สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕ "บันทึกจากป่าตะวันตก กับการอยู่รอดของสัตว์ป่า"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  

น้ำมันดิบ จากใต้ทะเลสู่โรงกลั่น

เรื่อง จักรพันธุ์ กังวาฬ/ภาพ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

(คลิกดูภาพใหญ่)

       กลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
       อากาศปลอดโปร่ง ลมทะเลพัดรวยรื่น ทว่าบนฝั่งมีความเคลื่อนไหวพลุกพล่าน บรรดาคนงานเดินไปเดินมาเพื่อขนถ่ายอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ นายช่างทั้งคนไทยและต่างชาติ หากไม่ได้สั่งงานอยู่ ก็จับกลุ่มยืนคุยกัน ต่างเพ่งมองไปยังแพขนานยนต์ที่ลอยลำในทะเลไม่ห่างจากฝั่งนัก จุดรวมความสนใจของทุกคนคือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่บนแพ
       มันเป็นอาคารสี่เหลี่ยม ประกอบขึ้นด้วยโครงสร้างเหล็กสีเหลืองสด ไร้ผนัง มองเห็นถังโลหะทรงกลมลูกเล็กลูกใหญ่ และท่อโลหะวิ่งเป็นแนวสลับซับซ้อนอยู่ภายใน ด้านหนึ่งติดป้ายขนาดใหญ่ มีข้อความเห็นเด่นชัด" แท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง แท่นแรกที่ก่อสร้างในประเทศไทย ดำเนินการโดย ยูโนแคลไทยแลนด์"
       วันนี้เราได้มาร่วมสังเกตการณ์บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ ดำเนินการจัดส่งแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง จากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งหน้าลงทางใต้เป็นระยะทางร่วม ๔๐๐ กิโลเมตร ไปติดตั้งกลางทะเลอ่าวไทย ในบริเวณที่เรียกว่าแหล่งปลาทอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมอีกแหล่ง ที่บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ดำเนินการขุดเจาะ
       บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ และพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ในปี ๒๕๑๖ กระทั่งในปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๕) จึงได้ร่วมทุนกับบริษัทคลัฟ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ดแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดำเนินการออกแบบจัดสร้าง แท่นผลิตกลางน้ำมันดิบขึ้นเป็นแท่นแรกในประเทศไทย เพื่อดำเนินการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวไทยอย่างจริงจัง

(คลิกดูภาพใหญ่)

       คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า น้ำมันคือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากของโลกปัจจุบัน เพราะมันเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล ยวดยานพาหนะ การผลิตไฟฟ้า และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม บรรดาสินค้าสำเร็จรูปหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ยารักษาโรค เคมีภัณฑ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ แม้กระทั่งอาหารหรือสินค้าเกษตร เมื่อสาวไปถึงต้นตอจะพบว่ามีน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตทั้งสิ้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขาดแคลนหรือขึ้นราคาอย่างรุนแรงแต่ละครั้ง สิ่งที่ตามมาคือความโกลาหลวุ่นวายทั่วโลก สินค้าขึ้นราคา เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ การว่างงาน บางประเทศผู้คนเดือดร้อนถึงขั้นก่อเหตุจลาจล ยิ่งประเทศอุตสาหกรรมยิ่งต้องการบริโภคน้ำมันจำนวนมหาศาล จึงไม่แปลกที่ประเทศมหาอำนาจ จะพยายามแผ่อิทธิพล เข้าครอบงำประเทศเจ้าของทรัพยากรน้ำมัน สงครามระหว่างประเทศ หรือความวุ่นวายในประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา หลายครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่แถบตะวันออกกลาง แท้จริงมีเบื้องหลังอยู่ที่การแก่งแย่งผลประโยชน์ของแหล่งน้ำมัน
       สารคดี ได้รับการชักชวนจากบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ ให้เข้าเยี่ยมชมแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง ภายหลังจากมันได้รับการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สำรวจกระบวนการผลิตเชื้อเพลิง ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลกชนิดนี้
       กำหนดเวลามาถึง เรือยนต์ด้านหน้าติดเครื่องแล่นออกไป ลากแพขนานยนต์บรรทุกแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบ เคลื่อนไปในท้องทะเลท่ามกลางแดดจ้ายามเช้าของวัน ห่างออกไปเรื่อยๆ กระทั่งลับหายไปจากสายตาของทุกคนบนฝั่ง


 

