สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕ "หมาสมัยใหม่, ความรัก, และผลประโยชน์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕  

ที่นี่...ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา

เรื่อง วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

(คลิกดูภาพใหญ่)

       สองฝ่ายที่เผชิญหน้ากันอยู่ ดูไม่ใช่คู่ปรับคู่เปรียบที่เหมาะสมกันเลย ผาหินตระหง่านฟ้านั้นแข็งแกร่งยิ่งใหญ่ ขณะที่มนุษย์ที่ยืนอยู่ตีนผาดูเล็กจ้อยต้อยต่ำเหลือเกิน แต่หลายคนก็เคยฝ่าข้าม พิชิตถึงยอดเขามาแล้ว...เป็นการพิชิตโดยไม่ยึดครองอะไร
       เป็นเรื่องแปลกที่น่าทำความเข้าใจ ว่าทำไมผู้คนในโลกสมัยใหม่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ให้เลือกหยิบฉวยมาปรนเปรอชีวิตได้อย่างล้นเหลือ จึงเลือกที่จะออกมาผจญความลำบากบนผาหิน ที่มองไม่เห็นผลตอบแทนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
       ปีนป่ายหน้าผาขึ้นไปด้วยสองมือเปล่า และกลับลงมามือเปล่า...


 

(คลิกดูภาพใหญ่)

       กว่า ๑๐ ปีมาแล้วที่กีฬาปีนเขาแพร่มาถึงไร่เล หากถามถึงวันเวลาที่แน่นอน คงไม่มีชาวเลคนไหนบอกได้ การจดบันทึกไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวิถีชีวิตของการประมง สิ่งที่อุบัติขึ้นและดำเนินไปในชุมชนชายเล จึงเป็นเหมือนรอยเท้าบนผืนทราย เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านเลยไปในเกลียวคลื่นแห่งกาลเวลา จะหลงเหลืออยู่บ้างก็แต่ในความทรงจำของผู้คน 
       ถ้าย้อนความตามหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะพบชื่อของ Dominique Potard และ Francois Burnier เป็นชื่อแรก ๆ ในหนังสือไกด์บุ๊ก ในฐานะผู้นำเมล็ดพันธุ์ของเกมกีฬาแห่งความท้าทายมาหว่านลงบนแผ่นดินไร่เล
       ต่อมานักปีนเขาชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่ นำโดย Todd Skinner มาสำรวจบุกเบิกเส้นทางปีนเขาที่ไร่เลอย่างจริงจัง และมีการบันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวกลับไปด้วย ภาพผาหินท่ามกลางทิวทัศน์ชายทะเลอันพิสุทธิ์และงดงาม ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นนักปีนผาจากทั่วทุกมุมโลกก็ทยอยกันมาเยือนไร่เลอย่างคึกคัก
       จากวันนั้น...กีฬาปีนผาก็หยั่งรากลงที่ไร่เลอย่างมั่นคง และเป็นดินแดนแห่งแรกที่กีฬาปีนเขาเข้ามาปักธงในประเทศไทย


 

(คลิกดูภาพใหญ่)        กีฬาปีนเขา (Rock Climbing) เกิดขึ้นแผ่นดินยุโรปกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว การกำเนิดของมันเกี่ยวเนื่องกับความรุดหน้าของเทคโนโลยีอย่างมิอาจปฏิเสธ ความเจริญด้านอุตสาหกรรม ทำให้คนมั่งคั่งและสะดวกสบายขึ้น แต่มันก็แลกมาด้วยความว้าเหว่แหว่งวิ่นทางจิตใจของคนในสังคม การได้ออกไปผจญกับความยากลำบากบนหน้าผาสูง จึงเป็นทางหนึ่งของการออกไปค้นหาตัวตนและจิตวิญญาณส่วนที่สูญหาย
       ในอเมริกามีผาที่มีชื่อเสียงนามว่า เอล กัปตัน อยู่บนเทือกเขาในอุทยานโยเซมิติ ซึ่งถือเป็นสถานปีนผาอันดับหนึ่งของประเทศ กัปตัน จิม เคิร์ก ในหนังเรื่อง สตาร์ เทรก ที่เดินทางไปยังดาวดวงต่าง ๆ ทั่วจักรวาลด้วยยานแห่งอนาคต ยังเคยลงจากยานมาปีนไต่ผาแห่งนี้ 
       ปัจจุบันความนิยมอย่างแพร่หลาย ประกอบกับพื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศอุตสาหกรรมมีเจ้าของ ทำให้การปีนเขาในยุโรปและอเมริกา มีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก 
       นักปีนเขาจากโลกตะวันตกจึงพากันออกมาค้นหาดินแดนผจญภัยใหม่ ในแถบประเทศโลกที่สามเพื่อพิชิต... แต่เป็นการพิชิตโดยไม่ยึดครองอะไรเลย
       คนที่ยืนมองอาจเห็นว่าเขาลงกลับมามือเปล่า บางคนที่ปีนผาก็พบความจริงเช่นนั้น ไม่ใช่เพียงบนยอดเขาที่ว่างเปล่า แม้แต่ชีวิตก็เป็นเรื่องที่ปราศจากตัวตน... 
