|
|
|
|
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว |
|
|
|
|
ก่อนเปิดประเทศเพื่อรับอารยธรรมและสรรพวิชาต่างๆ
จากซีกโลกตะวันตก คนไทยเคยมีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับดวงดาว พัฒนาขึ้นเป็นวิชาดาราศาสตร์โบราณ ศึกษาเรียนรู้อยู่ในหมู่โหราจารย์ หมอยากลางบ้าน และผู้สนใจในศาสตร์อันลี้ลับ รู้จักกันในนามของตำราดาว ตำราดูนิมิต สมุดพระตำราฤกษ์บน คัมภีร์ราง จดจารคัดลอกสืบต่อกันมา ยังปรากฏต้นฉบับเก็บรักษามาถึงปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในตำราเหล่านั้นก็คือ คัมภีร์ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์แห่งบ้านถนนแปลงนาม เมืองเพชรบุรี
ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์นี้เป็นสมุดข่อยโบราณแต่ยังมีสภาพสมบูรณ์ มีขนาดกว้าง ๑๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๔๐.๒ เซนติเมตร เขียนด้วยหมึกดำเป็นอักษรไทย อักษรขอม และอักษรเชฺรียงอีก ๑ ประโยค แต่ละหน้าเขียนอักษรไว้ ๔ บรรทัด มีการวาดรูปดาวต่าง ๆ เป็นภาพลายเส้นประกอบ และมีแผนที่ดาวขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ด้วย
ในความเข้าใจของคนโบราณนั้น ได้มีการแบ่งดาวเป็นสองประเภท คือดาวเคลื่อนที่กับดาวไม่เคลื่อนที่ ดาวเคลื่อนที่ซึ่งโคจรผ่านเข้าไปในกลุ่มดาวต่างๆ ก็คือดาวอาทิตย์ (Sun) จันทร์ (Moon) อังคาร (Mars) ฯลฯ
ส่วนดาวที่อยู่ประจำที่มองเห็นเป็นกลุ่มแน่นอนในตำแหน่ง
และเวลาเดิมของทุกปี มีปรากฏให้เห็นดังเช่น ดาวลูกไก่ ดาวก้อนเส้า ดาวปลา ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่าดาวฤกษ์
และดาวฤกษ์นี้เอง
ที่คนโบราณท่านกำหนดเป็นตำแหน่งต่าง ๆ ในท้องฟ้า เพื่อให้จำได้หมายรู้ว่า ขณะนั้นเป็นฤดูกาลใด หรือเวลาไหน ในค่ำคืนวันนั้น....
|
|
จิตรกรรมดาวนักษัตร ที่วัดคงคาราม จ. ราชบุรี
|
|
ดาราศาสตร์โบราณ
การสังเกตปรากฏการณ์ของท้องฟ้าในยามค่ำคืน
ได้พัฒนาและสั่งสมขึ้น
เป็นระบบความรู้ทางดาราศาสตร์ มีการจดเป็นแผนผังการเดินทางของดาวพระเคราะห์ขึ้น ตรวจสอบวิถีการโคจรของดาวฤกษ์ และเมื่อผู้จดสังเกตเห็นว่าตำแหน่งแห่งที่
และความสำคัญของดาวพระเคราะห์
ส่งผลถึงวิถีชีวิต หรือความเป็นไปของบุคคลและสังคม ก็ได้บันทึก รวบรวมเป็นสถิติ
เป็นกฎเกณฑ์สำหรับพยากรณ์
หรือทำนายทายทัก พัฒนาขึ้นเป็นความรู้ทางโหราศาสตร์ ควบคู่กันไปด้วย รวมเป็นวิชาเดียวกัน
หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ดาราจารย์รุ่นเก่าท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
โหราศาสตร์และดาราศาสตร์ของไทย
ได้มาจากดาราศาสตร์ของอินเดีย (อาจผ่านมาทางมอญ พม่า หรือลังกา หรือจะมาตรงจากอินเดียก็ยังไม่ทราบแน่) รวมเรียกตำรับเหล่านี้ว่า ดาราศาสตร์โบราณ
คัมภีร์ดาราศาสตร์และวิชาโหราศาสตร์ของไทยนั้น มีรากฐานมาจากวิชาดาราศาสตร์โบราณแบบ Geo-Centric System ซึ่งถือว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล วิชาดาราศาสตร์โบราณนี้ น่าจะมีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว และได้กำเนิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งในทวีปเอเชีย แพร่หลายอยู่ในหมู่ชนบาบิโลเนียน อัสซีเรียน คาลเดียน และแพร่ไปสู่อียิปต์ เปอร์เซีย จีน ญี่ปุ่น ธิเบต พม่า มอญ เขมร ลาว รวมถึงประเทศไทย
จากจุดเริ่มต้น ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชียไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา
วิชาดาราศาสตร์โบราณอันประกอบด้วย
ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์
ได้รุ่งเรืองขึ้นในประเทศอินเดีย และเผยแผ่สืบทอดมาสู่ประเทศไทย ช่วงเวลาที่น่าจะเป็นไปได้นั้น อ.เทพย์ สาริกบุตรสันนิษฐานว่า
คงจะเป็นช่วงเดียวกับที่
พระเจ้าอโศกมหาราชพิชิตชมพูทวีปได้
ทำให้พวกชาวอินเดียทางใต้
รวมทั้งพราหมณาจารย์
ต้องพากันลี้ภัยอพยพลงมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งในดินแดนมอญ
และดินแดนกัมพูชาโบราณ
โดยพราหมณาจารย์เหล่านั้น
คงเอาคัมภีร์พระเวท
และศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ลงมาด้วย
เมื่อชนชาติไทยรุ่งเรืองขึ้น
ก็ได้รับวัฒนธรรมความรู้ต่าง ๆ
รวมทั้งโหราศาสตร์
ผ่านทางมอญมาผสมด้วยอีกทางหนึ่ง เช่นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คัมภีร์ราชศาสตร์ และคัมภีร์โหราศาสตร์ คือ คัมภีร์สารัมภ์ คัมภีร์พระสุริยยาตร์ คัมภีร์จักรทีปนี เป็นต้น
|
|
จิตรกรรมหมู่ดาวอัศวินี ที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ วาดกลุ่มดาวในลักษณะ "วิมาน" ของเทวดา อันเป็นคติความเชื่อ
ที่สืบเนื่องมาจาก
ไตรภูมิพระร่วง |
|
ในดาราศาสตร์โบราณของไทยนี้เอง ได้ปรากฏระเบียบวิธีการคำนวณเวลาอย่างเป็นระบบ
โดยการใช้คัมภีร์สุริยยาตร์
คำนวณหาตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวพระเคราะห์ เพื่อตรวจหาวันเวลาอันเหมาะสมในการทำพิธีที่เรียกว่า "ฤกษ์" ซึ่งมักปรากฏให้เห็นอยู่ใน "ดวงฤกษ์" หรือ "ดวงชะตา" ที่จริงแล้วดวงชะตาก็คือ
ตำแหน่งของดาวพระเคราะห์
ในท้องฟ้าขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งตรงกับเวลาเกิดของคน หรือเวลาสร้างเวลาประกอบพิธีกรรมสำคัญเป็นต้น
ตำแหน่งดาวพระเคราะห์นี้
สามารถเขียนได้เป็นแผนผัง
โดยจุดประสงค์ดั้งเดิมของการทำแผนผังดาวพระเคราะห์
หรือการผูกดวงนั้น อยู่ที่ต้องการจดวันเวลาเกิดของบุคคลใด หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความสำคัญของการบอกเวลาด้วยดวงฤกษ์นี้
ได้เคยปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่ในศิลาจารึกอีสาน
และศิลาจารึกล้านนาไทย ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา อีกทั้งพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ
และจดหมายเหตุปูมโหรในยุคอยุธยา
ก็ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการดูดาวหาง การทำนายการเคลื่อนที่ของอุกาบาต
ที่แบ่งละเอียดตามลักษณะของอุกกาบาต