๑.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        นับจากวันที่แท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทองถูกส่งไปจากท่าเรือแหลมฉบัง อีกหลายเดือนต่อมาเราจึงได้รับแจ้งจากบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ว่า บัดนี้แท่นได้รับการติดตั้งบนฐานกลางทะเล และเริ่มเดินเครื่องผลิตน้ำมันตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ แล้ว
       ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕
       เฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่ค่อย ๆ ยกตัวขึ้นจากพื้นสนามบินกองทัพเรือ ลมรุนแรงจากใบพัดตีฝุ่นคลุ้งกระจายและทำให้หมู่ไม้เอียงลู่ เมื่อสูงจนได้ระยะ นักบินฝรั่งผมทองก็บังคับเครื่องพุ่งทะยานไปเบื้องหน้า ทิ้งแนวหาดทราย หมู่ไม้ และบ้านเรือนลิบลิ่วด้านล่าง ออกไปสู่เวิ้งทะเลอ่าวไทย
       เราได้รับแจกโฟมอุดหู เพื่อป้องกันแก้วหูจากเสียงกึกก้องอึงคะนึงของใบพัดที่ตีอยู่เหนือหัว ผู้โดยสารบางคนนั่งหลับ บางคนอ่านหนังสืออ่านเล่น ไม่มีใครตื่นเต้นเมื่ออยู่กลางฟ้า เพราะบริษัทยูโนแคลฯ จัดเฮลิคอปเตอร์บินรับส่งพนักงานระหว่างฝั่ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กับแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติกลางทะเล และระหว่างแท่นต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลกันมากๆ พวกเขาจึงเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์กันเป็นเรื่องปรกติ ไม่ผิดกับคนในเมืองนั่งรถเมล์ไปทำงาน
       เรามองผ่านกระจกลงไปเบื้องล่าง ผืนน้ำเป็นประกายเจิดจ้าบาดตา จากแสงสะท้อนสีเงินที่เต้นระยิบตามระลอกคลื่น ท้องทะเลไพศาลของอ่าวไทยที่เห็นนี้ไม่เพียงอุดมด้วยสัตว์น้ำ แต่ยังซุกซ่อนขุมทรัพย์ทางพลังงานล้ำค่าที่เรียกกันว่า "ปิโตรเลียม"
       ปิโตรเลียมคือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ มีธาตุสองชนิดเป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ คาร์บอนและไฮโดรเจน ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันต่างก็เป็นปิโตรเลียม
       กว่า ๗๐ ล้านปีมาแล้วอ่าวไทยไม่ได้เป็นท้องทะเลอย่างทุกวันนี้ หากเป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์นานาชนิด ต่อมาภูมิประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง แผ่นดินค่อย ๆ ยุบตัวลง แม่น้ำสายต่าง ๆ ท่วมท้นเข้ามา ต้นไม้และสัตว์นานาชนิดตายเน่า ย่อยสลายกลายเป็นสารอินทรีย์ ทับถมอยู่ในบริเวณแอ่งที่เปลี่ยนเป็นท้องทะเลเวิ้งว้าง
 (คลิกดูภาพใหญ่)        สายน้ำได้พัดพาโคลน ดิน หิน มาตกตะกอนทับถมบนซากสิ่งมีชีวิตชั้นแล้วชั้นเล่า ก่อให้เกิดแรงกดดันมหาศาลและความร้อน ประกอบกับการทำปฏิกิริยาของแบคทีเรีย (Anaerobic Bacteria) ทำให้สารอินทรีย์เหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ผ่านกาลเวลานับล้านปี กระทั่งกลายเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ทั้งในรูปของไอคือก๊าซธรรมชาติ และในรูปของเหลวคือน้ำมันดิบ
       แรงกดดันจากน้ำหนักตะกอนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ จะบีบให้ปิโตรเลียมในรูพรุนของหินต้นกำเนิดปิโตรเลียมซึ่งมักเป็นหินดินดาน ทะลักหนีขึ้นสู่เบื้องบน เข้าไปกักขังอยู่ใน "แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม" ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งหรือช่องโพรงระหว่างชั้นหิน ที่ด้านล่างเป็นหินอุ้มปิโตรเลียม (reservior rocks) ได้แก่พวกหินทราย หินปูน หรือหินโดโลไมท์ และด้านบนเป็นหินปิดกั้นปิโตรเลียม (cap rocks) ที่มีความหนาแน่นมากแทบไม่มีรูพรุน
       ใต้ผืนพิภพในท้องทะเลอ่าวไทยเต็มไปดวยแหล่งปิโตรเลียมจำนวนมาก
       เฮลิคอปเตอร์ขนาด ๒๔ ที่นั่งลงจอดบนลานดาดฟ้าแท่นที่พักอาศัย หรือที่เรียกว่าแท่น LQ (Living Quarter Platform) ของแท่นแยกก๊าซกลางเอราวัณ เราต้องบินต่อไปกับเฮลิคอปเตอร์ขนาด ๑๒ ที่นั่งอีกลำหนึ่ง ราวครึ่งชั่วโมงก็มาถึงแท่น LQ ปลาทอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ร่วม ๓๐๐ กิโลเมตร
       จากลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าแท่น LQ เรามองเห็นแท่นแยกก๊าซกลาง (แท่น CPP) ปลาทองตระหง่านอยู่ใกล้ๆ ถัดจากนั้นคือแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง- -เป้าหมายของเราในการเดินทางครั้งนี้ อาคารทั้งสามมีสะพานเหล็กทอดเชื่อมกัน
 

