นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ "ดาบอาทมาฏ อานุภาพของดาบไทย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

เวียดนาม จากเหนือจรดใต้

  เรื่องและภาพ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
(คลิกดูภาพใหญ่)       คุณเคยรู้สึกกับคำว่า "ใจหาย" หรือไม่
      วันหนึ่งกลางกรุงโฮจิมินท์ซิตี้ ผมเพิ่งเข้าใจความรู้สึกที่ว่า ใจมันหายไปจริง ๆ
เที่ยงวันนั้น ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯเพียงไม่กี่ชั่วโมง ผมรีบกินอาหารในภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง เพื่อรีบออกไปถ่ายรูปสภาพชีวิต ผู้คนในไซง่อน เมืองหลวงเก่าของประเทศเวียดนามใต้ ก่อนจะมีการรวมประเทศและเปลี่ยนชื่อจากมาเป็นโฮจิมินห์ซิตี้ ในปีค.ศ. ๑๙๗๕ 
      ผมเอาสายกล้องคล้องคอเดินถ่ายภาพป้ายร้าน อาคารไปเรื่อย ๆตามถนน สักพักหนึ่งผมเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังขายของข้างถนนอยู่ลึกเข้าไปในซอย ผมจึงถอดสายกล้องออกจากคอ เปลี่ยนเลนส์กล้องถ่ายรูปเป็นเทเลโฟโต้ ๒๐๐ มม. และเล็งกล้องไปยังภาพชีวิตที่อยู่ข้างหน้า โดยลืมคล้องสายกล้องไว้ที่คอเหมือนที่เคยทำประจำ
      ขณะที่กำลังเล็งกล้องเตรียมกดชัดเตอร์ ผมไม่รู้ว่าตัวเองก็กำลังถูกเล็งอยู่เช่นเดียวกัน หรือพูดให้ทันสมัยก็คือ ผมกำลังถูกล็อกเป้าแล้ว
      "ผลั๊วะ" ผมรู้สึกเจ็บอย่างแรงที่มือ ผมหันขวับไปตามสัญชาตญาณ ชายอายุประมาณ ๓๐ ปี มีหนวดใส่เสื้อสีขาวขับรถมอเตอร์ไซค์แล่นผ่านไปอย่างรวดเร็ว 
      เสี้ยววินาทีนั้นผมก็รู้ว่ากล้องถ่ายภาพคู่ใจที่ใช้อย่างสมบุกสมบันมาสิบกว่าปี เดินทางและผจญภัยมาเกือบครบทุกทวีป รอดพ้นจากนักวิ่งราวทั่วโลก ได้ถูกโจรมืออาชีพจากเวียดนาม ที่ดักรออยู่ขับมอเตอร์ไซค์พุ่งตรงมาที่ผม และกระชากจนกล้องหลุดจากมือของผมไปอย่างรวดเร็ว
      วินาทีนั้นใจมันหายวับไปจริง ๆ 
      พอตั้งสติได้ผมวิ่งตามรถมอเตอร์ไซค์ ที่ขับเลี้ยวขวาบึ่งหนีไปตามซอย เพื่อดูป้ายทะเบียนรถ แต่มองไม่ถนัด มันช่างเหมือนเหตุการณ์ในภาพยนต์ที่เคยดูมา เพียงแต่ว่าไม่ใช่ฉากพระเอกไล่จับผู้ร้าย แต่เป็นชีวิตจริงที่เหยื่อกำลังไล่ตามกล้องในมือคนร้าย ที่ไม่มีวันได้กลับมา
      สักพักหนึ่งชาวเวียดนามแถวนั้นที่เห็นเหตุการณ์ ต่างออกมาจับกลุ่มคุยกัน หลายคนเดินมาแสดงความห่วงใย แม้จะมีปัญหาด้านภาษา แต่ผมก็รับรู้ถึงน้ำใจของคนเหล่านี้ได้ หนึ่งในนั้นทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี ขับรถมอเตอร์ไซค์ตามไปจดป้ายทะเบียนรถของคนร้ายได้สำเร็จ อีกคนหนึ่งโทรศัพท์ไปแจ้งความตำรวจให้ช่วยกันสกัดจับคนร้าย
      บางคนพูดด้วยความหวังดีว่า โชคดีแล้วที่ไม่เจ็บตัว นักท่องเที่ยวหลายคนเคยถูกคนร้ายยิง หรือถูกแทงบาดเจ็บเพราะพยายามต่อสู้
      ผมยังงง ๆกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกหลายชั่วโมง รู้สึกตัวเองเป็นเหมือนเหยื่อกลางกรุงที่เดินไม่ระวังตัว จึงถูกเหยี่ยวบินโฉบเอาตัวไปอย่างรวดเร็ว