 

(คลิกดูภาพใหญ่)        ไร่เล เป็นแหลมแผ่นดินที่มีสภาพเหมือนเกาะ อยู่ในอ่าวกระบี่ช่วงบน ในเขตพื้นที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดด้วยระยะทางบกประมาณ ๑๔ กิโลเมตร กับระยะทางทะเลอีก ๑๕ นาทีเรือหางยาว 
       สัณฐานของไร่เลคล้ายรูปค้อนปอนด์ หัวค้อนทั้งสองข้างเป็นโขดเขาหินปูน มีหาดเล็ก ๆ ที่งดงามมากอยู่ทางด้านนอกชื่อหาดพระนาง ส่วนด้านในมีหาดน้ำเมาทอดโค้งอยู่ทางตะวันออก และมีหาดไร่เลตะวันตกทอดยาวอยู่ในฟากตรงข้าม ต่อเนื่องไปถึงอ่าวต้นไทร ที่ราบแคบ ๆ ระหว่างหาดทั้งสองก็คือส่วนของด้ามค้อนที่ทอดเข้ามาเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ แต่ถูกทอดทับด้วยแหลมนางที่ทอดต่อขึ้นมาจากอ่าวนาง กลายเป็นปราการขวางกั้นแหลมไร่เลออกจากโลกภายนอก
       การจัดวางตัวเองของธรรมชาติเช่นนี้ สกัดกั้นเส้นทางบกที่จะทอดไปยังไร่เล การสัญจรจึงอาศัยแต่ทางทะเลเท่านั้น เส้นทางเก่าแก่ที่สุดคือนั่งเรือจากท่าอ่าวน้ำเมา เข้าสู่ไร่เลทางด้านหน้าหรือทางด้านตะวันออก และอีกทางคือนั่งเรือหางยาวมาจากอ่าวนาง ก็จะมาถึงไร่เลทางฟากตะวันตก ทั้งสองเส้นทางใช้เวลาเท่า ๆ กัน คือประมาณ ๑๕ นาที ภายหลังเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไร่เลมากขึ้น จึงมีการเปิดเส้นทางใหม่ให้สามารถลงเรือจากท่าเรือเจ้าฟ้าที่ตัวเมืองกระบี่ได้เลย เป็นเส้นทางที่สะดวกสำหรับคนจากต่างถิ่น ใช้เวลาเดินทางราว ๔๕ นาที แต่เส้นทางนี้ใช้สัญจรได้เฉพาะในฤดูที่ทะเลปลอดมรสุมเท่านั้น เพราะพาหนะเป็นเพียงเรือหางยาวลำเล็กติดเครื่องท้าย
       แต่เดิมไร่เลเป็นชายทะเลรกร้างห่างไกลที่ไม่มีใครสนใจ มีครอบครัวชาวประมงอาศัยอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน พื้นที่บางส่วนเป็นที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้สวนของคนแถวนั้น จึงเรียกชื่อกันตามสำเนียงคนปักษ์ใต้ ว่า "ไร่เล" (หมายถึง ไร่ที่อยู่ริมทะเล) จนถึงยุคส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ฝั่งทะเลกระบี่ที่ยังงดงาม บริสุทธิ์ และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ถูกบุกเบิกเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ตามแผน ไร่เล เป็นส่วนหนึ่งที่ติดขบวนมาด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)        กล่าวในแง่ของทัศนียภาพ ไร่เลมีความงดงามไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่นใดในกระบี่ ไม่เว้นแม้แต่เกาะพีพี ด้วยโค้งหาดทอดยาวขาวสะอาด มีที่ราบกว้างพอให้เรือนพัก บังกะโล กระจายตัวอยู่อย่างไม่แออัดจนเกินไป และที่สำคัญ มีโขดเขาหินปูนทอดสลับสลอนอยู่ทั่วไป 
       ในฐานะองค์ประกอบของทิวทัศน์ชายทะเล มันคือฉากหลังครึ้มเข้มที่ช่วยขับหาดทรายขาวให้ยิ่งดูเด่น แต่ในสายตาของนักปีนเขา นี่คือสมรภูมิอันแสนท้าทาย 
       ตามเทือกเขาเหล่านั้นประดับไปด้วยผาหินอันหลากหลาย บนภูมิประเทศที่แตกต่างกันไป มีผามวยไทย, ผา ๑-๒-๓ ตั้งอยู่ริมหาดทราย ผา The keep และ Castle wall หันออกไปหาแสงแดดยามเช้า ที่อยู่ใต้โถงถ้ำเป็นเพิงหินลาดเอียง หรือที่นักปีนเขาเรียกว่า โอเวอร์แฮงก์ ได้แก่ ผาหินของอ่าวต้นไทร หรือที่อยู่สูงขึ้นไปบนเชิงเขา อย่างเช่น ผากำแพงเพลิง ผาไดมอนด์ ผาคฑาไทย ความสมบูรณ์ของผานานารูปแบบเหล่านี้ ทำให้ไร่เลมีคุณสมบัติอันดีเยี่ยมที่จะเป็นสนามปีนเขาอันแสนวิเศษ 
       ผาหินกว่า ๓๐ แห่ง มีเส้นทางปีนเขาที่บุกเบิกไว้แล้วกว่า ๕๐๐ รูท (route) 
       ระยะสิบกว่าปีเป็นช่วงเวลาของการพิสูจน์ จนถึงวันนี้ ไร่เล เป็นสนามปีนเขาที่มือสมัครเล่นหลงใหล นักปีนเขาระดับโลกยอมรับ
       ใครได้มาพบผาไร่เลต่างติดใจในมนต์เสน่ห์อันแพรวพราวเร้าใจ กลายเป็นคำบอกเล่าจากปากต่อปาก จากเพื่อนสู่เพื่อน และผ่านสื่อสารมวลชนระดับสากล จนไร่เลกลายเป็นสถานที่ปีนเขาที่เลื่องชื่อไปในระดับโลก เป็นจุดหมายของคนที่รักในสิ่งเดียวกันโดยมิต้องนัดหมาย 
       หลายคนที่มารู้จักกับไร่เลแล้ว ต้องกลับมาเยือนอีกจนกลายเป็นขาประจำ บางคนมาฝังตัวอยู่เป็นเดือน ๆ เดินสายสำรวจไปตามหน้าผาต่าง ๆ ราวกับนักแสวงโชคที่มาพบกับดินแดนอันเป็นขุมทรัพย์...
