สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕ "โค้งสุดท้าย พ.ร.บ. ป่าชุมชน รับหรือไม่รับ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕  

ปั้นดินเป็นบ้าน กลับสู่ความรู้เก่าที่ฝังไว้ในยีนของเรา

เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

(คลิกดูภาพใหญ่)

      ๑. การปลูกบ้านด้วยดินเป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่ทรงพลัง ลดทอนความจำเป็นของระบบผ่อนบ้าน อุตสาหกรรมก่อสร้าง และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี นักปั้นบ้านดินใช้ชีวิตเพื่อทำงานหาเงินน้อยกว่า และมีเวลาเหลือสำหรับใช้ชีวิตมากกว่า การทำบ้านดินด้วยวัสดุธรรมชาติที่เก็บอย่างอ่อนโยนจากโลกนี้ ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการอยู่รอดของชีวิตเอง

      ๒. สงวนลิขสิทธิ์ c ๑๙๙๗ โดยเบ็กกี้ บี ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลในหนังสือนี้จะถูกแบ่งปันให้ทุกคน ดังนั้น ส่วนต่าง ๆ ของหนังสืออาจถูกผลิตซ้ำ และแบ่งปันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้เขียน ตราบเท่าที่ข้อมูลนี้ถูกแจกจ่ายออกไปฟรี ๆ และระบุแหล่งที่มา...

      ๓. สถาปัตยกรรมธรรมชาติ : สร้างบ้านด้วยดิน การอบรมเชิงปฏิบัติการ (สถาปัตยกรรมทางเลือกในศตวรรษที่ ๒๑) นี่คือ สถาปัตยกรรมที่เกิดจากการปั้นแต่ง แกะสลัก มากกว่าการเป็นช่างก่อสร้าง

      ระหว่างวันที่ ๑๑ ถึง ๒๐ มกราคม ๒๕๔๕ ที่อาศรมวงศ์สนิท (รังสิต คลอง ๑๕) จ. นครนายก

      โดย จาเนลล์ คาพัวร์ และ มิเชลล์ สปาน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างบ้านด้วยดินและไม้ไผ่ จากสหรัฐอเมริกา และวิลันดา พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้าน ผู้สร้าง ผู้อาศัย อยู่ในบ้านดิน

      ค่าเข้าร่วมอบรม อาหาร และที่พัก
      ๔,๐๐๐ บาท สำหรับผู้เข้าร่วมครบทั้ง ๑๐ วัน
      ๕๐๐ บาท/วัน สำหรับผู้เข้าร่วมตามสะดวก

      (ผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ขอเพียงมีใจ และสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามสะดวก และผู้ที่ขาดทุนทรัพย์ กรุณาติดต่ออาศรมวงศ์สนิท)

      สนใจติดต่อ : ไพริน อาศรมวงศ์สนิท โทรศัพท์ ๐-๓๗๓๓-๓๑๘๓-๔ หรือ atc@anet.net.th 


(คลิกดูภาพใหญ่)       ทั้งหมดข้างต้นเป็นที่มาของสารคดีพิเศษเรื่องนี้
      ข้อ ๑. และ ข้อ ๒. คัดจากหนังสือเล่มเดียวกัน ชื่อ "The Cob Builder Handbook: You can Hand-Scupt Your Own Home - คู่มือนักปั้นบ้านดิน : คุณปั้นบ้านของตัวเองได้"
      ทั้ง ๒ ข้อบอกคติทั้งหมดของสารคดีเรื่องนี้ได้ตรงที่สุด 
      ส่วนข้อ ๓. ทำให้ฉันรู้จัก "บ้านปั้นได้" พอที่จะเล่าให้คุณฟังต่อไป

      เราอาจเริ่มต้นด้วยภาพลายเส้นข้างล่าง (รูปลายเส้นบ้านดิน)

      หลังคา นอกจากจะคุ้มแดดกันฝนแล้ว ยังป้องกันไม่ให้น้ำรั่วลงมาทำให้บ้านชื้นและละลายตัวบ้านด้วย 
      เนื้อดิน "หายใจได้" กันร้อนหน้าร้อน กันหนาวหน้าหนาว ฐาน มั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักดินและหลังคาได้ และป้องกันไม่ให้บ้านต้องแช่อยู่ในน้ำ 
      ผนัง แบบเป็นเนื้อเดียวกันหมด (monolithic) แข็งแรงทนทาน อยู่ได้นานเป็นร้อยปี

      ที่มองเห็นได้หยาบ ๆ ด้วยสายตาก็เป็นดังนั้น แต่แท้ที่จริงบ้านหลังดังกล่าว ยังมีของที่มองไม่เห็นด้วยตา ที่ทำให้ฉันขอหน้ากระดาษ สารคดี เขียนถึงเรื่องนี้ ฉันคิดว่า มีหลายเหตุผลที่คุณก็อาจสนใจมัน เพราะมันบอกว่า
 
 

ทุกคนสร้างบ้านเองเป็นทั้งนั้น

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง
      ฉันเคยคิดว่า การสร้างบ้านให้ตัวเองอยู่สักหลังต้องใช้เงินเก็บเป็นล้าน หรืออย่างปานกลางก็หลายแสน ไม่ก็ต้องเป็นหนี้แบงก์ไปอีกสัก ๒๐-๓๐ ปี ต้องจ้างสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง และคนอื่น ๆ ให้ครบองค์ ต้องมีคนเขียนแบบแปลนให้แน่นอน ต้องคำนวณตัวเลขยุ่งยากเหนือความเข้าใจ ต้องใช้เครื่องจักรมากมาย (จึงดูเป็นเรื่องของผู้ชาย) จนฉันไม่คิดว่า ในชั่วอายุนี้ จะมีวันมีบ้านเป็นของตัวเองได้ หรือจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับบ้านได้มากนัก
      ทำไมฉันและใครอีกหลายคนถึงคิดกันอย่างนั้น 
      มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า : 
      คนธรรมดาสร้างบ้านเองไม่เป็น ---> ต้องจ้างมืออาชีพ เช่น สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา และช่างก่อสร้าง ---> ที่คนธรรมดาทำได้คือ ทำงานหาเงินจำนวนมากเพื่อ ๑. จ้างคนทำบ้าน ๒. ซื้อวัสดุสร้างบ้าน ๓. อื่น ๆ ---> หรือไม่ก็ต้องกู้แบงก์ ---> ทำงานหนักอยู่ดี และ ---> เชื่อต่อไปว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น

