนเนินเขาเพื่อหาที่พัก 
     ในยามเช้าตรู่ ตัวเมืองเก่าที่มีกำแพงล้อมรอบบนยอดเนินสูงราว ๑๑๐ เมตรแห่งนี้ยังคงหลับใหล ถนนสายเล็กๆ ที่คดเคี้ยวไปมายังว่างเปล่าไร้วี่แววของผู้คน บ้านเรือนร้านค้าที่เรียงรายอยู่ตลอดสองฟากฝั่ง ยังคงปิดตัวเงียบ มีเพียงป้ายที่แขวนยื่นออกจากผนังหน้าร้านค้าต่างๆ เท่านั้น ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดยามที่โยกไหวไปมาด้วยแรงลม 
(คลิกดูภาพใหญ่)

     ไม่นาน ดวงอาทิตย์ก็สามารถทอดลำแสงผ่านหมู่เมฆสีเทา ลงมาไล่ความชื้นแฉะบนท้องถนน ตัวเมืองที่เคยดูทึบทึมเงียบเหงา เริ่มฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง ถนนทุกสายกลับมาขวักไขว่ด้วยผู้คนและรถรา แสงสีทองเผยให้เห็นสีสัน และลวดลายตกแต่งที่งดงามของอาคารเก่าแก่ ที่เรียงรายอยู่สองข้างถนน หยดน้ำที่ค้างคาอยู่บนกิ่งใบของไม้ใหญ่ริมทางเท้า พากันสะท้อนประกายวิบวับ ในขณะที่พนักงานของร้านกาแฟ และร้านอาหาร เริ่มออกมาจัดวางโต๊ะยื่นออกมาจนจรดขอบถนน เพื่อรองรับชาวเมืองและนักท่องเที่ยว ที่พากันออกมานั่งตากแดดอุ่น ระหว่างรับประทานอาหารหรือจิบกาแฟ
     หัวใจของควิเบกซิตี้อยู่ที่ Place d'Armes ลานแคบ ๆ ริมหน้าผาด้านที่หันหน้าไปทางแม่น้ำ ชาวแคนาดาจากต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก จะพากันมาชุมนุมที่นี่ เพื่อถ่ายรูปคู่กับอนุสาวรีย์ของช็องแปล็ง หรือไม่ก็ Chateau Frontenac อาคารขนาดใหญ่หลังคาสีเขียวสด ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองควิเบก ก่อนจะแยกย้ายไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย
     ตลอดแนวริมหน้าผามีทางเดินกว้างปูด้วยแผ่นไม้ และมีศาลาแบบอังกฤษ ตั้งอยู่เป็นระยะ จากจุดนี้จะมองเห็นทิวทัศน์ของสายน้ำกว้าง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสู่บริเวณทะเลสาบใหญ่ทั้งห้า (The Great Lakes) ใจกลางทวีปอเมริกาเหนือ ที่ยังคงมีเรือใหญ่น้อย แล่นขนถ่ายสินค้าอยู่ตลอดเวลา เหมือนที่เคยเป็นมา ตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งทำให้ควิเบก ได้รับการขนานนามว่าเป็น ยิบราลตาร์ (Gibraltar)*๓ แห่งอเมริกาเหนือ
.......................................................................
*๓ เมืองท่าสำคัญ ริมชายฝั่งสเปน บริเวณช่องแคบยิบราลตาร์ ซึ่งถูกใช้เป็นจุดแวะ พักเรือสินค้า บนเส้นทางเชื่อมต่อ ระหว่าง ทะเลเมดิเตอเรเนียน กับมหาสมุทรแอตแลนติก มาตั้งแต่สมัย คริสต์ศตวรรษที่ ๘ มาจนถึงปัจจุบัน
.......................................................................