๒.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        หลังจากแจ้งชื่อลงทะเบียนผู้เข้าพักอาศัยกับเจ้าหน้าที่ประจำแท่น LQ ปลาทอง หน้าที่ของเราในฐานะผู้มาใหม่ก็คือ เข้าห้องชมวิดีโอ เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติตัวระหว่างที่พักอาศัยบนแท่น LQ
       ความจริงมาตรการรักษาความปลอดภัย เริ่มขึ้นตั้งแต่ที่สนามบินบนฝั่งจังหวัดสงขลาแล้ว ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ผู้โดยสารต้องถูกตรวจลมหายใจหาสารแอลกอฮอล์ ผู้ที่พกไฟแช็ก โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟ ต้องฝากอุปกรณ์เหล่านั้นไว้ที่สนามบิน แล้วค่อยมารับคืนตอนขากลับ
       เพราะแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ไม่ใช่สถานที่อันรื่นรมย์เช่นรีสอร์ตกลางทะเล แต่เป็นโลกที่แนบแน่นอยู่กับสารไวไฟ ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าอากาศที่อยู่รอบตัวจะปราศจากไอก๊าซที่อาจรั่วจากระบบการผลิต ประกายไฟแว่บเดียวเท่านั้นอาจทำให้เกิดระเบิดวินาศสันตะโร ทำลายล้างชีวิตคนนับร้อยในชั่วพริบตา แท่นผลิตมูลค่านับพันล้านต้องพังพินาศ ดังนั้นระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ "เท่าชีวิต" ของคนที่นี่
       ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าส่วนพักอาศัย ห้องทำงาน หรือแท่นผลิตที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรกลและแผงวงจรไฟฟ้า จะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ ความร้อน และควันไฟ หากเกิดสิ่งผิดปรกติ สัญญาณเตือนภัยจะดังก้องไปทั่วบริเวณ
       ในจุดวิกฤตเช่นพื้นที่ที่มีการเชื่อมโลหะ เจ้าหน้าที่ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจสอบการฟุ้งกระจายของก๊าซก่อน จึงจะเริ่มงานได้
       การดื่มสุราถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด การสูบบุหรี่ทำได้เฉพาะพื้นที่ที่จัดให้สูบเท่านั้น
       หากเกิดสภาวะฉุกเฉิน เช่นไฟไหม้ ทีมผจญเพลิงต้องรีบรุดให้ถึงจุดเกิดเหตุโดยทันที และพนักงานทุกคนต้องรู้ว่า เขามีหน้าที่ต้องไปที่ไหน-ทำอะไร หากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นวิกฤต ผู้จัดการฐาน หรือ OIM ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแหล่งผลิตนั้น จะเป็นผู้สั่งการให้สละแท่น ทุกคนจะรีบไปยังจุดปล่อยเรือ Safty Boat ภาพของเรือวิ่งฝ่าเปลวเพลิงลุกท่วมท้องทะเลแม้ดูแล้วชวนตื่นเต้นเร้าใจ แต่เชื่อว่าคนที่นี่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
 

๓.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        หลังชมวิดีโอแล้ว เราก็ได้พบกับ โชติ กลิ่นสมร ผู้จัดการฐานสตูล/ปลาทอง ซึ่งได้ให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัยอีกคำรบหนึ่ง ก่อนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบ
       "กรมทรัพยากรธรณีจะแบ่งพื้นที่ทะเลอ่าวไทยออกเป็นบล็อก (ฺBlock) ตามหมายเลข เช่น บี ๑๐ ,บี ๑๑ แล้วเชิญชวนให้บริษัทต่างชาติขอสัมปทานขุดสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ทางบริษัทเราก็เข้ามาขอสัมปทาน ถ้าสำรวจพบแหล่งทรัพยากรที่มีปริมาณคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ก็จดทะเบียนขออนุญาตทำการผลิต แล้วตั้งชื่อแหล่งต่างๆ เช่น แหล่งปลาทอง สตูล ยะลา แต่มีบางบล็อกไม่พบอะไรเหมือนกัน" โชติกล่าว
       บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์พบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ของการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติแล้วว่า มักจะมีน้ำมันดิบเจือปนมากับก๊าซธรรมชาติจากหลุมผลิตต่างๆ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งปี ๒๕๔๐ เมื่อบริษัทคู่แข่งผลิตก๊าซธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น ยูโนแคลจึงหันกลับมาสนใจแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทยอย่างจริงจัง
       พ.ศ. ๒๕๔๒ ยูโนแคลฯ จัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจด้านน้ำมันขึ้น นำข้อมูลทางธรณีวิทยาที่เคยสำรวจไว้มาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้ง พร้อมสำรวจภาคสนาม ทั้งการสำรวจทางอากาศด้วยคลื่นเสียง และส่งเรือขุดสำรวจหลุมตัวอย่าง กระทั่งพบว่ามี แหล่งน้ำมันดิบที่มีปริมาณคุ้มค่าเชิงพาณิชย์อยู่จริง ในแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิม ได้แก่ แหล่งสุราษฎร์ แหล่งปลาหมึก แหล่งยะลา แหล่งกะพง และแหล่งปลาทอง
       วินิจ พุทธกูล หัวหน้าฝ่ายผลิต เป็นผู้อธิบายขั้นตอนการผลิตน้ำมันดิบกลางทะเลให้เราฟัง
       แท่นกลางทะเลในกระบวนการผลิตน้ำมันดิบมีสองประเภท คือแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตกลางฯ แท่นหลุมผลิตต่างๆ จะถูกติดตั้งเหนือแหล่งน้ำมันที่สำรวจพบ และต่อท่อลงไปยังแหล่งน้ำมันใต้พิภพ เมื่อน้ำมันจากก้นหลุมไหลขึ้นมาที่แท่นหลุมผลิต ก็จะถูกส่งไปยังแท่นผลิตกลางฯ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในขั้นสุดท้าย
       เหตุที่แท่นผลิตน้ำมันดิบกลางฯ ถูกติดตั้งบริเวณแหล่งปลาทอง เพราะบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางที่แวดล้อมด้วยแหล่งน้ำมันดิบอื่นๆ ได้แก่แหล่งสุราษฎร์อยู่ทางทิศตะวันตก ถัดออกไปอีกเป็นแหล่งปลาหมึก ส่วนแหล่งกะพงและยะลาอยู่ทางทิศเหนือ 
       ขณะนี้บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ติดตั้งแท่นหลุมผลิตน้ำมันดิบไปแล้วจำนวน ๖ แท่น ได้แก่ แท่นยะลา เอ,บี แท่นปลาหมึก เอ,บี,ซี,ดี และมีโครงการจะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มให้ครบ ๑๔ แท่นในแหล่งน้ำมันดิบที่เหลือ
       พรุ่งนี้เราจึงจะได้นั่งเรือไปดูแท่นหลุมผลิตน้ำมันดิบ เย็นนี้เรายังอยู่ที่แท่น LQ ปลาทอง จึงถือโอกาสสำรวจความเป็นอยู่ของชาวแท่น ซึ่งว่ากันว่าแตกต่างกับวิถีชีวิตคนบนฝั่งไม่น้อย
 