      แต่หนึ่งอาทิตย์ที่ตระเวนอยู่ในเวียดนาม พอจะทำให้ผมเข้าใจได้ว่า 
      ไม่ใช่ผมเท่านั้นที่เป็นเหยื่อ แต่ชาวเวียดนามจำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ล้วนตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน
 

อ่าวฮาลอง มรดกโลก

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ซินจ่าว (สวัสดี) เวียดนาม
      แอร์เวียดนามเที่ยวบินที่ VN 830 พร้อมผู้โดยสารเต็มลำ ทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ในเครื่องบินผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามใต้ ที่อพยพลี้ภัยไปตั้งรกรากอยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ส่งผลให้เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมเป็นประเทศเดียวกัน 
      และสิบกว่าปีที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลสังคมนิยมของเวียดนามเปิดประเทศมากขึ้น คนเหล่านี้จึงกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง 
      เครื่องบินใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมง จึงมาถึงแผ่นดินของประเทศรูปร่างเหมือนอักษร S ที่ทอดตัวยาวเหยียดไปตามความยาว ๑,๖๕๐ กิโลเมตรของคาบสมุทรอินโดจีน พอมองลงมาจากฟากฟ้า เราเห็นแม่น้ำใหญ่สีโคลนทอดตัวคดเคี้ยวหายลับไปในเมืองใหญ่ คือแม่น้ำแดง ที่ไหลมาจากเทือกเขาในมณฑลยูนนาน แม่น้ำสายนี้เป็นเสมือนมารดาของชาวเวียดนาม ที่คอยหล่อเลี้ยงการเพาะปลูก ของชาวเวียดนามทางตอนเหนือให้อุดมสมบูรณ์อยู่ตลอด
      อีกไม่กี่นาทีเครื่องบินร่อนลงจอดที่สนามบินนอยไบ สนามบินแห่งชาติกรุงฮานอย ที่เพิ่งปรับปรุงอาคารใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น แต่การใช้สีตกแต่งภายในก็ยังดูเคร่งขรึมตามแบบสังคมนิยม คือใช้สีเทา ดำและขาว 
      เราเหยียบแผ่นดินเวียดนามประมาณบ่ายสี่โมง ไม่ต้องปรับเข็มนาฬิกาใหม่เพราะเวลาของทั้งสองประเทศตรงกัน 
      "สวัสดีค่ะ" คุณเพ็ญ ไกด์ชาวเวียดนามวัย ๕๐ ปีมารอต้อนรับเราอยู่ที่หน้าทางออกของสนามบิน และพาเราขึ้นรถมุ่งหน้าออกนอกเมืองหลวง มุ่งหน้าไปอ่าวฮาลองที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๖๕ กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางฮานอย-ท่าเรือไฮฟอง 
      คุณเพ็ญจบวิชาครูจากมหาวิทยาลัยฮานอย เธอเป็นคนรุ่นสงครามเวียดนาม ผู้มีโอกาสสัมผัสถึงความโหดร้ายของการทิ้งระเบิด ถล่มกรุงฮานอยจากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา
      " ถนนที่เราแล่นอยู่นี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่เครื่องบินอเมริกาจะมาทิ้งระเบิดอย่างหนัก ระหว่างปีค.ศ.๑๙๗๐-๗๓ เพราะเมืองไฮฟองเป็นเมืองท่าเรือสำคัญที่ขนถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศมาไว้ที่นี่ ก่อนจะบรรทุกขึ้นรถขนสินค้ามาที่ฮานอย ถนนนี้จึงโดนทิ้งระเบิดเป็นประจำ ตอนนั้นดิฉันยังเป็นวัยรุ่น เครื่องบินอเมริกาจะมาทิ้งระเบิดตอนกลางคืน บางทีทหารของเรายิงเครื่องบินตก ดิฉันและเพื่อน ๆมีหน้าที่ออกไปค้นหาซากเครื่องบิน และนำกลับมาหมู่บ้านให้มากที่สุด" คุณเพ็ญที่พูดภาษาไทยได้ถูกต้องและไพเราะกว่าคนไทยทั่วไปเล่าความหลังให้ฟังบนรถ
      ปริมาณของลูกระเบิดที่สหรัฐขนมาถล่มเวียดนามมีปริมาณถึง ๗.๕ ล้านตัน เป็นจำนวนมากกว่าระเบิดที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองรวมกันเสียอีก พร้อมกับส่งทหารอเมริกันถึง ๕๐๐,๐๐๐ คนเข้ามารบในเวียดนาม แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อจิตใจของคนเวียดนาม จนต้องยอมเจรจาสงบศึกและถอยทัพกลับไป พร้อมกับชีวิตของทหารอเมริกันที่ต้องมาตายอย่างไร้ค่าประมาณ ๕๖,๐๐๐ คน เป็นความอับอายของทหารอเมริกันจนถึงทุกวันนี้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เราเดินทางมาถึงเมืองฮาลองตอนพลบค่ำ มองออกไปทางทะเลมีแต่ความมืด จึงยังนึกไม่ออกว่าอ่าวฮาลองที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์เรื่อง อินโดจีน จะมีสภาพเป็นอย่างไร คืนนั้นเราถือโอกาสเดินเล่นตามชายหาด ที่ร้านขายของที่ระลึกเปิดขายจนเกือบเที่ยงคืน บรรยากาศที่นี่ค่อนข้างเงียบสงบ แม้ว่าจะเป็นเมืองตากอากาศชื่อดังของเวียดนาม ไม่ต่างจากการมาเดินเล่นชายหาดบางแสนเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ยังไม่ค่อยมีโรงแรมใหญ่ ๆหรือเสียงดนตรีเปิดดังลั่นหน้าหาดเหมือนหาดพัทยา
      ร้านอาหารที่นี่มักเป็นร้านเล็ก ๆ มีโต๊ะเก้าอี้ตัวเตี้ย ๆตั้งอยู่นอกร้าน อาหารทะเลดูจะเป็นอาหารขึ้นชื่อที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลาที่จับจากทะเลหน้าหาด ปูทะเลตัวใหญ่มากขนาด ๔-๕ กิโลกรัมขึ้นไปน่ากินดี แต่คืนนั้นท้องเราอิ่มเกินพอแล้ว จึงสั่งเบียร์ไทเกอร์ราคาขวดละ ๑ เหรียญสหรัฐมาดื่มแทน มองดูหนุ่มเวียดนามชุดหนังสีดำขับมอเตอร์ไซค์ซูซูกิรุ่นใหม่ มีสาวรุ่นชุดสายเดี่ยวทันสมัยซ้อนท้ายมาจอดหน้าร้าน และสั่งอาหารทะเลมากินอย่างเอร็ดอร่อย
      รุ่งเช้าอ่าวฮาลองเจ้าของฉายาว่า "กุ้ยหลินแห่งเวียดนาม" ที่เรานึกภาพก่อนจะมาว่าคงมีลักษณะคล้ายเกาะพะงันทางภาคใต้ของบ้านเรานั้น เป็นการคาดเดาที่ถูกเพียงเสี้ยวเดียว พอเราออกมายืนหน้าชายหาด ภาพข้างหน้าที่เราเห็นตั้งแต่ซ้ายสุดไปจนขวาสุดคือ เกาะภูเขาหินปูนขนาดต่าง ๆ นับไม่ถ้วนขึ้นเรียงรายเป็นชั้น ๆ อยู่กลางทะเลเต็มไปหมด มองไกลออกไปตรงเส้นขอบฟ้านอกฝั่ง เราแทบมองไม่เห็นทะเล แต่เป็นดงเกาะหินปูนที่ขึ้นตัดกับทะเลสีครามสวยงามสุดบรรยาย
