สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕ "การเดินทางของก้อนหิน"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕  

การเดินทางของก้อนหิน

เรื่อง : ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง

(คลิกดูภาพใหญ่)

      นับแต่มนุษย์ยุคหินคนแรกได้นำหินมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ตั้งแต่นั้นมามนุษย์ก็ไม่เคยหยุดใช้ประโยชน์จากหิน หินถูกเสกสรรปั้นแต่งและแปรรูปนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุก ๆ ช่วงเวลาของชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
      ชาวอียิปต์นำหินทรายมาจัดเรียงให้เป็นสิ่งก่อสร้างอันอัศจรรย์ นามว่า "พีระมิด" ชาวกรีกนำหินอ่อนมาแกะสลักและก่อสร้างมหาวิหารเพื่อบูชาเทพเจ้า ส่วนชาวขอมก็นำหินทรายมาตัดและสลักเสลา ประกอบกันเข้าเป็นเทวสถานอันยิ่งใหญ่ นามว่า "นครวัด"
      แต่ใครเลยจะรู้ว่า กว่าจะมาเป็นหินให้มนุษย์นำไปใช้สอยนั้น จะต้องผ่านกระบวนการธรรมชาติใดมาบ้าง การเดินทางของหิน ตั้งแต่เริ่มก่อกำเนิดจนกลายมาเป็นหินที่เราเห็นนั้น มีความเป็นมาอย่างไร 
      นี่คือการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นการเดินทางอันยาวนานของสิ่งที่เรียกว่า "หิน"


 

เส้นทางของก้อนหิน

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ในปีหนึ่ง ๆ หินจำนวนมหาศาลถูกลำเลียงมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในงานก่อสร้างทั้งโครงการเล็กและใหญ่ บันดาลความรุ่งเรืองแก่เอกนครหนึ่งเดียวของไทย หินเหล่านั้นมาจากจังหวัดที่อยู่รอบ ๆ จังหวัดชลบุรีป้อนหินเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในฝั่งตะวันออก จังหวัดราชบุรีผลิตหินป้อนให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลในฝั่งตะวันตก ส่วนจังหวัดสระบุรีก็ป้อนหินเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนเหนือ
      ในเช้าของวันหนึ่ง ผมออกเดินทางสวนกับรถบรรทุกหินไปทางทิศเหนือ เพื่อตามไปดูที่มาของหินที่นำมาใช้ก่อสร้างตึกหรูหราทั่วเมืองกรุง สร้างทางด่วนที่คดโค้งยาวเหยียดเหมือนงูยักษ์ สร้างทางรถไฟที่มุดลงใต้ดินอ้อมไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ หินที่นำมาป้อนให้โครงการดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากเมืองทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เช่นสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของหินมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง เพราะมีทั้งหินอัคนี หินแปร และหินชั้น ครบถ้วนอยู่ในจังหวัดเดียว 
      ก่อนที่จะพูดถึงหินแต่ละชนิดอย่างละเอียด จะขอแยกแยะหิน ดิน และแร่ ให้เข้าใจกันเสียก่อน เพราะในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้น เราจะพบทั้ง หิน ดิน และแร่ อยู่ปะปนกัน จนทำให้เกิดความสับสนว่าสิ่งใดคือ หิน ดิน หรือแร่ 
      ธาตุและสารประกอบต่าง ๆ ในโลกนี้ที่มีสถานะเป็นของแข็ง และมีส่วนประกอบทางเคมีที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว เราเรียกว่า "แร่" ส่วน "หิน" นั้นก็แทบจะมีคำจำกัดความเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่หินเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นจากการตกผลึก ผสมผสานกันของแร่หลายชนิด ในขณะที่ "ดิน" คือสิ่งที่ผุพังมาจากหิน
      ดังนั้นหากเราหยิบวัตถุแข็ง ๆ ขึ้นมาก้อนหนึ่ง มันจะเป็น "ก้อนหิน" ได้ก็ต่อเมื่อมันมีความแข็งมาก ไม่อย่างนั้นเราก็จะเรียกมันว่า "ก้อนดิน" และถ้าเรานำไปตรวจหาส่วนประกอบทางเคมีแล้วพบว่า วัตถุนี้ประกอบด้วยแร่เพียงชนิดเดียว เราก็จะเรียกมันว่า "ก้อนแร่" 
      หินจึงต่างจากดินตรงความแข็ง และหินต่างจากแร่ตรงความบริสุทธิ์
      หินทุกชนิดในโลกแบ่งได้เป็นสามพวก คือ หินอัคนี หินแปร และหินชั้น หินทั้งสามพวกมีที่มาแตกต่างกัน แต่สามารถแปรเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา หินอัคนีในวันหนึ่งอาจกลายเป็นหินชั้น หรือหินแปรก็ได้ ส่วนหินชั้นและหินแปรก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นหินอัคนีในวันหนึ่งข้างหน้าได้เช่นกัน
 

หินอัคนีและคนตีหิน

(คลิกดูภาพใหญ่) ๑๒๔ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนพหลโยธิน : โรงงานแปรรูปหิน ฟาร์อีสต์ มาร์เบิล แอนด์ แกรนิต

