สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕ "บันทึกจากป่าตะวันตก กับการอยู่รอดของสัตว์ป่า"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  

หนังการ์ตูน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑ Gertie the Dinosaur

       ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ ต่อศตวรรษที่ ๒๐ มีความพยายามมากมายที่จะสร้างภาพลายเส้นเคลื่อนไหวปรากฏต่อสายตา มีเทคโนโลยีและกล้องชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกแปลก ๆ แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้มาก็มิอาจเรียกได้ว่าคือหนังการ์ตูน
       เพราะภาพที่เคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็นได้เพียงแค่เงา
       อันที่จริงบรรพบุรุษของหนังการ์ตูนอาจจะมีปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่จำเพาะที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของยุโรปและอเมริกา หนึ่งในบรรพบุรุษเหล่านั้นสามารถพบได้ในบ้านเราทุกวันนี้ด้วย นั่นคือหนังตะลุง
       หนังการ์ตูนในแบบที่เราคุ้นเคยกันจริงๆเริ่มขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีบุคคลสำคัญหลายคนช่วยกันสร้างมันขึ้นมา เรื่องราวของบุคคลเหล่านั้นน่าสนุก มีการแข่งขันและมีการช่วงชิง สนุกสนานมากพอที่จะนำไปสร้างเป็นหนังเรื่องหนึ่งได้เลยทีเดียว
       ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่ง "ตามหาการ์ตูน" ได้ตัดทอนรายละเอียดลงมาก เหลือไว้เพียงบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับ บางคนสงสัยว่าเมื่อแรกเริ่มมีหนังการ์ตูนนั้น ศิลปินอดทนลำบากวาดภาพซ้ำ ๆ ๒๔ ภาพเพื่อฉายให้เห็นการเคลื่อนไหวเพียง ๑ วินาทีได้อย่างไร พวกเขาเอาแรงงาน และความเพียรพยายามมาจากไหน
       บางคนสงสัยว่าทำไมตัวการ์ตูนอเมริกันสมัยเริ่มแรก จึงดูเหมือนมิคกี้เมาส์ไปหมด คือเป็นแท่งมนๆสีดำ มีแขนมีขา มีตามีหู ขยับไปมาได้ดูน่ารำคาญมากกว่าน่ารัก ทั้งหมดที่เห็นนั้นอยู่รอดมาจนเป็นการ์ตูนแสนน่ารักเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร

 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๒ Felix the Cat 
       "ตามหาการ์ตูน" ในตอนนี้จะช่วยให้เราพบคำตอบซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับสภาพสังคมและวัฒนธรรมในตอนต้นศตวรรษที่ ๒๐
       บุคคลสำคัญสี่คนแรกคือ Winsor McCay, Raoul Barre, Earl Hurd และ John Rudolph Bray ซึ่งเป็นสี่คนที่ได้เริ่มต้นสร้างหนังการ์ตูน ปรับปรุงเทคโนโลยี และทำให้มันเข้มแข็งในด้านการตลาด จนอาจกล่าวได้ว่าเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้
       คนสำคัญที่สุดคือ วินเซอร์ แม็กเคย์ เกิดเมื่อ ๒๖ กันยายน ๑๘๖๗ เขาเป็นศิลปินโดยกำเนิดอย่างแท้จริง สามารถเขียนรูปวาดรูปได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างมีความสุข โดยไม่สนใจคำวิจารณ์ของคนรอบข้างแต่อย่างใด
       เขาเริ่มงานอาชีพด้วยการรับจ้างเขียนโปสเตอร์ ก่อนที่จะไปทำงานหนังสือพิมพ์ และเขียนการ์ตูนช่องให้แก่หนังสือพิมพ์ในที่สุด ผลงานชิ้นสำคัญของเขาที่รู้จักกันดีคือ Little Nemo in Slumberland ปี ๑๙๐๕
       เมื่อถึงปี ๑๙๐๙ เขาสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของอะนิเมชั่นในเวลาต่อมา นั่นคือ flipper คือภาพการ์ตูนที่เย็บเป็นเล่ม เพื่อนำมาเปิดเร็วๆ แล้วจะเห็นการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน ผลงานชิ้นนี้จะแถมไปกับหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์