       นักปีนเขาต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่มารวมชุมนุมกันอยู่ที่ไร่เล เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ แต่ผลสะเทือนจากสิ่งที่เขากระทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ 
       เขาทำให้ที่นี่เป็นเมืองหลวงแห่งการปีนเขา และเป็นโรงเรียนสอนปีนเขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 

(คลิกดูภาพใหญ่)        ทุกวันนี้ ชื่อของไร่เลเป็นที่รู้จักของนักปีนผาทั่วโลก นิตยสารเกี่ยวกับการกีฬาและการผจญภัยกลางแจ้งระดับโลกเกือบทุกเล่มเคยตีพิมพ์เรื่องของไร่เล แต่สำหรับในประเทศไทยมีผู้คนไม่มากที่เคยได้ยินชื่อนี้ ยังไม่ต้องถามถึงว่าจะรู้จักกับกีฬาปีนเขา 
       เจ้าของถิ่นเองแม้อาจเคยเห็นภาพคนปีนเขาผ่านตาอยู่บ้าง แต่ก็ดูจะอยู่นอกเหนือความใส่ใจไยดี ด้านองค์กรส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนสนใจเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
       ทั้งนี้อาจเนื่องจากว่า เมื่อมองอย่างผิวเผินกีฬาปีนเขาดูอันตราย น่ากลัว เหมือนการละเล่นอันไร้สาระของคนบ้าบิ่น เป็นเกมกีฬาของผู้ก้าวร้าว ดุดัน จึงอยู่นอกสายตาของราชการที่จะใส่ใจส่งเสริม 
       โดยไม่เคยรู้ว่าหากได้ศึกษาและทำความรู้จักกับมันในระดับหนึ่งจะพบว่า กีฬาบนผาสูง และท้าทายต่อแรงโน้มถ่วงโลกชนิดนี้ มีสาระประโยชน์อย่างลึกซึ้ง...
       นักปีนเขาหลาย ๆ คนที่ได้รู้จัก มีบุคลิกร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง ทุกคนดูนิ่ง เยือกเย็น หนักแน่น เมื่อได้คุยด้วยจะยิ่งพบว่าพวกเขาสุขุมและอ่อนน้อม

         "ลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นของกีฬาปีนเขา คือการประสานกันของร่างกาย จิตใจ และอุปกรณ์ ซึ่งต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน การฝึกฝนจะทำให้ร่างกายแข็งแกร่ง จิตใจมั่นคง มีสมาธิ ฝึกความอดทนและการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่มีในกีฬาชนิดอื่น" ปากคำของ มอ หรือ นรินทร์ งามวงศ์ ไกด์ปีนเขาแห่งร้านคิง ไคลมเบอร์ส 
       ไกด์ปีนเขาผิวเข้มร่างสูงเล่าถึงที่มาของตัวเองว่า ได้รู้จักกับกีฬาอันผาดโผนนี้เมื่อสี่ปีก่อน พอหัดปีนก็ติดใจ จากนั้นก็ฝึกเรื่อยมา จนผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกวันนี้นับได้ว่าเขาคือมืออาชีพคนหนึ่ง และเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยงานที่ตัวเองรัก "ความสุขที่สุดในงานปีนเขาของผมคือได้ทำในสิ่งที่ท้าทาย และได้ทำให้คนอื่นรู้สึกสนุกและมีความสุขเหมือนที่ผมเป็น"
       การก่อร่างสร้างชุมชนของคนปีนเขาที่ไร่เล เกิดจากกำลังของหนุ่ม ๆ ในท้องถิ่น คิง เท็ก ดีน หลวง พล จักร เป็นเด็กหนุ่มชาวเลรุ่นแรก ๆ ที่หัดปีนเขาจากฝรั่งยุคบุกเบิก ต่อมาพวกเขาเป็นเหมือนเสาต้นแรก ๆ ที่สร้างรากฐานการปีนเขาให้กับไร่เล ในวัยหนุ่มใหญ่พวกเขากลายมาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาสู่รุ่นน้อง บางคนผันตัวเองไปเป็นเจ้าของกิจการร้านให้บริการเช่าอุปกรณ์ปีนเขา