๔.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        หลังหกโมงเย็น พนักงานเริ่มทยอยกลับมาสู่แท่น LQ ทั้งพวกที่เดินกลับมาจากแท่นผลิตกลาง และที่โดยสารเรือกลับมาจากแท่นหลุมผลิตต่างๆ 
       พนักงานเหล่านี้เป็นคนจากทั่วสารทิศของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน รายได้ที่งดงามอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ทำให้พวกเขาเลือกมาทำงานบนแท่นกลางทะเลห่างฝั่งไกลลิบ ในเงื่อนไขการทำงานรวดเดียว ๑๔ วัน สลับกับหยุดพักกลับเข้าฝั่งในเวลาเท่ากัน กำหนดเวลางานแต่ละวันแบ่งออกเป็นสองกะ กะแรกทำงาน ๑๒ ชั่วโมงตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น กะสองทำงานตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า
       การทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน บวกกับการงานอันหนักหน่วงท่ามกลางไอความร้อน และเสียงกระหึ่มจากเครื่องจักรกล ต้องแบกความรับผิดชอบหนักอึ้ง เพราะหากพลั้งเผลอเพียงเล็กน้อย อาจเกิดความพินาศวอดวายกับส่วนรวม แต่ละวันยังไม่ได้เห็นหน้าลูกเมีย มองไปทางไหนมีแต่น้ำกับฟ้า เลิกงานก็ไม่มีโอกาสไปสังสรรค์ดื่มกินกับเพื่อนเช่นคนบนฝั่ง สภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้พนักงานเคร่งเครียดอ่อนล้า แท่น LQ จึงถูกจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสวัสดิการต่าง ๆ เต็มที่เป็นสิ่งชดเชย
       "ประกาศ ! ประกาศ ! นักฟุตบอลทีมชาติทุกคนพบกันที่สนามได้แล้ว"
       เสียงประกาศดังผ่านลำโพง เตือนขาประจำที่เพิ่งกลับจากทำงานให้รีบไปดวลแข้ง บนชั้น ๕ ของแท่น LQ ถูกจัดให้เป็นลานกีฬา นอกจากสนามฟุตบอลขนาดเล็กแล้ว ยังมีห้องยิมติดแอร์ จัดอุปกรณ์ออกกำลังกายจำพวกที่ยกน้ำหนัก ที่ปั่นจักรยาน ลู่วิ่ง ไว้เรียกเหงื่อ และห้องพัตกอล์ฟขนาดเล็กกั้นตาข่ายเป็นสัดส่วนให้ด้วย
 (คลิกดูภาพใหญ่)        คนที่ไม่สนกีฬา อาจกลับห้องพัก อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เตรียมตัวรับประทานอาหารเย็น
       ห้องอาหารสะอาดและทันสมัย ของที่นี่ดำเนินการโดยบริษัทที่เข้ามารับสัมปทานทำอาหาร ให้แก่ยูโนแคลโดยเฉพาะ จัดเตรียมเมนูอาหารไว้นับร้อยรายการ ทุกมื้อจึงมีทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งสลับสับเปลี่ยนไม่ซ้ำในแต่ละวัน ทั้งยังมีน้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ ไอศกรีม ผลไม้ และขนมหวานนานาชนิด อาหารเหล่านี้เป็นสวัสดิการให้พนักงานรับประทานฟรี จะตักเยอะเท่าไหร่ไม่มีใครว่ากัน
       อิ่มข้าวแล้ว เราเดินขึ้นไปชั้น ๔ ที่นี่เป็นส่วนพักผ่อน-นันทนาการ มีห้องชมวิดีโอจอยักษ์ บรรยากาศไม่ผิดกับโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม จัดฉายทั้งหนังไทยและหนังเทศชื่อดังคืนละสองรอบ นอกห้องชมวิดีโอเป็นโถงใหญ่ มีคนคลาคล่ำ บางคนเดินวนรอบโต๊ะสนุกเกอร์ บางคนตีปิงปอง บางคนนั่งสูบบุหรี่ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือดูข่าวจากโทรทัศน์ ทั้งยังมีห้องอ่านหนังสือเงียบสงบจัดไว้เป็นสัดส่วน
       หากไม่อยากอุดอู้อยู่ในห้อง คนที่นี่ยังมีวิธีหย่อนใจด้วยการตกปลา คืนนั้นเราเจอสามสี่คนถือเบ็ดยืนเรียงกันอยู่ริมระเบียง เอ็นเบ็ดทิ้งสายยาวเหยียดลงไปสู่ทะเลมืดมิดเบื้องล่าง ท่ามกลางลมทะเลพัดฉิว
       เราเข้านอนหลังจากง่วงได้ที่ ห้องนอนแต่ละห้องนอนได้สองคน บนเตียงสองชั้น แม้เนื้อที่ห้องไม่มากนัก แต่สะดวกสบาย มีแอร์เย็นฉ่ำ
       แท่นกลางทะเลแห่งนี้ปั่นไฟฟ้าใช้เอง น้ำกินน้ำใช้มาจากน้ำทะเลที่สูบขึ้นมา แล้วผ่านเครื่องผลิตน้ำจืดมูลค่านับล้านที่เรียกว่า Water Maker ใช้ระบบกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด
       ค่ำคืนบนแท่นกลางทะเลกำลังจะผ่านไป
 

๕.