      อ่าวฮาลองประกอบด้วยเกาะหินปูนประมาณ ๒,๐๐๐ เกาะ แต่มีเพียง ๙๐๐ เกาะที่ได้รับการตั้งชื่อ เกาะที่เหลือยังไม่มีการสำรวจ ในปีค.ศ. ๑๙๙๔ ยูเนสโกได้ประกาศให้อ่าวฮาลองเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก บนพื้นที่ ๔๓๔ ตารางกิโลเมตร นักธรรมชาติวิทยาได้พบว่าบริเวณอ่าวฮาลอง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่ง ประมาณว่ามีพรรณไม้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด อาศัยอยู่ตั้งแต่บริเวณป่าชายเลน ป่าชายหาด บริเวณหน้าผาหินปูนที่มีลมแรง ไม่ค่อยมีชั้นดินให้พืชเกาะไปจนถึงพืชหายากหลายชนิด ที่ขึ้นในถ้ำต่าง ๆ
      คุณเพ็ญพาเราขึ้นเรือสำเภานำเที่ยวลำหนึ่ง มุ่งหน้าสำรวจเกาะต่าง ๆที่อยู่เบื้องหน้า เกาะเหล่านี้มีขนาดและรูปร่างต่างกันไป ชาวเรือบางคนตั้งชื่อเกาะตามรูปร่าง อาทิเกาะหงส์ เกาะเต่า เกาะคางคก เกาะตะเกียบ หรือเกาะแมวน้ำ ฯลฯ ยิ่งออกสู่ทะเลลึก เรายิ่งเห็นเกาะต่าง ๆอยู่ซ้อน ๆ กันเป็นชั้น ๆ กลางทะเลสีมรกต หลายชั่วโมงผ่านไป เรือยังคงแล่นตระเวณไปมาตามเกาะต่าง ๆ ราวกับจะไม่มีทางออกสู่ทะเลใหญ่
      "ในอดีตชาวประมงหลายคนที่ไม่ชำนาญทางออกจากฝั่งไปหาปลาในทะเล แต่ขากลับ ไม่สามารถกลับเข้าฝั่งได้ เพราะหลงทางพายเรือวนอยู่ในหมู่เกาะเหล่านี้จนอดน้ำตาย" คุณเพ็ญเล่าให้เราฟังขณะที่เรือบ่ายหน้ามาจอดที่เกาะแห่งหนึ่ง เพื่อมาชมถ้ำซัง ซอต 
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจากที่เราปีนขึ้นไปตามทางเดินและไต่ลงไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เราจึงมาถึงภายในตัวถ้ำที่เป็นห้องขนาดมโหฬาร เพดานถ้ำสูงหลายสิบเมตร หินงอก หินย้อยขนาดใหญ่เกาะอยู่ตามเพดานถ้ำ บางแห่งดูเหมือนรูปมังกร เสาหินบางแห่งสูงมากจนมองไม่เห็นยอด ภายในถ้ำแห่งนี้ เจ้าหน้าที่เอาไฟสปอต์ไลท์สีเขียว สีแดง สีฟ้า มาติดตามมุมถ้ำต่าง ๆ ให้ดูเหมือนจะสวยงาม แต่ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศของถ้ำสักเท่าไหร่ 
      อย่างไรก็ตามที่บริเวณถ้ำแห่งนี้เอง นักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาวเวียดนามได้เคยยืนหยัดเอาชนะมองโกล ที่ไม่เคยมีชาติใดเอาชนะได้สำเร็จถึง ๓ ครั้ง
      บริเวณที่เป็นดินแดนของเวียดนามแถบลุ่มแม่น้ำแดง เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มานานร่วม ๕ พันปี จนกระทั่งเมื่อประมาณ ๒๕๘ ปีก่อนคริสตกาล ถุกฟ้านผู้นำสำคัญคนหนึ่งได้สถาปนาอาณาจักรเอิวหลาก ขึ้นเป็นอาณาจักรแห่งแรกของเวียดนามในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังจากนั้นจีนได้ยกทัพเข้ามารุกราน ยึดครองอาณาจักรของชาวเวียดนามเป็นเวลาร่วมพันปี ก่อนที่ชาวเวียดนามจะสามารถรวบรวมผู้คน ขับไล่ศัตรูจากทางเหนือออกไปจนสำเร็จ
      ในปีค.ศ. ๑๒๕๓ พวกมองโกลภายใต้การนำของกุบไลข่าน ได้ยึดประเทศจีนได้สำเร็จ และออกติดตามโจมตีทหารจีนเลยเข้าไปในเวียดนาม  มองโกลเข้าโจมตีทหารเวียดนาม และสามารถยึดทังลอง เมืองหลวงของเวียดนาม เผาเมืองจนพินาศ แต่สุดท้ายกองทัพเวียดนามได้ขับไล่มองโกล ออกจากอาณาจักรได้สำเร็จ 
