สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕ "หมาสมัยใหม่, ความรัก, และผลประโยชน์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕  

ตามหาการ์ตูน ตอนที่ 7 การ์ตูนโทรทัศน์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 1 Crusader Rabbit

       ตามหาการ์ตูนตอนที่แล้ว เล่าถึงหนังการ์ตูนสั้นที่ผลิตจากสตูดิโอ เพื่อฉายปะหน้าภาพยนตร์เรื่องต่างๆที่ผลิตจากฮอลลีวู้ด 
       กำเนิดของการ์ตูนสั้นจำนวนมาก อาจจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่ใช่เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วสหรัฐอเมริกา ศิลปินจำนวนหนึ่งวาดรูปด้วยใจรัก แต่อีกจำนวนหนึ่งไม่มีงานให้เลือก พวกเขาจึงต้องวาดภาพซ้ำๆ จำนวนเป็นหมื่น เพียงเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลบนจอเพียงไม่กี่นาที 
       การวาดภาพบน cel เพื่อวางบนฉากหลังที่เลื่อนไปได้ ก็มิได้ลดปริมาณงานของศิลปินลงสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าสตูดิโอแต่ละแห่ง คาดหวังคุณภาพของอะนิเมชั่นที่ลื่นไหลน่าประทับใจ
       นอกจากนี้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำที่ผู้คนมีอารมณ์ขุ่นมัว คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า ถูกโกงเมื่อพบว่าโรงหนังไม่ฉายหนังการ์ตูนสั้น หรือการ์ตูนเพลงเป็นการอุ่นเครื่อง 
       การ์ตูนสั้นเรื่องใหม่หรือตอนใหม่ที่มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีคุณภาพของการเคลื่อนไหวที่ดี และเสียงเพลงประกอบที่ไพเราะ มีส่วนช่วยให้สตูดิโอ บริษัทจัดจำหน่าย และโรงหนังได้รับความนิยมไปด้วยกันทั้งหมด
       โทรทัศน์ปรากฏตัวขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่ใช่ตลาดของการ์ตูน จนกระทั่งสตูดิโอต่างๆ ที่ผลิตอะนิเมชั่นสำหรับฉายตามโรงหนังทยอยปิดตัวลง โทรทัศน์จึงทวีบทบาทเป็นตลาดสำคัญของการ์ตูนสืบมา

(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 2 Looney Tunes
       การ์ตูนเรื่องแรกที่ผลิตเป็นซีรีย์สเพื่อฉายทีวีโดยเฉพาะคือ Crusader Rabbit ของเอ็นบีซี ปี1952 (รูปที่1) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคู่หูคู่ฮากระต่ายและเสือโคร่งผจญภัย ในตอนเปิดตัวทั้งคู่ต้องต่อสู้กับสุลต่านแห่งห้วยน้ำริน ที่มีแผนการสุดชั่วร้ายคิดจะเอาลายของเสือโคร่งไปทำหมึก "อินเดีย" อิ๊งค์
       เรื่องที่สองคือ Winky Dink and You ของซีบีเอส ปี1953 เรื่องราวของเด็กชายตัวผอมหัวโตเส้นผมห้าแฉกกับหมาวูล์ฟเฟอร์ แปลกแต่จริงที่เรื่องนี้สามารถสร้างกิจกรรมอินเตอร์แอ็คทีฟกับเด็กๆหน้าจอได้ด้วย โดยให้เด็กๆทาบกระดาษลอกลายการ์ตูนจากหน้าจอโทรทัศน์เอาไว้เล่นเกมส์ประจำสัปดาห์
       แต่นอกจากสองเรื่องนี้แล้ว ส่วนใหญ่ของการ์ตูนทีวียุคแรก เป็นการ์ตูนขาวดำคุณภาพต่ำ ที่โละมาจากสตูดิโอต่างๆ ที่ปิดตัวไป การ์ตูนสั้นชั้นดีจากโรงหนังยังไม่ปรากฏ
       ที่พอมีคุณภาพคือการ์ตูนสั้นเรื่องใหม่ๆ ของดิสนีย์ในบางส่วนของรายการดิสนีย์โชว์ และมิคกี้เมาส์คลับ ซึ่งออกอากาศทางเอบีซีเมื่อปี 1954 และ 1955 ตามลำดับ