แยกย่อยลงเป็น "คหะบาต", "กะลาบาต"
และมีบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ
ในท้องฟ้าอันเกี่ยวพันกับเหตุกาณ์สำคัญของบ้านเมือง ดังเช่นการสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน การศึก ที่มักปรากฏดาวหาง หรือดาวตกเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าเสมอ
ดังเช่นในวันสวรรคต
ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม
ฉบับบริติชมิวเซียมบันทึกไว้ว่า
"อันสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าพระองค์นี้ พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม มีพระชนม์ยืนนาน ได้เสวยราชย์มา ๒๐ ปี จนพระชนม์ได้ ๗๐ พรรษา เมื่อกาลมาถึงพระองค์ ด้วยพระองค์เป็นธิบดีใหญ่ในสยามประเทศ จึงวิปริตนิมิตเหตุต่าง ๆ
ณ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู นพศก กลางคืนลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุซึ่งเป็นหลักอัครโพธิ โทรมลงทลาย ทั้งอากาศสำแดงร้ายอาเพท ประทุมเกศตกต้องมหาธนูลำพู่กัน หนึ่งดวงดาวก็เข้าในดวงจันทร์ ทั้งดาวหาง คลองช้างเผือก ประชาชนก็เย็นยะเยือกทั้งพระนคร ด้วยเทพยเจ้าสังหรณ์หากให้เห็น
ด้วยพระองค์เป็นหลักชัย
ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา"
นอกจากวิชาดาราศาสตร์โบราณอันซับซ้อน
ซึ่งร่ำเรียนสืบทอดกันอยู่ในหมู่โหรหลวง
ของราชสำนักและโหราจารย์จำนวนมากแล้ว ยังมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าคนไทยสมัยก่อน
ได้มีความรู้เกี่ยวกับดวงดาว
และท้องฟ้าอยู่อย่างลึกซึ้งไม่น้อย
ดังเช่นที่นางสุวรรณมาลีสอนหลานสาว
คือนางอรุณรัศมีดูดาว
ในวรรณคดีพระอภัยมณี นอกจากนี้ยังมีบทชมดาวอยู่ในวรรณคดีอิเหนา สรรพสิทธิ์คำฉันท์ บทละครเรื่องพระสมุทร บทเห่กล่อมพระบรรทม ฯลฯ
ทั้งยังได้พบภาพจิตรกรรมดาวอีกจำนวนมาก
ตามสมุดไทยโบราณซึ่งบันทึกเป็นคัมภีร์ตำราดาว
ฉบับต่างๆ รวมทั้งโบสถ์ วิหารหลายแห่งในเมืองไทย ดังเช่นที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ ฯลฯ
|
|
แผนที่ดาว ๒๗ กลุ่มที่พระจันทร์โคจรผ่าน และดาว ๑๒ กลุ่มที่พระอาทิตย์โคจรผ่าน ตามคัมภีร์สุริยยาตร์
ที่ก่อรูปขึ้น
จากพื้นฐานความคิดว่า
โลกเป็นศูนย์กลาง
ของจักรวาล
|
|
ปรากฏกาณ์ของท้องฟ้า
การสังเกตปรากฏการณ์ในท้องฟ้าของคนไทยในอดีตยังรวมไปถึง การดูลักษณะพระจันทร์ พระอาทิตย์ การเคลื่อนที่ของดาวพระเคราะห์ที่สัมพันธ์กับกลุ่มดาวฤกษ์ ดูเมฆ ดูคลองฟ้าหรือคลองช้าง (ทางช้างเผือก) ดูสุริยุปราคา ดูจันทรุปราคา ดูผึ้งจับทางทิศต่างๆ ฟังเสียงฟ้าร้อง ว่าคำรามมาทางทิศใด
ดูขึ้นแรมของพระจันทร์
เพื่อปลูกไม้ผลชนิดต่างๆให้งอกงาม ฯลฯ รวมเป็นตำราจารลงสมุดไท เรียกว่า "ตำราดาว" หรือ "สมุดพระตำราฤกษ์บน" , "ตำราดูนิมิต" มีปรากฏอยู่หนาแน่นในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้
และพบปรากฏอยู่ในภาคเหนือ
และภาคอีสานด้วยเช่นกัน
ตำราเหล่านี้ยังเก็บเป็นหลักฐานอยู่นับสิบฉบับ
ในหอสมุดแห่งชาติ และมีกระจัดกระจายอยู่ตามวัด ตามบ้านของอดีตหมอยา และอดีตโหราจารย์ หนึ่งในตำราหลายสิบฉบับเหล่านั้น คือตำราดาวฉบับขุนโพธิ์ เมืองเพชรบุรีที่ตกทอดมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน
ขุนโพธิ์เป็นหมอยากลางบ้านผู้มีชื่อเสียงของเมืองเพชรบุรี มีอายุอยู่ในสมัยรัชกาลที่๕ ตำราดาวของขุนโพธิ์ ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นสมุดไทพับได้ทำจากใบข่อย จารด้วยอักษรไทยโบราณและอักษรขอม พร้อมภาพประกอบเขียนด้วยสีฝุ่นจีนงดงาม
เนื้อหาหลักๆ
จะบอกเล่าเรื่องราวของการเคลื่อนที่ของดาวพระเคราะห์
ที่มีผลต่อความมั่นคงภายในราชสำนัก ดังเช่นหากมองเห็นดาวพุธเดินถอยหลัง ราชโอรสจะรวมหัวกับขุนนางก่อกบฏ
หรือเห็นดาวพระเคราะห์
อยู่ในวงโคจรของพระจันทร์ติดกันสามวัน จะเสียเมือง ขุนนางจะเอาใจออกห่าง
หรือการเคลื่อนที่ผิดปกติของดาวพระเคราะห์บางดวง
จะบ่งเหตุว่า ธรรมชาติกำลังจะวิปริต จะเกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ ความอดอยากยากเข็ญ แมลงทำลายพืชผล รวมทั้งเกิดตะเข็บตะขาบจำนวนมากเข้ามาทำร้ายราษฎร
คำทำนายในตำราดาวฉบับขุนโพธิ์มีอยู่หลากหลาย ดังเช่น
"ถ้าพระศุกร์อยู่ริมเดือนเบื้องบนราชเทวีราชปุโรหิตจะตาย"
"ถ้าพระจันทร์แทรกหัสตะดังนี้ (ดูภาพประกอบ) ฟ้าจะผ่าดินจะฟื้น ผัวเมียจะผิดกันฝนจะตก"
"ถ้าพระจันทร์แทรกอนุราธเป็นดังนี้ (ดูภาพประกอบ) จะมีห่าฝนแก้วตก"
ฯลฯ
|
|
จิตรกรรมดาวลูกไก่ (Pleiades) ดาวโรหิณี (Aldebaran) และกลุ่มดาวหัวเนื้อ ซึ่งเป็นบางส่วน ของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) |
|
การมีบททำนายที่แสดงถึงความเกี่ยวพัน
ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น เดือนดาว ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว
อันเป็นนิมิตที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ได้ผูกพันอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาช้านาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและแพร่หลายก็คือ"เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งโจษขานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
คำพยากรณ์นั้น
ได้ปรากฏบททำนาย
ในทำนองเดียวกับคัมภีร์ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์ว่า
"คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกีดความอันตรายเปนแม่นมั่น
ด้วยพระมหากระษัตรมิได้ทรงทศมิตราชธรรม์
จึงเกิดเขญเปนมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด
อุบัติเหตุเกีดทั่วทุกทีศาน
มหาเมฆจะลุกเปนเพลีงกาล
เกีดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง"
|
|
จิตรกรรมสุริยคราส
ที่วัดแหลมสอ เกาะสมุย ฝีมือพระเขมานันทะ |
|
การวิวัฒน์ของจักรวาลและชีวิต
เป็นที่น่าสังเกตว่า
ในคัมภีร์ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์
และในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
