สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕ "การเดินทางของก้อนหิน"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕  

ตามหาการ์ตูน ตอนที่ ๕

เรื่อง : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

อะนิเมะ

รูป1 หน้ากากเสือ (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป1 หน้ากากเสือ

      ก่อนจะเริ่มอ่าน ขออนุญาตชี้แจงว่ารูปประกอบที่นำมาลงไว้นี้บางส่วนนำมาจากมังงะ ไม่ได้ถ่ายมาจากอะนิเมะ เหตุผลคือการจัดเตรียมต้นฉบับทำได้สะดวกกว่า
      มังงะ (Manga) หมายถึง หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น อะนิเมะ (Anime) หมายถึงหนังการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งที่ปรากฏในรูปของหนังทีวี หนังโรง วีซีดี ดีวีดี หรือม้วนวิดีโอ อย่างหลังนี้เรียกว่า โอวะ (OVA, Original Video Animation หรือ OAV ก็เรียก) 
      มังงะไม่ยอมเหมือนคอมิกส์ พอ ๆ กับอะนิเมะไม่ยอมเหมือนอะนิเมชั่น 
      อันที่จริงมังงะก็คือ เจแปนนีสคอมิกส์ อะนิเมะก็คือ เจแปนนีสอะนิเมชั่น แต่ด้วยพลังแห่งภาษา ทำให้คนจำนวนมากเห็นด้วยว่า มังงะและอะนิเมะเป็นอีกตระกูลหนึ่งต่างหาก ที่ไม่เหมือนการ์ตูนจากโลกตะวันตก
      มังงะใช้เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ (cinematic style) มากกว่าคอมิกส์ อะนิเมะก็เช่นเดียวกัน ทั้งสองกรณีเป็นเพราะ เท็ตซึกะ โอซามุ ได้วางรากฐานเอาไว้
      นักวิจารณ์และนักเขียนตะวันตกจำนวนมากยอมรับว่า ครั้งแรกที่ได้ดูอะนิเมะนั้น พวกเขาตื่นตาตื่นใจ สนุกสนาน และดูรู้เรื่อง แม้ว่าจะฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเลยแม้แต่คำเดียว นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่า อะนิเมะคือหนังการ์ตูนที่มีเทคนิคพิเศษ และวัฒนธรรมของตนเองอย่างแท้จริง
      การ์ตูนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเรื่องแรก คือ เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) ของ เท็ตซึกะ โอซามุ เรื่องที่ ๒ คือ อากิระไม่ใช่คน (Akira) ของ โอโตโมะ คัตซึฮิโร เรื่องแรกฉายทางทีวี ส่วนเรื่องที่ ๒ ฉายในโรงหนัง 
      เจ้าหนูปรมาณูฉายทางทีวีช่องสี่บางขุนพรหม ส่วนอากิระไม่ใช่คนเคยฉายในโรงหนังบ้านเรา แต่อะนิเมะเรื่องสำคัญที่สุดของบ้านเราน่าจะเป็น หน้ากากเสือ (Tiger Mask-รูป ๑)

 
 รูป2 สิงห์น้อยเจ้าป่า (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป2 สิงห์น้อยเจ้าป่า
รูป3 เจ้าหญิงอัศวิน (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป3 เจ้าหญิงอัศวิน
รูป4 สามเกลอผจญภัย (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป4 สามเกลอผจญภัย
รูป5 เซ็นต์เซย่า (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป5 เซ็นต์เซย่า 
      หน้ากากเสือฉายตอนบ่ายวันอาทิตย์ทางช่องสี่บางขุนพรหมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพลงเปิดเรื่องที่บรรยายถึงชีวิตบนสังเวียน เป็นเพลงหนึ่งที่ผู้เขียนฮัมในลำคอเสมอ ๆ ขณะขับรถ ส่วนเพลงปิดเรื่องที่บรรยายถึงชีวิตเด็กกำพร้า ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ผู้เขียนฮัมเบา ๆ เสมอเมื่อท้อแท้ใจ
      หลายฉากเลือนหายไปจากทรงความจำ แต่ที่ไม่เคยลืมคือฉากนักมวยปล้ำจากถ้ำเสือกดหัวคู่ต่อสู้ลงกระแทกเชือกขอบสนาม เสร็จแล้วลากผมดึงหัวไปจนสุดเสา ให้ลูกตาขูดไปตามเกลียวเชือกเลือดพุ่งกระฉูดเป็นทาง หรือท่าไม้ตายอุลตร้าไทเกอร์เบรกเกอร์ของหน้ากากเสือ ที่ถีบคู่ต่อสู้ขึ้นกลางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนที่จะพิฆาตคู่ต่อสู้ในจังหวะสุดท้าย