 
(คลิกดูภาพใหญ่)        รุ่งขึ้นเราตื่นแต่เช้าตรู่ สวมชุดทำงานเสื้อแขนยาวกางเกงขายาวสีน้ำเงินตุ่นที่ได้รับแจกตั้งแต่เมื่อวาน พนักงานทุกคนรวมทั้งอาคันตุกะอย่างเราเมื่อพ้นแท่น LQ ต้องสวมชุดที่ว่าตามกฎ เพราะเป็นเนื้อผ้าชนิดพิเศษ ทนไฟ หากไฟไหม้ก็ไม่ติดผิวเนื้อ และแน่นอน มันมีราคาสูงกว่าผ้าทั่วไป เมื่อรวมกับการต้องสวมหมวกกันน็อก สวมแว่นกันผงหรือเศษโลหะปลิวเข้าตา ใส่โฟมเสียบหูกันเสียงเครื่องจักร สวมรองเท้าหัวเหล็ก เราจึงดูกลมกลืนกับพนักงานคนอื่นๆ 
       เรือลำเลียงพนักงาน (Crew Boat) ขนาดประมาณเรือประมงขนาดกลาง ถอยท้ายเข้าเทียบท่าขึ้นเรือบริเวณชั้นล่างสุดของแท่น LQ พนักงานยืนเรียงเป็นแถว โหนเชือกที่ห้อยจากคานบนข้ามน้ำไปยังกราบท้ายเรือ ทุกคนมีถุงใส่อาหารคาวหวานของมื้อกลางวันพกติดตัวไปด้วย เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้โดยสารบนเรือในที่สุด
       Crew Boat มุ่งหน้าไกลออกไปเรื่อย ๆ กระทั่งเห็นแต่ผืนทะเลเวิ้งว้างบรรจบแผ่นฟ้ากว้าง เนิ่นนานจึงเริ่มเห็นโครงเหล็กสีเหลืองของแท่นหลุมผลิตแท่นแรกอยู่ไกลลิบ
       เรือลำนี้มีหน้าที่ตระเวนส่งพนักงานตามแท่นหลุมผลิตต่างๆ ที่กระจัดกระจายในทะเล พนักงานทยอยโหนเชือกขึ้นสู่แท่นหลุมผลิตลำดับต่อมาที่ไปถึง กระทั่งบนเรือเหลือเราเป็นผู้โดยสารชุดสุดท้าย
       เมื่อไปถึงจุดหมายที่แท่นหลุมผลิตน้ำมันดิบแหล่งยะลานั้น เราใช้เวลาเดินทางไปกว่าชั่วโมงแล้ว
       แหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบยะลา (เป็นชื่อแหล่ง-ไม่ได้หมายถึงอยู่ในเขตจังหวัดยะลา) ตั้งอยู่ด้านเหนือสุดเขตสัมปทานทางทะเลของบริษัทยูโนแคลฯ จึงอาจกล่าวได้ว่าเรามาไกลถึงพื้นที่ "ชายแดน" เพราะท้องทะเลด้านเหนือขึ้นไปเป็นเขตสัมปทานของเพื่อนบ้านอย่างบริษัทเชฟรอน (Chevron)
 (คลิกดูภาพใหญ่)        แท่นหลุมผลิตเป็นแท่นโครงเหล็กสีเหลืองสด ภายในเต็มไปด้วยอุปกรณ์ผลิตและท่อต่างๆ แต่มีขนาดเล็กกว่าแท่นผลิตน้ำมันดิบกลางประมาณเท่าตัว ตั้งอยู่บนฐานเหล็ก ๔ ขา (Jacket) สูงโย่ง ซึ่งถ่างกว้างออกจากใต้แท่น ทอดดิ่งผ่านความลึก ๒๐๐ ฟุตของท้องทะเล ฝังลึกลงใต้พื้นทราย 
       วินิจ--หัวหน้าฝ่ายผลิต อธิบายว่า หลังจากแผนก Exploration สำรวจพบว่า บริเวณนี้มีแนวโน้มเป็นแหล่งกักเก็บน้ำมันดิบ แผนกขุดเจาะ (Drilling) จะรับหน้าที่นำเรือเจาะซึ่งมีขนาดประมาณเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ มีแท่นขุดเจาะอยู่กลางลำ มาลอยลำเจาะสำรวจ กระทั่งแน่ใจว่ามีปริมาณน้ำมันเพียงพอในเชิงพาณิชย์ จึงตั้งแท่นถาวร
       เขากล่าวว่าในขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำมันดิบของตะวันออกกลาง มีลักษณะเป็นแอ่งใหญ่มหึมา แต่แหล่งกักเก็บน้ำมันดิบบริเวณอ่าวไทย มีลักษณะเป็นแอ่งหรือโพรงขนาดเล็กแยกกันอยู่ระหว่างชั้นหิน ยูโนแคลจึงต้องพัฒนาเทคนิคการขุดเจาะให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แต่ละแท่นถูกออกแบบให้ขุดเจาะได้ ๑๖-๒๐ หลุม และไม่ใช่การขุดเจาะตามแนวดิ่งอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการขุดเจาะแบบ "ชอนไช" ลงไปหาแหล่งน้ำมันดิบ
       อุปกรณ์หัวเจาะไม่ใช่สว่านหัวแหลม แต่เป็นหัวเจาะชนิดพิเศษเรียกว่า "บิด" (Bit) ซึ่งถูกออกแบบเป็นลักษณะต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเจาะหินแต่ละชนิด บิดมีขนาดตั้งแต่ ๖ นิ้วถึง ๒๖ นิ้ว
       หัวบิดต่อเข้ากับก้านเจาะหรือ "ดริลไพป์" (drill pipe) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้วครึ่ง แต่ละท่อนยาวประมาณ ๓๐ ฟุต สามารถต่อกันเป็นก้านยาวได้ ฝ่ายขุดเจาะจะควบคุมให้ดริลไพพ์เลี้ยวซ้าย-ขวา ส่งหัวบิดชอนไชไปสู่แหล่งกักเก็บน้ำมันดิบ ตามทิศทางที่ออกแบบโดยแผนกผลิตปิโตรเลียม
       หลังการขุดเจาะแต่ละช่วง จะมีการตั้งท่อกรุ (casing) และยิงซีเมนต์เพื่อยึดท่อกรุกับหลุม เพื่อไม่ให้ดินหินพังเข้ามาอุดตันแนวหลุมที่เจาะเอาไว้
 (คลิกดูภาพใหญ่)        วินิจกล่าวว่า โดยเฉลี่ยต้องทำการเจาะชั้นดินเป็นระยะทางร่วมหมื่นฟุต กว่าจะถึงแหล่งกักเก็บน้ำมันดิบใต้พิภพ
       เมื่อแผนกดริลลิ่งขุดเจาะ และติดตั้งหลุมผลิตน้ำมัน จากแท่นลงไปสู่แหล่งกักเก็บเรียบร้อยแล้ว ก็จะติดตั้งหัวหลุมหรือ "คริสต์มาสทรี" (Christmas Tree) บนหลุมผลิต อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยท่อและวาวล์จำนวนมาก จึงมีลักษณะคล้ายกิ่งก้านของต้นคริสต์มาส วาวล์ต่างๆ ปิดเปิดด้วยมือและด้วยระบบไฮโดรลิก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นมาตามท่อจากแรงดันก้นหลุม หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนย้ายเรือขุดออกจากแท่น
       "กระบวนการจัดการน้ำมันดิบจะยุ่งยากกว่าก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลวหรือคอนเดนเสท ซึ่งโดยธรรมชาติจะแยกตัวกับน้ำค่อนข้างชัดเจน และไหลผ่านท่อได้สะดวก" วินิจกล่าว "ขณะที่น้ำมันดิบจะมีน้ำปนอยู่ในเนื้อ และมีความหนืด แข็งตัวได้ง่าย เมื่อน้ำมันดิบขึ้นมาจากหลุม ไหลผ่านท่อใต้ทะเลซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ มันอาจอุดตันแข็งตัวอยู่ภายในท่อส่งน้ำมัน"
       กระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญบนแท่นหลุมผลิตจึงได้แก่ การฉีดสารเคมีหลายชนิดผสมกับน้ำมันดิบ ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันดิบแข็งตัว เคลือบป้องกันการเกิดสนิมในท่อ และช่วยให้น้ำกับน้ำมันแยกตัวกันได้ดีขึ้น
       น้ำมันดิบจากแท่นหลุมผลิตยะลาและแท่นหลุมผลิตอื่น ๆ ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีแล้ว จะไหลไปตามท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ ๓-๒๕ กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของแท่นหลุมผลิตนั้น ไปสู่แท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง
 