      ผมเดินทางติดตามรถบรรทุกคันหนึ่งที่ขนหินก้อนมหึมาสามก้อน มาส่งที่โรงงานแปรรูปหินแถว ๆ บ้านหน้าพระลาน โรงงานแห่งนี้นำเข้าหินจากทั่วโลกมาแปรรูป โดยการตัดออกเป็นแผ่นขนาดมาตรฐาน สำหรับทำวัสดุปูพื้นและงานตกแต่งอาคาร หินก้อนใหญ่ทั้งสามก้อนขนมาจากเรือเดินสมุทร แล้วส่งมาแปรรูปที่โรงงาน หลังจากนั้นหินส่วนใหญ่ก็จะถูกส่งขึ้นรถกลับไปยังกรุงเทพฯ
"ตึกหรู ๆ ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใช้หินแกรนิตปูพื้นทั้งนั้น" 
      "ถ้าหินแกรนิตสีสวย ๆ ละก็ เป็นหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศค่ะ"
      คุณน้ำทิพย์ ทุมทอง พนักงานของบริษัทฟาร์อีสต์ มาร์เบิล แอนด์ แกรนิต ช่วยแนะนำให้ผมรู้จักหินแกรนิตทันทีที่ผมย่างเท้าสู่โรงงาน เธอยังใจดีช่วยอธิบายต่อไปอีกว่า หินแกรนิตสีอะไรมาจากประเทศอะไร
      "หากเป็นหินที่มีสีดำสนิทจะมาจากอินเดีย หินสีดำเกล็ดเลื่อมเป็นมุกหรือเกล็ดสีเงินจะมาจากนอร์เวย์ หินสีดำเกล็ดสีทองมาจากอินเดีย หินสีแดงเกล็ดสีดำมาจากแอฟริกาใต้ แต่ถ้าเป็นสีแดงเกล็ดสีเทาจะมาจากอินเดีย สำหรับหินที่มาจากประเทศจีนจะออกสีอ่อน ๆ เช่น สีขาวเกล็ดสีชมพู หรือสีขาวลายเมฆสีดำ ส่วนหินสีหวานกว่านั้น เช่น หินสีชมพูอย่างดอกกุหลาบ มีชื่อว่าโรซาพาลีโน่ มาจากสเปนค่ะ"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ผมอยากรู้ว่าหินสามก้อนนั้นถูกยกไปไว้ที่ไหน เลยย่องไปดูจึงรู้ว่า เวลานี้พวกมันถูกยกลงจากรถ ไปรวมอยู่กับหินแกรนิตต่างสัญชาติก้อนอื่น ๆ นับร้อยก้อนซึ่งกองซ้อนกันสูงอย่างกับภูเขา ผมเดินไปรอบ ๆ พวกมันเหมือนนายพลกำลังเดินตรวจแถวทหาร พยายามดูสีและเนื้อหินอย่างที่คุณน้ำทิพย์สอนวิธีดูเอาไว้ แต่ก็ดูยากเหมือนกันสำหรับมือใหม่ 
      หากก้อนหินเหล่านี้สามารถกล่าวรายงานตัวได้อย่างทหารก็คงจะดี ผมจะได้รู้ว่าก้อนหินแกรนิตทั้งหมดนี้มาจากที่ใดบ้าง 
      หินก้อนใหญ่หนึ่งก้อนจะตัดออกเป็นแผ่นได้ราว ๓๐-๕๐ แผ่น และจะเหลือเศษเป็นปีกหินทั้งสองข้างที่ไม่สามารถตัดแปรรูปได้ หินที่ตัดเป็นแผ่นแล้วจะถูกนำไปขัดเงา และตัดย่อยเป็นแผ่นเล็ก ๆ ขนาดใกล้เคียงกับแผ่นกระเบื้องปูพื้น พร้อมนำออกจำหน่าย ในเวลาต่อจากนี้หินแกรนิตแผ่นนับหมื่น ๆ แผ่นก็จะรอคอยการเดินทางอีกครั้ง เพื่อไปสู่เจ้าของคนใหม่ต่อไป
      ส่วนปีกหินขนาดเขื่องทั้งสองข้าง จะถูกจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าหินแปรรูป เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมอีกประเภทหนึ่ง ...ในที่ที่สงบและสงัด เถ้าแก่ร้านแกะสลักป้ายสุสานกำลังรอสั่งซื้อและขนพวกมันไปยังร้านของเขา
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๙๖ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนสุวรรณศร : "ร้านเตียฮะเฮง" ร้านแกะสลักป้ายสุสาน