      หน้ากากเสือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ๑๙๖๖ ในรูปของมังงะก่อน เขียนเรื่องโดย คะจิวาระ อิกกิ ลายเส้นโดย ซึจิ นาโอกิ แล้วจึงสร้างเป็นอะนิเมะฉายทางทีวีเมื่อปี ๑๙๖๙ ความยาว ๑๐๕ ตอน ตอนละครึ่งชั่วโมง นั่นคือฉายนานสองปีกับอีกหนึ่งสัปดาห์ 
      เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักมวยปล้ำสวมหน้ากากเสือ หลบหนีออกจากองค์กรถ้ำเสือมาเป็นนักมวยอิสระ เขาค่อย ๆ ละทิ้งวิธีเล่นมวยปล้ำแบบสกปรก หันมาแข่งขันตามกติกาเช่นเดียวกับลูกพี่ไจแอนท์บาบะ (ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำที่มีชีวิตอยู่จริง) เมื่อชนะก็นำเงินที่ได้ไปให้บ้านเด็กกำพร้า ซึ่งดูแลโดยหญิงสาวชื่อรูริโกะ และพี่ชาย 
รูป6 หมัดเพชฌฆาตดาวเหนือ (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป6 หมัดเพชฌฆาต ดาวเหนือ
      ในหมู่เด็กกำพร้ายังมีเคนตะผู้ซึ่งเทิดทูนหน้ากากเสือยิ่งชีวิต แต่รังเกียจเนาโตะที่ชอบปรากฏตัวในมาดผู้ดีและไม่มีฝีมือการต่อสู้ ตัวจริงของหน้ากากเสือก็คือเนาโตะ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้าเช่นเดียวกัน
      หน้ากากเสือเผชิญคู่ต่อสู้สวมหน้ากากมากหน้าหลายตาจากถ้ำเสือภายใต้การชักนำของมิสเตอร์เอกซ์ เขาชนะด้วยท่าไม้ตายใหม่ ๆ และเคารพกฎกติกาพื้นฐาน จนกระทั่งประมาณสี่ห้าตอนสุดท้ายที่ถ้ำเสือส่งสมุนซ้ายขวาสุดโหดเหี้ยม ตามด้วยไทเกอร์เดอะเกรท มาเผชิญกับหน้ากากเสือในตอนจบ
      ไทเกอร์เดอะเกรทฉีกหน้ากากเสือขาดกระจุยกลางเวทีต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ เผยโฉมเนาโตะให้คนทั้งประเทศได้เห็น เนาโตะจึงตัดสินใจลุกขึ้นตอบโต้ฝ่ายถ้ำเสืออย่างรุนแรงถึงตาย ในที่สุดประติมากรรมเสือติดปีกขนาดมหึมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของถ้ำเสือก็ถึงกาลแตกดับ แล้วเนาโตะก็หลีกลี้หนีหายไป
      ความรุนแรงที่ไร้รสนิยมเป็นความรุนแรงที่น่ารังเกียจ แต่ความรุนแรงที่มากับศิลปะของอะนิเมะ อีกทั้งแฝงมากับเนื้อเรื่องที่มุ่งเน้นจริยธรรมมากกว่าสิ่งที่ปรากฏต่อตา กลับช่วยให้เยาวชนในสมัยนั้นที่เฝ้าหน้าจอรอดูหน้ากากเสือ สามารถเรียนรู้ด้านมืดของตนเอง และแปรเปลี่ยนมันให้เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้กับอธรรมในสังคม
รูป7 เซลเลอร์มูน (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป7 เซลเลอร์มูน
      ก่อนหน้าหน้ากากเสือ ยังมีอะนิเมะทางทีวีบ้านเราอีกหลายเรื่องที่ควรเอ่ยถึง แน่นอนว่าเรื่องแรกคือ เจ้าหนูปรมาณู ตามด้วย สิงห์น้อยเจ้าป่า (รูป ๒) เจ้าหญิงอัศวิน (รูป ๓) และ สามเกลอผจญภัย (รูป ๔) ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของ เท็ตซึกะ โอซามุ 
      นอกจากนี้ยังมี เจ้าหนูลมกรด ฉายทุกวันเสาร์ตอนเที่ยง ค้างคาวทอง ฉายตอนเย็นๆ และ ไซบอร์ก ๐๐๙ ฉายตอนหัวค่ำ 
      หลังจากหน้ากากเสือ จึงเป็นยุคสมัยของ โดเรมอน นินจาฮาโตริ เณรน้อยเจ้าปัญญา เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผู้คนรู้สึกว่าการ์ตูนญี่ปุ่นไม่มีพิษภัยอะไร ก่อนที่จะตระหนกตกใจกับความรุนแรงที่มากับ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ หรือความหมกมุ่นทางเพศที่มากับ ดอกเตอร์สลัมป์ กระแสความนิยมการ์ตูนญี่ปุ่นที่ฉายทางทีวีของเด็ก ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ เซ็นต์เซย่า เซลเลอร์มูน ดรากอนบอล ชินจัง จนถึง โปเกมอน และ ดิจิมอน