       เทอรี่ตูนเป็นหนึ่งในสตูดิโอยุคแรกๆ ที่ผลิตหนังการ์ตูนสำหรับฉายตามโรงหนัง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นการ์ตูนเงียบและขาวดำเรื่องแรกๆ คือ Aesop's Fable ปี 1920 ซึ่งเป็นการ์ตูนตลกที่สร้างจากนิทานอีสป โดยปิดท้ายด้วยคติสอนใจ--นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ซึ่งตลกยิ่งกว่าตัวการ์ตูนเสียอีก ผลงานชั้นยอดของเทอรี่ตูนคือ Mighty Mouse และ Heckle&Jeckle ที่บ้านเรารู้จักกันดี
ซีบีเอสได้ลิขสิทธิ์เทอรี่ตูนมาในปี 1955 การ์ตูนทีวีจึงมีฉาย Mighty Mouse และ Heckle&Jeckle ตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา ตามด้วย Woody Woodpecker, Popeye, Tom&Jerry ทยอยเข้าฉายตามเครือข่ายต่างๆ
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 3 Rocky and Bullwinkle
       วอร์เนอร์บราเธอร์สสร้างสามดาราแม่เหล็ก Porky Pig, Daffy Duck และ Bugs Bunny ขึ้นมาระหว่างปี 1935 ถึง 1940 ผลงานส่วนใหญ่เป็นของ Friz Freleng และ Tex Avery 
       ตอนต้นทศวรรษที่ 40 การ์ตูนสั้นลูนนี่ตูนและเมอร์รี่เมโลดี ก็ลงหลักปักฐานในวอร์เนอร์แล้วอย่างมั่นคง แม้ว่าเท็กซ์จะลาออกไปในปี1942 ตามด้วยแทชลินและแคลมป์เพ็ต ออกไปในปี1946 วอร์เนอร์ยังมี Chuck Jones และ Bob McKimson ช่วยกันพัฒนาลูนนี่ตูนต่อไป
       ชัค โจนส์เป็นนักวาดในช่วงทศวรรษที่ 30 ก่อนที่จะมากำกับในปี1937 โดยมีผลงานดีเด่นที่สุด เมื่อถึงทศวรรษที่ 50 เขาคือเจ้าของลายเส้นโมเดิร์นกราฟิกลูนนี่ตูน และเจาะลึกบุคลิกภาพของซูเปอร์สตาร์ทั้งสาม คือพอร์กกี้พิก แด๊ฟฟี่ดั๊ก และบั๊กส์บันนี่ มากกว่าศิลปินหรือผู้กำกับทุกคน รวมทั้งเป็นผู้เขียนการผจญภัยชุดใหม่ของแด๊ฟฟี่ดั๊กใน Duck Dodgers in the 24 1/2 th Century 
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า บั๊กส์ บันนี่เป็นดาราที่ดังที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับที่มิคกี้เมาส์ คือดาราประจำยุคเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา
       ภายในเวลาสิบปีหลังจากกำเนิดบั๊กส์บันนี่ ลูนนี่ตูนได้สมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย คือ Tweety, Sylvester, Foghorn Leghorn, Road Runner, Wile E. Coyote, Yomesite Sam, Tasmanian Devil และ Pep? Le Pew ตามด้วย Speedy Gonzales, Michigan J. Frog และ Marvin The Martian ในเวลาต่อมา (รูปที่2)
       ปี 1960 คือปีที่เอบีซีสร้างประวัติศาสตร์เมื่อนำ Bugs Bunny Show ออกอากาศ เป็นตอนแรกและประสบความสำเร็จสูงสุดในทันที นับเป็นจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมการฉายการ์ตูนทีวีซ้ำไปซ้ำมา โดยผู้ชมไม่รู้สึกเบื่อ โดยเฉพาะบั๊กส์บันนี่ที่ยังครองเรทติ้งสูงจนถึงทุกวันนี้ 
       แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็คือหนังการ์ตูนสตูดิโอคุณภาพชั้นยอด ที่นำกลับมาฉายทางทีวี หากกล่าวถึงหนังการ์ตูนที่ผลิตเพื่อทีวีโดยเฉพาะแล้ว ยังมีปัญหาอีกมากรอคอยอยู่
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 4 Archie Show
