สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕ "โค้งสุดท้าย พ.ร.บ. ป่าชุมชน รับหรือไม่รับ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕  

หมีควาย-หมีหมา ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง

เรื่องและภาพ : สมาน คุณความดี

(คลิกดูภาพใหญ่)

      ปลายฤดูหนาว ผืนป่าเต็งรังในห้วยขาแข้งกำลังผลัดใบ ฤดูกาลแห่งป่าเปลี่ยนสีกลับมาเยือนอีกครั้ง ผมเลี่ยงจากหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดที่มีผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก และเลือกเดินทางมาที่หน่วยฯ กระปุกกระเปียงแทน
      หน้าแล้งอย่างนี้แม้เส้นทางจะไม่เฉอะแฉะเปียกลื่นเต็มไปด้วยโคลนเหมือนในหน้าฝน แต่การเดินทางก็ยังคงยากลำบากอยู่ดี ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตรจากสำนักงานเขตฯ ห้วยขาแข้งไปยังหน่วยฯ กระปุกกระเปียง คงมีเพียงรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นที่ใช้งานได้ดี แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง อาศัยขับไปดูนกไปพอเพลิน ๆ เส้นทางสายนี้มีนกสีสันสวยงามหลายชนิด โดยเฉพาะนกหัวขวานเขียวตะโพกแดงที่ชอบหากินอยู่ตามป่าเต็งรัง อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า ถ้าโชคดี ผมอาจได้เจอสัตว์แปลก ๆ บ้าง เพราะบนเส้นทางสายนี้เคยมีรายงานการพบเสือดำเสือดาวมาแล้ว
      เข้าป่าคราวนี้ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ถึงแม้ป่าตะวันตก โดยเฉพาะป่าห้วยขาแข้งซึ่งถือเป็นหัวใจของผืนป่า จะจัดเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด แต่เอาเข้าจริงโอกาสที่เราจะได้พบเห็นสัตว์ป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัตว์ป่าเมืองไทยไม่ใช่สัตว์ที่ออกหากินตามทุ่งโล่ง เหมือนอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์สารคดีชีวิตสัตว์ป่าในแอฟริกา จุดที่เราพอจะไปเฝ้าดูสัตว์ได้ก็มีเพียงตามโป่งขนาดใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีสัตว์ป่าลงหากินอยู่เป็นประจำ โป่งขนาดใหญ่ในเขตฯ ห้วยขาแข้งมีอยู่หลายแห่ง อย่างโป่งซับเก้า โป่งทะลุ โป่งกะลา ฯลฯ รวมถึงโป่งพุน้ำร้อนที่ผมตั้งใจมาในครั้งนี้


(คลิกดูภาพใหญ่)       ผืนป่ามรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง อาจเรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมพืชพรรณและสัตว์ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ผืนป่าแห่งนี้เป็นเสมือนห้องสมุดธรรมชาติ ที่เปิดให้ผู้คนที่สนใจตลอดจนนักวิชาการเดินทาง เข้ามาศึกษาหาความรู้ และสำหรับบรรดาช่างภาพ โดยเฉพาะช่างภาพที่นิยมถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่า คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ที่นี่เป็นแหล่งข้อมูลอันอุดมที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านภาพถ่าย ช่างภาพหลายคนสร้างชื่อจากผืนป่าแห่งนี้ และหลายคนก็มีป่าผืนนี้เป็นแรงบันดาลใจ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อาศัยผืนป่าห้วยขาแข้ง นั่งซุ้มเฝ้าดูสัตว์ป่ามานานหลายปี มีทั้งสมหวังและผิดหวัง กว่าจะพบเห็นสัตว์ป่าและเก็บภาพของมันไว้ได้ ก็ต้องใช้เวลาและความอดทนไม่น้อย