      ก่อนหน้าอากิระไม่ใช่คน การ์ตูนญี่ปุ่นอาจจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในเอเชีย เจ้าหนูปรมาณูทำได้เพียงสร้างปรากฏการณ์ช่วงสั้น ๆ ในยุโรปและอเมริกาเมื่อปี ๑๙๖๓ แต่หลังจากอากิระฯ ออกฉายในปี ๑๙๘๘ แล้ว กระแสความนิยมอะนิเมะเริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้นักวิจารณ์ตะวันตกจำนวนหนึ่งเฝ้ามองอะนิเมะอย่างใกล้ชิด และพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าเพราะเหตุใด
 รูป8 Dragon Ball Z (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป8 Dragon Ball Z
      อะนิเมะแตกต่างจากอะนิเมชั่นตะวันตก เช่นเดียวกับที่มังงะแตกต่างจากคอมิกส์ทั่ว ๆ ไป คือเขียนขึ้นด้วยเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ ได้แก่ การจับภาพระยะไกล ระยะกลาง ระยะใกล้ และระยะประชิด มีการแพนภาพ การตัดต่อ มีมุมเงย มุมกด เบิร์ดอายวิว และซาวนด์เอ็ฟเฟ็กต์ 
      ลำพังภาพนิ่งในกรอบสี่เหลี่ยม การเขียนภาพด้วยเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ของโอซามุ ยังประสบความสำเร็จยิ่งยวด เมื่อปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหว เทคนิคนี้จึงยิ่งทำหน้าที่ของมันได้ง่ายขึ้น ขณะที่อะนิเมชั่นตะวันตกมักอาศัยการเคลื่อนที่ของตัวการ์ตูนในส่วนหน้าเป็นหลัก แต่อะนิเมะจะมีฉากหลังที่ขยับเคลื่อนไปมาอยู่ตลอดเวลา
      มีตัวอย่างมากมายให้เลือก ลองนึกภาพการถีบตัวขึ้นฟ้าของเหล่าเซ็นต์เซย่า (รูป ๕) การปล่อยหมัดเทพเจ้าดาวเหนือ (รูป ๖) หรือการแปลงร่างของเหล่าอัศวินดาราเซลเลอร์มูน (รูป ๗) จะพบว่าส่วนที่เคลื่อนไหวไม่อยู่นิ่งคือฉากหลัง มิใช่ตัวการ์ตูน และเมื่ออาศัยการแพนกล้องไปรอบตัวการ์ตูนเข้าช่วยด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พวกเซ็นต์ทรงพลังทั้งความเร็วและฤทธานุภาพ หมัดดาวเหนือรวดเร็วจนมิอาจเห็นได้ด้วยตา ส่วนอัศวินดาราสามารถสลัดชุดกะลาสีสวมชุดใหม่ได้อย่างงดงามโดยไม่ต้องขยับร่างกายเลย
      อะนิเมะเริ่มบูมหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นกำลังตกต่ำ อีกทั้งอะนิเมะยังมีข้อได้เปรียบ คือมีมังงะเป็นฐานรองรับที่ดี มังงะที่ไม่ผ่านการทดสอบความนิยมจากตลาด ย่อมไม่มีโอกาสแปรเป็นหนังการ์ตูน ส่วนมังงะที่ประสบความสำเร็จ ก็จะประสบความสำเร็จอีกครั้งเมื่อเป็นหนังการ์ตูน
      เด็ก ๆ ชาวอเมริกันยอมรับว่าพวกเขาสนใจอะนิเมะเพราะคาดเดาตอนจบไม่ได้ อันที่จริงเดาตอนกลางก็ไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะตัวร้ายในการ์ตูนญี่ปุ่นมักจะดูเป็นจริงเป็นจัง มีที่มาที่ไป ทำนายพฤติกรรมลำบาก พวกมันอาจจะตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่ออะไรบางอย่างที่คาดไม่ถึงเมื่อไรก็ได้ ในทำนองเดียวกัน ตัวเอกในการ์ตูนญี่ปุ่นก็มักมีส่วนชั่วร้ายแฝงอยู่
      ตัวอย่างที่ดีคือ Dragon Ball Z (รูป ๘) ประมาณกลาง ๆ เรื่องจะเป็นช่วงที่ยุ่งเหยิงและทำนายได้ยากว่าใครกำลังคิดอะไร จอมมารพิตโกโร่กลับกลายเป็นนักรบแซด แต่ก็มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ พอกันกับเบจิต้า นักรบไซย่าคนสุดท้าย ซึ่งดูเหมือนจะแปรพักตร์ไปมาได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งซุนโกคูที่มีจิตใจแสนซื่อ ก็ยังโหดขึ้นมาได้ในบางตอน
