สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕ "บันทึกจากป่าตะวันตก กับการอยู่รอดของสัตว์ป่า"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


 คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
Modern Dog หมาพันธุ์ใหม่

     ทุกวันนี้คนไทยทิ้งขยะกันปีละประมาณ ๑๔ ล้านตัน และหลายปีที่ผ่านมาแนวโน้มก็ไม่ได้สูงขึ้นมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยัง ไม่ค่อยดีขึ้น ทำให้คนไทยพากันจับจ่ายซื้อของน้อยลงกว่าในอดีต 
     ในจำนวนขยะทั้งหมดนี้ ๔๐ เปอร์เซนต์ หรือประมาณ ๖ ล้านตัน เป็นขยะที่ทำด้วยกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ กระดาษใช้แล้ว ไปจนถึงหนังสือชนิดต่าง ๆ
     ขยะจึงเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง
     ผมเองก็ซึมซาบกับดัชนีชี้วัดแบบนี้พอควร จำได้ว่าช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ยังฟูฟ่องเต็มที่ ผมได้รับจดหมายขยะทางไปรษณีย์วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าห้าสิบฉบับ ตั้งแต่จดหมายเชิญชวนสมัครเป็นสมาชิกเครดิตการ์ด ประกันชีวิต ใบโฆษณาสินค้านานาชนิด ไปจนถึงจดหมายเชิญไปร่วมงานเปิดตัวสินค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยได้เปิดดู ผ่านลงถังขยะมากกว่า หรือไม่ก็นำเอาไปใช้พิมพ์เป็นกระดาษสองหน้า
     คงมีคนแบบผมที่ต้องทิ้งจดหมายขยะเหล่านี้ ลงถังขยะอย่างไร้ประโยชน์วันละหลายแสนฉบับ หรือหลายล้านฉบับก็ไม่อาจคาดเดาได้ ผมเองทำได้เพียงแค่นำกระดาษที่ลงขยะ รวบรวมให้บรรดาซาเล้งทั้งหลายเอาไปให้ขายโรงงานรับซื้อกระกาษเก่า เพื่อนำไปทำเยื่อกระดาษต่อไป
     จนเศรษฐกิจฟองสบู่แตกกระจายเมื่อห้าปีก่อน บรรดาจดหมายขยะเหล่านี้ก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่พอปีนี้จดหมายเหล่านี้ก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย
     ยอมรับว่าอาชีพของผมที่อยู่ในแวดวงคนทำหนังสือ อาจจะใช้กระดาษมากกว่าอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ผลิตออกมาปีละหลายแสนเล่ม หรือกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน แต่คงไม่มากเท่าคนอเมริกัน ผู้บริโภคกระดาษรายใหญ่ของโลก ที่ประเทศเดียวก็ใช้กระดาษถึงร้อยละ ๓๐ ของกระดาษทั้งหมดในโลกที่ผลิตออกมา
       กล่าวกันว่าพนักงานในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้กระดาษถ่ายเอกสาร และใช้กระดาษพิมพ์งานออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นจำนวนสูงถึงปีละ ๒ ล้านล้านแผ่น หรือเฉลี่ยแล้วพนักงานคนหนึ่งในสำนักงานใช้กระดาษถึงคนละ ๑๒,๐๐๐ แผ่นต่อปี 
     ฟังตัวเลขการใช้กระดาษของคนอเมริกันแล้ว ก็อย่าเพิ่งดีใจเข้าข้างตัวเองว่า คนไทยยังห่างไกลการใช้กระดาษฟุ่มเฟือย
     ผมมาเดินงานมหกรรมหนังสือที่ผ่านมา เห็นคนซื้อหนังสือมากมาย เห็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆเปิดใหม่ขึ้นมากกว่าเดิม เห็นสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่เปิดตัวหนังสือใหม่วันละหลายสิบปก เห็นใบปลิวเชิญชวนซื้อหนังสือเกลื่อนพื้น ใจหนึ่งก็ดีใจที่เห็นคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น
     แต่ใจหนึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าหนังสือที่ผลิตออกมากันมากมายขนาดนี้ จะคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติในโลกนี้ที่ต้องสูญเสียไป โดยเฉพาะต้นไม้ที่ตัดมาทำเยื่อกระดาษ และน้ำเสียจำนวนมากจากโรงงานทำกระดาษ อันเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก
     มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า แต่ละปีโรงงานทั่วโลกผลิตกระดาษทั้งสิ้นประมาณ ๓๐๐ ล้านตัน หรือนำมากองสูงขึ้นไปจากโลกถึงดวงจันทร์ แล้วทบกลับไปกลับมาได้ถึงแปดรอบ 
     กระดาษเหล่านี้ถูกนำมาทำหีบห่อบรรจุผลิตภัณฑ์ต่าง ๆถึง ๔๘ เปอร์เซนต์ เป็นกระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือจำนวน ๓๐ เปอร์เซนต์ เป็นกระดาษที่ใช้ทำหนังสือพิมพ์ ๑๒ เปอร์เซนต์ และเป็นกระดาษใช้ทำความสะอาดและใช้ในครัวเรือนอีก ๖ เปอร์เซนต์ 
     สุดท้ายกระดาษเหล่านี้เกินครึ่งหนึ่งเดินทางไปเป็นขยะล้นโลกอันไร้ค่าและ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลก
     ทุกครั้งที่ใช้กระดาษผลิตหนังสือออกมา ผมมักจะคิดถึงจดหมายขยะที่ผมทิ้งเสมอ มันเป็นเครื่องเตือนสติได้ดีว่า การเดินทางของหนังสือเล่มที่ผลิตออกมานั้นควรจะไปสิ้นสุดที่ใด
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com