      แต่ "เวิร์กชอปสร้างบ้านด้วยดิน" บอกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ จึงเมื่อต้นปี หัวและใจของฉันได้เปิดหงายออกเพื่อประจักษ์ความจริงใหม่อีกชุดหนึ่ง ซึ่งโละความคิดเก่าทิ้งโดยสิ้นเชิง
      ความจริงใหม่มีอยู่ว่า "คนเราทุกคนใช้แรงงานสร้างบ้านตัวเองได้ ด้วยเงินนิดเดียว"  (แรงงานเราเอง + เงินไม่มาก = บ้านของจริง ๑ หลัง + เวลาว่างไว้เล่นกับแม่และนอนเกาพุงหมา)
      ถามจริง ? คุณถาม
      คนที่สร้างบ้านดินและสอนให้คนอื่นปลูกบ้านเป็นมานักต่อนักอย่าง เบ็กกี้ บี ยืนยันเรื่องนี้ด้วยคำสำคัญ ๔ คำ : It's easy! It's affordable! It's comfortable! It's long lasting!
      มันง่าย-มันสร้างไหว-มันอยู่สบาย-มันทน
      แล้วตบท้ายให้แน่ด้วยว่า 
      "Yeah for cob!! It's too good and it is true!" 
      ถึงฉันจะไม่ได้รู้จักเธอเป็นการส่วนตัว แต่ฉันก็เห็นด้วย และทุกคนที่เข้า "ค่าย" ปั้นดินที่อาศรมฯ คลอง ๑๕ ก็เห็นด้วย...เพียงแต่คุณไม่รังเกียจที่มือ เล็บมือ เท้า เล็บเท้าของคุณจะเปื้อนดิน หรือมีผิวเกรียมแดดขึ้นอีกนิด คุณก็ทำได้ เด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นอยู่แถวนั้นก็ยังช่วยผู้ใหญ่ปลูกบ้านกันมาแล้วเลย
      พูดได้ว่า การปั้นบ้านดินมีจุดเริ่มต้นที่ความสนุก เบ็กกี้ บี กูรูแห่งบ้านดินปั้น เขียนไว้ใน "ไบเบิลของนักปั้นดิน" ว่า เป็นเรื่องง่ายมากที่ทำให้นักเรียนสนใจทำบ้านดินปั้น "เพราะมันสนุกและน่าพึงใจ" แม้แต่เด็ก ๆ ก็มีศักยภาพในการสร้างบ้านและน่าจะได้เล่นปั้นบ้าน เพราะตัวเธอตอนเด็ก ๆ ก็หัดทำบ้านเล็ก ๆ และบ้านบนต้นไม้มาแล้ว
      อาจเป็นการดีที่ฉันจะเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยวิธี "Literature Review" ว่าด้วยสิ่งที่เบ็กกี้ บี เขียนเอาไว้สักเล็กน้อย ให้คุณเห็นความคิดพื้นฐานที่เธอมีต่อบ้านดิน
      เบ็กกี้คิดว่า การสัมผัสและการสร้างบ้านด้วยดินเป็นสิ่งดีต่อร่างกายมนุษย์ เพราะมันทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น แกร่งขึ้น และสุขภาพดีขึ้น เธอยังเชื่อด้วยว่า คนทุกคนมีสัญชาตญาณการสร้างบ้านอยู่ในตัวเอง แต่ถูก "ทำให้ลืมไป" ว่าเราทำได้ แล้วปล่อยให้ชีวิตส่วนสำคัญอันนี้ต้องตกไปอยู่ในมือของคนอื่น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เสียงเรียกร้องในตัวเราให้สร้างบ้านมันรุนแรงมาก เพราะถ้าไม่มีที่คุ้มหัว คนเราต้องตาย บรรพบุรุษพวกเรารู้เรื่องนี้ดี และตะโกนผ่านยีนของเราว่า : สร้างบ้านด้วยตัวเองสิ" เบ็กกี้ เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น "ภูมิปัญญาเผ่าพันธุ์" (genewisdom)
      ถ้าคุณได้ลองเปลือยตีน เดินลงไปในบ่อดินเหนียวผสมทราย ฟาง และน้ำ จนหนืดหนึบ ถ้าคุณได้ลองลงมือขยำดินผสมและปั้นมันให้เป็นก้อน ๆ ถ้าคุณได้ลองเอาก้อนดินผสมไปแผ่ทาบ กด และ "เย็บ" มันให้เป็นก้อนเดียวกับผนังบ้านที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว คุณอาจรู้สึกไปว่ามันเป็นจริง หลังจากที่ "ลืมไป" เสียนาน และถ้าคุณยิ่งทำต่อไป คุณก็ยิ่งรู้จักมันมากขึ้นเรื่อย ๆ และรู้ได้ว่า ความรู้เรื่องนี้เป็นของกลางสำหรับทุกคน มีอยู่ในตัวทุกคน ไม่เว้นแม้หญิงหรือชาย
      ที่ Tucson รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ถึงกับมีกลุ่มผู้หญิงสร้างบ้าน (Women Build Houses) เป็นเครือข่ายอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ตั้งมาได้ทศวรรษหนึ่งแล้ว กลุ่มที่ว่ามุ่งมั่นให้ผู้หญิงเข้าถึงทักษะความรู้การสร้างบ้านทุกอย่าง ตั้งแต่การซ่อมท่อน้ำรั่ว การเดินสายไฟ งานช่างไม้ ไปถึงการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และการทำกับข้าวด้วยแสงอาทิตย์ สาว ๆ กลุ่มนี้ยังส่งเสริมการสร้างบ้านและอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
      คนมากมายชอบถามว่า ทำไมพวกเธอต้องแบ่งแยกเป็นกลุ่มผู้หญิงล้วนด้วย สาว ๆ ตอบว่า "พูดง่าย ๆ ประสบการณ์บอกเราว่า มันเวิร์ก ผู้หญิงหลายคนเรียนรู้ได้ง่ายกว่า และทำงานได้ดีเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในกลุ่มหญิงด้วยกัน"
ถ้ากลุ่มหญิงสร้างบ้านไม่จ๊าบพอ ฉันขอแนะนำให้คุณรู้จักคุณยาย Lois Lewis วัย ๗๒ ที่ใช้เวลาควบคู่ไปกับการพยาบาลพ่ออายุ ๙๔ ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ปลูกบ้านดินด้วยมือตัวเองมาตั้งแต่อายุ ๖๘ หลังจากเข้าเวิร์กชอปไปหนึ่งครั้ง และอ่านหนังสือของ เบ็กกี้ บี 
      ถึงจะจ้างผู้ช่วยหญิงอายุ ๒๐-๒๑ สองคนมาช่วยกันทำงาน คุณยายก็ยังลงมือทำบ้านทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เดินสายไฟด้วยตัวเอง เธอเรียนรู้จากการอ่านคู่มือการเดินสายไฟขั้นพื้นฐาน และถามคนจากร้านขายสายไฟบ้าง ตอนแรกก็ทำผิดบ้าง แต่ก็แก้ไขใหม่ได้เสมอ เธอว่า "ฉันกำลังเรียนรู้...ฉันทำไปตามความรู้สึกและสัญชาตญาณมากกว่าจะพึ่งพาเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ"
      นอกจากจะลุยเองแล้ว คุณยายยังชวนหลานสองคนให้มาช่วยกันปั้นเตาอบดินซึ่งใช้การได้จริง ๆ ตอนนี้เธอกำลังรอให้หลานสาวนักปั้นตัวยงมาช่วยสร้างมังกรประดับไว้ตรงยอดสุดของเตาอบ
      นั่นอาจเป็นตัวอย่างของคนจำนวนนับไม่ถ้วนที่พึ่งพาตัวเองเกี่ยวกับการปลูกบ้าน ในเมื่อไม่ต้องพึ่งคนอื่นมาก เขาก็ไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าแรงมาก แถมวัสดุที่ใช้สร้างบ้านดินปั้น อันได้แก่ ดิน ทราย และฟาง ก็เป็นของหาได้ง่ายในท้องถิ่น คุณจึงอาจมีบ้านสักหลังได้ด้วยงบสัก ๒,๐๐๐ ถึง ๓๐,๐๐๐ บาท อย่างที่ชาวนาคนหนึ่งแห่งจังหวัดยโสธร สร้างและอยู่อาศัยมาสี่ปีแล้ว
      ตอนนี้ คุณอาจกำลังนึกเล่น ๆ อยู่ว่า ชีวิตที่ไม่ต้องส่งค่าบ้านนั้นมันน่าจะเป็นอย่างไร
 
 

ความน่าประหลาดใจในก้อนดิน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ฉันขอใช้คำว่า "ก้อนดินปั้น" แทนคำว่า cob ในภาษาอังกฤษ ที่มีความหมายดั้งเดิมว่า ก้อนหรือมวล
      เบ็กกี้ บี ขยายความคำว่า cobbing ว่าเป็น กระบวนการ "โปะ" ก้อนดินผสมอย่างลวก ๆ ก้อนดินผสมที่ว่า เกิดจากการผสมของสามอย่าง คือ ดินเหนียว ทราย และฟาง เข้าด้วยกันด้วยน้ำ แล้วค่อย "นวด" มันลงไปบนฐานของบ้าน ก่อขึ้นให้เป็นกำแพงดินหนา ๆ อย่างกับ "ปั้นหม้อดินขนาดยักษ์ให้ตัวเราเข้าไปอยู่ได้"
      ของธรรมดาสามอย่างที่เนรมิตบ้านได้ทั้งหลัง ย่อมเป็นของไม่ธรรมดา
      ทรายเป็นเหมือนเนื้อ ทรายในอุดมคติคือ ทรายที่มีเหลี่ยมมุมให้ล็อกระหว่างกันได้ มากกว่าทรายกลมมนอย่างทรายชายหาด
      ฟางเป็นเหมือนเหล็กเส้นคงความแข็งแรงให้เนื้อดิน บางทีอาจเลือกใช้แกลบ ฟางสั้น หญ้า หรือขี้เลื่อยแทน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น
      ดินเหนียวช่วยประสานทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน
      ดินแม้ไม่มีอภินิหาร แต่ทำให้นักปั้นบ้านชอบใจ เพราะมันไม่มีพิษ เป็นของใช้ซ้ำได้ และสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่แปลกแยก มันจึงแตกต่างจากวัสดุก่อสร้างอื่นที่ผสมสารและผ่านกระบวนการที่เราไม่รู้จัก
      บ้านที่สร้างด้วยดินนั้นทั้งอบอุ่นและอยู่เย็น คนเขตหนาวที่อยู่บ้านแบบนี้ไม่ต้องพึ่งเครื่องทำความร้อน และคนเขตร้อนไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ มันดีได้อย่างนี้เพราะตัวดินเป็นฉนวนชั้นเลิศ ช่วยทำให้อุณหภูมิของบ้านเปลี่ยนไปช้า ๆ ความร้อนไม่ว่าจะจากไฟหรือจากแสงแดดจะถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อดิน แล้วแผ่กลับออกมาระหว่างคืนที่หนาวเย็น แถมบ้านทำด้วยดินยังเก็บเสียงได้ดีอีกด้วย
      ยัง ยังไม่หมด
      ถ้าคุณสร้างไว้ดี บ้านดินจะอยู่ยงคงกระพันนานเป็นร้อยปีโดยไม่หวั่นไหวละลายไปกับสายฝน และไม่ต้องซ่อมแซมกันบ่อย ๆ อย่างบ้านแบบ cob cottage ทางแถบเดวอน ของประเทศอังกฤษ
      บ้านดินที่ดีหมายถึงบ้านดินที่ "สวมหมวกและใส่ไอ้โอ๊บกันน้ำ" คือมีหลังคากว้างยื่นออกมาป้องกันฝนได้ดี และมีฐานแข็งแรงอยู่สูงพ้นจากการรบกวนของน้ำได้ดี นอกจากนั้น ฟางหรือแกลบที่ใช้ผสมกับดินก็ช่วยไม่ให้ฝนชะเนื้อดินออกไปด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในเขตแผ่นดินไหวอย่างที่เนลสัน นิวซีแลนด์ บ้านทำด้วยดินเป็นบ้านหลังเดียวที่เหลือรอดจากหายนะของแผ่นดินไหว และในเขตอันตรายที่เยเมนใต้ อาคารดินปั้นสูง ๑๓ ชั้นที่สร้างมาตั้งแต่ยุคกลาง ก็ยังคงตั้งตระหง่านและใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน
      โดยปรกติผนังบ้านดินปั้นที่สร้างให้เป็นเนื้อเดียวกันและต่อเนื่องกันไปทั้งผนัง (monolithic) และถูกยึดเชื่อมไว้ด้วยฟางเส้นยาจะทนทานกว่าบ้านทำด้วยดินแบบอื่น การเลือกวิธีและสร้างบ้านให้เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์จะทำให้บ้านแข็งแรงสูงสุด นอกจากนั้น ผนังที่โค้ง สอบขึ้น การมีเสาช่วยค้ำยันที่ปรับให้เหมาะกับความหนาบางของผนัง ส่วนผสมในท้องถิ่น และการวางหลังคาในตำแหน่งที่ดีช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บ้านเป็นอย่างดี
      แต่ถึงอย่างไร ในโลกนี้ก็ไม่มีระบบก่อสร้างที่กันแผ่นดินไหวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
      การทำบ้านดินปั้น (cob) เป็นหนึ่งในบรรดาเทคนิคการสร้างบ้าน และอาคารด้วยวัสดุธรรมชาตินอกเหนือไปจากการก่อด้วยก้อนดินไม่เผา (adobe) และการตีไม้ฟากสองด้านแล้วอัดดินเหนียวหรือดินเหนียวผสมซีเมนต์ลงไปตรงกลาง (rammed earth) 
      ลมหวนของขบวนการสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติเกิดในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เมื่อมีผู้สนใจปลูกบ้านและอาคารที่คำนึงถึงคุณค่าสูงสุดต่อสังคมและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก จึงหาทางลดการใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางการผลิต จนถึงปลายทางคือคนที่อาศัยอยู่ในบ้านให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็คิดถึงความงดงาม ความอยู่เย็นเป็นสุข และการยกระดับจิตใจของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านด้วย หัวใจทองของ "บ้านธรรมชาติ" จึงคือความธรรมดาเรียบง่าย เทคนิควิธีสร้างที่เข้าใจง่าย ใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาทดแทนใหม่ได้เรื่อย ๆ บ้านแบบนี้จึงพึ่งพาแรงงานเจ้าของบ้าน ครอบครัว เพื่อนฝูง และความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการพึ่งพาเงินทุน เทคโนโลยี และความรู้เฉพาะทาง
      เหตุนี้ บ้านธรรมชาติจึงดูเป็นของแปลกแตกต่างจากบ้านสมัยใหม่ทั้งหลาย เป็นบ้านที่ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดแน่นอน ไม่ต้องใช้วัสดุก่อสร้างอย่างที่คนอื่นใช้ และไม่มีมาตรฐานสากล เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรในท้องถิ่น ลักษณะเฉพาะของทำเลที่จะปลูกบ้าน กระทั่งความต้องการและบุคลิกของผู้สร้างและผู้อาศัย ซึ่งควรจะเป็นคนคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน
      พูดอีกอย่างก็ได้ว่า บ้านทำด้วยดินเป็นสัญลักษณ์ของการคืนอำนาจให้แก่คนธรรมดาทุกคน เพราะมันช่วยนำสิ่งที่ทุกคนมี แต่ลืมไปแล้วให้กลับคืนมา
 

