|
|
เรื่อง :
ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง
|
|
|
|
|
|
|
 |
จากปี ๒๕๑๖ อันเป็นปีที่เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตรุ่นนั้นมีรหัสขึ้นต้นด้วยเลข ๑๖ ตกมาถึงวันนี้ต่างก็จบจากสถาบันการศึกษาอันเป็นที่รักมาแล้วถึง ๓๐ ปี นาน...แต่แทบไม่รู้สึกว่าเวลาได้ผ่านไป ไว...แต่ก็ต้องเชื่อเพราะปีนี้ พ.ศ. ๒๕๔๖ แล้ว บางเรื่องราวผ่านแล้วผ่านเลย แต่กับบางเรื่องราวยังติดตรึงหัวใจไม่เลือน วันนี้จึงขอเหลียวหลังแลหน้ากับ ๓๐ ปีที่ผ่านรั้วจามจุรี แดนเทวาลัย ในฐานะอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๔๑
ความรู้สึกใจเต้นตอนเดินเข้าไปสอบสัมภาษณ์ยังเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้เอง พวกเราที่ผ่านการสอบข้อเขียนแล้วต่างมานั่งกันอยู่หน้าห้องประวัติศาสตร์ บนชั้นสองของตึกหนึ่งหรือเทวาลัยของชาวจุฬาฯ มีเก้าอี้เล็กเชอร์ตั้งอยู่สี่ตัวสำหรับนักเรียนสี่คน ในขณะที่นักเรียนคนหนึ่งกำลังเข้าไปสอบสัมภาษณ์ สี่คนที่นั่งรออยู่ข้างนอกก็เกิดอาการกระสับกระส่าย เมื่อเพื่อนในห้องออกมาแล้ว คนแรกที่นั่งหัวแถวจะถูกเรียกเข้าไป คนอื่นก็เลื่อนขึ้นมาแทนที่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ราวกับจะไม่มีที่สิ้นสุด....และแสนนาน ผ่านเก้าอี้ทีละตัว ทีละตัว แต่ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อผ่านด่านนี้ไปได้แล้ว เวลาจะรวดเร็วราวกับติดปีก จากเทอมแรกกลายเป็นปีหนึ่ง จากน้องใหม่กลายเป็นพี่ปีสอง พอถึงปีสามได้เวลาต้องเลือกวิชาเอกวิชาโทกันแล้ว โอ๊ย จะเรียนอะไรดีล่ะนี่ อ้าว ปีสี่แล้วซี ถึงเวลารับปริญญา ออกหางานทำ และบ้างก็เรียนต่อ ชีวิตชักจริงจังขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ จากนั้นไปทำงาน แล้วก็แต่งงานมีครอบครัว จนเดี๋ยวนี้หลายคนลูกเข้าไปเป็นนิสิตจุฬาฯ แล้ว และบางคนเรียนคณะอักษรศาสตร์เสียด้วย กลายเป็นลูกศิษย์ของเพื่อนเราที่เป็นอาจารย์อยู่ในคณะนั้นไป
๓๐ ปีเชียวนะ ๓๐ ปีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้น ผ่านไป และให้คิดถึงมากมาย
|
 |
|
|
เมื่อปี ๒๕๑๖ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้นคือ
ศ. ดร. ไพฑูรย์ พงศะบุตร ท่านคงเหนื่อยกว่าปรกติ เพราะปีนั้นเป็นปีที่มี "นิสิตเจ้าฟ้า" เสด็จเข้ามาทรงเป็นน้องใหม่ ให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่คณะและมหาวิทยาลัย เป็นคุณอเนกอนันต์แก่ผองพระสหาย และทรงเป็นขวัญใจของชาวจุฬาฯ ทั้งมวล ศ. ดร. ไพฑูรย์ได้กรุณารำลึกถึงความหลังเมื่อ ๓๐ ปีก่อนให้ฟังว่า
"ผมเข้ามารับตำแหน่งคณบดีเมื่อปี ๒๕๑๕ โดยรับตำแหน่งต่อจากท่านอาจารย์ ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งท่านเข้ามาเป็นคณบดีอยู่หนึ่งปีก็เกษียณอายุเมื่อกันยายน ๒๕๑๕ เมื่อมารับตำแหน่งแล้ว ถึงเดือนเมษายน ๒๕๑๖ ท่านอธิการบดีขณะนั้นคือ ศ. ดร. อรุณ สรเทศน์ ได้เรียกไปพบแล้วบอกว่า ได้ทราบแน่นอนแล้วว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ จะเสด็จมาทรงศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ ผ่านการสอบข้อเขียนแล้ว เหลือแต่ขั้นตอนสุดท้ายคือการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งก็แน่นอนว่าได้แน่ ขอให้คณะฯ เตรียมสถานที่สำหรับจัดการสอบสัมภาษณ์ให้เรียบร้อย เรามีเวลาสองเดือนก่อนเปิดเทอม สำหรับเตรียมความพร้อมเรื่องอาคารสถานที่ จัดห้องเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ซึ่งอยู่ชั้นบนของตึกหนึ่งติดกับห้องประวัติศาสตร์ เป็นห้องเล็ก ๆ จากนั้นเตรียมหาอาจารย์ที่ปรึกษา ผมคิดว่าน่าจะเป็นอาจารย์ที่ไม่ใช่รุ่นอาวุโสมาก จะได้พูดคุยกับท่านได้สะดวก ตอนนั้นมีอาจารย์ ดร. บุษกร ลายเลิศ เพิ่งย้ายมาอยู่ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ เดิมท่านอยู่ภาควิชาภาษาอังกฤษ แล้วไปเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ เพิ่งกลับมาไม่นาน ก็เห็นว่าน่าจะเหมาะ เลยขอให้รับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา พอถึงเดือนมิถุนายน พระองค์ก็เสด็จมาเข้าศึกษาเป็นครั้งแรก
"จำได้ว่าท่านเสด็จขึ้นตรงทางเชื่อมระหว่างตึกหนึ่งกับตึกสอง อาจารย์และนิสิตก็ไปรับเสด็จกัน เดิมห้องชั้นปีที่ ๑ อยู่ห้อง ๑๐ ชั้นล่างด้านหอประชุม แต่ปีนั้นเปลี่ยนมาใช้ห้อง ๒๘ อยู่ชั้นบนด้านสนามม้า ผมเห็นว่าน่าจะเหมาะสมกว่าเนื่องจากปลอดภัยไม่พลุกพล่านมากนัก พวกเราตื่นเต้นกันมากเพราะเป็นครั้งแรกที่เจ้าฟ้าทรงมาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศ จะว่าหนักใจก็หนักใจอยู่บ้าง ในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างออกมาเรียบร้อย แต่ท่านก็ทรงวางพระองค์อย่างดีเลย ทำให้ในที่สุดเราไม่เครียด พอเวลาผ่านพ้นไปสักสองสามสัปดาห์ เราก็รู้สึกว่าทุกคนทำตัวเป็นปรกติได้ ในสามสี่เดือนแรกท่านเสด็จมาทรงศึกษาค่อนข้างสม่ำเสมอ ต่อมาเริ่มมีพระราชภารกิจตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่บ่อย ๆ ทรงมาขออนุญาตว่าไม่สามารถมาเข้าฟังการบรรยายได้ตลอด ถ้าเผื่อเสด็จมาไม่ได้ จะให้เจ้าหน้าที่มาอัดเทปถวายจะได้ไหม ทางคณะฯ ก็ว่าไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชภารกิจที่ต้องปฏิบัติ ดังนั้นทุกครั้งที่ไม่ได้เสด็จมา จะมีเจ้าหน้าที่มาอัดเทปคำสอนทุกครั้ง จนเคยมีผู้เขียนไว้ที่ไหนสักแห่งว่าเป็น
"เทปาจารย์"
"ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี จนถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ จำได้ว่าราวกลางเดือนกันยายน เหตุการณ์ได้เกิดตึงเครียดขึ้น ในฐานะคณบดีจึงค่อนข้างหนักใจ บรรยากาศตอนนั้นมีการตื่นตัวกันมาก มีการนัดกันไปติดโปสเตอร์ อะไรต่ออะไรมากมาย ผมเองตื่นเช้ามาต้องออกเดินดูตามตึกว่ามีใครมาติดโปสเตอร์ที่ไหนมั้ย ถ้ามีที่ไม่เหมาะสมก็ขอร้องว่าอย่าไปติดเลย ก็เป็นสถานการณ์ซึ่งค่อนข้างจะลำบากใจนิดหนึ่งในช่วงนั้น คือจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์ระคายเคืองถึงเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน แต่เหตุการณ์ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ที่คณะอักษรศาสตร์เราไม่ค่อยมีอะไร บางคณะมีการเดินขบวนประท้วงให้คณบดีออกจากตำแหน่ง คงจำได้ แต่ที่คณะอักษรศาสตร์เรียบร้อย พระองค์เสด็จมาทรงศึกษาตามปรกติ และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ ทางด้านความเป็นนิสิตทรงวางพระองค์อย่างดี
|
|
|
|
"ห้องที่ทางคณะฯ จัดให้เป็นห้องประทับส่วนพระองค์ ท่านก็ไม่ค่อยได้ทรงใช้ โดยมากจะเสด็จไปประทับที่โถงกลางตรงที่นิสิตไปออกันอยู่ หรือไม่ก็ไปประทับตรงตึกใหม่ซึ่งขณะนั้นคือตึกสี่ที่เราจัดเป็นห้องสำหรับกรรมการนิสิต ให้นิสิตทำกิจกรรม ท่านเสด็จไปที่โรงอาหารบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ค่อยสบายใจนัก สำหรับผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจดังที่เราทราบกัน ท่านทรงได้รางวัลเยอะเลย ชั้นปีที่ ๑ ทรงได้รางวัลภาษาฝรั่งเศส ชั้นต่อมาก็ได้ทุนเรียนดีของมหาวิทยาลัยอันถือเป็นเกียรติยศ ชั้นสุดท้ายท่านได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ ๓.๙๘ ได้รางวัลเหรียญทองซึ่งให้แก่ผู้ที่ได้ที่ ๑ ของภาควิชา ซึ่งท่านได้เป็นที่ ๑ ของภาควิชาประวัติศาสตร์ และได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ ทำให้ทรงได้รับรางวัลอีกสองรางวัลตามมา ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ รางวัลแรกคือรางวัลรันซิแมน รู้สึกจะเป็นการเขียนเรียงความทางด้านประวัติศาสตร์ รางวัลที่ ๒ คือรางวัลสุภาชน์ จันทรโภชน์ อันนี้เป็นทุนของชาวอินเดียที่เคยมาเยี่ยมเยียนที่จุฬาฯ นานมาแล้ว และตั้งทุนให้แก่นิสิตหญิงที่ได้คะแนนเป็นที่ ๑ ของภาควิชาต่าง ๆ