      เมื่อถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียง ผมก็ตรงเข้าพักที่บ้านพักหลังเล็ก ๆ ของหน่วยฯ ก่อนจะแวะคุยกับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ที่นั่น จนได้รู้ว่าสองสามวันก่อน มีคนเจอกวางนอนตายอยู่ห่างจากหน่วยฯ ไปไม่ไกลนัก ข่าวนี้ทำให้ผมคึกคักขึ้นมาทันที สำหรับช่างภาพแล้ว ซากสัตว์ขนาดใหญ่เป็น "อุปกรณ์เสริม" อย่างดี เพราะมันจะดึงดูดเหล่าสัตว์ผู้ล่าหรือสัตว์กินเนื้อกินซากชนิดต่าง ๆ เข้ามา และเปิดโอกาสให้เราได้เก็บภาพพวกมันไว้ โดยอาศัยเพียงการทำบังไพรและเฝ้ารออย่างอดทนบริเวณซากนั้น 
      โชคดีที่คราวนี้ผมตัดสินใจที่จะลองใช้ "เทคนิคพิเศษ" ในการถ่ายภาพสัตว์ป่าดูบ้าง จึงลงทุนหอบหิ้ว "กล้องอินฟราเรด" หรือกล้องคาเมราแทรป เข้าป่ามาด้วย และก็นับว่าไม่เสียเที่ยว ที่ผ่านมา ผมเคยนั่งเฝ้าถ่ายภาพเสือกินซากกวางป่าในคืนอันหนาวเหน็บอย่างทรมาน แต่คราวนี้จะไม่เป็นอย่างนั้น 
      กล้องนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อมีสัตว์เข้ามากินซากหรือเดินผ่านกล้อง แต่เนื่องจากกล้องราคาหลายหมื่นบาท การนำมาใช้งานในป่าจึงนับเป็นการเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เกิดช้างป่าเดินผ่านเข้ามาบริเวณนี้ก็มีหวังถูกมันเหยียบแบน แต่ถึงอย่างนั้นการตั้งกล้องอินฟราเรด ก็เป็นหนทางที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด ที่เราจะสามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าที่หายากได้ อย่างไรก็ตามนักวิจัยส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาราว ๒-๓ สัปดาห์ในการตั้งกล้องทิ้งเอาไว้ ขณะที่ผมยอมเสี่ยงแค่คืนเดียวเท่านั้น 
      ผมตั้งกล้องห่างจากซากกวางป่าประมาณ ๑ เมตร ด้วยเลนส์มุมกว้าง ๒๐ มม. ไม่มีใครทำนายได้ว่า สิ่งที่จะปรากฏขึ้นบนแผ่นฟิล์มนั้นจะเป็นอะไร ผมเองไม่หวังอะไรมาก ขอแค่ให้มีสัตว์อะไรสักตัวแวะเข้ามาที่ซาก พอให้กล้องได้ทำงานเท่านั้นเป็นพอ
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันรุ่งขึ้นผมตื่นนอนก่อนใคร ๆ หลังจากธงชาติถูกชักขึ้นเสา ผมกับพี่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ ก็เดินทางเข้าไปยังซากกวาง สภาพของมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อวานมากนัก มีเพียงกลิ่นเน่าเหม็นที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น แมลงวันนับหมื่นนับแสนตัวพากันเกาะตามซากกวางเพื่อวางไข่ อีกไม่นานไข่เหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวหนอนทำหน้าที่ย่อยสลายซากต่อไป
      ผมเข้าไปดูที่กล้องที่ตั้งไว้ ก็พบว่าฟิล์มเลื่อนไปถึง ๖ เฟรม ในตอนนั้นผมไม่ได้นึกอะไรมาก ได้แต่หวังว่าเมื่อนำฟิล์มไปล้าง อาจโชคดีมี "นายแบบ" น่าสนใจหลงเข้ากล้องมาบ้างเท่านั้น