       เอบีซีผลิตการ์ตูนทีวีเรื่องสำคัญคือ Rocky and His Friends ในปี 1959 (รูปที่3) เรื่องราวเกี่ยวกับกระรอกหัวใส Rocky กับกวางมูสจอมทึ่ม Bullwinkle เนื้อเรื่องสนุกสนานตามสมควรแต่ไม่ติดตลาดทำให้เอบีซีระงับรายการไปในปี 1961
       เอ็นบีซีได้สิทธิตัวร็อกกี้และบูลวิงเกิลไปฉายโดยใช้ชื่อว่า The Bullwinkle Show แม้ว่าสองสหายคู่นี้จะไม่ดังเปรี้ยงปร้างแต่ก็เป็นการ์ตูนทีวีที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตส่วนหนึ่งมั่นใจว่า การสร้างการ์ตูนทีวีให้ทันกำหนดเส้นตายประจำสัปดาห์ด้วยเงินทุนไม่มากเป็นเรื่องที่ทำได้
       หลังจากบิล ฮันน่าและโจ บาร์เบร่า ออกจากเอ็มจีเอ็มในปี 1957 ทั้งสองก่อตั้งสตูดิโอฮันน่า-บาร์เบร่า และผลิตหนังการ์ตูนความยาว 6 นาทีด้วยทุนเพียง 3,000 ดอลลาร์ต่อตอน คือเพียงหนึ่งในสิบของทุนที่ใช้สร้างทอมกับเจอรี่ด้วยความยาวเท่ากัน
       ผลงานเรื่องแรกคือ The Ruff Reddy Show ปี 1957 เรื่องราวของหมาบูลด็อกสีขาวกับแมวน้อยเจ้าปัญญาสีแดง หลังจากนี้จึงเป็นหมาสีฟ้า Huckleberry Hound ปี 1958 ตามด้วยเรื่องฮิตข้ามกาลเวลาไปทั่วโลก คือ มนุษย์หินฟลิ้นสโตน Flintstone ปี1960 หมีโยกี้ดารารับเชิญของหมาฮัคเคิลเบอรี่ จะมาออกรายการของตนเองใน The Yogi Bear Show ปี 1961 นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีก เฉพาะที่รู้จักกันในบ้านเราคือ Jetson ปี 1962 และ The Adventures of Jonny Quest ปี 1964
       ชัก โจนส์ออกจากวอร์เนอร์บราเธอร์สในปี 1964 มาช่วยเอ็มจีเอ็มสร้าง Tom& Jerry ตอนใหม่ด้วยลายเส้นแตกต่างไปจากเดิม แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
       ปี 1966 เอบีซี เอ็นบีซีและซีบีเอสร่วมมือกันผลิตการ์ตูนทีวี สำหรับเช้าวันเสาร์โดยเฉพาะ แต่มีปัญหาว่าจะหาการ์ตูนมาเติมเต็มผังรายการได้อย่างไร ดิสนีย์เคยผลิตการ์ตูนสั้นได้เพียงปีละสองชั่วโมง วอร์เนอร์ทำได้มากกว่าสองเท่า คือปีละสี่ชั่วโมง ขณะที่การ์ตูนทีวีเช้าวันเสาร์ มีปีละ 52 สัปดาห์ และราคาของการ์ตูนทีวีครึ่งชั่วโมงอย่าง The New Adventures of Superman ใช้ทุนสร้าง 36,000 ดอลลาร์ เท่ากับดิสนีย์ใช้ทำการ์ตูนสั้นความยาว 7 นาที ภาวะบีบคั้นทั้งเงินทุน และความเร่งรีบทำให้คุณภาพของการ์ตูนทีวีตกต่ำ และถูกดูหมิ่นว่าเป็นศิลปะขยะอีกครั้งหนึ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 5 Peanuts
       ทำอย่างไรการ์ตูนทีวีก็ไม่ขลัง และไม่ได้รับความนิยมชมชอบ มากเท่ากับที่ดิสนีย์ และวอร์เนอร์เคยได้รับ เด็กที่เฝ้าหน้าจอเช้าวันเสาร์ ไม่สนใจจะรับรู้ว่าการ์ตูนที่ดูอยู่เป็นฝีมือของศิลปินคนใด แม้กระทั่งเป็นของค่ายใด เทียบกับผลงานของดิสนีย์ และวอร์เนอร์ ที่มีแฟนพันธุ์แท้เพียงเห็นลายเส้นก็รู้ว่าเป็นของใคร 
       แม้ว่าเช้าวันเสาร์จะนำการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เช่น ซูเปอร์แมน แบ็ทแมน หรือสี่มหัศจรรย์มาฉาย ก็ไม่สามารถสร้างความนิยมได้มากนัก จิตวิเคราะห์อธิบายว่า เกิดจากความล้มเหลวในการถ่ายทอด "เนื้อ" หาจากหนังสือสู่จอแก้ว กล่าวคือในขณะที่หนังสือการ์ตูนเป็นวัตถุกระดาษ และสีที่จับต้องลูบคลำได้ (fetish object) แต่หนังการ์ตูนมิอาจให้รส "สัมผัส" แบบเดียวกันได้