       กล่าวเฉพาะการ์ตูนช่องของ วินเซอร์ แม็กเคย์ ก็ต่างจากนักเขียนการ์ตูนคนอื่น ขณะที่นักเขียนการ์ตูนทั่วไปมักเขียนกรอบต่อกรอบ ให้มีการดำเนินเรื่องไปค่อนข้างเร็ว แต่แม็กเคย์มักจะย่ำอยู่กับที่เพื่อเก็บรายละเอียดค่อนข้างมาก
       ยกตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง Sammy Sneeze ปี ๑๙๐๕ เขาใช้ถึงสี่กรอบในการวาดหน้าตาของตัวการ์ตูนก่อนที่จะจาม ตั้งแต่สูดลม ย่นจมูก ย่นหน้า อ้าปาก แล้วค่อยจามในกรอบที่ ๕ ตามด้วยการถอนหายใจในกรอบที่ ๖ ทั้งหมดนี้เข้าใกล้อะนิเมชั่นอยู่ก่อนแล้ว
       เมื่อถึงเดือนเมษายน ปี ๑๙๑๑ เขาฉายหนังการ์ตูนเรื่องแรกของโลกคือ Little Nemo ซึ่งเป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูนต่าง ๆ จากการ์ตูนช่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเอง เขาเขียนภาพทั้งหมดประมาณ ๔,๐๐๐ ภาพ โดยใช้หมึกอินเดียนอิ๊งค์วาดบนกระดาษ และใช้กรอบไม้ในการตรึงภาพ เสร็จแล้วนำไปถ่ายด้วยฟิล์มภาพยนตร์ที่สตูดิโอ
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๓ Flowers and Trees
       เขาสร้างหนังการ์ตูนเรื่องที่ ๒ คือ How a Mosquito Operates ในปีถัดมา ตามด้วยอะนิเมชั่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องเป็นเรื่องแรกคือ Gertie the Dinosaur (๑๙๑๔ รูปที่ ๑) อันจะเป็นหนังการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจ และชักนำให้เด็กหนุ่มจำนวนมาก ก้าวเข้าสู่วงการอะนิเมชั่น และช่วยกันพัฒนาหนังการ์ตูนในเวลาต่อมา
       เมื่อถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๑๙๑๕ เรือดำน้ำเยอรมันยิงตอร์ปิโดเข้าใส่เรือลูสิตาเนีย ที่นอกฝั่งประเทศไอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิต ๑,๑๙๘ คน เป็นชาวอเมริกัน ๑๒๔ คน แม็กเคย์เขียนภาพ ๒๕,๐๐๐ ภาพเพื่อแสดงเหตุการณ์ดังกล่าว 
       เพียงสี่ปีหลังการฉายเกอร์ตีเดอะไดโนซอร์ สตูดิโอมากมายก็ผุดขึ้น เพื่อสร้างหนังการ์ตูนป้อนตลาด หากเป็นแม็กเคย์ เขาจะใช้เวลาหลายเดือนในการผลิตการ์ตูนสักหนึ่งเรื่อง แต่สำหรับสตูดิโอเหล่านี้มักใช้วิธีเพิ่มศิลปิน และเร่งผลงานให้ออกสู่ตลาดเร็วที่สุด
       ราอูล แบร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอเพื่อผลิตอะนิเมชั่นเป็นคนแรกในปี ๑๙๑๓ ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานในฝรั่งเศส แคนาดา และอเมริกา 
       สตูดิโอของเขาให้โอกาสนักวาดการ์ตูนปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอะนิเมชั่น หนึ่งในนั้นคือ การใช้หมุดตรึงกระดาษให้ติดแน่นกับที่ เพื่อช่วยลดความคลาดเคลื่อน ในการกำหนดตำแหน่งของทั้งฉากหลังและตัวการ์ตูน 
       การวาดภาพฉากหลังในช่วงแรกต้องวาดซ้ำ ๆ อยู่เช่นนั้นทุกแผ่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวาดครั้งเดียวแล้วใช้วิธีตัดกระดาษเป็นรูปตัวการ์ตูนเข้าช่วย บางครั้งศิลปินก็จะใช้วิธีวาดฉากหลังให้ยาวมากเข้าไว้ แล้วอาศัยการเลื่อนฉากหลัง เพื่อสร้างภาพการเคลื่อนไปข้างหน้าของตัวการ์ตูน
       ประมาณว่าครึ่งหนึ่งหรืออาจจะถึงสองในสามของการ์ตูนขาวดำยุคหนังเงียบเหล่านี้ ที่เสื่อมสภาพหรือหายสาบสูญไป ทั้งนี้เป็นเพราะมีศิลปินจำนวนมากมายได้ลงแรง และทดลองเทคนิคต่างๆ เพื่อการผลิตที่ดีที่สุด และเร็วที่สุด
       ราอูล แบร์ ต้องออกจากสตูดิโอที่เขาสร้างมากับมือในปี ๑๙๑๙ ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกับ Pat Sullivan ในปี ๑๙๒๖ เพื่อสร้างหนังการ์ตูนที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคหนังเงียบนั่นคือ Felix the Cat ผลงานปี ๑๙๑๙ ของ Otto Messmer (รูปที่๒)