ความรู้นี้เก่าแก่และมีอยู่ทุกหนแห่ง

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ความรู้เรื่องการสร้างบ้านด้วยดินไม่ใช่ของใหม่ และอาจจะเก่าแก่ที่สุดเสียด้วยซ้ำ 
      มีคนบอกว่าดินไม่เผาเป็นวัสดุสำหรับสร้างบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มันถูกใช้สร้างเป็นบ้านให้มนุษยชาตินานราว ๑ หมื่นปีแล้ว ความอเนกประสงค์และมีอยู่ทุกหนแห่งทำให้คนทุกทวีปใช้ดินสร้างเป็นบ้านมาทุกยุคทุกสมัย ถึงวันนี้ก็ยังประมาณได้ว่า ประชากรโลกเกินหนึ่งในสามยังอยู่ในบ้านที่สร้างด้วยดิน ทั้งในฝรั่งเศส จีน อิหร่าน และประเทศแถบอาหรับ แอฟริกา ยุโรป รวมทั้งในอเมริกาเหนือก็มีบ้านแบบอะโดบีสูง ๕ ชั้น ที่ Taos Pueble ซึ่งอินเดียนแดงเผ่า Pueblo สร้างและอาศัยมานาน ๙๐๐ ปี จนถึงทุกวันนี้
      ส่วนกระท่อมดินหลังคามุงหญ้าแบบอังกฤษ หรือ cob cottage ที่เห็นอยู่แพร่หลายในโปสการ์ดนั้น ไม่มีใครรู้แน่ว่า เริ่มปลูกกันมาแต่เมื่อใด แต่ศตวรรษที่ ๑๕ คือเวลาที่บ้านแบบนี้เริ่มฮิตในสหราชอาณาจักร และได้กลายเป็นแบบแผนบ้านทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษและเวลส์ ที่แผ่นดินมีแต่ดินเหนียวปนทราย และวัสดุอย่างไม้และหินเป็นของหายาก 
      เจ้าของกระท่อมดินเหล่านั้นมักเป็นชาวนาและผู้ใช้แรงงาน จะสร้างบ้านทีหนึ่งก็ชวนกันมาลงแขก ในสัปดาห์หนึ่ง ช่วยกันลงแขกสักวันหนึ่ง บ้านก็ยังสำเร็จได้ในหนึ่งฤดูกาล เช่น ถ้าเริ่มสร้างในฤดูใบไม้ผลิ ภายในฤดูใบไม้ร่วงก็ขึ้นหลังคา ขัดสีผนัง และตกแต่งภายใน และเจ้าของก็เข้าไปอยู่ในบ้านได้ทันฤดูหนาวพอดี ส่วนผนังด้านนอกค่อยรอฉาบด้วยทรายผสมหินปูนในปีถัดไปก็ได้ รอให้ผนังดินได้มีเวลาแห้งเสียก่อน แต่สำหรับอาคารอย่างโรงนาก็มักไม่มีใครฉาบด้านนอก
      เมื่อประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกาเดินทางถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม บ้านที่สร้างด้วยดินก็เริ่มเสื่อมความนิยม เพราะถูกมองว่าเป็นของล้าหลัง ระบบขนส่งราคาถูก ทำให้การใช้อิฐปลูกบ้านแพร่หลายกว้างขวางขึ้นมาในศตวรรษที่ ๑๙ พอถึงศตวรรษที่ ๒๐ ก็แทบไม่มีใครสร้างบ้านด้วยดินอีก ช่างผู้ชำนาญการสร้างบ้านดิน ล้วนตายไปโดยไม่มีใครได้สืบทอดความรู้ความชำนาญ โชคยังดีที่ข้อมูลหลายอย่าง ยังเหลือตกทอดมามากพอที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ จะใช้ซ่อมบ้านโบราณได้บ้าง 
      จะเป็นเพราะกระแสรำลึกความหลังหรือไม่ ไม่อาจทราบได้แน่ชัด ตอนนี้ ชาวบ้านแถวเดวอน และทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ กำลังหันกลับมาปลูกบ้านดิน ด้วยวิธีผสมผสานระหว่างเทคนิคดั้งเดิมกับสมัยใหม่อีกครั้ง
 