       จนกระทั่งซีบีเอสฉาย Archie Show ผลงานของ Bob Montana เมื่อปี 1968 (รูปที่4) แล้วประสบความสำเร็จเกินคาด ทำให้ซาบรีน่าซึ่งปรากฏเป็นดารารับเชิญ ต้องมาออกรายการของตนเองคือ Sabrina the Teenage Witch ในปี 1970 ส่วนฮันน่า-บาร์เบร่าปล่อย Scooby Doo Where are You? และได้รับความนิยมสูงมากในปี 1969 ปรากฏการณ์ทั้งสอง ทำให้เน็ทเวิร์กทั้งสามต้องทบทวนอีกครั้งว่า ตลาดการ์ตูนทีวีควรเป็นไปในทิศทางใด
       อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพบสูตรสำเร็จของการผลิตการ์ตูนทีวี นอกจากความน่าจะเป็นสองข้อ หนึ่ง คืออย่าสร้างการ์ตูนทีวีจากหนังสือการ์ตูนที่ฮิตอยู่ก่อนแล้ว กรณีอาร์ชี่นับเป็นข้อยกเว้น เพราะเกิดมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมของยุคหกศูนย์ สอง คือให้ลองสร้างตัวการ์ตูนหมาที่มิใช่หมา ซึ่งฮันน่า-บาร์เบร่าประสบความสำเร็จถึงสองครั้งสองตัว จากหมา Bandit ของจอนนี่เควสต์และ Scooby Doo หมาจอมเพี้ยน
       ปี 1965 ซีบีเอสโดย Lee Mendelson และ Bill Melendez เสี่ยงครั้งสำคัญในการสร้างการ์ตูนสั้น ความยาวครึ่งชั่วโมงตอนพิเศษ จากคอมิกสตริ๊ปส์ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ Peanuts ของ Charles M Schulz (รูปที่5) เป็นที่วิจารณ์กันมากว่าไม่น่าเป็นไปได้ ที่เนื้อเรื่อง และลายเส้นของชาร์ลี บราวน์และสนู้ปปี้จะกลายเป็นอะนิเมชั่นได้
       แต่ A Charlie Brown Christmas ไม่เพียงได้รับคำชมเชยจากผู้ชม พวกเขายังได้รับรางวัลเอ็มมี่ในปีนั้นอีกด้วย ทำให้มีการสร้างพีนัทส์ตอนพิเศษ เพิ่มอีกมากกว่าสิบเรื่องติดตามมา แถมด้วยหนังโรงอีกสี่ตอน และซีรีย์สที่ออกฉายเช้าวันเสาร์
       ปี 1966 ชัค โจนส์ สร้างผลงานเด่นอีกครั้งด้วยการผลิต How the Grinch Stole Christmas ของ Dr.Seuss เพื่อฉายทางโทรทัศน์ในเทศกาลคริสตมาสปีนั้น กลายเป็นการ์ตูนคริสตมาสอีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จท่วมท้น 
       ยังมี George of the Jungle ผลงานปี 1967 ของ Jay Wards ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับกอริลลา ที่เป็นบัณฑิตอ๊อกซ์ฟอร์ด ทำหน้าที่คอยดูแลทาร์ซานจอมเพี้ยนอย่างจอร์จ และ Pink Panther ผลงานปี 1969 ของ Friz Feleng ซึ่งสร้างจากงานเขียนของ Blake Edwards นอกจากนี้แล้วทีวีก็ไม่มีการ์ตูนเด่นอะไรอีก และมีคุณภาพที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่เจ็ดสิบ
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 6 The Smurfs
       อันที่จริงแล้วโทรทัศน์ช่วยผู้ต่อลมหายใจให้กับอุตสาหกรรมการ์ตูนของอเมริกา หากปราศจากโทรทัศน์เสียแล้ว อเมริกาคงจะเหลือแต่การ์ตูนของดิสนีย์เพียงคนเดียว แต่ราคาที่จ่ายลงไปก็นับว่าสูง จากการ์ตูนสั้นสตูดิโอที่ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อเรื่อง และคุณค่าทางศิลปะ กลับกลายเป็นการ์ตูนทีวีที่ด้อยคุณภาพ และไม่มีค่าทางศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่
