สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕ "โค้งสุดท้าย พ.ร.บ. ป่าชุมชน รับหรือไม่รับ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


 

     เป็นไปตามที่คาดเดา
     ผู้มาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     มีเพียงไม่กี่ร้อยคน ทั้ง ๆ ที่ผู้จัดงานตั้งใจจัดให้เป็นงานใหญ่เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี
     ผู้มาร่วมงานล้วนแต่เป็นคนหน้าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต องค์กรประชาธิปไตย ผู้เคยเข้าร่วมเหตุการณ์ ผู้สนใจปัญหาสังคม มีนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นส่วนน้อย
     แทบไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ ๑๐ ปีก่อน มีผู้คนหลายแสนคนจากทุกสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัท ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และกลุ่มไฮโซ พากันมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ถนนราชดำเนิน และท้องสนามหลวง กลายเป็นม็อบมือถือ คัดค้านเผด็จการ รสช. ที่ครองอำนาจทางการเมืองในยุคนั้น
     เวลานั้นผู้นำทหารมีอำนาจล้นฟ้าและเกาะกลุ่มเป็นปึกแผ่น แต่ไม่อาจสู้พลังประชาชนได้ เหตุการณ์พฤษภา '๓๕ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ทหารยอมกลับเข้ากรมกองเป็นทหารอาชีพ ไม่ออกมาแสวงหาอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป
     พฤษภา '๓๕ ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดองค์กรอิสระต่าง ๆ ไม่ว่า ศาลปกครอง ผู้ตรวจการรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ ที่มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐ
     พฤษภา '๓๕ ทำให้กลุ่มการเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น กลายเป็นพลังอำนาจหนึ่งในสังคม ทุกวันนี้มีตัวแทนจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เดินทางมาดูการทำงานงานกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในเมืองไทย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
     ดูเหมือนว่าผลพวงของพฤษภา '๓๕ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น ประชาชนได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า แต่เหตุไฉน ๑๐ ปีผ่านไป ผู้มาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ครั้งนี้จึงลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ จนนานเข้าดูจะกลายเป็นงานวันเช็งเม้ง หรืองานวันพบญาติของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์มากกว่า
     หากลองเปรียบเทียบการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทั้งสองงาน ซึ่งก็จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน มีผู้คนมาร่วมงานมากกว่าเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
๑ เดือน จากขอบสนามบอลโลก ๒๐๐๒
       ในทัศนะของผม เหตุการณ์ ๖ และ ๑๔ ตุลาคม มีข้อแตกต่างจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมพอสมควร
     ประการแรก เหตุการณ์เดือนตุลาคม ผู้เป็นแกนนำสำคัญคือนิสิต นักศึกษา ที่ประชาชนเชื่อว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแอบแฝง
     ขณะที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ผู้เป็นแกนนำประกอบด้วย ผู้นำทางการเมือง (พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่) กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย และกลุ่มนักศึกษาเป็นส่วนน้อย ซึ่งในเวลาต่อมาประชาชนตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของแกนนำหลายคน
     ประการที่ ๒ ผู้ที่บาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์เดือนตุลาคม จำนวนหนึ่งคือนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล รามคำแหง ฯลฯ คนเหล่านี้ถือว่ามีตัวตนแท้จริง มีสถานะทางสังคมรองรับ สถาบันการศึกษานั้น ๆ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ จึงมีความขอบธรรมที่จะจัดงานรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาในสถาบันการศึกษาดังกล่าว
     ในขณะที่ผู้บาดเจ็บล้มตายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านหรือชนชั้นระดับล่าง (กล่าวกันว่า พวกม็อบมือถือสลายตัวกันไปเกือบหมดก่อนการปะทะใหญ่ในคืนวันที่ ๑๘ พฤษภาคม) ไม่มีสถานะทางสังคม ไม่มีสถาบันสังกัด
     เมื่อเวลาผ่านไป ๒๐ ปี กลุ่มคนเดือนตุลาคมที่เป็นคนจัดงาน ได้เติบใหญ่กลายเป็นชนชั้นกลาง หลายคนเป็นนักวิชาการชื่อดัง เป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง การผลักดันในการจัดงานรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคมให้แก่เพื่อนผู้จากไปจึงเป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่า
     ขณะที่ผ่านไป ๑๐ ปี กลุ่มคนเดือนพฤษภาคมที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์ยังเป็นคนหน้าเดิม ๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมือง แกนนำในการจัดงานยังเป็นญาติวีรชนผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียงในสังคม แรงผลักดันในการจัดงานจึงอ่อนล้าลงเรื่อย ๆ จนเกือบจะกลายเป็นงานวันพบปะญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น
     ต้องยอมรับว่าผู้บาดเจ็บและล้มตายจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดคือผู้รักความเป็นธรรม ผู้เสียสละเพื่อสังคม 
     แต่เมื่อผู้บาดเจ็บและล้มตายในเหตุการณ์พฤษภาคมเป็นคนระดับรากหญ้า ผู้ผลักดันการจัดงานก็เป็นเพียงคนระดับล่าง ขณะที่ผู้บาดเจ็บและล้มตายในเหตุการณ์เดือนตุลาคม เป็นลูกหลานชนชั้นกลาง และผู้ผลักดันจัดงานเป็นชนชั้นกลาง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลออกมาจึงมีผู้ให้ความสนใจแตกต่างกันลิบลับ
     แม้ในหมู่ผู้รักความเป็นธรรม ในหมู่ผู้เสียสละเพื่อสังคม ก็ยังมีช่องว่างทางชนชั้นให้เห็น
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com