 รูป9 Neon Genesis Evangelion (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป9 Neon Genesis Evangelion
      ในหลายกรณี ตัวการ์ตูนในอะนิเมะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนเองคิดอะไรหรือปรารถนาอะไร ทำให้บทพูดกำกวม หรือไม่ก็แสดงออกด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้แก่คนดูได้มาก
      ยกตัวอย่าง Neon Genesis Evangelion (รูป ๙) ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างตัวละครหลายคู่ หนุ่มน้อยชินจิกับสาวรุ่นพี่มิซาโตะคิดอะไรต่อกัน อายานามิ เรย์ กับ ชินจิสัมพันธ์กันอย่างไร บิดาของชินจิรู้สึกอย่างไรกับเรย์ ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ชัดเจน กำกวม และเปิดโอกาสให้คาดเดาหรือตีความได้ตลอดเวลา ทำให้ฉากมิซาโตะจูบชินจิในภาคสุดท้าย The End of Evangelion ดูดีอย่างมาก
      เทียบกับอะนิเมชั่นตะวันตกซึ่งค่อนข้างจะแยกดีชั่วเป็นขาวดำชัดเจน และความดีเอาชนะความชั่วได้ทุกครั้ง เมื่อโครงเรื่องเช่นนี้ประสบความสำเร็จมหาศาลในแบบที่ดิสนีย์เคยทำได้ ก็ไม่มีการพัฒนาโครงเรื่องอีกเลยเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ 
      ในเวลาเดียวกัน โครงเรื่องของการ์ตูนญี่ปุ่นกลับแตกแขนงออกไปทุกทิศทาง ซอยย่อยเป็นตระกูลต่าง ๆ มากมายเทียบเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าที่ปรากฏในภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยซ้ำไป 
      การแตกแขนงออกไปมากทำให้ได้สาวกเพิ่มมากขึ้น ตลาดแข็งแรงขึ้น แม้เนื้อเรื่องจะรุนแรงและหมกมุ่นทางเพศ ก็ไม่ได้รับการขัดขวางในแบบที่หนังสือการ์ตูนของอเมริกาเคยเผชิญ (อ่าน "ตามหาการ์ตูน" ตอนที่ ๓ อเมริกันซูเปอร์ฮีโร่)
      นอกจากนี้ตลาดของอะนิเมะก็มิได้มีเพียงช่องทางเดียว ที่แท้แล้วอะนิเมะอาศัยตลาดถึงสามช่องทางพร้อม ๆ กัน บางเรื่องเหมาะกับทีวี บางเรื่องเหมาะกับโรงภาพยนตร์ และบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่โป๊มาก ก็จะออกเป็นวิดีโอในทันที
 รูป10 แพ็ตเลเบอร์ (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป10 แพ็ตเลเบอร์ 
      อีกทั้งบางเรื่องก็ใช้ทุกช่องทางเสริมกัน เช่น แพ็ตเลเบอร์ (Mobile Police Patlabor-รูป ๑๐) ซึ่งบ้านเราได้อ่านได้ดูกันไม่ครบนั้น ออกฉายครั้งแรกในรูปแบบวิดีโอเมื่อปี ๑๙๘๘ ก่อนที่จะแพร่ภาพทางทีวี ตามด้วยวิดีโออีกชุดหนึ่ง แล้วไปต่อในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าเมื่อถึงปัจจุบันยังสามารถเผยแพร่ทางวีซีดีหรือดีวีดีได้อีกด้วย
      จากการ "ตามหาการ์ตูน" พบว่า หนังการ์ตูนญี่ปุ่นเพื่อการค้าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๑๙๑๗ ในรูปแบบของภาพยนตร์ขนาดสั้น เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเทพนิยายหรือนิทานปรัมปราเสียเป็นส่วนใหญ่ 
      เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ หนังการ์ตูนก็รับใช้สงครามด้วย เช่น Momotaro no Umiwashi ปี ๑๙๔๓ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับกองเรือที่บังคับการโดยสิงสาราสัตว์ที่รวมพลเข้าต่อสู้กับกองทัพอเมริกันที่เพิร์ลฮาเบอร์