      หลังจากเก็บกล้องเรียบร้อย ผมพร้อมกับพี่พนม หัวหน้าหน่วยฯ กระปุกกระเปียง ก็เดินทางออกจากหน่วยฯ ไปอีกราว ๗ กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่คลองพลูที่อยู่ไม่ไกลจากโป่งพุน้ำร้อนนัก เส้นทางค่อนข้างลำบาก แต่รถขับเคลื่อนสี่ล้อขนาดเล็กของเราก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ระหว่างทางเราพบต้นไผ่ที่ถูกช้างป่าดึงลงมาขวางทางอยู่เป็นระยะ ต้องลงจากรถช่วยกันตัดและขนย้ายต้นไผ่ออกจากเส้นทาง
      เราอาศัยพักแรมที่คลองพลูซึ่งยังพอมีน้ำเหลืออยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก ก่อนจะเดินทางเข้าไปยังโป่งพุน้ำร้อนที่อยู่ห่างจากที่นี่ราว ๒ กิโลเมตร ป่าคลองพลูที่ล้อมรอบโป่งพุน้ำร้อนเป็นผืนป่าดิบแล้งผสมผสานกับป่าเบญจพรรณ มีพรรณไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บริเวณนี้จึงเป็นที่ที่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิยมมาทำวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ
      เราใช้เวลาไม่นานนักก็มาถึงโป่งพุน้ำร้อน สภาพโป่งไม่ได้แตกต่างไปจากที่ผมเคยเห็นเมื่อหลายปีก่อน บริเวณพุน้ำร้อนที่ไหลจากหัวโป่งลงสู่คลองพลูผ่านห้างบนต้นไม้ เต็มไปด้วยรอยตีนของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่เหยียบย่ำเอาไว้ มีทั้งรอยตีนช้าง เสือ สมเสร็จ ฯลฯ
      วันนี้แทนที่ผมจะปีนขึ้นห้างที่สร้างไว้บนต้นไม้สูง ซึ่งจะสามารถมองเห็นสัตว์ป่าจากมุมสูงได้ถนัดตากว่าบนพื้นดิน ผมกลับเปลี่ยนใจกางซุ้มบังไพรใต้พุ่มหวายที่เต็มไปด้วยหนามแหลมคม พุ่มหวายนี้อยู่ห่างจากห้างเพียง ๓ เมตร พี่พนมช่วยปรับแต่งพุ่มหวายให้เป็นที่กางซุ้มเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นผมก็จัดการกางซุ้มบังไพรอีกชั้นหนึ่งให้กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ โดยปรกติแล้วบริเวณรอบโป่งนี้ไม่มีใครกางซุ้มบังไพรบนพื้นดิน ส่วนใหญ่จะใช้ห้างบนต้นไม้แทน เนื่องจากเป็นแหล่งหากินของโขลงช้างป่า แต่วันนี้ผมหาญกล้า เพราะบริเวณรอบโป่ง ซึ่งเคยเป็นจุดแวะพักของช้างป่าก่อนลงกินโป่งนั้น ผืนดินแห้งผาก ช้างจึงเปลี่ยนไปแวะพักตามลำห้วยแทน พี่พนมบอกกับผมว่าในฤดูแล้งอย่างนี้ช้างป่าจะลงโป่งในเวลากลางคืน มีเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้นที่ช้างป่าจะลงโป่งในเวลากลางวัน แต่ถึงจะมีคำยืนยันให้อบอุ่นใจแค่ไหน ป่าก็ยังเป็นป่าอยู่วันยังค่ำ ไม่ควรประมาท
      หลังจากช่วยทำซุ้มเรียบร้อย พี่พนมก็ปล่อยผมไว้ตามลำพังในซุ้มบังไพร ผมต้องขดตัวอยู่ในซุ้มบังไพรนี้จนกว่าจะถึงตอนเย็นจึงจะกลับออกไป เพื่อจะกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์นับจากนี้เป็นต้นไป ผมจะต้องมาเฝ้าซุ้มตั้งแต่เช้าจดเย็นทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง กับความหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าจะมีสัตว์ป่าผ่านมาให้ได้เก็บภาพบ้าง
(คลิกดูภาพใหญ่)       เวลาผ่านเลยไปเกือบ ๓ ชั่วโมง แต่ผมก็ยังไม่ละสายตาจากช่องมองของซุ้มบังไพร ตาดูหูฟัง ผืนป่าที่เงียบสงัดทำให้ผมเริ่มฟุ้งซ่าน อยากเจอโน่นอยากเจอนี่ ดีที่อากาศในป่าค่อนข้างเย็นสบายไม่ร้อนอบอ้าว ไม่งั้นคงหงุดหงิดพอดู