      แต่ในปีค.ศ. ๑๒๘๕ กุบไลข่าน กษัตริย์ที่ไม่เคยรบแพ้ชาติใดมาก่อน ตั้งใจเหยียบเวียดนามให้ราบเพื่อขยายอาณาจักรไปจนสุดแหลมอินโดจีน จึงมีบัญชาให้พระโอรสเกณฑ์ทหาร ๕ แสนคนพร้อมนักแม่นธนูบุกเวียดนาม 
      เวลานั้นชาวเวียดนามที่ยังขวัญผวา จากการถูกทหารมองโกลเผาเมืองเมื่อหลายปีก่อน พากันใจหายอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าสงครามครั้งใหญ่และรุนแรงกว่าเดิมกำลังจะเกิดขึ้น แต่นายพลเตริ่นฮึงเด่า แม่ทัพฝ่ายเวียดนามได้ชุมนุมพลขุนศึกทั่วประเทศประกาศว่า "จะสู้ตายหรือยอมเจรจา" คำตอบคือ สู้ตาย และแม่ทัพได้ให้ทหารเขียนคำขวัญสักไว้ที่แขนทุกคนว่า "ขอให้มองโกลตายเรียบ" 
      ในการรบระยะแรกทัพเวียดนามที่มีน้อยกว่าได้ใช้ยุทธวิธีปล่อยให้ทหารมองโกล บุกเข้ามาในเมืองที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้หลายแห่ง ทหารมองโกลต้องกระจายกำลังไปรักษาเมืองหลายแห่ง ทำให้กองทัพเวียดนามที่แอบซ่อนอยู่ในชนบทค่อย ๆ บุกเข้าทำลายทัพมองโกลทีละแห่ง จนสุดท้ายสามารถขับไล่ทหารมองโกลครึ่งล้านออกไปได้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่นานนักในปีค.ศ. ๑๒๘๗ มองโกลยกทัพ ๓ แสนคนข้ามชายแดนพร้อมเรือรบ ๕๐๐ ลำเพื่อตีเวียดนามให้สำเร็จ แต่นายพลเตริ่นฮึงเด่า ได้ใช้ยุทธวิธีปักขวากยักษ์ หรือเสาไม้ติดปลายเหล็กแหลมไว้บริเวณปากน้ำแถวอ่าวฮาลอง และเมื่อน้ำขึ้นทัพของเวียดนามได้ล่อให้ทัพเรือมองโกลล่องเข้าไปในปากน้ำ พอได้โอกาสทัพเรือเวียดนามได้ตีกระหนาบทัพเรือมองโกล จนต้องรีบถอยออกสู่ปากน้ำ แต่เป็นเวลาที่น้ำลง กองเรือมองโกลจึงปะทะกับเหล็กแหลมที่ชาวเวียดนามปักไว้ ทำให้เรือถูกทำลายไปร้อยกว่าลำ และทหารมองโกลต้องแตกทัพกลับไปเป็นครั้งที่สาม 
      การรบชนะทหารมองโกลที่ไม่เคยมีชาติใดเอาชนะได้ในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสงคราม ทำให้จีนเข็ดขยาดไม่กล้าส่งกองทัพมารุกรานชาวเวียดนามเป็นเวลานานหลายร้อยปี และนักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับว่า เวียดนามเป็นชาตินักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชาติหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเวียดนามสามารถรบชนะมหาอำนาจทางทหารอย่างฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาได้
      ภายในถ้ำแห่งนี้เองที่นักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบขวากยักษ์ ที่เอาไว้แทงเรือรบมองโกลจนแตกพ่าย คุณเพ็ญเล่าว่าขวากเหล่านี้เดิมเคยตั้งไว้ภายในถ้ำ แต่ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ในกรุงฮานอย
      เราเดินสวนทางกับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลกันเข้ามาเที่ยวในถ้ำ ส่วนใหญ่มาจากเมืองจีน การเปิดประเทศในเวลาไม่กี่ปี ได้ทำให้อ่าวฮาลองกำลังถูกรุกรานจากกองทัพนักท่องเที่ยวเมืองจีน ที่เข้ามาทางชายแดนด้านเหนือเพื่อกิน ดื่ม เที่ยว พักผ่อนตากอากาศ และวัฒนธรรมการขากเสลดลงบนพื้นของคนจีนก็ระบาดมาที่นี่
