|
|
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
|
|
|
|
|
|
|
|
"วันนั้นแม่ค้าในตลาดเฮลั่นด้วยความดีใจ ยายหนามาจับมือฉัน อ้ายแดงกอดกับเพื่อนเลย" เจ๊เปิ้ล แม่ค้าขายขนม แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เล่าบรรยากาศในตลาดให้ฟัง ภายหลังมีรายงานข่าวทางวิทยุว่า รัฐบาลจะยกเลิกโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้
"ผมไม่วางใจทีเดียว เราต้องระวังตัว โครงการ ๒ หมื่นกว่าล้านรัฐบาลจะมายกเลิกง่าย ๆ ได้อย่างไร" เบิร์ด ชาวประมงจับปลาดุกทะเลกล่าว
"เอาน่า ได้แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว สู้มาตั้งหลายปี เพิ่งชนะครั้งนี้ ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะถอดใจง่าย ๆ อย่างนี้" ลุงเซียะ เจ้าของเรือประมงให้ความเห็น
ชาวประมงหลายคนไปกู้เงินเพื่อเอาเครื่องยนต์ลงเรืออีกครั้งหนึ่ง หวังจะกลับมาทำประมงอย่างเต็มที่อีกครั้ง หลังจากถอดใจคิดจะเลิกอาชีพประมงหากมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจริง ๆ
เป็นเวลาสี่ปีเต็มที่ชาวคลองด่านร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ด้วยเหตุผลที่ว่าคลองด่านเป็นพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านมีอาชีพทำประมงและเกษตรกรรม และคลองด่านอยู่ห่างจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำน้ำเสียถึง ๒๐ กิโลเมตร แต่รัฐบาลกลับเลือกคลองด่านเป็นแหล่งรองรับน้ำเสีย อันเป็นการขัดหลักการ "ใครเป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้นั้นต้องเป็นคนจ่าย" ชาวคลองด่านผู้ไม่เคยก่อมลพิษ กลับต้องเผชิญกับปัญหาจากน้ำเสียที่ปล่อยลงทะเลซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาไปตลอด
การต่อสู้ของชาวคลองด่านซึ่งมีทั้งการชุมนุมเรียกร้องและการหาข้อมูลในเชิงลึก ได้นำไปสู่การ
เปิดโปงการทุจริตของโครงการฯ มูลค่า ๒ หมื่นกว่าล้านบาท จนตกเป็นข่าวอื้อฉาวนานหลายปี ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ประกาศยกเลิกการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
เรื่องราวของคลองด่านไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ดินแดนแห่งนี้มีตำนานมานานแล้ว
|
|
|
|
เหี้ยและปลาสลิดบางบ่อ
|
|
|
|
หากคุณไม่ใช่คนสมุทรปราการหรือคนแปดริ้ว อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อคลองด่าน และนึกไม่ออกว่าตั้งอยู่ตรงไหนทางตะวันออกของอ่าวไทย
แต่ถ้าพูดถึงปลาสลิดบางบ่อ คงไม่มีใครไม่รู้จัก
หากขับรถไปตามเส้นทางสุขุมวิทสายเก่าเลยบางปูไปก่อนถึงบางปะกงประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะสังเกตเห็นแผงขายปลาสลิดตากแห้งหลายสิบแผงเรียงรายอยู่ริมถนน ปลาสลิดบางบ่อมีชื่อโด่งดังไปทั่วประเทศ ว่าเป็นปลาสลิดที่อร่อยที่สุด เนื้อนุ่มติดมัน ใครได้ผ่านมาแถวนี้เป็นต้องแวะซื้อ บริเวณนั้นคือตำบลคลองด่าน และชาวบ้านคลองด่าน อำเภอบางบ่อ คือกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสลิดบางบ่อมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพียงแต่คนทั่วไปไม่เรียกว่าปลาสลิดคลองด่าน แต่ไพล่ไปเรียกว่าปลาสลิดบางบ่อตามชื่ออำเภอ
ปลาสลิดบางบ่อตัวขนาดกลางขายราคากิโลกรัมละ ๘๐ บาท แถมยังปลอดยาฆ่าแมลง ขณะที่ในซูเปอร์มาร์เกตขายปลาสลิดกิโลกรัมละเกือบ ๒๐๐ บาท ไม่รับรองว่าปลอดยาฆ่าแมลงหรือไม่
"ยืนยันได้เลยค่ะว่าปลาสลิดบางบ่อไม่ใส่ยาฆ่าแมลง กันหนอน ทำไปเสียชื่อเปล่า ๆ เวลาตากแดดเราป้องกันแมลงวันมาไข่ด้วยการเอามุ้งครอบ แต่ตัวไหนมีไข่แมลงวันเล็ดลอดเข้าไป คนซื้อก็ไม่รังเกียจค่ะ" แม่ค้าบอก ขณะเราควักเงินจ่ายค่าปลา
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ปลาสลิดบางบ่อมีชื่อเสียงมากกว่าปลาสลิดย่านอื่น ๆ เป็นเพราะชาวบ้านคลองด่านขุดบ่อดินเลี้ยงปลาสลิดบริเวณที่น้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกัน เป็นน้ำกร่อยที่พอเหมาะ ชาวบ้านเลี้ยงปลาสลิดด้วยหญ้าที่ตัดจากแถวนั้น ทำให้เนื้อของปลาสลิดบางบ่ออร่อยกว่าที่อื่น
คลองด่านเป็นตำบลติดชายทะเลแห่งหนึ่งในอำเภอบางบ่อ เป็นชุมชนอายุเก่าแก่กว่า ๒๕๐ ปี จากหลักฐานของวัดบางเหี้ยนอก วัดในท้องถิ่นที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ๒๓๐๐ ตำบลนี้เดิมชื่อตำบลบางเหี้ย เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เป็นป่าชายเลนอุดมด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา จึงมีตัวเหี้ยจำนวนมาคอยจับปูปลากินเป็นอาหาร กล่าวได้ว่าคลองด่านเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง
พูดได้ว่าเหี้ยเป็นดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของคลองด่านก็ไม่ผิดนัก
ว่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวบางเหี้ย ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ อีกส่วนเป็นชาวมอญที่อพยพมาจากพม่าคราวกรุงหงสาวดีแตก
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการทำประตูน้ำกั้นคลองบางเหี้ยที่แยกจากคลองสำโรงไหลไปออกทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ทางเหนือที่มีนาข้าวจำนวนมาก มีการตั้งด่านเก็บภาษีเรือที่ผ่านเข้าออกคลองแห่งนี้ด้วย จึงเรียกคลองนี้ว่า คลองด่าน อีกชื่อหนึ่ง
ในปี ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่าบางเหี้ยเป็นชื่อที่ล้าสมัยและไม่สุภาพ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า ตำบลคลองด่าน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
|
|
|
|
"สมัยจอมพล ป. ใครเรียกบางเหี้ยจะถูกปรับ ลุงยังเคยถูกหลวงปรับเป็นเงิน ๕ บาทเลย" ลูกน้ำเค็มแห่งคลองด่านวัย ๗๐ ปีเศษผู้ไม่ยอมเปิดเผยนาม เล่าให้เราฟัง