      ครู่ใหญ่ ตรงข้ามกับจุดที่ผมกางซุ้มบังไพร มีเก้งตัวน้อยวิ่งหน้าตื่นออกมาจากราวป่า ท่าทางเหนื่อยหอบ ด้วยประสบการณ์ผมรู้ทันทีว่ามันคงถูกไล่ล่าจากนักล่าอย่างหมาในหรือเสือ ผมนั่งเงียบกริบ จ้องมองเจ้าเก้งตัวน้อยที่วิ่งเต็มฝีตีนของมันผ่านหน้าซุ้มบังไพรไป วินาทีนี้ ไม่ว่าสัตว์ที่ตามมาจะเป็นหมาในหรือเสือ ผมก็พร้อมที่จะกดชัตเตอร์ทันที 
      ทว่าเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่ผมคิด ไม่มีอะไรไล่ตามเก้งมา ผืนป่ายังคงเงียบงันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ...คงไม่มีอะไรดีกว่าทำใจและอดทนเฝ้ารอต่อไป 
      เวลาผ่านไปราวชั่วโมงเศษ เสียงฝีเท้าย่ำลงบนใบไม้แห้งกรอบแว่วมาจากทางด้านหลังของซุ้มบังไพร ถี่และเร็วขึ้นตามลำดับ ก่อนจะผ่านซุ้มบังไพรตรงไปยังกลางโป่ง เมื่อเจ้าของฝีเท้าผ่านหน้าซุ้ม ผมจึงเห็นว่ามันเป็นเก้งตัวเดิมที่ยังคงมีอาการตื่นตระหนก เหนื่อยหอบอย่างเห็นได้ชัด 
      ไม่ถึง ๓ นาทีต่อมา เสียงฝีเท้าย่ำลงบนใบไม้ที่แห้งกรอบก็ดังขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้หนักแน่นเป็นจังหวะ เมื่อมันผ่านหน้าซุ้มห่างออกไปไม่ถึง ๓ เมตร ผมก็พบว่ามันคือหมาใน-นักล่าประจำผืนป่า มันกำลังเดินผ่านโป่งตามเก้งกลับไปทางเดิม รวมเวลาแล้วหมาในตัวนี้ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นจ่าฝูง ใช้เวลานานนับชั่วโมงในการไล่ล่าเก้ง และห่างจากที่นี่ไม่ไกลคงมีฝูงของมันรอคอยจังหวะดักจับเก้งตัวนี้อยู่เช่นกัน
      ชีวิตของเก้งตัวนี้จะเป็นอย่างไร ผมคงไม่มีคำตอบ แต่ดูจากรูปการณ์แล้วมันคงไม่รอดแน่ อย่างน้อยเจ้าหมาในจ่าฝูงคงไม่ปล่อยให้อาหารมื้อนี้หลุดลอยไปง่าย ๆ แม้จะนึกสงสาร แต่ผมก็ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการไล่ล่า เพราะจะว่าไปแล้วทุกอย่างมันก็เป็นไปตามกระบวนการรักษาสมดุลในธรรมชาติ ในผืนป่า เราก็เป็นแต่เพียง "คนนอก" เท่านั้น รอจนใกล้โพล้เพล้ ผมก็ออกจากซุ้มบังไพรกลับแคมป์พักที่คลองพลู 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       วันที่ ๒ ผมมุดเข้าบังไพรตั้งแต่เช้าตรู่ นั่งมองดูฝูงนกเขาเปล้า นกหกเล็กปากแดง และนกมูม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงกินโป่ง ฝูงไหนลงกินโป่งก่อน อีกฝูงก็จะหยุดคอยรอจังหวะ แต่ถึงอย่างนั้น ฝูงนกที่บินฮือขึ้นลงแต่ละคราวก็ทำเอากวางป่าที่ลงมากินโป่งห่างจากจุดที่ผมตั้งซุ้มไม่ถึง ๑๕ เมตรมีทีท่าหวาดระแวง สังเกตได้ชัดว่าสัตว์ที่ห้วยขาแข้งมีพฤติกรรมในการระวังภัยสูงมาก ยิ่งเมื่อเทียบพฤติกรรมของกวางป่าที่นี่กับกวางป่าที่เขาใหญ่แล้วดูจะผิดกันไกล
      หลังจากกวางป่าที่มีทั้งตัวผู้ตัวเมียและลูกเล็ก ๆ ที่เกาะแม่แจ เดินกลับเข้าไปในราวป่าแล้ว โป่งก็เหลือแต่ความว่างเปล่า ผมได้แต่นั่งมองก้อนหินที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบไปจรดหัวโป่ง การนั่งซุ้มบังไพรนาน ๆ นอกจากจะเบื่อแล้วยังเมื่อยด้วย เพราะได้แต่นั่งๆ ยืน ๆ สลับกันไปตลอดทั้งวันในซุ้มบังไพรเล็ก ๆ แคบ ๆ แต่ถึงจะเบื่อก็ต้องยอม เพราะรู้ดีว่ากว่าจะได้เห็นสัตว์ป่าลงกินโป่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้การเฝ้าซุ้มในป่าห้วยขาแข้งจะมีโอกาสพบสัตว์ป่าได้มากกว่าที่อื่นก็ตาม 