"กิจกรรมที่พระองค์ทรงสนพระทัยมากเห็นจะเป็นด้านวิชาการของนิสิต เมื่อตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งคณบดีในปีแรก ได้สนับสนุนให้นิสิตทำวารสารที่เป็นของนิสิตเอง แต่เดิมเรามีวารสารของอักษรศาสตร์ซึ่งคณะทำและอาจารย์ดูแลจัดการ เป็นวิชาการค่อนข้างหนัก ส่วนวารสารที่ผมพูดถึงคือ อักษรศาสตรพิจารณ์ ทำเป็นปีแรกคือปี ๒๕๑๖ ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเข้ามาศึกษา ตอนแรกที่อยู่ปีหนึ่งยังไม่ได้ทรงเข้าไปมีบทบาทมากนัก แต่หลังจากทรงศึกษาไประยะหนึ่ง ท่านได้ทรงเข้าร่วมในการทำ อักษรศาสตรพิจารณ์ ด้วย ตอนแรกทรงเขียนเรื่องให้ ต่อมาภายหลังทรงเข้าเป็นที่ปรึกษาหรือทรงเข้าไปอยู่ในคณะกองบรรณาธิการด้วย ผมไม่แน่ใจ แต่ท่านทรงเข้าไปมีบทบาทช่วยมากทีเดียว เป็นหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์ภูมิใจ เพราะนิสิตทำกันเองโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา มี ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือที่ดีมาก แสดงถึงความสามารถทางวิชาการของนิสิต น่าเสียดายที่มาเลิกไปเมื่อปี ๒๕๑๙ ได้ข่าวว่ามีสันติบาลมาค้น อาจารย์และนิสิตหลายคนต้องเข้าป่า หนังสือเล่มนี้จึงหยุดไป
|
|
|
|
"ในด้านการเรียน พระองค์ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก เพราะทรงเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต และเพราะความสนพระทัยส่วนพระองค์ด้วย สำหรับวิชาโททรงเลือกภาษาไทยกับบาลีสันสกฤต ขณะนั้นทางคณะให้เลือกได้สองวิชาโท ผมมีโอกาสได้ถวายการสอนพระองค์ท่านวิชาเดียวคือวิชาภูมิศาสตร์การเกษตร เป็นวิชาเลือก คงสนพระทัยจากการได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อย ๆ ตอนนั้นในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้สอน ยังรู้สึกว่าท่านทรงรู้มากกว่าเราเยอะ เพราะมีโอกาสเสด็จไปทุกแห่งซึ่งบางแห่งเราไม่มีโอกาสไป คงได้แต่ว่าไปตามเนื้อหาวิชา แต่จุดรายละเอียดในพื้นที่ท่านทรงรู้ดีกว่าเรา มีนิสิตลงเรียนเยอะเพราะเป็นทั้งวิชาเลือกและวิชาเอกโท เห็นจะ ๓๐ กว่าคน ความจริงต้องมีการเรียนนอกสถานที่ด้วย แต่พระองค์ไม่ได้เสด็จเพราะทรงมีพระราชภารกิจอย่างอื่น
"ตอนที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาอยู่ที่คณะฯ ไม่ได้มีนโยบายอะไรพิเศษมาจากทางในวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าไม่ต้องจัดอะไรให้เป็นการพิเศษ ให้เหมือนนิสิตทั่ว ๆ ไป ผมจึงประชุมกรรมการคณะฯ ปรึกษาหารือกันว่าควรจัดอะไรบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้จัดอะไรมาก เพราะเวลาเสด็จมาจุฬาฯ ก็มีเจ้าหน้าที่จากทางวังติดตามมาด้วยรวมทั้งพระพี่เลี้ยง เราดูเรื่องความสะอาดของบริเวณคณะฯ และห้องน้ำให้เรียบร้อย ส่วนคณาจารย์ก็แล้วแต่ บางคนตื่นเต้น บางคนก็เครียดว่าเวลาเข้าไปถวายพระอักษรในชั้นเรียนจะวางตัวอย่างไร แรก ๆ หลายคนก็เป็นห่วงเรื่องการใช้ราชาศัพท์ สุดท้ายก็เป็นไปตามปรกติ เวลาเข้าสอนในชั้นเรียนก็ใช้ภาษาธรรมดา เพราะไม่ได้สอนท่านองค์เดียว นอกจากเวลาไปกราบบังคมทูลเฉพาะจึงใช้ราชาศัพท์ อันที่จริงทางผมก็กราบบังคมทูลว่า หากทรงมีข้อแนะนำหรือปัญหาต่าง ๆ นานาก็เสด็จมาเข้าพบได้ตลอดเวลา ขณะนั้นห้องคณบดีอยู่ชั้นล่างตึกหนึ่ง ท่านเสด็จเข้ามาไม่บ่อยนัก สามสี่ครั้งเห็นจะได้ เวลาเสด็จเข้ามาก็มักเข้ามาพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ไม่มีปัญหาอะไร ยังนึกอยู่ว่าทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จากที่ห่วงกันเรื่องเดินขบวน เรื่องการประท้วง สุดท้ายคณะก็จัดการได้เรียบร้อยทุกอย่าง ตอนนั้นจำได้ว่าได้มอบหมายให้อาจารย์ ม.ร.ว. ดวงใจ ชุมพล ให้คอยดูโปสเตอร์ที่มาติดตามตึกคณะ และดูว่านิสิตจะไปประชุมประท้วงหรือนัดหมายอะไรกันบ้าง ให้ช่วยดูหน่อย ซึ่งท่านชอบและตื่นเต้นมาก แต่ก็ไม่มีอะไร"
|
|
|
|
๓๐ ปีที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายจริง ๆ แต่ปราการแกร่งของการศึกษายังคงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า บัณฑิตอักษรศาสตร์สามารถปรับตัวเข้ากับวิทยาการทันสมัยของโลกได้จริง จากหลักสูตรที่มั่นคงและการอบรมสั่งสอนของคณาจารย์ทุกท่าน รวมทั้งบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเราตลอดทั้งสี่ปี เพราะเมื่อสามารถก้าวข้ามเข้ามาเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถึงเราจะไม่มีครูประจำชั้นอีกต่อไปแล้ว แต่นิสิตทุกคนจะมีความอุ่นใจประการหนึ่งว่า มีผู้ดูแลเราทั้งเรื่องเรียนและสังคมทั่ว ๆ ไป ทำให้พวกเราปรับตัวกันได้เร็วขึ้น บุคคลสำคัญผู้นั้นคือ "อาจารย์ที่ปรึกษา" ซึ่งนิสิตทุกคนต่างก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาหนึ่งท่าน แต่มีอาจารย์ที่ปรึกษาท่านหนึ่งที่พวกเรา อ.บ. ๔๑ ไม่มีใครไม่รู้จัก ท่านคือ ดร. บุษกร (ลายเลิศ) กาญจนจารี พระอาจารย์ที่ปรึกษาในกลุ่มของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ และเพื่อน ๆ อีก ๑๒ คน
"ครั้งแรกที่ทราบเรื่องสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ จะเสด็จมาศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์นั้น ก็คือตอนที่เสด็จมาทรงสอบเอนทรานซ์ จริง ๆ แล้วเราไม่ได้คาดว่าท่านจะทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศ เพราะทูลกระหม่อมหญิงใหญ่และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็เสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศ ท่านเป็นองค์ที่ ๓ ก็เลยคาดกันว่าเมื่อทรงศึกษาจบจากโรงเรียนจิตรลดา ก็จะเสด็จไปต่างประเทศอีกองค์หนึ่ง ราว ๆ เดือนมีนาคมได้ทราบว่าท่านจะเสด็จมา เนื่องจากท่านทรงเรียนดี เมื่อทรงเลือกคณะอักษรศาสตร์ เราก็คาดกันว่าน่าจะทรงสอบได้
"ดิฉันทราบว่าจะได้มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนที่ประกาศผลสอบแล้ว ท่านคณบดีเรียกเข้าไปพบ การศึกษาในระบบหน่วยกิตนั้นจำต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ก่อนในระบบเปอร์เซ็นต์ก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่แล้ว
แต่อาจไม่มีบทบาทมาก
เนื่องจากค่อนข้างตายตัวว่านิสิตต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง เป็นการบังคับเรียน แต่ในระบบหน่วยกิตนั้นมีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก จึงต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยเรื่องลงวิชา และนักเรียนที่เข้ามามหาวิทยาลัยในระยะแรกต้องปรับตัวเป็นนิสิต ก็อาจจะต้องการคำปรึกษา จริง ๆ แล้วจะปรึกษาอาจารย์คนไหนก็ได้ แต่เมื่อกำหนดลงไปก็เป็นการง่ายต่อนิสิตที่จะไปปรึกษา คือมีตัวยืน เพราะเด็กเข้ามาใหม่ไม่รู้จักใครเลย
|
|
|
|
"การแบ่งนิสิตในการดูแลโดยปรกติใช้วิธีเรียงตามตัวอักษร เอาชื่อมาเรียงแล้วตัดออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ ๑๒ คนไล่ไปแบบนั้น ปัจจุบันเรียงตามพยัญชนะภาษาอังกฤษเพราะต้องลงคอมพิวเตอร์ ท่านคณบดีมอบหมายให้ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลกลุ่มตัว
"ส" ตอนนั้นกังวลนะ คุณอย่าไปนึกถึงทุกวันนี้ ๓๐ ปีก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกันเลย ทุกวันนี้คุณอาจจะเห็นพระราชวงศ์บ่อยมาก
แต่สมัยก่อนไม่เคยมีราชวงศ์ระดับเจ้าฟ้าเสด็จมาเรียน