(คลิกดูภาพใหญ่)      จากริมหน้าผาจะมีทางเดินและรถราง เชื่อมต่อลงสู่อีกส่วนของตัวเมือง บริเวณเชิงเขาด้านล่าง บ้านเรือนเก่าแก่ในเขตนี้ ส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นร้านค้า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่คงรักษารูปแบบดั้งเดิม เหมือนยุคบุกเบิก และบนลานแคบ ๆ ข้างทางเดินลงนี้ จะพบกับซากบ้านของช็องแปล็งที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ปกครองชุมชนแห่งใหม่
     "ข้าฯ จะทำให้ของขวัญจากพระเจ้าชิ้นนี้มีค่าขึ้นมา"
     ช็องแปล็งประกาศก้องต่อหน้าลูกเรือ ก่อนจะก่อตั้งเมืองขึ้นที่เชิงผาด้านล่างใน ค.ศ.๑๖๐๘ หลังจากนั้นไม่นาน กองเรือจากฝรั่งเศสก็ได้เริ่มนำผู้คนซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นเกษตรกรผู้ยากจน และนักล่าสัตว์ อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนใหม่แห่งนี้ พวกเขามีรายได้อย่างงาม จากการส่งขนเฟอร์ และปลาทะเลไปยังแผ่นดินแม่ ซึ่งกลายเป็นสิ่งดึงดูดเหล่านักแสวงโชค ให้พากันอพยพมาอยู่ที่นี่กันมากขึ้น
     เมื่อตัวเมืองด้านล่างเริ่มแออัด เหล่าผู้นำของศาสนจักร และสภาเมืองจึงได้ขยับขยายตัวเมือง ขึ้นไปอยู่บนหน้าผาของแหลมเพชร (Cap Diamant) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งทำให้ตัวเมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนที่อยู่ด้านล่าง จะเรียกว่า บาสวิล (Basse Ville-เมืองต่ำ) ส่วนด้านที่อยู่บนเนินเขาจะถูกเรียกว่า โอ๊ตวิล (Haute Ville-เมืองสูง) และเมื่อผู้คนควิเบกเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๖ หมื่นคนใน ค.ศ. ๑๖๖๓ ดินแดนแห่งนี้ จึงถูกประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส เรียกว่าฝรั่งเศสใหม่ (Nouveau France)
       ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อังกฤษซึ่งครอบครองพื้นที่แถบตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มขยับขยายพื้นที่ครอบครอง เข้ามาในแคนาดา และรุกเข้ายึดพื้นที่ในครอบครองของชาวฝรั่งเศส ทำให้เกิดสงครามระหว่างกันขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะสิ้นสุดลง เมื่อกองทัพอังกฤษสามารถยึดควิเบกซิตี้ได้ ใน ค.ศ. ๑๗๕๙ ซึ่งทำให้เกิดการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (The Treaty of Paris) เพื่อยกพื้นที่ควิเบกให้อังกฤษ ในปี ค.ศ. ๑๗๖๓
     ในยุคแรก ผู้ปกครองชาวอังกฤษ ยังไม่รู้จะจัดการอย่างไร กับดินแดนที่มีแต่ชาวฝรั่งเศสแห่งนี้ สิ่งที่พวกเขาทำได้คือ เข้าครอบครองธุรกิจต่างๆ เอาไว้ แต่ยินยอมให้ชาวฝรั่งเศสเจ้าของถิ่นเดิม ยังคงมีอิสระในการนับถือศาสนา*๔ และระบบศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งช่วยทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น
.......................................................................
*๔ ชาวอังกฤษ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายอังกลิกัน ส่วนชาวฝรั่งเศส ถือนิกายโรมันคาทอลิก
.......................................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)

     ช่วงสงครามเพื่อประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๘๓) ผู้คนที่ยังคงจงรักภักดีต่ออังกฤษ (Loyalists) จำนวนมาก ได้พากันอพยพเข้ามาอยู่ในแคนาดา และทำให้สัดส่วนของประชากรชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ในดินแดนแถบนี้เริ่มใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันชาวอังกฤษก็ได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่ออกไปไกลมากขึ้น จนถึงสุดขอบตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อจำนวนชาวอังกฤษในแคนาดา เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเข้าควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในดินแดนใหม่นี้ รวมไปถึงควิเบก ทำให้ชาวฝรั่งเศสเริ่มไม่พอใจ และส่วนหนึ่งได้จัดตั้งกลุ่ม Les Patriotes ใน ค.ศ. ๑๘๓๗ เพื่อต่อสู้กับชาวอังกฤษ แต่ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ
     เมื่อผู้คนในแคนาดาเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๓.๕ ล้านคนในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ อังกฤษเริ่มคิดป้องกัน ไม่ให้ต้องสูญเสียดินแดนแห่งนี้ไป เหมือนเช่นที่เคยเสียสหรัฐอเมริกา รัฐบาลอังกฤษจึงได้ออกกฎหมาย รวมมณฑลต่างๆ เข้าเป็น Dominion of Canada และประกาศให้ดินแดนแห่งนี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ค.ศ.๑๘๖๗ โดยมีนายกรัฐมนตรีปกครอง 
     การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแคนาดา เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตก ของแคนาดา และมีการเปิดรับผู้คนอพยพ โดยเฉพาะจากยุโรป ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก แคนาดาเริ่มมั่งคั่งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากการค้นพบทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายในประเทศที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเริ่มเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