       ความเร่งรีบของอุตสาหกรรมการ์ตูนทีวี ทำให้กรรมวิธีการผลิตส่วนที่เกี่ยวกับการเขียนรูป และลงหมึกมิได้กระทำในอเมริกา แต่ใช้วิธีจ้างงานในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย สเปน และอื่นๆ เฉพาะการเขียนบท ลงสี และการถ่ายทำเท่านั้น ที่กลับมาทำในอเมริกา 
       ด้วยวิธีการผลิตแบบแยกส่วนเช่นนี้ ทำให้อุตสาหกรรมการ์ตูนทีวีไม่สามารถสร้างศิลปินที่มีความเข้าใจลึกซึ้ง เกี่ยวกับจิตวิญญาณของการสร้างงานอะนิเมชั่น ในลักษณาการเดียวกันกับที่ศิลปินยุคสตูดิโอเคยผ่านมา
       เป็นเวลาสิบปีของทศวรรษที่เจ็ดสิบ ที่ไม่มีอะไรน่าพูดถึงสำหรับพัฒนาการของการ์ตูนโทรทัศน์ในอเมริกา ขณะที่การ์ตูนโทรทัศน์ญี่ปุ่น กำลังก่อร่างสร้างตัว และส่งออกนอกประเทศ จนเมื่อเริ่มต้นทศวรรษที่แปดสิบ ฮันน่า-บาร์เบร่าประสบความสำเร็จอย่าง งดงามอีกครั้งจาก The Smurfs ในปี 1981 (รูปที่6) งานสร้างจากการ์ตูนช่องสัญชาติเบลเยี่ยมของ Piere Culliford เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพวกสเมิร์ฟตัวเล็กสีฟ้า ที่อาศัยอยู่ในป่าแสนงาม
       อีกสิบปีของทศวรรษที่แปดสิบผ่านไปอย่างเงียบสงบ จนกระทั่งวอร์เนอร์บราเธอร์สประสบความสำเร็จ ในการร่วมงานกับสตีเว่น สปิลเบิร์ก และดิสนีย์เพื่อผลิต Who Framed Roger Rabbit เมื่อปี 1988 สปิลเบิร์กขอร่วมงานกับลูนนี่ตูนอีกครั้ง เพื่อสร้าง Tiny Toon Adventures อันเป็นเวอร์ชั่นเด็กๆ ของพวกเขาในปี 1990 ตามด้วย Batman the Animated Series ที่มีบรรยากาศมืดหม่นแต่แอ็คชั่นดุเดือดและ Superman สว่างสดใสรวดเร็วฉับไว และสนุกตื่นเต้น นอกจากนี้ยังมี Animaniacs, Freakazoid และ Pinky and the Brain
       สำหรับดิสนีย์ยังคงเส้นคงวากับคุณภาพใน DuckTales ปี 1987 และ Chip'n Dale Rescue Rangers ปี 1989 อีกทั้งนำการ์ตูนเรื่องยาว มาสร้างต่อเป็นซีรีย์สทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก นั่นคือ The Little Mermaid ปี 1992 
       ปี 1983 สาธารณชนและนักวิชาการบางส่วน เริ่มโจมตีความรุนแรงที่มากับการ์ตูนทีวี เช่นโดนัลดั๊กส์ และบั๊กส์บันนี่ นักวิชาการจำนวนหนึ่งโจมตีความรุนแรงที่มากับ He-Man and the Master of the Universe (รูปที่7) แต่ด้วยความร้อนแรงที่น้อยกว่าการโจมตีของ เฟรเดอริก เวอร์แธม ที่กระทำต่อหนังสือการ์ตูนหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบว่านักวิชาการเหล่านั้นมิเคยดูฮีแมนจ้าวจักรวาลด้วยซ้ำไป ทำให้ผลลัพธ์ของการโจมตีอ่อนกำลังลงอย่างมาก 
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 7 He-Man and the Master of the Universe
       ศิลปินของวอร์เนอร์บางคนได้กล่าวเตือนสติสังคมว่า ไม่มีใครในอเมริกา ที่เติบโตขึ้นมาโดยปราศจากการได้ยินได้เห็น การไล่ทุบกันของเหล่าลูนนี่ตูน ถามว่ามีใครเป็นอาชญากรจากการทุบ ทับ บดให้แบน ดิ่งลงเหวเป็นรูโบ๋บนพื้น หรือระเบิดตัวดำปิ๊ดปี๋อย่างที่เห็นในหนังการ์ตูนบ้าง