ช่วงเวลานั้นทางการมีนโยบายตัดถนนสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล ผ่านบางนา บางปู คลองด่าน ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ให้ชื่อว่าถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ ๕
เมื่อถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ตัดผ่านตำบลคลองด่าน ถนนเส้นนี้กลายเป็นเขื่อนปิดกั้นไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา ชาวบ้านบริเวณฝั่งเหนือของถนนสุขุมวิทส่วนใหญ่จึงมีอาชีพทำนา ทำสวน ปลูกพืชผัก และเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิดในบ่อดิน เช่น ปลาสลิด ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวาย ฯลฯ ขณะที่ฟากติดทะเลเกือบทั้งหมดน้ำทะเลท่วมถึง ชาวบ้านจึงมีอาชีพประมง ซึ่งท้องทะเลบริเวณคลองด่านก็อุดมสมบูรณ์มาก
การทำประมงสมัยนั้นยังใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวน แห เบ็ด กระชัง ฯลฯ ตามความถนัดของแต่ละครัวเรือน ปู่สวง คำอ่อน อายุ ๗๗ ปี เล่าว่า สมัยเป็นเด็ก สามารถตำเครื่องแกงแล้วออกไปหาปูหาปลามาทำกับข้าวแต่ละมื้อได้เลย
"พ่อแม่บอกว่าวันไหนไม่มีกับข้าว ก็ให้เอาตะขอไปเกี่ยวปูเอาตามรูข้าง ๆ บ้าน ก็จะได้กับข้าวมากินเยอะมาก"
ชาวประมงส่วนใหญ่ออกทะเลจับกุ้ง หอย ปู ปลา บางคนรุนกุ้ง รุนเคยมาทำกะปิ บางคนขุดบ่อดินเลี้ยงตามธรรมชาติ โดยปล่อยให้ปลา กุ้ง หอย ปู เข้ามาในบ่อที่ขุดไว้ ชาวคลองด่านเรียกว่า "ฮั้ม"
น้าเสริฐ ทรงกรานต์ เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า
"ผมใช้วิธีเลี้ยงแบบธรรมชาติ ทำคันดินมาล้อมพื้นที่ที่ติดทะเลให้เป็นบ่อ แล้วขุดร่องน้ำกว้าง ๒-๓ เมตร จากนั้นทำประตูกั้นน้ำ เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงกว่าน้ำในบ่อ จึงเปิดประตูให้น้ำทะเลเข้าบ่อ พวกลูกกุ้ง ปู ปลา จะเข้ามา พอ ๔๐ วันก็วิดน้ำจับกุ้งปูปลามาขายได้"
ถึงปัจจุบัน ตำบลคลองด่านยังเป็นพื้นที่สีเขียวที่สมบูรณ์ที่สุดของสมุทรปราการด้านทิศตะวันตก ป่าชายเลนริมทะเลเป็นที่หลบภัยและเจริญพันธุ์ของกุ้ง ปลา หอย ที่เกิดโดยธรรมชาติ เป็นแหล่งเศรษฐกิจด้านสัตว์น้ำ ประชาชนในคลองด่านกว่า ๓ หมื่นคน หรือ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ยึดอาชีพประมง คือทำโป๊ะเลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยแครง ทำอวนลาก อวนรุน ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ
แต่กลางปี ๒๕๔๑ มีป้ายของหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งมาปัก มีข้อความทำนองว่า จะมีการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่และปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงทะเลที่คลองด่าน
ชาวบ้านหลายคนมายืนดูด้วยความแปลกใจว่า คลองด่านเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่เคยมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ไม่เคยมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล แต่ทำไมทางการจึงมาสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่นี่
นับแต่นั้นมา ชื่อคลองด่านก็ดังกระหึ่มไปทั้งประเทศ
|
|
|
|
โครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
|
|
|
|
สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่หนาแน่นมากที่สุดถึง ๔,๐๐๐ โรง ก่อให้เกิดปัญหามลพิษเป็นเวลานาน ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ในจังหวัดติดทะเลแห่งนี้เหมาะแก่การเพาะปลูกและการประมงมากกว่า เนื่องจากพื้นดินส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและชายฝั่ง อีกทั้งมีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลผ่าน
ปี ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อรองรับน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการไปจนถึง ๒๐ ปีข้างหน้า โดยมีพื้นที่การดำเนินการครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ตามโครงการจะมีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียสองระบบใหญ่ คือ
ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำเสียวันละ ๑๒๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จากพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระประแดง และบริเวณโรงงานหนาแน่นย่านถนนสุขสวัสดิ์ ครอบคลุมเนื้อที่ ๕๐ ตารางกิโลเมตร และกำหนดจุดที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ บนที่ดินประมาณ ๓๕๐ ไร่
ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำเสียวันละ ๔ แสนลูกบาศก์เมตร จากพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอพระประแดง อำเภอบางปู และตอนเหนือของอำเภอบางพลี โดยกำหนดสถานที่ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่บริเวณบางปูใหม่ บนที่ดินประมาณ ๑,๕๕๐ ไร่
ดูตามโครงการแต่แรกแล้ว อำเภอบางบ่อดูจะเป็นอำเภอเดียวที่ไม่มีปัญหาน้ำเสีย ไม่ต้องมีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อรองรับน้ำเสียจากอำเภอแห่งนี้ และตำบลคลองด่านที่อยู่ห่างจากบางปูใหม่ถึง ๒๐ กิโลเมตรก็ไม่อยู่ในแผนที่จะเป็นที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
ระบบบำบัดน้ำเสียทั้งสองแห่งจะใช้ระบบบำบัดแบบบ่อเติมอากาศ ระยะเวลาก่อสร้างนาน ๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๔ ใช้งบประมาณ ๑๓,๖๑๒ ล้านบาท เป็นงบประมาณแผ่นดิน ๗,๓๖๒ ล้านบาท เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ๒,๕๐๐ ล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ๓,๗๕๐ ล้านบาท โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีนายปกิต กิระวานิช เป็นอธิบดี และมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการในเวลานั้น