(คลิกดูภาพใหญ่)      "โชคดีที่ชาวอังกฤษเป็นพวกอนุรักษนิยม อาคารบ้านเรือนในควิเบกซิตี้ ถึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อนมากนัก" เพื่อนนักเดินทางจากแคว้นเบอร์กันดีในฝรั่งเศสพูดขึ้นระหว่างเดินชมตัวเมืองเก่า ที่ซึ่งมีคำกล่าวกันว่า ตึกเก่าๆ แทบทุกตึกในควิเบก ล้วนมีเรื่องราวและประวัติความเป็นมา ให้เล่าขานกันได้ไม่รู้จบ
     "ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ยังดูเป็นฝรั่งเศสมากกว่าในปารีสเสียอีก ... ไม่ว่าจะบ้านเรือน ผู้คน หรือบรรยากาศ ที่นี่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน"
     อาจจะจริงอย่างที่เขาพูด สำหรับคนต่างถิ่นแล้ว ควิเบก คือ ฝรั่งเศสแห่งทวีปอเมริกาเหนือ เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหน จะได้ยินแต่คนพูดภาษาฝรั่งเศส สองฟากฝั่งถนนจะพบเห็นแต่ป้ายภาษาฝรั่งเศส แม้แต่ข้อความบนป้ายหรือฉลากอาหาร ก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่สำหรับชาวควิเบกเชื้อสายฝรั่งเศสแล้ว ควิเบก คือ เลอเปอีส์ (Le Pays-ประเทศ) พวกเขาไม่เคยคิดที่จะบอกใครๆ ว่าเป็น ชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส (French Canadian) แต่พอใจที่จะเรียกตัวเองว่า เกเบกัว (Quebecois) มากกว่า
     เรามาหยุดนั่งพักบนลานหญ้ากว้างใหญ่ของ Parc des Champs-de-Batille อดีตสมรภูมิรบครั้งสุดท้ายระหว่างชาวฝรั่งเศสเจ้าของถิ่นกับอังกฤษผู้รุกล้ำ ใน ค.ศ. ๑๗๕๙ เบื้องหน้าเราทั้งคู่คือ Citadelle ป้อมปราการขนาดใหญ่ที่ฝรั่งเศสเคยใช้เป็นที่เก็บอาวุธ และชาวอังกฤษเข้ามาต่อเติมให้เป็นที่ตั้งกองกำลังเพื่อควบคุมชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันมันยังคงเป็นค่ายทหารประจำภูมิภาค แต่ได้มีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของควิเบก
(คลิกดูภาพใหญ่)

