|
|||||||||||||
|
วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin |
|||
หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบียในชุดผ้าคลุมสีดำ เดินเข้าไปในร้านขายของแห่งหนึ่ง พลางกระซิบถามพนักงานขายชายว่า "มียกทรงสีส้มลายลูกไม้หรือเปล่าค่ะ เอาขนาด ๓๖ ซี" "ยกทรง ๓๖ คัปซี คุณแน่ใจว่าจะไม่เอาขนาดที่ใหญ่กว่านี้หรือครับ" พนักงานขายถามลูกค้าเสียงดังจนคนในร้านหันมามองด้วยความสนใจ "ก็เมื่อก่อนฉันเคยใส่ขนาด ๓๖" ลูกค้ายืนกราน "คุณครับ นั่นมันเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ผมว่าคุณควรจะใส่ขนาดใหญ่กว่านี้นะครับ" พนักงานขายชายพูด ลูกค้าหญิงรายนั้นชักเริ่มอาย ที่เรื่องส่วนตัวกำลังถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ จึงเดินออกจากร้านไป บทสนทนานี้เป็นเรื่องจริงในสังคมซาอุดีอาระเบีย ที่มีการแบ่งแยกทางเพศอย่างเด็ดขาด ไม่ละเว้นเรื่องอาชีพ และลามไปถึงเสื้อชั้นในของผู้หญิง เหตุผลก็คือ ร้านขายของในประเทศนี้ ทางการอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้น ที่ทำงานอยู่หลังเคาน์เตอร์ได้ ดังนั้นผู้ชายจึงเป็นคนขายชุดชั้นในของคุณผู้หญิงไปโดยปริยาย ยกเว้นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สองสามแห่ง ที่อนุโลมให้พนักงานหญิงเป็นผู้ขายชุดชั้นใน ดังนั้นเมื่อคุณผู้หญิงไปซื้อชุดชั้นใน จึงต้องใจกล้าหน้าหนาพอจะอธิบายกับพนักงานขายชาย ถึงยกทรงที่ตัวเองต้องการ หรืออีกทางหนึ่งก็ไปซื้อชุดชั้นในตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ที่สามารถเลือกชุดชั้นในได้เอง แต่ก็มีให้เลือกไม่กี่ขนาด ทุกวันนี้ผู้หญิงซาอุฯ เมื่อจะออกนอกบ้านต้องสวมชุดอาบายัส- -ชุดผ้าคลุมสีดำตั้งแต่หัวจรดเท้า หากสาวคนใดไม่ระวัง โผล่มือออกมานอกผ้า หรือแอบนุ่งกางเกงยีนไว้ข้างใน อาจจะถูกมูตตาว่า หรือตำรวจศาสนาที่มีอำนาจล้นเหลือ จับกุมนำตัวไปลงโทษให้หลาบจำทันที โมฮัมหมัด อัล-ฮาวาส เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า "เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมพาภรรยาไปซื้อชุดชั้นในที่ร้านแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าภรรยาของผมต้องเพียรอธิบายขนาดชุดชั้นในของเธอ อันเป็นเรื่องส่วนตัวกับพนักงานขายชาย ผมอายแทนจนทนไม่ได้ ต้องพาเธอออกจากร้านนั้น" น่าแปลกที่ตำรวจศาสนา อนุญาตให้ร้านตั้งหุ่นสวมชุดชั้นในที่หน้าร้านได้ แต่ห้ามแขวนภาพถ่ายผู้หญิง เพื่อส่งเสริมการขายลิปสติก อายชาโดว์ ครีมบำรุงผิว หากพบเห็นจะถูกทำลายทิ้งทันที สมัยก่อนผู้หญิงเป็นคนขายเครื่องเทศยันเครื่องทำครัวในร้านขายของชำ แต่ปัจจุบันมีกฎห้าม และแบ่งแยกทางเพศ โดยตำรวจศาสนา จะมาเป็นผู้กำหนดนโยบายใหม่ว่า อะไรที่ผู้หญิงทำได้ หญิงซาอุฯ จำนวนมากที่อึดอัดกับประเพณีเหล่านี้ จึงหาทางออกด้วยการไปชอปปิงต่างประเทศ หญิงซาอุฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งเล่าว่า "ครั้งหนึ่งดิฉันพาสามีไปที่ร้านขายยกทรง หวังว่าการพาสามีไปด้วยจะทำให้คนขายเกรงใจบ้าง แต่ปรากฏว่าพนักงานขายชายไม่สนใจ ยังหยิบยกทรงรุ่นต่าง ๆ ออกมากองที่โต๊ะ ดิฉันอายมาก จึงรีบ ๆ หยิบขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วออกจากร้านไปอย่างรวดเร็ว ...แต่คนขายไม่ยอมหยุด ต่อหน้าลูกค้ามากมายเขาหยิบยกทรงมาทำท่าใส่ให้ดู เพื่อยืนกรานว่ายกทรงรุ่นนี้เหมาะสมกับดิฉันมากกว่า ดิฉันเสียใจมากที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้" ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ในงานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้นประมาณสองสัปดาห์ ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ซื้อหนังสือในงานได้เพียงสองวันครึ่งเท่านั้น เหตุผลเพราะพนักงานขายหนังสือในงานเป็นผู้ชาย "สิ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกแย่ก็คือ ระเบียบในสังคมนี้บอกว่า เป็นเรื่องถูกต้องสำหรับผู้หญิงซาอุฯ ที่จะซื้อชุดชั้นในต่อหน้าพนักงานขายชาย ที่หยิบยกทรงหรือกางเกงใน ขึ้นมาบรรยายสรรพคุณ พร้อมทั้งสาธิตวิธีซักรอยเปื้อนบนกางเกงใน แต่เป็นเรื่องผิดที่ผู้หญิงซาอุฯ จะซื้อหนังสือจากพนักงานขายชาย ทั้ง ๆ ที่เวลาผู้หญิงซื้อหนังสือ ไม่ได้รู้สึกอึดอัดเท่าซื้อยกทรง มันเป็นดับเบิลสแตนดาร์ดหรือไม่ในสังคมนี้" เจฮาเยร์ อัล-มัวซาอิด นักเขียนหญิงคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต "เมื่อผู้หญิงเรียนหนังสือในโรงเรียน แม้เราจะถูกแยกชายหญิง แต่เรายังได้ครู ดินสอ ปากกา หนังสือโดยเสมอภาค แต่พอจบการศึกษาออกมานอกโรงเรียน ความเสมอภาคเหล่านี้หายไปแล้ว" คำพูดที่ว่า "เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก" จึงยังใช้ได้เสมอ |