ได้มีการกล่าวถึงพฤติกรรมของมนุษย์
กับระบบโลกและจักรวาล มีความสัมพันธ์สอดคล้อง เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน
ทั้งหมดของบททำนายเช่นนี้
ล้วนตั้งอยู่บนระบบจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนา ดร.วีระ
สมบูรณ์
ได้กล่าวไว้ในรัฐธรรมในอดีตว่า
แม้โดยทั่วไป
พุทธศาสนาจะไม่เน้นถึงการถกเถียงเรื่อง กำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ ฯลฯ
แต่ในอัคคัญญสูตร
ซึ่งเป็นพระสูตรบทที่ ๔ ในพระไตรปิฎก พระบาลีสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ก็ได้มีการกล่าวถึงกำเนิดของจักรวาล กำเนิดของมนุษย์อย่างละเอียด อันแสดงให้เห็นว่า
วิวัฒนาการของมนุษย์นั้น
ได้เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับวิวัฒนาการของจักรวาล ดังที่ว่า
(๑๑๙) ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยเวลาล่วงเลยมาช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ เหล่าสัตว์โดยมากย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นสำเร็จกิจได้ดังใจนึก มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายของตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นนานแสนนาน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยเวลาล่วงเลยมาช้านานที่โลกนี้จะกลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
เหล่าสัตว์โดยมากพากันจุติจากขั้นอาภัสสรพรหม
ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์เหล่านั้นสำเร็จกิจได้ดังใจนึก มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นนานแสนนาน
ว่าด้วยเรื่องความปรากฏแห่งง้วนดิน
(๑๒๐) ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ แลเป็นน้ำทั้งนั้นมืดมนอันธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย และกลางวันกลางคือยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายมีชื่อเพียงแต่เพียงว่าสัตว์เท่านั้น
|
|
จิตรกรรมดาว
ที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี วาดเป็นกลุ่มดาว ๒๗ กลุ่มที่พระจันทร์โคจรผ่าน
และมีดาวจระเข้
ปรากฏอยู่ด้วย |
|
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบนฉะนั้น ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์โลกผู้หนึ่งเป็นคนโลภพูดว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สิ่งนี้จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้น เอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น
ว่าด้วยเรื่องความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
(๑๒๑) ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพยายามเอามือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ แล้วบริโภค ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเอามือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ แล้วบริโภคอยู่ รัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงได้กลับเจริญขึ้นอีก (พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา ๒๕๓๐:๑๑: ๙๒-๙๓)
|
|
บททำนายความสัมพันธ์ ของนครรัฐต่าง ๆ ตามลักษณะดาว ที่เข้าวงพระจันทร์ |
|
สภาวะที่กล่าวถึงในอัคคัญญสูตรข้างต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงโลกที่พินาศแตกดับไป แล้วก็วิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ โดยที่จักรวาลยังเป็นน้ำอยู่ทั้งสิ้น รอบด้านมืดมนไม่มีดาวฤกษ์ ดาวนักษัตร จึงไม่มีทั้งกาละและเทศะ สัตว์ทั้งหลายไม่มีเพศชายหรือหญิง การวิวัฒนาการของโลกได้ทำให้เกิด "ง้วนดิน" ลอยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อสัตว์ผู้หนึ่งได้ชิมรสก็ติดใจเกิดความอยาก ทำให้สัตว์อื่น ๆ เอาอย่าง และเมื่อสัตว์ทั้งหลายบริโภคง้วนดินเข้าไปมาก ๆ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกายหายไป ก็ปรากฏดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ดาวนักษัตร กลางวัน กลางคืน ฤดูกาลต่าง ๆ และเมื่อระบบโลกและจักรวาลได้เกิดขึ้นแล้ว
พระสูตรบทนี้ก็ได้บรรยายต่อไป
เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์
ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนเกิดการทำเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวพืชผลมายังชีพ จึงจำเป็นที่ต้องมีผู้ปกครองสูงสุดคือ "กษัตริย์"
คอยดูแลให้ความชอบธรรม
ในการจัดแบ่งผลประโยชน์ต่างๆ
คติการสร้างโลกที่มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกันนี้
ยังปรากฏอยู่ใน "ลิลิตโองการแช่งน้ำ"
ซึ่งใช้อ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัจจา
หรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
ตั้งแต่ครั้งสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
จุดมุ่งหมายของพิธีนี้
เพื่อให้ผู้เข้าพิธีดื่มน้ำชุบพระแสงสาบานทำสัตย์ว่า
จะซื่อสัตย์จงรักภักดีไม่คิดคดทรยศ
และองค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงประทานสัจจะ
ในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ในพระราชกรณียกิจต่อพศกนิกร
เนื้อหาสาระว่าด้วยการสร้างโลก
ที่ใช้อ่านประกอบส่วนของการสรรเสริญพระเป็นเจ้า
และการสาปแช่งในโองการแช่น้ำ
จึงเป็นการอ้างความชอบธรรมแห่งการเกิดขึ้น
ของสถาบันกษัตริย์ ดังข้อความที่ว่า
|
|
บททำนายความมั่นคง ของเมือง ด้วยการสังเกต ปรากฏการณ์วิปริตต่าง ๆ |
|
ตอนสร้างโลก |
นานาอเนกน้าว |
|
เดอมกัลป์ |
จักร่ำจักราพาฬ |
|
เมื่อไหม้ |
กล่าวถึงตระวนนเจ็ด |
|
อนนพลุ่ง |
อนนพลุ่งน้ำแล้งไข้ |
|
ขอดหาย |
เจ็ดปลามันพลุ่งหล้า |
|
เปนไฟ |
วาบจัตุราบาย |
|
แผ่นขว้ำ |
แผ่นขว้ำชักไตรตรึงษ์ |
|
เปนเผ้า |
เปนเผ้าแลบ่ล้ำ |
|
สีลออง |
สามรรถญาณครอบเกล้า |
|
ครองพรหม |
ฝูงเทพนองบนปาน |
|
เบียดแป้ง |
เบียดแป้งสรลมเต็ม |
|
พสุ ธาวาศ |
แห่งห้นนฟ้าแจ้งจอด |
|
นิโรโธ |
กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด |
|
ฟองหาว |
ฟองหาวดับเดโช |
|
ฉ่ำหล้า |
ฉ่ำหล้าปลาดิ้นดาว |
|
เดือนแอ่น |
เดือนแอ่นลมกล้าป่วน |
|
ไปมา |
ไปมาแลเปนแผ่น |
|
เมืองอินทร์ |
เมืองอินทร์เมืองธาดา |
|
แรกตงง |
ขุนแผนแรกเอาดิน |
|
ดูที่ |
ดูที่ถูกย้งงฟ้า |
|
ก่อคืน |
ก่อคืนเลงเปนสี่ |
|
ปวงดิน |
ดินเปนเขายืนธร |
|
ง้ำหล้า |
ง้ำหล้าเปนเรือนอินทร์ |
|
ถาเถือก |
ถาเถือกเปนสร้อยฟ้า |
|
จึ่งบาน |
|
|
บททำนายเมฆ และรุ้งกินน้ำ
อันเกี่ยวกับ
ความมั่นคงของเมือง |
|
จึ่งเจ้าต้งงผาเผือก |
|
ผาเยอ |
เยอบุบผาหอมหวาน |
|
จึ่งขึ้น |
ขึ้นหอมอายดินเลอ |
|
เลอก่อน |
ก่อนสรดื้นหมู่ |
|
แมนมา |
ตนเขาเรืองร่อนหล้า |
|
เลอหาว |
หาวจะหาวนนคืน |
|
ไป่ได้ |
ไป่ได้จาวชิมดิน |
|
แสงหล่น |
แสงหล่นเพียงดบบใต้ |
|
มืดมูล |
มืดมูลว่นว่นตา |
|
ขอเรือง |
เรืองเปนพระสูริย |
|
ส่องหล้า |
หล้าเปนเดือนดาวเมือง |
|
เมืองฉ่ำ |
เมืองฉ่ำเห็นฟ้าเห็น |
|
แผ่นดินฯ |
แลมีค่ำมีวนน |
|
กินสาลีเปลือกปล้อน |
บมีผู้ต้อนแต่ง |
|
บรรณา |
เลือกผู้ยิ่งยศสา |
|
เป็นราชาอคร้าว |
เรียกนามสมมติจ้าว |
|
จึ่งต้งงท้าวเจ้าแผ่นดินฯ |
สมมติแกล้วต้งงอาทิตย์ |
|
เดอมกาล |
สายท่านทรงธรณิน |
|
เรื่อยหล้า |
วนนเสาร์วนนอังคาร |
|
วนนอาทิ์ |
กลอยแรกต้งงฟ้ากล่าว |
|
แช่งผี |
แช่งผีเชือกบาศด้วย |
|
ชนนรอง |
รองชื่อพระกรรมะ |
|
ปู่เจ้า |
เจ้าท่ารงงผยอง |
|
มาแขก |
แขกแรกต้งงขวัญเข้า |
|
ธูปเทียน |
เหล็กกล้าหญ้าแพรกบ้นน |
|
ใบตูม |
เชียระเชียระใบ |
|
บาตน้ำ |
โอมโอมพระภูมะ |
|
เทเวศร์ |
เทเศร์สืบค้ำฟ้า |
|
เที่ยงเฮยย่ำเฮยฯ |
|
|
บททำนายเมฆ เขียนขึ้นด้วย
สีฝุ่นจีนงดงาม |
|
ความคิดเรื่องกำเนิดของระบบจักรวาล โลก และมนุษย์ จากอัคคัญสูตรที่ถ่ายทอดสู่โองการแช่งน้ำ
และได้ใช้ในพระราชพิธีหลวง
สืบต่อมาตั้งแต่โบราณโดยไม่มีเว้นว่าง แสดงให้เห็นว่า ในยุคสมัยที่ผ่านมา
คติเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบจักรวาล
ที่วิวัฒน์มาพร้อมกันนี้
ได้เคยเป็นสาระสำคัญยิ่ง
ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน วัฒนธรรม คติความคิด ความเชื่อ
และสภาพสังคมไทย
ให้สอดคล้องกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว เพราะนอกจากมนุษย์จะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแล้ว
พฤติกรรมของมนุษย์
ยังมีส่วนกำหนดดินฟ้าอากาศและฤดูกาล
ว่าจะสม่ำเสมอ
หรือแปรปรวนมากน้อยเพียงใด
ความคิดที่ว่าเมื่อผู้นำ
หรือผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม
อันทำให้คนทั้งหลายพลอยไม่ตั้งอยู่ในธรรมด้วย
และเป็นผลให้ระบบโลกและจักรวาลทั้งหมด
แปรปรวนไปด้วยนี้ เป็นคติที่ยังมีปรากฏอยู่ในธัมมิกสูตร พระบาลีสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ปัตตกัมมวรรค อีกด้วยดังที่ว่า
(๗๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราช-การไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมพัดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน
|
|
ดาวประจำเมืองต่าง ๆ
กำหนดตามกลุ่มดาว
ที่พระจันทร์โคจรผ่าน |
|
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกันย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนสม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนสม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอกัน ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ เมื่อลมพัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทาง เมื่อลมพัดไปถูกทาง เทวดาย่อมไม่กำเริบ เมื่อเทวดาไม่กำเริบ ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวกล้าที่สุกเสมอกัน ย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง และมีอาพาธน้อย"
ด้วยหลักธรรมทั้ง ๒ พระสูตรที่ยกมาข้างต้นนี้เอง จึงทำให้ทราบว่า คติที่ปรากฏในตำราดาว ซึ่งกล่าวถึงการเคลื่อนที่ผิดปกติของดวงดาวและพระจันทร์ การแปรปรวนของธรรมชาติ หมายถึงนิมิตอันแสดงให้เห็นความวิปริตของ บ้านเมือง เหล่าผู้ปกครอง ขุนนาง ข้าราชการ เหล่านี้ล้วนมีที่มาและเป็นคติที่สืบทอดมาจากอัคคัญญสูตร ธัมมิกสูตร
ทั้งยังได้รับการทบทวนตอกย้ำ
ผ่านทางลิลิตโองการแช่งน้ำ
แสดงให้เห็นว่าการที่จักรวาลและมนุษย์
ต่างวิวัฒนาการมาพร้อมกันอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน ดังนั้นเมื่อผู้ปกครอง ขุนนาง ข้าราชการวิปริต แปรปรวน ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ธรรมชาติก็วิปริตไปด้วย
ความเข้าใจเช่นนี้
นำไปสู่การพิจารณาสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัว
อย่างละเอียดเก็บเป็นสถิติ เป็นองค์ความรู้ สั่งสมไว้ใช้ในการ "ถอดรหัส" หาความหมายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร เป็นการไม่ประมาท เพื่อจะได้มีโอกาส มีสติเตรียมตัวเผชิญปัญหา และแก้ปัญหาต่างๆ
|
|
บททำนายความมั่นคง ของเมือง การสังเกต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ |
|
การเมืองเรื่องของดาว
เป็นที่น่าสังเกตว่า
ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์
ได้มีการบันทึกเรื่องราวของดาวประจำเมืองต่างๆ ไว้ครบทั้ง ๒๗ นักษัตรที่พระจันทร์โคจรผ่าน
ดังเช่น
กลุ่มดาวกฤติกาหรือดาวลูกไก่
(Pleiades) เป็นดาวประจำเมืองลำพูน ดาวโรหิณี
(Aldebaran) เป็นดาวประจำเมืองของกรุงศรีอยุธยา ดาวภรณี
(Triangle) เป็นดาวประจำเมืองพุกาม
เรื่องของดาวประจำเมือง หรือดาวประจำตัวแม่ทัพ ขุนทหาร เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกับการรบสมัยก่อนรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนรับอารยธรรมตะวันตก เนื่องจาก
ดาวประจำเมืองนั้น
มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในการบ่งชี้ความเป็นไปทั้งด้านดีด้านร้ายของเมือง ด้วยเหตุนี้เองในการทำศึก หรือเมืองใดจะยกทัพไปรบกับเมืองใด จึงจะต้องมีการดูดาวประจำเมืองเสียก่อน
ว่าขณะนั้นดาวประจำเมืองตน