๖.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        ผู้ที่นำเราไปชมแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง คือ ทวีเกียรติ พิมลจินดา หัวหน้าพนักงานฝ่ายควบคุมการผลิต (True Lead Production Operator)
เราเดินตามสะพานเหล็กที่ทอดสูงลิ่วจากผืนทะเลไปสู่แท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง มองเห็นเปลวไฟจากปล่องระบายก๊าซที่ยื่นยาวจากแท่นผลิตฯ ลุกโชติช่วง เปลวไฟที่เรียกว่าแฟลร์ (Flare) นี้เกิดจากการเผาผลาญก๊าซส่วนเกินเพื่อรักษาสมดุลของระบบการผลิต
       ภายในแท่นผลิตฯ เป็นพื้นที่ซึ่งสลับซับซ้อนด้วยแนวโครงเหล็ก ถังโลหะขนาดมหึมาและขนาดย่อมตั้งเรียงราย บรรดาท่อโลหะและท่อพลาสติกทอดเรียงซ้อนเป็นแนวสลับสลอนทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง ตลอดความยาวของท่อประกอบด้วยข้อต่อและวาวล์จำนวนมาก เครื่องจักรกลส่งเสียงกระหึ่มกลบเสียงพูดคุย ไอความร้อนแผ่ไปทั่วบริเวณ 
       ขณะอยู่ในห้องควบคุมการผลิต (Control Room) ที่ติดแอร์และเงียบสงบบนชั้น ๒ ทวีเกียรติจึงอธิบายขั้นตอนการผลิตบนแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทองให้ฟังอย่างละเอียด
กระบวนการทำงานของแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ภายในห้องควบคุมจะมีพนักงานซึ่งแบ่งออกเป็นสองผลัด ประจำอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง คอยติดตามตรวจสอบทั้งปริมาณ ความดัน อุณหภูมิของน้ำมันในถัง และอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ ซึ่งแสดงผลอยู่บนจอคอมพิวเตอร์
         น้ำมันที่ไหลมาจากแท่นหลุมผลิตต่าง ๆ จะมีน้ำและก๊าซเป็นส่วนผสมปนมาด้วย เมื่อมาถึงแท่นผลิตกลางน้ำมันดิบปลาทอง ก็จะผ่านกระบวนการแยกก๊าซ น้ำ ออกจากน้ำมัน
       "อุปกรณ์ของระบบการผลิตประกอบด้วยถังแยกน้ำมันขนาดใหญ่ (Separator) ๓ ถัง อุปกรณ์ทำความร้อน อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน อุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย และชุดอุปกรณ์เคมีบำบัดน้ำเสีย" ทวีเกียรติกล่าว
       เมื่อน้ำมัน ก๊าซ น้ำ เข้ามาในถังแยกถังแรก จะถูกแยกออกจากกัน ก๊าซจะถูกส่งไปเข้าระบบการผลิตของแท่นผลิตก๊าซกลางปลาทอง น้ำถูกส่งไปเข้าชุดอุปกรณ์บำบัดน้ำ น้ำมันจะไหลผ่านชุดแลกเปลี่ยนความร้อนชุดแรก จนมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๑๓๐ องศาฟาเรนไฮต์ แล้วเข้าสู่ถังแยกที่ ๒ ภายในถังนี้น้ำจะถูกแยกออกจำนวนมาก เพราะน้ำจะแยกตัวจากน้ำมันได้ดีเมื่อได้รับความร้อน น้ำที่แยกออกมาจะไปยังอุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย น้ำมันเมื่อออกจากถังแยกที่ ๒ ก็จะไหลผ่านชุดแลกเปลี่ยนความร้อนอีกชุดหนึ่ง ทำให้น้ำมันมีอุณหภูมิสูงถึง ๑๘๐ องศาฟาเรนไฮต์ และไหลเข้าสู่ถังแยกที่ ๓ น้ำจะถูกแยกออกจากน้ำมันอีกครั้ง น้ำมันที่ได้จากถังนี้จะมีปริมาณน้ำปนอยู่ไม่เกิน ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ และถูกส่งผ่านไปที่แท่นผลิตก๊าซกลางปลาทอง ลงสู่ท่อส่งใต้ทะเลไปกักเก็บไว้ในเรือเก็บน้ำมัน "ซีเบีย" เพื่อรอส่งขายให้แก่ลูกค้า
 