      แม้คนเวียดนามจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากคนจีนมหาศาล และเวียดนามก็รับวัฒนธรรมจากจีนเข้ามาฝังรากเป็นเวลานาน แต่ลึก ๆแล้วดูเหมือนชาวเวียดนามจะไม่ค่อยไว้ใจคนจีนมากนัก จากบทเรียนในอดีต ที่ตกเป็นเหยื่อการรุกรานของกองทัพจีนมาโดยตลอด และล่าสุดที่คนเวียดนามลืมไม่ลงคือ ในปีค.ศ. ๑๙๗๙ เมื่อจีนส่งทหาร ๖๐๐,๐๐๐ คนเข้าโจมตีจังหวัดทางเหนือเพื่อทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม เพราะโกรธแค้นที่เวียดนามบุกเขมร เพื่อโค่นอำนาจนายพอลพตผู้นำเขมรแดงพันธมิตรใกล้ชิดของจีน ที่ปกครองเขมรอย่างเหี้ยมโหดในเวลานั้น
      เหตุการณ์ครั้งนั้น แม้ว่ากองทัพจีนจะยอมถอยทัพกลับไป แต่เวียดนามและจีนยังไม่สามารถเป็นมิตรประเทศได้สนิทใจจวบจนถึงปัจจุบัน
 

ฮานอยและสุสานลุงโฮ

 (คลิกดูภาพใหญ่)       วันต่อมาเรานั่งรถกลับกรุงฮานอย ถนนหนทางไม่ค่อยดีและ ยิ่งใกล้กรุงฮานอย รถสองล้อและสี่ล้อมีปริมาณมากจนติดขัดไปหมด การจราจรวุ่นวายมากเพราะความไร้ระเบียบของคนขับรถ ใครอยากขับรถเลนใดก็ขับได้ ไม่ต้องสนใจกฎจราจรใด ๆ มีเพียงเสียงบีบแตรดังลั่นตลอดเวลา จนมีคนกล่าวว่า หากใครข้ามถนนในฮานอยได้สำเร็จ สมควรได้เหรียญกล้าหาญ ผู้ที่เป็นใหญ่ในท้องถนนบ้านเราคือบรรดารถยนต์สี่ล้อ แต่สำหรับประเทศนี้ คือรถมอเตอร์ไซค์ที่มีปริมาณมากกว่ารถยนต์หลายสิบเท่า ภายหลังจากเศรษฐกิจของเวียดนามดีขึ้น ประมาณว่ามีรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มจาก ๕๐๐,๐๐๐ คันเมื่อสิบปีก่อน ขึ้นเป็น ๑๐ ล้านคันในปัจจุบัน เป็นประเทศที่มียอดขายมอเตอร์ไซค์สูงสุดในโลกรองจากจีนและอินเดีย
      รถมอเตอร์ไซค์นับล้านคันจึงวิ่งอยู่ทั่วไปหมดบนท้องถนน และขับกันอย่างไม่เคารพกติกาใด ๆ คนขับนึกอยากจะย้อนศร หรือขับกลางเลน ก็สามารถทำได้ ส่วน รถยนต์มีหน้าที่หลบทางรถสองล้อ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุซึ่งเกิดบ่อยมาก ความผิดจะเป็นของคนขับรถยนต์มากกว่า
      ในเวียดนามมีผู้ใส่หมวกกันน็อกเพียงร้อยละ ๓ เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจตามโรงพยาบาลมีคนป่วย และตายจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากคนตายเพียง ๓,๐๐๐ รายเมื่อสิบปีก่อน เพิ่มเป็น ๑๕,๐๐๐ รายเมื่อปีที่ผ่านมา
      หลายครั้งที่โชเฟอร์ของเราต้องเบรกกระทันหันและบีบแตรดังลั่น เมื่อรถมอเตอร์ไซค์พุ่งออกจากซอยข้างถนนอย่างรวดเร็ว  โดยไม่หันมองซ้ายขวาว่ามีรถทางตรงแล่นมาหรือไม่ และสีหน้าของหนุ่มฮานอยนักบิดผู้หันมามองหน้าเราราวกับไม่มีอะไรผิดปกติ 
      ฮานอยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร ในภาษาเวียดนาม "ฮา" แปลว่า แม่น้ำแดง และ "นอย" แปลว่า ข้างใน ฮานอยได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์เลเมื่อค.ศ. ๑๔๒๘ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่คนกรุงเทพฯมีเกือบ ๖ ล้านคน ในขณะที่คนฮานอยมีประชากร ๓ ล้านกว่าคน