      พอถึงปี ๑๙๖๒ มุชิโปรดักชั่น (Mushi Production) ของโอซามุ ก็ฉายภาพยนตร์การ์ตูนในโรงหนังเป็นครั้งแรก คือเรื่อง Aru Machikado no Monogatari (The Story of a Certain Street Corner) ปีเดียวกันนั้นเอง โอตากิคัมปะนี (Otaki Company) ก็ฉายหนังการ์ตูนทางทีวีเป็นครั้งแรก คือเรื่อง Manga Calendar ออกอากาศนานสองปี จบชุดในเดือนสิงหาคม ปี ๑๙๖๔
      ในปี ๑๙๖๓ มังงะเรื่องสำคัญ คือ เจ้าหนูปรมาณู ของ เท็ตซึกะ โอซามุ ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๕๒ ก็ได้ฤกษ์ออกอากาศทางโทรทัศน์ในชื่อว่า Tetsuwan Atom สถานีเอ็นบีซีของอเมริกานำไปพากษ์เสียงภาษาอังกฤษ ออกอากาศในชื่อว่า Astro Boy แม้ว่าจะเป็นการ์ตูนไซไฟ แต่แก่นของเรื่องคือการตั้งคำถามต่อความเป็นคน ของหุ่นยนต์อย่างเจ้าหนูปรมาณู
 
 รูป11 หุ่นเหล็กหมายเลข ๒๘ (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป11 หุ่นเหล็กหมายเลข ๒๘
รูป12 Getter Go (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป12 Getter Go
รูป13 Mobile Suit Gundum (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป13 Mobile Suit Gundum
 รูป14 Lupin III (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป14 Lupin III
      เป็นคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ และจนถึงปี ๑๙๙๕ อะนิเมะเรื่องยิ่งใหญ่ที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกคือ Ghost in the Shell ของ Masamune Shirow ก็ยังคงตั้งคำถามเดียวกัน เมื่อไซบอร์กสาว เมเจอร์ คึนาซากิ ตั้งข้อสงสัยเอากับความเป็นมนุษย์ของตนเอง และพยายามตอบคำถามนี้โดยหลอมตัวเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายข้ามชาติในอินเทอร์เน็ต
      ในปี ๑๙๖๓ เช่นเดียวกัน ที่ หุ่นเหล็กหมายเลข ๒๘ (รูป ๑๑) ออกอากาศ เริ่มจากการเป็นหุ่นบังคับด้วยวิทยุ พัฒนาไปเป็นหุ่นที่มีคนบังคับอยู่ภายใน เช่น Getter Go (รูป ๑๒) ซึ่งอาศัยนักบินสามคนบังคับคนละส่วน และ Mobile Suit Gundum (รูป ๑๓) ซึ่งอาศัยนักบินเพียงคนเดียว ทำให้การ์ตูนหุ่นยนต์กลายเป็นตระกูลสำคัญที่สุดตระกูลหนึ่งของการ์ตูนญี่ปุ่น
      อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการ์ตูนหุ่นยนต์จำนวนมากนั้น ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เน้นการผจญภัยสู้รบ อันที่จริงแล้วหลายเรื่องมีจุดสนใจที่อย่างอื่น เช่น แพ็ตเลเบอร์ ให้ความสนใจกับการปราบอาชญากรรมและทุจริตคอร์รัปชัน ในวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เก็ตเตอร์ มุ่งเน้นที่ปัญหาวัยรุ่นและการทำงานเป็นทีม ส่วนหุ่นรบกันดัมนั้นแทบจะเป็นมหากาพย์ว่าด้วยชีวิต สงคราม และความตาย ในระดับเดียวกับวรรณกรรมชิ้นเอกเช่น สงครามและสันติภาพ ของตอลสตอยเลยทีเดียว
 
รูป15 Sanctuary (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป15 Sanctuary
      ตระกูลอาชญากรรมนอกจากจะนับแพ็ตเลเบอร์ได้แล้ว เรื่องที่จะลืมไม่ได้คือ Lupin III (รูป ๑๔) ของ Monkey Punch เรื่องราวของทายาทจอมโจรบันลือโลก ที่ปฏิบัติการจารกรรมและป้องกันวินาศกรรมไปทั่วทุกทวีป เฉกเช่นเดียวกับ เจมส์ บอนด์ วิดีโอลูแปงที่ดีที่สุดคือ Castle of Cagliostro ปี ๑๙๘๐ ซึ่งกำกับโดย Hayao Miyazaki นอกจากนี้ยังมี Sanctuary (รูป ๑๕) เรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรรมการเมือง ฝีมือของ ฟูมิมูระ โชและ อิเคงามิ เรียวอิจิ สำหรับ You are under Arrest (รูป ๑๖) เป็นเรื่องราวของสองสาวสายตรวจแสนสวยกับเรื่องยุ่ง ๆ ในโรงพัก