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๔ Oswald the Lucky Rabbit
       เอิร์ล เฮิร์ด เป็นคนแรกที่ริเริ่มใช้แผ่นเซลลูลอยด์ใสในการวาดการ์ตูน เพื่อนำไปถ่ายทำเป็นอะนิเมชั่น เรียกแผ่นเซลลูลอยด์นี้ว่า cel ซึ่งจะเป็นมาตรฐานของการสร้างหนังการ์ตูนตลอดทั้งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้ประวัติของ เอิร์ล เฮิร์ด มากไปกว่านี้อีกเลย 
       บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น เฮนรี ฟอร์ด แห่งวงการอะนิเมชั่น คือ จอห์น แรนดอล์ฟ เบรย์ เขาเป็นคนแรกที่จับงานผลิตหนังการ์ตูนอย่างครบวงจร ทั้งการผลิตและการจัดจำหน่าย เขาดูแลศิลปิน ก่อตั้งสตูดิโอ ถ่ายทำเป็นหนังการ์ตูน และจดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีการสร้างอะนิเมชั่นทุกขั้นตอน 
       การจดลิขสิทธิ์ของเบรย์ทำให้ใครที่คิดจะสร้างหนังการ์ตูนต้องขออนุมัติจากเขาก่อน เรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ผู้สร้างหลายราย โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ เกิดขึ้นจากการพัฒนาของแม็กเคย์ ราอูล และเฮิร์ดเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามกว่าที่ลิขสิทธิ์ของเบรย์จะหมดอายุ และอะนิเมชั่นกลายเป็นสมบัติสาธารณะก็เป็นปี ๑๙๓๒
       สตูดิโอของเบรย์สร้างหนังการ์ตูนสีเรื่องแรกของโลกคือ The Debut of Thomas Cat ปี ๑๙๒๐ เรียกเทคโนโลยีการลงสีนี้ว่า Brewster Color ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างเงียบเชียบ เทียบกันไม่ได้เลยกับคุณภาพและชื่อเสียงที่ดิสนีย์ได้รับจากหนังการ์ตูนสี Technicolor เรื่องแรกของโลกคือ Flowers and Trees หรือ พฤกษามาลี ปี๑๙๓๒ (รูปที่ ๓)
       ก่อนที่ดิสนีย์จะมา ศิลปินอะนิเมชั่นจำนวนมาก ยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากนัก กับเนื้อเรื่องของหนังการ์ตูนในยุคขาวดำ และไม่มีเสียงเหล่านี้ พวกเขาไม่มีบท ไม่มีสตอรีบอร์ด มีเพียงมุข (gag) และความพยายามที่จะสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ดูดีที่สุดเท่านั้นเอง
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๕ Steamboat Willie
       วอลต์ ดิสนีย์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ปี ๑๙๐๑ เขาและเพื่อนรักคนสำคัญ Ub Iwerks ร่วมงานกันมาตั้งแต่อายุ ๑๘ พวกเขาสร้าง Little Red Riding Hood เมื่อปี ๑๙๒๒ และ Alice's Wonderland เมื่อปี ๑๙๒๓ แล้วสร้าง Alice เป็นซีรีส์นักแสดงผสมอะนิเมชั่นอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งปี ๑๙๒๖ ไอเวิร์กสร้างการ์ตูนดังตัวแรกให้แก่วอลต์นั่นคือ Oswald the Lucky Rabbit (รูปที่ ๔) 
       เพียงไม่นานวอลต์ก็เสียออสวอลด์ให้แก่สตูดิโออื่น เพราะความอ่อนด้อยทางธุรกิจ จึงเป็นเวลาที่เขาและไอเวิร์กส์ สร้างมิคกี้เมาส์ กำเนิดมิคกี้เมาส์บนรถไฟ สร้างความสนใจให้แก่สาธารณชนมากพอ ๆ กับรูปร่างของเขา นอกจากนี้มิคกี้เมาส์ยังสร้างประวัติศาสตร์ให้ตนเอง เมื่อดิสนีย์และไอเวิร์กส์สร้างหนังเสียงให้แก่มิคกี้คือ Steamboat Willie (๑๙๒๘) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังการ์ตูนเสียงเรื่องแรก (รูปที่ ๕)
       อันที่จริง Max Fliescher เคยสร้าง Song Car-Tunes เป็นหนังเสียงเรื่องแรกในปี ๑๙๒๔ แต่ไม่เป็นที่สนใจ ต่างกันกับหนังเสียงของมิคกี้เมาส์ที่ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม
       หลังจากนี้ดิสนีย์ได้สร้างการ์ตูนสั้นหลายเรื่อง ที่รู้จักกันดีคือ ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling, ๑๙๓๑) พฤกษามาลี (Flowers and Trees, ๑๙๓๒) ลูกหมูสามตัว (The Three Little Pigs, ๑๙๓๓) กระต่ายกับเต่า (The Tortoise and The Hare, ๑๙๓๕) ลูกแมวสามตัว (Three Orphan Kitten, ๑๙๓๕) หนูบ้านนอก (The Country Cousin, ๑๙๓๖) และโรงสีร้าง (The Old Mill, ๑๙๓๗) 
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๖ Betty Boop
       ความสำคัญของ วอลต์ ดิสนีย์ และสตูดิโอของเขาโดยย่อ ๆ คือ เขาเป็นคนแรกในหลาย ๆ กรณี สตีมโบตวิลลี่นำแสดงโดยมิคกี้เมาส์ ได้ชื่อว่าเป็นการ์ตูนเสียงเรื่องแรก โดยวอลต์เป็นผู้ให้เสียงมิคกี้ด้วยตนเอง พฤกษามาลี เป็นการ์ตูนสีเป็นเรื่องแรก ลูกหมูสามตัว เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่กำหนดบุคลิกของตัวการ์ตูนด้วยท่าทางมิใช่ด้วยหน้าตา โรงสีร้าง เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ทดลองใช้เทคนิคของกล้องมัลติเพลน เพื่อสร้างระยะชัดลึกก่อนที่จะนำไปใช้อย่างเต็มที่กับพิน็อกคิโอ เขาใช้ภาพเขียนโบราณของยุโรปเป็นต้นแบบในการวาดหลายฉากของสโนว์ไวท์ และทำให้การ์ตูนเรื่องยาวถัดมาอีกหลายเรื่อง ได้รับอิทธิพลของศิลปะยุโรปผสมไปด้วยไม่มากก็น้อย
       เขาสร้าง Silly Symphomy ไว้มากมายก่อนที่จะสร้างมาสเตอร์พีซเช่นแฟนตาเซีย ในที่สุด เขาเป็นคนแรกที่ให้ความสำคัญกับบทหนังอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการที่เขาไม่ยอมเพิ่มความยาวของดัมโบ ตามคำแนะนำของใคร ๆ เพราะดัมโบ มีบทหนังที่ลงตัวดีที่สุดแล้ว ทรามวัยกับไอ้ตูบ ถ่ายทำในระบบซีเนมาสโคปเป็นครั้งแรก เจ้าหญิงนิทรา ถูกฉายด้วยจอกว้าง ๗๐ มิลลิเมตรเป็นครั้งแรก เขาใช้เทคโนโลยี xenography เพื่อสร้างจุดของหมาดัลเมเชี่ยนซ้ำ ๆ ใน ทรามวัยกับไอ้ด่าง ใช้เสียงพากย์มาเป็นเกณฑ์กำหนดบุคลิกของตัวการ์ตูนในเมาคลีลูกหมาป่า ให้ความสำคัญกับกายวิภาค กิริยาท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้าของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานางมารร้ายทั้งหลาย เช่น ราชินีใจร้ายของสโนว์ไวท์ เมลฟิเซ็นต์ของเจ้าหญิงนิทรา ครุเอลลาเดวิลในทรามวัยกับไอ้ด่าง ดิสนีย์เก็บรายละเอียดที่ผู้สร้างรายอื่นอาจจะมองข้ามเช่น ท่าเดินของลูกกวางแบมบี ท่าเดินของสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ในทรามวัยกับไอ้ตูบ รวมทั้งท่าเกาหูของลูกสุนัข แม้กระทั่งมุมของแสงเงาที่ตกทอดไปตามพื้นดินก็ถูกวัด และวาดตามนั้นอย่างแม่นยำ
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๗ Gulliver's Travels
       วอลต์ ดิสนีย์ ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ปี ๑๙๖๖ ก่อนที่เมาคลีลูกหมาป่า จะออกฉาย
       ขณะที่ดิสนีย์กำลังพัฒนาให้อะนิเมชั่นเป็นงานศิลปะที่งดงามสมบูรณ์มากที่สุด สตูดิโออื่นก็พัฒนาอะนิเมชั่นไปในทิศทางของตนเองด้วยเช่นกัน เป็นที่ยอมรับว่า แรงบันดาลใจของศิลปินเกือบทุกคนคือการ์ตูนของดิสนีย์ เมื่อไรก็ตามที่การ์ตูนดิสนีย์ออกฉาย ทุกคนจะรีบแห่กันไปดู
       ชัค โจนส์ ศิลปินคนสำคัญของวอร์เนอร์ยอมรับว่า "ทุกคนลอกดิสนีย์" แต่หลายคนก็นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามรูปแบบของตน
       ในบรรดาสตูดิโอต่าง ๆ สมัยนั้น สตูดิโอของห้าพี่น้อง Fleischer เป็นตัวของตัวเองมากกว่าเพื่อน Max Fleischer และ Dave Fleischer เป็นศิลปินที่ได้รับอิทธิพลมาจาก วินเซอร์ แม็กเคย์ โดยตรง แม็กซ์คือผู้ประดิษฐ์และจดลิขสิทธิ์ Rotoscope เพื่อใช้กำหนดความแม่นยำของการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน โดยอาศัยหลักการของม้วนฟิล์มภาพยนตร์ และเครื่องฉายที่จัดวางไว้หลังฉากที่จะใช้วาด