ในมหาวิทยาลัยกับสามัญชน ดีใจก็ดีใจนะแต่กังวล ถึงแม้ดิฉันจะเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่อังกฤษ มีรับสั่งให้ดิฉันเข้าเฝ้าเพื่อไปรายงานตัวถามสารทุกข์สุขดิบ ตอนนั้นสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงตามเสด็จด้วย ก็ทรงวิ่งเข้ามาในห้อง สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีรับสั่งว่า ลูกคนนี้สนใจทางด้านโบราณคดี ต่อไปอาจารย์ช่วยสอนให้ด้วย ท่านรับสั่งอย่างนั้น แต่ไม่มีใครคิดว่าอนาคตจะเป็นยังไง จริง ๆ แล้วดิฉันก็ไม่ทราบว่าพระนิสัยเป็นอย่างไร ไม่คุ้นเคยกับท่าน เพราะไม่ใช่อาจารย์โรงเรียนจิตรลดา ท่านเสด็จมาทรงศึกษาในปี ๒๕๑๖ ดิฉันเพิ่งกลับมาจากอังกฤษปี ๒๕๑๕ เรียกว่าใหม่มากในความเป็นอาจารย์ และยังไม่เคยมีเด็กในความดูแลเลย เพราะกลับมาใหม่ ๆ เขายังไม่ให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เนื่องจากยังไม่รู้ระบบดี การทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาในครั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็ดีใจ แต่รู้สึกว่าระยะแรกความกังวลจะมากกว่า
"วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นวันปฐมนิเทศน์ จึงได้เจอหน้านิสิตในความดูแล ตอนแรกนิสิตในกลุ่มก็วางตัวไม่ถูก แต่ภายหลังสนิทกันมาก นิสิตอักษรศาสตร์รุ่นเดียวกับท่านก็ตื่นเต้น รุ่นอื่น ๆ ก็ตื่นเต้น นิสิตจุฬาฯ คณะอื่น ๆ ก็ตื่นเต้น หนังสือพิมพ์ก็ตื่นเต้น และท่านเองก็ทรงตื่นเต้น เพราะไม่เคยออกไปเรียนที่อื่นเลย ไม่เคยออกไปสู่สังคมเปิด เราอย่าไปนึกถึงสมเด็จพระเทพฯ เดี๋ยวนี้ ต้องนึกถึงนักเรียนคนหนึ่งที่อายุ ๑๘ มีฐานะเป็นถึงเจ้าฟ้า และวันหนึ่งก็มาเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโลกที่แปลกใหม่สำหรับท่านนะ คือสถานศึกษาก็ใหม่ สภาพแวดล้อมก็ใหม่ เพื่อนก็ใหม่ แนวการศึกษาก็ใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด
เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับท่าน ดิฉันก็ทูลว่า ก่อนจะเสด็จมาดิฉันทั้งกังวลด้วยกลัวด้วย ท่านจึงรับสั่งว่า ท่านก็กลัวด้วยเหมือนกัน ดิฉันเลยค่อยยังชั่วและคลายความกังวลลง ที่จริงแล้วพอได้เฝ้าท่าน ก็พบว่าไม่มีอะไรที่น่ากังวลจากพระองค์ท่าน สิ่งที่กังวลมาจากปัจจัยข้างนอกต่างหาก ทำอย่างไรจึงจะให้ท่านได้ทรงศึกษาได้โดยไม่มีการรบกวน เพราะมีนิสิตจากคณะอื่น ๆ วิ่งมาดูตามเสา เราก็พยายามขอร้องว่าอย่ามามองท่าน ท่านยืนอยู่ก็อย่ามาดู แล้วก็สื่อมวลชนที่เราต้องขอร้องว่าอย่ามายุ่งกับท่านมาก ดิฉันเป็นด่านแรกที่ต้องขอร้องใครต่อใครว่า อย่ามาถ่ายรูปท่านตลอดเวลาจนทำให้ท่านไม่สามารถทำตัวตามปรกติได้ ตอนนั้นดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องรับภาระมากมาย เพราะเป็นด่านแรกที่คอยรับมือกับอะไรหลายอย่าง เช่น คนที่จะเข้ามาหาท่าน มาทำข่าว และอื่น ๆ จึงต้องตั้งสติคอยรับสถานการณ์ มีพลาดบ้างแต่ก็พยายามทำดีที่สุด ทูลกระหม่อมท่านก็ทรงทราบว่าจริง ๆ แล้วดิฉันเจออะไรมาบ้าง ทำให้หน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาตอนนั้นมีมากกว่าธรรมดา ต้องประสานงานกับสื่อมวลชนและอะไรต่าง ๆ ว่าที่จริงแล้วก็ไม่ใช่หน้าที่ของดิฉันผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานิสิต แต่เขามาหาเราก่อน
|
|
|
|
"กับหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ทางคณะย่อมมุ่งหวังจะให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการลงรายวิชา และปัญหาเกี่ยวกับทางสังคมบ้างหากจะมี อาจารย์ไพฑูรย์เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหนสักแห่งว่า เลือกดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ด้วยเหตุผลว่า ข้อที่ ๑ ดิฉันเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ข้อที่ ๒ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรู้จัก ทำให้อย่างน้อยก็เบาพระทัยว่ามีผู้ประสานงาน ข้อที่ ๓ คุณวุฒิ คือเป็นคนมีความรู้ซึ่งน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ข้อที่ ๔ นิสัยน่าจะเข้ากับคนได้ไม่ลำบาก เพราะมาอยู่ที่คณะหนึ่งปีแล้ว ไม่ใช่คนเก็บตัวอะไร เข้ากับคนอื่นได้ดี ข้อที่ ๕ วัยไม่ต่างกันมาก ทำให้พูดกันรู้เรื่อง ไม่เกิดช่องว่าง คงทำหน้าที่นี้ได้
"นิสิตในความดูแลรุ่นนั้นสนิทกันมาก มีการทำสติกเกอร์มาติดที่ตู้ด้วย เป็นรูปสโนว์ไวท์ คือตอนนั้นดิฉันเพิ่งกลับมาจากเมืองนอก ตัวขาวมาก จึงถูกตั้งให้เป็นสโนว์ไวท์ มีนิสิตในความดูแลเป็นคนแคระ ทูลกระหม่อมจะทรงเรียกนิสิตในความดูแลว่า
"ลูกแถว" เป็นคำพิเศษที่ท่านทรงบัญญัติขึ้นมาเองว่าลูกแถวคือนิสิตในความดูแล มากันทุกวันแหละ สนิทสนมดีมากจนยกให้ดิฉันเป็นคล้าย ๆ คุณครูประจำชั้นรุ่นนั้นไปเลย เวลามีงานเลี้ยงรุ่นอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมาตามไปร่วมด้วย อย่างเวลาท่านเสด็จมาเช้า ๆ อาจจะทรงเอาดอกไม้มาปักที่โต๊ะ เวลาเสด็จไปใต้ก็มีขนมมาฝากอาจารย์ ฝากเพื่อน ฝากภารโรง ฝากทุกคนเลย คนทำความสะอาดท่านก็ทรงเอาเม็ดแตงโมมาฝาก เพราะท่านโปรดเอาขนมเข้าไปในห้องส่วนพระองค์ที่คณะจัดถวายเป็นห้องทรงงานและห้องเสวย ท่านก็ว่าบางครั้งได้ทำเปลือกเม็ดแตงโมหรือเศษขนมตกไว้ในห้อง ทรงเกรงใจ พอไปใต้เลยทรงซื้อเม็ดแตงโมมาฝาก
"สมัยเรียนหนังสือท่านทรงรู้จักนิสิตมาก ทั้งรุ่นเดียวกับท่าน รุ่นพี่ และต่างคณะ ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย ชมรมวรรณศิลป์ของคณะ ทำหนังสือ อักษรศาสตรพิจารณ์ ของชมรมวิชาการของคณะอักษรฯ ทำหนังสือ สะพาน ของชมรมนิสิตประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ความที่ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมของคณะอักษรศาสตร์และของจุฬาฯ จึงมีเพื่อนมาก ท่านทรงรู้จักนิสิตมากกว่าดิฉันเสียอีก ทรงเรียกเขาว่าพี่ด้วยชื่อเล่น ดิฉันเองยังทูลถามด้วยซ้ำไปว่า ที่รับสั่งเรียกพี่อะไรนั่นน่ะ ชื่อจริง ๆ ว่าอะไร เพราะดิฉันไม่เคยเรียกนิสิตด้วยชื่อเล่น แต่ท่านจะเหมือนนิสิตทั่วไปที่จะเรียกรุ่นพี่ด้วยชื่อเล่น เราก็ถามว่านั่นน่ะใคร ท่านก็จะรับสั่งว่าคนนั้นไง เราก็ถึงบางอ้อ ท่านทรงทำตัวเป็นนิสิตธรรมดา ทรงรู้จักรุ่นพี่ที่เป็นประธานเชียร์ เพราะท่านโปรดเข้าห้องเชียร์
|
|
|
|
"เมื่อทรงจบการศึกษาแล้วยังทรงมีเมตตากับอาจารย์อย่างต่อเนื่อง จริง ๆ แล้วท่านทรงเมตตากับอาจารย์ทุกสถาบันไม่ใช่เฉพาะจุฬาฯ ไม่ว่าสถาบันไหนที่ทรงไปศึกษาก็พระราชทานพระเมตตาทั้งนั้น เพราะเป็นพระนิสัยที่ทรงถือว่าอาจารย์ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอน ไม่ใช่ผู้มีอาชีพสอนหนังสือ แต่ท่านทรงมองว่าการให้วิชาความรู้เป็นเหมือนความเมตตาจากอาจารย์ จึงถือว่าอาจารย์มีพระคุณ นี่คือความดีของท่าน ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่คิดแบบนี้ และการที่ทรงเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ มีผลทำให้นักเรียนรุ่นหลัง ๆ เปลี่ยนใจไม่ไปเมืองนอกหลายคน เพราะเชื่อว่าการศึกษาในประเทศเราก็มีมาตรฐานเพียงพอ แต่ต่อมาคนสมัยหลังก็เปลี่ยนไป เพราะมีความจำเป็นทางอาชีพและเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกวันนี้งานหายาก จึงต้องเลือกเรียนวิชาที่หางานง่าย เป็นความต้องการของตลาด วิถีชีวิตเปลี่ยนไป มีคนมาถามมาปรึกษามาก ดิฉันก็บอกว่านิสิตต้องคิดว่าเรียนจบไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ พวกอักษรฯ มีข้อดีคือหางานง่ายเพราะภาษาดี ทำงานอะไรก็ได้ พอรู้ภาษาอังกฤษแล้วอย่างอื่นก็ฝึกง่าย แต่ภาษานั้นฝึกกันยาก จะมาเรียนปีเดียวแล้วใช้ได้นั้นเป็นไปไม่ได้
"อักษรศาสตร์คือพื้นฐานที่ทำให้ทูลกระหม่อมทรงก้าวต่อไป การเรียนอักษรฯ คือการเรียนเพื่อไปสื่อให้ได้ การจะทำอะไรให้ได้ดีต้องสื่อได้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน พวกเราก็ฝึกฝนมาแบบนั้นด้วยสติปัญญา"
แม้ทุกวันนี้นิสิตจะเก่งกล้ากว่าสมัยเมื่อปี ๒๕๑๖ มากนัก จนละเลยความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษา เห็นว่ามีค่าเป็นแค่ตรายางกำกับเอกสารของมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดสักนิดจะพบว่า หากเรารู้จักเข้าพบอาจารย์ ก็จะได้มีแนวร่วมในการใช้ชีวิตช่วงการศึกษาอย่างมีคุณค่ามากขึ้น และความเป็นครูกับศิษย์ไม่ได้จบแค่ก้าวเดินพ้นรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น