ต่อมาเพียงสองปี คือในปี ๒๕๔๐ งบประมาณได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น ๒๓,๗๐๑ ล้านบาทอย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ และกลายเป็นโครงการที่มีการทุจริตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยกรมควบคุมมลพิษได้เสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลสี่ประการคือ
|
|
|
|
๑. เปลี่ยนวิธีการวางท่อรวบรวมและส่งน้ำเสียจากการขุดเปิดผิวถนน มาเป็นการสร้างท่อใต้ดินโดยวิธีดันท่อลอดและระบบอุโมงค์ใต้ดิน
๒. เปลี่ยนแปลงคุณภาพท่อจากท่อเดิมที่ไม่มีการป้องกันการกัดกร่อน เป็นท่อที่บุด้วยสารป้องกันการกัดกร่อน โดยอ้างว่าอายุการใช้งานของท่อจะเพิ่มจาก ๒๐ ปีเป็น ๕๐ ปี
๓. ราคาที่ดินที่จะก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียต้องจ่ายแพงขึ้น
๔. การเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำที่บำบัดแล้ว จากเดิมน้ำทิ้งทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะต่อท่อลงทิ้งในคลองบางปลากด เปลี่ยนเป็นการระบายตรงสู่ทะเล ซึ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นซึ่งมีนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใช้เวลาไม่นานในการพิจารณาเห็นชอบ ตามคำขอของกรมควบคุมมลพิษ อนุมัติวงเงินเพิ่มสูงกว่างบประมาณเดิมเกือบเท่าตัวเป็นเงิน ๒๓,๗๐๑ ล้านบาท โดยถือเป็นวาระ "เพื่อทราบ" ไม่ใช่วาระ "เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบ" ซึ่งต้องผ่านความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาพัฒน์ฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ
ช่วงเวลาเดียวกัน
กรมควบคุมมลพิษได้เปิดประมูลโครงการนี้
เป็นการประมูลโครงการแบบเหมารวม
หรือที่เรียกว่า turn key อันหมายถึงให้จัดจ้างผู้รับเหมาเพียงรายเดียว ทำหน้าที่ทั้งการออกแบบ การก่อสร้างท่อที่รวบรวมและส่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงการจัดหาที่ดิน ซึ่งระบบนี้เป็นการเหมาแบบเบ็ดเสร็จ เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาดำเนินการทั้งหมดเพียงรายเดียว
ในตอนแรกมีบริษัทสนใจเข้าร่วมเป็นผู้แข่งขันถึง ๑๓ ราย แต่กรมควบคุมมลพิษพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติรอบแรกได้ ๔ ราย ถึงเวลายื่นซองข้อเสนอทางเทคนิคกลับเหลือเพียง ๒ ราย คือกลุ่มบริษัท NVPSKG และกลุ่มบริษัท Marubeni
ในระหว่างที่มีการประมูลโครงการอยู่ดี ๆ
กรมควบคุมมลพิษได้เสนอให้มีการเปลี่ยนสเปก
แผนการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
โดยเสนอให้รวมบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งฝั่งตะวันออก
และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน โดยให้ก่อสร้างทางฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียว และเชื่อมต่อกับฝั่งตะวันตกด้วยอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยอ้างว่าที่ดินฝั่งตะวันตกหายากและมีราคาแพงมาก
ปรากฏว่าสเปกใหม่ของกรมควบคุมมลพิษไปเข้ากับแนวทางของกลุ่มบริษัท NVPSKG ซึ่งมีข้อเสนอให้รวมบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งสองแห่งเข้าด้วยกันอย่างเหลือเชื่อ ขณะที่กลุ่มบริษัท Marubeni เสนอแนวทางการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กลับตัวไม่ทัน จึงต้องถอนตัวไปในที่สุด ส่งผลให้กลุ่มบริษัท NVPSKG ชนะการประมูลโครงการ ๒ หมื่นกว่าล้านไปได้อย่างชนิดไร้คู่แข่ง
|
|
|
|
๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัท NVPSKG เป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพียงไม่ถึงเดือน อธิบดีผู้นี้ได้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ต่อมาได้กลายเป็นที่ปรึกษาของบริษัทก่อสร้างโครงการนี้เอง
กลุ่มบริษัท NVPSKG ประกอบด้วยบริษัทนอร์ทเวสท์ วอเอทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ (ภายหลังได้ถอนตัวออกไป), บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัทกรุงธนเอนยินียร์ จำกัด, บริษัทประยูรวิศการช่าง จำกัด และบริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด
บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัทกรุงธนเอ็นจิเนียร์ จำกัด และบริษัทประยูรวิศการช่าง จำกัด ได้ชื่อว่าเป็น "สี่เสือกรมทางหลวง" เพราะเติบโตมากับการรับเหมาก่อสร้างทางหลวงทั่วประเทศ
วิจิตรภัณฑ์ฯ เป็นของตระกูลชวนะนันท์
สี่แสงการโยธา ผู้ก่อตั้งคือนายบรรหาร ศิลปอาชา ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือตระกูลวงศ์จิโรจน์กุล
กรุงธนเอนยิเนียร์เป็นบริษัทในเครือวิจิตรภัณฑ์ฯ
ประยูรวิศว์ฯ ผู้ก่อตั้งคือ นายวิศว์ ลิปตพัลลภ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเวลานั้น
ที่ดินที่กลุ่มบริษัท NVPSKG เสนอให้ใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย คือที่ดินแปลงใหญ่ในตำบลคลองด่าน
อยู่ห่างจากบางปูใหม่
ซึ่งเป็นที่ตั้งตามแผนเดิมถึง ๒๐ กิโลเมตร ทำให้ต้องลงทุนเสียค่าท่อรวบรวมน้ำเสียแพงมากขึ้น และทำให้โครงการมูลค่า ๒๓,๗๐๑ ล้านบาท ต้องลงทุนเฉพาะค่าก่อสร้างท่อน้ำเสียเป็นเงินสูงถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท
ขณะที่ใช้เงินลงทุนกับระบบบำบัดน้ำเสีย
อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการเพียง ๓,๐๐๐ ล้านบาท
|
|
|
|
เมื่อหวยออกที่คลองด่าน
|
|
|
|
วันหนึ่งในปลายปี ๒๕๔๑
ชาวคลองด่านจำนวนมาก
พากันมามุงดูป้ายขนาดใหญ่
ที่ริมถนนสุขุมวิทสายเก่าบริเวณ กม. ๕๘ ด้านติดฝั่งทะเล ห่างจากย่านชุมชนไปไม่กี่กิโลเมตร ป้ายมีข้อความว่า "สถานที่ก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสีย สมุทรปราการ"
ชาวคลองด่านเริ่มจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความไม่สบายใจว่า
"ทำไมทางการจะเอาน้ำเสียมาปล่อยที่คลองด่าน บ้านเราไม่เคยมีปัญหาน้ำเสีย ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมสักหน่อย"