      "ตั้งแต่เริ่มอาชีพนี้มา การแกะหินแกรนิตเป็นงานที่ หินž ที่สุด"
      เฮียเง้ง อมรปรีชาวัฒนา เจ้าของร้านยืนยันคำกล่าวนี้ด้วยประสบการณ์ในอาชีพคนตีหินมากว่า ๓๐ ปี
      เฮียเง้งเล่าว่า สมัยที่แกเริ่มเป็นช่างแกะสลักหินใหม่ ๆ ป้ายฮวงซุ้ยไม่ได้ทำจากหินแกรนิตอย่างในปัจจุบัน แต่ทำด้วยหินทรายจากปากช่อง เพิ่ง ๒๐ กว่าปีมานี้เอง มีนายตำรวจจากจังหวัดตาก ได้ชักชวนให้ทดลองเปลี่ยนจากหินทรายมาเป็นหินแกรนิตที่มาจากจังหวัดของเขา หลังจากนั้นป้ายฮวงซุ้ยหินแกรนิต ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นายตำรวจคนนั้นจึงลาออกมาเป็นพ่อค้าหินแกรนิตอย่างเต็มตัว
      "คนไทยชอบหินทรายและหินอ่อน แต่คนจีนชอบหินแกรนิต"
      ความนิยมของลูกค้าที่ร้านนี้แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและงานที่จะนำไปใช้ หินแกรนิตจะใช้ในงานที่ต้องตากแดดตากฝน เช่น ทำป้ายฮวงซุ้ย ส่วนหินทรายนิยมใช้แกะสลักทำลูกนิมิต ใบเสมา และพระพุทธรูป สำหรับหินอ่อนนิยมใช้ทำป้ายศิลาฤกษ์ และป้ายชาตะ-มรณะ ติดหน้าช่องบรรจุอัฐิที่วัด 
สมาชิกคนอื่น ๆ ในร้านที่ผมได้คุยด้วย คือ ศักดิ์ศรี ช่างแกะสลักหินอายุ ๓๐ ปี มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นช่างมือใหม่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยร่างภาษาจีนบนแผ่นหินก่อนการแกะสลัก ส่วนพี่สมาน ช่างแกะสลักหินอายุ ๕๒ ปีเท่ากับเฮียเง้ง มาจากจังหวัดมหาสารคาม ยึดอาชีพคนตีหินมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ตลอดเวลา ๓๐ ปีที่ยึดอาชีพนี้ เขาเริ่มทำงานที่สระบุรีเป็นที่แรก แล้วย้ายไปยังชลบุรี ราชบุรี ก่อนจะย้อนกลับมาที่สระบุรีอีกครั้ง เฮียเง้ง เจ้าของร้าน อายุ ๕๒ ปี เข้าสู่วงการแกะสลักหินมาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ไต่เต้าจนเป็นเจ้าของร้านเมื่ออายุ ๒๒ ปี ปัจจุบันเขาดำเนินกิจการมาแล้ว ๓๐ ปี และยึดอาชีพนี้จนส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยไปแล้วสองคน 
      เมื่อถามว่า ระหว่างหินแกรนิตไทยกับหินแกรนิตนอก หินอะไรแข็งที่สุด คนตีหินทั้งสามฟันธงอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า หินแกรนิตไทยแข็งกว่าหินนอก และหินแข็งที่สุดที่เคยตีมา ได้แก่ หินแกรนิตที่มาจากจังหวัดเลย ซึ่งมีสีขาวอมชมพู ปัจจุบันหินชนิดนี้ไม่มีการผลิตแล้ว
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       และเมื่อถามว่างานแกะสลักหินที่ "หมู" ที่สุดคืออะไร คนตีหินทั้งสามก็ฟันธงอีกเช่นกันว่า เป็นการแกะหินทรายทำลูกนิมิต
      การเดินทางของคนตีหินแม้ว่าจะโลดโผนและโชกโชนมากว่า ๓๐ ปีก็ตาม แต่นั่นคงเทียบไม่ได้กับหินที่เขาตี โดยเฉพาะหินแกรนิตซึ่งจัดอยู่ในพวกหินอัคนีที่พวกเขาลงความเห็นว่าเป็นหินที่แข็งที่สุด
      เหตุที่หินอัคนีแข็งที่สุด น่าจะมาจากการที่มันเดินทางโดยตรง จากการเป็นหินร้อนเหลวภายใต้เปลือกโลกหรือแมกมา แล้วเย็นตัวและแข็งตัวกลายเป็นหิน การแข็งตัวของหินอัคนีมีได้ในสองลักษณะคือ แข็งตัวภายในเปลือกโลกและแข็งตัวภายนอกเปลือกโลก
      หินที่แข็งตัวภายนอกเปลือกโลกเรียกว่า "หินอัคนีพุหรือหินภูเขาไฟ" และหินที่แข็งตัวภายในเปลือกโลกเรียกว่า "หินอัคนีแทรกซอนหรือหินอัคนีระดับลึก"
      หินอัคนีพุหรือหินภูเขาไฟ เกิดขึ้นเมื่อหินร้อนเหลวถูกดันออกมานอกเปลือกโลก ซึ่งอาจจะออกมาตามรอยแตก หรือระเบิดออกมาเป็นภูเขาไฟกลายเป็นลาวา ลาวาจะเย็นตัวอย่างรวดเร็ว และแข็งตัวเป็นหินซึ่งมีผลึกขนาดเล็กถึงเล็กมาก ส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นรูปของผลึกด้วยตาเปล่า ลาวาที่ถูกขับมาจากส่วนลึกของเปลือกโลก จะประกอบด้วยแร่ที่มีธาตุเหล็ก และแมกนีเซียมสูง เมื่อแข็งตัวก็จะได้หินภูเขาไฟสีดำ ลาวาที่ถูกขับออกมาจากเปลือกโลกในระดับความลึกไม่มากนัก จะกลายเป็นหินภูเขาไฟสีอ่อน 
      หินภูเขาไฟที่สำคัญและน่าสนใจคือ หินไรโอไลต์ แอนดีไซต์ และหินบะซอลท์ ซึ่งมีสีอ่อน ปานกลาง และเข้มตามลำดับ
      ในกรณีที่หินร้อนเหลวถูกขับดันออกมาสู่ผิวโลกอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง หินร้อนเหลวจะถูกขับพุ่งขึ้นไปบนอากาศแล้วตกลงมาสู่ผิวโลก การแข็งตัวจะมีตั้งแต่บนอากาศ หรือเมื่อทันทีที่ตกลงมาถึงพื้น กระบวนการเช่นนี้จะทำให้ได้หินทัฟฟ์ (tuff) ซึ่งจะเรียกชื่อตามลักษณะของหินที่ประกอบขึ้นมา เช่น หินทัฟฟ์ไรโอไลต์ (rhyolitic tuff) หรือหินทัฟฟ์แอนดีไซด์ (andesitic tuff) เป็นต้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)       การระเบิดในบางครั้งที่นำเอาหิน หรือเศษหินที่แข็งตัวแล้วภายในเปลือกโลก หรืออยู่ในปล่องภูเขาไฟขึ้นมาด้วย จะทำให้ได้หินสองขนาดคือ ก้อนที่ใหญ่กว่ามาจากหินเก่าในปล่องภูเขาไฟ และเม็ดขนาดเล็กกว่า เกิดจากการแข็งตัวหลังการระเบิด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ได้หินที่เรียกว่า หินกรวดมนภูเขาไฟ (volcanic agglomerate) หรือหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟ (volcanic breccia) ทั้งนี้ขึ้นกับรูปร่างของก้อนหินที่ฝังอยู่ภายใน
      หินอัคนีแทรกซอนหรือหินอัคนีระดับลึก เกิดขึ้นเมื่อหินร้อนเหลวที่อยู่ภายในเปลือกโลก มีอุณหภูมิลดลงเนื่องจากถูกดันขึ้นมาใกล้ผิวโลก และความร้อนที่อยู่ภายในถูกระบายให้แก่ชั้นหินที่อยู่รอบ ๆ ที่เย็นกว่า การลดลงของอุณหภูมิจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และแร่ที่ละลายอยู่ในหินร้อนเหลวก็จะเริ่มตกผลึก แร่ที่ตกผลึกในอุณหภูมิสูง ๆ มักจะเป็นแร่ที่มีปริมาณของธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และแคลเซียมสูง และมีสีเข้ม ส่วนแร่ที่ตกผลึกในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจะมีธาตุอะลูมิเนียมและโซเดียมสูง และมีสีอ่อน การตกผลึกอย่างช้า ๆ ทำให้ได้ผลึกใหญ่ แต่ในบางกรณีหินร้อนเหลวจะแข็งตัวในสภาพการเย็นตัวช้า ๆ ในช่วงแรก และเย็นตัวเร็วกว่าในช่วงหลัง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดหินอัคนีเนื้อดอก คือจะมีผลึกขนาดใหญ่และผลึกขนาดเล็กปะปนกัน
      หินอัคนีระดับลึกที่น่าสนใจก็คือ หินแกรนิต หินไดโอไรต์ และหินแกบโบร ซึ่งเป็นหินที่มีสีอ่อน ปานกลาง และเข้มตามลำดับ
      หินอัคนีทั้งสามก้อนที่ผมได้ติดตามมาจนครบเส้นทางของมัน เป็นเพียง "หินอัคนีข้ามถิ่น" ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ บางคนอาจสงสัยว่า แล้ว "หินอัคนีท้องถิ่น" ไปอยู่เสียที่ไหน หินอัคนีท้องถิ่นของไทยที่นำมาใช้ในงานแกะสลักหินส่วนใหญ่ จะเป็นหินแกรนิตที่มาจากจังหวัดตาก และหินอัคนีเจ้าถิ่นที่เป็นหินของสระบุรีแท้ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหินไรโอไลต์ ถูกนำไปใช้เป็นหินรองรางรถไฟและรถไฟฟ้าใต้ดิน อายุของหินอัคนีในเขตสระบุรี จะเกิดขึ้นในช่วงมหายุคพาลีโอโซอิกต่อเนื่องกับมีโซโซอิก คือประมาณ ๒๖๐-๒๓๐ ล้านปีที่ผ่านมา
 

หินแปรและคนแซะหิน

 (คลิกดูภาพใหญ่) ๑๒๐ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนพหลโยธิน : โรงงานหินอ่อนสระบุรี