|
|
|
|
หลังการศึกษาระดับปริญญาตรี บัณฑิตรุ่นนั้นบ้างก็เรียนโท บ้างก็ทำงานกันเลย ส่วนสมเด็จพระ
เทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้น ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนคนหนึ่งของไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก แม้อาจารย์จะไม่ทันกลับมาสอนตอนสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาทรงเรียนปริญญาตรี แต่สิ่งที่อาจารย์ภูมิใจมากที่สุดคือในปี ๒๕๒๔ เมื่ออาจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออกเกษียณอายุราชการ อาจารย์ประพิณจึงได้เป็นหัวหน้าภาคต่อ และเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสำเร็จการศึกษา จึงได้ทำหน้าที่เซ็นจบถวาย
"ตอนทรงศึกษาขั้นปริญญาตรี สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเลือกเอกวิชาประวัติศาสตร์เพราะทรงสนพระทัยมาก และดำริว่าการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์จะมีความสำคัญกับงานของพระองค์ท่านด้วย พอจบตรีแล้วท่านทรงเห็นว่า ถ้าจบภาษาไทยก็ควรรู้ลึกเรื่องบาลีสันสกฤตด้วย เหมือนที่เรียนอังกฤษควรรู้ภาษาละติน และท่านก็ทรงศึกษาละตินมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทราบจากหนังสือเล่มหนึ่งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงให้เรียนละติน บาลีสันสกฤตนั้นนอกจากจะเป็นรากฐานของภาษาไทยแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา
"ตอนเรียนโทเมื่อปี ๒๕๒๐ ท่านทรงเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง
"ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท" เนื่องเพราะทศบารมีเป็นเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินต้องมี จึงทรงสนพระทัยว่าในพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องทศบารมีไว้อย่างไร และเหตุใดกษัตริย์ที่ดีจึงต้องทรงมีทศบารมีด้วย เป็นการศึกษาให้ลึกลงไปว่าจริง ๆ เป็นมาอย่างไร ตอนทรงเรียนโท เรียนกันเป็นกลุ่มเล็กเจ็ดคนกับอีกหนึ่งองค์ จึงไม่ค่อยมีใครทราบ ผู้ร่วมเรียนที่มาจากคณะอักษรศาสตร์รุ่นเดียวกับพระองค์ท่านคืออาจารย์ประพจน์ อัศววิรุฬหการ การเรียนปริญญาโทสมัยก่อนนั้นมีหลักสูตรการเรียนมากกว่าปัจจุบัน ทำให้กว่าจะจบต้องใช้เวลาถึงสามสี่ปี และวิทยานิพนธ์มีหน่วยกิตเยอะ คือ ๑๘ หน่วยกิต จึงต้องเขียนวิทยานิพนธ์เล่มโต ผิดกับหลักสูตรปัจจุบันที่วิทยานิพนธ์มีหน่วยกิตแค่ ๑๒ หน่วยกิต ให้ใช้เวลาเรียนไม่ไม่เกินสองปี แต่ก็มักขยายเป็นสองปีครึ่งเสียเป็นส่วนใหญ่
|
|
|
|
"สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงสำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๒๔ พระอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศ. ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ประธานคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์คือ รศ. วิสุทธ์ บุษยกุล และคณะกรรมการอีกสามท่านประกอบด้วย นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง ซึ่งท่านเก่งเรื่องบาลีมาก และเป็นอาจารย์พิเศษของคณะมาโดยตลอด ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว อีกท่านคือ รศ. ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ถึงแก่กรรมแล้วเช่นกัน กรรมการอีกท่านคือ รศ. ดร. สุนทร ณ รังษี ท่านอยู่ภาควิชาปรัชญาแต่มาทำเรื่องพุทธศาสนา อาจารย์เกษียณไปแล้ว และขณะนี้อายุมากแล้ว แต่ยังมาช่วยที่ศูนย์พุทธศาสน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ รวมแล้วมีกรรมการ ๕ ท่าน การเรียนของพระองค์ท่านก็คล้าย ๆ ตอนเรียนปริญญาตรี ทรงมาเข้าชั้นเรียนเป็นปรกติ แต่คนไม่ค่อยทราบกันเหมือนตอนเรียนปริญญาตรี
"ตอนทรงศึกษาอยู่ที่คณะฯ ท่านยังไม่ได้ทรงเริ่มศึกษาภาษาจีน เพียงแต่เริ่มมีความสนพระทัย จำได้ว่าตอนดิฉันกลับมาจากเมืองนอกใหม่ ๆ ในปี ๒๕๑๙ ท่านเคยเสด็จมาเกาะโต๊ะ รับสั่งถามเรื่องภาษาจีน สำหรับแรงบันดาลใจ ท่านเคยตรัสว่าสมเด็จแม่ทรงแนะนำให้เรียน นับว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ตั้งแต่ทรงให้เรียนละตินซึ่งเป็นรากฐานภาษาตะวันตก และต่อมาก็ภาษาจีน พอพระองค์ท่านมารับสั่งถาม ดิฉันจึงถวายหนังสือกับเทปให้ท่านไปทรงศึกษาเอง จากนั้นดิฉันได้โอกาสไปคุยกับพวกสถานทูตว่า ท่านทรงสนพระทัยเรื่องภาษาจีนนะ ว่างเมื่อไหร่คงทรงเรียนหรอก ตอนนี้ยังไม่ว่างเพราะกำลังทรงเรียนปริญญาโทอยู่ ต่อมาทางสถานทูตก็เตรียมจัดหาครูจากปักกิ่งมาถวายการสอนให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะทางสถานทูตเขาจะมีโรงเรียนหนึ่งสำหรับสอนภาษาให้แก่พวกนักการทูตที่จะไปประจำอยู่เมืองจีน มีอาจารย์ที่ฝึกมาอย่างดีเลย เสียงดีถูกต้องได้มาตรฐานตามแบบฉบับภาษาจีนราชการ เขาก็ส่งมาถวายการสอนทุกวันเสาร์ที่ในวัง ครั้งละสองสามชั่วโมง หากไม่ได้เสด็จต่างประเทศก็ทรงศึกษาภาษาจีน ครูที่สอนจะอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสบ้าง เยอรมันบ้าง คือครูที่ได้รับคัดเลือกมาสอนนี้เขาคัดผู้ที่เก่งทางภาษาต่างประเทศมาก เพราะต้องไปสอนนักการทูตหลายชาติ จึงใช้ภาษานั้น ๆ ในการอธิบายภาษาจีน ท่านเคยตรัสว่าเรียนภาษาจีนด้วยภาษาฝรั่งเศส และเพราะมีโอกาสทรงศึกษามาจากภาษาที่ได้มาตรฐาน สำเนียงของท่านเวลาตรัสภาษาจีนจึงดีมาก หนสุดท้ายที่เสด็จไปฟูเจี้ยน ทรงเล่าประทานว่าคนทางใต้ยังบอกว่าสำเนียงท่านดีกว่าคนจีนทางใต้เสียอีก
|
|
|
|
"สมเด็จพระเทพฯ ท่านชอบเสด็จเมืองจีนเพราะได้ไป refresh ภาษาจีน อย่างที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อ เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก และการที่ท่านทรงศึกษาภาษาจีนมีผลอย่างมากต่อนิสิตให้หันมาสนใจเรียนภาษาจีน โดยเฉพาะเมื่อตอนท่านเสด็จปักกิ่งหนึ่งเดือนนั้น โทรทัศน์ออกทุกวันว่าท่านทรงทำอะไรอยู่ที่นั่นบ้าง ปีนั้นบูมที่สุด ดิฉันยังบอกกับสถานทูตว่า การที่ท่านเสด็จเมืองจีนนั้น จีนได้รับการโปรโมตมากที่สุด ได้ออกอากาศทุกวัน จีนได้ทั้งการศึกษา การท่องเที่ยว และโฆษณาประเทศ ช่วงนั้นแหละตื่นตัวมาก โรงเรียนสอนภาษาจีนเปิดกันเยอะแยะ เด็กสนใจเรียนกันมากเป็นพิเศษ อย่างปีที่ผ่านมามีนิสิตต้องการเรียนเอกภาษาจีนถึง ๖๐ กว่าคน จนเรารับไม่ไหว นิสิตนอกคณะก็มากันมาก เรารับสองกลุ่ม กลุ่มละ ๖๐ คน แต่มากันร้อยกว่า ต้องเปิดสามกลุ่ม เป็น fever ไปเลยเพราะเห็นท่านเสด็จไปปักกิ่ง
"สำหรับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อคณะและสาขาวิชาภาษาจีนนั้น เวลาทรงได้หนังสือมาจะรับสั่งว่าได้หนังสือมานะ ให้ไปใช้ได้ และหนังสือท่านดีมาก ๆ เลย ท่านทรงอนุญาตให้ไปใช้ ตำราเรียนระดับต้น ๆ ก็ทรงเอามาให้ดูเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างปรับปรุงหลักสูตร เหมือนช่วยฟอร์มสาขาวิชากลาย ๆ นิตยสาร วารสารบางเล่มเราก็เลิกสั่งเพราะราคาแพง อย่างหนังสือจากอังกฤษที่มาจาก SOAS แพงมากๆ พอเรารู้ว่าในวังมีเราก็เลิกสั่ง แล้วไปยืมของท่านมาใช้ เป็นการประหยัดงบประมาณไปมาก ทางจีนเอง ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเทพฯ จึงส่งหนังสือ วิดีโอ และสื่อการสอนต่าง ๆ มาให้เรา ตอนเปิดปริญญาโททางจีนก็มาช่วย มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนิสิต ทำให้เป็นแห่งเดียวที่มีการเปิดสอนภาษาจีนถึงระดับปริญญาโท ส่วนปริญญาเอกก็ดำริว่าจะเปิดเรียนรวมกันในสาขาวรรณคดี สอนด้วยภาษาไทยและอังกฤษ แล้วพอถึงตอนทำวิทยานิพนธ์ก็แยกกันไปทำภาษาใครภาษาเขา เรายังมีการสอนภาษาจีนเพื่อสังคมศาสตร์ ภาษาจีนเพื่อการทูต จีนธุรกิจด้วย โดยเน้นสอนศัพท์ในแนวทางนั้น