และดาวประจำเมืองศัตรูสุกใส สลดสีอย่างไรหรือไม่ ดาวประจำเมืองจึงเป็นเสมือนตัวชี้นำให้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้า
การดูดาวจึงเป็นวิชาหนึ่งของผู้ปกครอง
ที่จะต้องศึกษาให้แตกฉาน และต้องแตกฉานขนาดที่จะต้องรู้ต่อไปอีกด้วยว่า
ดาวประจำเมืองของแต่ละเมือง
มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใด
ด้วยเหตุที่ดาวแต่ละดวง
ย่อมมีคุณลักษณะและศักดิ์ต่าง ๆ กัน เป็นอริกันบ้าง วินาสน์กันบ้าง สนับสนุนกันบ้าง ข่มกันบ้างเป็นต้น ตัวอย่างเช่น
ดาวโรหิณี
ซึ่งเป็นดาวประจำกรุงศรีอยุธยา อยู่ในตำแหน่งที่เป็นวินาสน์ ของดาวมฤคศิระ
(บางส่วนของกลุ่มดาวORION) อันเป็นดาวประจำเมืองของกรุงหงสาวดี น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พม่าต้องมีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี
หรือไม่ก็มาชุมนุมทัพ
เพื่อเอาฤกษ์ที่หงสาวดีก่อนเสมอ แม้เกณฑ์ทัพเชียงใหม่ไปช่วย ก็ยังให้เชียงใหม่ไปชุมนุมที่หงสาวดีก่อน และเมื่อใดที่อยุธยาเข้มแข็งขึ้น
พม่าจะย้ายเมืองหลวง
หนีจากหงสาวดีเสียทุกครั้งไป
ที่เป็นดังนี้ก็เพราะพม่าและไทย
ต่างก็ดูดาวประจำเมืองซึ่งกันและกันอยู่เสมอ การดูดาวจึงเป็นวิชาที่แม่ทัพนายกองต้องศึกษา และหวงแหนดวงชะตาของตนไม่ให้รู้ไปถึงข้าศึก
ตำราดาวจึงถูกนับเนื่อง
เข้าเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติเรื่องหนึ่งในสมัยโบราณ
|
|
บททำนายความมั่นคง ของเมือง โดยสังเกตจาก เหตุการณ์วิปริตผิดธรรมชาติ |
|
ที่น่าสนใจก็คือการบันทึกเรื่องราวของดาวประจำเมือง
ในตำราดาวฉบับขุนโพธิ์นั้น ไม่มีการกล่าวถึงดาวประจำเมืองกรุงเทพฯ
รวมทั้งเนื้อหาคำทำนาย
ถึงความวิปริตของธรรมชาติทั้งหมด
ล้วนมุ่งตรงไปยังเรื่องของความมั่นคงภายในราชสำนัก
ถึง ๗๖ บททำนาย
มากเสียยิ่งกว่าคำทำนาย
ที่กล่าวถึงการเมืองระหว่างรัฐ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า
เนื้อหาของตำราดาวมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา อย่างน้อยก็ช่วงอยุธยาตอนปลาย ครั้งยังไม่มีกรุงเทพฯ
ซึ่งในช่วงอยุธยานั้น
มีความผันผวนทางด้านความมั่นคงในราชสำนักอย่างรุนแรง ความไม่มั่นคงจากการแบ่งเป็นขั้วอำนาจต่างๆ จนเกิดความขัดแย้งของระบบการเมืองภายในราชสำนัก ดังที่เห็นเป็นเค้าเงาอยู่ในคัมภีร์ตำราดาวนี้
ดูจะสอดคล้องกับสภาพการเมืองไทย
ในสมัยอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลอดช่วงเวลา ๔๑๗ ปีเคยมีผู้คำนวณว่า เกิดกบฏและรัฐประหารแทบจะ ๑๐ ปีต่อ ๑ ครั้ง
แม้ในสมัยรุ่งเรืองทางวรรณคดี
และเศรษฐกิจอย่างเช่นยุคของพระนารายณ์มหาราช อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็เคยวิเคราะห์ไว้ว่า
การผูกพันพระองค์เองของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ให้เข้ากับฝรั่งเศสอย่างแนบแน่นนั้น
เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง
และการต่อสู้ของกลุ่มต่าง ๆ
ภายในระบบการเมืองของอยุธยา
มากกว่าเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ
และการเข้ามาของกองทหารฝรั่งเศส
ในราชสำนักอยุธยา
ยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับขุนนางภายในราชสำนัก ก็เป็นไปเพื่อที่จะ "เสริมสร้างกองกำลัง "ส่วนพระองค์" ให้เข้มแข็ง"
การกบฏและช่วงชิงอำนาจกันเอง
ของขุนนางและราชวงศ์สายต่าง ๆ
ตลอดสมัยอยุธยา
เป็นเครื่องยืนยันถึงความเปราะบาง
ในความสัมพันธ์ระหว่างคนในราชสำนักเป็นอย่างดี และเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ความแตกแยกภายในพระราชวงศ์
ก็ยังเป็นประเพณีของผู้มีอำนาจ
ที่สืบต่อมาอย่างเป็นปกติ
ดังเช่นเมื่อถึงช่วงปลายแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อจะผลัดแผ่นดินเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ เจ้านายและพระราชวงศ์ก็ได้แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อีกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ
จนแม้เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว
ก็ยังมีเจ้านายอีกหลายพระองค์
ที่ทรงมักใหญ่ใฝ่สูง คิดจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เช่นกรมหลวงรักษรณเรศ และเจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นต้น
เมื่อกรมหลวงรักษรณเรศ
ถูกถอดลงเป็นหม่อมไกรสร
และถูกสำเร็จโทษ
ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
แล้ว บรรดาเจ้านายต่างระวังพระองค์ ไม่กล้าสะสมกำลัง
เจ้าฟ้าอาภรณ์ถึงกับทรงเสียพระสติ
และสิ้นพระชนม์คาเครื่องจองจำ
ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย
เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ปกครองไทย เรื่องราวเหล่านั้นอยู่ในจดหมายเหตุ วรรณคดี พงศาวดารฉบับต่าง ๆ และยังได้สะท้อนอยู่ในคัมภีร์ตำราดาว ผ่านทาง ๗๖
บททำนาย
ที่ทำหน้าที่เก็บงำภาพการเมืองและสังคมไทยในอดีตเอาไว้อย่างแจ่มชัด
|
|
บททำนายดาวหาง
และดาวเข้าในวงพระจันทร์ |
|
ความสำคัญของโหราศาสตร์ต่อราชสำนักไทยในอดีต
เป็นเรื่องที่พึงพิจารณาอย่างยิ่ง
เพราะแม้แต่ในกฎหมายตราสามดวง
หรือประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมตำรากฎหมายเก่า ในส่วนที่ว่าด้วยพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ยังปรากฏหลักฐานทำเนียบศักดินาข้าราชการกรมโหรดังนี้คือ
พระโหราธิบดี เจ้ากรมโหรหน้า |
|
นา ๓๐๐๐ |
ขุนโชคปลัดกรม |
|
นา ๘๐๐ |
ขุนในกรมโหรหน้า |
|
นาคล ๔๐๐ |
หลวงโลกทีป เจ้ากรมโหรหลัง |
|
นา ๑๖๐๐ |
ขุนเทพากรปลัดกรม |
|
นา ๘๐๐ |
ขุนในกรมโหรหลัง ๖ คน |
|
นา ๔๐๐ |
หมื่นในกรมโหร ๖ คน |
|
นา ๓๐๐ |
เลว |
|
นา ๒๐๐ |
ประนินทิน ๓ คน |
|
นา ๒๐๐ |
กรมโหรนี้ น่าจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องดวงดาว และเรื่องโหราศาสตร์ การคำนวณปฏิทิน ฤกษ์ ยาม ต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มผู้สร้างและกลุ่มผู้ใช้คัมภีร์ตำราดาวนั้น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ความเห็นว่า "คัมภีร์ตำราดาวน่าจะแพร่หลายอยู่ในกลุ่มผู้ปกครอง ปัญญาชน