       แม็กซ์สร้างตัวการ์ตูน Koko ซึ่งเป็นตัวตลก และเป็นดาราการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่มิคกี้เมาส์จะมาถึง หลังจากนั้นแม็กซ์คิดค้นตัวการ์ตูนตัวใหม่ให้แก่พาราเมาท์ นั่นคือสุนัข Bimbo และสาวน้อย Betty Boop ในปี ๑๙๓๐ ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนหญิงคนแรกสำหรับอะนิเมชั่น (รูปที่๖)
       เบ็ตตี้ประสบความสำเร็จ ทั้งสองคือ เบ็ตตี้และบิมโบจับคู่กันแสดงในหนังการ์ตูนหลายเรื่อง แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแปลกประหลาด ของคู่พระคู่นางที่เป็นคนกับหมาอยู่บ้างก็ตาม บิมโบมิได้เป็นหมาตามท้องเรื่อง แต่เขารับบทพระเอกของเนื้อเรื่อง ในแบบเดียวกับที่พระเอกฮอลลีวูดเป็นกัน
       เมื่อเปรียบเทียบกับดิสนีย์ที่สนใจการเล่าเรื่องอย่างมาก แม็กซ์ให้ความสำคัญกับการแสดงออกของตัวการ์ตูนเสียมากกว่า ยกตัวอย่าง Snow White ปี ๑๙๓๓ ของเขา ราชินีใจร้ายถามกระจกวิเศษว่าใครสวยที่สุด กระจกวิเศษตอบว่าหล่อนสวยที่สุด แต่เมื่อเบ็ตตี้เดินเข้ามา มันจูบเบ็ตตี้แล้วตอบใหม่ว่าเบ็ตตี้สวยที่สุด
       ราชินีสั่งให้บิมโบและโคโคนำเบ็ตตี้ไปตัดหัว สองสหายมิได้ทำตามคำสั่งแต่กลับพาเบ็ตตี้หนีไป ทั้งสามกลิ้งลงเขาพร้อมกับก้อนหิมะขนาดยักษ์จนไปพบคนแคระทั้งเจ็ดที่อาศัยในกระท่อมน้ำแข็ง ราชินีแปลงร่างติดตามไป
       หลังจากการผจญภัยแสนประหลาดพิกล ราชินีกลายร่างเป็นมังกรร้าย บิมโบลากลิ้นของมันออกมาจนมังกรหนังกลับ หนังจบลงเมื่อสามสหายเต้นรำด้วยกันอย่างมีความสุขท่ามกลางหิมะ
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๘ Woody Woodpecker
       กะลาสี Popeye ของ EC Segar ปรากฏตัวในรูปแบบอะนิเมชั่นครั้งแรก เป็นดารารับเชิญของเบ็ตตี้ในปี ๑๙๓๓ ลักษณะภายนอกของป๊อปอายและพรรคพวกของเขา เหมาะมากที่จะทำเป็นอะนิเมชั่นของแม็กซ์ ลองนึกภาพความประหลาดของ โอลีฟ สวีทพี วิมปี และความพิสดารของยูยีนเดอะจี๊ป อลิซเดอะกูน แม่มดทะเลซีแฮ็ก จะเห็นว่าแตกต่างจากตัวการ์ตูนของดิสนีย์อย่างเห็นได้ชัด
       สำหรับบรูตัสปรากฏตัวช่วงสั้น ๆ ในการ์ตูนช่องของป๊อปอายปี ๑๙๓๒ แต่บลูโตจะเป็นตัวการ์ตูนอะนิเมชั่นโดยเฉพาะ แม็กซ์ขอให้ซีการ์สร้างคู่ปรับสำหรับตั๊นหน้าป๊อปอายคนใหม่ ซีการ์มอบหน้าที่นี้ให้แก่ Bud Sagendorf ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลการ์ตูนช่องของป๊อปอายตั้งแต่ปี ๑๙๓๘ เป็นต้นไป ซาเก็นดอร์ฟสร้างบลูโต
       เนื้อเรื่องของป๊อปอายในแต่ละตอนง่ายมาก ป๊อปอายและบลูโตแย่งโอลีฟ ต่อยกันยกแรกป๊อปอายแพ้ ป๊อปอายกินผักโขมแล้วตั๊นหน้าบลูโต กระเด็นไป จบตอน แต่ละตอนจะต่างกันก็ที่รายละเอียด
       ถึงปี ๑๙๓๘ โพลแสดงความนิยมพบว่าป๊อปอายชนะมิคกี้เมาส์ ทำให้แม็กซ์กล้าลงทุนสร้างป๊อปอายเป็นการ์ตูนสีถึงสามเรื่องคือ Popeye the Sailor Meets Sinbad the Sailor (๑๙๓๖), Popeye Meets Ali Baba and His Forty Thieves (๑๙๓๗) และ Aladdin and His Wonderful Lamp (๑๙๓๙) ทั้งสามเรื่องใช้เนื้อเรื่องดั้งเดิมนิดเดียว แต่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมอย่างมาก
       เมื่อผลงานที่ใช้เวลาสร้างสามปีอย่างสโนว์ไวท์ของดิสนีย์ออกฉายในปี ๑๙๓๙ และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม พาราเมาท์ก็ลงทุนให้แม็กซ์สร้าง Gulliver's Travels (รูปที่ ๗) โดยใช้เวลาเพียงปีครึ่ง กัลลิเวอร์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีทั้งวีรบุรุษหรือปีศาจร้ายแท้ๆ ไม่มีเนื้อเรื่องที่บาดอารมณ์หรือกินใจในแบบของสโนว์ไวท์ แต่ที่สำคัญคือ มันไม่ใช่งานอะนิเมชั่นในสไตล์ของแม็กซ์ ที่เน้นความหวือหวาของตัวการ์ตูน มากกว่าการดำเนินเรื่อง