     นับแต่ควิเบกตกอยู่ในปกครองของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๕๙ ชาวอังกฤษซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยได้เข้ามา มาเป็นผู้ควบคุมชีวิตของชาวฝรั่งเศสในควิเบก และหวังว่าคงอีกไม่นาน จะมีชาวอังกฤษอพยพมาอยู่มากขึ้น จนสามารถกลืนชาวฝรั่งเศสได้หมด แต่ดูเหมือนว่าความหวังนั้น ไม่เคยประสบผลสำเร็จ เพราะแม้ในอีก ๑๐๐ ปี ต่อมาจำนวนของชาวฝรั่งเศส ก็ยังมีมากกว่าโดยใน ค.ศ. ๑๘๖๗ มีชาวฝรั่งเศสในควิเบกเป็นจำนวนถึง ๑ ล้านคน ในขณะที่มีชาวอังกฤษเพียง ๕ แสนคน อีกทั้งการปล่อยให้ชาวฝรั่งเศส มีอิสระในการนับถือศาสนา ทำให้ผู้คนที่นี่ยังสามารถเรียนภาษาฝรั่งเศสได้ ที่โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยโบสถ์ต่างๆ
     ช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ หลังจากแคนาดาเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและสังคม มีการผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชน การประกันสุขภาพ และขยายการศึกษาให้ทั่วถึง รวมถึงถ่ายเทอำนาจการปกครอง จากรัฐบาลกลางที่ออตตาวา (Ottawa) สู่ท้องถิ่น ควิเบกก็เริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติเงียบ (Quiet Revolution) ผืนแผ่นดินที่เคยใช้เพื่อการเกษตรกรรม ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะกับการทำอุตสาหกรรม มีการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ เพื่อกักเก็บน้ำและผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันพวกเกเบกัว เริ่มเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากขึ้น พวกเขามีโอกาสแสดงออกทางความคิด ที่เคยเก็บซ่อนไว้โดยเปิดเผย ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้คนสองเชื้อสาย เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง
     ตลอดช่วงเวลากว่า ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา พวกเกเบกัวไม่เคยคิด หรือทำแบบชุมชนชาวฝรั่งเศสอพยพแห่งอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ พวกเขาไม่เคยคิดว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกับชาวอังกฤษ แต่คิดและทำแบบเจ้าของผืนแผ่นดิน ที่ไม่ต้องการแบ่งดินแดนให้ใคร และหลายคนคิดว่า มีเพียงการเป็นอิสระเท่านั้น ที่จะรักษาเอกลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ได้

(คลิกดูภาพใหญ่)      ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ การเรียกร้องเพื่อขอแบ่งแยกดินแดน จากแคนาดาของพวกเกเบกัวในควิเบก เริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เมื่อพวกเขาปาระเบิดใส่ฝูงชน ตามด้วยการลักพาตัวบุคคลสำคัญ เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวทำให้นายปิแอร์ ทรูโด (Pierre Elliott Trudeau) นายกรัฐมนตรีของแคนาดาในยุคนั้น ต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกับพวกก่อการร้าย และประกาศว่าจะทำทุกอย่าง เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกควิเบก ออกจากแคนาดา (แม้ว่าเขาเองก็เป็นชาวเกเบกัวเหมือนกัน) ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลแคนาดา ก็ได้หาทางประนีประนอม โดยมีการลงมติให้แคนาดาเป็นประเทศที่มีภาษาประจำชาติสองภาษา ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ 
     นับแต่นั้นกระแสชาตินิยมของเกเบกัว ก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการที่พรรคเกเบกัว (Parti Quebecois-PQ) พรรคที่มีแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดน ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ในการเลือกตั้งท้องถิ่นใน ค.ศ. ๑๙๗๖ พวกเขาเปิดโอกาสให้คนเชื้อสายฝรั่งเศสจากมณฑลอื่น ๆ ในแคนาดา ได้เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในเกเบก ในขณะที่คนเชื้อสายอังกฤษจำนวนมาก พากันอพยพออกไปอยู่ในมณฑลอื่น
     อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดให้มีการลงประชามติ เพื่อแบ่งแยกดินแดนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๘๐ ปรากฏว่ากลับมีผู้ไม่เห็นด้วยถึงกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ความคิดในการแยกตัวเงียบสงบลง แต่ก็เป็นอย่างนั้นได้ไม่นานนัก เมื่อพรรคเกเบกัวได้รับชัยชนะในการเลือกผู้แทน เข้าไปนั่งในรัฐสภาสองครั้งล่าสุด ทำให้กระแสเรียกร้องความเป็นอิสระ ดังก้องขึ้นอีกครั้ง พวกเขาได้จัดให้มีการสำรวจประชามติขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ และในครั้งนี้ปรากฏว่า มีชาวควิเบกที่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกจากแคนาดาถึง ๔๙.๔๔ เปอร์เซ็นต์
(คลิกดูภาพใหญ่)      ฝ่ายที่ต้องการให้แยกตัวจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า เหตุที่ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ ในการลงประชามติครั้งหลังสุดนี้ เกิดจากการแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกา เพราะอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน เคยออกมาเตือนว่า หากควิเบกแยกตัวออก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับควิเบกก็อาจไม่แนบแน่น เช่นเดียวกับแคนาดา
     "วอชิงตันพอใจที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับแคนาดา พวกเขาใช้ตลาดการค้าเป็นเครื่องต่อรอง พวกเขาคงลืมไปแล้วว่า ควิเบกเองก็มีส่วนลงมติ ให้แคนาดาร่วมเป็นหนึ่ง ในข้อตกลงการค้าเสรีในเขตอเมริกาเหนือ (NAFTA)*๕ เช่นกัน เราไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากทวีปอเมริกาเหนือ เราแค่ต้องการให้ปกครองดินแดนที่เป็นของพวกเราเอง" คุณลุงชาวเกเบกัวคนคนหนึ่งบอกเรา เมื่อถูกถามถึงสาเหตุของความพ่ายแพ้
.......................................................................
*๕ North American Free Trade Area เขตการค้าเสรี แห่งทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีสมาชิก ๓ ประเทศ คือ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
.......................................................................
     "ถึงแม้ว่าจะมีการแทรกแซง แต่จากการที่ชาวควิเบกเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ของคนเชื้อสายฝรั่งเศสในแคนาดา เห็นด้วยกับการที่จะแยกตัวออก แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจแล้วว่า การเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดา ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น สิ่งเดียวที่จะรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้ได้ คือ การได้ปกครองตัวเอง ลุงเชื่อว่าชาวเกเบกัวรุ่นใหม่รู้เรื่องนี้ดี และเราน่าจะเป็นฝ่ายชนะ ในการลงมติครั้งใหม่ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้"