      หินท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้สระบุรีมาเป็นเวลานานกว่า ๔๖ ปี ได้แก่ หินอ่อนจากเหมืองของบริษัทหินอ่อน จำกัด เพราะที่นี่เป็นเหมืองหินอ่อนแห่งแรกของประเทศไทย และดำเนินงานแบบรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ 
      "เป็นเรื่องตื่นเต้นของยุคนั้นมาก ที่มีการค้นพบหินอ่อนเป็นครั้งแรก และยังพบว่า หินอ่อนสระบุรีมีคุณภาพเทียบเคียงได้กับหินอ่อนที่นำเข้ามาจากอิตาลี เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังบางปะอิน และวัดเบญจมบพิตร" คุณปรีชา เรืองมาศ ผู้จัดการเหมืองหินอ่อนสระบุรีเล่าให้ฟังถึงความเป็นมา
      หินอ่อนสีขาวชื่อ "ขาวสระบุรี" มีสีที่ใกล้เคียงกับ "ไวท์คาร่า" ของอิตาลี ส่วนหินอ่อนสีเข้มกว่านั้นก็มีลวดลายใกล้เคียงกับ "ลายเมฆอลาเบสกาโต" แม้เวลาจะผ่านไป ๔๖ ปี สีของหินอ่อนสระบุรีที่ขุดได้ก็ยังไม่ผิดเพี้ยนไปจากวันแรก ๆ ที่เปิดโรงงาน
      ปัจจุบันหินอ่อนที่นี่ถูกส่งไปกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วัดตรีทศเทพ วัดหัวลำโพง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นต้น 
      คุณปรีชาเปิดเผยว่า ปลายทางของหินอ่อนนั้นไกลกว่าหินอื่น ๆ เพราะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้ในการฟอกสีน้ำตาลและกระดาษให้มีสีขาว อุตสาหกรรมพลาสติก ใช้บำบัดน้ำเสียในบ่อกุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ทุกเช้าเราทุกคนจะต้องเจออณูเล็ก ๆ ของหินอ่อนซึ่งถูกนำมาใช้ทำยาสีฟันด้วย
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ผมเดินทางขึ้นมาสู่ยอดเขาจุดสูงที่สุดของเหมืองหินอ่อน ที่นี่ผมได้พบกับวิรัช คนงานที่กำลังตัดหินอ่อนและค่อย ๆ แซะหินออกมาจากภูเขา วิรัชเล่าถึงการตัดหินอ่อนว่า ปัจจุบันการตัดหินอ่อนสักก้อน ออกมาจากภูเขาด้วยเส้นลวดที่ทำมาจากเพชร จะใช้เวลาแค่ ๔ ชั่วโมง ซึ่งถ้าเทียบกับการตัดด้วยลวดรุ่นเก่าที่เป็นลวดทราย จะใช้เวลาตัดถึง ๒-๓ วัน หลังจากการแซะหินอ่อนก้อนใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมาจากภูเขา มันจะถูกขนลงไปแปรรูปที่โรงงานข้างล่าง ซึ่งขั้นตอนการตัดและขัดเงา ไม่แตกต่างจากการแปรรูปหินแกรนิต คนงานที่ทำงานอยู่หน้าเหมืองหินอ่อนแทบทุกคน จะดูเท่ด้วยการสวมแว่นตาดำ แท้จริงแล้วสถานการณ์บังคับให้ต้องสวมแว่นดำ เนื่องมาจากสีขาวโพลนของภูเขา จะสะท้อนแสงแดดให้บรรยากาศรอบกายสว่าง และร้อนกว่าปรกติ มุมหลบร้อนของวิรัช และคนงานคนอื่น ๆ คือเต็นท์ที่กางให้ร่มเงาไปตกลงบนก้อนหินอ่อนที่เรียบสนิท นี่คือมุมที่สบายที่สุด เพราะมีลมพัดชายเขา และมีความเย็นของหินอ่อนแผ่มาสู่ตัวเวลาเราหย่อนกายลงไปสัมผัสกับหิน หากมองผ่านหน้าผาเรียบลงไปที่หน้าเหมืองเบื้องล่าง จะมองเห็นหินอ่อนก้อนยักษ์เหลือเพียงก้อนขนาดเล็กนิดเดียว
      เมื่อใกล้เวลาอาหาร อาจจะมีใครสักคนในที่นี้จินตนาการว่า มันเป็นก้อนเต้าหู้นิ่ม ๆ อร่อย ๆ ก็เป็นได้ 
      จากยอดเขาในบริเวณนี้จะมองเห็นภูเขาอีกลูกหนึ่งตั้งอยู่ประจันหน้า ภูเขาลูกนั้นถูกเปิดทำเป็นเหมืองหินปูน การเปิดหน้าเหมือง ทำให้มองเห็นว่าสีของหินในภูเขาเป็นสีเทาเข้ม ระหว่างภูเขาทั้งสองลูกมีเพียงแค่ถนนกั้น จึงน่าแปลกใจที่แนวถนนกลายเป็นตัวแบ่งพรมแดนของหินสองชนิด เพราะยังมีภูเขาอีกลูกหนึ่ง ที่อยู่ฟากถนนเดียวกันกับเหมืองหินอ่อนก็มีสีขาวเป็นเนื้อหินอ่อนชัดเจน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       หินอ่อนจัดเป็นหินแปรชนิดหนึ่งซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากหินปูน โดยเริ่มต้นจากการทับถมกันของตะกอนในทะเล เช่น ซากหอยและปะการัง เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อตะกอนประสานกันจนกลายเป็นหินปูน
      วันดีคืนดีมีปรากฏการณ์สำคัญสองปรากฏการณ์ที่ทำให้หินปูนแปรเปลี่ยนเป็นหินอ่อน ปรากฏการณ์แรกคือ ชั้นหินปูนที่อยู่ก้นทะเลค่อย ๆ ยกตัวขึ้นมาทีละน้อยจากกระบวนการแปรสัณฐาน ความสูงที่เพิ่มขึ้นปีละไม่กี่มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลานับแสนนับล้านปี ทำให้ชั้นหินปูนใต้ทะเลค่อย ๆ ยกตัวขึ้นเป็นภูเขา ปรากฏการณ์ที่ ๒ คือ ในระหว่างที่กระบวนการยกตัวดำเนินไป เกิดการแทรกตัวขึ้นมาของหินร้อนเหลวที่ขึ้นสู่ผิวโลก ในลักษณะการระเบิดของภูเขาไฟ หรือจากการเย็นตัวใต้เปลือกโลกเป็นหินอัคนีระดับลึก ในช่วงที่หินร้อนเหลวค่อย ๆ เย็นตัว ความร้อนที่อยู่ภายในหินได้ถ่ายทอดออกมาสู่ชั้นหินปูนที่อยู่รอบ ๆ ทำให้แร่ที่อยู่ในหินปูนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนกลายเป็นหินอ่อนในที่สุด ลักษณะการแปรสภาพแบบนี้เรียกว่า "การแปรสภาพแบบสัมผัส" (contact metamorphism)
      ในกรณีของภูเขาหินปูน และภูเขาหินอ่อนที่นี่อยู่ห่างกันเพียงแค่ถนนคั่น อาจสันนิษฐานได้ว่า ในบริเวณนี้แนวของหินอัคนีที่อยู่ใต้ดิน อาจวางตัวในทิศทางเดียวกันกับแนวถนนก็เป็นได้ หินปูนในสระบุรีเป็นหินยุคเปอร์เมียน อายุของหินปูนประมาณ ๒๘๐-๒๖๐ ล้านปีล่วงมาแล้ว ส่วนหินอัคนีทั้งชนิดที่เย็นตัวใต้เปลือกโลก และชนิดที่เป็นหินภูเขาไฟ มีอายุประมาณ ๒๖๐-๒๓๐ ล้านปีล่วงมาแล้ว อยู่ในช่วงมหายุคพาลีโอโซอิกต่อเนื่องกับมหายุคมีโซโซอิก กระบวนการแปรเปลี่ยนจากหินปูนมาเป็นหินอ่อน จึงน่าจะเกิดตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๑๖๘ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพ : บ่อหินกาบ