      หลักไมล์สำคัญในทศวรรษที่ ๗๐ คือ ผลงานมหากาฬสี่เรื่องของ Leiji Matsumoto ได้แก่ Space Battleship Yamato, Space Pirate Captain Harlock, Galaxy Express 999 และ The Queen of a Thousand Years ทุกเรื่องหาอ่านหาดูได้ในบ้านเราตั้งแต่ยุคก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นช่วงเวลาที่ตระกูลไซไฟกำลังถูกแปรรูปให้เป็นแฟนตาซี ซึ่งจะเป็นอีกตระกูลที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง
      เรื่องหนึ่งที่โดดเด่นในกลุ่มไซไฟแฟนตาซี คือ Silent Moebius (รูป ๑๗) ของ Kia Asimaya เรื่องราวของหน่วยปราบผีที่หลุดมาจากมิติอื่น โดยที่สมาชิกของทีมมีทั้งสาวมือปราบ สาวไซบอร์ก นักบวชหญิง นางปีศาจ และสาวพลังจิต เป็นอีกเรื่องที่มีเนื้อเรื่องยืดยาวซับซ้อนพอ ๆ กับการตลาด นั่นคือเริ่มโดยเป็นหนังโรงสองตอนในปี ๑๙๙๑ และ ๑๙๙๒ ตามด้วยวิดีโอระหว่างปี ๑๙๙๔-๑๙๙๕ แล้วจึงออกฉายทางโทรทัศน์ในปี ๑๙๙๘ 
      เมื่อถึงปี ๑๙๘๑ โลกและบ้านเราก็ได้รู้จักสาวพินอัพคนแรกแห่งโลกอะนิเมะ คือ Urusei Yatsura (รูป ๑๘) ผลงานของ Rumiko Takahashi ก่อนที่จะมีสาวงามอีกมากมายพาเหรดตามมา เช่น Hyperdoll the Easy Fighter (รูป ๑๙) ของ Itoh Shinpei ซึ่งมุ่งขายเรือนร่างของหญิงสาวอย่างชัดเจน 
รูป16 You are under Arrest (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป16 You are under Arrest
      จะสังเกตได้ว่าการจัดตระกูลให้การ์ตูนญี่ปุ่นยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการ์ตูนหนึ่งเรื่องสามารถเข้าสังกัดได้มากกว่าหนึ่งตระกูลเสมอ ตัวอย่างสองเรื่องในย่อหน้าที่แล้วเป็นได้ทั้งไซไฟ แฟนตาซี โชโจ โรมานซ์ และการ์ตูนโป๊
      อะนิเมะเรื่องยิ่งใหญ่ในปี ๑๙๘๒ คือ Macross ของ Haruhiko Mikimoto ซึ่งผสานเนื้อเรื่องไซไฟ สงครามอวกาศ ความรักโรแมนติก ปัญหาวัยรุ่น และดนตรีร็อก เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เป็นเหตุให้มีภาคต่อ คือ Macross Plus, Macross 7 และ Macross 7 Trash (รูป ๒๐) ในเวลาถัดมา
      เมื่อถึงปี ๑๙๘๔ Hayao Miyazaki สร้างอะนิเมะเรื่องสำคัญฉายทางโรงภาพยนตร์ทั่วโลก คือ Nausicaa of the Valley of the Wind ตามด้วยอะนิเมะชิ้นประวัติศาสตร์ คือ Akira ของ โอโตโมะ คัตซึฮิโร ในปี ๑๙๘๘ ทั้งสองเรื่องนับเป็นปรากฏการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา ที่ซึ่งไม่เคยเห็นหนังการ์ตูนเรื่องยาวน่ามหัศจรรย์เช่นนี้มาก่อน 
      การ์ตูนที่เกาะเนื้อเรื่องระหว่างสงครามที่จะลืมเอ่ยไม่ได้เลยในบ้านเรา คือ สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) ปี ๑๙๘๘ จากประวัติส่วนตัวของ Akiyuki Nosaka กำกับโดย Isao Takahata เป็นความทรงจำแสนงดงามสำหรับทุกคนที่ได้ดู
      ทศวรรษนี้ปิดฉากด้วยข่าวการถึงแก่กรรมของ เท็ตซึกะ โอซามุ ในปี ๑๙๘๙ แต่ด้วยรากฐานที่เขาวางไว้ให้อย่างแน่นหนาสำหรับทั้งมังงะและอะนิเมะ ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นเจริญเติบโตต่อไปอย่างก้าวกระโดด 
 
รูป17 Silent Moebius (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป17 Silent Moebius
รูป18 Urusei Yatsura  (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป18 Urusei Yatsura
รูป19 Hyperdoll (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป19 Hyperdoll
รูป20 Macross (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป20 Macross