       ปัจจุบันไร่เลมีร้านในเช่าอุปกรณ์อยู่หกร้าน คือ คิง ไคลมเบอร์ส, เท็กร็อค ไคลมบิ้ง, กระบี่ ร็อค ไคลมบิ้ง, คลิฟฟ์ส แมน, ฮ็อตร็อค และร็อคช็อป ร้านปีนเขาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเพียงร้านเดียวที่ตั้งอยู่ที่อ่าวต้นไทร 
       ทุกร้านจะมีไกด์ หรือ Rattaman ร้านละ ๓ คน ๕ คน ไปจนถึงนับ ๑๐ คน ตามแต่ความเล็กใหญ่ของร้าน ทำหน้าที่ ปีนนำ ช่วยเหลือ ฝึกสอนให้แก่คนที่มาเริ่มหัดปีน เป็นคู่ขา (buddy) ให้แก่นักปีนเขาที่มาเดี่ยว 
       กลุ่มนักปีนเขาเจ้าถิ่นยังได้รวมตัวกันตั้งเป็นชมรมกีฬาปีนเขาอาชีพ จังหวัดกระบี่ เพื่อดูแลช่วยเหลือกันเอง รวมทั้งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้ผู้มาเยือนภูผาไร่เล 
(คลิกดูภาพใหญ่)        ที่ไร่เล กิจการร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปีเขาทั้งหมด มีเจ้าของเป็นคนไทย แต่ผู้มาใช้บริการกลับตรงกันข้าม ทุกร้านให้ข้อมูลตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ถึง ๙๐-๙๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นฝรั่งต่างชาติ ตามหน้าผาต่าง ๆ จึงเห็นแต่มนุษย์ตุ๊กแกผิวขาวผมทองไต่ไปบนผาหินอย่างสำราญ ราวกับว่าบนยอดเขาเป็นโลกที่พวกเขาฝันหา
       เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่เจ้าของถิ่นยังไม่สนใจที่จะหันมาใช้ประโยชน์ และสร้างคุณค่าจากทรัพยากรในบ้านของตัวเอง
       มันไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครใส่ใจให้ความรู้-กระตุ้นความสนใจให้เขาเลย ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ล้วนได้ยินชื่อไร่เล ผ่านทางเอกสารและรายการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งเสพความสนุกสนานเพียงครู่คราว มากกว่าทำความเข้าใจถึงปรัชญาสาระในเชิงลึก
       สิ่งที่น่าเศร้าคือ ผู้มีอำนาจและมีบทบาทในการนำพาบ้านเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ ไม่เคยสนใจไยดีที่จะสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาในแขนงนี้เลย ปีนผา จึงยังเป็นเกมกีฬาเถื่อนที่หลุดลอยอยู่นอกทำเนียบการกีฬาของประเทศไทย 
       ไร่เลอุดมไปด้วยนักปีนเขามีฝีมือ แต่เป็นเหมือนคนชายขอบที่ไม่ถูกนับถือ
       โดยศักยภาพในทุกด้าน ไร่เลยังสามารถพัฒนาในเชิงคุณภาพได้เป็นอย่างสูง ธรรมชาติเอื้อภูมิประเทศอันเหมาะสมมาให้แล้ว ผู้ชำนาญด้านทักษะเทคนิคมีอยู่มากมาย พร้อมจะให้ความร่วมมือ ขาดแต่การสนับสนุนส่งเสริม 
       ถ้าการปีนเขาได้รับการส่งเสริมแพร่หลายในระดับประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นทางเลือกให้แก่คนที่ไม่เคยสนใจกีฬาชนิดใดเท่าที่มีอยู่เลย และในตัวเลือกเหล่านั้นอาจมีแชมป์โลกในอนาคตรวมอยู่ด้วย ให้ไร่เลเป็นที่ฝึกฝนตนของคนที่ปรารถนาจะค้นหาตัวเอง
       มีแต่การปลูกฝังและฝึกฝนเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบ และหากต้องการเช่นนั้นคงต้องเริ่มในเร็ววัน เพราะมีข่าวแว่วว่าในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียกำลังเตรียมการใหญ่ จะผลักดันให้กีฬาปีนเขาเป็นกีฬาประจำชาติอยู่เช่นกัน 
         ในเชิงการท่องเที่ยว การปีนเขาสามารถกลายเป็นสัญลักษณ์ของกระบี่ได้ เหมือนการล่องแพที่เป็นหัวใจของเมืองกาญจน์ฯ เหมือนตลาดน้ำที่เป็นหน้าเป็นตาของดำเนินสะดวก ราชบุรี หรือภูกระดึงที่เป็นหน้าบ้านลานรับแขกของเมืองเลย
       "กีฬาปีนเขาไม่ใช่แค่คำถามว่าสนุกไหม อันตรายไหม" ศรุต ศรีแก้วเกิด ไกด์ฝีมือดีของร้านร็อคช็อป อธิบาย "แต่เวลามีช่างภาพ นักเขียน ลงมาหาข้อมูล เรามักต้องตอบแต่คำถามพวกนี้ ซึ่งบางทีสาระที่แท้จริงของมันไม่อาจถ่ายทอดกันได้ด้วยคำบอกเล่า"
       "เพราะฉะนั้นวันนี้พี่ต้องขึ้นปีนผาด้วย สัมผัสให้รู้ด้วยตัวเองจะได้มีข้อมูลไปเขียนได้ถูก" เขาหันมาทางผมอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
 

 
(คลิกดูภาพใหญ่)        "ฟังผมเล่าจะได้แต่ทฤษฎีเท่านั้น ถ้าอยากเข้าใจทั้งหมดต้องลองปีนเอง"  ศรุตยืนยันหลังจากนั่งตอบคำถามของผมมาพักใหญ่ ข้อเสนอของเขาไม่เคยอยู่ในความนึกคิดของผม เพราะไม่เคยพิสมัยความสูงและอะไร ๆ ที่มันหวาดเสียว จึงบอกเขาไปว่าความตั้งใจของผมแค่มาสังเกตการณ์และเก็บภาพเท่านั้น และลึก ๆ ในใจผมยังมีเหตุผลใหญ่อีกข้อหนึ่ง คือ ผมไม่อยากเห็นความอ่อนด้อยของตัวเอง 
       เราเป็นเพื่อนรักสนิทสนมกันมาหลายปี ช่วงหลังต้องห่างกันไปตามวิถีของแต่ละคน แต่ที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นมิตรรุ่นพี่ผู้เคยสอนและให้หลายสิ่งกับเขา ในสายตาและสายสัมพันธ์ของศรุตที่มองมายังผม จึงเป็นภาพที่เจือความนับถือศรัทธา แต่เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าผาหิน เขาคือมืออาชีพ ขณะที่ผมไม่ต่างอะไรกับเด็กอนุบาล อัตตาในตัวหนักอึ้งจนผมไม่กล้าก้าวขึ้นผา
       เช้าวันนี้ ศรุตเลือกผาไดมอนด์ หรือ Diamond cave เป็นที่ต้อนรับเพื่อนรักเก่าแก่ และมิตรผู้ข้ามฟ้าข้ามทะเลมากแดนไกลอีกสองคน คนหนึ่งร่างใหญ่เจ้าเนื้อวัย ๓๐ กว่า อีกคนเป็นเด็กหนุ่มร่างสูงโปร่ง 
       ผาไดมอนด์อยู่ห่างชายทะเลสูงขึ้นไปบนเชิงเขา เป็นผาหินเรียบโล่งบนเขาหินปูนเทือกใหญ่ ไม่มีทั้งหมู่ไม้หรือตะไคร่น้ำ มองขึ้นไปเห็นแต่ หมุด (bolt) ตัวเล็ก ๆ ฝังไล่ขึ้นไปเป็นระยะ สมอผา หรือแองเคอร์ (anchor) อันเป็นจุดปลายทางอยู่ใต้เพิงหินสูงจากพื้นราว ๓๐ เมตร
       แดดสายส่องผาหินอบอุ่นขึ้นแล้ว แต่บริเวณตีนผายังฉ่ำชื้นไอดินหลังฝน ศรุตนำอุปกรณ์ทุกชิ้นออกมาตรวจสภาพและความเรียบร้อยก่อนออกใช้งาน สาวดูเส้นเชือกเคินแมนเทิล ให้มั่นใจว่าปลอดเงื่อนปม เอาฮาร์เนส (harness) หรือห่วงนั่ง สวมรัดสะเอวและโคนขาทั้งสองข้าง พวงควิกดรอว์ (quick draw) คล้องสะเอว คาดถุงแป้งบรรจุผงแมกนีเซียมคาร์บอเนตทับข้างหลัง และสุดท้ายสอดเท้าเข้าในรองเท้าปีนเขาปลายสอบ รวบปลายเท้าเรียวเล็กเหมือนกีบเลียงผา 
       ศรุตกำลังจะปีนนำขึ้นไปบนหน้าผาที่ยังเวิ้งว้าง ไม่มีเชือกนำ เป็นการปีนแบบนำเชือก (leader) ต้องอาศัยกำลังของตัวเองล้วน ๆ และต้องอาศัยทักษะความชำนาญค่อนข้างสูง แต่มีเชือกคุมความปลอดภัยกรณีที่เกิดความผิดพลาด
(คลิกดูภาพใหญ่)        ปลายเชือกถูกสอดผ่านตัวบีเลย์ (belay) ที่ผูกอยู่กับเอว บีเลเยอร์ (belayer) หรือ คู่ขา ผู้ทำหน้าที่ปล่อยเชือกบังคับเชือกให้คนปีน (climber) แล้วนำไปผูกเข้ากับห่วงฮาร์เนสที่เอวศรุตด้วยเงื่อนเลขแปดสองชั้น
       "Climbing" ศรุตหันมาให้สัญญาณกับฝรั่งหนุ่มใหญ่ผู้เป็นบีเลเยอร์ของเขา เป็นสัญญาณว่าเขาพร้อมขึ้นผา และช่วงเวลานับจากนี้ไปสวัสดิภาพผู้ปีนฝากไว้ในมือของคู่เกลอผู้ทำหน้าที่บีเลย์
       "On belay" บีเลเยอร์ตอบรับ เป็นสัญญาว่าทุกวินาทีนับจากนี้ ทั้งคู่จะตั้งมั่นและรวมสมาธิอยู่ในเชือกเส้นเดียวกัน จนกว่าจะมีสัญญาณ "Down" จากยอดผา
       ปลายรองเท้าปีนเขาย่างไปบนชั้นหิน จิกไปตามซอกหลืบ ปลายนิ้วเกาะไปตามชะง่อนหินอันคุ้นเคย โหนกายขึ้นไปทีละช่วงตัวอย่างคล่องแคล่ว โดยบีเลเยอร์คอยปล่อยเชือกให้ตึงพอดี พอเอื้อมถึงห่วงเชือก (thread) เขาปลดควิกดรอว์จากเอว เกี่ยวด้านหนึ่งเข้ากับห่วงเชือกที่ผา อีกด้านเอาเส้นเชือกเคินแนมเดิลสอดเข้าไปได้ยินเสียง กิ๊ก ! แล้วลากเส้นเชือกที่สอดอยู่ในห่วงควิกดรอว์มุ่งขึ้นไปสู่ยอดผา 
       ควิกดรอว์จะเป็นตัวยึดเส้นเชือกไว้หากเกิดอุบัติเหตุคนปีนหลุดร่วงจากผา บีเลเยอร์จะล็อกเชือก นักปีนเขาจะห้อยติดอยู่ที่ควิกดรอว์ตัวบนสุดที่เพิ่งสอดเชือก
       แต่สิ่งนี้ไม่เกิดกับศรุต เขาไต่ผ่านความสูงชัน ๙๐ องศาของไดมอนด์เคฟอย่างสบาย ๆ เหมือนเดินขึ้นบันไดบ้านของตัวเอง จังหวะขยับมือและการหมุนปลายเท้าหาเหลี่ยมมุมดูนุ่มนวล สง่างาม ยามเกร็งข้อยันกายขึ้นไปเห็นความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ขึ้นไปสูงจนจะสุดทางยังไม่เห็นอาการเหนื่อยอ่อน เขายังคงมุ่งขึ้นไปหาสมอผาอย่างอิสระ ดูคล้ายตุ๊กแกหนุ่มที่ร่าเริงอยู่บนฝาบ้านร้าง
       ไม่กี่นาทีมีเสียงตะโกน "Down" ก้องมาจากยอดผา บีเลเยอร์ปลดล็อก เขาโรยตัวตามจังหวะการให้เชือก แวะเก็บควิกดรอร์คืนกลับเข้าพวงที่เอวทีละตัว ลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย 
เมื่อเห็นว่าศรุตมีสวัสดิภาพ หมดความจำเป็นที่ต้องพึ่งเส้นเชือก บีเลเยอร์บอก "Off belay" เป็นสัญญาณสิ้นสุดการทำงาน
       หน้าผาที่ว่างเปล่าอยู่เมื่อครู่ บัดนี้มีเชือกเส้นหนึ่งห้อยเป็นสองทบ
(คลิกดูภาพใหญ่)        สมอผา มีเส้นเชือกสอดผ่าน จะทำหน้าที่คล้ายรอกฝืด ๆ ให้บีเลเยอร์คอยดึงเชือกเพื่อช่วยผ่อนแรงนักปีนเขามือใหม่ และช่วยยึดตัวเอาไว้ในกรณีที่พลาดพลั้งหลุดจากแผ่นผา การปีนแบบมีเชือกนำแบบนี้ เรียกว่า Top rope ซึ่งมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นบันไดขั้นแรกของคนที่อยากก้าวสู่เส้นทางบนความสูง 
       ศรุตสลับตำแหน่งให้ฝรั่งร่างใหญ่ขึ้นปีนบ้าง โดยมีเขาเป็นบีเลเยอร์ให้ ฝรั่งหนุ่มใหญ่คนนี้เคยผ่านสมรภูมิผาเขาในประเทศต่าง ๆ มาพอสมควร ภาระของไกด์อย่างศรุตเพียงแค่คอยคุมความปลอดภัย-ให้เชือกตามจังหวะ ส่วนการเดินทางไปสู่ความสูง ผู้มีประสบการณ์ย่อมไม่ปรารถนาคำพร่ำสอนจากใคร
       นักปีนเขาแต่ละคนจะมีท่วงท่าเฉพาะตน ลีลาการปีนของนักปีนเขาจากโลกตะวันตกดูสง่างามลื่นไหลเหมือนเล่นกายกรรมบนหน้าผาหิน เขาพารูปร่างที่ค่อนไปทางเจ้าเนื้อฝืนแรงโน้มถ่วงของโลกขึ้นไปอย่างไม่ยากเย็น ไต่เลาะไปตามหนทางที่มีหลืบหินให้ยึดเกาะ ยันกายขึ้นได้ก็มองหาช่องทางไปต่อ แม้เขาจะเป็นนักปีนมืออาชีพ แต่ความแปลกใหม่ของเส้นทางทำให้เขาใช้เวลาไปมากกว่าศรุต 
       ผู้ก้าวขึ้นพิชิตยอดผารายต่อมาเป็นเด็กหนุ่มฝรั่งผู้ออกสู่สนามเป็นครั้งแรก สำหรับเขาผู้นี้นอกจากศรุตต้องคอยบีเลย์อย่างเข้มงวด ยังต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนด้วย เริ่มตั้งแต่วิธีการใช้อุปกรณ์ เทคนิคการป่ายปีน การผ่อนแรง และยังต้องคอยปลุกปลอบให้กำลังใจ ยามที่เขาอ่อนแรงและตื่นกลัว 
       กว่าจะผ่านไปได้แต่ละช่วงตัวดูติดขัด ตะกุกตะกัก ระยะทางบนผาสูงไม่กี่สิบเมตรรู้สึกยาวนานกว่าจะผ่านขึ้นไปจนสุดทาง และเชื่อว่าในใจเขาคงยาวนานยิ่งกว่า 
       ระหว่างนั้นศรุตคาดคั้นอยู่เป็นระยะจะให้ผมขึ้นหน้าผาให้ได้ เขายืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ถ้าต้องการข้อมูลและความเข้าใจทั้งหมดเพื่อเอาไปเขียนได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่มีวิธีอื่นใดนอกจากการขึ้นสู่หน้าผาด้วยตัวเอง ต่อจากนั้นก็ชักแม่น้ำทั้งห้า หว่านล้อมด้วยเหตุผลหนักแน่น
       ผมรู้ว่าหมดทางที่จะหลบเลี่ยง จำใจรับฮาร์เนสมาสวมเข้าเอว ขณะที่สติกับความกล้ากระเจิงไปคนทิศทาง
       ประสบการณ์ชั้นครูคงทำให้เขาพอจะอ่านใจผมออกว่ามันกำลังวุ่นวายเพียงใด เขาปลอบว่าไม่มีอะไรน่าหวั่นกลัว ปลายเชือกที่ผูกยึดฮาร์เนสด้วยเงื่อนเลขแปดสองชั้นจะไม่มีวันหลุด และเส้นเชือกรับน้ำหนักตกกระชากได้ถึงสองตัน วิวสวยเหลือเกินรอคอยอยู่ข้างบน มีไม่กี่คนหรอกที่มีโอกาสได้ขึ้นไปเห็น
(คลิกดูภาพใหญ่)        ส่วนเทคนิควิธีการปีน ให้มองหาปุ่มปมและรอยแยกรอยแตกของหิน เกาะขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องเร่งร้อน ไม่ต้องโถมกำลังมาก เขาจะคอยดึงเชือกช่วยผ่อนแรง 
       ผมเข้าประชิดหน้าผา แหงนมองเบื้องบนเห็นสมอผาลิบ ๆ อยู่ปลายทาง แผ่นผากางกว้างจนบดบังฟ้า เพียงปลายมือสัมผัสความแข็งแกร่งรู้สึกความเย็นวาบแล่นเข้าอก นาทีนั้นรู้สึกตัวเองเล็กจ้อยดั่งไรหมัด อัตตาละลายลงสู่ดิน
       รวบรวมใจให้กร้าวกล้าฮึกเหิม แต่ก็อย่างมวยวัดที่ไร้ชั้นเชิง ย่าง-ยัน เกาะแน่นจนแขนขาเกร็งแข็ง โหนกายเต็มกำลัง จะข้ามชะง่อนหินช่วงแรก เกาะแง่หินจนเอ็นโปน เหนี่ยวกายขึ้นสุดแรง ก่อนปลายเท้าหลุดจากซอกหิน นิ้วมือชื้นเหงื่อที่ยึดอยู่บนปมหินลุ่น ๆ ลื่นหลุด ไม่ทันรู้ตัวว่าตก ก็พบว่าตัวเองนั่งห้อยอยู่บนห่วงนั่งแล้ว เส้นเชือกตึงเขม็งแต่ไม่หมุน เพราะไนลอน ๑๒ เส้นของเคินแมนเทิลทอตีเกลียวสลับซ้ายขวาป้องกันการณ์นี้ไว้แล้ว แขนขาอ่อนเปลี้ย ไม่มีแรงแม้แต่จะเอื้อมมือไปจับหินดึงตัวเองเข้าไปพักบนซอกผา
       ผมขอลงกลับ ศรุตตะโกนขู่ขึ้นมาว่าไม่เคยมีใครขึ้นไม่ถึงยอดผา เด็กหนุ่มจากต่างบ้านต่างเมืองคนเมื่อครู่นี้ก็ขึ้นไปเหยียบมาแล้ว ผมอยากเป็นคนแรกที่พ่ายแพ้หรือ 
       นาทีนั้นผมรู้สึกไม่มีภาพลักษณ์อันใดต้องรักษาอีกแล้ว ยืนยันขอลงกลับ ศรุตยังไม่ยอม เขาย้อนไปเอาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมที่เคยเรียนด้วยกันมาปลุกใจว่า ที่มือไม้อ่อนเพราะว่าใจเรากลัว สมองจึงสั่งต่อมในร่างกายให้หลั่งสารที่ทำให้กล้ามเนื้อเราอ่อนเปลี้ย แต่ถ้าใจเราสู้ ฮอร์โมนอีกชนิดจะหลั่งมาแทน เหมือนเวลาไฟไหม้บ้าน โอ่งน้ำเรายังแบกวิ่งได้ 
       ผมยังไม่ยอมปีน เขาบอกจะดึงขึ้นไปเอง ว่าแล้วเขาก็โหนเชือกเหมือนจะชักรอกผมขึ้นไป จนตัวเขาเองลอยต่องแต่ง
       เห็นความมุ่งมั่นของเพื่อนผมเกิดกำลังใจ เรี่ยวแรงฟื้นคืนขึ้นมาบ้าง ลองสอดปลายนิ้วไปตามซอกหินที่พอมีรอยให้เกาะ พอออกแรงเหนี่ยวศรุตช่วยดึงเชือกอย่างรู้ใจ เขาใช้ความเป็นมืออาชีพประคับประคองให้ผมแกะเส้นทางขึ้นไปทีละคืบทีละศอก...
       กระทั่งเหลือระยะทางราว ๕ เมตรสุดท้าย รู้สึกเรี่ยวแรงที่ผมมีถูกใช้ไปหมดแล้ว ข้อเข่าสั่นระริก ในหูอื้ออึงไม่แน่ว่าเพราะขึ้นสู่ที่สูงหรือเพราะกำลังจะเป็นลม ก้มลงมองลงไปข้างล่าง เห็นศรุตโบกมือไหว ๆ สื่อความหมายว่าไม่ต้องมองลงมา
(คลิกดูภาพใหญ่)        ผมรีบหันหน้ากลับ ยินเสียงเพื่อนที่ตะโกนขึ้นมาบอกทางแผ่วเบาราวลอยมาจากหุบเหวอันลึกเร้น รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่บนดาวอีกดวงอันไกลโพ้น 
       คลำเส้นเชือกที่ผูกอยู่กับห่วงนั่ง ยามนี้มันเป็นเหมือนสายใยเส้นเดียวที่พอให้อบอุ่นใจได้ว่ายังมีเพื่อนรักอยู่ที่ปลายอีกข้าง สายสัมพันธ์ของเรายังแน่นแฟ้นอยู่ในเชือกเส้นเดียวกัน
       สัมผัสถึงกำลังใจที่เพื่อส่งมาตามเส้นเชือก แต่รู้ดีว่าการเดินทางครั้งนี้ มีแต่สมองกับสองแขนและสองขาของตัวเองที่จะพาไปถึงที่หมาย
       ลมทะเลวู่หวิวผาหินอยู่กรูเกรียว พาใจให้หวั่นไหวในวูบแรก แล้วให้ความรู้สึกชื่นเย็นในวาบต่อมาเมื่อสลัดความกลัวทิ้งลงพื้นไปเสียได้ มองผ่านยอดไม้ออกไปยังเวิ้งทะเล เห็นผืนน้ำสีครามทอดโอบล้อมเกาะแก่ง โขดเขา โล่งลิบไปเชื่อมถึงทิวเมฆที่ริมฟ้า ริ้วคลื่นล้อแสงตะวันยามเพล วิบวับเหมือนแฉกดาวประดับทะเลยามทิวา 
       ปราชญ์คนหนึ่งของโลกเคยฝากถ้อยถึงคนหนุ่มไว้ว่า "ถ้าอยากเห็นหุบเขาจงปีนภู ถ้าอยากเห็นภูจงไต่เมฆ แต่ถ้าอยากเข้าใจเมฆจงหลับตาและคิด" 
       วันนี้แม้ยังเข้าใจเมฆไม่ได้ ก็ขอเพียงได้เห็นหุบเขาและห้วงทะเล... หัวใจผมบอกก่อนพามือไปจับสมอผา
..................................
       นานมากแล้วที่ผมไม่ต้องต่อสู้กับอะไรเลย ความบริบูรณ์ของชีวิตในเมือง พร้อมจะตอบสนองความต้องการให้เราได้ทุกอย่าง เพียงมีอำนาจซื้อ แต่สังคมบริโภคนิยมเลี้ยงเราให้เติบโตแต่เพียงร่างกาย ขณะที่หัวใจลีบเล็กลงทุกวัน
       ลงกลับจากผาไดมอนด์วันนั้น เพิ่งรู้สึกว่าหัวใจของผมใหญ่ขึ้นมาบ้าง