(คลิกดูภาพใหญ่)      สำหรับผู้มาเยือนจากต่างถิ่น หากเขาเป็นคนไม่สนใจในข่าวสาร หรือรับรู้ถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาก่อน เขาอาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกแยกของผู้คน ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความงดงามของตัวเมือง และวิถีชีวิตหฤหรรษ์ของผู้คน ควิเบกในวันนี้ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มันคือเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของแคนาดา รองจากแวนคูเวอร์ และบานฟ์ ...แต่หากสังเกตสักนิดเขาก็จะพบว่า มีหลายสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นอังกฤษของชาวเกเบกัว ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน
     บ่อยครั้งที่ผมเห็นข้อความภาษาอังกฤษบนป้ายจราจร หรือชื่อถนนที่มีสองภาษา มักจะถูกสีพ่นทับจนมองแทบไม่เห็น ข้อความที่พวกวัยรุ่นชอบขีดเขียนลงบนฝาผนัง หรือกำแพงส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกดินแดน แม้แต่ผืนธงสีน้ำเงิน-ขาว ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำมณฑล (ทุกมณฑลของแคนาดา จะมีธงสัญลักษณ์ของตนเอง แตกต่างกันไป) ที่มักพบเห็นติดตั้งอยู่เหนือประตู หน้าต่างของบ้านเรือน หรือร้านค้า รวมไปถึงตามสถานที่ราชการ เคียงคู่กับธงรูปใบเมเปิล ธงประจำชาติแคนาดา ก็ถูกเกเบกัวบางคนทึกทักเอาว่า มันเป็นการประกาศตัวอย่างชัดแจ้งว่า สนับสนุนการเป็นอิสระของควิเบก
     แต่ไม่ใช่เกเบกัวทุกคนจะเห็นด้วยกับการแยกตัว ฝ่ายที่ต่อต้านหลายคนเชื่อว่า การแยกตัวจะเป็นผลเสียต่อควิเบกเอง รวมถึงอาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น หากพวกเขาลงมติให้แยกตัว บางคนมองว่าเกเบกัวเอง ที่จะเป็นฝ่ายสูญเสียสิ่งที่เคยได้จากรัฐบาลแคนาดา ทั้งงานกว่า ๑ ล้านตำแหน่ง เงินบำนาญ เงินประกันสังคม เงินช่วยเหลือ ฯลฯ
(คลิกดูภาพใหญ่)