ค่ายสร้างบ้าน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      อาศรมวงศ์สนิทใช้คำในการโฆษณาค่ายสร้างบ้านด้วยดินไม่ถึง ๒๐ บรรทัด แต่มันเร้าความสนใจของฉันและคนอื่น ๆ ได้ตั้งแต่บรรทัดแรก
      ความจริง แม้คนเราจะไม่เข้าเวิร์กชอปเลยสักครั้ง เราก็สร้างบ้านเองได้ มีคนทำอย่างนั้นกันมาแล้ว
      แต่ถึงอย่างนั้น การไปเวิร์กชอป หรือ "งานอบรมเชิงปฏิบัติการ" หรือ "ค่าย" ในที่นี้ ก็เป็น ๑ ใน ๑๑ ข้อแนะนำในการเตรียมพร้อมที่ เบ็กกี้ บี บอกแก่ผู้มีฉันทะในการสร้างบ้านด้วยดิน ค่าที่มันเป็นโอกาสให้เราได้เห็นว่าคนที่เขาสร้างบ้านเป็นแล้ว เขาทำอย่างไร ควบคุมมันอย่างไร และพอเราได้ลงมือทำจริงบ้าง เราก็จะได้รู้จริง ได้สงสัย ได้ถาม และได้คำตอบจากผู้รู้ นอกเหนือจากก้อนความรู้ก้อนใหญ่ เทคนิคมากมาย ไอเดียหลากหลาย ความมั่นใจที่มาเป็นกอง ไฟที่อยากสร้างบ้าน การได้ทำความรู้จักกับวัตถุดิบ และคนที่สนใจจะสร้างบ้านจริง ๆ ซึ่งแต่ละคนมีความรู้หลากหลายตามประสบการณ์อีกหลายคน
      พูดได้ว่า ๑ ค่ายสร้างบ้าน ทำให้เรารู้จักบ้านดินได้เหมือนฉีกซองบะหมี่สำเร็จรูปที่เติมวิตามินเอ เหล็ก และไอโอดีน พร้อมในซองเครื่องปรุง เหมือนกับไปชอปปิงความรู้ความเข้าใจ จากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดยักษ์อย่างนั้น
      ค่ายเรียนปั้นดินที่อาศรมฯ นั้นมีทุกอย่างดังที่ว่ามา จำนวนนักเรียนปั้นบ้านในวันแรก ทั้งไทย มาเลย์ เขมร อเมริกัน แคนาเดียน เกือบ ๔๐ คน นับว่ามากโขสำหรับค่ายปั้นบ้านค่ายหนึ่ง ราวครึ่งหนึ่ง (ที่เป็นคนไทยและเอเชีย) ยังไม่เคยมีใครรู้จักบ้านดินมาก่อน ยกเว้นพี่โจ ชาวนาหัวใจเสรีผู้ปลูกบ้านดินไปแล้วหลายหลัง และในจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นก็ยังไม่มีใครเคยอ่านคำเตือนที่ เบ็กกี้ บี เขียนเอาไว้ในหน้าสองของหนังสือไบเบิลบ้านที่ว่า 
      "ดินปั้น (cob) จะติดอยู่ในซอกเล็บคุณ ติดลงไปถึงกระดูก และซึมลึกเข้าไปถึงหัวใจ ! ถ้าตัวคุณทำด้วยดิน คุณจะกลายร่างและไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีก"
      แต่ถึงจะเคยหรือไม่เคยได้ยินคำเตือนเรื่องนี้มาก่อน ทุกคนในค่ายก็ดูสมยอมพร้อมใจไปกับกิจกรรมและวิชาเรียนที่คุณครูจัดวางเอาไว้เป็นอย่างดี
      จากภาพในหน้าสี่สีส่วนหน้าของสารคดีเรื่องนี้ คุณอาจมีความคิดว่า มันเหมือนค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษามหาวิทยาลัย เพียงแต่ "นักศึกษา" มากกว่าครึ่งหนึ่งในภาพพ้นวัยเรียนมา ๑๐-๒๐ ปีได้ หรือไม่คุณอาจคิดว่ามันเป็นงานบุญมากกว่า เพราะมีพระภิกษุหลายองค์มาปรากฏอยู่ใกล้ ๆ ด้วย
      ที่จริง ทั้งค่ายอาสาฯ ทั้งงานบุญ ล้วนเป็นบุคลิกอย่างหนึ่งของเวิร์กชอปนี้ จุดประสงค์และความตั้งใจของชาวค่ายที่แตกต่างกัน ทำให้ค่ายนี้ยังเป็นอีกหลายอย่าง เป็นได้ทั้ง "แพ็กเกจ" วันหยุด ทั้งการปฏิบัติธรรมของฝรั่งหลายคน เป็นที่แลกเปลี่ยน ทักษะความรู้และประสบการณ์การสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติของเซียนบ้านดิน เป็นเวทีบอกเล่าถึงชีวิตและประสบการณ์ของสมาชิกในค่าย ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากไหน เป็นแหล่งนำเสนอเทคนิคและความเก๋อย่างใหม่สำหรับสถาปนิกมืออาชีพผู้มาสังเกตการณ์ และเป็นห้องเรียนเชิงปฏิบัติการอย่างแท้จริงสำหรับผู้ต้องการพึ่งตัวเองชนิดเต็มรูปแบบ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ที่แน่ ๆ คือมันเป็นมากกว่าค่ายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างบ้านด้วยดิน 
      ชาวค่ายทุกคนเริ่มเรียนรู้ความพิเศษของมันตั้งแต่บ่ายวันแรกของค่าย ขณะที่ทุกคนเพิ่งมานั่งล้อมวงในห้องประชุมยกพื้นไม้กว้างขวาง โดยที่ยังไม่พูดจาและแนะนำอะไรเลย ยังไม่มีใครรู้จักใคร สาวสกินเฮดตาคมแบบแขกคนนั้นก็ยกถ้วยทองเหลืองขนาดย่อมขึ้นตีหนึ่งครั้ง เกิดเสียงกริ๊งใสกังวาน ทุกคนรู้ว่ามันเป็นสัญญาณการนั่งเงียบ ๒-๓ นาที
      สาวสกินเฮดชื่อ จาเนลล์ คาพัวร์ เป็นอเมริกันและรู้เรื่องบ้านดินปั้นมากที่สุดคนหนึ่ง ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คือ มิเชลล์ สปาน ฝรั่งดัตช์ผู้ชำนาญงานไม้ไผ่ ทั้งสองคนจะเป็นจุดศูนย์กลางของคนที่เหลือ (หากไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง) นับจากนี้ไปอีก ๑๐ วัน 
      ๑๐ วันที่ว่า คือการเรียนรู้ทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ตั้งต้นจากการเลือกทำเล- ฐานราก- การระบายน้ำ- การผสมดิน- การออกแบบ- ผนัง- หน้าต่างโค้ง- การทำหิ้งเจาะในผนัง- หลังคา- การผสมตัวอย่างสำหรับฉาบผนัง- สี- โมเดลบ้านแบบอื่น- ว่าด้วยไม้ไผ่ แล้วแถมท้ายด้วยแหล่งข้อมูลสำหรับค้นคว้ากันต่อไป
      ฉันจะได้เรียนเรื่องพวกนี้ด้วยเหรอนี่ ดีใจจัง 
      นอกจากการเรียนและการลงไม้ลงมือรายวันแล้ว ชีวิตประจำวันของชาวค่าย ยังถูกเพิ่มคุณภาพด้วยรายการนั่งสมาธิตอนหกโมงเช้า ต่อด้วยโยคะตอนหกโมงครึ่ง (แล้วแต่ศรัทธาทั้งสองรายการ) "เวร" ช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในอาศรมฯ วงสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตอนกลางคืน และรายการบันเทิงอื่น ๆ เช่น เที่ยวตลาดนัดวัดใกล้ ๆ เล่นและฟังดนตรี นวด และตีแบดฯ
      การเริ่มต้นปลูกบ้านอย่างเป็นทางการ เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ ๒ เมื่อพระสงฆ์ไทย มอญ เขมร พม่า เกือบ ๒๐ รูป ยืนล้อมวงรอบฐานบ้านและสวดชยันโตให้พวกเรา (หรือให้บ้าน ?)
      ฉันชอบเวลาอย่างนี้ การที่พระมาสวดชยันโตให้ทำให้ฉันรู้สึกว่า สิ่งที่เราทุกคนกำลังจะทำนี้เป็นสิ่งดีงามถูกต้อง สมควรที่ท่านจะสวดอวยพรให้เป็นมงคลสามจบ สมาชิกในค่ายสองสามคนก็หาบทสวดสั้น ๆ มาร่วมแบ่งปันตามกำลังศรัทธา จากนั้นจาเนลล์ก็อ่าน "คำประกาศของสตาร์ฮอคว่าด้วยธาตุศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่" เป็นคำประกาศว่า โลกเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกนึกคิด ชีวิตประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ไม่มีชีวิตใดอยู่ได้โดยปราศจากดิน น้ำ ลม ไฟ และสมดุลของระบบนิเวศมีความสำคัญพอที่พวกเราจะอุทิศตนเพื่อรักษามันไว้
      สิ่งเหล่านี้แนะนำให้ทุกคนรู้ว่า นี่ไม่ใช่เป็นแค่ค่ายสร้างกระท่อมสำหรับทำสมาธิเล็ก ๆ สักหลังไว้ที่อาศรมวงศ์สนิทเสียแล้ว เพราะมันพาชาวค่ายเข้าไปสู่พื้นที่ในมิติอื่นของชีวิตเราด้วย
 

บ้านที่ดี ไม่ได้ดีแต่กับเจ้าของของมันเท่านั้น

(คลิกดูภาพใหญ่)
      คำประกาศของสตาร์ฮอคเหมือนเป็นสิ่งที่จาเนลอยากประกาศถึงจุดยืนของบ้านแบบที่เรากำลังจะสร้าง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงบ้านที่ติดป้าย "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" เท่านั้น
      จาเนลล์ มิเชลล์ และหลายคนที่สนใจหัดทำบ้านดินด้วยเหตุผลเชิงสิ่งแวดล้อมและพลังงาน พูดถึงคำว่า "ยั่งยืน" หลายครั้ง
      เควิน นาฟทาลี หนุ่มแคนาเดียนและครูสอนภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นลงทุนเดินทางมาจากโอซากา เมื่อได้อีเมลข่าวเกี่ยวกับเวิร์กชอปนี้ เขารู้สึก "ประสาท" ตอนอยู่บนเครื่องบิน "เพราะผมรู้สึกว่ากำลังพาตัวเองเข้าไปในเรื่องนี้ เหมือนเป็นการยอมผูกพัน ผมคาดหวังว่ามันจะเป็นการบำบัดเชิงลึก มันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตผม เพราะฉะนั้นถ้ามาที่นี่และมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ผมก็คงผิดหวังมาก"
      เควินเรียนจบชีววิทยาและคอมพิวเตอร์ เคยทำงานปลูกสมุนไพรในเมืองเล็ก ๆ ของแคว้นบริติชโคลัมเบีย เคยเป็นครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา ถึงได้สนใจ อ่าน และค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องบ้านทางเลือกมานานสองสามปี เขาคิดว่าจะสร้างบ้านลักษณะนี้ในอนาคต เพราะ "เป็นหนทางที่จะอยู่แบบยั่งยืน ผมต้องสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ และการสร้างบ้านด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมานานแล้ว เพราะมันเข้าท่า ราคาบ้านในแคนาดาก็แพงมาก ต่อไปวันหนึ่งผมจะมีที่ดินและสร้างบ้านที่มีบุคลิกของผมเอง ถึงผมจะไม่หัวศิลป์นัก แต่มันก็จะเป็นฝีมือของผม และผมก็จะอยู่กับฝีมือของผมเอง"
(คลิกดูภาพใหญ่)       เควินรู้สึกว่าบ้านปั้นด้วยดินนั้นงดงาม เพราะมัน "very organic" ค่าที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของโลก และวัตถุดิบที่ใช้ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น จึงเหมาะกันกับธรรมชาติ
      "เหมือนรังนก เมื่อเราเห็นรังนก ไม่มีใครว่าว่าน่าเกลียดจัง มันไม่น่าสร้างแบบนั้นเลย โดยปรกติ คนจะบอกว่าสวย เพราะนกเอาของจากแถว ๆ นั้นสร้างบ้านของตัวเอง นั่นเป็นทางที่ดีที่จะสร้างบ้าน และในส่วนผสมของดินยังมีแร่ธาตุมากมายที่ประมาณไม่ได้ มีพลังงานอยู่มากมาย ไม่เหมือนซีเมนต์และตึกที่แผ่รังสีพลังงานแปลก ๆ เวลาเราเดินผ่านมัน"
      ในสายตาของชาวขบวนการบ้านทางเลือก อุตสาหกรรมบ้านสมัยใหม่เป็นตัวแสบตัวหนึ่งที่ขุดทึ้งทรัพยากรธรรมชาติ และผลาญพลังงานมหาศาล แถมยังเป็นพิษตลอดกระบวนการต่อสิ่งแวดล้อมและต่อตัวมนุษย์ ตั้งแต่คนงานผู้ผลิตจนถึงตัวผู้บริโภค ผิดกับวัสดุใช้ทำบ้านดินที่เป็น "ของดิบ" จากธรรมชาติหรือไม่ก็เป็นผลพลอยได้จากการทำนาข้าว
      อย่างคร่าว ๆ อุตสาหกรรมบ้านขุดแร่ยิปซัมและหินปูนเพื่อทำซีเมนต์ ขุดเหล็กมาทำเหล็กเส้นและโครงบ้าน โรงเลื่อย โรงงานทำไม้อัด กระดาษอัด โรงงานทำเหล็กเส้น โรงงานปูนซีเมนต์ ล้วนต้องใช้พลังงานมหึมาเพื่อแปรรูปวัตถุดิบทุกอย่าง และกระบวนการในโรงงานเหล่านั้นก็ปล่อยมลพิษลงน้ำและขึ้นสู่บรรยากาศด้วย
      ในความเป็นจริง เราไม่มีทางที่จะสร้างบ้านโดยไม่ทำลายธรรมชาติได้เลย แต่เราสร้างบ้านที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดได้ แม้การขุดดินเหนียวขึ้นมาใช้ปั้นบ้านจะทำให้แผ่นดินเป็นรูไปบ้าง แต่มันก็อาจดีกว่าการระเบิดภูเขาเอาซีเมนต์ ขุดเหมืองเอาแร่ และมลพิษที่จะเกิดจากกระบวนการทุกขั้นตอน หลุมดินเหนียวของเราก็อาจกลายเป็นสระบัวเลี้ยงปลาได้ด้วย เพราะ "ธรรมชาติมีความสามารถในการรักษาแผลเล็ก ๆ ได้"
      ในแง่ของสุขภาพ ดินเหนียวที่ขุดขึ้นมาปั้นเป็นบ้านก็ยังเป็นของที่สาธุชนสรรเสริญ เพราะเป็นของที่รักษาโรค รักษาแผล ดูดพิษ และช่วยซ่อมแซมสุขภาพให้ผู้อาศัย ผิดกันลิบกับวัสดุทำบ้านสมัยใหม่ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่า ความเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและมะเร็งมีส่วนเกี่ยวข้องกับสี พลาสติก กาวที่มีฟอร์มาดีไฮด์ผสม แอสเบสตอส และไฟเบอร์กลาส ตัวร้ายเหล่านี้เป็นพิษกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับมัน ตั้งแต่คนงานในเหมือง ในโรงงาน และในโกดัง ช่างก่อสร้าง จนถึงผู้รับพิษปลายทางคือตัวเราเอง
 

