สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕ "การเดินทางของก้อนหิน"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕  

โรงพยาบาลสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
การงานของเขาเพื่อเราและโลก

เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว / ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

(คลิกดูภาพใหญ่)

       มันเป็นบ่ายที่แดดแผดแสงจ้า เมื่อชายวัยกลางคนเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าอาคารสีขาว กลางผืนป่าเขาเขียว ในอ้อมแขนของเขามีร่างเล็ก ๆ ของลูกสัตว์ตัวหนึ่ง นอนคุดคู้อยู่
       ไม่ต้องเข้าคิว ไม่ต้องทำทะเบียนประวัติ หมอตรงเข้าไปหาทันที
       "มันคลานออกมาเอง ตอนที่ผมเจอ ตัวมันสั่นไปหมดเลยครับ" 
       เขาบอกขณะยื่นลูกสุนัขจิ้งจอกให้หมอ ธรรมชาติของแม่สุนัขจิ้งจอก เมื่อจะตกลูก มันจะไปซ่อนตัวเงียบอยู่ในโพรง จะเห็นอีกทีก็เมื่อลูก ๆ ของมันออกมาวิ่งเล่นข้างนอกแล้ว แต่สำหรับลูกสุนัขจิ้งจอกครอกนี้ มีเพียง ๒ ตัวเท่านั้นที่คลานออกมาจากโพรง คาดว่าตัวอื่น ๆ คงตายและถูกแม่กำจัดซากไปแล้ว และหนึ่งในสองนั้นก็คือเจ้าของร่างเล็ก ๆ ที่ใกล้จะสิ้นใจตัวนี้
       ผู้ช่วยหนุ่มสาวสองสามคนเข็นเตียงผ่าตัดขนาด ๒x๑.๕ เมตรออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน นาทีเช่นนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความชุลมุนวุ่นวาย แต่เปล่าเลย ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเงียบเชียบ
       "โคม่า" หมอเดชาพูดขณะใช้หูฟังตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ขณะที่ผู้ช่วยใช้ปรอทเสียบเข้าไปทางทวารหนักของลูกสุนัขจิ้งจอก เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกาย เท่าที่เห็น มันผอมมากทีเดียว
       "ปอดทึบมาก ฟังเสียงปอดไม่ออกเลย" เป็นเพราะร่างกายมันขาดน้ำนานเกินไปนั่นเอง ลูกสุนัขจิ้งจอกยังเล็กมากและอ่อนแอเกินกว่าที่จะทำอะไรได้ในขณะนี้ ร่างเล็ก ๆ ของมันนอนหายใจรวยรินอยู่บนเตียงที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยาง
       ถ้าคุณเคยเห็นแววตาของเด็กเล็ก ๆ ในยามเจ็บป่วย เด็กเล็ก ๆ ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ นั่นแหละคือสิ่งที่คุณจะมองเห็น ถ้าหากวันนั้นคุณได้มายืนอยู่ที่นี่ และจ้องมองเข้าไปในดวงตาของลูกสุนัขจิ้งจอกตัวจ้อยนี้
       ยังไม่ทันวางมือ รถกระบะคันหนึ่งก็แล่นมาจอดเอี๊ยดอยู่หน้าโรงพยาบาล
       "เจอมันนอนอยู่ข้างทาง ท่าจะไม่ดี เลยจับมาให้หมอครับ" เจ้าของรถกระบะคันนั้นบอกขณะลากกระสอบท้ายรถลงมาอย่างทุลักทุเล มีบางสิ่งดิ้นขลุกขลักอยู่ข้างใน หมอและผู้ช่วยปรี่เข้าไปช่วยอุ้มมาวางกับพื้น นั่นยิ่งทำให้มันดิ้นหนักขึ้นไปอีก
       หลังจากถ่ายจากกระสอบมาลงตาข่าย จึงได้เห็นว่าเจ้าตัวที่ดิ้นขลุกขลักอยู่เมื่อกี้คือชะมดขนาดย่อมตัวหนึ่ง ทั้งที่บาดเจ็บสาหัส แต่สัญชาตญาณก็สั่งให้มันขู่ฟ่อและดิ้นสุดแรง หมอจัดการฉีดยาสลบไปหนึ่งเข็ม

(คลิกดูภาพใหญ่)        ๑๐ นาทีผ่านไป มันแผลงฤทธิ์น้อยลงแต่ยังไม่ยอมสงบ หมอต้องฉีดยาสลบให้อีกเข็มมันจึงหมดฤทธิ์มานอนนิ่งอยู่บนเตียง 
       ขาหน้าข้างขวามีรอยแผลเน่า กระดูกบริเวณข้อต่อโผล่ออกมา ระหว่างที่หมอตรวจร่างกาย ผู้ช่วยก็ใช้มีดโกนกำจัดขนบริเวณบาดแผลออกเป็นวงกว้าง เธอใช้อุปกรณ์เล็ก ๆ ควักเอาหนองสีเหลืองขุ่นข้นออกมาจากแผล สลับกับการฉีดน้ำยาล้างแผลเข้าไปอย่างใจเย็น
       "แผลเก่า คงโดนรถชนมาไม่ต่ำกว่าสองวันแล้ว" หมอสันนิษฐานขณะใช้ปรอทวัดอุณหภูมิสอดเข้าไปในทวารหนัก ยังไม่มีใครรู้ว่าชะมดตัวนี้มาจากไหนเพราะคนที่นำมาส่งบอกว่าเจอเข้าโดยบังเอิญ มารู้ก็เมื่อเห็นว่าที่อุ้งตีนทั้งสี่ของมัน เป็นแผลถลอกลึกเข้าเนื้อ และมีแผลเช่นเดียวกันที่ปลายจมูก บ่งบอกชัดเจนว่ามันถูกขังอยู่ในกรงแคบ พื้นหยาบและแข็ง ทำแผลเสร็จมันถูกส่งเข้าห้องเอกซเรย์ อีก ๑๕ นาทีต่อมา หมอมายืนอยู่ตรงตู้ไฟดูฟิล์มหน้าห้องเอกซเรย์ ในฟิล์มแผ่นนั้นมองเห็นชัดว่ากระดูกขาของมันหักออกจากกันเป็น ๓ ท่อน
       ...กว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยก็จวนเย็น เจ้าชะมดถูกย้ายเข้าไปอยู่ในกรง สายตาที่มันจ้องมองสิ่งรอบข้างบ่งบอกถึงความหวาดระแวง แม้จะไม่มีใครทำร้ายมันอีก แต่จะทำอย่างไรให้มันเข้าใจได้ ส่วนลูกสุนัขจิ้งจอกนั้นอ่อนแอเกินกว่าที่จะทำอะไรกับมันได้ เจ้าตัวเล็กนอนขดตัวอยู่ใต้ดวงไฟในกรงเล็ก ๆ ปูพื้นด้วยผ้าขนหนูสีตุ่น
       คืนนี้มันทั้งคู่ได้กลายมาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี--โรงพยาบาลสัตว์ป่าแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเช่นเดียวกับลิงลม เลียงผา เสือดาว ตะกวด ฯลฯ ที่เข้ามาอยู่ก่อนหน้านี้ มันอาจต้องอยู่ที่นี่อีกหลายวัน หรืออาจจะหลายเดือนจนกว่า...
 

