นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ "ดาบอาทมาฏ อานุภาพของดาบไทย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ห้องสมุดไดอารี ธนาคารแห่งความทรงจำ

  วันชัย ตัน : รายงาน /ภาพประกอบ : Din-Hin
  ห้องสมุดไดอารี ธนาคารแห่งความทรงจำ
        ใครจะคิดว่า เรื่องราวในชีวิตของชาวบ้านร้านตลาด สามัญชนคนธรรมดา วันหนึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ 
      ที่เมืองปิเอเว ซานโต สเตฟาโน ประเทศอิตาลี ไดอารีของประชาชนทั่วไป กำลังถูกทยอยเก็บรวบรวม จัดตั้งขึ้นเป็นห้องสมุดไดอารีแห่งแรกของโลก 
      "เราอยากจะสร้างธนาคารแห่งความทรงจำ ที่ประชาชนมาฝากไดอารีของตัวเองแทนเงินหรือทรัพย์สินมีค่า" ซาเวริโอ ตูติโน ผู้ก่อตั้งห้องสมุดไดอารี และใช้เวลาเก็บรวบรวมไดอารีมานานถึง ๑๘ ปี กล่าว
      "มันเป็นประวัติศาสตร์ของสามัญชน เป็นมรดกของชาวอิตาลีที่ถูกซ่อนเอาไว้"
      คลังเก็บไดอารีแห่งนี้รวบรวมสมุดบันทึกประจำวันของผู้คนทั่วประเทศ จากหลายศตวรรษ เป็นจำนวนเกือบ ๕,๐๐๐ เล่ม และวันนี้มันก็กลายเป็นขุมทรัพย์ข้อมูลอันล้ำค่า สำหรับคนทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักวิเคราะห์ทางจิต ตลอดจนนักเขียน และผู้สร้างภาพยนตร์ที่เข้ามาค้นคว้าไดอารีเหล่านี้ เพื่อหาแรงบันดาลใจ
      ในบันทึกเล่มหนึ่ง ชาวนาจากเนเปิลร้อยเรียงเหตุการณ์ที่เกิดกับเขาในคุกไซบีเรีย ส่วนอีกเล่ม พ่อชาวยิวเขียนถึงความสิ้นหวัง เมื่อมีการใช้กฎหมายกีดกันเชื้อชาติในอิตาลี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
      ไดอารีที่มีค่ามากที่สุดเล่มหนึ่ง ห่อด้วยผ้ากำมะหยี่เบอกันดีซึ่งเป็นผ้าปูเตียงของ เคลเลีย มาร์คี แม่บ้านในชนบทวัย ๗๒ ปี มันบันทึกความทรงจำในชีวิตของเธอก่อนสามีเสียชีวิต
      "ตอนนี้ฉันไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าปูเตียงที่ฉันเคยนอนกับสามีอีกต่อไป" มาร์คีกล่าว 
      ย้อนหลังไปเมื่อปี ๒๕๒๘ ความคิดในการสร้างห้องสมุดไดอารี เกิดขึ้นจากการที่นายกเทศมนตรีของเมือง ต้องการจะทำให้เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้มีจุดขายสำหรับนักท่องเที่ยว ตูติโน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังคนหนึ่งซึ่งสนใจเรื่องไดอารี จึงเสนอความคิดในการทำห้องสมุดไดอารีแห่งแรกของโลกขึ้นที่เมืองนี้ ซึ่งปรากฏว่านายกฯ สนใจทันที
      โครงการก่อตั้งห้องสมุดเริ่มต้นด้วยการประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า ทางเมืองจะจัดงานประกวดไดอารีขึ้น และไดอารีของผู้ชนะจะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ
      "เพียงสามเดือนแรกเราก็มีไดอารีส่งเข้ามา ๕๐ เล่ม ต่อมาก็ ๑๒๐ เล่ม แล้วไดอารีก็ถูกส่งเข้ามาไม่เคยขาดสายเลยนับแต่นั้น" ตูติโนกล่าว
      ตอนนี้ป้ายต้อนรับเข้าสู่เมืองปิเอเว ซานโต สเตฟาโน ที่มีประชากร ๓,๐๐๐ คน ประกาศตัวด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็น "เมืองแห่งไดอารี"
      ไดอารีหลายพันเล่ม ถูกจัดเก็บไว้ในอาคารเก่าสมัยศตวรรษที่ ๑๖ วางเรียงอยู่บนชั้นหนังสือตามปีที่ส่งเข้ามา และยังมีอีกกองพะเนิน ที่วางรอการประกวดในงานประกวดไดอารีประจำปี 
      บางเล่มระบุไว้ว่าต้องเก็บไว้นาน ๕๐ ปีจึงจะอนุญาตให้เปิดดูได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยเรื่องราวที่เขียนไว้ในไดอารี
      ไดอารีเหล่านี้มีโครงเรื่องหลัก ๆ แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม สองกลุ่มแรกได้แก่ ไดอารีปลายศตวรรษที่ ๑๙ เมื่ออิตาลีรวมเป็นประเทศเดียว และไดอารีที่บอกเล่าเรื่องราวของทหารที่ไปรบระหว่างสงคราม เอกสารเหล่านี้ช่วยให้นักวิจัยศึกษารายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงระหว่างการรวมประเทศ ให้เป็นหนึ่งเดียวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความรู้สึกของคนทั่วไป ภายใต้การปกครองของเผด็จการฟาสซิสต์-เบนิโต มุสโสลินี
      "ไดอารีเหล่านี้เติมเต็มช่องว่าง ที่ประวัติศาสตร์ทางการของอิตาลีตัดทิ้งไป" ลูคา ริคคี ผู้อำนวยการห้องเก็บเอกสารสำคัญ กล่าว
      ส่วนไดอารีอีกกลุ่มหนึ่ง เขียนบรรยายความรู้สึกอย่างลับ ๆ ของผู้หญิงอิตาเลียนที่ถูกสามีกดขี่ ไดอารีที่ได้รางวัลชนะเลิศเล่มหนึ่ง เขียนโดย ลุยซา ผู้หญิงจากถิ่นยากจนทางตอนใต้ของอิตาลี บรรยายถึงบ้านของเธอ ซึ่งกลายสภาพเป็นคุก หลังจากที่เธอแต่งงานกับสามีที่อารมณ์รุนแรง 
      ไดอารีหลายเล่มเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สร้างหนังและนักเขียนด้วย
      หนังเรื่อง La Seconda Volta สร้างในปี ๒๕๓๙ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกองโจรปฏิวัติในชนบท ก็มีต้นเรื่องมาจากไดอารีหลายเล่ม ส่วนเรื่อง El Alamein ที่สร้างเมื่อปีที่แล้ว มีเนื้อหาว่าด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้ข้อมูลจากคลังเก็บไดอารีแห่งนี้
      นานนิ โมเรตติ นักทำหนังชื่อดังของอิตาลี ผู้สร้างหนังรางวัลอย่าง Caro Diario หรือ ไดอารีที่รัก ในปี ๒๕๓๗ ก็สร้างสารคดีเรื่องนี้ขึ้นจากไดอารีที่ชนะรางวัลหลายฉบับ
      ขณะนี้เมืองหลายแห่งในฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี กำลังเริ่มรวบรวมไดอารีของคนทั่ว ๆ ไปเพื่อสร้างเป็นหอสมุดไดอารีประจำเมือง
      การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยน่าจะจัดโครงการ Unseen Diary in Bangkok หรือ in Chiengmai เพื่อโปรโมตสู้ไข้ซาร์ส
      ไม่แน่ว่า เราอาจจะมีซีไรท์สาขาไดอารีก็ได้