"ทำไมไม่ไปสร้างที่บางปู แถวนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพันแห่ง"
"ปล่อยน้ำเสียลงทะเล พวกกุ้ง หอย ปู ปลาไม่ตายกันหมดหรือ แล้วเราจะจับอะไรกิน"
ดาวัลย์ จันทรหัสดี แม่ครัวร้านอาหารในตำบลคลองด่าน อดีตบัณฑิตรามคำแหงวัย ๔๕ ปี แกนนำสำคัญของชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เล่าให้ฟังขณะที่เธอพาเราล่องเรือออกจากคลองด่านสู่ทะเลว่า
"ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าการจัดการน้ำเสียคืออะไร จึงเริ่มจากไปซื้อหนังสือเรื่องการจัดการน้ำเสีย เขียนโดย ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ แห่งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอ่าน ตอนไหนไม่เข้าใจก็โทรศัพท์ไปถามท่าน และเริ่มเก็บข้อมูลทุกอย่างที่หาได้ จึงทราบว่าบ่อบำบัดน้ำเสียที่จะสร้างที่คลองด่านมีความเป็นมาอย่างไร"
เมื่อกรมควบคุมมลพิษเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
จากสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือเพียงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแห่งเดียว ทางกรมฯ
ได้ประกาศเชิญชวน
ให้ผู้สนใจขายที่ดินมายื่นเอกสาร
เป็นที่น่าสังเกตว่า
กรมควบคุมมลพิษได้ขยายพื้นที่
ที่สามารถสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย จากเดิมที่กำหนดไว้ที่บางปูใหม่ ให้ไกลออกไปถึงคลองด่าน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเดิมถึง ๒๐ กิโลเมตร
ปรากฏว่ามีเอกชนผู้สนใจขายที่ดิน
มายื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติทั้งสิ้น ๖ ราย แต่ผ่านเกณฑ์ของกรรมการ ๒ ราย ซึ่งล้วนแต่มีที่ดินอยู่ในตำบลคลองด่าน สุดท้ายที่ดินจำนวน ๑,๙๐๓ ไร่ของบริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ก็กลายเป็นพื้นที่ตั้งโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ด้วยมูลค่า ๑,๙๕๖ ล้านบาท หรือไร่ละประมาณ ๑ ล้านบาท
"ที่ดินที่สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเดิมเป็นป่าโกงกาง ต่อมาเปลี่ยนเป็นนากุ้ง
มีนายทุนมากว้านซื้อ
ที่จากชาวบ้านตลอดแนวชายฝั่งไปเมื่อหลายปีก่อน ราคาประมาณไร่ละ ๒ - ๖ หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นเอกสารสิทธิ์ สค. ๑ บ้าง หรือ นส. ๓ บ้าง" ดาวัลย์เล่า
"ชาวบ้านบางคนไม่ยอมขาย ก็ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่ต่าง ๆ มีอยู่รายหนึ่งชื่อยายใส เป็นคนมีเงิน วันหนึ่งมีนายหน้ามาที่บ้าน บอกว่ามีที่ใช่ไหม ยายใสบอกเป็นที่มีโฉนดด้วย แต่ไม่ขาย เขาบอกขอดูโฉนด พอยายใสเอาโฉนดให้ดู นายหน้าก็หลอกเอาโฉนดไปถ่ายเอกสาร ต่อมาก็มีลูกน้องเจ้าพ่อมาบังคับซื้อ แล้วนัดวันไปโอน ยายใสก็ขายไปด้วยความช้ำใจ แถวนี้โดนกันหลายคน ยังไงก็ต้องขาย คนคลองด่านเจ็บช้ำเรื่องนี้ตายไปหลายคน แค่เขาเปิดบ่อเลี้ยงกุ้งเขาก็ได้เงินแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายที่กิน แต่ว่าต้องถูกบังคับให้ขาย"
|
|
|
|
เมื่อ ๑๐ ปีก่อนในยุคที่มีการปั่นราคาที่ดิน นายทุนกลุ่มหนึ่งภายใต้ชื่อ บริษัทปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งมีคนในตระกูลอัศวเหมเป็นผู้ถือหุ้น
มีโครงการจะสร้างสนามกอล์ฟ
และที่พักตากอากาศริมทะเลแห่งแรกที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด จึงได้กว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านบริเวณคลองด่าน เป็นจำนวน ๒,๐๐๐ กว่าไร่ แต่ต่อมาธุรกิจสนามกอล์ฟถึงจุดอิ่มตัว โครงการสร้างสนามกอล์ฟจึงเปลี่ยนไป
ระหว่างปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๖ ทางบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องต่อกรมที่ดิน เพื่อขอให้มีการเปลี่ยนแปลง เอกสารสิทธิ์ นส. ๓ และ สค. ๑ ของที่ดินที่ซื้อมาให้เป็นโฉนด กรมที่ดินพบว่าที่ดินจำนวน ๘๐๐ ไร่ที่ทางบริษัทฯ ถือครองนั้นเป็นทะเลโคลน ตามกฎหมายต้องตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่สุดท้ายด้วยบารมีของนักการเมืองตระกูลอัศวเหม ที่ดินทั้งหมดก็สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นโฉนดได้สำเร็จ
เรานั่งเรือเลียบไปตามชายฝั่งได้สักพัก
เบิร์ดคนขับเรือชี้ให้ดูแนวไม้ไผ่ที่ปักอยู่ในทะเล
ห่างจากฝั่งประมาณ ๑๐๐ เมตร พลางเล่าว่า
"ตรงนี้เคยมีป้ายของกรมควบคุมมลพิษมาปักกลางทะเล เขียนไว้ว่า
"เขตราชการห้ามบุกรุก" คือตรงนี้เป็นที่ดินที่ทางกรมฯ ซื้อมาด้วย ผมไม่ทราบว่าทางการรู้หรือไม่ว่ามันจมทะเลไปแล้ว แต่บริษัทที่ขายสามารถออกโฉนดในทะเลมาหลอกขายทางการได้"
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๘ บริษัทปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ตกลงขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่บริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ในราคาไร่ละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท
ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้ทำจดหมายขอให้ธนาคารสองแห่ง
ในจังหวัดสมุทรปราการช่วยประเมินราคาที่ดิน
แต่ได้รับการปฏิเสธ
เพราะที่ดินบริเวณนั้นไม่ค่อยมีการซื้อขาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มากนัก จึงไม่อาจประเมินราคาได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี
ได้ประเมินราคาที่ดินติดทะเลแปลงนี้
ในราคาไร่ละ ๔๘๐,๐๐๐ บาท ราคาเท่ากันทุกไร่ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินบางแห่งอยู่ติดถนน บางแห่งเป็นที่ดินเลนติดทะเล ซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่า และในเดือนต่อมา มูลค่าของที่ดินกลับสูงขึ้นถึงเท่าตัวอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
เมื่อกรมควบคุมมลพิษ