      เวลาผ่านไปอย่างช้า ๆ กระทั่งถึงบ่ายสามโมง ผมก็พบหมูป่าโทนตัวเขื่องวิ่งเหยาะ ๆ ออกจากป่าลงมากินน้ำซับตรงหน้าซุ้มบังไพร ห่างออกไปเพียง ๗-๘ เมตร ผมตั้งกล้องทันที เสียงชัตเตอร์ดังกริ๊กทำให้เจ้าหมูป่าเหลือบตามายังจุดที่ผมซ่อนตัวอยู่อย่างระแวง แม้จะยังคงก้มกินน้ำซับด้วยความหิวกระหาย เขี้ยวโค้งสองข้างที่ปลายปากทำให้มันดูน่ากลัวยิ่งขึ้น และด้วยขนาดของมัน ถ้ามันวิ่งฝ่าซุ้มบังไพรเข้ามาก็มีหวังซุ้มแตกแน่ ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังมุ่งมั่นเก็บภาพมันอย่างไม่ลดละ เสียงชัตเตอร์ที่ดังถี่ขึ้นคงทำให้มันระแวงหนัก เจ้าหมูป่ารี ๆ รอ ๆ อยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็กลับหลังวิ่งเข้าไปในป่าอย่างรวดเร็ว หลังจากหมูป่าไปแล้วผมก็ไม่พบเห็นสัตว์ป่าลงมากินโป่งอีกเลย
(คลิกดูภาพใหญ่)       วันที่ ๓ ผมมุดเข้าบังไพรช้ากว่าทุกวัน นั่งภาวนาให้เจ้าป่าเจ้าเขาพาสัตว์แปลก ๆ ออกมาปรากฏโฉมให้ผมได้เห็นบ้าง ที่นี่เคยมีคนมานั่งห้างบนต้นไม้และได้เห็นสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ทั้งเสือดำ เสือดาว เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ช้างป่า โดยใช้เวลานั่งห้างเพียงไม่กี่วัน ผมอดคิดไม่ได้ว่า การพบเห็นสัตว์ป่านั้นออกจะเป็นเรื่องของโชคหรือดวงอยู่ไม่น้อย เพราะกับหลาย ๆ คน มานั่งห้างจุดเดียวกัน เวลาใกล้เคียงกัน ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสได้เห็น 
      เข้าป่าคราวนี้ผมพยายามทำทุกอย่างให้กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มบังไพรที่จัดเตรียมอย่างดีหรือการบังคับตัวเองให้เงียบและนิ่งที่สุด เพื่อไม่ให้สัตว์ป่าผิดสังเกต และผมก็คงทำได้ดีพอใช้ เห็นได้จากบรรดาหมูป่า กวางป่า หมาใน และเก้ง ที่ทยอยเดินผ่านซุ้มบังไพรห่างไม่กี่สิบเมตรไปเป็นระยะ 
      เวลาผ่านไปอย่างช้า ๆ ผมคิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย ขณะสอดส่ายสายตามองลอดช่องเปิดของซุ้มบังไพรไปรอบ ๆ บริเวณโป่งพุน้ำร้อน ถ้าเห็นอะไรผิดสังเกตผมจะยกกล้องสองตาขึ้นส่องดูทันที วันนี้โป่งพุน้ำร้อนเงียบผิดปรกติมานาน นกมูม นกเขาเปล้า ที่เคยพากันส่งเสียงร้องก็ไม่รู้หายไปไหนกันหมด ทำให้ผมต้องคอยจับตามากเป็นพิเศษ
      แว่บหนึ่งผมสังเกตเห็นกิ่งไม้ไหว นึกในใจว่าคงเป็นพวกลิงหรือค่างพากันมาหากินยอดไม้อ่อน ผมรีบคว้ากล้องสองตาขึ้นส่องดูให้หายสงสัย 
      ภาพที่ปรากฏอยู่ในกล้องสองตาทำให้ผมตะลึงไปชั่วขณะ อดคิดไม่ได้ว่าคราวนี้โชคคงจะเข้าข้างผมบ้างแล้ว เพราะเจ้าสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่ลิง ค่าง หรือแม้แต่หมาในที่เราอาจพบเจอได้บ่อย ๆ หากแต่เป็นหมี สัตว์ที่โอกาสจะพบตัวในป่านั้นมีน้อยมาก ไม่ต้องนับว่าโอกาสที่จะได้ถ่ายภาพมันขณะออกหากินในป่าจะมีสักเท่าไร 