๗.

 (คลิกดูภาพใหญ่)        โชติ กลิ่นสมร ผู้จัดการฐานสตูล/ปลาทอง อธิบายกระบวนการบำบัดน้ำเสียให้ฟังว่า
"เราปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยพยายามควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
       "ระบบบำบัด ใช้เทคโนโลยีทั้งด้านเครื่องกลและสารเคมี ส่วนเครื่องกลใช้ระบบที่เรียกว่าไฮโดรไซโคลน (Hydrocyclone) ใช้แรงเหวี่ยงปั่นน้ำให้หมุนวนอย่างรุนแรง แรงหมุนจะแยกน้ำมันออกจากน้ำ เพื่อส่งกลับไปสู่ระบบผลิตน้ำมัน น้ำจะออกอีกทางหนึ่ง เข้าสู่ระบบบำบัดด้วยสารเคมีหลายชนิด ซึ่งจะทำให้สารที่ตกค้างในน้ำ เช่น สารปรอท สารหนู หรือคราบน้ำมันที่ยังเหลืออยู่บ้าง จับตัวกัน กลายเป็นตะกอน (sludge) และถูกแยกก่อนนำไปกำจัดโดยการอัดกลับไปในหลุมผลิต น้ำที่ผ่านกระบวนการทางเคมีแล้วจะผ่านการกรองอีกครั้ง ก่อนทิ้งลงทะเล
       "เราจะตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งทุกวันให้ได้ตามมาตรฐาน คือจะต้องมีสารไฮโดรคาร์บอนปนอยู่ไม่เกิน ๔๐ ส่วนในน้ำล้านส่วน มีสารปรอทไม่เกิน ๑๐ ส่วน ในน้ำพันล้านส่วน และสารหนูไม่ให้เกิน ๒๕๐ ส่วน ในน้ำพันล้านส่วน"
       ต่อมาเมื่อกลับกรุงเทพฯ เราได้พบ ไพโรจน์ กวียานันท์ รองผู้อำนวยการแหล่งปลาทอง ที่สำนักงานใหญ่บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ 
       ไพโรจน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบว่า
         "ปริมาณสำรองของน้ำมันดิบจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทยของยูโนแคล จากการประเมินขั้นต้นมีประมาณ ๓๐ ล้านบาร์เรล (๑ บาร์เรลเท่ากับ ๑๕๘.๙ ลิตร) จากการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมคาดว่า ปริมาณสำรองน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๕๐ ล้านบาร์เรล ซึ่งทางบริษัทจะสามารถยืนยันได้ก็ต่อเมื่อ ได้ทำการผลิตอย่างต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะนี้เราสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เฉลี่ยวันละ ๑๘,๐๐๐ บาร์เรล คาดว่าสามารถจะทำการผลิตไปได้ภายใน ๕-๑๐ ปีข้างหน้า และส่งขายไปแล้วกว่า ๓ ล้านบาร์เรลให้แก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ลูกค้าภายในจะซื้อผ่านทาง ปตท. ซึ่งเฉลี่ยประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการขายทั้งหมด ที่เหลือจะขายให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย เป็นต้น การซื้อขายจะทำกันที่แท่นผลิตกลางทะเล โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทำการตรวจสอบและเป็นพยานทุกครั้ง"
       ไพโรจน์ให้เหตุผลที่ลูกค้าภายในประเทศยังไม่มากว่า
       "เนื่องจากน้ำมันของเราอาจจะมีคุณสมบัติ ไม่ตรงตามความต้องการของโรงกลั่นน้ำมันในเมืองไทย ซึ่งหลายโรงจะเข้มงวดเรื่องคุณสมบัติของน้ำมันดิบค่อนข้างมาก ขณะที่โรงกลั่นต่างประเทศสามารถรองรับน้ำมันดิบได้ทุกลักษณะ ทำให้การขายสู่ตลาดต่างประเทศทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า แต่รัฐบาลไทยก็ได้รับผลประโยชน์ในรูปของค่าภาคหลวง และภาษีจากการซื้อขายน้ำมันดิบ"
 (คลิกดูภาพใหญ่)        น้ำมันดิบเหล่านี้จะถูกส่งเข้าโรงกลั่น ผลผลิตจากกระบวนการกลั่นก็คือ น้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด ก๊าซรถยนต์ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตาฯลฯ เป็นเชื้อเพลิงที่รอถูกเผาผลาญเพื่อขับเคลื่อนโลกอุตสาหกรรมให้หมุนไปข้างหน้า 
       ข้อมูลจากหนังสือสถานการณ์นโยบายและมาตรการพลังงานของไทยปี ๒๕๔๔ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ๒๕๔๔ แหล่งผลิตต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยเฉลี่ย ๖๑,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบโดยเฉลี่ย ๖๗๓,๒๐๐ บาร์เรลต่อวัน หมายความว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเป็นสำคัญ
       ในท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบัน ที่อึมครึมและตึงเครียดจากกรณีประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ ประกาศถล่มอิรักด้วยกำลังทางทหาร เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น หากสงครามอ่าวเปอร์เซียรอบสองระเบิดขึ้นจริง นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปัจจุบันประมาณ ๒๕-๒๗ ดอลลาร์สหรัฐ อาจพุ่งทะยานขึ้นไปถึง ๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนั้นประเทศไทยคงต้องพบกับวิกฤตน้ำมันรอบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
       หนทางหนึ่งที่ทุกคนควรทำนับแต่วันนี้ เพื่อเตรียมรับมือวิกฤติน้ำมันรอบต่อ ๆ ไปที่อาจเกิดในอนาคต คือการบริโภคน้ำมันและพลังงานทุกชนิดอย่างประหยัดและมีเหตุผล
 