หนึ่งวันธรรมดาใต้หลังคาสีเขียว

 (คลิกดูภาพใหญ่)        โรงพยาบาลสัตว์ป่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนกบำรุงรักษาสัตว์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เริ่มเปิดดำเนินงานในปี ๒๕๔๐ ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
       โรงพยาบาลแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ตระหนักว่า ประเทศไทยควรจะมีศูนย์หรือโรงพยาบาลที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสัตว์ป่าอย่างจริงจัง และเล็งเห็นว่าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีพื้นที่กว้างขวางถึง ๕,๐๐๐ ไร่ ทั้งยังมีชาวต่างประเทศมาทำงานในเชิงวิชาการอยู่เสมอ จึงเลือกให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพสัตว์ป่าของประเทศ
       เนื่องจากโรงพยาบาลสัตว์ประจำสวนสัตว์อื่น ๆ ที่เรามีอยู่ จะมีลักษณะคล้ายคลินิก คือสามารถช่วยชีวิตเบื้องต้นได้ ผ่าตัดเล็กได้ แต่ผ่าตัดใหญ่ไม่ได้ ไม่มีเครื่องเอกซเรย์ โรงพยาบาลสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จึงนับเป็นโรงพยาบาลสัตว์ป่าแห่งเดียวในประเทศที่มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลจริง ๆ เพราะมีขนาดใหญ่และมีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน 
       นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลสัตว์ป่าเต็มรูปแบบแห่งเดียวในประเทศไทยแล้ว ที่นี่ยังอาจเป็นโรงพยาบาลที่โรแมนติกที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่ดวงตะวันสีแดงกลมโตค่อย ๆ ลับขอบฟ้า หากคุณมายืนอยู่ด้านหน้าและหันหลังให้อาคารโรงพยาบาล ถัดจากลานโล่งกว้าง จะมองเห็นทิวทัศน์จังหวัดชลบุรีไกลสุดสายตา แต่หากหันหน้าเข้าโรงพยาบาล ก็จะมองเห็นหลังคาสีเขียวหลายชั้น เรียงตัวซ้อนกันขึ้นไปบนเนินที่ลาดชัด ใต้หลังคาเหล่านี้มีทั้งส่วนที่เป็นโรงพยาบาล สำนักงาน ห้องวิจัย ห้องแล็บ อาคารผ่าซาก อาคารกักโรค รวมถึงคอกสัตว์ซึ่งเป็นที่อยู่ถาวรของสัตว์ป่าพิการ และที่ยังไม่มีที่อยู่อีกหลายสิบตัว
       หน่วยงานเล็ก ๆ ในโครงสร้างใหญ่นี้ สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่าของเราทั้งหมด กระดาษเก้าแผ่นที่นายสัตวแพทย์วันชัย ตันวัฒนะ หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาสัตว์ยื่นให้ดู สรุปขอบข่ายงานคร่าว ๆ ได้ว่า พวกเขาทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานรักษาสัตว์ เช่น ตรวจสุขภาพ ป้องกันโรค วินิจฉัยและรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย ชันสูตรโรค, งานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า เช่น การขยายพันธุ์สัตว์ อนุบาลลูกสัตว์ ธนาคารน้ำเชื้อ ธนาคารสิ่งสืบพันธุ์และเนื้อเยื่อ
 (คลิกดูภาพใหญ่)        อีกงานที่สำคัญยิ่งคือ งานบริการสังคม เช่น ฝึกงานนักศึกษา บริการตรวจรักษาสัตว์ป่าให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ (อาทิ ปางช้างต่าง ๆ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมป่าไม้) รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกสถานที่ นอกจากนี้ยังต้อง "สแตนบาย" หน่วยกล้าตายและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อออกปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน เช่น ชะนีหลุดจากกรงเลี้ยง ช้างอาละวาด ช้างตกมัน เป็นต้น
       ดังนั้น นอกจากสัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวจะได้ฝากผีฝากไข้ไว้กับที่นี่แล้ว สัตว์ที่อยู่นอกเขตสวนสัตว์อย่างชะมดตัวเมื่อวานก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นใด ๆ สัตวแพทย์สัตว์ป่าถือว่า "ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกมันก็เป็นสัตว์ป่าของเราทั้งหมด" เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะบาดเจ็บมาจากไหน หากมาถึงมือสัตวแพทย์สัตว์ป่า พวกมันจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ 
       อย่างไรก็ตาม แม้โรงพยาบาลแห่งนี้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์ป่าระดับประเทศ แต่หากไม่นับนายสัตวแพทย์วันชัย ตันวัฒนะ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร (แต่ยังต้องลงมาลุยงานด้านการตรวจรักษาสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) โรงพยาบาลแห่งนี้ก็มีสัตวแพทย์อยู่เพียงท่านเดียวเท่านั้น คือ นายสัตวแพทย์เดชา พิทักษ์กิ่งทอง ที่เหลือเป็นกองหนุนอันประกอบด้วย นิ่ม-ผู้ช่วย, หมอดาวและนก-ผู้ช่วยวิจัยที่อาสาเข้ามาช่วยงานอย่างเต็มใจ, พี่เป็ด อำนาจ ปิง โท และหนึ่ง-๕ หนุ่มคีเปอร์ (keeper) หรือพนักงานบำรุงรักษาสัตว์ ทั้งหมดจะเริ่มหน้าที่ของตัวเองในทุก ๆ เช้า
       วันนี้ก็เช่นกัน นกกาบบัวท่าทางแสบซ่าก็มาเดินป้วนเปี้ยนอยู่หน้าโรงพยาบาลแต่เช้า
       "ไอ้ยาวมันเคยเป็นคนไข้ที่นี่ ตอนที่มันยังเด็ก ๆ ลมแรงพัดยอดไม้จนมันตกลงมาขาหัก หมอรักษาให้จนหาย แต่มันไม่ยอมไปไหน จนโตก็ยังวนเวียนอยู่แถวนี้" พี่เป็ดบอกขณะกำลังเริ่มปฏิบัติหน้าที่ประจำวันเช่นเดียวกับคีเปอร์คนอื่น ๆ พวกเขาเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยภายในโรงพยาบาล จัดการเรื่องอาหารการกินของ "ผู้ป่วย" ทั้งหมด ก่อนที่สัตวแพทย์และผู้ช่วยจะมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
       "แค่มันกินอาหารได้ก็เป็นสัญญาณที่ดีแล้ว" นิ่มบอกระหว่างที่พยายามป้อนนมให้ลูกสุนัขจิ้งจอกตัวเมื่อวาน แต่มันก็ยังไม่ยอมกินอะไร มิหนำซ้ำยังมีทีท่าอ่อนแรงกว่าเดิม
       "กี่เปอร์เซ็นต์คะหมอ" เราถาม
       "เจ็ดสิบครับ" เย้ !
       "ที่ไม่รอดนะครับ" 
       "?!?" 
(คลิกดูภาพใหญ่)        ถึงจะดูไม่มีหวังอย่างไร แต่อาสาสมัครอย่างนก ก็ยังคงนั่งเฝ้าลูกจิ้งจอกตัวน้อยที่ได้ชื่อใหม่ว่า "เจ้าจ้อย" อยู่ไม่ห่าง อย่างน้อย ๆ ก็ช่วยไล่แมลงวันแมลงหวี่ที่ตอมไปมา หมอเดชาพยายามจะเอกซเรย์ให้มัน แต่ยังทำไม่ได้
       "คงต้องรอให้มันแข็งแรงกว่านี้อีกสักหน่อย" คุณหมอว่า
       ทางด้านเจ้าชะมด พี่เป็ดบอกว่าเริ่มแผลงฤทธิ์ตั้งแต่เช้า แค่เยี่ยมหน้าไปให้เห็นมันก็ขู่ฟ่อ
       "ถ้าแตกตื่นและแผลงฤทธิ์มาก ๆ บางทีก็ต้องให้ยาซึมเพื่อให้เขาสงบ จะได้ไม่เสียกำลังมาก" หมอเดชาบอกระหว่างที่กำลังเตรียมฉีดยาสลบให้มันเพื่อล้างแผล
       "ถ้าเป็นแผลสดเราก็อาจจะทำแผลเข้าเฝือกได้ทันที แต่ในกรณีที่ขาหักมาหลายวันอย่างนี้ต้องตรวจเลือด และรอดูอาการสักสองสามวัน เพราะถ้าหากแผลติดเชื้อก็คงต้องตัดทิ้ง ถ้าแผลไม่ติดเชื้อก็อาจจะรักษาได้ ซึ่งก็ต้องดูอีกว่ารักษาให้หายได้แล้ว เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างปรกติโดยไม่ทรมานได้หรือไม่"
       ข้าง ๆ กรงชะมดเป็นห้องพักฟื้นของนกตะกรุมขาหัก เสือดาว นางอาย อีกัวนา ตะกวด แมวดาว และเลียงผาซึ่งไม่รู้ว่าไปไต่ผาท่าไหน ถึงตกลงมาขาหัก หมอผ่าตัดใส่เหล็กและเข้าเฝือกให้เรียบร้อยแล้ว ขาหลังข้างขวาของมันจึงมีผ้าพันอยู่รอบ ๆ ระหว่างนี้มันจึงต้องพักฟื้นอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาด ๓x๓ เมตร ภายในโรงพยาบาลไปก่อน
       นอกจากสัตว์ป่าที่เจ็บป่วยแล้ว สัตว์ป่าที่พลัดหลงหรือที่ประชาชนพบเจอโดยบังเอิญ แล้วนำมาให้สวนสัตว์ก็จะถูกส่งตัวมาที่นี่ก่อนเป็นอันดับแรก อย่างกรณี บุญหลง ลูกหมีหมาที่มีคนบังเอิญไปพบมันเดินอยู่แถว ๆ ถนนที่จะผ่านไปเขาใหญ่ จึงนำตัวมันส่งมาที่นี่ และเนื่องจากมันเป็นลูกหมีที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ โรงพยาบาลจึงต้องรับเลี้ยงไว้ มันเลยได้ชื่อบุญหลงมาตั้งแต่บัดนั้น
       นิ่มเล่าให้ฟังว่า เมื่อโตพอจะช่วยตัวเองได้แล้ว บุญหลงก็ได้ฤกษ์ย้ายบ้าน เพราะคอกที่โรงพยาบาลมีจำนวนจำกัด และส่วนหนึ่งต้องกันเอาไว้รักษาสัตว์ป่วย แต่โชคร้ายที่บ้านใหม่ของบุญหลงอยู่ข้าง ๆ กรงเสือจากัวร์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)        "ด้วยความที่บุญหลงเป็นหมีที่โตมากับโรงพยาบาล มันเลยซนเหมือนเด็กและขี้เล่นมาก แต่เสือจากัวร์มันมาจากที่อื่น บุญหลงมันคงคิดว่าเหมือนพรรคพวกตัวอื่น ๆ ที่เคยอยู่ด้วยกันมา มันเลยไปแหย่เค้า เสือจากัวร์ได้ทีก็กัดจนขาหน้าขาด ดึงปากฉีกลงมาถึงคาง ทั้งที่มีการป้องกันด้วยตาข่ายอย่างดีแล้ว พอคีเปอร์มาแจ้ง เราก็รีบไปรับ เห็นสภาพตอนแรกนึกว่าบุญหลงตายแล้ว แขนมันห้อยร่องแร่ง ปากก็ฉีกลงมาถึงคาง พอมันเห็นเรา มันก็จำได้ว่าเราเคยเลี้ยงมันมา เลยพยายามลากขาข้างที่จะหลุดนั้นกระดึ๊บ ๆ มาหา เราเข้าไปถามว่า บุญหลงเป็นยังไง มันก็ร้องเหมือนจะบอกว่า ช่วยหนูด้วย ๆ แต่เราก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้มากเพราะมันเป็นสัตว์ป่า เลยรีบแจ้งหมอให้ไปดู หมอไปถึงก็ยิงยาสลบแล้วเอาตัวมันมารักษาที่โรงพยาบาล"
       ตอนนี้บุญหลงกลายเป็นหมีหมาสามขา ไม่มีริมฝีปากล่าง เราจึงเห็นฟันของมันอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็ดูมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่ที่โรงพยาบาล และแม้จะผ่านประสบการณ์เลวร้ายมา แต่วันนี้บุญหลงก็ยังเป็นหมีที่ร่าเริง ชอบแหย่ชอบเล่นกับตัวอื่น ๆ เหมือนเดิม ดูท่าว่ามันคงจะอยู่เป็นขาโจ๋ของที่นี่ตลอดไป
       ปิง คีเปอร์วัย ๒๒ ปี บอกเราว่า สิ่งที่ต้องรับมืออยู่เสมอก็คือสัตว์ป่าที่คนเลี้ยงซื้อมาจากพวกลักลอบค้าสัตว์ป่า ตอนที่ซื้อมามันยังเป็นลูกสัตว์ ตัวเล็ก ๆ น่ารัก แต่พอเริ่มโต สัญชาตญาณสัตว์ป่าของมันก็จะเริ่มแสดงออก และหลายชนิดก็เป็นอันตรายต่อคนเลี้ยง นอกจากนี้การที่เจ้าของจัดที่อยู่อาศัยและให้อาหารโดยไม่เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่า ก็ทำให้สัตว์จำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่อย่างทรมาน หรือประสบกับโรคอันเนื่องมาจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดธรรมชาติ
       เมื่อสัตว์ป่าเหล่านี้ "เปลี่ยน" ไปจากเดิม ดุร้ายขึ้น ไม่น่ารักเหมือนก่อน หรือเจ็บป่วยจนเจ้าของดูแลไม่ไหว สวนสัตว์จึงกลายเป็นทางออกที่ ...ง่ายที่สุดของพวกเขา 
       "นางอายมีคนเอามาให้บ่อยมาก เพราะตอนเล็ก ๆ มันน่ารัก คนเลยชอบซื้อไปเลี้ยง แต่พอโตขึ้นมามันจะดุ กัดเจ้าของ คนเลี้ยงก็จะเอามาบริจาค เราก็ต้องรับไว้ สัตว์ป่าที่เข้ามาต้องเอาไปทำทะเบียนก่อน จากนั้นสัตวแพทย์จะตรวจสุขภาพ ตรวจโรค ถ่ายพยาธิ ต้องเอามาผ่านการกักโรคก่อน ไม่เช่นนั้นสัตว์จากภายนอกอาจจะนำโรคมาติดกับสัตว์ในสวนสัตว์ได้ ถ้าผ่านการกักโรคแล้วถึงจะมาพิจารณาว่าจะเอาไปอยู่ที่ไหน"
       ยังไม่ทันที่หมอจะตรวจอาการคนไข้หน้าเดิมเรียบร้อย คีเปอร์ประจำหน่วยแสดงความสามารถของสัตว์ ก็ควบมอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าโรงพยาบาล ในมือมีห่อผ้าขนหนูกลม ๆ มาด้วย--แล้วนกเค้าแมวตาโตก็โผล่หน้าออกมาทักทาย
 