ร่างกายที่น่ารู้จักของตัวเราเอง

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ร่างกายคนเราควรนับเป็นพื้นที่หนึ่งของชีวิต
      ใครที่ไม่ค่อยรู้จักร่างกายตัวเองมากนัก เหมือนฉัน ก็จะได้รู้จักมากขึ้นจากการหัดทำบ้านดิน ใครที่ออกกำลังกายบ่อยจนรู้จักร่างกายดี ก็อาจได้รู้จักมากยิ่งขึ้นไปอีก
      การสร้างบ้านดินปั้นหลังหนึ่ง ต้องใช้แรงกายและร่างกายไม่น้อย ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้ร่างกายเพื่อการออกกำลังกายชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ทั้งที่มันเหนื่อยและเหงื่อออกเหมือนกัน
สำหรับโรงเรียนทำบ้านดิน นักเรียนต้องขุดดินเหนียว ขนถุงทราย ตักน้ำ ย่ำดินผสมบนผ้าใบ จับดึงชายผ้าใบคลุกกองดินผสมไปมา ขนก้อนดินไปไว้ที่ตัวบ้าน ออกแรงกดดินบนกำแพงลงไปให้แน่นเป็นเนื้อเดียว และ ฯลฯ ทั้งวันและทุกวัน
      วันแรกของการออกแรง ทุกคนยังอยู่ใต้อำนาจของความสนุก สนุกกับสัมผัสใหม่ (หรือสัมผัสเก่าที่เราเคยรู้จักตอนเป็นเด็กเล่นดิน) ความลื่นหนืดเนียนอุ่นของดินเหนียวที่ผสมน้ำ ความไม่คงรูป ลักษณะที่มันเล็ดออกมาตามง่ามนิ้วเวลาเราบีบมัน อาการ "บลึ๊บ" ยวบอ่อนลงไปเป็นรูปฝ่าเท้าเมื่อเราเหยียบมัน เราได้ยินเสียงของมันตอนเราถอนเท้าขึ้นมา ได้กลิ่นที่ดินเหนียวส่งผ่านอณูอากาศมากระทบจมูกเรา และรู้สึกเบิกบานเมื่อเท้าสัมผัสความอ่อนนุ่มของดินเละ ๆ 
      ฉันคิดว่า การเล่นกับดินอาจจะไม่ "เซ็กซี่" เท่ากับการทำอาหาร เมื่อเทียบกันในเชิงสัมผัส กลิ่น สีสัน รสชาติ และเสียง แต่คำของพ่อหนุ่ม เจมี โอลิเวอร์ เชฟโจ๋คนดังแห่งเกาะอังกฤษที่ว่า "คิดถึงตุ่มรับรสของคุณ คิดถึงใจของคุณ ทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ตัวคุณเองสิ...เชื่อสัญชาตญาณตัวเองและลองทำสิ่งที่รู้สึกว่ามันดูดีจริง ๆ" ก็ฟังดูคุ้น คล้ายกับคำพูดของบรรดานักปั้นดินชั้นเซียนอยู่
(คลิกดูภาพใหญ่)       นักเรียนย่ำดินกันอยู่อย่างนั้นในบ่อดิน ย่ำไปร้องเพลงไป วิ่งวนไปพลาง ทุกคนสนานสนุกกับความรู้สึกจากปลายประสาทสัมผัสทั้งห้าที่กำลังอยู่ในโหมดรู้ตัวเพื่อรับรส กลิ่น เสียง สัมผัสจากดิน จนรู้สึกว่าผ่อนคลายอย่างแท้จริงเหมือนได้นวดเท้าฟรี ชาวค่ายไฟแรงร่าเริงกันจนไม่มีใครอยากจะพักกินข้าวกันเลย
      ในคืนนั้น วัฒน์ หนุ่มน้อยนักเรียนวิชานวดจากสถาบันแพทย์แผนไทย ทั้งแบบเชลยศักดิ์และราชสำนัก กลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมขึ้นมาทันที เมื่อสาวอย่างน้อยสองคน กรูเข้าใส่ให้เขานวดหลังจากการเรียนภาคค่ำหมดชั่วโมงลง
      วันรุ่งขึ้น ใครหลายคนบ่นนอนไม่หลับเพราะปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่เว้นกระทั่งฝ่ามือและข้อนิ้วทุกนิ้ว จอย ฟ็อกซ์ สาวอเมริกันวัย ๕๔ นักปั้นดินผู้เชี่ยวชาญอีกคน เลยสอนให้ทุกคนรู้จักวิธีออกแรงและใช้ร่างกาย ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดที่เราต้องใช้อย่างยั่งยืน
      หลักการดูแลทรัพยากรของป้าจอยมีอยู่ว่า
      "๑. หายใจลึก ๆ ให้ร่างกายผ่อนคลายอยู่เสมอ ๒. ยิ้ม ๓. ย่ำดินด้วยแรงจากสะโพก ๔. ให้หยุดพักทุก ๒๐ นาที ๕. ถ้าไม่สนุก ก็ไม่ต้องทำให้เสร็จ (If not fun, better left undone. - อ้างอิงจากพระเซนอายุ ๙๕ ปี) ๖. อย่าใช้เฉพาะแขน ท้อง หรือหน้าขาเมื่อยกของ ให้ใช้ทั้งตัว ๗. ทำเหมือนกันกับข้อ ๖. เวลาต้องยกผ้าใบขึ้นตอนคลุกดิน และยิ้มด้วย ๘. อย่าก้มหลังยกถังน้ำ ๙. ถ้ายกไม่ไหว ต้องหาคนช่วย"
      นอกจากรู้เรื่องการใช้ร่างกายในการปั้นบ้านแล้ว ป้าจอยยังสอนโยคะให้ชาวค่ายตอนเช้ามืดอีกด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ป้าจอยบอกให้ทุกคนยกแขนทีละข้างชูขึ้นไปบนท้องฟ้า เอื้อมให้สุดมือ แล้วกวาดแขนไปข้างหน้า ข้างหลัง และทุกทิศทางอย่างช้า ๆ โดยสมมุติว่าเราเป็นดอกไม้ทะเล ครั้งนี้เองที่ฉันพบว่า แขนซ้ายของฉันมีแรงน้อยกว่าและเมื่อยเร็วกว่าแขนขวา เหมือนรู้ทันความคิดฉัน ป้าจอยพูดขึ้นว่า ร่างกายคนเรามันไม่เท่ากันทั้งสองข้างหรอก มักจะมีข้างที่ "อิเดียท" กว่าอีกข้างเสมอ ขอให้เราอย่าหงุดหงิดใส่มัน แต่เอ็นดูมันเหมือนมันเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในตัวเรา
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       พวกเราย่ำดิน ปั้นเป็นก้อน ทำหน้าต่างโค้ง ก่อผนังบ้านสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน พร้อมกับเรียนทฤษฎี พอเข้าวันที่ ๕-๖ ทุกคนก็เริ่มเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด อากาศก็ดูเหมือนว่าจะร้อนขึ้น ไม่ค่อยมีใครอยากออกแรงย่ำดินอีกแล้ว อยากแต่จะยืนนิ่ง ๆ ปั้นกำแพง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังเป็นงานที่ทำจนมือเยิน แทบทุกคนบอกว่าเล็บตัวเองหักฝังเข้าไปในดิน หนังที่โคนเล็บก็ถลอกปอกเปิก ฝ่ามือมีรอยขีดข่วนเพราะครูดกับเม็ดทรายในเนื้อดิน สะโพก (ที่ใช้ออกแรงย่ำโคลนตามคำแนะนำ) ก็เริ่มปวดจนต้องตื่นระหว่างคืน หลายคนเริ่มอู้และแอบงีบหลับหลังอาหารตามใต้ต้นไม้ แอบเลิกงานเร็วมากขึ้น บางคนแอบกระซิบกระซาบสารภาพกันว่า เมื่อคืนถึงกับต้องกินยานอนหลับ โชคดีที่พระภิกษุนานาชาติที่มาสวดชยันโตให้พวกเราวันแรกมาช่วยต่อแรงให้พวกเรา
      จาเนลล์ผู้มองเห็นเหตุการณ์นี้ จึงปรับกลยุทธ์การย่ำดินให้ง่ายและเร็วขึ้น โดยให้ย่ำดินทีละน้อย ทำให้เบาแรงและสนุก ใครบางคนเริ่มแนะนำให้สังเกตวิธีย่ำดินด้วยว่า การลงน้ำหนักแบบไหนทำให้ย่ำได้ดีที่สุด
      นอกจากความหมดสภาพของร่างกายที่ชาวค่ายเริ่มรู้ซึ้งแล้ว ขี้ดินที่ติดตามซอกเล็บมือเล็บเท้าและรอยแตกที่ส้น ทำให้พวกเราเรียนรู้จักการอยู่กับความสกปรกได้ ทุกคนก็เป็นเหมือนกัน เริ่มชิน และภาพการหยิบขนมด้วยมือเปื้อนดินใส่ปาก โดยไม่ต้องไปล้างให้สะอาดเสียก่อน ก็เป็นของที่เริ่มเห็นกันโดยทั่วไป
      ที่แน่ ๆ ฉันรู้จักใช้ร่างกายตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาปั้นผนังบ้าน ฉันเข้าใจแล้วว่า เราใช้ร่างกายได้ทุกส่วน ตั้งแต่มือ แขน หัวเข่า สะโพก หลัง การเลือกลงน้ำหนักไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ฯลฯ ปั้นบ้านได้ทุกอย่าง แล้วแต่ความถนัดส่วนตัวของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎ กติกา มารยาท หรือท่าสวย
      แต่ท่าสวย อาจมีได้ เมื่อคุณเป็นนายของการปั้นบ้านดินจริง ๆ อย่างที่จาเนลล์เป็น
 