      ในบริเวณเขตรอยต่อของอำเภอกลางดงกับอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สองฟากถนนมีหินกาบจำหน่ายอยู่ตามเต็นท์ข้างทาง หินกาบเหล่านี้เป็นหินแปรชนิดหนึ่งที่คนโบราณรู้จักดีในชื่อ "หินชนวน" เพราะคนโบราณนำหินนี้ไปทำกระดานชนวนสำหรับเขียนหนังสือ โคลงกลอนของกวีศรีปราชญ์ หรือสุนทรภู่ ก็ล้วนแต่เคยโลดแล่นบนกระดานชนวนมาแล้วทั้งสิ้น
      การแซะหินชนวนออกมาจากภูเขา ไม่ยุ่งยากเหมือนการแซะหินอ่อน เนื่องจากหินชนวนมีลักษณะเป็นกาบ หรือเป็นแผ่นบาง ๆ ที่เรียงซ้อนกันอย่างหน้ากระดาษที่เรียงอยู่ในหนังสือ การแซะหินจึงไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาก นอกจากสิ่วกับค้อนและสองมือของคนงาน
      ในท่ามกลางแดดจ้า คนงานราว ๔๐ คนกระจายกันออกไปแซะหินชนวนในบ่อหินสามสี่บ่อ งานหนัก ๆ เช่นงานแซะหินออกมาจากภูเขาและงานยกหิน จะเป็นงานของผู้ชาย ส่วนงานที่ต้องอาศัยความละเอียด เช่นการแซะหินก้อนใหญ่ ๆ ออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และคัดขนาดแผ่นหินชนวน จะเป็นงานของผู้หญิง
      "การแซะหินนั้นไม่ยากหรอก แต่การเรียงหินนั้นยากกว่ากันเยอะ" ปราโมทย์ มันอาสา คนงานหนุ่มรุ่นกระทง ส่งเสียงบ่นมาตามลม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       จริงของปราโมทย์ที่ว่ายังมีงานที่ยากกว่านั้นอีก นั่นคือการเรียงหินชนวนขึ้นบนรถบรรทุกสิบล้อ เพราะมันต้องใช้คนงานถึง ๑๕ คนและใช้เวลาถึง ๑ ชั่วโมงเพื่อช่วยกันยกช่วยกันเรียงหินชนวนให้เต็มคันรถ คนเรียงหินจะต้องเรียงหินชนวนในแนวตั้งแบบการเรียงหนังสือบนชั้น เมื่อเรียงป็นแถวจนเต็มแล้วก็จะตั้งแถวซ้อนกันขึ้นไปอีกสองสามชั้น 
      ในวันนี้ หินชนวนจากบ่อหินจะเดินทางลงใต้ไปกับรถบรรทุกเป็นระยะทางเกือบ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร สิ้นสุดการเดินทางด้วยการกลายเป็นหินตกแต่งอาคาร
      หากจะย้อนรอยการเดินทางไปสู่การกำเนิดของหินชนวนที่นี่ จะพบว่าเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ตะกอนดินและทรายเม็ดเล็กละเอียดราวเนื้อแป้ง ถูกน้ำและลมพัดพาไปตกตะกอนรวมกันเข้าจนเป็นชั้นหินตะกอน บริเวณปากแม่น้ำ หรือไหล่ทวีปในท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไป ชั้นตะกอนเพิ่มขึ้นหลาย ๆ ชั้น ทำให้ชั้นตะกอนที่อยู่ด้านล่างถูกแรงกดทับและประสานกันเป็นหินดินดาน วันดีคืนดีเกิดมีหินร้อนเหลวดันตัวขึ้นมา ความร้อนที่หินร้อนเหลวปลดปล่อยระหว่างที่มันจะเย็นตัวลงกลายเป็นหินอัคนี ผนวกกับความดันที่เกิดขึ้น ทำให้หินดินดานแปรเปลี่ยนเป็นหินชนวน 
      การแปรเปลี่ยนที่เกิดเนื่องจากความร้อน และความกดดันรวมกันในบริเวณอำเภอปากช่องนี้ จะเกิดพร้อมกับกระบวนการเกิดของเทือกเขาเพชรบูรณ์ การแปรเปลี่ยนชนิดนี้เรียกว่า การแปรสภาพบริเวณไพศาล (regional metamorphism)
      หินแปรส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกระบวนการแปรเปลี่ยนในลักษณะนี้ นอกจากหินอ่อนและหินชนวนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหินแปรอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ หินควอตไซต์ หินชีสต์ และหินไนส์
 

หินชั้นกับปราสาทหิน

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เส้นทางตั้งแต่อำเภอปากช่องไปจนถึงเขื่อนลำตะคอง เป็นเส้นทางที่พาเราเข้าสู่อาณาจักรของหินทราย ภาคอีสานมีเนื้อที่หนึ่งในสามของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และมีภูเขายอดตัดกระจายตัวอยู่ทั่วไป ด้านหนึ่งของขอบเป็นเทือกเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตก ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์และดงพญาเย็น ซึ่งสูงกว่าอีกด้านหนึ่งทางทิศตะวันออก
      ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยเกิดจากการประกบตัวของแผ่นดินสองผืนคือฉานไทยกับอินโดจีน แผ่นดินฉานไทยคือพื้นที่ที่เป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ไปจนจดแหลมมลายู ส่วนแผ่นดินอินโดจีนคือพื้นที่ภาคอีสาน รวมไปถึงบางส่วนของประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ชายขอบที่แผ่นดินทั้งสอง ประกบกันในลักษณะที่แผ่นดินฉานไทยอยู่ด้านล่างและงัดให้แผ่นดินอินโดจีนสูงขึ้น เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีก่อน 
      การงัดของแผ่นดินฉานไทยและการสูงขึ้นของเทือกเขาเพชรบูรณ์ทำให้แม่น้ำมูล และแม่น้ำชีไหลจากทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำโขงทางทิศตะวันออก ในบางพื้นที่ชั้นหินทรายที่เรียงตัวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อาจจะถูกยกให้เชิดขึ้น และอาจทำให้ชั้นหินเกิดการคดโค้งโก่งงอ ในบางพื้นที่รอยแตกของแผ่นดิน ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว ทำให้หินร้อนเหลวแทรกตัวขึ้นมากลายเป็นหินภูเขาไฟ หรือหินอัคนีระดับลึกตลอดแนวขอบทางฝั่งตะวันตกของภาคอีสาน และการแทรกตัวของหินอัคนีรวมกับความดันที่แผ่นดินทั้งสองผืนกระทำต่อกัน เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดหินแปร ซึ่งกระจายอยู่ตลอดแนวขอบของภาคอีสานเช่นเดียวกัน
(คลิกดูภาพใหญ่) ๒๐๗ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพ : แหล่งหินตัด