การปลอบประโลมที่ยิ่งเพิ่มความตื่นกลัว

 (คลิกดูภาพใหญ่)        หากคุณเคยพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ตามโรงพยาบาลสัตว์แล้วละก็... กรุณาสลัดภาพกุ๊กกิ๊ก ออดอ้อนออเซาะของลูกหมาลูกแมวทั้งหลายออกไปให้หมด ! มิฉะนั้น คุณอาจจะรับไม่ได้กับปืน ลูกดอกอาบยาสลบ เลือด ขี้มูก น้ำลาย และอันตรายร้อยแปดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษาสัตว์ป่าป่วย ๆ แค่หนึ่งตัว
       "อย่าไว้ใจสัญชาตญาณป่า" ความจริงข้อนี้คนที่เป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่ารู้ดี มันเป็นกฎข้อแรกที่หลงลืมไม่ได้
       แม้ว่าสัตว์ป่าในสวนสัตว์ส่วนใหญ่ จะมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป เนื่องจากมันไม่ได้อาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสลัดสัญชาตญาณป่าออกไปด้วย พวกมันยังคงเป็นสัตว์ป่าที่พร้อมจะทำร้ายเราได้ทุกเมื่อหากเราเข้าไปใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะบาดเจ็บ แม้ว่าเราจะมีเจตนาช่วยเหลือมันก็ตาม หมอเดชาบอกว่า
       "อย่ายุ่งกับเขา สัตว์เลี้ยงอย่างพวกหมาแมวจะคุ้นเคยกับคน เจ้าของสามารถป้อนอาหาร ดูแลอย่างใกล้ชิดได้ แต่สัตว์ป่าส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับคน มันไม่ไว้ใจเรา"
       ด้วยสัญชาตญาณป่าที่ฝังอยู่ในสายเลือดของพวกมัน สัตวแพทย์สัตว์ป่าทุกคนจึงต้องตระหนัก และยึดถือเสมอว่า การที่จะเข้าถึงตัวสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่ามันจะเจ็บป่วยอยู่หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องทำคือการจับบังคับอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยทั้งของสัตว์ป่าและของสัตวแพทย์เอง ซึ่งแทบจะร้อยทั้งร้อยต้องทำให้มันสลบก่อนที่จะเข้าไปทำอะไรกับมัน
       หมอเดชาอธิบายว่า การยิงยาสลบต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก การจะลงมือรักษาสัตว์ป่าแต่ละครั้งจึงต้องอาศัยการวางแผนอย่างรัดกุม ไม่เช่นนั้นจะฉุกละหุกกันไปหมด ที่สำคัญคือสัตว์ป่าจะเครียด และเมื่อสัตว์เครียดก็จะยิ่งอันตรายมาก เหมือนเช่นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
       "ตอนนั้นมีช้างตกมันที่พัทยา สัตวแพทย์ที่นี่ก็ไปกันหมดทั้งสามคน ผม พี่หมอวันชัย และพี่หมอรัฐพันธ์ซึ่งเคยเป็นสัตวแพทย์ที่นี่ แต่ตอนนี้ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหิดลแล้ว ก่อนลงมือเราก็วางแผนกันว่าจะล้อมอย่างไร ใครอยู่ในตำแหน่งไหน พอคนนี้ยิงแล้วจะวิ่งไปทางไหน แล้วใครจะทำอะไรต่อไป พอถึงเวลาจริง พี่หมอวันชัยยิงยาสลบไปดอกแรก ช้างโดนลูกดอกก็วิ่งเข้าไปชาร์จหมอวันชัยเลย ตามแผนหมอวันชัยต้องวิ่งขึ้นต้นไม้ แต่โทรศัพท์มือถือดันไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ ดึงยังไงก็ไม่ขึ้น ช้างจะมาถึงตัวแล้ว โชคดีที่ดึงตัวขึ้นไปได้ในเสี้ยววินาที เลยรอดไป พอมันชาร์จทางโน้นไม่ได้มันก็หันมาทางอื่น ผมก็ถอยหลัง ไปสะดุดรากไม้ล้มลง ทำอะไรไม่ได้เพราะล้มไปแล้ว จะลุกก็ลุกไม่ทัน คิดแต่ว่ามันจะมาถึงเมื่อไร ถ้ามันเข้ามาจริง ๕ วินาทีเท่านั้น เสร็จทันที โชคดีที่มันวิ่งไปทางอื่น สุดท้ายก็สามารถยิงยาสลบช้างตัวนั้นได้ แต่ก็ใช้เวลาร่วม ๖ ชั่วโมง"
 (คลิกดูภาพใหญ่)        แม้ว่าการทำงานกับสัตว์ป่าในสวนสัตว์จะอันตรายน้อยกว่า แต่ก็ไม่อาจวางใจได้เช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าสัตว์ไม่สลบจริง อย่าเข้าใกล้เป็นอันขาด
       "ข้อควรจำอีกอย่างก็คือ ช้างมันยกขาหลังถีบได้นะครับ แรงด้วย" เป็นอีกบทเรียนที่สัตวแพทย์ได้มาจากประสบการณ์ตรง ทุกคนที่ทำงานกับสัตว์ป่าจึงต้องรู้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่า- -แต่กับกรณีที่พี่เป็ดเจอนั้นอาจนับเป็นข้อยกเว้น
       "พวกหมีหมา หมีควาย บางทีมันแกล้งเรา อำให้เราตกใจเล่น มันจะกลั้นหายใจ เหมือนว่าหยุดหายใจไป เราตกใจรีบช่วยมัน แต่พักเดียวมันก็ลุกขึ้นมาหายใจเหมือนเดิม เหมือนกับว่ามันสามารถบังคับกล้ามเนื้อหายใจได้ ผมเคยเห็นแบบแน่นิ่งไปเลย ต้องช่วยกันปั๊มหัวใจ แต่สักพักก็ลุกขึ้นมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนแรกก็แปลกใจว่ามันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ แต่มันมีจริง ๆ ครับ" 
       แต่แม้ว่าสัตว์จะสลบไปแล้วจริง ๆ ก็ใช่ว่าจะวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมอเดชาเล่าว่า ครั้งหนึ่งระหว่างที่กำลังง่วนกับการตรวจรักษาหมีตัวหนึ่ง อยู่ ๆ เจ้าหมีก็ฟื้นขึ้นมา ให้ยาสลบยังไงมันก็ไม่ยอมสลบ ต้องใช้ตาข่ายพันตัวมันไว้ ดังนั้นการเข้าถึงตัวสัตว์จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แม้จะเห็นว่ามันสลบไปแล้ว แต่จะสุ่มสี่สุ่มห้าปรี่เข้าไปอุ้มไม่ได้เด็ดขาด 
       สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกอย่างก็คือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าเอง เพราะขึ้นชื่อว่าวางยาสลบแล้ว ไม่ว่ากับสัตว์ชนิดไหนก็อันตรายทั้งนั้น โดยเฉพาะกับสัตว์ใหญ่ อย่างเช่นยีราฟ หากถูกวางยาสลบล้มลง โอกาสที่หัวและคอยาว ๆ ของมันจะฟาดกับพื้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว จึงต้องมีอุปกรณ์พิเศษเข้ามาช่วย เช่น ต้องเตรียมเบาะหรือฟองน้ำไว้รองรับ ต้องมีเชือกมัดบริเวณหัวแล้วค่อย ๆ ดึงมันลงมาขณะยาเริ่มออกฤทธิ์ เป็นต้น ส่วนกระทิงก็จะต้องมีการสอดท่อเข้าหลอดอาหารต่อออกมาที่ปาก เพื่อป้องกันไม่ให้มันสำรอกอาหาร
       แต่ถ้าเป็นลิงแล้ว การวางยาสลบจะยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับ "ชั่วโมงบิน" ของแต่ละตัว ว่าเคยผ่านประสบการณ์การถูกคุณหมอ "เป่า" ลูกดอกอาบยาสลบมาแล้วกี่ครั้ง
       "ลิงบางตัวที่เชี่ยว ๆ พอเรายิงลูกดอกออกไปปุ๊บ มันคว้าหมับเลยนะ บางตัวคว้าได้แล้วยังหันมาขว้างใส่เราด้วย ต้องกะขนาดลูกดอกให้พอเหมาะและระวังตัวให้ดี" 
       นี่คือคำให้การของหมอวันชัย--มือวาง (ยาสลบ) อันดับหนึ่ง คู่ปรับของบรรดาลิงในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว นิ่ม พี่เป็ด โท อำนาจ หนึ่ง และปิง ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ลิงทุกตัวที่อยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้ จำหน้าหมอวันชัยได้แน่นอน
 