ชาวค่ายกับความหลากหลายทางชีวทัศน์และโลกทัศน์

(คลิกดูภาพใหญ่)       บ้านดินหนึ่งหลังพึ่งพาแรงคนหลายคน ไม่น่าเชื่อว่าคนหลายคนจากต่างถิ่นที่มารวมกันที่นี่ ทำให้ค่ายนี้กลายเป็นชุมชนเฉพาะกาลขึ้นมาได้
      งานปั้นบ้านดินเป็นของอย่างหนึ่งที่ต้องการความเป็นชุมชน
      วันแรกที่พวกเรานั่งล้อมวงกัน ยังไม่มีใครรู้จักใคร ถึงต่างคนจะบอกชื่อ ถิ่นที่จากมา และงานที่ทำไปแล้ว การจับคู่ใบหน้าและชื่อของเขาให้ถูกต้องก็ยังไม่ใช่ของง่าย ส่วนใหญ่เราต้องถามกันอีกทีทั้งนั้น
      ทั้งหมดเกือบจะ ๔๐ คน หลากหลายทั้งเชื้อชาติพื้นเพ "ซอบูเง" เป็นปกากะญอ และ "รักษ์" เป็นขมุ บ้านอยู่น่าน ทำงานที่อาศรมฯ "ชี" และ "สกไหน" เป็นสามีภรรยาชาวมาเลเซียทำวิดีโอทางเลือก "พันนา" กับ "ตาราวี" เป็นหนุ่มสาวชาวเขมรตัวแทน Cambodian Youth Development "มืด" กับ "พ่อพูน" จากชุมชนมั่นยืน สมัชชาคนจน เอ็มมา ผู้อยากสร้างกระท่อมสำหรับนวด นิโคลสาวน้อยอเมริกันจาก Engage Educational Network for Global and Grassroots Exchange สำนักงานขอนแก่น เก๋และก้าน จากโครงการพลังงานยั่งยืน "พระสุพุทธ" จากศูนย์ทับทิมนิมิต สุรินทร์ "แพท" สาวอเมริกันนักขับรถบดถนนวัย ๔๐ "ไมเคิล" เด็กหนุ่มตัวสูงสองเมตรหกนิ้วผู้สนใจเทคโนโลยีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อน "จอห์น พอล" นักวิเคราะห์ธุรกิจจากนิวยอร์ก "พี่พร-สุภาพร พงษ์พฤกษ์" นักแปลและครูสอนโยคะ "พี่โจ" ชาวนาจากยโสธรผู้เคยทำบ้านดินเองมาแล้ว ดร. วิลเลม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมองเตสเซอรีที่ภูเก็ต และใครอีกหลายคนที่ต่างออกไป
      "พวกเรา" มาเข้าค่ายอยู่ด้วยกันเกือบตลอด บางคนกลับไปก่อน บางคนมาใหม่ แต่ละคนมีที่มาและรายละเอียดของชีวิตที่แตกต่าง แต่เรื่องพวกนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเกิดชุมชนขึ้นในหมู่พวกเรา
      การที่ทุกคนเริ่ม "เข้ากะทำงาน" สายขึ้นและนั่งเอื่อยเฉื่อยอยู่ในโรงอาหารมากขึ้น เป็นรูปธรรมของการมีเรื่องจะคุยกันมากขึ้น วงย่ำดินและวงนั่งปั้นก้อนดิน เริ่มมีตะวันออกคละกับตะวันตกมากขึ้น เมื่อพวกเราคุ้นหน้า เหมือนเป็นเพื่อนกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       จาเนลล์เป็นครูที่เชื่อว่า การบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตสู่กันฟังเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละวัน มีคนอย่างน้อย ๖ คน บอกเพื่อน ๆ ว่า วันนี้เขาเรียนรู้เรื่องอะไร บางค่ำพวกเราก็ล้อมวงฟังเรื่องของมืดกับพ่อพูนและการต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนมั่นยืน สมัชชาคนจน ทั้งคู่คิดว่าจะกลับไปปลูกบ้านดินที่หมู่บ้าน บางคืนเราฟังมิเชลล์เล่าเรื่องสวนเก็บเมล็ดพันธุ์พืช The Court of Eden ที่ฮอลแลนด์ หรือดูวิดีโอชีวิตผู้หญิงใช้แรงงานในโลกที่สามอย่างเมืองไทย ศรีลังกา และเกาหลีใต้ ของชีและสกไหน บางคนน้ำตาไหล
      พวกเราจึงได้รู้จักชีวทัศน์และโลกทัศน์ของเพื่อนชาวค่าย อย่างเป็นหมู่คณะด้วยสิ่งเหล่านั้น นอกเหนือจากการได้เห็นรายละเอียดปลีกย่อย เช่น แพทชอบเล่นกับแมวตะกละตัวอ้วน พี่ตุ๊กชอบจัดดอกไม้และทำของสวยของงาม ไมเคิลมีฝีมือทางปั้น เขาปั้นหน้าคนที่กำลังจมอยู่ในบ่อดินเหนียว หน้าตาเหยเกและไขว่ขว้าหาความช่วยเหลือ ลุงวิลเลมช่างสงสัยและตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับบ้านดิน จอห์น พอล ไม่ชอบเพลงบอยแบนด์ที่ได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในนิวยอร์ค และเดินไปเปลี่ยนเทปเพลงเป็นดนตรีเขมรเอง เป็นต้น
      นับว่าค่ายของพวกเรามีทุกอย่างที่ค่ายที่ดีพึงจะมีตามความคิดของเบ็กกี้ บี ที่เขียนเอาไว้ เป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเราทำงานด้วยกันได้อย่างดีจนน่าประหลาดใจ ทุกอย่างเหล่านั้น ได้แก่ ทำเลก่อสร้างที่มีสระดินกว้างใหญ่ไว้ให้ล้างไม้ล้างมือและกระโดดเล่นน้ำตอนอากาศร้อน กองฟางใต้ต้นไม้ไว้นอนงีบ เสียงเพลงจากวิทยุเทป เสียงกีตาร์ของสุชาติ เสียงฟลุตของป้าจอย ขนมระหว่างพักสายกับพักบ่าย น้ำเย็น ๆ และ "ไทม์แคปซูล" ที่ชาวค่ายใส่ของที่ระลึกของตัวเอง เช่น เหรียญเงินเล็ก ๆ ทรายจากทิเบต เมล็ดพันธุ์ ดอกไม้ ฟอสซิลหอยจากทะเลทราย บทสวด พระพุทธรูปเล็ก ๆ ภาพวาด แม้แต่ขวดน้ำบริสุทธิ์ ลงไปเพื่อฝังไว้ในผนังบ้าน เผื่ออีก ๓,๐๐๐ ปี ข้างหน้าจะมีคนมาขุดพบ
(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่รับรอง มีของเจ๋งเด็ดอย่างหนึ่งที่เธอไม่ได้แนะนำไว้ในตำรา คือ "ฝูงเด็ก" 
      โอ...อาศรมฯ แห่งนี้ช่างมีลูกเด็กเล็กแดงมากมายเสียจริง ๆ กว่า ๑๐ คน ที่วิ่งบ้าง เดินบ้าง เกาะผ้าถุงแม่บ้าง มีทั้งของเจ้าหน้าที่ในอาศรมฯ และของชาวค่าย เด็กฝูงนี้สร้างชีวิตชีวาให้ค่ายบ้านดินด้วยเสียงอันดัง ทั้งเสียงคุย เสียงหัวเราะ เสียงโวยวายขอกินนมแม่ (ซึ่งได้ผลทันที) เสียงโวยวายเพราะปวดท้องอึ เสียงโวยวายเพราะทะเลาะกัน ดูเป็น "ชีวิตจริง" อย่างที่พี่โจพูด ชีและสกไหนอดรนทนความน่ารักของฝูงเด็กไม่ไหว ต้องจับเด็กใส่กล้องวิดีโอ เพื่อที่เวลาฉายให้ดูกัน จะเกิดเสียงเจี๊ยวจ๊าวฟังไม่ได้ศัพท์ผสมอาการกระโดดโลดเต้นแสดงให้ใคร ๆ เห็นว่า ในทีวีนั่นคือหนูเอง ๆ ๆ 
      พ้นไปจากฝูงเด็ก ค่ายของเรายังมีเรื่องน่าประหลาดใจที่น่าประทับใจ เมื่อวันที่ ๔ ของค่าย เป็นวันเกิดของป้าจอย (๕๔) และวัฒน์ (๒๗) ชาวค่ายทุกคนที่อยู่ในวันนั้น ร่วมฉลองกันด้วยเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ภาษาอังกฤษ ภาษาเบลเยียม และ "the Buddhist Birthday song" ที่ป้าจอยร้องให้ตัวเองและทุกคน
      "Happy Birthday to you
      Happy Birthday to me
      Everyday we are born
      Everyday we are free"
      ชาวค่ายผู้มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ถิ่นที่มา และชีวิต ได้มาที่นี่ และหนีไม่พ้นการรู้จัก ผูกพัน และจากกัน
 