โดยเฉพาะผู้นำ
และนักการเมืองที่มีความเสี่ยงสูง และปรากฏการณ์ตามบททำนายที่เกิดขึ้นนั้น
เป็นดั่งสัญญาณบอกเหตุ
ที่คนชั้นสูงทุกฝ่ายรับรู้ เข้าใจ และสื่อถึงกันได้" ด้วยเหตุนี้เองในอีกทางหนึ่ง
คัมภีร์ตำราดาว
จึงถูกใช้ให้มีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมทางการเมือง
ของชนชั้นสูงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ราชเทวี อำมาตย์ ขุนนาง ปุโรหิต
เพราะหากขยับตัวกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้เสียสมดุลทางการเมือง ธรรมชาติก็พร้อมที่จะ "ฟ้อง" ให้เห็นพฤติกรรมอันผิดปกติได้ทันที หรือในอีกประเด็นหนึ่งก็คือ
คัมภีร์ตำราดาวโดยตัวมันเองนั้น
ได้ถูกปัญญาชนโบราณ
ใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์
พฤติกรรมของผู้มีอำนาจในสังคมอีกด้วย เพราะหากสังเกตดูแล้ว บททำนายในคัมภีร์ดูจะเต็มไปด้วยนิมิตร้ายเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องดี ๆ ไม่ค่อยจะมีกล่าวถึงสักเท่าไหร่
และนิมิตร้ายที่สามารถมีปรากฏการณ์ธรรมชาติ
มารองรับให้มองเห็นรับรู้กันได้ถ้วนทั่วในทุกหมู่ชนเช่นนี้เอง ที่สามารถสร้างกระแส "ข่าวลือ" ให้แพร่หลายรุนแรงได้อย่างรวดเร็วยิ่ง ซึ่งในทางมานุษยวิทยาแล้ว
การนินทาว่าร้าย
หรือกระแสข่าวลือนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระเบียบให้กับสังคม
|
|
บททำนายโชคลาภ ด้วยการสังเกต การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของธรรมชาติ |
|
นอกจากนี้เนื้อหาของคัมภีร์ตำราดาว
ที่กล่าวถึงการเคลื่อนที่ของดาวพระเคราะห์
และกลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ นั้น
ได้ผูกพันอยู่กับคติจักรวาลวิทยา
ที่ปรากฏอยู่ในไตรภูมิกถาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนของอวินิโภครูป ซึ่งกล่าวถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนักษัตร การหมุนเวียนของฤดูกาล ลมฟ้าอากาศ และคัมภีร์ไตรภูมิกถา ที่รวบรวมเขียนขึ้นโดยพญาลิไทนี้เอง
ที่ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง
กับปรัชญาทางศาสนา
และการเมืองไทย ดังที่ ส.ศิวรักษ์
เคยกล่าวไว้ในการปาฐกถาครั้งหนึ่งว่า "ผลพลอยได้จากพระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ก็คือ ไตรภูมิกถาได้กลายมาเป็นปรัชญาการเมืองของไทย
ซึ่งสามารถสร้างอุดมการณ์แห่งชาติไว้ได้ตลอดมา
จนสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์"
เป็นไปได้ว่าคัมภีร์ตำราดาว
ยังแพร่หลายอยู่มาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์
เพราะเมื่อมีการเก็บรวบรวมหนังสือ
เพื่อตั้งหอสมุดวชิรญาณในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก็ยังรวบรวมคัมภีร์ตำราดาว
จากที่ต่างๆมาได้เป็นจำนวนมาก และยังคงเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรีมาจนบัดนี้
การใช้คัมภีร์ตำราดาวในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
น่าจะจางคลาย และค่อยๆ
สูญสลายไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเปิดรับวิทยาการจากตะวันตก
และทำให้คัมภีร์ตำราดาว
ได้แปรรูปไปพร้อมกับวิชาดาราศาสตร์โบราณ
ซึ่งรวมเอาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์
ที่ใช้โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเข้าด้วยกัน วิชาดาราศาสตร์ได้เติบโตไปในทางวิทยาศาสตร์ ค้นหาความจริงของจักรวาล ขณะที่วิชาโหราศาสตร์
ได้ถูกพัฒนาและผูกพันตัวเองอย่างเข้มข้น
เข้ากับวิชาไสยศาสตร์ การสะเดาะเคราะห์ บูชาเทพเจ้าต่างๆ และมีอิทธิพลล้ำลึกอยู่ในหมู่ผู้ปกครอง นักการเมือง นายทหาร นักธุรกิจทุกระดับ รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงนับได้ว่า แม้ปัจจุบันคัมภีร์ตำราดาวจะถูกเก็บอยู่บนหิ้งพระตามบ้าน ในตู้พระธรรมตามวัดต่างๆ หรือในลิ้นชักของหอสมุด
แต่อิทธิพลที่คัมภีร์ตำราดาว
ฝากร่องรอยไว้ในสังคมไทยก็ได้หยั่งรากลึก อย่างยากที่จะขุดถอนได้
|
|
บททำนายความมั่นคง ของเมือง ด้วยการสังเกตสิ่งต่าง ๆ |
|
ดาราศาสตร์สมัยใหม่
โลกครั้งอดีตในยามค่ำคืน ที่ไร้การรบกวนของแสงวิทยาศาสตร์ ท้องฟ้ากลางคืนงามสงัด บรรพชนของเราได้ใช้ดวงดาวเป็นหมายบอกทิศ และบอกเวลา หมุนเวียนสังเกตท้องฟ้ากันทุกฤดูกาล
ความชำนาญนี้
ได้รับการสั่งสมขึ้นเป็นองค์ความรู้อันลึกซึ้ง และใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในการดำรงชีวิต
แต่บัดนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว
นับแต่ Ptolemy นักดาราศาสตร์กรีกในราชสำนักอียิปต์ มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗
ได้สถาปนาความเชื่ออันแข็งแกร่ง
ที่สืบทอดมาอีกนับพันปีภายหลังว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยที่พระจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ พระอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดีโคจรอยู่รอบโลก (Geo-Centric System)
ทฤษฎีของปโตเลมี
ได้รับการยอมรับว่า
ถูกต้องสมบูรณ์อยู่จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๐๘๖ มีนักบวชโปแลนด์คนหนึ่งคือ Copernicus ได้ประกาศหักร้างความเชื่อเดิมว่า โลกและดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ จากนั้นเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการดูดาวขึ้น Galileo
ก็ได้ใช้กล้องโทรทัศน์
ส่องดูเทห์ฟากฟ้าเป็นคนแรก
ในปี พ.ศ.๒๑๕๒ และประกาศว่า โลกมิใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่โคจรรอบดวงอาทิตย์ (Helio-Centric System) แม้ต่อมา Galileo จะถูกขึ้นศาลศาสนาในยุคนั้น
แต่มิติใหม่ทางดาราศาสตร์ของโลก
ก็ได้เปิดขึ้นแล้ว และนับแต่นั้น
ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์
ที่ได้เคยเจริญควบคู่กันมา
ก็ได้แยกห่างจากกัน
เมื่อมนุษย์มีเครื่องมือในการตรวจดูดวงดาวเป็นพิเศษนี้เอง