      หากพูดถึงภาพรวมของพื้นที่ภาคอีสานแล้ว สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า นี่คือ อาณาจักรแห่งหินทราย
      ชาวขอมฉลาดเลือกในการนำหินทรายมาใช้ เพราะมันตัดง่าย และแซะออกมาจากเนินเขาก็ง่าย ด้วยความเป็นหินชั้นของมัน ดังนั้นเวลายก หน้าหินจึงเรียบและหลุดออกมาทั้งก้อน
      ระหว่างนั่งในแหล่งหินตัดคนเดียวเงียบ ๆ ผมเกิดคำถามในใจว่า ถ้าหากหินทรายพูดได้ มันจะพูดว่าอะไร
      ผมว่ามันอาจจะคุยใหญ่คุยโตน่าดูทีเดียว เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และช่างขอมก็นำหินทรายไปสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาแล้ว นอกจากนี้มันก็จัดอยู่ในจำพวกหินชั้น ซึ่งเป็นหินที่นักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีให้ความเชื่อถือ เนื่องจากในการสะสมตัวของตะกอนแต่ละชั้น ได้บันทึกความเป็นมาของโลกในยุคนั้นไว้ในรูปของฟอสซิล ที่แทรกตัวอยู่ในชั้นหิน
      น่าภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อยที่มีเพื่อนร่วมรุ่นดัง ๆ อย่างไดโนเสาร์
      หินทรายคงจะคุยข่มหินอัคนี หินแปร แทนเพื่อน ๆ หินชั้นของมัน ในทำนองว่า
      "อั๊วน่ะรุ่นเดียวกับไดโนเสาร์นะ"
      "แหล่งท่องเที่ยวที่มีหินสวย ๆ ทั้งหลายก็เด็กอั๊วทั้งนั้น"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ภูทอก ภูผาเทิบ ภูกระดึง ภูหลวง ลานหินปุ่ม และลานหินแตก ใช่หมดเลย"
      หากมีการลำดับญาติ ลำดับรุ่นของหินทรายด้วยกันคงมีดังนี้ รุ่นแรกได้แก่หมวดหินน้ำพอง ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน มหาสารคาม ภูทอก ตามลำดับ หมวดหินทั้งหมดนี้รวมอยู่ใน "กลุ่มหินโคราช" ซึ่งมีอายุปลายยุคไทรแอสสิก จูแรสสิก จนถึงยุคครีเทเชียส
      หินทรายแต่ละหมวดของกลุ่มหินโคราชเรียงตัวซ้อนกันแบบหน้าหนังสือ แต่เป็นหนังสือที่เปิดแบบญี่ปุ่น นั่นคือ หน้าหนึ่งอยู่ล่างสุด ดังนั้นหมวดหินน้ำพองที่มีอายุมากที่สุดจะอยู่ชั้นล่างสุดและไล่ขึ้นไปเป็น ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน มหาสารคาม และชั้นที่ใหม่ที่สุดคือหมวดหินภูทอก จะอยู่ชั้นบนสุด
      ฤดูน้ำหลากที่ผ่านไปฤดูหนึ่งจะพัดพาให้เม็ดทรายมาวางเรียงกันได้สูงเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ผมกำลังคิดว่าแล้วกว่าเม็ดทรายจะมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นหนา ๆ จะใช้เวลานานเท่าไร แล้วกว่าชั้นทรายหนา ๆ เหล่านั้นจะประสานกันเป็นหินจะใช้เวลาอีกกี่มากน้อย
      ผมตื่นจากภวังค์และจบบทสนทนากับหินเมื่อฝนเริ่มตก ล้อรถเริ่มหมุนอีกครั้งหนึ่งเพื่อมุ่งสู่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เพื่อย้อนรอยการเดินทางของก้อนหินไปสู่สมัย ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๔๓๕ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ : ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

      ผมเคยมาเที่ยวปราสาทเขาพนมรุ้งหลายครั้งแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้มาดูปราสาทหิน แต่มาดูหินที่นำมาสร้างปราสาท
      น่าตื่นเต้นทีเดียวที่ต้องมายืนอยู่ต่อหน้าปราสาทหิน อันมีลวดลายงดงามที่สุดในประเทศไทย เมื่อแลลอดลายลงไปยังเนื้อหิน ก็พบว่าหินทรายที่สร้างปราสาทหินแต่ละแห่งมีสีไม่เหมือนกัน ปราสาทหินเขาพนมรุ้งเป็นหินทรายสีชมพู ส่วนปราสาทหินพิมายจะออกเป็นสีขาว และยังพบหินทรายบางแหล่งเป็นสีแดงเข้ม หรือสีฟ้าอมเขียว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะแร่ที่เป็นตัวประสาน ถ้าเป็นแร่เหล็กจะได้หินทรายสีแดง ถ้าเป็นแร่ทองแดงจะได้หินทรายสีฟ้าอมเขียว ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการสัมผัสอากาศเมื่อเวลาที่หินกำเนิดขึ้นมาด้วย
      ชาวขอมโบราณสร้างปราสาทหินกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่อีสานใต้ไปจนถึงในประเทศ
      กัมพูชา รูปแบบและที่ตั้งของปราสาทหินแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน บางแห่งสร้างอยู่ใจกลางชุมชน เช่นปราสาทหินพิมาย แต่บางแห่งก็สร้างให้โดดเดี่ยวและอยู่เหนือกว่าชุมชน ดังเช่นปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเขาพระวิหาร
      เหตุใดชาวขอมจึงเลือกทำสิ่งที่ยาก เช่นการขนก้อนหินขึ้นไปบนภูเขา เพื่อสร้างเป็นปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเขาพระวิหาร 
(คลิกดูภาพใหญ่)       มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ปราสาทหินทั้งสองแห่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานหรือเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า ซึ่งแตกต่างจากปราสาทหินพิมายที่ตั้งใจสร้างขึ้นให้เป็นพุทธสถานอยู่ใกล้ชิดกับคนธรรมดา
      เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้ไปเที่ยวชมปราสาทหิน บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกทึ่ง และตกอยู่ในภวังค์เมื่อมองเห็นลวดลายที่ช่างขอมแกะสลัก ช่างขอมมีศรัทธาแรงกล้า จึงมานะบากบั่นขนก้อนหินขึ้นไปเรียงเป็นปราสาทอันใหญ่โต และในลวดลายที่วิจิตรนั้น ช่างขอมได้ใส่ชีวิตลงไปในก้อนหิน เพื่อให้ภาพแกะสลักทุกภาพบันทึกเรื่องราวที่ต้องการสื่อออกมาโดยละเอียดและได้อารมณ์ ในปราสาทหินบางแห่งช่างขอมก็ใส่เสน่ห์ลงไปด้วย เช่นรูปสลักนางอัปสรที่นครวัด ด้วยฝีมือชั้นครูของขอมจึงสามารถเนรมิตทั้งเรือนร่าง ทรงผม เครื่องแต่งกายของนางอัปสรให้มีเสน่ห์ยั่วยวนข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
      ด้วยความสามารถพิเศษที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ช่างขอมได้นำหินมาสร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ให้มีลวดลายงดงามและมีพลังแม้ตัวปราสาทจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก และสร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร ให้ตั้งตระหง่านอยู่เหนือหน้าผาหิน เพื่อเป็นที่สิงสถิตของเทพสำหรับมองลงมายังโลกมนุษย์
      และในช่วงยุคทอง ช่างขอมก็บรรจงสร้างปราสาทนครวัดให้วิจิตรพิสดาร จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลงานจากน้ำมือมนุษย์
      นอกจากหินทรายแล้ว ยังมีหินชั้นชนิดอื่น ๆ อีกโดยเรียงลำดับตามขนาดของตะกอน ได้แก่ กลุ่มหินชั้นที่เกิดจากตะกอนขนาดใหญ่ เช่น หินกรวดมน (conglomerate) หินกรวดเหลี่ยม (breccla) กลุ่มหินชั้นที่เกิดจากตะกอนขนาดเล็กมาก เช่น หินทรายแป้ง (siltstone) หินดินดาน (shale) หินปูน (limestone) 
 