ได้ซื้อที่ดินจากบริษัทคลองด่าน ฯ ถึงไร่ละ ๑,๐๓๐,๐๐๐ บาท และยังได้ที่ดินไม่ครบตามจำนวน เพราะที่ดินส่วนหนึ่งจมทะเล
"ที่ดินจำนวน ๑,๙๐๓ ไร่นี้ บริษัทคลองด่านฯ ซื้อมาราคาไร่ละ ๒๖๐,๐๐๐ บาท กรมที่ดินประเมินไร่ละ ๔๘๐,๐๐๐ บาท ขายต่อให้แก่รัฐสูงถึงไร่ละ ๑,๐๓๐,๐๐๐ บาท ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำถึงที่สุด รัฐบาลแทบจะไม่มีเงินอยู่แล้ว เราไม่เข้าใจว่ารัฐบาลซื้อมาได้อย่างไร" ดาวัลย์ หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่อง "โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" กล่าวกับเรา
คาดกันว่าบริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเกตเวย์ฯ หนึ่งในกลุ่มบริษัท NVPSKG น่าจะมีกำไรจากการขายที่ดินแปลงนี้นับพันล้านบาท
หลังจากนั้นไม่นาน ป้ายขนาดใหญ่หน้าโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านก็ผุดขึ้นมา เพื่อบอกกับชาวคลองด่านว่า อีกไม่นาน
น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
หลายพันโรงในจังหวัดสมุทรปราการ จะถูกต่อท่อเดินทางมาที่บ่อบำบัดน้ำเสียที่นี่ ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งลงทะเลหน้าบ้านพวกเขาเฉลี่ยวันละ ๕๒๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
|
|
|
|
แหล่งหอยแมลงภู่สำคัญของอ่าวไทย
|
|
|
|
เรือของเราแล่นผ่านเรือลากหอยแครงสี่ห้าลำ
เห็นเครื่องมือที่ใช้จับหอยแครง
เป็นเพียงตะแกรงเหล็กที่ยื่นลงไปสู่ท้องน้ำที่เป็นโคลน พอคนขับเร่งเครื่องยนต์เรือ ตะแกรงเหล็กก็จะลากเอาหอยแครงที่ฝังตัวอยู่ใต้โคลนขึ้นมาบนตะแกรง
"หอยแครงที่นี่ตัวโตกว่าที่อื่น เพราะข้างล่างเป็นพื้นโคลน กินดีกว่าหอยแครงที่มาจากพื้นทราย" เบิร์ดหนุ่มวัยต้นสามสิบ ผู้ดำผุดดำว่ายหากินในท้องน้ำมาตั้งแต่เด็ก ชี้ให้ดูหอยแครงที่เพิ่งเอาขึ้นมาจากใต้ทะเล "หอยแครงขายได้กิโลละ ๑๕ - ๒๐ บาท ถ้าจับทั้งวันก็ได้วันละ ๔๐๐ - ๕๐๐ กิโล เพื่อนผมโชคดีเคยได้ถึงวันละ ๒ - ๓ ตัน วันนั้นมีเงิน ๕ - ๖ หมื่นใส่กระเป๋าเลย"
คำบอกเล่าของเบิร์ดทำให้เราเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลหน้าคลองด่าน ไกลออกไปจากฝั่งประมาณ ๓ - ๔ กิโลเมตร
โป๊ะหอยแมลงภู่ที่ชาวคลองด่าน
ทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด ปรากฏต่อหน้าเป็นแนวไม้ไผ่นับหมื่นต้น การทำโป๊ะหอยแมลงภู่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ท้องทะเลบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก เพียงนำไม้ไผ่มาปักในทะเล หลังจากนั้นด้วยอุณหภูมิ การไหลของกระแสน้ำ และความเค็มที่พอเหมาะ
ไม่นานนักลูกหอยแมลงภู่ตามธรรมชาติ
ก็จะมาเกาะติดแน่นที่ไม้ไผ่ โดยไม่ต้องหาเชื้ออะไรมาใส่เลย
"เอาไม้ไผ่ไปปักมันก็ขึ้นเอง พอหอยอายุได้ ๓ เดือนเราก็เก็บได้แล้ว ชาวบ้านจะจับหอยตอนเล็ก ๆ รอบนึงก่อน เพราะว่าหอยมันเยอะจนแน่นมาก เกาะกันเป็นพวงเหมือนรังผึ้ง พออีก ๖ เดือนหอยตัวใหญ่ขึ้นก็จะมาจับอีก คราวนี้ตัดไม้ยกลงเรือทั้งลำเลย"
"การปักไม้ไผ่ทำโป๊ะหอยแมลงภู่กลางทะเลเปรียบเหมือนการปลูกป่าในทะเล เมื่อมีหอยมาเกาะ ก็จะมีลูกกุ้ง ลูกปลา มีแพลงก์ตอนตามเข้ามา ปลาหลายชนิดก็เข้ามากิน ทำให้ชาวประมงสามารถเอาอวนมาล้อม เอาเบ็ดมาวางได้อีก ทำให้บริเวณโป๊ะมีกุ้ง หอย ปู ปลามากมายด้วย" ดาวัลย์กล่าวเสริม
ทุก ๆ เช้าหากคลื่นลมไม่แรง
เรือประมงของชาวคลองด่านจะมุ่งหน้าไปที่โป๊ะเหล่านี้
เพื่อครูดเอาหอยแมลงภู่ใส่เรือ พอบ่ายแก่ ๆ ก็บรรทุกหอยแมลงภู่เพียบแปล้เต็มเรือลำละ ๒ - ๓ ตัน มาส่งโรงอบหอย ในราคากิโลกรัมละ ๑๕ - ๒๐ บาท
ปัจจุบันคลองด่านมีพื้นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ ๒ หมื่นกว่าไร่
แต่ละปีส่งหอยแมลงภู่ขายทั้งในประเทศ
และต่างประเทศปีละหลายแสนตัน
|
|
|
|
"มีคนหลายพันคนในคลองด่านที่เกี่ยวข้องกับหอยแมลงภู่ ตั้งแต่ชาวประมง ชาวบ้านที่มารับจ้างตัดหนวดหอยก่อนบรรจุถุงเข้าห้องเย็น พวกนี้ได้ค่าจ้างกิโลละ ๑๐ สลึง วันหนึ่งได้แล้ว ๓๐๐ บาท ไปจนถึงบรรดาช่างต่อเรือทั้งหลาย" ดาวัลย์ให้คำอธิบาย
ที่คลองด่านยังมีอาชีพประมงที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่ง คือการจับปลาดุกทะเล ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของเบิร์ด คนขับเรือของเรา
คนที่นี่สันนิษฐานว่าปลาดุกทะเลเข้ามาอยู่แถวนี้มากขึ้น
นับแต่มีการทำโป๊ะหอยแมลงภู่กลางทะเล เพราะมีอาหารสมบูรณ์ ซึ่งก็คือตัวอ่อนหอยแมลงภู่นั่นเอง
ทุกวันนี้บริเวณดังกล่าว
กลายเป็นแหล่งจับปลาดุกทะเลแหล่งสำคัญของประเทศ ชาวประมงแถวมหาชัย เพชรบุรี ยังมาจับถึงที่นี่
เพราะปลาดุกทะเลในท้องทะเลอื่นลดน้อยลงไปทุกที บนเรือของเบิร์ด เราเห็นมีปั๊มลม เบิร์ดบอกว่าเอาไว้ใช้เวลาดำลงไปจับปลา เขายื่นตะขอเหล็กที่ใช้เกี่ยวปลาดุกให้ดู
"วันที่น้ำใสผมจะดำลงไปเกี่ยวปลาดุกทะเลซึ่งตัวเท่าท่อนแขน มันเยอะมาก ตัวเล็กเราไม่จับ เลือกจับเฉพาะตัวใหญ่ ๆ ได้วันละ ๓๐๐-๔๐๐ กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ ๖๐ บาท แต่ช่วงหายากราคาจะสูงถึง ๘๐ บาท ผมเคยได้เต็มที่ ๓ หมื่นบาทต่อวัน แต่ไม่ได้ทุกวัน
เพราะน้ำจะใสประมาณสี่ห้าวัน
แล้วจะเริ่มขุ่นไปอีกหลายวัน ซึ่งเกี่ยวปลาดุกไม่ได้"
เบิร์ดเล่าให้ฟังว่า บางวันจะเห็นหัวปลาดุกลอยอยู่กลางทะเลจำนวนมาก เป็นฝีมือของปลาโลมาที่มักเข้ามากินปลาดุกทะเล และมันฉลาดพอที่จะเลือกกินเฉพาะลำตัว ไม่งับหัวปลาดุกที่มีเงี่ยงสุดอันตราย
"แต่ผมก็ไม่ได้จับปลาดุกอย่างเดียว ชาวประมงที่นี่จะจับได้ทุกอย่าง อย่างถ้าวันไหนน้ำขุ่น ผมก็กางอวนจับปลา มีอวนปลากระบอก อวนปลากะพง บางทีก็เป็นอวนล้อมปลากุเลา บางทีก็ลากหอย หรือรุนกุ้ง หรือลงอวนปูม้า เรียกว่าหากินได้ครบวงจร ทะเลสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าตรงนั้นมันคุ้มค่าน้ำมันไหม ลมมันจัดไหม บางทีเราก็ถามพรรคพวกที่ออกไปกลางคืนว่ามีคลื่นไหม น้ำใสไหม แล้วเราก็มาคิดอ่านกันว่าวันนี้จะจับอะไร"