"นอกจากกับทางคณะฯ แล้ว กับอาจารย์พระองค์ท่านก็ทรงเมตตามาก เช่นมีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังเรียนอยู่เมืองนอก เกิดขัดข้องเพราะทุนหมด เมื่อทรงทราบ พระองค์ก็รีบจัดการให้คนไปซักถามว่าขาดเหลือเท่าไร เดือดร้อนอย่างไร พอได้ตัวเลขก็ส่งเงินไปให้ทันที จะได้จบเร็ว ๆ กลับมาทำงาน สิงหาคมนี้ก็จะกลับมาช่วยงานที่คณะฯ แล้ว ท่านก็ว่าต้องช่วยกันเพื่อจะได้กลับมาช่วยคนอื่นต่อไป และตอนนี้ยังมีรับสั่งให้ไปช่วยสอนภาษาจีนทางไกลร่วมกับ มสธ. เพราะทรงห่วงแรงงานไทยที่ไปไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ว่าไปเมืองนอกไม่รู้ภาษาทำให้เสียเปรียบ จึงรับสั่งให้คณะอักษรฯ ไปช่วยทำแล้วออกอากาศให้ระดับคนงานได้เรียนทางไกล อยู่ในรายการของ มสธ. เราส่งอาจารย์ไปช่วยสามคน พระองค์ทรงห่วงใยและละเอียดมาก เอาพระทัยใส่ว่าทำอย่างไรไม่ให้แรงงานไทยไปลำบาก"
พระวิสัยทัศน์นั้นสุดประเสริฐยิ่ง ทรงเห็นความลำบากของประชาชนในทุกระดับ และทรงคิดช่วยเหลือให้มีความรู้เพื่อเอาตัวรอดได้อย่างยั่งยืนแท้จริงตามวิธีแบบอักษรศาสตร์จริง ๆ
|
|
|
|
เมื่อปี ๒๕๑๖ คณะอักษรศาสตร์คงจะเช่นเดียวกับคณะอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น คือนิสิตกลุ่มใหญ่หนีไม่พ้นนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โดยเฉพาะที่คณะของเรานั้นเกือบร้อยละ ๘๐ คือนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ทำให้นักเรียนจากโรงเรียนอื่น ๆ กลายเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ไปเลย
นั่นย่อมนำมาซึ่งความลำบากใจบ้าง
กับการปรับตัวของนักเรียนที่มีเพื่อนเข้ามาเพียงไม่กี่คน และโรงเรียนหนึ่งที่ "พวก" น้อย คือโรงเรียนจิตรลดา เพราะมากันเพียงสองคนกับหนึ่งพระองค์
คุณพาสินี (สารสิน) ลิ่มอติบูลย์ พระสหายจากโรงเรียนจิตรลดา ได้กรุณาเล่าถึงความสนุกของการปรับตัวในคณะอักษรศาสตร์ว่า
"เราเข้าไปเรียนโรงเรียนจิตรลดาเป็นรุ่นที่ ๓ รุ่นที่ ๑ คือรุ่นทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ รุ่นที่ ๒ คือรุ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรุ่นที่ ๓ คือรุ่นสมเด็จพระเทพฯ เหตุที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนี้เพราะพี่ชายของคุณย่าเป็นราชองครักษ์อยู่ในวัง และคุณหลวงสุรณรงค์มาหา ถามว่าจะเข้าเรียนโรงเรียนจิตรลดาไหม สมัยก่อนนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผย ไม่ค่อยรู้จักกันมาก
"ภายหลังมาเลือกเรียนสายศิลป์ เพราะเป็นคนชอบวรรณคดี ประวัติศาสตร์ รู้สึกสนุก ได้อ่านหนังสือเรื่องที่เราชอบและอยากรู้ ตอนสอบเอนทรานซ์เข้าคณะอักษรฯ กลัวมาก กลัวคู่แข่งจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ เพราะพวกเราไม่เคยไปเทียบกับคนข้างนอก ไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไรกัน ขนาดไหน ห้องศิลป์ตอนนั้นมีสิบกว่าคนเอง นักเรียนน้อย จึงเทียบอะไรกับใครเขาไม่ค่อยได้ ทำให้เสียวเหมือนกัน
"ตอนมัธยมปลายก็มีไปเรียนกวดวิชากันด้วย ไปติวที่โรงเรียนเตรียมฯ เจ็ดวัน แต่ไม่ชอบ เพราะเขาสอนให้จำเอาไปใช้แบบเป็นสูตรหมดเลย ต้องท่องจำหมด มันก็ไม่ทัน และเรารู้สึกว่าเป็นการจำเพื่อไปทำข้อสอบเอนทรานซ์ ซึ่งไม่ใช่ตัวเราเลยไม่ชอบและเลิกเรียนไปเลย ทางโรงเรียนจิตรลดาก็พยายามหาครูมาช่วยติวพวกเราด้วย ได้ครูโรงเรียนเตรียมฯ มาสอนบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านมีพระมหากรุณาธิคุณมาก มีรับสั่งให้ครูมาสอนหลายเรื่องแม้แต่เรื่องเพศศึกษา เพราะทรงเห็นว่าพวกเราเป็นเด็กกำลังโต จะต้องออกไปเรียนต่อที่อื่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณหมอศรีจิตรา บุนนาค มาสอนเรื่องนี้ให้พวกเรา
"สำหรับทูลกระหม่อมท่านทรงถนัดทั้งทางวิทย์และศิลป์ ทรงเก่งทั้งคำนวณ วิทยาศาสตร์ และภาษา จึงทรงทดลองเรียนทั้งสองสายไปเลย เพราะเก่งทั้งสองทาง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เรียนสายศิลป์ ท่านจึงเลือกเรียนศิลป์ ตอนนั้นพวกเราก็ไม่ค่อยคิดกันว่าทำไมต้องเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ ทุกคนมุ่งแต่ว่าถ้าเรียนสายศิลป์มาก็ต้องเข้าคณะนี้ เพราะถือว่าเป็นที่หนึ่งของสาย อันเป็นความนิยมสมัยนั้น ส่วนคณะอื่นคะแนนต่ำกว่า เด็กสมัยก่อนไม่ได้วางแผนชีวิต ว่าอยากเรียนอะไรทำงานอะไร มาคิดกันตอนท้าย ๆ ปีด้วยซ้ำไป ซึ่งผิดกับสมัยนี้
|
|
|
|
"ความประทับใจเมื่อเข้าจุฬาฯ นั้น ตอนที่มาเข้าคณะอักษรศาสตร์รู้สึกว่าคนแยะไปหมด เคยอยู่โรงเรียนเงียบ ๆ ไงคะ พอมาเจอคนเยอะ ๆ ก็ต้องเกาะกลุ่มกับเพื่อนโรงเรียนเก่า (คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ และนางสาวธาริณี โชติกเสถียร) ไปไหนไปด้วยกัน เดินไปโน่นไปนี่ ไปงานรับน้อง ย้ายตึกเรียน เลยยิ่งกลัวใหญ่ เพราะรู้สึกว่าคนมองมาก แต่ความจริงเขามองสมเด็จพระเทพฯ ส่วนเราเกาะติดกับท่าน จนภายหลังค่อยสามารถหาเพื่อนกลุ่มใหม่ ๆ ได้
"ตัวเองสมัยเรียนอยู่ที่จิตรลดาไม่เคยต้องพกเงิน พอมาเรียนที่อักษรฯ เลยลืมเอาเงินมาอยู่เรื่อย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่อาศัยว่าบ้านอยู่ใกล้ ตอนนั้นบ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ศาลาแดงนี่เอง จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีขับรถกลับไปเอาเงินที่บ้าน นั่นเป็นวิธีหนึ่ง สมัยนั้นขับรถเพียง ๑๐ นาทีก็ถึงบ้านแล้ว วิธีต่อมาก็แอบไปดูสมเด็จพระเทพฯ บนห้องทรงงาน ว่าทรงเอาข้าวมาเผื่อด้วยหรือเปล่า หรือมีเพื่อน ๆ ไปรับประทานด้วยแยะไหม ถ้าแยะก็ไม่เอาแล้ว ขับรถกลับบ้านดีกว่า
"สมเด็จพระเทพฯ เวลาเสด็จมาเรียนท่านก็มีผู้ตามเสด็จไม่กี่คน ธรรมดามากจริง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราขับรถพาท่านไปร้านหนังสือใต้ศาลาพระเกี้ยว ตอนนั้นยังไม่เป็นศูนย์หนังสือ เลยโดน ศรภ. (ศูนย์รักษาความปลอดภัย) ต่อว่า ว่าทำไมพาท่านไปเพราะยังขับรถไม่แข็ง เขาคงเห็นว่าเราเป็นเด็กมาจากโรงเรียนจิตรลดา จึงตักเตือนด้วยความหวังดี พวกเราชอบไปเดินเที่ยวตรงนั้นตรงนี้ในจุฬาฯ ทูลกระหม่อมท่านทรงพบเห็นใครตกทุกข์ได้ยากก็ทรงรับช่วยเหลือไปตามสมควร ทรงส่งเรียนหนังสือบ้าง เช่นเด็กขายดอกไม้ในจุฬาฯ เขาอยากเรียน ท่านก็ทรงเป็นธุระให้ อย่างเทียมมี่คนขายผลไม้ดองท่านก็ทรงรู้จัก และทรงถามถึงด้วยความกรุณา
"พอเรียนจบปุ๊บเราก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไม่ได้เข้าถวายงานโดยตรงอย่างพระสหายบางคน ได้แต่ถวายการรับใช้ทางอ้อมแล้วแต่จะทรงเรียกใช้ กับพระสหายท่านจะให้ความกันเองด้วยโดยเฉพาะพวกอักษรฯ คงเพราะเรียนปริญญาตรีคลุกคลีกันมากตั้งแต่รับน้อง จำได้ว่าวันรับน้องต้องกินขนมโก๋ ชวนคลื่นไส้มาก เพราะหวานและฝืดคอ สมเด็จพระเทพฯ ท่านก็เสวยด้วย รุ่นพี่สั่งให้กินเข้าไปอีก กินเข้าไปอีก ถ้าเป็นเวลาอื่นอาจจะอร่อย แต่พอกินมากไปเลยไม่อร่อย เลยรู้สึกไม่ชอบขนมโก๋ไปเลย สำหรับพระสหาย สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงช่วยมาก ถ้าทรงทราบว่ามีเรื่องเดือดร้อนเจ็บไข้ได้ป่วยจะทรงหาทางช่วยเต็มที่ ทรงพยายามช่วยทุกอย่าง อย่างทุกวันนี้ใครทราบเรื่องอะไร แล้วมาเล่าให้ทรงทราบ ก็จะทรงช่วยมาก อย่างลูก ๆ เพื่อนหลายคนที่เรียนอักษรฯ มาด้วยกัน ท่านก็ทรงรับให้เข้าเรียนโรงเรียนจิตรลดา"
|
|
|
|
นอกจากนิสิตหญิงแล้ว รุ่น อ.บ. ๔๑ ของเรายังมีนิสิตชายอีก ๑๓ คน เรียนจบแล้วได้ออกไปทำงานหลายแขนง บ้างก็ห่าง ๆ กันไปเพราะอยู่ต่างจังหวัด มีคนหนึ่งลงดินหายไปเลยเพราะทำงานให้แก่บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดิน คิดว่าอีกไม่นานจะได้โผล่หน้ามาให้เพื่อนเห็น และมีหนึ่งคนที่เสียชีวิตไปแล้วเพราะคนดี ๆ พระเจ้าท่านรัก ส่วนนิสิตชายที่ยังเหนียวแน่นกับเพื่อน ๆ มาก คือ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก และยังให้เพื่อนฝูงพบหน้าได้ตามจอโทรทัศน์ด้วยภารกิจมากมายตัวเป็นเกลียว สุดท้ายครองตำแหน่งขวัญใจสาวอักษรฯ รุ่น ๔๑ ไปอย่างขาดลอย ถึงกับมีสาว ๆ ในรุ่นบอกว่า ขณะที่ผู้หญิงของเราแก่ลง แต่ประพจน์กลับ forever young และภูมิฐานขึ้น