       นอกจากนี้ Bruno Bettelheim จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์คนสำคัญ ได้ออกมายืนยันว่า การ์ตูนโดยส่วนใหญ่แล้วมักช่วยให้เด็กๆ มั่นใจในศักยภาพที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยการทำงานเป็นทีม เมื่อใดก็ตามที่เด็กๆ ฉายเดี่ยว มักทำให้เรื่องราวในการ์ตูนยุ่งเหยิงมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบจนกระทั่งเขารู้จักร่วมมือกับผู้อื่น และทำงานเป็นทีม ภารกิจจึงจะลุล่วงไป
       อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งตอนกลางของทศวรรษที่แปดสิบ สถานการณ์ของการ์ตูนทีวีเช้าวันเสาร์ ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นในภาพรวม เนื้อเรื่องไม่น่าสนใจ ลายเส้นไม่อาจเรียกได้ว่าสวยงาม คุณภาพไม่ประณีต แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็มิใช่ความผิดของเน็ทเวิร์ก หรือสตูดิโอเพียงถ่ายเดียว ประดาผู้ปกครองที่อนุญาตให้ลูกหลานเฝ้าหน้าจอในตอนเช้าวันเสาร์ ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบเช่นกัน เพราะตราบเท่าที่เรทติ้งของการ์ตูนเช้าวันเสาร์ยังพอไปได้ ผู้ผลิตก็ไม่คิดจะปรับปรุงคุณภาพใดๆ อีกไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือเนื้อหา
       นี่คือช่วงเวลาที่ผกผัน ขณะที่เนื้อหาของการ์ตูนทีวีอเมริกันไม่มีอะไรใหม่ คุณภาพของอะนิเมชั่นก็ค่อนข้างต่ำ อะนิเมะของทีวีญี่ปุ่น กลับพัฒนาเนื้อหาไปไกลสุดกู่ มีทุกรสทุกแนวถูกใจคนทุกเพศทุกวัย และแม้ว่าคุณภาพการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน จะอยู่ในระดับเดียวกัน แต่เทคนิคการขยับฉากหลัง และซาวด์เอ็ฟเฟ็กต์ของการ์ตูนทีวีญี่ปุ่นล้ำหน้ากว่ามาก จึงไม่น่าแปลกใจที่การ์ตูนทีวีญี่ปุ่น จะแผ่ขยายไปทั่วโลกทั้งทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกาใต้ ก่อนที่จะเข้ายึดครองอเมริกาเหนือในที่สุด
       เรื่องตื่นเต้นเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณของทศวรรษที่ 90 เมื่อฟ็อกซ์ให้ Matt Groening สร้าง The Simpsons ในปี 1990 (รูปที่8) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นตลกร้ายด้วยบทหนังชั้นยอด และบทพูดที่เชือดเฉือน แต่ยังสร้างศิลปะที่แตกต่างออกไปจากดิสนีย์ และวอร์เนอร์อย่างสิ้นเชิง
       ขณะที่ดิสนีย์และวอร์เนอร์ใช้ตัวการ์ตูนที่มีโครงร่างเป็นวงกลม หรือวงรีสามมิติเป็นหลัก ครอบครัวของบาร์ท ซิมป์สัน กลับเป็นทรงกระบอกสองมิติ ผมหยิกแหลมที่แสนน่าเกลียด อย่างไรก็ตามความสำเร็จของซิมป์สันมีมากมาย จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกัน และมีอิทธิพลต่อการ์ตูนทีวีสองมิติ แนวเสียดสีจำนวนมากในเวลาต่อมา
(คลิกดูภาพใหญ่)
รูปที่ 8 The Simpsons
       ปี 1992 Beavis and Butt Head ของ Mike Judge ทางเอ็มทีวีประสบความสำเร็จ ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ด้วยความรุนแรงและหยาบคายที่มากกว่า ความรุนแรงและพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ที่มากับ The Simpsons และ Beavis and Butt Head นำไปสู่รายงานพฤติกรรมเลียนแบบของวัยรุ่นในอเมริกา และกระตุ้นให้สังคมหันมาจ้องจับยาพิษที่แฝงมากับการ์ตูนอย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้งหนึ่ง