      ผมรีบวางกล้องสองตา หันไปคว้าเลนส์ยาวมาบันทึกภาพเจ้าหมีตัวเขื่องทันที พยายามอย่างยิ่งที่จะบังคับไม่ให้มือสั่น มันคงอยู่บริเวณนี้มาพักใหญ่ แล้วจึงทำให้บรรดาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในบริเวณโป่งแห่งนี้ พากันเงียบเสียงไปหมด ผมบันทึกภาพได้ไม่กี่ภาพ มันก็ผละออกจากต้นไม้ หายลับเข้าป่าไป
      ผมวางกล้อง ถอนใจเฮือก อดคิดถึงเรื่องหมีที่คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เขียนไว้ในวารสาร นิยมไพร ไม่ได้ หลายสิบปีก่อนเจ้าสัตว์ชนิดนี้คงพอมีให้พบเห็นได้ไม่ยากนัก แต่ถึงอย่างนั้นการเจอหมีก็ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอยู่ดี มาวันนี้จำนวนหมีในป่าลดน้อยลงจนกลายเป็นสัตว์หายาก ผมจึงไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าจะได้มีโอกาสเห็นเจ้าสัตว์ชนิดนี้ออกหากินในป่าด้วยตาตนเอง
      การพบหมีคราวนี้ สำหรับผมแล้วถือเป็นเรื่องโชคอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจะว่าไปแล้ว โอกาสที่จะพบหมีในป่าเขตร้อนนั้นมีน้อยมาก เพราะนอกจากจะมีจำนวนเหลืออยู่น้อยแล้ว หมียังเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน และส่วนใหญ่ก็มักจะหากินอยู่ตามป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ บริเวณที่คนเดินทางเข้าไปไม่ถึง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอุตส่าห์มีนักล่าจำนวนไม่น้อย ที่ลักลอบเข้าไปล่าหมีในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ เพื่อนำอุ้งตีนหมี ดีหมี ออกมาขายให้แก่ร้านขายยาจีนและผู้นิยมเปิบพิสดาร ในปัจจุบันถึงจะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ก็ไม่ได้ช่วยให้นักล่าเหล่านี้มีความเกรงกลัว ตรงกันข้ามกลับยิ่งเพิ่มการทำลายมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนอุ้งตีนหมีที่ยึดได้จากบรรดาพ่อค้าของป่าที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้หมีที่มีน้อยอยู่แล้วลดจำนวนลงอีก
      หมีจัดเป็นสัตว์ผู้ล่าชนิดหนึ่ง มันมีฟันที่แข็งแรงสำหรับฉีกเนื้อ มีกรงเล็บแหลมคมแข็งแรงเหมาะแก่การจับหรือตะปบเหยื่อ รวมทั้งใช้ในการปีนต้นไม้ เวลาเดินป่าถ้าเราสังเกตตามต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีรังผึ้ง เรามักพบเห็นร่องรอยกรงเล็บอันแหลมคมฝังอยู่บนเนื้อไม้ รอยนี้เกิดจากการที่หมีปีนต้นไม้ขึ้นไปกินรังผึ้งนั่นเอง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในบ้านเรามีหมีทั้งหมด ๒ ชนิด ได้แก่ หมีหมาและหมีควาย ตัวที่ผมพบเมื่อครู่คือหมีหมาหรือหมีคน มันมีขนาดเล็กกว่าหมีควาย มีเล็บค่อนข้างยาว ใบหูกลมเล็ก มีขนสีน้ำตาลเข้มปนดำค่อนข้างสั้นและเกรียน ขนที่หน้าอกจะเป็นรูปตัว "U" สีขาว ต่างจากหมีควายที่ขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัว "V" ชัดเจน 