      ปี ๑๙๘๙ รันมา ๑/๒ ของ Rumiko Takahashi ออกอากาศทั้งทางทีวี ขายเป็นวิดีโอ และฉายในโรงหนัง โดยประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทุกสื่อ หลังจากนี้ทุกอย่างก็ดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอะนิเมะ เช่น แพ็ตเลเบอร์ ของ Masami Yuki เซลเลอร์มูน ของ Naoko Takeuchi สังเกตด้วยว่าเรื่องแรกเป็นกังฟูแฟนตาซีที่แสนจะบ้าบอคอแตก และลามกดูได้ทั้งชายหญิง เรื่องที่ ๒ เป็นตระกูลหุ่นยนต์ผสมอาชญากรรม และเรื่องที่ ๓ เป็นไซไฟแฟนตาซีสำหรับเด็กผู้หญิง ทุกเรื่องล้วนประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน 
      การ์ตูนบ้าบอคอแตกที่ติดอันดับฉายนานแสนนานในโทรทัศน์ คือ ดอกเตอร์สลัมป์ ของ อากิระ โทริยามา ตามด้วยการ์ตูนแนวต่อสู้สำหรับเด็กผู้ชายโดยเฉพาะ ซึ่งฉายมาราธอนติดต่อกันหลายปี คือ Dragon Ball, Dragon Ball Z, Dragon Ball GT ของผู้เขียนคนเดียวกัน
      ส่วนการ์ตูนปราบผีที่ดังทั้งในบ้านเราและอเมริกาขณะนี้คือ แผนปราบผีไม่มีอั้น (GS Mikami-รูป ๒๑) ของ Shiina Takashi และ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน (Inuyasha รูป ๒๒) ของ Rumiko Takahashi อีกแล้ว
      ในปี ๑๙๙๕ หนังการ์ตูนชื่อผีแต่มีเนื้อหาเชิงปรัชญา ว่าด้วยวิวัฒนาการของสาย พันธุ์มนุษย์ที่ทุกคนไม่ควรพลาด คือ Ghost in the Shell ก็ออกฉายและกวาดคำชมไปจากนักวิจารณ์ทั่วโลก
รูป21 แผนปราบผีไม่มีอั้น (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป21 แผนปราบผีไม่มีอั้น
      ทีม GAINAX แพร่ภาพ Neon Genesis Evangelion ในปี ๑๙๙๕ เช่นกัน ตามด้วยทีม CLAMP แพร่ภาพ Cardcaptor Sakura (รูป ๒๓) ในปี ๒๐๐๐ ทั้งสองเรื่องได้รับทั้งคำชมและประสบความสำเร็จด้านการตลาดอย่างดี
อะนิเมะที่ยึดครองทีวีอเมริกันได้เด็ดขาดคือ Pokemon (Pocket Monster) ตามด้วย Digimon (Digital Monster) หนังโรงที่สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งยังคงเป็นผลงานของ Hayao Miyazaki นั่นคือ Princess Mononoke (รูป ๒๔)
      ยังมีเรื่องราวของนักล่าเงินรางวัลแห่งระบบสุริยะ Cowboy Bebop ออกฉายเฉพาะทางเคเบิลทีวีระบบดีเอสทีในอเมริกา และ Blue Submarine no. 6 ซึ่งผสานเทคนิคการทำหนังการ์ตูนดั้งเดิมเข้ากับคอมพิวเตอร์กราฟิกอย่างวิจิตรพิสดาร ออกจำหน่ายในรูปดีวีดี รวมทั้งอย่าลืม Final Fantasy the Spirits with in (รูป ๒๕) ซึ่งเป็น 3-D animation สมบูรณ์แบบที่สุด
      เมื่อพิจารณาเฉพาะองค์ประกอบทางศิลปะ ก็ยังพบลักษณะพิเศษของหนังการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ไม่มีในการ์ตูนชาติอื่น นั่นคือ ตา เส้นผม หยดเหงื่อ ประกาย และชุดนักเรียนมัธยมสตรี
      เท็ตซึกะ โอซามุ ยังคงเป็นผู้ได้รับเครดิตในการชักนำให้ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง มีดวงตากลมโตเป็นพิเศษ ดวงตาลักษณะนี้เอื้อต่อการแสดงอารมณ์ได้ทุกแบบ ทั้งรัก ชื่นชม เป็นปลื้ม ตื่นตะลึงหรือตกตะลึง รวมทั้งริษยาและเกลียดชัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้กับตัวการ์ตูนที่มีลักษณะใสซื่อและบริสุทธิ์ ดวงตาจะเล็กลงเมื่อเป็นของตัวการ์ตูนที่ผ่านโลกมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นวงรีแหลมเล็กในผู้ร้ายไปเลย
รูป22 เทพอสูรจิ้งจอกเงิน (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป22 เทพอสูรจิ้งจอกเงิน