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๙ Bosko
       แม็กซ์สร้างชื่อเสียงอีกครั้ง เมื่อสร้างซูเปอร์แมนเป็นหนังการ์ตูนในปี ๑๙๔๑ ก่อนที่สตูดิโอของเขาจะตกเป็นของพาราเมาท์ในที่สุด แม็กซ์และเดฟก็มีปัญหาระหว่างกันไม่สามารถทำงานด้วยกันได้อีก เป็นการปิดฉากสตูดิโอที่พยายามวัดรอยเท้าดิสนีย์มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการ์ตูนเงียบ
       สำหรับ Ub Iworks ซึ่งแยกทางจากดิสนีย์เมื่อประมาณต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ก็ไปสร้างสตูดิโอผลิตหนังการ์ตูนของตนเอง จนถึงปี ๑๙๔๐ จึงกลับมาอยู่กับดิสนีย์อีกครั้ง แม้ว่ามิตรภาพระหว่างเขากับวอลต์จะไม่เหมือนเดิม แต่เขาก็ทำงานให้แก่ดิสนีย์อีก ๓๑ ปีและถึงแก่กรรมในปี ๑๙๗๑ ผลงานที่สำคัญของเขาคือเทคโนโลยี xenography ที่ใช้สร้างจุดจำนวนเป็นล้านให้แก่ดัลเมเชี่ยนในทุกฉากของทรามวัยกับไอ้ด่าง
       เมื่อสตูดิโอของเบรย์ปิดตัวลงในปี ๑๙๒๗ ศิลปินคนสำคัญคือ Walter Lantz ไปทำงานให้แก่ยูนิเวอร์แซลซึ่งถือลิขสิทธิ์ของกระต่ายออสวอลด์อยู่ แลนซ์จึงเป็นคนดูแลออสวอลด์ในเวลาต่อมา แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาคือ ตัวการ์ตูนอีกตัวที่ดังไปทั่วโลกคือหัวขวานเจ้าเล่ห์ Woody Woodpecker ปี๑๙๔๐ (รูปที่๘) เจ้าของเสียงหัวเราะบาดหูบาดอารมณ์ วูดดี้เป็นตัวการ์ตูนที่ได้ชื่อว่าโหด และก้าวร้าวเป็นตัวแรกของโลก ก่อนที่ไอ้ตัวร้ายของจริงสองตัวคือแด๊ฟฟี่ดั๊ก และบั๊กส์บันนี่จะถือกำเนิดขึ้นที่วอร์เนอร์
       วอร์เนอร์และเอ็มจีเอ็มเป็นอีกสองสตูดิโอ ที่ท้าชิงกับดิสนีย์มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นตัวจักรสุดท้ายที่พาการ์ตูนอเมริกัน ไปสู่รูปลักษณ์ที่แตกต่างจากดิสนีย์อย่างสิ้นเชิง นั่นคือโหดมันฮามากกว่ามาก
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๐ Porky's Duck Hunt
       อย่างไรก็ตามทั้งสองสตูดิโอก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ด้วยฝีมือของศิษย์เก่าดิสนีย์สองคนคือ Hugh Harman และ Rudy Ising ทั้งคู่ทำงานกับดิสนีย์ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๒๐ มีส่วนสำคัญในการผลิตซีรีส์อลิซและออสวอลด์
       ฮาร์แมนและไอส์ซิ่งสร้างตัวการ์ตูนใหม่คือ Bosko โดยให้ Leon Schlesinger จัดจำหน่าย ลีออนทำงานโดยผ่านวอร์เนอร์บราเธอร์สอีกต่อหนึ่ง ตัวการ์ตูนบอสโกประสบความสำเร็จพอสมควรทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นตัวอะไร (รูปที่๙)
       ตัวการ์ตูนในยุคแรกดูเหมือนๆ กันไปหมด รูปร่างเป็นหลอดสีดำมน ๆ มีแขนขา มีหัวกลม ลูกตากลมและใบหู หูแหลมเป็นแมวเฟลิกซ์ หูยาวเป็นกระต่ายออสวอลด์ หูกลมเป็นมิคกี้เมาส์ แต่สำหรับบอสโกแล้วไม่รู้เขาเป็นตัวอะไรกันแน่
       นักจิตวิเคราะห์เชื่อว่าแท่งกลมมนอันเป็นรากฐานของตัวการ์ตูนในยุคแรก ๆ นั้นเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวอเมริกันทั้งมวล
       บอสโกปรากฏตัวใน Looney Tune ตอนแรก Sinkin' in the Bathtub เดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๓๐ ฮาร์แมนเป็นคนดูแลลูนนี่ตูน ขณะที่ไอส์ซิ่งดูแลการผลิตการ์ตูนเพลง Merrie Melodies ซึ่งเริ่มตอนแรกในปี ๑๙๓๑ ชัดเจนว่าเพื่อแข่งขันกับ Silly Symphony ของดิสนีย์โดยเฉพาะ
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๑ Porky's Hare Hunt