      หมีหมาหากินอยู่ตามป่าดิบและป่าเต็งรัง มันเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้เกือบทุกประเภท ทั้งเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ ผลไม้ รังผึ้ง หมีหมามีสายตาไม่ค่อยดีนัก แต่มีจมูกที่รับกลิ่นได้ดีเยี่ยม ปรกติมักออกหากินตามลำพังแต่ในบางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นคู่ อาศัยหลับนอนบนต้นไม้เป็นหลัก โดยการหักใบไม้มากองรวมกันเป็นชั้นหนาทำเป็นรังนอน หมีหมาออกหากินในเวลากลางคืน บางครั้งส่งเสียงร้องเหมือนสุนัขเห่าทำให้มันถูกเรียกว่า "หมีหมา" ส่วนชื่อ "หมีคน" นั้นคงมาจากลักษณะท่าทางของมันเวลาที่ได้กลิ่นแปลกปลอม โดยมันจะลุกขึ้นยืนสองขาเหมือนคนแล้วมองไปข้างหน้าพร้อมกับสูดจมูกไปรอบ ๆ ปัจจุบันหมีหมามีสถานภาพค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกล่าเพื่อนำอุ้งตีนและดีไปเป็นส่วนผสมของยาจีน
      ส่วนหมีควายนั้นจัดเป็นหมีที่มีขนาดใหญ่กว่าหมีชนิดอื่น ๆ ที่พบในบ้านเรา หมีควายมีใบหูค่อนข้างยาว ขนตามลำตัวยาวและหยาบ มีสีดำสนิท เล็บค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว หมีควายตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย 
      หมีควายชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่มีอาหารสมบูรณ์หรือตามป่าเบญจพรรณ ออกหากินในเวลากลางคืน มันกินอาหารได้หลายประเภทเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ ผลไม้ ใบไม้ หน่อไม้ แมลงตัวอ่อนของผึ้ง รังผึ้ง หมีควายมักหากินอยู่ตามลำพัง นอกจากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หรือเวลาที่มีลูกอ่อน มันอาจจะหากินเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ หมีควายใช้เวลาตั้งท้องประมาณ ๗-๘ เดือน ออกลูกครั้งละ ๒ ตัวตามโพรงไม้หรือถ้ำที่มีความปลอดภัย
      หมีควายคล้ายกับหมีหมาตรงที่สายตาของมันไม่ดีนัก แต่มีจมูกที่มีประสิทธิภาพ มันจึงมักใช้จมูกในการรับสัมผัสต่าง ๆ รอบตัวแทน เมื่อตกใจหรือสงสัยมันจะลุกขึ้นยืนสูดกลิ่นด้วยสองขา หากพบศัตรูมันจะพุ่งเข้าทำร้ายโดยการตะปบด้วยขาหน้าและกัดด้วยฟันที่แข็งแรง หมีควายจึงจัดเป็นสัตว์ป่าที่ค่อนข้างอันตราย แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มักเลือกที่จะหนีเมื่อเจอคน มากกว่าจะเข้าทำร้าย
      หมีควายเป็นสัตว์ที่ปีนต้นไม้ได้เก่งและชอบฉีกทึ้งต้นไม้เพื่อหาแมลงที่อยู่ใต้เปลือกไม้ และบางครั้งก็ขีดข่วนต้นไม้ เป็นการทำสัญลักษณ์เพื่อประกาศอาณาเขต ทำให้เราพบเห็นร่องรอยของมันได้ง่าย จนอาจทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่าหมีควายมีอยู่ชุกชุม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หมีควายก็ไม่ได้ต่างจากหมีชนิดอื่นในเมืองไทย ที่ถูกล่าจนมีสถานภาพค่อนข้างน่าเป็นห่วง