       แต่ปฏิกิริยาจากผู้ผลิตการ์ตูนทีวีเป็นไปในทำนองนี้ "ความรับผิดชอบเป็นของผู้ปกครองมิใช่ของผู้ผลิต หากผู้ปกครองพิจารณาว่า รายการใดไม่ควรให้เด็กดู ก็ควรพูดกับเด็กๆ ให้เข้าใจแล้วปิดโทรทัศน์เสีย"
       การ์ตูนอย่าง King of the Hill หรือ South Park ก็มีเนื้อหาที่รุนแรง และแสดงออกทางเพศมากขึ้น การ์ตูนจากผู้ผลิตรุ่นใหม่เช่น Rugrat ของ Nickelodeon ก็จะแตกต่างจากการ์ตูนดิสนีย์ หรือวอร์เนอร์อย่างสิ้นเชิง และทุกเรื่องได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
       แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าคือ อุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่นได้ส่งออกการ์ตูนญี่ปุ่นไปทั่วโลก และแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษที่เจ็ดสิบเป็นต้นมา ชัดเจนว่าเนื้อหาของการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ทั้งรุนแรง และแสดงออกทางเพศโจ่งแจ้งมากกว่า อีกทั้งได้รับความนิยมมากในทุกประเทศที่ไปถึงมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งให้อยู่กับโทรทัศน์ตามลำพังมากเกินไป มักเป็นเด็กที่ไม่มีวินัย ก้าวร้าว และไม่มีความยับยั้งชั่งใจทางเพศ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเลือกดูรายการโทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับวัย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือไม่ก็ตาม
         ในทางตรงข้ามกับเด็กๆ ที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ชิด และครอบครัวมีความอบอุ่น เด็กๆ ไม่เพียงจะเลือกดูรายการโทรทัศน์ หรือการ์ตูนที่มีเนื้อหาสาระดีกว่า แต่พวกเขายังรู้จักแยกแยะความรุนแรงที่มากับรายงานข่าว ออกจากความรุนแรงที่มากับการ์ตูน ซึ่งเป็นความสามารถที่เด็กกลุ่มแรกทำไม่ได้
       อย่างไรก็ตามความรู้ทำนองนี้ มักไม่ได้รับการตอบสนองจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศสหรือประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการรุกรานของการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนๆ กันหมด พ่อแม่จำนวนมากในหลายประเทศมีความเห็นว่า รัฐควรเป็นผู้แทรกแซงผู้ผลิตการ์ตูนโดยตรง มากกว่าจะปล่อยปละละเลย ให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเขา
       พ่อแม่จำนวนหนึ่งเชื่อว่า เป็นการถูกต้องมากกว่า ที่จะให้ลูกๆ รับรู้เรื่องราวต่างๆ จากละครน้ำเน่า หรือการ์ตูนยอดฮิต เพื่อที่จะได้มีเรื่องไปพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน อีกประการหนึ่งพวกเขาเชื่อว่า ในที่สุดแล้วเด็กๆ ส่วนใหญ่ คือเด็กที่ซึมซับการ์ตูนเหล่านี้เข้าไป ซึ่งไม่ควรจะมีปัญหาอะไรมากมาย เพราะสังคมของคนส่วนใหญ่ จะปรับตัวหาทางออกของมันเองได้ในที่สุด
       แม้ว่าจะฟังดูเหมือนเป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลลูก ให้มากเท่าที่ควร แต่ก็เป็นข้ออ้างที่สร้างความพึงพอใจ และความสมดุลย์ให้กับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐ ผู้ผลิต และพ่อแม่ผู้ปกครองเอง