      นักดูหนังการ์ตูนญี่ปุ่นจะนึกถึงความงามของเส้นผมทั้งดำ และบลอนด์ได้ไม่ยาก ในการ์ตูนญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวของเส้นผมตัวการ์ตูนโดยเฉพาะผู้หญิงจะค่อนข้างพิถีพิถันมาก เมื่อลมพัด เมื่อสะบัดหน้า เมื่อนอนลง รวมทั้งก้มลงหรือเงยหน้าขึ้นจูบ อะนิเมะจะไม่ลืมทิ้งเส้นผมลงตามแรงดึงดูดโลกหรือแกว่งไกวไปตามสายลม
      เม็ดเหงื่อที่ผุดขึ้นบนใบหน้าตัวเอกยามคับขัน รวมตัวเป็นหยดใหญ่เคลื่อนลงตามร่องผิว เกาะอยู่สักระยะหนึ่งที่ปลายคาง แล้วค่อย ๆ หยดลงพื้น เหมือนเวลาจะหยุดลงชั่วขณะก่อนที่การต่อสู้ครั้งใหญ่จะบังเกิดขึ้น
      ประกายระยิบระยับรอบตัวนางเอก กุหลาบที่โปรยมากับสายลมในฉากรัก ล้วนปรากฏขึ้นเสมอ ๆ ในอะนิเมะ จนดูเหมือนว่าโลกทั้งใบมีเพียงสองเรา
      และสุดท้ายคือชุดนักเรียนมัธยมสตรีที่ดูคล้ายชุดกะลาสี ด้วยความที่เรื่องราวในมังงะและอะนิเมะ จำนวนมากเป็นแบบที่เรียกกันว่า "เหตุเกิดในโรงเรียนมัธยม" จึงเลี่ยงไม่ได้ที่นักอ่านนักดูทั่วโลกจะรู้สึกชื่นใจเป็นพิเศษ ที่เห็นชุดนักเรียนสไตล์นี้ที่ใดก็ตาม
เฉพาะเรื่องตากลมโตก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ หลายคนเชื่อว่าโอซามุได้รับอิทธิพลมาจาก เบ็ตตี้บู๊บ ตัวการ์ตูนหญิงในทีวีอเมริกันยุคขาวดำ ขณะที่อีกหลายก็เชื่อว่า โอซามุนำมาจากดวงตาของมิคกี้เมาส์มากกว่า โดยอ้างว่าโอซามุเป็นแฟนตัวยงของดิสนีย์อยู่ก่อนแล้ว แต่มีบางคนไม่เชื่อทั้งสองกรณี
 
รูป23 Card Captor Sakura (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป23 Card Captor Sakura 
รูป24  Princess Mononoke  (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป24 Princess Mononoke 
รูป25 Final Fantasy the Spirits with in  (คลิกดูภาพใหญ่)
รูป25 Final Fantasy the Spirits with in 
      บางทฤษฎีเชื่อว่า ดวงตากลมโตเกิดขึ้น และคงอยู่เพราะรับใช้จุดประสงค์บางอย่าง นั่นคือเพื่อกำหนดบุคลิกภาพของตัวการ์ตูนเอง แต่ทฤษฎีนี้ก็ได้รับการคัดค้าน จากกลุ่มที่เชื่อว่าพฤติกรรมของตัวการ์ตูนต่างหากที่กำหนดบุคลิกภาพ มิใช่ด้วยการออกแบบที่โดดเด่นแต่เพียงอย่างเดียว โดยอ้างถึงเบ็ตตี้บู๊บเอง และการ์ตูนในอดีตที่โดดเด่นด้านการออกแบบแต่อายุไม่ยืน ขณะที่ตัวการ์ตูนของดิสนีย์ ซึ่งถูกกำหนดบุคลิกภาพด้วยพฤติกรรมจะมีอายุยืนแทบทุกตัว
      บอกยากว่าดวงตากลมโตในการ์ตูนญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงขัดกันกับดวงตาที่แท้จริงของคนญี่ปุ่นมากมายถึงเพียงนั้น แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า พฤติกรรมที่โดดเด่นของตัวการ์ตูนต่างหาก ที่ทำให้ดวงตากลมโตเหล่านั้นคงอยู่ถึงทุกวันนี้
      อย่างไรก็ตาม ดวงตากลมโตก็สร้างปัญหาด้วย ในสายตาของคนตะวันตก ดวงตาที่กลมโตทำให้อายุของตัวการ์ตูนลดลงจากความเป็นจริงไปมาก และเมื่อคนตะวันตกพบว่า หญิงสาวตาโตเหล่านี้คล่องแคล่วเพียงใดกับเรื่องทางเพศ ก็ทำให้พวกเขาตกใจและแปลความหมายผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องทางเพศของคนตะวันออกไปด้วย
      การ์ตูนฝรั่งรับรู้เรื่องบางเรื่องต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างการนอนหลับของตัวการ์ตูนฝรั่ง ที่ต้องมีตัวอักษรแซดเรียงแถวออกมา แต่การนอนหลับของตัวการ์ตูนญี่ปุ่น จะเป็นน้ำมูกที่โป่งขึ้นและน้ำลายที่ไหลย้อยลง 
      ยิ่งเรื่องเห็นสาวเปลื้องผ้าแล้วเลือดกำเดาออก อย่าว่าแต่คนตะวันตกจะดูไม่รู้เรื่องเลย คนบ้านเราแท้ ๆ จำนวนมากก็ยังไม่เข้าใจเช่นกัน