|
|
คุณที่รัก
กั๊มมมจั่ดไก่อ่อน
ภายในห้องส่งวิกหนองแขม ภาพมุมกว้างเห็นผู้เข้าแข่งขันยืนล้อมรอบ "หมูอมตะ" ดนตรีกระหึ่มเร้าใจ
โคลสอัปใบหน้า "หมูฯ" ผู้เป็นพิธีกร ยืนวางท่าสง่าในชุดดำ
"หมูฯ" : เราจะเริ่มเกม กั๊มมมจั่ดไก่อ่อน ณ บัดนี้ จับเวลา !
"หมูฯ" : คุณลัดดาวัลย์ นี่เป็นตราจังหวัดอะไร
ลัดดาวัลย์ : จังหวัดลำปางค่ะ
"หมูฯ" : (หน้าบึ้ง ไม่พอใจคำตอบ) คุณศรัณย์ นี่เป็นตราจังหวัดอะไร
ศรัณย์ : ลำปาง...ชัวร์ป๊าบ (เชิดหน้าแบบมั่นใจมาก)
|
|
|
|
"หมูฯ" : (จ้องใบหน้าผู้เข้าแข่งขันแบบเอาจริง) คุณอุด้มม...นี่เป็นตราจังหวัดอะไร
อุดม : ผมไม่ใช่คนเก่ง (ตาเหลือบมองเวลาที่ใกล้จะหมดลง) แต่ผมรู้ว่าเป็นตราจังหวัดลำปางครับ
"หมูฯ" : คุณภานุวัฒน์ นี่เป็นตราจังหวัดอะไรกันแน่ (เสียงเริ่มเหี้ยม)
ภานุวัฒน์ : ผมขอตอบว่าลำปาง เพราะสมัยก่อนเรียกเมืองลำปางว่า กุกกุฏนคร ซึ่งแปลว่า เมืองไก่
"หมูฯ" : คุณอมร ตอบให้ชื่นใจหน่อยสิว่า นี่เป็นตราจังหวัดอะไร
อมร : (ใจจริงอยากตอบว่า ลำปาง แต่เห็นพิธีกรถามไม่เลิก เลยเปลี่ยนใจ) ขอตอบว่า นครศรีธรรมราช
เพราะมีรูปไก่อยู่ในตรา ๑๒ นักษัตรของจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย
"หมูฯ" : หมดเวลา...คำถามง่าย ๆ แค่นี้ทำไมพวกคุณถึงตอบไม่ได้ ...ใครเป็นตัวถ่วงความเจริญ ใครกันแน่ที่ลืมเอาสมองมาจากบ้าน ใครควรจะขึ้นรถไปที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง ไปดูตราจังหวัดให้เห็นชัด ๆ ...ถึงเวลา กั๊มมมจั่ดไก่อ่อน...
..........................
หลังจากจบรายการ เอนไตเติลขึ้นภาพ "หมูอมตะ" ให้สัมภาษณ์
"ทีมงานขี้เหนียวรางวัล จึงตั้งคำถามนี้เพราะมั่นใจว่าไม่มีใครตอบถูกหรอก แล้วแผนของเราก็สำเร็จ ส่วนใหญ่ผู้เข้าแข่งขันตอบว่า ลำปาง แม้คนท้าย ๆ จะเลี่ยงไปตอบคำตอบอื่น แต่ก็ยังผิดอยู่ดี คำเฉลยก็คือ นี่เป็นตราจังหวัดพิบูลสงคราม ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดการปกครองดินแดนที่ประเทศไทยได้คืนจากฝรั่งเศส พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งให้ยกท้องที่เมืองเสียมราฐเดิมเป็นจังหวัดเรียกว่า จังหวัดพิบูลสงคราม ตามนามสกุลของนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) กรมศิลปากรได้ออกแบบตราประจำจังหวัดเป็นภาพไก่ยืนกางปีกอยู่บนแท่น มีลายกระหนกประกอบสองข้าง เป็นภาพที่มาจากอนุสาวรีย์ ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดนั้น
"หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บรรดาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ไทยประสบปัญหาในการสมัครเป็นสมาชิก เพราะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อรับการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงให้ไทยได้เป็นสมาชิก รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำความตกลงหลายข้อ ข้อหนึ่งคือ ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส คืนพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ตรานี้จึงเลิกใช้ไปด้วย...เรื่องเป็นอย่างนี้นี่เอง จึงไม่มีใครตอบถูก
"อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่านี่เป็นแค่เกม...สวัสดี"
ก้มลงไหว้ เงยหน้าขึ้นมาขยิบตาซ้าย
|
|
|
|
|
|
|
|
กำเนิดฟุตบอล
เพื่อเป็นการปลอบใจแฟน ๆ ที่พลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย ฉบับนี้ "หมูอมตะ" จึงขอทายปัญหาหมูเปื่อย ดังนี้
" football - ฟุตบอล กีฬาที่เล่นเป็นทีมโดยการเตะ พา หรือขว้างลูกบอลไป ส่วนใหญ่หมายถึง ฟุตบอล ซึ่งเป็นที่นิยมชื่นชอบและเล่นกันในประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๙๐ ประเทศทั่วโลก กีฬานี้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศ....................
ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ การแข่งขันฟุตบอลโลก (world cup) จัดขึ้นทุกสี่ปี"
ถ้าคุณรู้ชื่อประเทศในช่องว่าง รีบส่งคำตอบมาภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ศกนี้
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ของแถมท้ายเล่ม
สถิติที่สร้างโดยคนไทย
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕ มี "สถิติสูญเปล่า" ที่ มีชัย ฤชุพันธ์ รวบรวมไว้ใน
www.meechaithailand.com ดังนี้
๑. มีการใช้คำว่า "ท่านประธานที่เคารพ" ประมาณ ๒,๐๐๐ ครั้ง ครั้งละ ๓ วินาที ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที
๒. มีการประท้วงหรือหารือประมาณ ๒๐๐ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ ๔ นาที ใช้เวลาไปประมาณ ๑๖ ชั่วโมง ๔๐ นาที (ผู้อภิปรายรายหนึ่งเพียงรายเดียว ถูกประท้วงประมาณ ๕๐ ครั้ง)
๓. การแนะนำตัวก่อนการอภิปราย ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะลุกขึ้นมาอภิปราย ประท้วง หรือหารือ และไม่ว่าจะพูดเพียงสั้น ๆ หรือยาว จะต้องเริ่มต้นว่า "ท่านประธานที่เคารพ ผมนายดอน แกะกระโทก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด...หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อ" ซึ่งมีผู้ลุกขึ้นพูดและใช้ประโยคดังกล่าวประมาณ ๒๔๐ ครั้ง ครั้งละ ๑๕ วินาที ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง
รวมทั้ง ๓ รายการ ใช้เวลาสูญเปล่าไปประมาณ ๑๙ ชั่วโมง ๒๐ นาที
|
|