หินในชีวิตของคน

 (คลิกดูภาพใหญ่)
หินในชีวิตของคนยุคหิน

      มนุษย์เริ่มต้นยุคหินเก่าโดยหยิบหินกรวดแม่น้ำมาสองก้อน นำมันมาทุบกันเองให้แตก แล้วเลือกเอาเศษแตก ๆ ของหินที่มีขนาดเหมาะมือขึ้นมาใช้ นักโบราณคดีเรียกก้อนหินเหล่านี้ว่า "เครื่องมือหินกะเทาะ" คนยุคหินเอาด้านเรียบของหินกะเทาะไว้ในอุ้งมือ หันด้านคมของหินออกใช้ประโยชน์ในการตัด ขูด ขุด ทุบ และอื่น ๆ ตามแต่ใจต้องการ 
      คนยุคหินกลางและยุคหินใหม่ นำหินมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้อย่างประณีตบรรจงมากยิ่งขึ้น โดยมีเทคนิคการตกแต่งให้หินมีสภาพเหมาะแก่การใช้งาน เช่น นำหินกะเทาะไปฝนให้คมเพื่อใช้แล่เนื้อ นำหินกะเทาะไปบากด้านข้างแล้วผูกกับกิ่งไม้กลายเป็นขวานหิน 
      คนยุคหินอาศัยอยู่ในถ้ำ และดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า ชนิดของหินที่คนยุคหินนำมาใช้งาน ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศที่พวกเขาอยู่อาศัย พวกที่อยู่ใกล้พื้นราบอาจหยิบเอาหินกรวดแม่น้ำมาใช้ พวกที่อาศัยอยู่บนที่สูงก็อาจนำหินภูเขาไฟมาใช้ เช่น หินทัฟฟ์ที่มีความแข็งกว่าและคมกว่าหินกรวดแม่น้ำ หรือหินอ๊อปซิเดียนซึ่งมีเนื้อเรียบมันแบบเนื้อแก้วแต่แข็ง เพราะเป็นหินอัคนีที่เกิดมาจากการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรง มันเย็นตัวอย่างรวดเร็วจนไม่มีเวลาตกผลึก ดังนั้นจึงกลายมาเป็นหินเนื้อเรียบอย่างแก้ว คนยุคหินมักนำมันมาทำเป็นใบหอก ในเวลาที่คนยุคหินไปไหนมาไหน การมีหินพกติดตัวไปสักก้อนหนึ่งนั่นอาจหมายถึงเขามีทั้ง มีด ค้อน ขวาน หอก สิ่ว จอบ และเสียม ติดตัวไปด้วย
      ต่อมาเมื่อคนคิดนำโลหะมาใช้งานแทนหิน และสามารถแปรรูปโลหะ ให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าหิน และหลายชนิดกว่าหิน ภูมิปัญญาใหม่นี้ ทำให้คนคิดสร้างเครื่องมือสำหรับตัดไม้ เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย อุปกรณ์การเกษตร และเครื่องใช้อื่น ๆ อีกมากมาย จุดเปลี่ยนดังกล่าวทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป จากการล่าสัตว์หาของป่าแต่เพียงอย่างเดียว มาสู่ทางเลือกใหม่คือการทำการเกษตร แล้วบรรพบุรุษของเราก็เดินทางออกจากถ้ำมุ่งสู่ที่ราบ มีการตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชนที่ใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา

 (คลิกดูภาพใหญ่) หินในชีวิตของคนยุคเกษตรกรรม

      คนไทยโบราณในยุคเกษตรกรรมส่วนใหญ่พักอาศัยในบ้านเรือนที่ทำจากไม้ ในบ้านของคนไทยยุคปู่ย่าตายายของเรา มีเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำจากหินอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น ในครัวอาจจะมีครกหินเอาไว้ตำน้ำพริก มีโม่หินสำหรับโม่แป้งไว้ทำขนม และอาจจะมีหินลับมีดอยู่ด้วยสักก้อนหนึ่ง ที่ข้าง ๆ ตุ่มน้ำอาจจะมีหินขนาดเหมาะมือไว้เป็นหินขัดตัว เวลาเจ็บป่วยก็อาจจะเรียกหาหินบดยา เพื่อผสมเครื่องสมุนไพรไว้ใช้รักษาอาการป่วย 
      แต่หินกลับมามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น เมื่อในเวลาต่อมามนุษย์รู้จักผลิตเครื่องจักรให้ทำงานแทนแรงงานคน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมนี่เองที่นำหินกลับมาสู่ชีวิตคน เรามีเครื่องตัดหินออกมาเป็นแผ่น เครื่องย่อยหินเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือแม้แต่เครื่องกลึงสำหรับตกแต่งหินเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ดังใจเราต้องการ เมื่อหินถูกนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น ทำให้หินค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ไม้อย่างเงียบ ๆ