ความไม่เป็นไร

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เหตุผลอย่างหนึ่งที่บ้านดินปั้นได้รวบรวมคนทุกเพศทุกวัยให้มาทำงานด้วยกันได้ก็คือ ความไม่เป็นไร
      ที่จริงจาเนลล์ใช้คำว่า forgiving บ้านดินปั้น "ให้อภัย" และให้โอกาสแก่ผู้สร้างมันได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะมีแบบแปลนบ้านหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะก่อกำแพงเอียงน้อยหรือมากเกินไป ไม่ว่าคุณจะใส่น้ำในดินผสมมากเกินไปหรือไม่ ทุกอย่างแก้ไขและรอได้เสมอ
      จึงสักร้อยครั้งได้ ที่ฉันได้ยินจาเนลล์พูดว่า ไม่เป็นไร เวลาที่นักเรียนทำคนละอย่างกับที่เธอบอก หรือเวลามีสิ่งใดที่ไม่พอดี ไม่ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร ดูไม่เป็นปัญหาสำหรับการสร้างบ้านดินเลย
      จะว่าไป จาเนลล์ก็ "ปล่อย" ให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นระหว่างการผสมดิน และการปั้นบ้านหลายต่อหลายครั้ง เธอรอให้มันเกิดขึ้น แล้วจึงยกมันเป็นตัวอย่างให้เราเห็นจริง ไม่ว่าผนังจะดูอ้วนออกมามากขึ้นเพราะปั้นเพลินจนลืมดูระนาบ หรือแบะลงมากองกับฐานเพราะความรีบร้อนโปะดินขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่รอให้มันแห้งดีเสียก่อน หรือเนื้อดินที่ไม่ยอมต่อกันเป็นเนื้อเดียว เพราะเราทำงานเร็วเกินไป หรือผ้าใบที่ขาดเพราะใช้มีดสับแบ่งดินผสมพลาดลงไปถูก 
      ข้อผิดพลาดเหล่านี้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น และรู้จักสังเกตความเป็นไปของบ้านและส่วนผสมก้อนดินอยู่เสมอ และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จาเนลล์ก็มักจะพูดว่า The wall is doing fine so far ยังไง ผนังของเราก็ยังดูดี 
(คลิกดูภาพใหญ่)       คนทำบ้านดินมักไม่รีบร้อน ป้าจอย เป็นครูสอนทำบ้านดินในอเมริกาเหมือนกัน ก็ยังบอกว่า ยิ่งทำนานเท่าไร ความคิดต่าง ๆ ก็ยิ่งไหลออกมามากขึ้น ตัวของ เบ็กกี้ บี เองก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
      "ฉันขาดพรสวรรค์เรื่องวาดรูป มักคิดเป็นนามธรรม และนั่งทำงานกับโต๊ะไม่ได้นาน ฉันจึงเรียนรู้ที่จะทำไปออกแบบไป ความคิดของฉันเติบโตขึ้นเมื่อบ้านโตขึ้น เรามักเริ่มต้นด้วยภาพสเกตช์หยาบ ๆ ไม่เกินสองสามชิ้น ถ้าวางฐานผิด โครงดินเหนียวก็จะละลายไปกับฝน และการโต้ตอบระหว่างบ้าน วัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม และคนสร้างบ้านก็เริ่มขึ้น การสร้างบ้านแบบนี้มีเวลามากพอให้กับการโต้ตอบของสิ่งเหล่านี้ ฉันไม่สามารถวางแผนแน่นอนในใจได้ ฉันต้องไปยืนที่ตรงนั้นพร้อมกับกระจกในมือ และจัดวางไปมาจนรู้ว่า ที่ที่เหมาะที่สุดอยู่ตรงไหน ... ฉันหยิบก้อนดินขึ้นมาแล้วมองดูมือของตัวเองปั้นสิ่งที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน มันมีความเบิกบาน มีการค้นพบ และโอกาสของการค้นพบโดยบังเอิญ"
      เธอว่า การสร้างบ้านแบบธรรมชาติ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของวัสดุอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ การโต้ตอบ และการฟัง "เมื่อฉันคาดหวังมันน้อยที่สุด ฉันก็เห็นมันอย่างสมบูรณ์ มันง่ายมาก สิ่งที่ต้องทำคือทำมัน แล้วมันก็ไปของมันเรื่อย ๆ ในที่สุด ฉันจึงเรียนรู้โดยเชื่อภูมิปัญญาแห่งการโต้ตอบระหว่างบ้านกับตัวของฉัน ส่วนพิมพ์เขียวนั่นเป็นของจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะหว่านเพาะความใกล้ชิดระหว่างเขากับตัวบ้าน"
      ป้าจอยก็เชื่อเหมือนกันว่า บ้านของเธอไม่มีวันเสร็จอย่างสมบูรณ์ เพราะว่ามันสนุกมากที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ 
      "มีคนมากมายมาที่บ้านของฉัน เพราะที่นั่นทำให้เขามีความสุขมาก"
 

ใจสร้างบ้าน บ้านสร้างใจ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      คนหลงรักบ้านปั้นด้วยดินไม่อาจอธิบายให้ใคร ๆ เข้าใจได้ว่า การลงมือทำและเข้าไปอยู่ในบ้านที่เป็นของดิบ ๆ จากธรรมชาตินั้นดีอย่างไร
      เบ็กกี้ บี เปรียบไว้ว่า มันเป็น "บางสิ่งที่นิ้วมือเข้าใจได้โดยไม่ต้องพูดเลยสักคำ"
      ชาวบ้านดินรู้สึกถึงความเป็นมิตรของบ้านต่อจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ เพราะ "ธรรมชาติไม่เคยมีการจัดระเบียบ ทำมุมแบบเดียว มีพื้นผิวแบนราบล้วน ๆ มีสีเดียว หรือมีแบบแผนแบบเดียว อาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ ไม่อาจทำให้ประสาทสัมผัสเรา รับรู้ถึงความหลากหลายของแบบแผน รูปร่างพื้นผิว กลิ่น และเสียงอย่างที่บรรพบุรุษเรามีประสบการณ์มาก่อน"
      ไม่เพียงแต่ "ความรู้สึกดี ๆ" ที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในตัวบ้าน แม้แต่การปั้นบ้านดินก็ยังเป็นการเยียวยารักษา ดังความเชื่อของป้าจอย 
      "ฉันเข้าเงียบ (retreat) นาน ๔๐ วันในฤดูร้อน ไม่พูดกับใครเลย ฉันใช้เวลาตอนบ่ายผสมดิน ๔ ชั่วโมง และปั้นกำแพง บ้านหลังนั้นจึงกลายเป็น 'dreamscape' ของฉัน ฉันรอให้จิตวิญญาณบอกว่า ฉันต้องทำอะไรต่อไป ฉันมีก้อนดินอยู่ในมือ แค่ฟัง ทำตามสิ่งที่ฉันรู้สึก แล้วฉันก็ได้โต๊ะที่มีไฟส่องจากข้างใน ได้รูปปั้นผู้หญิงขนาด ๘ ฟุต ได้รูปสัตว์ประหลาดโผล่ออกมาจากกำแพง ข้างหนึ่งเป็นหัว อีกข้างหนึ่งเป็นหาง นั่นเป็นเพราะเมื่อใจไม่สมดุล ใจเราก็สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมา
      "บางทีฉันกำลังจะทำหน้าต่าง และบังเอิญทำกระจกแตก ฉันก็ตระหนักรู้ว่า นี่น่าสนใจกว่ามาก ดีกว่าจริง ๆ เพราะมันเป็นรูปร่างแปลก ๆ ความรับรู้ของเราก็กว้างขวางขึ้น เป็นอิสระมากขึ้นจากภายใน และเพราะการปั้นบ้านดินไม่ใช่เป็นงานที่เร็วเหมือนอย่างอื่น ๆ เราจึงมีอิสระแท้จริงในการสำรวจ ไม่มีสิ้นสุด ฉันเชื่อว่าจะค้นพบต่อไปอีกมาก"
      หลังจากสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติมา ๒๐ ปี ป้าจอยค้นพบว่า เธอไม่ควรกำหนดแบบแผนในการสร้างบ้านอย่างตายตัว "เพราะมีบางอย่างน่าสนใจกว่ามาก บางทีสิ่งที่มาจากความผิดพลาดของฉันก็มีความดงามอยู่"
      ป้าจอย-ผู้ที่บอกว่าตัวเองคงแก่ที่สุดในค่ายนี้ และ "เรียนรู้ที่จะนิยามตัวเองให้น้อยลงทุกที เพราะทุกนิยามจะเพิ่มข้อจำกัด" บอกว่า การปั้นดินเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง "เป็นการทำสมาธิ เป็นโยคะ เพราะใจฉันมันวิ่งเร็วและเป็นบ้าบอ มันพุ่งไปหลายทิศทาง ฉันมักจะร้องเพลง เต้นระบำ เล่นดนตรี ฝันลม ๆ แล้ง ๆ มากเกินไป การทำบ้านดินปั้นทำให้ฉันอยู่ติดดิน พาฉันกลับมาสู่โลกและความเรียบง่าย ทำให้ฉันช้าลง และสร้างสรรค์มากขึ้น
      "ส่วนโยคะคือการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องและมีสติ เมื่อเท้าฉันเคลื่อนไหว จิตใจฉันสร้างสรรค์และร้องเพลงไปด้วย ถ้าฉันร้อน ฉันก็โดดลงน้ำ ง่ายมาก ดังนั้น สำหรับคนที่มีจิตใจเร็วมาก ๆ นี่คือวิธีที่ดีที่ทำให้เกิดสมดุล"
 