ชาวคลองด่านยังมีอาชีพที่สำคัญอีกคือการรุนกุ้ง รุนเคยทำกะปิ กะปิที่คลองด่านรสชาติดีมาก มีพ่อค้าจากระยองมารอรับทุกวัน และในคลองต่าง ๆ ชาวบ้านหลายคนยังนิยมเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ขณะที่ในท้องทะเลชาวประมงลงอวนหรือตกเบ็ดทุกครั้ง ไม่เคยผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแชบ๊วย กุ้งเหลือง ปูม้า ปลาหมึก ปลากะพง ปลาอินทรี ปลาเก๋า ปลากระเบน ปลากระบอก ปลากุเลา ปลาลิ้นหมา ปลาหมอทะเล ฯลฯ
ความอุดมสมบูรณ์ของน่านน้ำแถบนี้ ทำให้ชาวคลองด่านจำนวน ๓ หมื่นกว่าคน ไม่มีใครตกงานหรือไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูง
ชาวประมงจำนวนมากเป็นเจ้าของเรือจับปลา
มูลค่าไม่ต่ำกว่าล้านบาท หลายคนมีรถปิกอัปเป็นของตัวเอง ที่คลองด่านมีโรงงานอบหอยแมลงภู่ถึง ๘ แห่ง มีชาวประมงจากที่อื่นเข้ามาหากินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละปี ธนาคารสองแห่งในตำบลคลองด่านมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละ ๓ หมื่นล้านบาท
|
|
|
|
การต่อสู้ของชาวคลองด่าน
|
|
|
|
หนังสือพิมพ์ ไฟแนลเชียลไทมส์ ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๐๒ รายงานว่า
เป็นเวลาเกือบสามปีแล้วที่ชาวบ้านในชุมชนทำฟาร์มเลี้ยงหอยของไทยแห่งหนึ่ง บริเวณชานกรุงเทพฯ ร้องเรียนกันเสียงขรมเกี่ยวกับมติของรัฐบาล ที่ให้สร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มูลค่า ๗๕๐ ล้านดอลลาร์ ณ บริเวณหลังบ้านของพวกเขา โดยไม่ได้เคยปรึกษาหารือกับพวกเขาเลยสักครั้ง
สำหรับเอดีบีแล้ว โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมจังหวัดสมุทรปราการ คือโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเอดีบีหมายมั่นว่าจะเป็นผลงานโดดเด่น แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด
จากการดำเนินโครงการแบบเผด็จการ
และไม่โปร่งใสมาตลอด ๘ ปี
โดยกระบวนการในการปฏิบัติตามโครงการ
มีความบกพร่องอย่างร้ายแรง
เอดีบีเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยย้ายจากเขตอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้แต่เดิม มายังบริเวณชุมชนประมง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก้อนโต โดยไม่เคยปรึกษาความเห็นของชาวบ้านในท้องถิ่น
เฉลา ทิมทอง แกนนำคนสำคัญเล่าว่า ในช่วงแรกชาวบ้านพยายามสืบหาข่าวจากทางการ ไปถามที่อำเภอบางบ่อ และที่จังหวัด แต่ก็ไม่มีใครยอมบอกอะไรให้ฟังว่าโครงการนี้คืออะไร ถูกไล่ให้ไปถามบริษัทเจ้าของโครงการเอง
แกนนำชาวบ้านจึงเริ่มต้นรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ๓,๐๐๐ กว่าคน ทำจดหมายร้องเรียนถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้
ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงการนี้
ยังไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และชาวบ้านคลองด่านไม่เคยทราบมาก่อนว่า
จะมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่นี่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ที่กำหนดว่าโครงการใดที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
บุคคล หรือชุมชนนั้น
ย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยราชการ
และมีสิทธิแสดงความคิดเห็น
ก่อนที่ทางการจะตัดสินโครงการนั้น และที่สำคัญคือ
โครงการนี้จะส่งผลต่อระบบนิเวศ
และอาชีพของชาวคลองด่าน
ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้ส่งคนมาชี้แจงกับตัวแทนชาวคลองด่าน
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ แต่ก็ไม่สามารถไขข้อข้องใจให้แก่ชาวบ้านในหลายประเด็น เช่น ใครจะรับผิดชอบต่อปัญหาบ่อบำบัดน้ำเสียปล่อยน้ำทิ้งลงทะเลโดยไม่ได้บำบัดสารโลหะหนัก เรื่องน้ำจืดที่มีผลต่อการเลี้ยงหอย เรื่องกลิ่นเหม็นของโรงงาน การทิ้งกากตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย
"บริเวณท่อที่ทางโรงงานจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วที่เป็นน้ำจืดลงทะเล เป็นบริเวณเลี้ยงหอยแมลงภู่ ปัญหาคือหอยแมลงภู่เกิดในน้ำเค็มอย่างเดียว หากเขาปล่อยน้ำจืดลงวันละ ๕ แสนลูกบาศก์เมตร รับรองเอาไม้ไปปักมันก็ไม่มาเกาะ ผมดำน้ำอยู่ผมรู้ดี วงจรชีวิตของสัตว์น้ำจะเปลี่ยนไป และถ้าหอยไม่มี พวกกุ้ง ปู ปลาก็จะหมดตามไป เพราะหอยมันอยู่เป็นแนวเหมือนปะการังที่ให้สัตว์น้ำต่าง ๆ เข้าไปหลบภัยจากนักล่าไม่ว่าจะเป็นคนหรืออะไร ใครจะล่าก็ไม่ได้ เพราะถ้าเอาอวนลากเข้าไปมันก็แหก" แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งยืนยันหนักแน่น
|
|
|
|
ขณะที่ทางด้าน ศ. ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและวิศวกรสิ่งแวดล้อม เคยให้ความเห็นว่า
ปัญหากลิ่นเหม็นที่ทางบริษัทเสนอว่า
จะใช้การฉีดพ่นละอองน้ำ
เพื่อดักจับก๊าซที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และจะปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชนนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้ หากจะจัดการไม่ให้กลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ทางเดียวคือต้องทำฝาปิดครอบบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งหมด วงเงิน ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เพราะไม่อยู่ในสัญญาที่ทำกับบริษัทรับเหมา
"เราถามเขาเรื่องกากตะกอนของเสีย
จากการบำบัดว่าจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าอีกห้าปีจะให้คำตอบ" ดาวัลย์กล่าว
ไม่มีใครรู้ว่า
กากตะกอนจำนวนมหาศาล
จะส่งผลกระทบอย่างไรกับการเลี้ยงปลาสลิดของชาวบางบ่อ
ที่อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโลเมตร
นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวคลองด่านได้พยายามทุกวิถีทาง
เพื่อบอกสังคมว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส ตั้งแต่พร้อมใจกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กว่า ๑,๕๐๐ คนยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ และยื่นเรื่องร้องทุกข์ถึงผู้เกี่ยวข้องส่วนอื่น ๆ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการปกครอง กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม กรรมาธิการเกษตรของวุฒิสภา กรมประมง สภาทนายความ ธนาคารเอดีบี เพื่อบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงการโดยสรุป คือ
๑. โครงการไม่ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
๒. การทำสัญญาเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทรับเหมา ทำให้รัฐต้องเสียเงินเพิ่มจาก ๑๓,๖๑๒ ล้านบาท เป็น ๒๓,๗๐๑ ล้านบาท
๓. ไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ก่อนการโอนที่ดิน
๔. ไม่ตรวจสอบราคาซื้อขายที่ดินที่สูงเกินความจริงถึง ๑,๐๖๕ ล้านบาท
๕. ไม่ตรวจสอบที่ดินที่ซื้อขายว่ามีครบตามจำนวนหรือไม่ ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ์
๖. ไม่ตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่ตั้งระบบบำบัด การไหลของกระแสน้ำในอ่าว
๗. ไม่คำนวณการสูญเสียทางเศรษฐกิจ แหล่งอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น
๘. ไม่ตรวจสอบว่าระบบบำบัดนี้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเพียงพอหรือไม่
๙ . ไม่มีการจัดการเรื่องคุณภาพน้ำ กลิ่นและการกำจัดตะกอนขั้นสุดท้าย
๑๐. ไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการเดินระบบว่าอยู่ในความรับผิดชอบของใคร
๑๑. ไม่มีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมบำรุง
|
|
|
|
ในอีกด้านหนึ่ง โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดานักวิชาการ โดยเฉพาะความคิดในการรวมระบบน้ำเสียทั้งจังหวัดมาลงที่จุดเดียว ว่าเป็นความคิดล้าหลัง สิ้นเปลืองงบประมาณค่าท่อ และสูญเสียค่าไฟฟ้าในการปั๊มน้ำเสีย
ตั้งแต่ขั้นแรก
ที่ต้องรวบรวมน้ำเสียตามจุดต่าง ๆ ปั๊มไปตามท่อส่งน้ำเสียที่มีความยาวถึง ๑๒๕ กิโลเมตร เพื่อส่งไปยังบ่อบำบัดน้ำเสีย ขั้นที่ ๒ ค่าไฟฟ้าในโรงบำบัด และขั้นที่ ๓ คือค่าไฟฟ้าในการปั๊มน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปทิ้งทะเล เพราะการออกแบบระบบท่อปล่อยน้ำทิ้งทะเล น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลเองได้ นั่นหมายถึงต้องเสียค่าไฟฟ้าปั๊มน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วตลอดเวลา ๘๐ ปีตามอายุการใช้งานของบ่อบำบัดน้ำเสียในโครงการฯ
คาดกันว่าหากโครงการบ่อบำบัดแห่งนี้เกิดขึ้นจริง จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าถึงวันละ ๑ ล้านกว่าบาทเพื่อปั๊มน้ำเสียเข้าระบบ
อาจารย์เกษมสันต์ สุวรรณรัต กรรมการสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เคยให้ความเห็นว่า
"ระบบรวม เป็นการพาน้ำเสียไปเที่ยว ก่อนนำมาบำบัด
ทำไมไม่มีการพิจารณาทางเลือกที่จะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก
ที่เหมาะสมกระจายไปทั่วเมือง ซึ่งบริหารจัดการง่ายกว่า สิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า ไม่ต้องลงทุนมาก"
|
|
|
|
ชัยชนะไม่ได้มาด้วยการรอคอย
|
|
|
|
ภายหลังจากที่ชาวบ้านคลองด่านพยายามยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่าง ๆ กรรมาธิการชุดต่าง ๆ ในรัฐสภาจึงส่งตัวแทนมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ผลสรุปส่งถึงรัฐบาลโดยมีเนื้อหาในทำนองเดียวกันว่า
โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมของตำบลคลองด่าน และยังมีความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน จึงเห็นสมควรให้ระงับโครงการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ยังอนุมัติเงินค่าก่อสร้างทุกงวดตามสัญญา
ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของเอดีบีในฐานะผู้ให้กู้เงินลงทุน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาเอดีบีได้ยอมรับว่า
โครงการนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ประกอบอาชีพประมง
จากปัญหาน้ำทะเลที่มีความเค็มเจือจาง
และจากสารโลหะหนัก
และได้สรุปว่า
เอดีบีกระทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง
ในการอนุมัติโครงการจัดการน้ำเสียแห่งนี้
เมื่อการยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม
ไม่ได้ทำให้โครงการถูกระงับแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงเห็นว่าจะต้องเริ่มกดดันด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย
มีการจัดชุมนุมประท้วงการก่อสร้าง
ในคลองด่านอย่างสงบหลายครั้ง และเมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๓
ชาวคลองด่านหลายพันคน
ได้ชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้าทางเข้าที่ก่อสร้างโครงการ เพื่อเรียกร้องให้หยุดการก่อสร้าง จนกว่าจะทราบผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้มีการสอบสวนการทุจริตโครงการ แต่สุดท้ายเหตุการณ์จบลงด้วยความรุนแรง
เมื่อบรรดาคนงานในพื้นที่ก่อสร้าง
ฝ่าด่านของตำรวจ
เข้ามาไล่ตีชาวบ้านที่ชุมนุมอย่างสงบด้วยท่อนเหล็ก ได้รับบาดเจ็บเลือดตกยางออกกันหลายคน
แม่ค้าในตลาดคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า
"ตอนนั้นตำรวจมากันเต็ม ไปเฝ้าหน้าโรงงาน
แต่ปล่อยให้พวกก่อสร้างหลายร้อยคน