บางคนอาจเห็นว่าผู้ชายมาเรียนอักษรศาสตร์เป็นเรื่องแปลก แต่ ดร. ประพจน์ไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น
"ไม่จำเป็นเลย ใครบอกว่าวิชาอักษรศาสตร์เป็นของผู้หญิง เราชอบรู้เรื่องคนเลยมาเรียนอักษรฯ และคณะอักษรฯ ไม่ใช่คณะภาษา ถ้าอยากรู้ภาษาก็ไปเรียนที่โรงเรียนสอนภาษาสิ ถ้าอยากเรียนเขียนจดหมายโต้ตอบก็ไปเรียนโรงเรียนพาณิชย์ อักษรศาสตร์คือวิชาพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จริงแล้วทุกอย่างก่อนจะเรียนรู้ได้ต้องออกมาจากอักษรฯ ก่อน เราต้องเรียนรู้เรื่องมนุษย์ก่อน ก่อนจะไปเรียนอย่างอื่น ต่อให้รู้เรื่องเคมีดีจนบ้าตาย แต่ถ้าไม่รู้เรื่องมนุษย์จะทำไงล่ะ ความจริงแล้วมหาวิทยาลัยที่อื่น ๆ ในโลกนี้ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็น pure arts และ pure sciences จะอยู่ด้วยกัน ไม่มีการแยกจากกัน ที่ Stanford คณะอักษรฯ เป็นคณะที่ใหญ่ที่สุด มี ๒๔ ภาค เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ก็อยู่ในคณะอักษรฯ อยู่ Berkeley ก็ต้องเรียน College of Arts and Sciences ก่อนสองปี ถ้าอยู่ในระบบอังกฤษเดิมก็ต้องได้ B.A. ก่อน เพราะฉะนั้นปริญญาส่วนใหญ่จะต้องเริ่มที่อักษรฯ จะไปเริ่มที่อื่นไม่ได้
"เมื่อได้เข้ามาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ไม่ผิดหวังเลย ไอ้เรื่องผิดหวังมันเป็นเรื่องของตัวเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น กริยาคำว่า
"ผิดหวัง" นั้นประธานคือ ฉัน คือเรา ไม่ใช่คนอื่น ต่อให้อาจารย์น่าเบื่อยังไงก็ไม่ผิดหวัง เพราะวิชามันไม่น่าเบื่อ ถ้าเราเรียนให้เป็น มันจะผิดหวังได้ยังไง ไม่เข้าใจว่าเรียนอย่างระทมขมขื่นอย่างคนทุกวันนี้เป็นอย่างไร นึกไม่ออก เพราะเราเรียนหนังสือแล้วสนุก มีเรื่องให้เรียนเยอะแยะ อย่างครูเข้ามาสอน ต่อให้น่าเบื่อยังไงครูก็มีความคิดที่ไม่เหมือนกับเรา เช่นถ้าเราอ่านเรื่องนี้เราคิดไปอย่าง ครูคิดไปอีกอย่าง ทำไมครูคิดยังงั้นล่ะ มันไม่ใช่เรียนหนังสือเป็นก้อนหินไง ถ้าเรียนหนังสือเป็น passive voice มันก็ต้องระทมขมขื่น ต้องถูกเขาตี ถูกครูเขาปู้ยี่ปู้ยำสมอง นั่งเฉยอยู่เป็นก้อนหินให้เขาทำตลอดเวลา จะได้ความยังไง ถ้าเรียนเป็น active หน่อยก็ยังพอคุยกับครูได้ ซึ่งมันจะสนุกกว่าใช่ไหมล่ะ เรามีของเรามา ครูมีของเขามา เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เราอ่านเองก็ได้ แต่ครูอาจจะมีอินไซด์มากกว่าเรา มีประเด็นต่าง ๆ ที่มันงอกเงย สิ่งนี้ได้จากครู ไม่ใช่ได้ข้อมูลจากครู เข้าไปในห้องเรียนเพื่อเอาข้อมูลทำไม ข้อมูลเราหาเองได้จากหนังสือ แต่ที่ได้จากครูคือความคิด ฉะนั้นจึงไม่เข้าใจว่าเรียนคณะนี้แล้วจะผิดหวังได้ยังไง ความผิดหวังนี่มันอยู่ที่ตัวเรา เพราะ
"ฉัน" ไง ฉันไม่รู้เรื่องเอง
|
|
|
|
"ตอนสอบเอนทรานซ์เลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เลือกเพราะเป็นคณะที่คะแนนสูงสุดหรอกนะ อย่างสมัยก่อนที่คิดกันว่า เรียนศิลป์ภาษาแล้วต้องเลือกอักษรฯ เป็นอันดับหนึ่ง ไอ้นี่ก็บ้าเหมือนกันแหละ มันบ้ามาตั้งแต่มัธยมปลายที่แยกศิลป์ภาษากับคำนวณ เมืองไทยยิ่งบ้าหนักเข้าไปอีก พูดกันว่าที่ไปเรียนศิลป์เพราะเรียนไม่ดี คนที่เรียนดีต้องไปเรียนวิทย์ ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก คนที่เรียนวิทย์ไม่ได้ก็เรียนศิลป์ไม่ได้ คือมันต้องไปด้วยกัน มัน abstract พอกันนะ ภาษากับคณิตศาสตร์น่ะ มันเป็นเรื่องราวที่นามธรรมอย่างขนาดหนัก คุณสมบัติของคนที่จะมาเรียนอักษรฯ คือต้องอยากจะรู้ ถ้าไม่รักจะรู้เมื่อเรียนจบแล้วก็จะได้ใบปริญญาไปอย่างขมขื่น
"เมื่อสอบเข้าอักษรศาสตร์ได้ ก็รู้ว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาเรียนที่คณะฯ ด้วย แต่สมัยนั้นเรายังเด็กน่ะ และตอนนั้นกระแสเรื่องราชวงศ์ยังไม่มากมาย ท่านก็คือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พวกเราก็มัวยุ่งกับตัวเองเพราะต้องเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกัน
"การที่ต้องมาเรียนกับผู้หญิงจำนวนมากไม่ลำบากเลย ถ้าจะมีลำบากหน่อยก็ตรงที่นิสิตจะเกาะกลุ่มกับเพื่อนโรงเรียนเดิม คือแบ่งพวก ไม่ได้แบ่งเพศ แต่เขาก็มีสิทธิ์จะจับกลุ่มของเขา อย่างพวกโรงเรียนเตรียมฯ ห้องคิงกลุ่มหนึ่ง ห้องควีนกลุ่มหนึ่ง เซนต์โยฯ กลุ่มหนึ่ง มาแตร์ฯ กลุ่มหนึ่ง ทีนี้พวกสวนกุหลาบมาสองคน แถมบัญชา (บัญชา สุวรรณานนท์) ก็ไม่ค่อยมาเรียนอีก ทิ้งให้เราอยู่คนเดียว ไม่รู้จะพูดกับใคร พวกผู้ชายก็หายไปไหนหมดไม่รู้ แต่ไม่เป็นไร ก็เดินไปหากลุ่มไปจับกลุ่มกับเขา และไม่รู้สึกแปลกที่ต้องเรียนกับผู้หญิง หรือว่าเราอาจจะไม่ mature ทำให้สนใจเรื่องผู้หญิงผู้ชายช้าก็ไม่รู้นะ ไม่ได้รู้สึกว่ามีการแบ่งแยกเพศ รู้สึกว่าเป็นนิสิตด้วยกัน จนเดี๋ยวนี้ความรู้สึกนั้นก็ไม่ได้หายไปหรอก ไปไหนก็เฮไปด้วยกัน
|
|
|
|
"ทางคณะไม่ได้มีนโยบายอะไรพิเศษสำหรับนิสิตชาย เป็นนิสิตก็ต้องเรียบร้อยเคารพครูบาอาจารย์ เข้าห้องก็ต้องอย่าคุย สมัยพวกเราก็โดนอาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ดุกันทั่ว จำได้ไหม โดนอาจารย์แว้ดซะร้องไห้ไปเลย โอ๊ย เด็กสมัยนี้คุยกันยังกับอะไร เปิดโทรศัพท์มือถือ หวีผม เดินเข้าเดินออก เวลาเล็กเชอร์ห้องใหญ่ต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่สนามกีฬานะ นี่ห้องเรียน เธอจะผุดลุกผุดนั่งได้ยังไง มีถึงขนาดเข้าห้องนั่งแค่ ๑๐ นาทีปวดฉี่ลุกขึ้นแล้ว สมัยเรานั่งกัน ๓ ชั่วโมงครึ่งปวดฉี่จะตายยังไม่กล้าลุก
"สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงมีความเสมอภาคกับเพื่อน ทรงจำชื่อเพื่อนได้หมด เราเองยังจำไม่ได้เลย ไม่ใช่ว่าเราไม่แคร์ แต่เราจำไม่ได้ แล้วท่านยังทรงทราบว่าเพื่อนไปทำอะไรที่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็ทรงช่วย เรียกว่าทรงทักไปเรื่อยเลยรู้เรื่องเพื่อนมาก แสดงว่าท่านทรงเอาใจใส่เพื่อน ทรงทราบว่าเพื่อนมีค่า และท่านทรงเป็นคนที่มองเห็นค่าของคนในลักษณะต่าง ๆ ทรงมองเห็นส่วนดีของคนมากกว่าส่วนเสีย เรียกว่ามุทิตาท่านเยอะ
"เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันในอักษรฯ เป็นเพื่อนที่คุยกันได้มาก เพราะเป็นระยะที่เราสร้างนิสัยและประสบการณ์ เติบโตมากับเพื่อนกลุ่มนั้น ยังไงก็พูดกันรู้เรื่องมากกว่า เห็นแล้วสามารถพูดอะไรได้ ไอ้นี่คือพิศวาสล่ะ คือเห็นแล้วหายใจคล่องน่ะ อย่างคนอื่นเวลาพูดเรายังต้อง อ้า อะไรซักหน่อย วางตัวหน่อย แต่คำว่า พิศวาส คือหายใจคล่อง อยู่ใกล้ใครแล้วพิศวาสคือหายใจคล่องน่ะ"
นี่แหละ ผู้ชายคณะอักษรศาสตร์ อยู่ใกล้แล้วพิศวาส คือหายใจคล่อง จึงสบายใจไปหมด
|
|
|
|
นอกจากครูบาอาจารย์และผองเพื่อนแล้ว เขยอักษรฯ ก็เป็นคนอีกกลุ่มที่พวกเราพูดถึงเสมอ และหนึ่งเขยที่มีความสนิทสนมกับพวกเรามาก คือ คุณวิทิต ลีนุตพงษ์ รองประธานยนตรกิจกรุ๊ป และมีตำแหน่งสำคัญคือ สามีคุณศุลีรัตน์ (วงศาโรจน์) อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่น ๔๑
"ผมเข้ามาเกี่ยวกับพรรคพวก อ.บ. ๔๑ เพราะเข้าไปเป็นกรรมการห้อง ๖๐ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ ดอมินิค จนถึงชั้น ม.ศ. ๓ จึงมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ เลยได้รู้จักกับ (ว่าที่) ภรรยาและนักเรียนเตรียมรุ่นนั้น เพื่อนร่วมรุ่นเขาจากวัฒนาฯ มาเป็นกรรมการห้อง ๖๐ ผมเป็นสาราณียากร ต้องเดินไปทุกห้องเพื่อไปขอรูปมาทำหนังสือ ออกไปขอความร่วมมือ และอธิบายให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนฟังว่าจะทำอะไรให้โรงเรียน เราเลยรู้จักกันในลักษณะอย่างนั้น ถือว่าตอนนั้นเป็น common friends กัน จากนั้นต่างก็แยกย้ายไปเรียนที่ต่าง ๆ จนจบไปเมืองนอกและกลับมาทำงาน ได้มาพบกับคุณศุลีรัตน์อีกครั้งในงานแต่งงานเพื่อน เลยได้คบหาดูใจกันพักหนึ่ง