ในส่วนของคนไทยนั้น
มีหลักฐานว่าเริ่มรับเทคโนโลยี
การดูดาวด้วยกล้องโทรทัศน์
ที่มีกำลังขยายสูง ศึกษาลูกโลก ตรวจสอบการโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์
ดวงดาวเป็นครั้งแรก
ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-พ.ศ.๒๒๓๑) ซึ่งมีการติดต่อกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งราชสำนักฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด
อุปกรณ์ในการดูดาวต่างๆ
ถูกนำถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์ดังเช่น กล้องโทรทัศน์ (Telescope) มีขนาดความยาว ๓๐ คืบพร้อมขาตั้ง ๓ ขา มีเลนส์ใหญ่ ๔ เลนส์ สร้างขึ้นโดย Mr.John Baptist Dindone เพื่อให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ไว้ใช้ทรงดูดาว และมีคณะบาทหลวงเยซูอิตถึง ๖
คนซึ่งชำนาญในทางคณิตศาสตร์
และดาราศาสตร์
เดินทางเข้ามาในราชสำนักอยุธยา และหลังจากนั้น
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ก็ได้ทรงกราบทูลขอพระบาทหลวงเยซูอิต
ที่เป็นนักคณิตศาสตร์
จากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพิ่มมาอีก ๑๒ รูป ซึ่งเข้ามาเมืองไทยพร้อมกับ "เครื่องวัดเสี้ยววงกลมสองสำรับ
นาฬิกามีลูกตุ้ม
สำหรับใช้จับเวลาในการสำรวจดวงดาวสองเรือน วงแหวนสำหรับใช้ในการดาราศาสตร์หนึ่งชุด เครื่องมือสำหรับวัดความเหลื่อม ๑ ชุด บรรทัดกึ่งวงกลมขนาดต่าง ๆ "
|
|
บททำนายความมั่นคง ของเมือง ด้วยการสังเกต
ปรากฏการณ์
วิปริตทางธรรมชาติ |
|
อีกทั้งสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ทรงสร้างโบสถ์
และหอดูดาวสำหรับดูดาวเมื่อกว่า ๓๐๐ ปีที่แล้ว
ที่ปัจจุบันยังเหลือซากอาคาร
เป็นร่องรอยหลักฐานอยู่ที่จ.ลพบุรี คือ อาคารพระที่นั่งไกรสรสีหราช ซากหอดูดาววัดสันเปาโล และตึกโคโรซาน ในเขตบ้านพักราชทูตเปอร์เซีย ที่บาทหลวงฝรั่งเศสเคยพำนัก และแบ่งห้องพักห้องหนึ่งไว้เป็นหอดูดาว
เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
วิทยาการทางด้านดาราศาสตร์แบบตะวันตก
ที่เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย
ก็ได้หยุดชะงักไปอีกเป็นเวลาร้อยกว่าปี
จนกระทั่งถึงช่วงสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) พระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาการต่างๆ อย่างยิ่ง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ชั้นสูง เรขาคณิต ตรีโกณมิติ
โหราศาสตร์
ร่วมกับระเบียบการคำณวนแบบมอญ
รวมถึงดาราศาสตร์สมัยใหม่
และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ความสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์
ของพระองค์นั้น ดูจะเห็นได้ชัดเจนจากบันทึกของ Sir John Bowring ที่กล่าวว่า
ที่ประทับส่วนพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง เต็มไปด้วยเครื่องมือ ทั้งด้านปรัชญาและคำนวณ เช่นนาฬิกาทั้งชนิดตั้งและแขวนแบบปารีส เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความกดดันอากาศ กล้องส่องทางไกล กล้องจุลทรรศน์ - หรือกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องมือ เครื่องทดลองทั้งหมด ที่มีอยู่ในห้องทำงานของนักปราชญ์เมธีที่เชี่ยวชาญในยุโรปนั่นเทียว -
โดยเฉพาะกล้องโทรทัศน์
ที่สมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งอังกฤษ
ถวายมานั้น มีคุณภาพต่ำกว่ากล้องที่พระองค์ทรงมีอยู่แล้ว
ความสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดอีกครั้ง เมื่อพระองค์ได้ทรงสร้าง "หอชัชวาลเวียงชัย" ไว้เป็นหอดูดาว ที่บริเวณพระราชวังพระนครคีรี บนยอดเขาวัง จ.เพชรบุรี นอกจากนั้นพระองค์ ยังได้ทรงคำนวณสถานที่ และเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในเมืองไทย ณ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ได้อย่างแม่นยำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ด้วยวิธีโหราศาสตร์ สารัมภ์ไทย สารัมภ์มอญ และตำราอเมริกันอังกฤษหลายฉบับ
ซึ่งผลการคำนวณของพระองค์นั้น
ถูกถ้วนแม่นยำยิ่งกว่าชาวฝรั่งเศส
ซึ่งคำนวณคลาดเคลื่อนไป ๒ วินาที และจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ว่า
พระองค์ทรงใช้เทคโนโลยีทางดาราศาสตร์อย่างไร
จึงสามารถให้ผลที่แม่นยำเช่นนั้น
หลังจากสิ้นสุดแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยาการด้านดาราศาสตร์สากลสมัยใหม่
ก็ได้เจริญควบคู่ไปกับการศึกษาแผนใหม่
และโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์
ซึ่งเชื่อในสิ่งที่สามารถสังเกต ทดลอง และตรวจสอบความจริงได้
ในขณะที่การดูดาว
เพื่อทายทักเหตุการณ์ดีร้ายของบรรพชนไทย ก็ได้พัฒนาไปสู่วิชาโหราศาสตร์อย่างสมบูรณ์
ดาราศาสตร์
และโหราศาสตร์ของไทย
ที่เคยรวมอยู่ในวิชาเดียวกัน จึงแยกห่างจากกันออกไปนับแต่บัดนั้น
การแบ่งแยกระหว่างดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ในเมืองไทย ดูจะเห็นได้เด่นชัด ในวิธีการบอกเวลาของคนไทยนั่นเอง เมื่อประเทศไทยเริ่มรับอารยธรรมตะวันตก มีการใช้นาฬิกาอย่างแพร่หลาย
ความเข้าใจในระบบการบอกเวลาแบบเดิม
ที่เคยผูกพันอยู่กับโหราศาสตร์ และดาราศาสตร์โบราณก็เริ่มลบเลือน ดวงดาวเกี่ยวข้องกับชีวิตน้อยลงทุกที หลายร้อยปีขององค์ความรู้ที่สั่งสมมา กำลังจะกลายเป็นความทรงจำ
แม้แต่คนเรือประมงพื้นบ้าน
ที่เคยใช้ดาวว่าว ดาวอีเป้า (Southern Cross) บอกทิศใต้ และดาวจระเข้ (Ursa Major) บอกทิศเหนือ ก็ยังกล่าวว่า ปรับมาใช้แสงไฟจากคอนโดมีเนียมชายฝั่งทะเล จะกำหนดทิศ กำหนดหมายได้ง่ายกว่าดวงดาวมาก เช่นเดียวกับชาวนา คนเดินป่า หรือโจร ต่างก็มีอุปกรณ์สมัยใหม่ทั้งเข็มทิศ นาฬิกา ปฏิทิน ฯลฯ อันสามารถทดแทนประโยชน์จากดวงดาวได้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด
ขณะที่คัมภีร์ตำราดาว สมุดพระตำราฤกษ์บน ตำราดูนิมิต ฯลฯ อันเคยเป็นแหล่งรวมของวิชาและปัญญาในวันวาน
ก็ถูกทอดทิ้งหลงลืมไปพร้อมๆ
กันมาแต่บัดนั้น
........................................