      หลังจากเจ้าหมีหมาเดินหายเข้าไปในป่าลึก ผมมองดูนาฬิกาเห็นว่าเกือบบ่ายโมง จึงคว้าเอาห่อข้าวออกจากเป้มากินกับคั่วกลิ้ง -- อาหารปักษ์ใต้บ้านเรา กับหมูเค็มแดดเดียวที่อุตส่าห์หอบหิ้วจากบ้านเข้าไปกินในป่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังอาหารมื้อเที่ยง ถึงหนังตาจะหย่อน แต่ผมก็พยายามปฏิบัติหน้าที่ยามเฝ้าโป่งอย่างตั้งอกตั้งใจด้วยอารมณ์ดีหลังจากได้เห็นหมี เวลาผ่านไปเกือบสองชั่วโมง ผมมองไปที่โป่งอีกครั้ง และก็ต้องสะดุ้งเมื่อมองเห็นหมีอีกตัวหนึ่งเดินออกมาจากหัวโป่งที่เป็นแหล่งเกิดน้ำพุร้อน มันค่อย ๆ เดินเลาะมาตามชายป่ามุ่งหน้ามาที่โป่งโดยไม่มีอาการหวาดระแวงใด ๆ ผมตื่นเต้นหูตาสว่าง ไม่รอให้โอกาสงาม ๆ อย่างนี้หลุดลอยไปแน่ รีบคว้ากล้อง กดชัตเตอร์ถี่ยิบจนฟิล์มหลายม้วนหมดไปอย่างรวดเร็ว 
      หมียังเดินลงมาที่โป่งอย่างช้า ๆ อากาศร้อนคงทำให้มันหิวกระหาย จึงหยุดกินน้ำซับที่หัวโป่งอยู่นาน หรือจะว่ามันตั้งใจอวดศักดาก็เป็นได้ เพราะหลังจากกินน้ำเรียบร้อยแล้ว มันก็เดินช้า ๆ ผ่านโป่งไปอย่างองอาจ ไม่มีทีท่าหวาดระแวงภัยเหมือนสัตว์อื่น นี่ถ้ามันเจอเสือ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันยังจะเดินกร่างอย่างที่ผมเห็นหรือเปล่า หลังจากหมีคล้อยหลังไปไม่นาน โป่งก็เริ่มคึกคักขึ้นมาทันที ลิงฝูงแรกที่รอคอยลงโป่งมานานพากันออกจากป่าลงมากินน้ำซับด้วยท่าทีหวาดระแวง แม้จะมีจ่าฝูงยืนอยู่บนก้อนหินคอยระวังภัยให้ฝูง ระหว่างก้มกินน้ำซับ ถ้าได้ยินเสียงนกร้องหรือเสียงอะไรผิดสังเกต พวกมันจะหยุดกินทันทีแล้วชะเง้อคอมอง พฤติกรรมระวังภัยของมัน คงเป็นเครื่องป้องกันเพียงอย่างเดียว ที่จะทำให้มันรอดพ้นจากสัตว์ผู้ล่า
.....................................................
      ผมใช้เวลาอีกสองสามวันหลังจากนั้นในซุ้มบังไพร โดยไม่มีอะไร "พิเศษ" เพิ่มเติม แต่ถึงอย่างไร การเข้าป่าครั้งนี้สำหรับผมแล้วก็เรียกได้ว่าเกินคุ้ม ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อกลับจากห้วยขาแข้ง และนำฟิล์มจากกล้องอินฟราเรดไปล้างดู ก็พบว่าฟิล์ม ๑ ใน ๖ ภาพที่กล้องถ่ายอัตโนมัติไว้นั้น มีภาพหมีควายขนาดใหญ่ที่เข้ามากินซากกวางปรากฏอยู่ ...ดูเหมือนว่าเข้าป่าหนนี้ "หมี" จะถูกชะตากับผมเป็นพิเศษ 
      การได้พบหมีหมาและหมีควายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อาจไม่ใช่เรื่องแปลกไปกว่าการพบเห็นสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในผืนป่าที่ได้ชื่อว่ามรดกโลกแห่งนี้ แต่อย่างน้อย นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ ของผืนป่าห้วยขาแข้ง- -แหล่งพักพิงสุดท้ายของสัตว์ป่าเมืองไทยได้เป็นอย่างดี และคงเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ และร่วมมือกันดูแลรักษา ก่อนที่ "บ้านหลังสุดท้าย" ของสัตว์ป่าจะถูกทำลาย และเราอาจไม่เหลืออะไรนอกจากภาพแห่งความทรงจำ
 

ขอขอบคุณ : 

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ดร. ชวาล ทัฬหิกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
      คุณปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้
      คุณวิโรจน์ เข็มปัญญา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
      คุณนิเวศ คุณยงยุทธ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
      คุณพนมและคุณน้อย ดุลฟักขิม เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียง