นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ "๔๘ พรรษา  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ตามหาเพลงดาบ นักรบโบราณ
     "เราดำเนินชีวิตตามแบบที่พ่อสอน ไม่ใช่จากการพูด แต่จากการทำตลอดชีวิตของพ่อเองบอกให้รู้ว่า พวกเราโชคดีมากได้เกิดมาในฐานะที่สบาย จึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง และมีหน้าที่พิเศษคือ จะต้องใช้ความสามารถที่มีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา" 

ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ 

     ๒๓ มีนาคม ที่ผ่านมา มีงานฌาปนกิจเล็ก ๆ งานหนึ่งที่วัดธาตุทอง มีคนจำนวนมากมาร่วมงานอย่างอบอุ่นตั้งแต่ชาวบ้านต่างจังหวัด นักธุรกิจ อาจารย์ องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการ ดารานักแสดง ไปจนถึงเจ้านายชั้นสูง
     ทุกคนมาร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ 
     แวดวงสังคมอาจรู้จักท่านในฐานะธิดาของม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น ผู้นำเสรีไทยคนสำคัญ และในฐานะเจ้าของสตูดิโอ Ngor แหล่งผลิตและออกแบบลายผ้าบาติคที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ เมื่อสิบกว่าปีก่อน
     แต่ชาวบ้านทางภาคเหนือจำนวนมากรู้จักท่านดีในฐานะเจ้าผู้อุทิศตัวเอง ลงมือปฏิบัติเพื่อปกป้องรักษาผืนป่าทางภาคเหนือทั้งกาย วาจา ใจ อย่างเงียบ ๆ
     ครั้งหนึ่งผมเคยถามท่านว่าทำไมจึงสนใจเรื่องธรรมชาติอย่างจริงจัง ท่านตอบว่าความรักในธรรมชาติมันอยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ๆ 
     ในวัยเด็กม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์หรือคุณหนุ่นเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านไปอยู่อังกฤษกับรัชกาลที่ ๗ตั้งแต่อายุสามขวบ 
     "ตอนนั้นคุณพ่อซึ่งเป็นพี่ชายของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ตามเสด็จไปกับพระองค์ท่าน หลังจากทรงสละราชสมบัติ เราไปอยู่กันในพระตำหนักเดียวกัน เป็นครอบครัวใหญ่อยู่ติดป่า ดิฉันเลยโตในป่า ชอบเข้าป่าดูนกทำรัง หรือไปเก็บเห็ดมาทำกิน "
     นอกจากชีวิตในวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว การศึกษาในวัยเด็กที่ประเทศอังกฤษ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
     "โรงเรียนที่ฉันเรียนตั้งแต่อายุห้าขวบ เริ่มแรกเขาสอนสามวิชา แต่ไม่ใช่วิชาอ่าน เขียน หรือเลข แต่เขาสอนวิชาธรรมชาติ วาดเขียน และดนตรี แล้วจากสามอย่างนี้ เด็กก็มีความสนใจอยากอ่าน อยากเขียนกันเอง เพราะมันมีแรงจูงใจ " 
     พอกลับจากอังกฤษคุณหนุ่นเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปากร เกษตรศาสตร์ แต่รู้สึกอยากสอนเด็กมากกว่า จึงไปเป็นครูที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา และมาเปิดสตูดิโอ ngor ผลิตลายผ้าบาติคในเวลาต่อมา
     ระหว่างนั้นคุณหนุ่นมีโอกาสมาเดินป่าทางภาคเหนือบ่อย ๆ เห็นปัญหาการทำลายป่า จึงได้ร่วมมือกับพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชธมโม ด้วยการก่อตั้ง มูลนิธิธรรมนาถ เพื่อร่วมมือกับชาวบ้านในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ที่ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ให้กลับคืนมา 
     พอทำไปทำมาคุณหนุ่นจึงตัดสินใจเลิกกิจการผ้าบาติค ที่กำลังเจริญก้าวหน้า เพื่อจะอุทิศเวลาทำงานอนุรักษ์ป่าอย่างเต็มที่ และยังควักเงินส่วนตัวหลายสิบล้านบาท ให้กับงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ทำมาสิบกว่าปี ท่านเคยกล่าวว่า
     "ฉันเองก็ทุ่มสุดตัวทั้งเงิน ทั้งความคิด ทั้งเวลา เลิกทุกอย่างเพื่อมาทำที่นี่ คนอื่นก็ต้องคิดว่า มันต้องมีผลประโยชน์มหาศาลที่ฉันจะได้รับ แต่นึกไปอีกอย่าง เราก็ได้ผลประโยชน์จริง ๆ คือได้สีเขียว... ฉันทนไม่ได้ที่เห็นว่ามันแห้งเข้าทุกที ๆ แล้วจะให้ลูกหลานเรา อยู่ในป่าคอนกรีตหรือ ฉันเลยต้องทำสิ่งนี้ ฉันรู้นะว่าจะไม่ได้อะไรจากที่นี่ เหรียญตราใด ๆก็ไม่ได้ คำชมยังไม่ได้เลย แต่ฉันก็ต้องทำ มันไม่มีทางเลือก"
     ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ใช้เวลาทั้งชีวิตขึ้นเขา เดินป่า ลุยลำธารอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย พบปะพูดคุยกับชาวบ้านและชาวเขาอย่างไม่ถือตัว ทำทุกอย่างเพื่อจะให้ป่าต้นน้ำกลับคืนมา แม้บางครั้งจะขัดแย้งทางความคิดกับคนบางกลุ่ม ถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่ท่านก็ทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จนลมหายใจสุดท้ายมาเยือน
     คุณหมอรังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ลูกคนสุดท้องของท่านเคยพูดถึงแม่ว่า
     "แม่บอกว่า มรดกที่แม่จะให้ลูกไม่ใช่เงินทอง แต่จะเป็นแผ่นดินสีเขียวที่แม่ให้ เป็นมรดกแก่ลูก และผมรู้สึกเป็นมรดกที่มีค่ามากที่สุด "
     ขอคารวะแด่เจ้าสามัญชนคนรักป่า

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com