(คลิกดูภาพใหญ่)        อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักตายตัวใด ๆ ในการวางยาสลบสัตว์ป่า พวกมันมีความซ่าอย่างน่าปวดหัวและมีความแสบต่าง ๆ กันไป การยิงยาสลบแต่ละครั้งจึงต้องถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของเหล่าสัตวแพทย์ ซึ่งจะต้องคิดหากลเม็ดต่าง ๆ เพื่อพิชิตสัตว์ป่าทั้งหลายให้อยู่หมัด โดยอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น ลูกดอก ปืนยิงยาสลบที่มีลำกล้องเอาไว้ต่อสำหรับยิงระยะไกล ปืนสั้นอัดลมที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวขับเคลื่อน ฯลฯ ที่สำคัญ การเลือกชนิดปืนโดยไม่มีความรู้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ได้ เช่น ปืนอัดลมขับดินปืนที่มีแรงอัดระยะ ๕-๑๐ เมตร หากนำไปใช้ยิงยาสลบสัตว์ป่าในระยะประชิด คือน้อยกว่า ๕ เมตร อาจจะทำให้ลูกดอกวิ่งทะลุอวัยวะภายในเป็นอันตรายต่อสัตว์ได้
       ทว่าบางครั้ง ปัญหาในการยิงยาสลบที่ต้องพบเจอก็เป็นปัญหาเฉพาะตัวจริง ๆ แถมยังมองข้ามไม่ได้เสียด้วย เป็นต้นว่า
       "พี่นิ่มเป็นคนอ้วน พี่หมอทั้งหลายจึงต้องคอยระวังให้ทุกอย่างเป็นพิเศษ เพราะถ้าเกิดล้มขึ้นมาระหว่างที่เรายิงยาสลบกันอยู่ จะอันตรายมาก จะอุ้มหนีก็ไม่ไหว"
แต่ถึงรอบคอบระมัดระวังอย่างไร โอกาสที่สัตว์ป่าจะตายจากการวางยาสลบก็มีอยู่ไม่น้อย เนื่องจากสัตว์ป่าแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ สัตว์จำพวกกวาง ละมั่ง เมื่อตกใจ อุณหภูมิในร่างกายจะพุ่งสูงจนอาจทำให้ช็อกได้ ต้องคอยเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิตลอดเวลาที่มันสลบอยู่ ดังนั้นการเลือกชนิดของยา และปริมาณยาสลบที่จะใช้กับสัตว์แต่ละตัวจึงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา น้ำหนักตัว และลักษณะทางกายภาพของสัตว์นั้น ๆ
       "ยิงยาสลบแต่ละครั้ง ต้องมั่นใจว่าสัตว์จะฟื้น"--ฟังดูธรรมดา แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายเลย
       นอกจากนี้ ด้วยระบบร่างกายที่ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดอาจตายได้ง่าย ๆ หากจับและเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธี ดังนั้นคนที่จะเข้าถึงตัวสัตว์ป่าจึงต้องรู้ถึงหลักการ restraint หรือการจับบังคับสัตว์ให้ถูกวิธี เพื่อให้ "สัตว์ปลอดภัย คนปลอดภัย ทำงานได้" ซึ่งสัตวแพทย์ต้องมีความรู้และเข้าใจธรรมชาติร่างกายของสัตว์ป่าทั้งในตอนปรกติและตอนที่มันสลบ และต้องผ่านการฝึกฝนมามากพอที่จะมั่นใจได้ว่า สัตว์ป่วยที่อยู่ในความดูแลนั้น จะไม่ตายไปก่อนที่จะได้เริ่มรักษาจริง ๆ
 

วางยาเจ้าตัวร้าย

 (คลิกดูภาพใหญ่)        ที่กรง ๙๕ หมีหมาตัวที่เป็นเป้าหมายเดินไปมาอยู่ข้างใน 
       วันนี้หมอเดชาวางแผนจะผ่าตัดเนื้องอกบริเวณริมฝีปากล่างทั้งสองข้างของมัน เนื้องอกที่ว่านี้ตรวจพบเมื่อคราวตรวจสุขภาพสัตว์ประจำปี และหลังจากเก็บตัวอย่างไปวินิจฉัยอย่างละเอียดก็พบว่ามันกลายเป็นมะเร็ง แต่ไม่ใช่ชนิดที่ลุกลาม 
       ในหนึ่งปีสัตว์ป่าในสวนสัตว์จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แถมด้วยบริการถอนฟัน อุดฟัน ตัดเล็บ โดยคุณหมอจะแบ่งการตรวจสุขภาพเป็นสัปดาห์ แยกตามตระกูลสัตว์ เช่น สัปดาห์ตรวจสุขภาพสัตว์ตระกูลหมี สัตว์ตระกูลแมว หากตรวจพบโรคที่กำลังลุกลามก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที การตรวจสุขภาพทำให้สัตว์ป่าหลายตัวมีชีวิตรอดมาได้อย่างหวุดหวิด เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อสัตว์ป่าป่วย มันจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเพียบหนัก 
       เวลา ๑๐.๓๕ น. หมอเดชาเป่าลูกดอกสีแดงผ่านลำกล้องยาว ๑ เมตรไปยังเป้าหมาย ทันทีที่เข็มฉีดยาปักฉึกเข้าให้ที่ก้น มันก็ใช้มือ (หรือขาหน้า ?) จับลูกดอกเขวี้ยงทิ้งทันที เจ้าหมีโวยวายเสียงดังเดินน้ำลายยืดไปมา 
       ๑๐ กว่านาทีผ่านไป มันเดินช้าลงแต่ยังไม่หมดฤทธิ์เสียทีเดียว
       ๑๐.๕๐ น. ยาสลบเข็มที่ ๒ เข้าจู่โจมอีกครั้ง คราวนี้หมอเดชาเล็งเป้าหมายง่ายกว่าครั้งแรก เจ้าหมีเริ่มซึมและค่อย ๆ ทรุดตัวลงนั่ง ลิ้นห้อยหายใจหอบ สักพักก็คอตก คางกระแทกพื้นจนแตก เลือดไหลตามจังหวะสะอึกอัก ๆ หลายคนมองด้วยความสงสาร แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าใกล้มันได้
       "ถ้าไม่อ้วกอย่าเข้าใกล้เด็ดขาด สัตว์ตระกูลหมีจะดูว่ามันสลบหรือไม่สลบให้ดูตรงนี้ ถ้ายาถึงอ้วกทุกตัว" หมอเดชาบอกลูกมือทุกคน นัยว่าฝึกวิชาไปในตัว 
       ๒๐ นาทีต่อมาหมีตัวนี้ก็สำรอกออกมา หมอเดชาถือไม้เล็ก ๆ เข้าไปเคาะที่ลำตัวและหัวมันเบา ๆ เพื่อทดสอบอีกครั้งว่ามันสลบแล้วจริง ๆ หนึ่ง โท และอำนาจ ตรงเข้าไปอุ้ม
       "โทเข้าจับทางข้างหลัง" หมอเดชาเตือนถึงเรื่องการจับบังคับสัตว์ ทุกคนต้องรู้ว่า เมื่อสัตว์ล้มแล้วจะเข้าถึงตัวสัตว์อย่างไรให้ "สัตว์ปลอดภัย คนปลอดภัย ทำงานได้" สามหนุ่มจับหมีหมาตัวใหญ่นอนท้ายรถกระบะ หมอดาวและนกกระโดดขึ้นท้ายรถ เราก็กระโดดขึ้นรถตามเขาไปด้วย 
       เส้นทางไม่กี่กิโลเมตรจากกรง ๙๕ ไปยังโรงพยาบาลดูยาวไกล นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังร้อน ๆ หนาว ๆ ว่าอาจจะทำความลำบากใจให้เขาอีก หลังจากคำนวณด้วยสายตาคร่าว ๆ แล้วว่า หากรถเลี้ยวโค้งมาก ๆ ฝ่ามือหนา ๆ ของเจ้าหมีน่าจะตีโค้งมาเต็ม ๆ หน้าพอดี ...อดกระซิบถามไม่ได้
 (คลิกดูภาพใหญ่)        "มันจะฟื้นไหม"
       "มีเหมือนกัน แต่ไม่บ่อยหรอก เท่าที่เจอมักจะเป็นตอนรักษาเสร็จแล้วเอามาส่งมากกว่า ที่จริงต้องเตรียมยาสลบมาด้วย แต่วันนี้ไม่ได้เอามาเผื่อเลย" นกบอกเรียบ ๆ 
       เพียงอึดใจเดียว (ของคนอื่น ๆ) ขบวนรถก็พาเจ้าหมีหมาตัวโตมาถึงโรงพยาบาล หมอเดชา อำนาจ หนึ่ง โท และปิง มารออยู่ก่อนแล้ว สามหนุ่มช่วยกันอุ้มหมีลงมาจากรถ พามันไปชั่งน้ำหนัก (แน่นอนว่าต้องอุ้มอย่างถูกวิธีตามหลักการจับบังคับสัตว์) แล้วนำเข้าห้องผ่าตัดทันที
       ตอนนี้มันนอนอยู่ที่เตียง นิ่มเตรียมบริเวณเส้นเลือดที่จะเจาะให้น้ำเกลือและเก็บตัวอย่างเลือด หมอดาวที่อาสามาเป็นผู้ช่วย จัดการวัดความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ ระหว่างที่สัตว์สลบอยู่ การรายงานอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตให้สัตวแพทย์เป็นระยะ จะช่วยให้สัตวแพทย์รู้ว่าสัตว์อยู่ในภาวะอาการเช่นไร จะฟื้นหรือยัง ต้องเพิ่มยาสลบหรือไม่
       เวลา ๑ ชั่วโมงกว่าในห้องผ่าตัดหมดไปกับการขูดหินปูน ตรวจร่างกาย ตัดเล็บ และจัดการกับเนื้อร้ายตรงริมฝีปากล่างด้วยอุปกรณ์พิเศษ ลักษณะคล้ายมีดที่ต่อกระแสไฟฟ้าไว้ เมื่อจี้ไปที่ก้อนเนื้อ เสียงซี้ด ๆ และควันจาง ๆ ก็พวยพุ่งออกมาพร้อมกลิ่นฉุนกึ้กของเนื้อไหม้ บางตอนเลือดสีแดงสด ๆ ก็พุ่งกระฉูดออกมา แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตกใจอะไรเลยสำหรับทีมกล้าตายเหล่านี้
       ราว ๑๓.๐๐ นาฬิกา ก้อนเนื้อร้ายก็หลุดออกมาจากริมฝีปากมัน หมอเดชาบรรจงใช้เข็มเย็บปากแผล จากนั้นทุกอย่างก็เรียบร้อย
       หน่วยกล้าตายชุดเดิมจัดการหามเจ้าหมีขึ้นหลังรถกระบะ หมอดาวและนกกระโดดขึ้นท้ายรถพามันไปส่งที่กรงตามเดิม แต่นักเขียนสารคดีไม่-รออยู่ตรงนี้ก็ได้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกตั้งเยอะ ไปคุยกับคุณหมอดีกว่า อย่างเช่นว่า หากสัตว์ป่าเสียเลือดมาก ๆ จะทำอย่างไร รับบริจาคเลือดได้หรือไม่ จะทำธนาคารเลือดเหมือนอย่างที่เขามีธนาคารเลือดสุนัขได้ไหม
       "บริจาคเลือดให้กันได้ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ แต่ต้องเป็นสัตว์ประเภทเดียวกันเท่านั้น เลือดเสือดาวจะเอามาใช้กับเสือโคร่งไม่ได้ ถ้าจะทำธนาคารเลือดสัตว์ป่าคงไม่คุ้มค่า เพราะจะต้องเป็นธนาคารที่ใหญ่มาก ๆ เนื่องจากสัตว์ป่ามีหลายพันธุ์หลายชนิด สิ่งที่เราทำได้หากจำเป็นต้องใช้เลือดเพิ่มก็คือ เอามาจากสัตว์ป่าชนิดเดียวกัน ดูว่าเลือดของสัตว์ที่ป่วยกับตัวที่เราไปเอาเลือดเขามา ผสมแล้วเข้ากันได้ไหม ถ้าเข้ากันได้ก็ถือว่าใช้ได้"
       ตอนแรกเราคาดหวังว่าการตรวจสุขภาพสัตว์จะเจอเคสอะไรแปลก ๆ แต่หมอเดชาบอกว่า 
       "ไม่มีอะไรแปลกสักอย่าง มีแต่สิ่งที่เรายังไม่รู้เท่านั้น"
 

