ผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่องกันครอบคลุมพื้นที่ถึง ๑๑.๗ ล้านไร่ (ประมาณ ๑๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) และนับเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถึง ๑๕ แห่ง ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอีก ๒ แห่ง ในขณะที่ผืนป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยหลายแห่ง อยู่กระจัดกระจายเป็นผืนเล็กผืนน้อย หรือไม่ก็มีผู้คนแผ้วถางทำกินอยู่ใจกลางป่า หรือเข้าใช้ประโยชน์เก็บหาของป่ากันจนป่ามีสภาพทรุดโทรม หลายแห่งแทบไม่เหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศนั้นเลย ปรากฏว่าผืนป่าตะวันตกซึ่งมีขนาดของพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า ๑๑ ล้านไร่ ยังมีพื้นที่เป็นป่าเขียวขจีครอบคลุมพื้นที่กว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผืนป่าอนุรักษ์ตะวันตกทั้งหมด ขนาดพื้นที่ป่าที่ใหญ่โตเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสัตว์ป่า ที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์จากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (zoogeographical range) ยกตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนของเขตสัตวภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบได้ในผืนป่าตะวันตก เช่น นกเงือกคอแดง กระจายมาตั้งแต่ป่าดิบเชิงเทือกเขาหิมาลัย (indo-chinese subregion) กระทิง กระจายมาตั้งแต่อินเดีย (indian subregion) สมเสร็จกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทรมลายู (sundaic subregion) ดังนั้นทั้งขนาดของพื้นที่และตำแหน่งที่ตั้ง ที่เป็นจุดรวมของเขตสัตวภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกโดดเด่นในด้านความหลากหลาย มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๑๕๐ ชนิด นกมากกว่า ๔๙๐ ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า ๙๐ ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า ๔๐ ชนิด และปลามากกว่า ๑๐๘ ชนิด แต่ความหลากชนิดมิใช่เป็นตัวชี้ความยั่งยืนของสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่าจะยั่งยืนอยู่ได้ต้องมีปริมาณประชากรที่มั่นคงด้วย