     "จริง ๆ แล้วทุกวันนี้ เราก็ยังคงพูดภาษาฝรั่งเศส และมีวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศส ท่ามกลางวงล้อมของคนที่พูดภาษาอังกฤษกว่า ๒๐๐ ล้านคน การแยกตัวออกไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนไป แต่กลับจะทำให้เราเป็นฝ่ายที่ถูกโดดเดี่ยวมากกว่า ผมว่ามันเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว” นักธุรกิจคนหนึ่งบอก
     สำหรับชาวควิเบกเชื้อสายอังกฤษกว่าหนึ่งล้านคน และคนอพยพเชื้อสายอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในควิเบก พวกเขาต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนเชื้อสายฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ของรัฐนับพันๆ คน ที่เคยพูดได้แต่ภาษาอังกฤษ ต้องลางานไปเรียนภาษาฝรั่งเศส เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้กฎหมายของมณฑลควิเบกที่ออกใน ค.ศ.๑๙๗๔ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า เด็กคนใดที่ไม่สามารถพูดอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จะไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ แต่ต้องไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนภาษาฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้สูญเสียจำนวนคน ไปให้ฝ่ายที่พูดภาษาอังกฤษ 
     ด้วยเหตุนี้ชาวควิเบกเชื้อสายอังกฤษ ได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง Alliance Quebec ขึ้นใน ค.ศ.๑๙๘๒ เพื่อช่วยให้คนที่พูดภาษาอังกฤษ สามารถใช้บริการสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าโรงพยาบาล โรงเรียน หรือติดต่อหน่วยงานรัฐได้ แม้ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้พวกเขายังออกเดินสาย เรียกร้องให้ชาวควิเบก และคนทั้งประเทศ ต่อต้านการขอแยกตัวของควิเบก เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแคนาดา
     "การแยกตัวจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ ระหว่างคนสองเชื้อชาติ ที่มีมานานกว่า ๒๐๐ ปี” หญิงชราเชื้อสายอังกฤษคนหนึ่งบอก “พวกเกเบกัวคงลืมไปแล้วว่า พวกเราก็เป็นเจ้าของควิเบกเช่นเดียวกับพวกเขา และคนท้องถิ่นที่อยู่มาก่อนพวกเขา ถ้าชาวเอสกิโม ชาวครี ชาวอินูอิต และชาวอินเดียนเผ่าอื่นๆ ซึ่งเป็นเจ้าของดั้งเดิม (ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของมณฑล) คิดที่จะแยกตัวออกไปบ้าง อยากรู้เหมือนกันว่า พวกเกเบกัวจะรู้สึกอย่างไร"
...........................

(คลิกดูภาพใหญ่)      ผมบอกลาเจ้าของที่พักแต่เช้าตรู่ ก่อนจะเดินลงจากตัวเมืองบนเนินเขาเพื่อโบกรถต่อไปยังเป้าหมายต่อไป 
     ท้องถนนในเมืองเก่ายังคงเงียบสงบ บ้านเรือนร้านค้ายังคงปิดตัวเงียบเหมือนในวันแรกที่มาถึง แต่คงอีกไม่นาน ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการประเด็นการแยกตัว จะยังคงเป็นหัวข้อที่ชาวควิเบกทั้งสองฝ่าย หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันได้ไม่รู้จบ 
     ช่วงเวลาสั้นๆเพียงแค่ ๓ วันในควิเบกซิตี้ ผมคงไม่มีทางรู้และเข้าถึงจิตใจ ของชาวควิเบกทั้งสองฝ่ายได้อย่างแท้จริง ในฐานะของคนที่ผ่านเข้ามาแล้วจากไป ผมไม่มีสิทธิที่จะคิดว่า ควิเบกควรจะแยกตัวออกจากแคนาดาหรือไม่ ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ชาวควิเบกทุกคน ต้องคิดและตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง
     ผมรู้แต่ว่าในวันนี้ ชาวควิเบกทุกคนเลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง คือ แสดงความคิดเห็นออกไป ยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ ไม่ดื้อดึง หรือใช้วิธีการรุนแรงเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย และสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งพวกเขาทุกคนมีอยู่ และควรเก็บรักษาเอาไว้ เพื่อให้ควิเบกยังคงความงดงาม สงบสุข และน่าประทับใจแบบนี้ตลอดไป ไม่ว่ามันจะยังเป็นหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของแคนาดาก็ตาม
 (คลิกดูภาพใหญ่)

หนังสืออ้างอิง

     Carl Benn, Quebec City, Casa Editrice Bonechi, 18/b Firenze, Italia, 1999

     Mark Lightbody, Thomas Huhti and Ryan Ver Berkmoes, Canada-Lonely Planet, Lonely Planet Publications, Victoria 3122, Australia, 7th Edition,1999

     Peter T. White, One Canada-or two?, National Geographic Magazine pp 436-466, April 1977, National Geographic Society, Washington D.C. U.S.A