ความเหมือนที่แตกต่าง

 (คลิกดูภาพใหญ่)        มีการประเมินว่าสัตว์ป่าที่สัตวแพทย์ทั่วโลก ต้องทำงานด้วยนั้นมีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๑.๕-๓๐ ล้านสปีชีส์ องค์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาสัตว์ป่าจึงมีอยู่มากมายมหาศาล ทั้งที่ผ่านตาสัตวแพทย์ทั่วโลกมาแล้ว และที่ยังรอการค้นพบ
       โดยทั่วไป การเจ็บป่วยของสัตว์ป่ามีสองกรณีใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง จากโรคติดเชื้อ ซึ่งกว่าที่สัตว์จะแสดงอาการออกมา โรคก็มักจะกำเริบรุนแรงแล้ว ทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายนั้นมีน้อยมาก และสอง เกิดจากการถูกทำร้าย ทั้งที่ทำร้ายกันเองในฤดูผสมพันธุ์ และจากปัจจัยภายนอก เช่นถูกคนทำร้าย หรือได้รับอุบัติเหตุ
       ในกลุ่มสัตว์ปีก ส่วนใหญ่จะพบโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ถ่ายท้อง เป็นหวัด และบาดเจ็บจากการทำร้ายกันเอง กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานมักได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น เต่าโดนรถชนกระดองแตก ตะพาบกินเบ็ด ถูกปลิงดูดเลือด ส่วนสัตว์ประเภทกินเนื้อ เช่น เสือ สิงโต มักพบโรคติดเชื้อ ทำร้ายกันเอง สัตว์ประเภทกินพืช เช่น กวาง ละมั่ง นอกจากตื่นตกใจและวิ่งชนกันจนเป็นเหตุให้ขาหักอยู่บ่อย ๆ ในฤดูผสมพันธุ์แล้ว โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจก็เป็นอีกโรคที่มักจะพบเจออยู่เสมอๆ
       แม้จะมีภาพกว้าง ๆ อย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว อาการเจ็บป่วยและโรคภัยของสัตว์ป่าแต่ละชนิดจะแตกต่างกันอย่างมาก และบางกรณีก็อยู่เหนือความคาดหมาย ชนิดที่หากสัตวแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องพฤติกรรม และธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ดีพอ ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ามันป่วยเป็นอะไรกันแน่
       คุณว่านกแก้วที่มีอาการขนร่วงมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง ?
       ปรสิตที่ผิวหนัง กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่ในที่ที่ผิดธรรมชาติมากเกินไป ฯลฯ หากคำตอบเป็นดังนี้ คนที่มีความรู้เรื่องโรคเป็ดโรคไก่ก็อาจจะพอวินิจฉัยและให้การรักษาได้
       แต่เรื่องมันอาจไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะในกรณีที่ว่านี้ หากสัตวแพทย์ไม่รู้จักนิสัยและพฤติกรรมที่เอาแต่ใจอย่างร้ายกาจของนกแก้ว ต่อให้เก่งแค่ไหนก็วินิจฉัยโรคไม่ถูก รักษาให้ตายก็ไม่มีทางหาย
 (คลิกดูภาพใหญ่)        นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์บางเขน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์--ผู้ที่บรรดาสมาชิกชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าขนานนามให้เป็นบรมครูด้านนก (ในขณะที่เขาบอกเราว่า "ผมเป็น exotic man-มนุษย์ที่แปลกแยก") เฉลยว่า อาการแบบนี้อาจเกิดจากอาการขาดความรักหรือโดนเพื่อนแกล้งก็เป็นได้ คุณหมอเคยพบนกแก้วบางตัวที่ขนตัวหายไป แต่ขนหาง ปีก หัว ปรกติ สอบถามดูก็ได้ความว่าเจ้าของที่เคยเลี้ยงมันมาได้งานใหม่ ต้องออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน ไม่มีเวลาให้มันเหมือนเดิม นกแก้วเป็นนกที่มีอายุสมองเท่ากับเด็กสองขวบ และมีพฤติกรรมความรักแบบ ๑ ต่อ ๑ เท่านั้น ถ้ามันคิดว่าความรักที่เคยได้ไม่เหมือนเดิม ก็จะตรอมใจ มีปัญหาชอบทำร้ายตัวเอง ถอนขนตัวเอง ยิ่งถ้าเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ มันจะคิดว่ามันเป็นคน ไม่ต้องการคู่ มีเจ้าของแค่ ตัว/คน เดียวก็พอ
นี่แค่นกอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องนับรวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นที่มีอยู่หลายล้านสปีชีส์ เราจึงไม่อาจระบุได้ว่ามีโรคอยู่กี่ชนิดที่เป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าเจ็บป่วย และยังมีอีกกี่ชนิดกันที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น และคงด้วยเหตุนี้ จึงมีบางคนกล่าวไว้ว่า "ถ้าสามารถสัมผัสและเรียนรู้อารมณ์ของสัตว์ป่าได้ ก็น่าจะเป็นสัตวแพทย์ที่ดีได้" 
       อย่างไรก็ตาม โรคภัยทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาก็ยังไม่น่าหดหู่ใจเท่ากับสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อพวกมัน นิ่มเล่าประสบการณ์ของเธอให้เราฟังว่า
       "ไม่นานมานี้เราได้รับแจ้งว่ามีกวางป่าตัวหนึ่งถูกยิง หนีมาหลบอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง พวกเราก็เอารถไปรับมารักษาที่นี่ มันตัวใหญ่มาก พอเอกซเรย์จึงรู้ว่ามันมีลูก ก็คิดกันว่าจะผ่าลูกออกมาก่อนดีไหม เพื่อให้ลูกมันรอด แต่เราก็ไม่รู้ว่าลูกมันอายุประมาณกี่เดือนแล้ว เหมาะที่จะเอาออกมาไหม และถ้าเอาออกมาแม่มันจะรอดด้วยหรือเปล่า 
       "คนที่ยิงคงไม่รู้ว่ามันกำลังท้องอยู่ ตัวแม่กวางเองก็เหมือนรู้ว่าถ้ามันหนีเข้าวัด จะไม่มีใครกล้าตามเข้าไปยิงซ้ำ มันหมอบอยู่ในนั้นนานมาก คงพยายามจะเอาชีวิตรอด อดทนเพื่อลูก มันอุตส่าห์มาจนถึงโรงพยาบาลแล้ว ทุกคนก็ช่วยกันเต็มที่ ทั้งอุ่นน้ำเกลือและเตรียมทุกอย่างเผื่อว่าต้องผ่าลูกออกมา มีรอยที่ถูกยิงสี่ห้าแห่ง เราทำกันตั้งแต่สี่โมงเย็นจนเกือบสองทุ่มครึ่ง ผ่ากระสุนออกมาได้สามนัดก็คิดว่าสำเร็จแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ไม่รอด ลูกก็ตายแม่ก็ตาย มันเศร้าตรงที่ว่าถ้าเราตัดสินใจช่วยลูกมันเสียก่อน เราอาจไม่สูญเสียลูก แต่ก็นั่นแหละ ถ้าแม่ตายแล้วลูกมันจะอยู่ยังไง ตอนที่มันตายพี่เกือบร้องไห้เลย เพราะมันท้องด้วย ดูแล้วอดเวทนามันไม่ได้"
       นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่เสมอ เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าตัวแล้วตัวเล่า หลายเคสที่เข้ามา ทั้งหมอและผู้ช่วยลงแรงดูแลรักษากันอยู่หลายวันหลายคืน หากสุดท้ายก็ไม่อาจช่วยชีวิตมันไว้ได้ 
       แม้ว่าพฤติกรรมและอาการเจ็บป่วยของสัตว์ป่าแต่ละชนิด จะหมุนเวียนมาให้ผู้คนที่นี่ได้เรียนรู้ชนิดไม่ซ้ำแบบกันเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ สัตว์ป่าทุกตัวต่างก็รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น นี่เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นความจริงที่ทุก ๆ คนรู้ และเชื่อว่าคนที่ลั่นไกยิงแม่กวางตัวนั้นก็รู้
       "แค่มันเป็นกวางป่าหรือ ที่ทำให้ใครนึกอยากจะยิงมันก็ยิงได้" 
       ...ไม่ใช่คำถามที่จะเค้นเอาคำตอบจากใคร พวกเขาเพียงแต่พูดกับตัวเอง ถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาให้พบเจออยู่เสมอเท่านั้น
 