       ถึงปี ๑๙๓๓ ฮาร์แมนและไอซิ่งแยกทางกับชเลซิงเจอร์ ชเลซิงเจอร์ยังคงผลิตเมอร์รี่เมโลดีต่อไป โดยทำเป็นการ์ตูนสีตั้งแต่ปี ๑๙๓๔ ส่วนลูนนี่ตูนนั้นกว่าจะเป็นสีก็เป็นปี ๑๙๔๓ ตอนที่ฮาร์แมนและไอซิ่งผละจากวอร์เนอร์ เขานำบอสโกไปด้วย จึงไม่มีบอสโกในลูนนี่ตูนอีก
       ถึงปี ๑๙๓๕ ศิลปินคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ Friz Freleng สร้าง Porky Pig ให้แก่ลูนนี่ตูนและนับเป็นลูนนี่ตูนตัวแรกที่ประสบความสำเร็จ ในปีถัดมาวอร์เนอร์ได้ศิลปินอะนิเมชั่นที่สำคัญอีกสามคนมาร่วมงานด้วยคือ Frank Tashlin ,Carl Stalling และ Frederick "Tex" Avery 
       แทชลินเป็นคนสำคัญที่ช่วยสร้างลูนนี่ตูนอีกหลายตัวในภายหลัง ส่วนสตอลลิ่งคือนักแต่งเพลงให้แก่หนังการ์ตูนเสียงเรื่องแรก Steamboat Willie เขาผละจากดิสนีย์ไปพร้อมกับไอเวิร์กส์ก่อนที่จะมาทำงานที่วอร์เนอร์ เท็กซ์คือบุคคลสำคัญที่นำลูนนี่ตูนไปสู่โลกแห่งความเร็ว และความรุนแรงอย่างแท้จริงในเวลาต่อมา
       เจ้าวายร้าย Daffy Duck ปรากฏตัวครั้งแรกใน Porky's Duck Hunt ปี ๑๙๓๗ (รูปที่๑๐) เป็นตัวการ์ตูนที่หฤโหด ไม่ปรานีและบ้าสุด ๆ สำหรับคู่โหด Bugs Bunny จะมาใน Porky's Hare Hunt ปี ๑๙๓๘ (รูปที่๑๑) และพบกับ Elmer Fudd ใน A Wild Hare ปี ๑๙๔๐ เป็นการเริ่มต้นวลีสำคัญของลูนนี่ตูนนั่นคือ "Eh, what's up, Doc?" 
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๒ Tom&Jerry
       ชเลซิงเกอร์ส่งศิลปินอะนิเมชั่นสองคนไปช่วยงานไอเวิร์กเมื่อสตูดิโอของไอเวิร์กกำลังลำบาก พอไอเวิร์กใกล้ปิดตัว คนทั้งสองคือ Bob Clampett และ Chuck Jones ก็กลับมาช่วยสร้างลูนนี่ตูน 
       บ๊อบ แคลมป์เพ็ต สร้าง Porky in Wackyland ปี ๑๙๓๘ ป๊อกกี้บินผ่านกาฬทวีป ผ่านกาฬทวีปยิ่งกว่า จนถึงกาฬทวีปที่สุด เพื่อตามหานกโดโด เป็นการ์ตูนที่จินตนาการเพริศแพร้วด้วยสัตว์พิสดารมากมายในแว็กกี้แลนด์ ที่ไม่มีใครลืมคือเจ้าตัวครึ่งหมาครึ่งแมวที่กัดกันเองตลอดเวลา
       ชัค โจนส์ เป็นศิลปินลูนนี่ตูนที่ได้รับอิทธิพลมาจากดิสนีย์มากที่สุด เขามีส่วนสำคัญในการดูแลลูนนี่ตูน และพัฒนารูปร่างของตัวการ์ตูนซึ่งดูน่าเกลียดในตอนแรกๆ ให้ดูดีขึ้นในเวลาต่อมา
       ศิลปินของวอร์เนอร์เป็นกองทัพยิ่งใหญ่ ที่ผลิตลูนนี่ตูนด้วยความสนุกสนานและมานะบากบั่น อันที่จริงศิลปินอะนิเมชั่น ล้วนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรมากที่สุด เพราะพวกเขาต้องวาดรูปเดิมซ้ำๆ เป็นจำนวนหลายหมื่นหลายแสนภาพ เพื่อให้ตัวการ์ตูนวิ่งบนจออย่างดีที่สุด บางคนทำด้วยใจรัก แต่หลายคนก็ทำด้วยความจำเป็นบังคับ เพราะเรื่องค่าครองชีพในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๓ Mighty Mouse
       สำหรับฮาร์แมนและไอซิ่ง ซึ่งแยกทางจากชเลซิงเกอร์ไปอยู่กับเอ็มจีเอ็มตั้งแต่ปี ๑๙๓๔ ไม่สามารถสร้างผลงานเด่นได้ในช่วงแรก เอ็มจีเอ็มจ้าง Fred Quimby เข้ามาดูแลการผลิตอะนิเมชั่น ทั้งที่ควิมบีได้ชื่อว่าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการ์ตูนเลย อีกทั้งเป็นคนไม่มีอารมณ์ขันอีกต่างหาก 
       ฟริซผละจากวอร์เนอร์มาช่วยเอ็มจีเอ็มอยู่พักหนึ่ง ก็ต้องกลับไปวอร์เนอร์ใหม่ โดยยอมรับเงินเดือนน้อยกว่าเดิม เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของ ควิมบี อย่างไรก็ตามควิมบีได้จ้างศิลปินหน้าใหม่จำนวนมากรวมทั้ง Joseph Hanna และ William Barbera ด้วย
       เมื่อควิมบีสั่งให้ไอซิ่งผลิตการ์ตูนสั้นเพิ่มมากขึ้น ไอซิ่งก็สั่งให้บิลและโจเขียนการ์ตูนเรื่องใหม่ออกมา