เอกสารประกอบการเขียน

         ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, บรรณาธิการ. น้ำมัน! เศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับที่ ๑๖ ศูนย์ศึกษา เศรษฐศาสตร์การเมือง, ๒๕๔๔.
       เพียรสุข มั่นรักเรียน. พลังงานก๊าซโชติช่วงชัชวาลกลางอ่าวไทย นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๗ ปีที่ ๓ เดือน พฤษภาคม ๒๕๓๐.
       ความรู้เรื่องปิโตรเลียม. เอกสารเผยแพร่ ฝ่ายข้อมูลปิโตรเลียม กองเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๓๗.
       สถานการณ์นโยบายและมาตรการ พลังงานของไทย ปี ๒๕๔๔. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔.
 (คลิกดูภาพใหญ่)
       สถิติปริมาณน้ำมันสำรองของโลก ที่บริษัท British Petroleum ประเทศอังกฤษรวบรวมไว้ ณ สิ้นปี ๒๕๔๔ (หน่วย : พันล้านบาร์เรล)

ซาอุดีอาระเบีย  ๒๖๑.๘
อิรัก  ๑๑๒.๕
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ๙๗.๘
คูเวต  ๙๖.๕
อิหร่าน  ๘๙.๗
เวเนซุเอลา  ๗๗.๗
รัสเซีย  ๔๘.๖
สหรัฐอเมริกา  ๓๐.๔
ลิเบีย  ๒๙.๕
เม็กซิโก  ๒๖.๙ 
  
 (คลิกดูภาพใหญ่)        การผลิตน้ำมันดิบในประเทศไทย ระหว่าง ม.ค.-พ.ย. ๒๕๔๔ (หน่วย : บาร์เรล/วัน)

แหล่ง ผู้ผลิต ๒๕๔๓ ๒๕๔๔
(ม.ค.-พ.ย.)
สิริกิติ์ Thai Shell ๒๓,๔๘๓ ๒๑,๔๙๖ 
ปรือกระเทียม Thai Shell ๑๐๒ ๙๓ 
หนองตูม Thai Shell ๒๖๒ ๒๕๖
ทานตะวัน Chevron ๗,๔๕๔ ๗,๙๒๗
เบญจมาศ Chevron ๒๔,๓๕๔ ๒๘,๒๘๖
ฝาง กรมการพลังงานทหาร ๘๗๘ ๖๔๑
หนึ่งและสอง ปตท.สผ. ๕๔๘ ๖๐๒
บึงหญ้าและบึงม่วง North Central ๖๓๕ ๙๑๓
วิเชียรบุรี Pacific Tiger Energy ๒๐๐ ๑๘๒ 
ศรีเทพ Pacific Tiger Energy ๒๑  ๑๖
ยูโนแคล Unocal ๘๓๙
รวม ๕๗,๙๓๗ ๖๑,๒๕๖
 
(คลิกดูภาพใหญ่)        ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก (หน่วย : ล้านบาร์เรล/วัน)

ประเทศ ไตรมาส ๔ (๒๕๔๔) ไตรมาส ๑ (๒๕๔๕)
แอลจีเรีย ๐.๘๐ ๐.๗๕
อินโดนีเซีย ๑.๒๐ ๑.๒๐
อิหร่าน ๓.๕๓ ๓.๓๐
คูเวต ๑.๙๓ ๑.๘๐
ลิเบีย ๑.๓๒ ๑.๒๕
ไนจีเรีย ๒.๑๑ ๑.๙๐
กาตาร์ ๐.๖๕ ๐.๖๒
ซาอุดีอาระเบีย ๗.๖๖ ๗.๓๐
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ๒.๐๕ ๑.๙๕
เวเนซุเอลา ๒.๖๗  ๒.๕๕