ช่วยให้รอดตายได้ แต่ไม่อาจช่วยให้มีชีวิตอยู่

 (คลิกดูภาพใหญ่)        คงเคยได้ยินวลี "No leg no horse" ใช่ไหม ? 
       สัตว์ป่าหลายชนิดก็เข้าข่ายนี้ แม้สัตวแพทย์จะสามารถช่วยให้มันรอดพ้นจากความตายได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะกระดูกขาหักท่อนเดียว อาจจะหมายถึงชีวิตมันทั้งชีวิต
       "การรักษาสัตว์ป่าให้หายเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากก็คือ จะช่วยให้มัน "อยู่รอด" ต่อไปได้อย่างไร"--ใคร ๆ ก็ว่าอย่างนั้น
       ด้วยเหตุนี้ หลักสามข้อในการช่วยชีวิตสัตว์ป่าจึงได้แก่ รักษาชีวิต รักษาอวัยวะ และรักษาหน้าที่ของอวัยวะ โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ หากรักษาให้หายแล้ว มันจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติได้โดยที่ไม่ทรมานมากเกินไปหรือไม่ อย่างชะมดตัวที่เพิ่งมาถึงโรงพยาบาลนี้ หมอเดชาบอกว่า
       "ตัดขาไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากกว่าคือจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องตัดขา หรือถ้าตัดแล้ว จะทำอย่างไรให้มันมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งถ้าเป็นไปไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องให้เขาไปสบาย"
       หมอวันชัยอธิบายต่อว่า สัตว์บางชนิดที่ใช้ขาเป็นอวัยวะสำคัญในการพยุงตัว มีน้ำหนักตัวมาก ๆ และมีขายาว อย่างพวกนกกระจอกเทศ ช้าง หากกระดูกขาหัก ทางที่ดีที่สุดคือทำให้เขาไปสบาย 
       "บางครั้งแม้ว่าคณะแพทย์จะวินิจฉัยแล้ว ว่าควรทำให้เขาหลับไปเลยจะดีกว่า แต่สาธารณชนก็ไม่เข้าใจ อย่างกรณีช้างโมตาลาและช้างน้อยฮันนี่ สัตวแพทย์สัตว์ป่าซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และร่วมกันหาทางช่วยเหลือมาตั้งแต่แรก ได้พิจารณาและลงความเห็นแล้วว่าควรให้เขาหลับ แต่ก็ทำไม่ได้ มันมีเงื่อนไขบางอย่างอยู่เบื้องหลังการยื้อยุดชีวิตช้างไว้ ซึ่งก็เท่ากับยื้อเวลาให้ช้างทรมานมากขึ้น คนไทยไม่ค่อยเชื่อสัตวแพทย์ สื่อหลายแขนงก็ยังเสนอข่าวในเชิงว่าไม่อยากให้ทำ สื่อมวลชนมักไม่เข้าใจว่าทำไมสัตวแพทย์ถึงต้องตัดสินใจเช่นนั้น"
       นายสัตวแพทย์สุเมธ กมลนรนาถ ประธานชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับเครือข่ายสัตวแพทย์ทั่วโลก กรณีช่วยเหลือช้างโมตาลา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
 (คลิกดูภาพใหญ่)        "แม้ว่าในทางการแพทย์จะมีความจำเป็นต้องทำเพราะหมดทางที่จะรักษา การที่เขาต้องอยู่ต่อไปก็จะยิ่งทรมาน ทั้งยังเป็นภาระกับคนรอบข้างด้วย แต่โดยพื้นฐานความคิดของคนไทยแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพยายามช่วยชีวิตให้ได้ไว้ก่อน คนทั่วไปจะยอมรับเหตุผลทางการแพทย์ได้ยาก อย่างไรก็ตาม นั่นก็นับว่าเป็นพื้นฐานความคิดที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีการแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ ทำไม่ได้ก็จัดการจบปัญหา ให้เขาไปสบายซะ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องไม่ดี เพียงแต่ว่าในกรณีที่สัตวแพทย์พิจารณา และพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ก็ควรจะเข้าใจตรงนี้ด้วย"
       นอกจากนี้ในหลายๆ กรณี แม้การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จ แต่สัตว์ป่ากลับต้องมาตายลงทีหลัง เพราะสัญชาตญาณป่าทำให้มันไม่ไว้ใจใคร บางตัวเครียด ป้อนอาหารให้ก็ไม่ได้ สัตว์บางตัวที่ตื่นตกใจง่าย เช่น ละมั่ง ผู้ดูแลก็ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก หากเข้าใกล้มันอาจตกใจและกระโจนใส่ผนัง จนทำให้อาการบาดเจ็บแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นหลังจากที่ช่วยชีวิตได้แล้ว จึงต้องพยายามให้สัตว์เหล่านั้นกินอาหารเองให้ได้ หากไม่ยอมกินอาจต้องฉีดยาบำรุง ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างการรักษาสัตว์ป่ากับสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจทั่วไป
       และเมื่อสัตว์ป่าตายลง ไม่ว่าจากโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุ มันจะไม่ถูกนำไปฝังหรือเผาในทันที แต่สัตวแพทย์จะเก็บซากไว้เพื่อชันสูตรวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด 
       "ในโลกของวิทยาการทางการแพทย์ มีเรื่องที่เราไม่รู้เต็มไปหมด บางทีสัตว์ตายไปโดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรแน่ ก็ต้องชันสูตรศพดู โรคทุกโรคที่เราพบถือว่าเป็นโรคใหม่ทั้งนั้น เพราะประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาหรือรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน สัตว์ป่าที่ตายทุกตัวจึงสำคัญหมด"
 