"เราทำได้เลย ทำได้ง่าย ๆ "

(คลิกดูภาพใหญ่)
      วัฒน์กับพี่โจคิดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราควรสร้างบ้านที่เราจะอยู่ด้วยตัวเอง
      วัฒน์หนุ่มผู้มีวันเกิดวันเดียวกับป้าจอย อายุ ๒๗ ปี กำลังทำสวนอยู่ที่สังขละบุรี เขาเชื่อว่าคนเราควรพึ่งพาตัวเองได้ในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
      ๓ ปีก่อน วัฒน์สร้างกระท่อมด้วยไม้ไผ่ เขาไม่คิดจะปลูกบ้านด้วยไม้ใหญ่หรือซีเมนต์ เพราะ "คิดเกี่ยวกับวัสดุในการสร้างบ้านมาก โรงงานที่สระบุรีมีฝุ่นควัน มีปัญหามาก ก็ไม่อยากใช้"
      แต่บ้านไม้ไผ่ก็ยังมีข้อเสียตรงความไม่ทน วัฒน์อยู่บ้านหลังนั้นได้ ๓ ปี ก็ต้องเริ่มซ่อมแซม เขาเคยไปดูบ้านดินแบบอะโดบีที่โคราชมาก่อน จึงสนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิม เพียงแต่ไม่แน่ใจในบางเรื่อง
      "ตอนแรกคิดว่า (ถึงดินใช้สร้าง) เป็นบ้านได้ แต่คงไม่สุขสบายอย่างที่เป็นบ้านจริง ๆ คิดว่าจะมีฝุ่นหรือเปล่า คงไม่สนุก ทำตู้เสื้อผ้าหรืออะไรก็คงไม่เหมาะ แต่พอมาดู ก็น่าจะใช้ได้จริงและสะอาด ดินไม่ร่อนออกมา และฉาบให้เรียบได้"
      ตอนนี้ วัฒน์ "เด็กมีแวว" ของคุณครูจาเนลล์ มีภาพความคิดเกี่ยวกับการทำบ้านดินสำหรับอยู่จริงแล้ว เขารู้สึกว่า เขาได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน "ถ้าเราไปตัดไม้ เราก็ตัดไม่เป็น เลื่อยไม้ไม่ถูก ไสกบไม่เป็น ถึงเป็นไม้ไผ่ทักษะก็ยังไม่มี แต่นี่เราทำได้ทั้งหมด คืออำนาจมันอยู่ในมือเรา ผิดกับความรู้สึกที่เราเคยมีแต่ก่อน เราด้อย ไม่มีอำนาจที่จะทำมัน เราไม่มีความมั่นใจ... แต่ตอนนี้เราทำได้เลย ทำได้ง่าย ๆ รู้สึกมีความสุขมาก เราสบายใจมาก"
      วัฒน์บอกว่า เขามีความสุข อย่างหนึ่งเป็นเพราะเขาปลูกต้นไม้ ปลูกผักกินได้เอง เขาศึกษาเรื่องสมุนไพร มีความรู้เรื่องการนวดและแพทย์แผนไทยมากพอที่จะดูแลตัวเอง "เหลือแต่เรื่องผ้ากับเรื่องบ้านซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เรื่องบ้านเริ่มเคลียร์ในความรู้สึกผมแล้ว"
      อาจพูดได้ว่า ประโยคสุดท้ายของวัฒน์เป็นความรู้สึกร่วมของทุกคนที่มาเข้าค่าย ไม่ว่าจะเป็นพี่ยา ผู้เดินทางมาจากหาดใหญ่และบอกว่า ตัวเอง "ไม่ได้อยู่ในวัยที่จะทำอะไร" ก็ยัง "มีความมั่นใจหน่อยว่าเราได้ลงมือทำเอง มาคราวนี้ต้องเรียกว่าเปลี่ยนนิสัย" หรือตาราวี สาวตัวเล็กอายุน้อยที่สุด (๑๘ ปี) เธอเป็นนักศึกษาวิชาจิตวิทยาชั้นปี ๑ มหาวิทยาลัยแห่งพนมเปญ และเป็น Programme manager assistant ของ Cambodian Youth Development ประเทศกัมพูชา ก็บอกกับฉันว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยรู้จักบ้านดิน และไม่คิดว่าจะสร้างมันได้ "ฉันคิดว่ามันยาก เพราะไม่เคยสร้างบ้านมาก่อน มันก็คงยากและเหนื่อย แต่มันดีมาก มันสำคัญมาก...ถ้าฉันสามารถอธิบายเรื่องนี้ให้คนในประเทศของฉันฟังได้ บางทีฉันอาจจะสร้างบ้านดินเล็ก ๆ ได้"
(คลิกดูภาพใหญ่)       คำว่า "บ้านดินเล็ก ๆ" ของตาราวี กลับเป็นคำสำคัญสำหรับผู้หัดสร้างบ้านดิน เพราะ "การสร้างบ้านสักหลัง ถึงจะเป็นหลังเล็กก็ตาม เป็นโครงการใหญ่ จึงเป็นการดีที่สุดที่จะเริ่มต้นในสิ่งที่คุณจะทำสำเร็จ ได้โดยไม่ต้องเครียดมาก... และถ้าคุณเกิดเสพติดการปั้นบ้าน คุณก็จะทำห้องเพิ่มได้เรื่อย ๆ ทุกปีเองแหละ" กูรูแห่งบ้านดินบอกเอาไว้อย่างนี้
      "คิดให้กลม ๆ " คือคำสำคัญที่ ๒ หมายถึง บ้านดินควรโค้งมากกว่าเหลี่ยม "เพราะธรรมชาติไม่ค่อยใช้เส้นตรงนัก และวิธีของธรรมชาติก็มักอยู่รอดผ่านกาลเวลา ผนังโค้ง ๆ ย่อมมั่นคงกว่าที่เป็นเส้นตรง"

      "จะกลับไปสอนคนอื่นต่อไหม"
      ถามเควิน หนุ่ม "นักสิ่งแวดล้อมอย่างอ่อน" - คำที่เขาเรียกตัวเอง
      เควินตอบว่า 
      "ผมว่าการเป็นครู การส่งผ่านทักษะของคุณ การหาความเป็นไปได้ในการสอนคนอื่นต่อไป และการใส่ความคิดเรื่องนี้ให้คนอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องดิน มันเป็นความรับผิดชอบ เพราะตอนนี้เรากำลังใช้ป่าหมดแล้วในแคนาดา โลกเราน่าจะดีขึ้นกว่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าผมจะทำให้เกิดผลกระทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้จะดีมาก หวังว่าคนแต่ละคนจะสร้างผลกระทบต่อ ๆ ไปด้วย เรียกว่าเป็น "six degrees of seperation" คือถ้าผมบอกเพื่อนไป ๖ คน เพื่อนทั้ง ๖ จะต้องไปบอกต่ออีกคนละ ๖ คน แบบนี้ จะทำให้คนทุกคนในโลกรู้เรื่องนี้ได้"
      ฉันอาจนับตัวเองเป็นหนึ่งในนักเรียนปั้นบ้านดิน หากมันเป็น "ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องดิน " อย่างที่เควินว่า สิ่งที่ฉันพอทำได้คือการขอหน้ากระดาษ สารคดี เล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง
ถ้าคุณฟังแล้วยังสงสัยว่า มันจะเป็นอย่างที่เล่ามาหรือไม่แล้วละก็
      เท่าที่ต้องทำ คือลองทำมันดู
 

เอกสารประกอบการเขียน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      - Becky Bee (1997), The Cob Builders Handbook: You Can Hand-Sculpt Your Own Home, Groundworks, Oregon U.S.A.
      - Becky Bee (interviewed), "I was flying by the seat of my pants..." How Lois Lewis, 72, Built Her Own Home, http://www.cpros.com/~sequoia/lois.html.
      - Cynthia Kaye, Cob Building: Hand-Sculpted Homes, http://www.danceofthesoul.com/Text/Cob%20Builders.htm.
      - Joy Fox, Cobbing, http://www.wattlehollow.com/cobsite.htm.
      - Michael Smith (1997), The Cobber's Companion, Cob Cottage Company, Oragon U.S.A
      - Starhawk, Alternative Culture Magazine, Declaration of the Four Sacred Things, http://www.alternativeculture.com/spirit/starhawk.htm.
      - Women Build Houses, Who We Are, http://www.imagegypsy.com/wbhwbh.htm.
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      www.sulak-sivalaksa.org - อาศรมวงศ์สนิท อาจถือเป็นศูนย์รวมเรื่องบ้านดินแห่งหนึ่งในเมืองไทย
      www.kleiwerks.com - เว็บไซด์บริษัทของจาเนลล์ คาร์พัวร์
      www.wattlehallow.com - เว็บไซด์ของป้าจอย - จอย ฟ็อกซ์
      www.cobworks.com
      www.strawhomes.com
      www.peacemaking.org
      www.strawbalecentral.com
      www.proaxis.com
      www.earthheaven.org
 

ขอขอบคุณ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ขอยกคำพูดของ "พ่อพูน" ชาวชุมชนมั่นยืนผู้แสนเงียบ มาไว้ตรงนี้
      "ขอขอบคุณอาศรมฯ ที่ให้ความสุข ความสบายใจ-กาย ที่ให้ความอิ่มหนำปากท้อง ที่นอน ขอบคุณเจ้าหน้าที่อาศรมฯ ที่แนะนำ ให้ความรู้บางสิ่งบางอย่าง ขอขอบคุณมิเชลล์และจาเนลล์ที่ให้วิชาบ้านดิน ผมจะนำความรู้ไปแจกจ่ายชุมชนบ้านผม ขอขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่มาในงานบ้านดินที่มีความจริงใจ มีความสามัคคีให้ (บ้านดิน) เสร็จโดยไว"
      นอกจากข้างบน ฉันขอขอบคุณอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไพริน พงษ์สุระ ป้าจอย พี่โจ พี่ยา ตาราวี วัฒน์ เควิน "แม่" และทีมครัว สำหรับอาหารแสนอร่อย ปุ๋ย และเก๋