       บิล ฮันนาสร้าง Captain and the Kids ในปี ๑๙๓๘ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เขาร่วมมือกับ โจ บาร์เบร่า สร้าง Puss Gets the Boot ในปี ๑๙๓๙ โดยที่บิลรับหน้าที่เขียนเรื่อง โจทำหน้าที่เขียนรูป ผลงานชิ้นนี้เป็นที่นิยมมากและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ สำหรับการ์ตูนสั้นอีกด้วยแต่ก็พลาดไป
 (คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๔ Heckle&Jeckle
       การ์ตูนเรื่องนี้คือต้นกำเนิดของ Tom&Jerry (รูปที่๑๒) ในเวลาต่อมา เนื้อเรื่องเกี่ยวกับแม่บ้าน ซึ่งจะปรากฏเป็นเพียงสองขาเดินไปมา สั่งให้แมวเฝ้าบ้านขณะที่หล่อนออกไปข้างนอก เจ้าหนูได้ยินเข้าก็ออกอาการก่อกวนไปทั่วบ้าน จนแมวต้องหัวหมุน และกระเด็นออกจากบ้านไปในที่สุด
       ความสำเร็จของตอนแรกนี้ทำให้บิลและโจต้องสร้างตอนที่ ๒ และ ๓ คือ The Midnight Snack และ The Night Before Christmas ตามออกมาในปี ๑๙๔๑ คราวนี้แมวชื่อทอม ส่วนหนูชื่อเจอรี่ สำหรับ Puss Gets the Boot จะถูกสร้างใหม่ให้ชื่อว่า Mouse Cleaning ในปี ๑๙๔๙ 
       ทอมกับเจอรี่กลายเป็นตำนานแห่งความเร็ว ความรุนแรง และความสำเร็จของเอ็มจีเอ็มสตูดิโอ 
       ตัวการ์ตูนอีกตัวหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึง Mighty Mouse (รูปที่๑๓) เป็นผลงานของศิลปิน I. Klein ที่สร้างให้แก่เทอร์รี่สตูดิโอของ Paul Terry จัดจำหน่ายโดยฟ็อกซ์ 
       ตอนแรกของเขาคือ The Mouse of Tomorrow ปี ๑๙๔๒ โดยใช้ชื่อว่าซูเปอร์เมาส์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นไมตี้เมาส์ปี ๑๙๔๔ เนื้อเรื่องง่าย ๆ ก๊วนแมวไล่รังแกประชาคมหนู ไมตี้เมาส์เหาะมาช่วยเหลือในตอนจบแล้วก็จากไป ไมตี้เมาส์ได้ชื่อว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่มีภาคปรกติ ไม่มีที่มาที่ไป เขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่มีชีวิตส่วนตัวให้ได้ชมเอาเสียเลย
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ ๑๕ Casper
       วายร้ายโหดมันฮาของเทอรรี่สตูดิโอคือ นกแม็กพายสีดำสองตัว Heckle&Jeckle ใน The Talking Magpies ปี ๑๙๔๖ (รูปที่๑๔) ตัวหนึ่งพูดด้วยสำเนียงบร็องซ์ อีกตัวด้วยสำเนียงอังกฤษ นอกจากเสียงแล้วไม่มีใครรวมทั้งศิลปินที่วาดรู้ว่าใครเป็นใคร พวกเขารวมทั้งผู้ชมไม่รู้เลยว่าตัวไหนพูดด้วยสำเนียงอะไร 
       สำหรับผีน้อย Casper เขาเกิดที่พาราเมาท์ในตอนแรกที่ได้ชื่อว่า The Friendly Ghost ปี ๑๙๔๕ (รูปที่๑๕) ทำให้โลกการ์ตูนได้วลีสำคัญมาอีกหนึ่งคือ "A g-g-ghost" และนับเป็นการ์ตูนที่ดีที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปิดฉากใหม่ ๆ เรื่องราวง่าย ๆ อีกเช่นกัน ผีน้อยอยากมีเพื่อนแต่ไม่เคยหาได้จริง ๆ สักที
       ระหว่างนี้ บ๊อบ แคลมป์เพ็ต และ แฟรงก์ แทชลิน ย้ายไปอยู่กับโคลัมเบียช่วงสั้น ๆ แต่ก็ไม่มีงานเด่นอะไร ทั้งคู่จึงกลับมาวอร์เนอร์อีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่พลพรรคลูนนี่ตูน ลูนนี่ตูนจำนวนมาก ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรบกับดิสนีย์โดยเฉพาะ 
       ขณะที่ดิสนีย์ได้ชัยชนะกับการ์ตูนเรื่องยาว ด้วยการสร้างความงามสมบูรณ์แบบให้แก่งานอะนิเมชั่น ลูนนี่ตูนใช้บทหนังกับความสามารถส่วนตัวของตัวการ์ตูน เอาชนะการ์ตูนสั้นของมิคกี้ โดนัล และชิปกับเดลอย่างขาดลอยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หมาด ๆ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคที่อะนิเมชั่นจากสตูดิโอต่าง ๆ รุ่งเรืองถึงขีดสูงสุดของมัน
       ก่อนที่โทรทัศน์จะเริ่มแพร่ระบาดเข้าสู่ครัวเรือน