"ตอนแต่งงาน ภรรยาผมต้องเข้าไปกราบบังคมทูลลาสมเด็จพระเทพฯ และถวายการ์ดเชิญแต่งงาน โดยส่วนตัวผมเองไม่ได้คาดคิดว่าพระองค์จะเสด็จมาร่วมงานของเราสองคน ท่านมีรับสั่งว่าจะเสด็จมาร่วมงานแต่อาจมาสายหน่อยเพราะมีพระราชภารกิจต้องเสด็จไปที่ไหนสักแห่ง ท่านเสด็จถึงงานราวสองทุ่ม รู้สึกว่าจะเป็นงานเดียวที่ท่านเสด็จมา และทรงขึ้นกล่าวอวยพรให้ด้วย ที่ประทับใจจำได้ว่าท่านตรัสว่า
"โอ๊ย เจ้าบ่าวเจ้าสาวคู่นี้สบาย ไม่ต้องทำอะไรเลย" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณมากที่ทรงเป็นกันเองจนถึงขั้นตรัสแหย่เราด้วย และนั่นเป็นครั้งแรกที่ถือว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับอักษรศาสตร์รุ่นนี้
"ความรู้สึกที่ได้เป็นเขยอักษรฯ นั้นผมภูมิใจมากนะ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ อ.บ. ๔๑ เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ภรรยาผมเป็นกรรมการของ อ.บ. ๔๑ สมัยหญิงลักษณ์ (ม.ร.ว. เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน) เป็นรองประธานรุ่น โดยมากภรรยาอยู่ฝ่ายหาทุน เขาก็มาปรึกษาขอคำแนะนำจากผมว่าจะทำอะไรดี เพื่อที่จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ผมก็ช่วยจัดกอล์ฟหาทุนให้สองครั้ง มีคอนเสิร์ต Michael Learns to Rock ทำให้ได้ทุนเข้ามามาก เหนื่อยหน่อยแต่คุ้ม แทนที่เราทำคนเดียวจะได้น้อย ก็มองหาคอนเน็กชันหาสปอนเซอร์จากเพื่อน ๆ ผม ความที่ตอนนั้นผมเป็นบอร์ดอยู่ AIS ก็ขอให้เขาหน่อย ดึงธนชาติเข้ามาบ้าง จากนั้นเวลามีกอล์ฟเราก็ไปร่วมด้วย เวลาทางอักษรฯ เขาทำเสื้อเราก็ช่วยซื้อ มีงานก็ไปร่วมกันสนุกสนาน ถือเป็นความภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมของอักษรศาสตร์
|
|
|
|
"ผมเองมาจากครอบครัวคนจีน ปรกติไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ เมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าหลายหนก็ประทับใจมาก อย่างครั้งแรกรู้สึกว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีความผูกพันกับสถาบัน และเสียสละให้แก่คณะอักษรศาสตร์มาก ทางคณะกรรมการเองได้รับพระดำริจากพระองค์ท่านมาใส่เกล้าฯ เพื่อดำเนินการหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือโครงการบูรณะตึกหนึ่งให้สำเร็จ หากใช้เงินที่ทางราชการจัดให้จะช้ามาก เพราะติดขั้นตอนต่าง ๆ เยอะ พวกเราก็ช่วยกันหาทุนตั้งกองทุนสยามบรมราชกุมารีเพื่อวิชาการ เรื่องแบบนี้ถือว่าเป็นความผูกพันที่ท่านทรงมีต่อสถาบัน และที่ผมประทับใจสุด ๆ คือทรงจำพระสหายได้ทุกคนนะ ถ้ามีโอกาสจะทรงทักทายเสมอ อย่างครั้งหนึ่งสมัยภรรยาผมยังทำงานอยู่ที่สถานทูตอเมริกัน ท่านเสด็จมาในพิธีเปิดศาลาไทยภายในสถานทูต ภรรยาผมเดินมากับท่านเอกอัครราชทูต พอท่านทอดพระเนตรเห็นก็ทรงหยุดทักทาย หรืออย่างเรื่องพระสหายที่อยู่ต่างประเทศ หากพระองค์ท่านเสด็จไปที่นั่นจะหาโอกาสไปทรงเยี่ยมด้วย
"อีกเรื่องหนึ่งที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เหลือเกิน คือทาง อ.บ. รุ่นนี้มีงานเลี้ยงรวมรุ่นในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพฯ เวลามีงานจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พาครอบครัว คือสามีหรือภรรยาและลูก ๆ ไปร่วมงานด้วยได้ มีอยู่ปีหนึ่งเมื่อเจ็ดแปดปีมาแล้ว ตอนนั้นลูกสาวคนโตของผมอายุเพิ่งจะสองขวบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานเลี้ยงพระราชทานที่ศาลาดุสิดาลัย พอถึงคิวเป่าเทียนบนเค้ก ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่คือสมเด็จพระเทพฯ แต่ลูกสาวผมความที่เป็นเด็ก ก็วิ่งเข้าไปจะเป่า พระองค์ท่านเลยทรงอุ้มไว้ด้วยเกรงว่าจะโดนไฟ แล้วก็ทรงเป่าเทียน พอดีอาจารย์บุษกร (ดร. บุษกร กาญจนจารี) ท่านชอบถ่ายรูป และถือกล้องไว้พอดี จึงถ่ายภาพนั้นมาให้ ได้เก็บไว้จนทุกวันนี้ หากเป็นคนอื่นอาจจะบอกว่า มาช่วยจับเด็กหน่อย แต่ท่านทรงกันเองมากและไม่ถือพระองค์ อย่างพระสหายของท่านนั้น เมื่อทรงทราบว่ามีงานศพของพ่อแม่ ไม่เพียงจะเสด็จไปเท่าที่ทรงไปได้ แต่บางครั้งยังพระราชทานความช่วยเหลือด้วย ทรงทำบุญด้วยเงินส่วนพระองค์ ซึ่งผมคิดว่าในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ไม่ต้องทรงทำถึงขนาดนั้น อาจมีรับสั่งให้ใครไปดูแลแทนก็ได้ แต่ท่านทรงมีน้ำพระทัย ใส่พระทัย อยากพูดง่าย ๆ ว่าแคร์ และสังเกตว่าพระองค์ทรงสบายพระทัยกับการคบหากับพระสหายอักษรศาสตร์รุ่นนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจมาก
|
|
|
|
"ผมเองไม่ว่าจะในฐานะเขยอักษรศาสตร์หรือประชาชนคนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันสนองพระเดชพระคุณราชวงศ์ เพราะทุกพระองค์ทรงงานหนักให้แก่ประเทศชาติ อย่างทุกวันนี้ผมก็ช่วยรับดูแลรถให้ทางวังด้วย ในส่วนรถที่เราขายเอง เช่น fleet ของบีเอ็มดับเบิลยู เราก็ดูแลให้ ที่ผ่านมามีรถโรลสรอยซ์หลายคันเราก็ดูแล จนฝรั่งเขาเปลี่ยนมือไปเราจึงหมดภาระตรงนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เราช่วยเข้าไปดูแลตามที่มีโอกาส ถือว่าเป็นการรับใช้ ถ้าถามในฐานะเขยอักษรฯ ต้องบอกเลยว่าเป็นบุญ เพราะถ้าไม่ได้เข้าไปเป็นเขยอักษรฯ คงไม่มีโอกาสดีในชีวิตที่จะเขาไปรับใช้ให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ผมเองพ่อสอนไว้เลยว่า เรามาอยู่เมืองไทยต้องตอบแทนบุญคุณ ยิ่งกับพระเจ้าแผ่นดินด้วยแล้ว คำว่า
"พระเจ้าแผ่นดิน" หมายถึงเป็นเจ้าของแผ่นดินที่เราอยู่ ผมจึงถือเป็นหน้าที่ต้องตอบแทนในทุกทาง อย่างเรื่องการถวายรถยนต์ บอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอนและกระบวนการมากมาย ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการยกเว้นภาษีรถยนต์ ปรกติรถยนต์ที่นำเข้ามาในชื่อใครก็ตามต้องเสียภาษี ดังนั้นเวลาจะถวายรถต้องทำเรื่องก่อนโดยการนำความขึ้นกราบบังคมทูลว่าจะถวายรถ แล้วรอคำตอบว่าจะทรงรับรถที่เราถวายไหม ถ้าทรงรับจึงจะดำเนินการสั่งเข้ามาในพระนามของพระองค์ได้ ทางวังจะมีหนังสือยืนยันมา เราก็เอาหนังสือไปที่กรมศุลกากร เพื่อดำเนินเรื่องนำรถเข้ามา โดยออกอินวอยซ์ในนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลย และโดยปรกติรถยนต์พระที่นั่งต้องมีสำรองไว้อีกคันที่เหมือน ๆ กันเผื่อเหลือเผื่อขาด เราก็รับใช้ในฐานะข้าแผ่นดินแบบนั้น
"เรื่องรถยนต์ สมเด็จพระเทพฯ ท่านไม่ได้โปรดอะไรมากนัก ครั้งหนึ่งที่ประทับใจไม่ลืมคือ ตอนท่านทรงหัดขับรถเกียร์ธรรมดา ตอนนั้นเราเอารถเปอร์โยต์กระบะไปถวาย ท่านก็มีรับสั่งว่า
"ขอลองขับหน่อย มา ชั้นจะขับให้พวกเธอลองนั่ง" โอ้โฮ สนุกมาก ท่านทรงหัดอยู่ในวัง เป็นรถเกียร์ธรรมดา ตอนนั้นท่านทรงขับแบบเกียร์ออโต้เป็นอยู่แล้ว พวกเราก็เข้าไปสอนกันแบบอุตลุดมาก เพราะไม่ถนัดกับเรื่องคลัตช์ พระสหายก็ไปออกันหลังรถ ส่วนผมก็สอนไปตามหน้าที่ หัวทิ่มหัวตำกัน กองกันอยู่ที่พื้นก็มี พระองค์ทรงวางพระองค์สบาย ๆ ทำให้หลาย ๆ โอกาสที่ได้เข้าเฝ้าแล้วพวกเรารู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เป็นสิ่งที่หาไม่ได้เลย และไม่ได้มาจากตัวเราเอง หากแต่มาจากความเป็นพระองค์ท่าน คือท่านพระราชทานความรู้สึกนี้ให้เรา เป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่เราได้รับอันเนื่องมาจากสไตล์ของท่าน
"ผมอยากเห็นคนไทยทุกคนทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่แผ่นดินบ้าง เพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้น เคยมีบริษัทประกันภัยบอกผมว่า ประเทศไทยเป็น blessed country และเป็นสวรรค์ของบริษัทประกันภัย เพราะไม่มีภัยพิบัติใหญ่ ๆ เลย บางประเทศเจอเคลมทีเดียวบริษัทแทบล้มละลาย ฉะนั้นเราเป็นคนไทยจึงควรรู้สึกว่า blessed (ได้รับพร) นะ เราจึงควรตอบแทนแผ่นดินที่เราอยู่"
|
|
|
|
ธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อเรียนจบแล้วย่อมจะมีรุ่นและกรรมการรุ่น เพื่อเป็นตัวกลางประสานสัมพันธ์ให้ยาวนานต่อไป พวกเราก็มีรุ่นกับเขาเหมือนกัน เรียกว่า รุ่น อ.บ. ๔๑ หลังจากเดินทางมายาวไกล ณ วันนี้ รองประธานรุ่นคือคุณโสภา (ไพรสานฑ์กุล) สุยะนันท์ รองประธานบริษัทไทยซินอุตสาหกรรม จำกัด
"ที่จริงแล้วพวกเราชาวอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่น ๔๑ นี่ เมื่อเรียนจบกันมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการ คงเป็นแต่การเข้ามาประสานงานให้เพื่อน ๆ ได้เจอกันเท่านั้น รุ่นแรกมีหญิงลักษณ์ (ม.ร.ว. เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน) เป็นโต้โผตั้งคณะกรรมการกลุ่มนี้ขึ้นมา กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาทรงเป็นประธานคณะกรรมการ คนที่เหลือก็เป็นรองกรรมการกันไป และดึงคนที่สนิทกันรู้จักกันมาช่วยงานตามสะดวก เพื่อที่จะรวบรวมเพื่อนฝูงให้อย่างน้อย ๆ ปีหนึ่งได้เจอกันสักครั้ง ตอนนั้นไม่ได้มีกิจกรรมหรือโครงการที่จะทำอะไรกันมากมาย พอตอนหลังเมื่อสมัยที่เราฉลองครบสามรอบอายุ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานเลี้ยงพระราชทานขึ้นที่ศาลาดุสิดาลัย คณะกรรมการสามารถเผยแพร่ข่าวและรวบรวมเพื่อน ๆ มางานได้เยอะมาก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีความคิดว่าน่าจะทำการเลือกตั้งคณะกรรมการเข้ามาทำงานดีกว่า จึงเริ่มออกไปในรูปการเลือกตั้งตั้งแต่นั้นมา ใครที่อยากช่วยงานสมาคมฯ ก็เข้ามาลงเลือกตั้งแล้วฟอร์มทีมขึ้นมา คณะกรรมการฯ อยู่ในวาระสามปี สมเด็จพระเทพฯ ท่านยังคงทรงเป็นประธานรุ่น โดยมีกรรมการอื่นที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรองประธาน
"ชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการคือ
"อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๔๑ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เรียกกันย่อ ๆ ว่า อ.บ. ๔๑ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมกิจกรรมของประธานฯ เพื่อความร่วมมือและประสานงานกันระหว่างอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๔๑ เพื่อสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับองค์กร สถาบัน บุคคลต่าง ๆ ที่จะสร้างสรรค์สร้างประโยชน์ให้แก่อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๔๑ และสังคมในด้านที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนทรัพย์สินก็ได้มาจากเงินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ หรือทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้โดยพินัยกรรม หรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้ต้องรับผิดชอบในหนี้สิน ดอกผลจากทรัพย์สิน เงินจากการจัดกิจกรรมอื่น ๆ และเงินค่าบำรุงจากเพื่อน ๆ อ.บ. ๔๑
|
|
|
|
"ตอนนี้เรามีกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกี่ยวกับ อ.บ. ๔๑ ชื่อว่า
"กองทุนอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่น ๔๑" ดังนั้นคณะกรรมการ อ.บ. ๔๑ จึงเป็นคณะกรรมการกองทุนด้วยอีกแรง วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อน อ.บ. ๔๑ และครอบครัวที่ประสบเคราะห์กรรม ตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสังคมภายนอกตามแต่จะเห็นสมควร เดิมเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือเพื่อน ๆ ที่เจ็บป่วย พอตอนหลังเข้าไปเกี่ยวกับการหารายได้ช่วยคณะฯ ด้วย อย่างเช่นตอนที่คณะเราสร้างตึกบรมราชกุมารี และตอนซ่อมตึกหนึ่ง เราก็หารายได้เข้ากองทุนและนำไปให้คณะฯ ท่านทรงช่วยโดยการพระราชทานลายเส้นฝีพระหัตถ์มาให้เอาไปปักบนเสื้อยืด เพื่อหารายได้เฉพาะรุ่นของเรา ตอนนั้นได้เงินมาประมาณ ๕-๖ แสน มีคนนอกมาช่วยซื้อด้วยจึงได้เงินมาขนาดนั้น ตรงนั้นถือว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำ เอาไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้แก่คณะอักษรศาสตร์
"งานของ อ.บ. ๔๑ ที่ทำอยู่ สมเด็จพระเทพฯ
ท่านไม่ได้มีพระราชประสงค์เจาะจง
ว่าอยากให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เพียงแต่ก่อนจะทำอะไรเราก็กราบบังคมทูล เช่น เมื่อสี่ห้าปีก่อนจัดกอล์ฟ รายได้ส่วนหนึ่งเพื่อไปร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึกสมเด็จย่า และทรงมีพระกรุณาให้พวกเรา อ.บ. ๔๑ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพข้างใน ภายหลังมีการจัดกิจกรรมย่อย ๆ จำหน่ายเหยือกน้ำ บางทีก็จัดแสดงคอนเสิร์ตโดยเพื่อน เช่น อาจารย์เกษร (ตรีพูนผล) จิตรถเวช หรือการจัดคอนเสิร์ตฝรั่งหารายได้เข้ากองทุนของรุ่น ท่านโปรดที่ได้เห็นเพื่อน ๆ จัดกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะกิจกรรมที่หาทุนคืนกลับสู่คณะที่เรารักและผูกพัน ท่านจะทรงนึกถึงคณะก่อนเสมอ และทรงให้พวกเราคิดอ่านช่วยเหลือทุกครั้งที่เป็นไปได้ ในการประชุมคณะกรรมการฯ พระองค์จะทรงให้คำแนะนำเพิ่มเติมมา พระองค์ท่านทรงห่วงความรู้สึกคนทำงานมาก ไม่ทรงคัดค้านหรือบังคับอะไรเลย เพียงแต่ทรงให้ความเห็นเพิ่มเติม และปีนี้เป็นปีที่พวกเราคบกันมา ๓๐ ปี รุ่นของเราเหนียวแน่นมาก เพราะเรามีศูนย์รวมทางจิตใจคือท่าน เวลาวันปีใหม่หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพ ก็มีพระมหากรุณาธิคุณให้พระสหายเข้าเฝ้าอย่างกันเอง ทุกคนก็ปลาบปลื้ม
|
|
|
|
"สมเด็จพระเทพฯ
แม้หลังทรงจบการศึกษาแล้ว
ก็ทรงเมตตาแก่พระสหายร่วมรุ่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขอสมรสพระราชทาน การพระราชทานชื่อลูกของพระสหาย ทุกวันนี้จะทรงสอบถามถึงพระสหายอยู่ตลอดเวลา ถามว่าคนนั้นคนนี้เป็นยังไงบ้าง ในกรณีที่เพื่อนป่วย ก็เสด็จไปเยี่ยม หรือทรงส่งดอกไม้ไปให้
"ปีนี้ครบรอบ ๓๐ ปีที่พวกเราจบมาจากคณะอักษรศาสตร์ เราจะจัดงาน ๓๐ ปีเพื่อถวายท่าน ท่านมีรับสั่งว่าให้เป็นงานที่เน้นว่าเรารู้จักกันมา ๓๐ ปี ซึ่งน่าจะดีกว่างานฉลองอายุครบสี่รอบ ท่านทรงมีนโยบายอยากให้เพื่อนมาร่วมกันให้มากที่สุด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดที่วังสระปทุม
"หากไม่ผิดพลาด พวกเราจะมีงานพบปะรื้อฟื้นความหลังกันในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ปีนี้แน่นอน ท่านประธานรุ่นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาพบกันตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไป และรับสั่งว่าให้มากันทุกคน จนถึงกับทรงแนะให้หาวันจัดงานที่ทุกคนสะดวกที่สุด"
น้ำพระทัยในฐานะองค์ประธานรุ่นนั้นคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
|
|
|
|
จากวันนั้นถึงวันนี้ ๓๐ ปีแล้วที่โชคชะตาชักนำให้พวกเรามาพบกัน เรียนด้วยกัน และกลายเป็น "รุ่น" เดียวกัน นั่นคือการเริ่มบทใหม่ของชีวิตที่แสนพิเศษสำหรับพวกเราชาว อ.บ. ๔๑ เวลาผ่านไปและพวกเราไม่เคยคลายความผูกพันทางใจต่อกันเลย เพราะมี "ประธานรุ่น" ผู้ไม่เพียงร้อยรวมเราไว้ด้วยกัน หากยังผสานดวงใจทุกแหล่งไว้ด้วยพระปรีชาที่ได้มาจากการบ่มเพาะในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย...เทวาลัยในรั้วจามจุรี
|
|
|
|
เกี่ยวกับผู้เขียน
|
|
|
|
ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๔๑ ซึ่งถือเป็นรุ่นประวัติศาสตร์ เพราะนิสิตในรุ่นนี้ได้เป็น พระสหายร่วมรุ่นกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, Master in European Studies จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่และเขียนบทความลง
ต่วยตูนพ็อกเกตบุ๊ก, สารคดี ฯลฯ มีผลงานพิมพ์รวมเล่มแล้ว ๗ เล่ม ที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์วิริยะ คือ เราทั้งผอง อักษรา เทวาลัย, ใคร ๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่ และ ใคร ๆ ก็อยากมีร้านกาแฟ
|
|