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท
เรื่อง "TAMRADAO" a Thai Astrological Text and Analytical
Study. ของ Ms.Nipatporn Pengkaew สาขา Thai Epigraphy แผนก
Oriental Language ปี 1995
มหาวิทยาลัยศิลปากร
|
|
|
|
หนังสือประกอบการเขียน
๑. กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่, ๒๕๒๑.
๒. กนก จันทร์ขจร. คู่มือดูดาว. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์สยามการพิมพ์, ๒๕๓๐.
๓. กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๐๕.
๔. กรมศิลปากร. วรรณคดีสัญจัย. กรุงเทพฯ:
ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์, ๒๕๐๓.
๕. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑-๕. กรุงเทพมหานคร:
กรมศิลปากร, ๒๕๒๙.
๖. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพมหานคร:กรมศิลปากร, ๒๕๒๗.
๗. จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ดวงกมล, ๒๕๒๔.
๘. ตำราทำนายฝัน. พระนคร:
โรงพิมพ์สิริชัย, ๒๔๗๖.
๙. ตาชารด์,บาทหลวง. การเดินทางของบาทหลวงตาซารด์มายังประเทศสยาม ค.ศ.๑๖๘๖ (พ.ศ.๒๒๒๙)
เล่ม ๑. แปลโดย ดวงเพ็ญ พันธ์หงษ์. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากร, ๒๕๑๓.
๑๐. ตาชารด์,บาทหลวง. การเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ เล่ม ๑-๓. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากร, ๒๕๒๑.
๑๑. ตาชารด์,บาทหลวง. จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชารด์ ค.ศ.๑๖๘๗-๑๖๘๘. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากร, ๒๕๑๙.
๑๒. เทพย์ สาริกบุตร. โหราศาสตร์ปริทรรศน์ ภาค ๑. พระนคร:
อุตสาหกรรมการพิมพ์, ๒๕๐๖.
๑๓. ธวัช ปุณโณทก. ศิลาจารึกอีสาน. กรุงเทพฯ:
คุณพินอักษรกิจ, ๒๕๓๐.
๑๔. นงคราญ ศรีชาย. "โบราณสถานในลพบุรีที่เกี่ยวเนื่องกับดาราศาสตร์ไทย." เมืองโบราณ
ปีที่ ๒๐, ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๓๗):๑๐๙-๑๑๔.
๑๕. นราธิปประพันธ์พงศ์,สมเด็จกรมพระ. ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์. พระนคร:
โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๔๙๕.
๑๖. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๗.
๑๗. นิพนธ์ ทรายเพชร. มหัศจรรย์มนุษย์กับดวงดาว. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๘.
|
|
|
|
๑๘. โบราณราชธานินท์,พระยา.
อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัย
ของพระยาโบราณราชธานินท์. พระนคร:
โรงพิมพ์โสภณพิรรฒนากร, ๒๔๖๙.
๑๙. ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๔. พระนคร:
สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕๐๗.
๒๐. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม(จากฉบับของบริติชมิวเซียม). พระนคร:
สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕๐๗..
๒๑. พิภพ ตังคณะสิงห์. จักรทีปนีไทย. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, ๒๕๐๙..
๒๒. ล้อม เพ็งแก้ว. "ดวงชะตา." สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙. ๓(๒๕๒๙):
๑๑๓๔-๑๑๓๖.
๒๓. ล้อม เพ็งแก้ว . "ดาวประจำเมืองนคร." เดือนสิบ'๒๖. ปีที่ ๑, ฉบับที่ ๑ (ตุลาคม ๒๕๒๖):
๑๒๓-๑๒๕.
๒๔. ลิไท,พญา. ไตรภูมิกถา. กรุงเทพฯ:คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ,
๒๕๒๘.
๒๕. นครศรีธรรมราช,วิทยาลัยครู. ตำราดูนิมิต. กรุงเทพฯ:
ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครู นครศรีธรรมราชและมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่น, ๒๕๒๗.
๒๖. วิศาลดรุณกร,หลวง. คัมภีร์โหราศาสตร์ไทยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์ศิลปสาส์น, ๒๕๐๘.
๒๗. วีระ สมบูรณ์. รัฐธรรมในอดีต. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๒.
๒๘. สวัสดิสารศาสตร์พุทธิ,หลวง. อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ณ เมรุวัดธาตุทอง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖. กรุงเทพฯ:
อรุณการพิมพ์, ๒๕๑๖.
๒๙. ส.ศิวรักษ์. การสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย. กรุงเทพฯ:
บริษัทสยามสมัยจำกัด, ๒๕๒๙.
๓๐. สิงห์โต ปุกหุต. แนะดูดาวฤกษ์อย่างง่ายใต้ฟ้าเมืองไทย. กรุงเทพฯ:
องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๓๒.
๓๑. สิงห์โต ปุกหุต. ประวัติดาราศาสตร์ย่อ ๆ. กรุงเทพฯ:
ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๐๗.
๓๒. สิงห์โต ปุกหุต. พระบิดาดาราศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ:
สุวีริยาสาส์น, ๒๕๒๗.
๓๓. อรรถวาทีธรรมประวรรต,หลวง. โหราศาสตร์นิเทศ. กรุงเทพฯ:
อมรการพิมพ์, ๒๕๐๗.
|
|