สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕ "บันทึกจากป่าตะวันตก กับการอยู่รอดของสัตว์ป่า"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  

เ ฮ โ ล ส า ร ะ พ า


หมูอมตะ

คุณที่รัก

     "ขนมนี้นะ ถ้าห่อใบตอง เวลาบีบจะมันมาก แล้วก็มีสีหลายสีด้วย...ขาว ชมพู เขียวอ่อน ...โหย น้ำยายไหย สมัยเด็ก ๆ แม่ชอบซื้อมาให้กินก่อนไปโรงเรียนค่ะ กลับบ้านคราวที่แล้วไม่ได้กิน ถามแม่ค้าคนเก่าที่เคยขาย เขาว่าไม่ค่อยมีคนซื้อกิน เพิ่งจะรู้จาก "หมูอมตะ" ว่ากลายเป็นขนมโบราณแล้ว งั้นเราก็เป็นคนโบราณน่ะซี คิดว่าต้องเป็นขนมขี้หนูนะ บ้านเราเรียกอย่างนี้" 
     -สมาชิกเถื่อนในดัลลัส 
     แม่นแล้วจ้ะ มันคือขนมขี้หนู คำสุภาพเรียกว่า ขนมทราย มีคนตั้งชื่อให้ใหม่เสียไฮโซว่า ละอองฟ้า สมัยเป็นเด็กแม่ซื้อให้ "หมูอมตะ" กินเหมือนกัน แต่ใส่ถุงป๊าดกะติกมา เราก็เอาถุงมาหมุนให้เนื้อขนมอัดแน่นอยู่ที่ก้นถุง แล้วกัดมุมหนึ่งของถุง บีบถุงให้ขนมไหลแพร่ดออกมาเป็นแท่ง...อะหย่อยจริง ๆ พอจากบ้านนาเข้ามาเมืองฟ้าอมร หาขนมขี้หนูกินไม่ได้เลย วันหนึ่งไปเที่ยวศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า เขามีตลาดขนมไทย แค่เดินผ่านก็ต้องกลืนน้ำลายไปหลายอึก เพราะกลิ่นหอมของขนมอบอวล มีร้านหนึ่งขายขนมไทยจำพวกกล้วยบวชชี ปลากริมไข่เต่า ข้าวเหนียวเปียก ฯลฯ "หมูฯ" แวะไปทีไรต้องเบิ้ลสองถ้วย เอาให้คุ้ม (ที่จริงแล้วถ้วยขนมเขาเล็กน่ะ กิน ๆ อยู่ก็เกิดความจำหลงลืม ไม่รู้ว่าเมื่อกี้ตัวเองกินอะไรเข้าไป เลยต้องกินซ้ำอีกถ้วยให้แน่ใจ...อิอิ) ใกล้ ๆ ร้านขนมร้านนี้ มีขนมขี้หนูขายด้วย "หมูฯ" ก็เลยอุดหนุนเสียหน่อย เพราะไม่เห็นหน้ามานาน ว่าจะเอากลับบ้านไปบีบให้สาแก่ใจ ...คุณเอ๋ย ถึงบ้านแล้วคว้าขนมมาบีบเข้าปาก ก็งง ๆ อีกแล้วว่าเราซื้อขนมขี้หนู หรือซื้อข้าวตูหว่า ทำไมมันแข็งระคายปากอย่างนี่ล่ะ สรุปแล้วขนมขี้หนูกลายเป็นขนมโบราณที่หาอร่อย ๆ กินยากเสียแล้ว
     แถวบ้านใครมีขายบอกมาหน่อยสิ เอาเจ้าอร่อย ๆ นะ ไอ้ที่เอาข้าวตูมาปลอมขายว่าเป็นขนมขี้หนูน่ะ "หมูฯ" จะแจ้งเจ๊อุไปจับ ข้อหาทำลายวัฒนธรรมของชาติ

 

คำตอบที่ได้รับรางวัลจากปัญหาฉบับที่ ๒๑๑ เดือนกันยายน ๒๕๔๕

     มีผู้ตอบปัญหานี้ถูกเยอะมากกกก... มีเพียงรายเดียวที่ตอบว่าตะโก้ สงสัยบ้านคุณพี่ชอบบีบตะโก้ก่อนกิน...ฮ่า ฮ่า ผู้โชคดีได้รับหนังสือ ขนมแม่เอ๊ย ของ ส. พลายน้อย ไปอ่านให้น้ำลายไหน ได้แก่ 

๑. คุณวันทนีย์ พันธุ์วัฒน์ กรุงเทพฯ
๒. คุณธวัช บัวงาม จ. สุโขทัย
๓. คุณวัชราภา จรณศักดิ์สกุล กรุงเทพฯ
๔. คุณณรงค์ศักดิ์ มณีแสง กรุงเทพฯ
๕. คุณวิโรจน์ เจริญศักดิ์ จ. เพชรบูรณ์
 
 

ปัญหาฉบับที่ ๒๑๓ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕

 
 

    มหัศจรรย์ของเหรียญสลึง

     เดี๋ยวนี้เหรียญสลึง เหรียญ ๕๐ สตางค์กลายเป็นเหรียญใกล้สูญพันธุ์ จนกระเป๋ารถเมล์เล็ก (รถร่วมสีเขียว) เธอไม่ทอนให้ผู้โดยสารแล้ว ใครที่คิดจะจ่ายค่าโดยสาร ๓.๕๐ บาทตามราคาตั๋ว ก็จงหามาเอง และระวังอย่าให้เหรียญจิ๋วนั้นพลัดตกไปตามร่องนิ้วให้กระเป๋าฯ เธอค้อน ค่าที่ทำให้เสียเวลา ฉะนั้นเราเก็บเหรียญจิ๋วมาเล่นเกมกันดีกว่า จงนำเหรียญ ๖ อันมาเรียงตามภาพ แล้วจงสร้างวงกลมขึ้นโดยการย้ายเหรียญเพียง ๓ ครั้ง ให้ย้ายได้ครั้งละ ๑ เหรียญ และเมื่อย้ายเหรียญไปตำแหน่งใหม่ เหรียญนั้นจะต้องสัมผัสกับเหรียญอื่นอย่างน้อย ๒ เหรียญ เพื่อกันงงเวลาเล่น คุณควรติดหมายเลขไว้บนเหรียญตามภาพด้วย


     เขียนคำอธิบายว่าคุณย้ายเหรียญไหนบ้างและอย่างไร ส่งมาทางไปรษณียบัตร 
หรือทาง e-mail: immortalpig2002@yahoo.com  ภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ศกนี้


 
รักคุณ
"หมะอมตะ"
immortalpig2002@yahoo.com
   
 
 

ของแถมท้ายเล่ม

  (คลิกดูภาพใหญ่)