ออกมาตีเราโดยไม่ห้ามเลย พวกมันมีท่อนเหล็กใหญ่ พุ่งเข้าใส่พวกเราที่นั่งอยู่อย่างสงบ ชาวบ้านหลายคนโดนตีเลือดอาบ ต้องพาไปเย็บคนละ ๙ เข็ม ๑๐ เข็ม แต่พอยิ่งถูกตี พวกคลองด่านยิ่งออกมาเป็นพันเลย บางคนทำธุรกิจไม่อยากออกหน้า ก็ช่วยส่งเสบียงให้ ที่คลองด่าน เวลามีชุมนุมไม่ต้องห่วงเลย เดี๋ยวยกข้าวสารมาแล้ว ๑๐ กระสอบ บางคนควักเงินให้คนละ ๓,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ บาท บ้านไหนออกเรือไปจับกุ้งก็ยงกุ้งมาเป็นลัง ๆ บ้านไหนจับหอยแครง บ้านไหนมีหมึกก็ยกเอามาให้กิน เวลาชุมนุมเราจึงมีทุกอย่าง ไม่เคยเดือดร้อนเรื่องอาหารการกิน"
|
|
|
|
ตลอดระยะเวลาสามสี่ปีของการต่อสู้คัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของชาวบ้านคลองด่าน บริษัทผู้รับเหมาก็เดินหน้าก่อสร้างระบบรวบรวมท่อน้ำเสียและตัวบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไปจนเสร็จไปแล้ว ๙๔ เปอร์เซ็นต์ และมีการเบิกจ่ายเงินจากรัฐบาลไปแล้วถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ กระทั่งเมื่อปีก่อน บริษัทเริ่มเข้ามาก่อสร้างท่อส่งน้ำเสียในตำบลคลองด่าน ยุทธวิธีการต่อสู้ของชาวบ้านครั้งใหม่จึงเกิดขึ้นอีก ชาวบ้านเรียกว่า การล้อมท่อ
"เรารู้ดีว่า
ถึงอย่างไรเขาก็ต้องต่อท่อน้ำเสียที่สร้างมาตั้งแต่บางปู
ผ่านคลองด่านไปลงบ่อบำบัด ถ้าเราขัดขวางสำเร็จ โครงการนี้ก็สร้างไม่เสร็จแน่นอน เราจึงไปยึดพื้นที่กางเต็นท์ เอาไม้ไผ่ไปล้อมท่อ ไม่ให้พวกก่อสร้างเข้ามาต่อท่อน้ำเสียในคลองด่าน การล้อมท่อคือหัวใจของการต่อสู้ ถ้าเราล้อมท่อ คนงานก็ทำงานไม่ได้ ถ้าเราไม่มีอันนี้เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อรอง แล้วพวกเรามีแต่ผู้หญิงนะที่ไปนอนล้อมท่อ พอพวกบริษัทขุดท่อมาเราก็ไปล้อมรถ ไม่ให้คนงานขนของลง บางทีพวกเราก็ไปนั่งทับกระโปรงรถ จนในที่สุดบริษัทก็สร้างท่อไม่ได้สักที ยืดเยื้อกันมานาน"
เจ๊เปิ้ล แม่ค้าขายขนม เล่าต่อว่า "ตอนแรกที่พวกผู้รับเหมามาถึง มาตัดเชือกที่เรามัดไม้ไผ่ที่ใช้ล้อมไว้ เราไม่ยอมกัน ป้าคนหนึ่งตะโกนว่า ใครตัดของกู ! แลกกันไม้ไผ่ลำละหนึ่งชีวิต พวกมันยังรื้อไม้ไผ่ออกมากองทิ้งไว้ พวกผู้หญิงทั้งหมดเลยชี้หน้าด่าไปว่า
"เก็บขึ้นมาเดี๋ยวนี้เลย" ยื้อกันไปมาสักพักหนึ่ง สุดท้ายก็ยอมเก็บไม้ไผ่เอาไปผูกล้อมรั้วเหมือนเดิม แต่พวกนั้นก็ไปแจ้งความหาว่าชาวบ้านไปกระชากคอเสื้อ เรานัดกันไว้ ถ้าโดนจับคนหนึ่ง พวกที่เหลือจะแห่กันไปโรงพักให้หมด ถ้าถูกปรับเท่าไหร่ก็จะช่วยกันลงขัน ...แปลกนะ สู้กันมานาน ๆ ไม่กลัวตำรวจเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อน เจอตำรวจกลัวปากสั่นเลย"
อีกด้านหนึ่ง ดาวัลย์ จันทรหัสดี
แกนนำชาวบ้านและนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง
ได้ลงมือทำวิจัยเชิงลึก
เพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ ภายใต้หัวข้อ "การศึกษาวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวน โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทำให้คนทั่วไปรับรู้ว่าโครงการนี้มีปัญหาการทุจริต
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการฯ และเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการฯได้แถลงถึงผลการสอบสวน พบว่ามีการทำสัญญาและการบริหารสัญญาบางประการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ
จึงได้สั่งให้บริษัทคู่สัญญาหยุดดำเนินการก่อสร้าง
โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนับแต่นี้เป็นต้นไป และแต่งตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาสอบสวนเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
|
|
|
|
นายประพัฒน์ยอมรับว่า
มีความเป็นไปได้ที่การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย
ของจังหวัดสมุทรปราการ
อาจจะกลับมาใช้แนวทางแรก คือการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือที่บางปูและที่บางปลากด ส่วนบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านที่ก่อสร้างเกือบสมบูรณ์แล้วนั้น อาจจะเปลี่ยนให้เป็นศูนย์วิจัยประมงทะเล
เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพันธุ์ปลา
และการทำประมงในภาคตะวันออก
ชัยชนะของชาวคลองด่านครั้งนี้ได้ทำให้ความสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านไม่ต้องไปตั้งเต็นท์ขวางท่อ ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้ม แกนนำชาวบ้านได้กลับไปใส่ใจกับอาชีพของตัวเองอีกครั้ง
แต่ก็ยังติดตามท่าทีของรัฐบาลต่อไปว่า
จะจริงใจกับสิ่งที่ประกาศมามากน้อยเพียงใด และลึก ๆ ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า จะมีการตอบโต้จากผู้สูญเสียผลประโยชน์หรือไม่ แกนนำหลายคนเริ่มระมัดระวังตัวในการเดินทาง
ดาวัลย์กล่าวทิ้งท้ายว่า
"คลองด่านเป็นบ้านพี่ เป็นบ้านของปู่ย่าตาทวด พี่รู้สึกว่า พี่เป็นตัวเป็นตน มีความรู้ความสามารถ เพราะพี่มีที่นี้ พี่ก็อยากจะรักษามันไว้ให้ลูกหลานพี่ต่อไป พอเรายิ่งศึกษาเรื่องโรงบำบัด เรายิ่งเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเรายอมมันก็เท่ากับว่าเรายอมให้แก่ความไม่ถูกต้อง ก็ต้องให้เขารู้ว่าคนมันมีสิทธิ์สู้ พี่รู้สึกว่ามันต้องสู้ ...เมื่อสู้มาถึงตรงนี้แล้วก็ไม่กลัว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด"
|
|
|
|
เอกสารประกอบการเขียน
|
|
|
|
กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม. บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการผลาญชาติ. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๔๕.
ดาวัลย์ จันทรหัสดี. การศึกษาวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวน โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : คอร์รัปชันเชิงนโยบาย. กรุงเทพฯ: ๒๕๔๖.
ทีมข่าวพิเศษผู้จัดการรายวัน. บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน: บทสะท้อนความผิดพลาดและการทุจริตในโครง การการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : ๒๕๔๑ - ๒๕๔๖
|
|