กลุ่มคนเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

 (คลิกดูภาพใหญ่)        คุณเชื่อไหม ว่าฐานความคิดง่าย ๆ ที่ว่า "สัตว์ป่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก มันก็คือสัตว์ป่าของเราเหมือนกัน" ได้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสัตวแพทย์สัตว์ป่าทั่วโลกเอาไว้ด้วยกัน
       ฟังดูยิ่งใหญ่และ "เว่อร์" มาก แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
       น. สพ. สุเมธ กมลนรนาถ ประธานชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแวดวงสัตวแพทย์สัตว์ป่าจะไม่ค่อยมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยเหลือกันเฉย ๆ
       "ถึงแม้สัตว์ป่าตัวหนึ่งที่อยู่ในต่างประเทศต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเรามีกำลังที่จะช่วยได้ ไม่ว่าจะไปเองหรือส่งความช่วยเหลือไป เราก็ทำไปเลย เพราะสิ่งนี้จะทำให้เรามีความรู้กว้างขึ้น วิทยาการและความรู้ในทางการแพทย์มันเกิดใหม่เรื่อย ๆ เรามีเครือข่ายกับสัตวแพทย์ทั่วโลก เรารู้ว่าในโลกนี้ใครเก่งด้านไหน เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ชนิดใด ในบางกรณี สัตว์ของเราป่วยก็โทรไปถามสวนสัตว์สิงคโปร์ สวนสัตว์มาเลเซีย สวนสัตว์เยอรมนี ประสานงานกันทั้งหมด มีการปรึกษา แนะนำกันทางอินเทอร์เน็ต มีเว็บไซต์ เว็บบอร์ด เอาไว้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อย่างเคสของช้างโมตาลา ผมก็จะเป็นสื่อกลางระหว่างสัตวแพทย์ไทยกับสัตวแพทย์ทั่วโลก ผมจะปูพรมก่อนว่าเกิดเคสอย่างนี้ขึ้นมานะ สัตวแพทย์ทั้งหลายทั่วโลกคุณคิดว่าอย่างไร พอได้ข้อมูลและคำแนะนำมาก็ส่งไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นแม่งานในเคสโมตาลา และในการรักษาเราก็จะตัดสินใจจากข้อมูลทั่วโลก เราช่วยกันอย่างนี้ ในแวดวงสัตวแพทย์สัตว์ป่าจึงไม่มีการหวงวิชาความรู้ เราจะต้องเปิดกว้าง เพราะมันไม่มีทางเรียนหมด"
       หมอสุเมธอธิบายว่า สัตวแพทย์สัตว์ป่าจริง ๆ คือสัตวแพทย์ที่ทำงานในป่า ในธรรมชาติ ในถิ่นอาศัย ส่วนสัตวแพทย์สวนสัตว์ คือคนที่ทำงานกับสัตว์ที่อยู่นอกถิ่นอาศัย นอกป่าธรรมชาติ สำหรับในประเทศไทย สัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในธรรมชาติแทบจะไม่มีอยู่แล้ว สัตวแพทย์สัตว์ป่าในประเทศไทยจึงเป็นสัตวแพทย์สวนสัตว์ (ที่ดูแลรักษาและทำงานกับสัตว์ป่าทั้งในและนอกสวนสัตว์) รวมไปถึงอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์หลาย ๆ ท่านในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย ซึ่งรวมแล้วน่าจะไม่เกิน ๓๐ คน
 (คลิกดูภาพใหญ่)        "เราเรียกกลุ่มเราว่า กลุ่มรากแก้ว เรารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยน - ถ่ายทอดความรู้กัน บางคนก็เป็นน้อง บางคนก็เป็นพี่ บางคนเด็กมากแต่เขาศึกษาเฉพาะด้าน ก็สามารถสอนคนที่อาวุโสกว่าได้ ทุกวันนี้เรามีสัตวแพทย์สัตว์ป่าอยู่ไม่กี่คน ในขณะที่สัตว์ป่ามีไม่รู้กี่ล้านชนิด จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะเชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ไปหมดทุกชนิด ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือ ใครชอบเรื่องไหนก็เจาะลึกเรื่องนั้นลงไปเลย ในแวดวงของเราก็จะรู้กันว่าใครเก่งเรื่องไหน ถ้าพูดถึงสัตว์เลี้อยคลานต้องยกโทรศัพท์ไปหาคนนี้ ถ้ามีปัญหาเรื่องนกต้องยกโทรศัพท์ไปหาคนนี้ น้องบางคนอาจจะมีความรู้มากกว่าผม มากกว่าพี่หลาย ๆ คน แต่ผมอาวุโสกว่า มีประสบการณ์กว่า ก็แลกกัน ชมรมของเราอยู่ด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง เคารพซึ่งกันและกัน เปิดใจกันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเราไม่มีชมรมหรือไม่รู้จักกันเลย เราก็จะช่วยอะไรกันไม่ได้เลย เครือข่ายสัตวแพทย์สัตว์ป่าของเราจึงค่อนข้างจะแข็งแรง อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเราเล็กและรู้จักหน้าตากันเป็นส่วนใหญ่"
       นายสัตวแพทย์บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยแผนกวิทยาการสืบพันธุ์ สวนสัตว์แห่งชาติ สถาบันสมิทโซเนียน วอชิงตัน ดี.ซี. เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ในต่างประเทศ สัตวแพทย์จะ "แท็กทีม" เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างเข้มข้น กว่าที่ใครสักคนจะเข้ามาทำงานกับสัตว์ป่าได้ ต้องผ่านการ "เคี่ยว" จน "งวด" ต้องผ่านคอร์สฝึกปฏิบัติงานกับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง ๒-๓ ปี ผ่านคอร์สนี้แล้วจึงจะไปเริ่มงานเป็นสัตวแพทย์จริง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพสูงมาก แม้แต่ผู้ช่วยก็เป็นผู้ช่วยที่ "เจ๋งสุด ๆ" ในขณะที่บ้านเรารัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุน เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนี้สักเท่าไร
         ด้วยเหตุนี้ "พวกเขา"--เพื่อนพ้องน้องพี่ในชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าฯ จึงคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรกันสักอย่างหนึ่งแล้ว
       และวันที่ ๑๘-๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕ ปรากฏการณ์การรวมตัวของอาจารย์และสัตวแพทย์สัตว์ป่ากว่า ๒๐ คน ก็เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลสัตว์ป่าเขาเขียวแห่งนี้ นัยว่าเป็นการนัดรวมพลครั้งใหญ่ ของชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าฯ เพื่อระดมความรู้ กระชับความสัมพันธ์ แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้นั้นให้แก่ "น้อง" ที่เพิ่งเรียนจบด้านสัตวแพทย์ และสนใจที่จะเข้ามาทำงานกับสัตว์ป่า ซึ่งในกลุ่มนั้นมีบางคนกำลังจะลงสนามจริงใน "คอร์สเคี่ยวเข้ม บัณฑิตใหม่หมอสัตว์ป่า ครั้งที่ ๑" ด้วย
       นายสัตวแพทย์มาโนชญ์ ยินดี อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า
       "ที่ผ่านมาไม่มีการเรียนการสอนเรื่องสัตวแพทย์สัตว์ป่ามาก่อน ปัจจุบันมีเพียงคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น ที่มีสาขาวิชาสัตว์ป่าโดยเฉพาะ ส่วนคณะสัตวแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ยังไม่มีสาขานี้ หรือมีเพียงคอร์สสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น นักศึกษาและนิสิตที่สนใจด้านสัตว์ป่า ต้องขวานขวายเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีรุ่นพี่ให้คำปรึกษา เมื่อก่อนการสอนเกี่ยวกับการรักษาสัตว์ป่า จะมีอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน แต่การที่ฝรั่งสอนกับการที่คนไทยด้วยกันเองถ่ายทอดให้กันมันต่างกัน ในเวิร์กชอปครั้งนี้สัตวแพทย์สัตว์ป่าเกือบทั้งประเทศได้มาร่วมกันทำ ปรึกษาหารือกันเพื่อจัดเวิร์กชอปครั้งนี้ขึ้นมา ถือเป็นการพบปะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองด้วย ส่วนน้องที่มาเข้าคอร์สนี้ก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่พี่ ๆ กลั่นกรองกันมาแล้ว"
       เวลา ๑๒ วัน ๑๒ คืนของ "พี่" กว่า ๒๐ คน และ "น้อง" ๑๕ คน หมดไปกับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ บางวันระหว่างที่พวกเขากำลัง "เคี่ยวเข้ม" กันอยู่นั้น ก็มี "ของจริง" เข้ามาให้ได้ลองฝึกมือ แน่นอนว่า บางชีวิตก็รอด และบางชีวิตก็ตาย...
       "หัวใจของการเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าคือจิตใจที่ใฝ่เรียนรู้ไม่สิ้นสุด" นายสัตวแพทย์รัฐพันธ์ พัฒนรังสรรค์ อดีตสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ป่า และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ระหว่าง "เคี่ยวเข้ม" ให้น้องก่อนที่จะลงสนามจริงในอนาคต 
 (คลิกดูภาพใหญ่)        "หากมีเครือข่ายที่แข็งแรงแล้ว งานทุกอย่างมันจะผ่านไปได้ดี ต่อไปไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เราจะเข้าอกเข้าใจ เห็นใจ และร่วมมือกัน"
       "ถ้าเผื่อว่าต่อไปน้องจะต้องไปทำงานคนเดียว ไม่มีทีมงาน ไม่รู้จะไปถามใคร ก็สามารถโทรถามพี่ ๆ ได้" พี่ ๆ หลายคนในที่นั้นยืนยัน 
       กานต์ เลขะกุล บัณฑิตใหม่จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเริ่มงานที่สวนสัตว์ดุสิต พูดถึงการมาเวิร์กชอปครั้งนี้ว่า
       "แน่นอนว่ายังมีโรคอีกมากมายที่พี่ ๆ ไม่ได้สอน แต่ไม่เป็นไร เพราะเราตรวจอาการเบื้องต้นเป็นแล้ว ถ้ามีอะไรที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็โทรถามพี่ ๆ ได้ เรามีเครือข่ายของพี่ที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่สามารถปรึกษากันได้"
       เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดอยากจะเข้ามาทำงานกับสวนสัตว์เลย 
       "ผมเคยเจอศิลปินคนหนึ่ง เขาโจมตีสวนสัตว์ว่า ทำไมต้องเอาสัตว์ป่ามาขัง ตัวการที่ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ก็คือสวนสัตว์นั่นเอง ตอนนั้นรู้สึกแย่กับสวนสัตว์มาก แต่ตอนหลังมาคิดว่า หากเราจับสัตว์มาขังเฉย ๆ มันก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย มันจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการวิจัยเพื่ออนุรักษ์ ทำการแพร่พันธุ์ได้สำเร็จ สามารถให้การศึกษาแก่เยาวชนเกี่ยวกับสัตว์ป่าตัวนั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจระบบนิเวศ และทำให้เขารักและหวงแหนธรรมชาติขึ้น นั่นต่างหากคือสิ่งที่สวนสัตว์ต้องทำ"
       นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่าแล้ว สิ่งที่เขาสนใจคืองานด้านการให้ศึกษาแก่เยาวชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศ ผ่านสัตว์ป่าที่ถูกบังคับให้อุทิศตัวมาอยู่ในสวนสัตว์ ทั้งยังมีภาพร่างในใจว่าด้วยกิจกรรมมากมายที่เขาตั้งใจจะทำ
       "มันเป็นงานของโลก ไม่ใช่ว่าดูแลรักษาเฉพาะสัตว์ตัวเดียว แต่เรากำลังดูแลยีนและพันธุกรรมเพื่อสืบทอดถึงคนรุ่นหลัง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นมรดกของคนทั้งโลก"
       หากคุณเชื่อคำพูดที่ว่า "สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ"
       เราก็ยินดีจะบอกกับคุณว่า คำว่า เพื่อน พี่ น้อง รวมถึงทุก ๆ คำพูดของพวกเขา--ชาวชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าฯ ระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลาสั้น ๆ มันมีความหมายตามนั้นจริง ๆ 
       ...และก็จะคงความหมายเช่นนั้นตลอดไป
 