 (คลิกดูภาพใหญ่) หินในชีวิตของคนในยุคดิจิตอล

      แม้ว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบก่ออิฐถือปูน อาจจะเริ่มมีมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังถูกจำกัดวงเฉพาะแค่ชนชั้นสูงที่มีฐานะ และบทบาททางสังคม แต่ในระยะ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ความนิยมก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบก่ออิฐถือปูนมีมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างแบบธรรมดาสามัญ นอกเหนือจากการก่อสร้างอาคารแล้ว เรายังใช้หินมาประดับบ้านและสวนเพื่อเสพหินในแง่ของความงาม
      หากลองตั้งคำถามว่า เสน่ห์ของหินอยู่ที่ตรงไหน คงจะได้คำตอบที่หลากหลาย เสน่ห์ของหินนอกจากในแง่ของความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ในแง่ของความงาม บางคนก็หลงใหลลวดลายเส้นสีที่ไม่เคยซ้ำของหินอ่อน ความนุ่มนวลของสีพื้น และความสนุกของลายเส้นที่พลิ้วไหวอยู่ในเนื้อหิน ราวกับเป็นงานศิลปะของศิลปินเอก บางคนอาจนิยมชมชอบความแข็งแกร่ง และเรียบเป็นเงางาม พร้อมกับสีที่ดูเรียบร้อยแบบเป็นทางการของหินแกรนิต และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบความไม่เรียบของหินทราย ความหยาบและสีอ่อน ๆ ทำให้หินทรายแลดูสมถะ เรียบง่ายแต่แข็งแกร่ง เหตุผลเพียงบางส่วนที่หยิบยกมานี้ ทำให้หินมัดใจให้คนส่วนใหญ่ชอบหินได้อย่างไม่ยากเย็น
      ในอีกมิติหนึ่งของการนำหินมาใช้ ชาวขอมโบราณจัดวางหินทรายให้เป็นแบบจำลองของจักรวาล เพื่อติดต่อกับสวรรค์ แล้วพวกเขาก็รอคอยให้ดวงตะวัน ดวงเดือน และหมู่ดาวในดาราจักรเคลื่อนที่มาบรรจบในเวลาที่เหมาะสม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ผมอดคิดไม่ได้ว่า สัญลักษณ์รูปดอกบัวตรงทางเข้าปราสาทหินเขาพนมรุ้ง อาจเป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมโยงโลกกับสวรรค์เข้าด้วยกัน ราวกับการป้อนรหัสผ่านหรือ password ลงในคอมพิวเตอร์ ในวันและเวลาที่ตะวันสาดแสงทะลุผ่านบานประตูทุกบาน กับในตำแหน่งขององค์ปราสาทที่ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งเคยเป็นหน้าต่างที่โลกได้ปลดปล่อยพลังความร้อนออกมา ในวันที่พลังทั้งสองเชื่อมประสานกัน ในขณะเวลาบุคคลผู้มีพลังอำนาจพิเศษกำลังทำพิธีกรรม หินทรายอาจจะบันดาลให้เกิดช่องทางที่โลกกับสวรรค์ติดต่อกันได้ ...ทว่านั่นก็เป็นเพียงจินตนาการของผม ไม่ใช่คำตอบจริงแท้ของการสร้างปราสาทหินทรายแห่งนี้ 
      แต่ถ้าหากเชิญชาวขอมโบราณข้ามห้วงเวลา มานั่งฟังคนยุคดิจิตอลเล่าถึงพลังของหินทรายบ้าง เขาก็จะไม่เชื่อในสิ่งที่เราเล่าเช่นเดียวกัน คนยุคดิจิตอลได้นำหินทรายมาใช้ติดต่อสื่อสารเช่นเดียวกับขอมโบราณ เพียงแต่เราไม่ได้เอาความขุ่นของหินทรายมาใช้ หากแต่เราใช้ความใสของมันโดยเลือกหยิบอณูเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ทรายซิลิกา" นำมาแกะลายที่ผิวเงาเรียบ และหุ้มด้วยพลาสติก จากนั้นก็ต่อขาออกมาสองขา แล้วเรียกมันว่า "ไอซี" จากนั้นเราก็ใช้ด้านใสในอณูทรายหลาย ๆ ตัวมาสะท้อนคลื่นกับด้านใสในอณูของแร่ควอตซ์ ที่มีอยู่ในหินเขี้ยวหนุมาน สะท้อนไปสะท้อนมาออกมาเป็นรหัสที่ซับซ้อน แล้วเรียกมันว่า "ระบบดิจิตอล" นี่คือการนำพลังของหินมาใช้โดยที่เราอาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เพราะมันใกล้ตัวมากจนเรามองข้ามไป
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อเรามองตัวเราเองในกระจก อาจพบว่าเราเริ่มจะไม่ต่างจากคนยุคหินเท่าใดนัก เพราะเราเป็นพวก "หินนิยม" เหมือน ๆ กัน เราอาศัยอยู่ในบ้านหิน สัญจรบนถนนที่ทำจากหิน มีรถยนต์ รถไฟ วิ่งอยู่บนหิน สื่อสารด้วยหิน และเมื่อเราตาย ถ้าไม่เผาศพ ศพของเราก็จะถูกนำไปไว้ในฮวงซุ้ยหิน หรือหากศพของเราถูกเผา เถ้ากระดูกก็จะถูกนำไปบรรจุในเจดีย์หรือกำแพงวัดที่ทำมาจากหิน เราอาจมีรูปขาวดำติดไว้บนป้ายชาตะ-มรณะ คอยเฝ้ามองลูกหลานของเราที่สืบสานความเป็นหินนิยมต่อไป
      ด้วยความเป็นธรรมดาของหิน ทำให้เราไม่รู้ตัวในความเป็นหินนิยมของเรา อาจเป็นเพราะความง่าย และความสะดวกในการนำหินบนภูเขา หรือหินใต้พิภพมาแปรรูปเพื่อสนองทุกความต้องการของเรา ความง่ายและความธรรมดานี้เอง ทำให้เราอาจมองข้ามคุณค่าของหิน ดังนั้นผมจึงหวังว่านับแต่นี้ เราคงจะได้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องหินเสียใหม่ และยอมรับว่าเราล้วนเป็นหินนิยมและขาดหินไม่ได้ 
      โปรดใช้หินอย่างประหยัด เพื่อลูกหลานของเราจะยังมีหินใช้อีกนานเท่านาน 
      โปรดใช้หินอย่างรู้คุณค่า เพราะกว่าหินจะผ่านกระบวนการแปรรูปมาถึงมือเราล้วนมีต้นทุนสูง และมีการสูญเสียในกระบวนการผลิตจากการแปรรูปเสียครึ่งต่อครึ่ง เรานำหินมาใช้ในปริมาณเท่าใด ก็จะมีหินในจำนวนเท่ากันที่สูญเสียไป ดังนั้นในการใช้หินทุกครั้งโปรดคิดให้หนักอย่างหิน
      ขอได้โปรดมีความสุขกับความเป็น "หินนิยม" เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเราในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และในลำดับต่อไปนี้ "ขอต้อนรับทุกท่านกลับสู่ยุคหิน" 
 

ขอขอบคุณ

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      รศ. พวงเพชร์ ธนสิน อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล คุณสามารถ บัวชุม คุณเงิน อมรปรีชาวัฒนา คุณเมธี จันทรา คุณประนอม พงษ์ภาวศุทธิ์ คุณธีรภาพ โลหิตกุล คุณสันต์ อัศวพัชระ คุณมนูญ ทองนพรัตน์ คุณกาจบดินทร์ สุดลาภา คุณสายขิม สายสมุทร คุณเกรียงศักดิ์ จิวานันต์ คุณสมศักดิ์ ประมาณกิจ พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์สุด แสงวิเชียร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทหินอ่อน จำกัด บริษัทซิตี้ เรียลิตี้ จำกัด และบริษัทฟาร์อีสต์ มาร์เบิล แอนด์ แกรนิต จำกัด
 

เอกสารอ้างอิง

 (คลิกดูภาพใหญ่)       กรมทรัพยากรธรณี. ธรณีวิทยาประเทศไทย : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ ๒๕๔๔.
      ทิวา ศุภจรรยา และคณะ. พจนานุกรมรูปภาพไทย-อังกฤษสี่สี โลกของเรา. กรุงเทพ ฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๓๙.
      นเรศ สัตยารักษ์ และ บัณฑิต ชัยศีลบุญ. ธรณีสัญจร กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์. เอกสาร อัดสำเนา.
      พวงเพชร์ ธนสิน. ภูมิศาสตร์กายภาพแนวบูรณาการ, เชียงใหม่. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๓.
      พิศิษฏ์ สุขวัฒนานันท์. แหล่งความรู้คู่กาย หินและแร่ ฉบับภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๗, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, มิถุนายน ๒๕๔๔.
 

เกี่ยวกับผู้เขียน

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภูมิศาสตร์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง
      ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่จังหวัดสระบุรี