ยินดีต้อนรับอย่างเต็มใจ แม้ไม่อยากให้ใครมาย่างกราย

 (คลิกดูภาพใหญ่)        "ถ้าให้เลือกระหว่างโรงพยาบาลที่มีสัตว์ป่วยวันละสองตัว กับไม่มีสัตว์ป่วยเลย เอาแบบไหน ?
       สัตวแพทย์สัตว์ป่าทุกคนบอกเหมือนกันหมดว่า โรงพยาบาลสัตว์ป่าที่ดีที่สุด คือโรงพยาบาลที่ไม่มีสัตว์ป่วยเลย ซึ่งความคิดนี้สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับมุมมองของผู้บริหาร
       หมอเดชาบอกเราว่า "การที่ไม่มีสัตว์ป่วย แสดงว่าเราจัดการดี ดูแลสัตว์ป่าอย่างดี แต่อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อม"
       ส่วนหมอสุเมธให้ความเห็นว่า รัฐบาลยังมองไม่เห็นความจำเป็นของการมีสัตวแพทย์สัตว์ป่าประจำสวนสัตว์เท่าที่ควร นอกจากงบประมาณในการสนับสนุนการบำรุงและรักษาสัตว์จะไม่พอเพียงแล้ว อัตราของสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์แต่ละแห่งก็ถูกจำกัดให้มีเพียง ๑-๒ คนเท่านั้น ทุกวันนี้ทั้งประเทศเราจึงมีสัตว์แพทย์สัตว์ป่าตามตำแหน่งอยู่ไม่เกิน ๑๕ คน
       ในขณะที่ต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสัตว์ป่ามาก ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร มีสัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คอยดูแลจัดการเกี่ยวกับสัตว์โดยตรงแล้ว ในสวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติ หรือสวนสาธารณะที่เป็นขององค์กรท้องถิ่น ยังมีผู้จัดการสัตว์ป่าที่ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์เข้ามาดูแลเรื่องอื่น ๆ และมีเอ็นจีโอเข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ป่าอีกด้วย
       ตามจริงแล้ว โดยศักยภาพของโรงพยาบาลสัตว์ป่าเขาเขียว ที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางการดูแลด้านสุขภาพของสัตว์ป่า ที่นี่จะสามารถรองรับบุคลากรได้ถึง ๓๐ คน เฉพาะสัตวแพทย์ก็ควรมีอย่างน้อย ๗ คน แต่เท่าที่เห็น กลับมีเพียงคนทำงานกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่คนเท่านั้น
         "ผู้บริหารอาจคิดในเชิงปริมาณ เช่นว่าหมอคนหนึ่งน่าจะสามารถฉีดยาสัตว์ได้วันละ ๒๐ ตัว เขาไม่รู้ว่าแค่หมาจิ้งจอกตัวเล็กตัวหนึ่งยังต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการรักษาวันแรก และยังต้องตามรักษาอีกหลายวันกว่าจะหาย หรือบางทีก็จะคิดในเชิงว่า โรงพยาบาลควรมีการใช้งานเฉลี่ยเดือนละกี่ครั้ง มีสัตว์ป่วยเข้ามาวันละกี่ตัว จึงจะคุ้มค่ากับการจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถ้าไม่มีการใช้งานก็จะส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณลงมาด้วย ทำไมเขาไม่คิดว่าการขาดเครื่องมือบางชิ้นอาจทำให้เราสูญเสียชีวิตสัตว์ชนิดสำคัญของชาติไปก็เป็นได้ การมีเครื่องมือไว้ให้พร้อมนั้น เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการช่วยชีวิตสัตว์ป่า ที่อาจเหลือเพียงไม่กี่ตัวในโลก"
       ในแต่ละวัน โรงพยาบาลแห่งนี้มีสัตว์ป่าเข้ามาให้สัตวแพทย์ดูแลรักษาเฉลี่ยวันละ ๒ ตัว มีผู้ป่วยในที่อยู่ระหว่างพักฟื้นซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอีกหลายราย นี่ยังไม่นับเคสประหลาด ๆ อย่างม้ามีเขางอกออกมาข้างหู ที่ต้องรอการวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง จากสัตวแพทย์ที่มีกันอยู่เพียงสองคน 
       ที่สำคัญ โดยธรรมชาติของสัตว์ป่า กว่าที่มันจะแสดงอาการของโรคออกมา ก็เมื่อมันทรุดหนักแล้วเกือบทั้งนั้น ลองคิดเล่น ๆ ว่า หากมีสัตว์ป่าที่ถูกรถชน ขาหัก เป็นมะเร็ง ท้องร่วง ตาบวม ฯลฯ เข้าคิวรอรับการรักษา แต่ไม่มียา ไม่มีเครื่องมือ แม้สัตวแพทย์อยากช่วยชีวิตมันใจจะขาด แต่จะให้ทำอย่างไร 
       ความตายไม่เคยรอใคร แต่การขออนุมัติจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ กลับต้องรอให้เป็นไปตามขั้นตอน ส่งเรื่อง รับเรื่อง พิจารณา ฯลฯ กว่าที่จะอนุมัติ สั่งการ เวลาก็ล่วงไปเดือนกว่า ถึงตอนนั้นจะยังมี "คนไข้" รอหมออยู่อีกหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้
 

ข่าวคราวจากเขาเขียวถึงเพื่อนต่างสายพันธุ์

 (คลิกดูภาพใหญ่)        สองเดือนต่อมา เราได้รับข่าวมาตามสายโทรศัพท์ว่า เจ้าจ้อยที่คิดว่ายังไงก็ไม่รอดนั้น ตอนนี้ก็หาย สบายดีแล้ว ขณะที่ชะมดตัวนั้น แม้ผลเลือดจะออกมาว่าไม่มีอาการติดเชื้อ แต่กลับสิ้นใจไปเสียก่อนเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วนเจ้าเลียงผาขาหัก ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่ามันจะได้กลับไปไต่ผาอีกหรือไม่ 
       ฝ่ายหมีหมาตัวร้าย หลังจากผ่าตัดเนื้องอกออกได้ไม่นาน ทีมงานก็ต้องหามกลับมาส่งที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ข่าวไม่แจ้งว่าเพราะเหตุอะไร รู้แต่ว่าจำเป็นต้องให้เลือดอย่างเร่งด่วน โชคดีที่ได้รับบริจาคเลือดจากเจ้าบุญหลง--หมีหมาขาขาด ขาโจ๋ประจำโรงพยาบาลสัตว์ จึงรอดมาได้ ปัจจุบันหมีทั้งคู่สุขภาพแข็งแรงดี
       ในทุก ๆ วัน ยังมีสัตว์ป่าจำนวนมากบาดเจ็บล้มตาย- -ชะนีที่เขาใหญ่ชอบออกมาวิ่งเล่นจนถูกรถชนอยู่เนือง ๆ ที่โชคร้ายก็สิ้นใจอยู่กลางถนน ในเมืองใหญ่ ช้างจำนวนมากยังคงเร่ร่อนเสี่ยงภัยอยู่ท่ามกลางรถรา และฝุ่นควัน และตามบ้านเรือน ยังมีสัตว์ป่าจำนวนมากถูกแอบซ่อนไว้ เพราะถึงวันนี้ ใครหลายคนก็ยังคงซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงอย่างหน้าชื่นตาบาน- -จะมีสัตว์สักกี่ตัวที่โชคดี รอดชีวิตมาถึงมือสัตวแพทย์ที่นี่
       และทุกวัน ใต้หลังคาสีเขียวแห่งนี้ พวกเขายังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างที่เคยเป็นมาตลอดหลายปี หน้าที่การงานที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักวัน 
       "งานเหนื่อยเราก็พัก พรุ่งนี้ก็มาทำงานต่อ ส่วนระบบที่เป็นโครงสร้างใหญ่ซึ่งเราแก้ไม่ได้ ถ้าไปคิดกับมันก็ท้อ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปคิด อยู่ที่ไหนแล้วทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เราก็พอใจแล้ว" เป็นคำกล่าวของสัตวแพทย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นทำงานที่เขาเลือกแล้วด้วยใจ
       มันคงเป็นเหตุผลเดียวกับเพื่อนพี่น้องในแวดวงเดียวกัน ที่ต่างก็กำลังปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่ในหน่วยงานเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้องค์กรที่มีเงื่อนไขและระบบงานเดียวกัน ด้วยความหวังและความตั้งใจเดียวกัน
       "เมื่อโลกให้เรามา ให้เรามีชีวิตอยู่ ก่อนจะตายจากโลกนี้ไป เราก็น่าจะให้อะไรคืนแก่โลกบ้าง"
 

ขอขอบคุณ 

         เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียวทุกท่าน
       นายสัตวแพทย์บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ 
       ชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ "บัณฑิตใหม่หมอสัตว์ป่า" .ในคอร์ส "เคี่ยวเข้ม" ทุกคน

หมายเหตุ 
       ผู้สนใจร่วมสมทบทุนการดำเนินงานของชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าฯ กรุณาติดต่อ ๐-๓๘-๒๙๘๑๘๗