      จุดแรกที่เราไปแวะคือใจกลางเมืองเก่าฮานอย มีทะเลสาบกลางเมืองเรียกว่า โฮ ฮว่าน เกี๋ยม หรือทะเลสาบดาบที่กลับคืน มีตำนานคล้ายดาบเอ๊กซ์คาลิเบอร์ของกษัตริย์อาเธอร์แห่งอังกฤษ กล่าวคือพระเจ้าเล ไท โต แห่งราชวงศ์เลผู้ตั้งกรุงฮานอยเป็นราชธานี ได้ดาบวิเศษจากเต่าตัวหนึ่งเพื่อต่อสู้กับกองทัพจีนเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี ในช่วงค.ศ. ๑๔๑๘-๑๔๒๘ จนสามารถปลดปล่อยเวียดนามเป็นอิสระจากจีน หลังจากนั้นพระองค์จึงลงเรือไปกลางทะเลสาบแห่งนี้เพื่อคืนดาบวิเศษแก่เต่าศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเล่าว่าเต่าได้ขึ้นมาคาบดาบไปจากหัตถ์ของพระองค์ แล้วหายไปในทะเลสาบ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้รอบ ๆทะเลสาบโฮ ฮว่าน เกี๋ยม เป็นสวนสาธารณะที่ออกกำลังกายสำคัญของชาวเมืองฮานอย ทุกเช้าและเย็นจะมีผู้คนจำนวนมากมาวิ่งออกกำลังกาย มีร้านกาแฟและร้านไอศกรีมกลางแจ้งคอยบริการผู้คนอยู่รอบ ๆทะเลสาบ 
      ตกค่ำคืนนั้นคุณเพ็ญพาเรามาดูการแสดงหุ่นน้ำในโรงละครแห่งหนึ่งบนถนนดิงห์ เตียน ฮว่างที่ตั้งอยู่ด้านหนึ่งของทะเลสาบ หุ่นน้ำเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวเวียดนามมาแต่ดั้งเดิม มีแหล่งกำเนิดบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่น้ำท่วมถึงทุกปี ชาวบ้านจึงจัดให้มีการเล่น หุ่นกระบอกในน้ำเพื่อความเพลิดเพลิน ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นศิลปะประจำชาติ ที่เป็นหน้าเป็นตาที่สุดของชาวเวียดนาม มีคนต่างชาติเข้าชมแน่นตลอดทุกวันที่เปิดการแสดง 
      ภายในโรงละครมีสภาพเหมือนกับโรงละครทั่ว ๆไป แต่เวทีที่มีฉากอยู่ข้างหน้าจะจมอยู่ในน้ำหมด และด้านซ้ายของเวทีจะยกพื้นสูงให้พ้นน้ำ ให้คณะนักดนตรีที่เรียกว่า "แจ่ว" เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ซอ ขลุ่ยจีนและเครื่องเคาะไม้ 
      ขณะที่หลังเวทีจะมีนักเชิดยืนในน้ำคอยเชิดหุ่นต่าง ๆที่ออกมาเล่นชุดการแสดงหน้าฉาก ไม่ว่าจะเป็นระบำมังกร สิงโตชิงลูกบอล ชาวบ้านหาปลา แข่งเรือ ชนควาย ฯลฯ ซึ่งการแสดงทุกชุดได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้อง นักเชิดหุ่นเชิดหุ่นได้อย่างสวยงามและแคล่วคล่อง โดยที่คนดูไม่สามารถเห็นกลไกการเชิดหุ่นที่จมอยู่ใต้น้ำได้ และคณะหุ่นน้ำชุดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังไปเปิดการแสดงมาแล้ว ทั่วโลก 
      เช้าวันต่อมาเรามุ่งหน้าไปตามถนนเดียน เบียน ฟู เพื่อไปคำนับศพอาบน้ำยาของลุงโฮ ที่อาคารสุสานโฮ จิ มินท์ ในจัตุรัสบา ดิงห์ วันที่เราไปตรงกับวันทหารผ่านศึก จึงมีชาวเวียดนามจากทั่วสารทิศหลายพันคน มายืนเข้าแถวรอเข้าไปคำนับลุงโฮ ตั้งแต่เด็กนักเรียน ประชาชนทั่ว นักท่องเที่ยว ไปจนถึงวีรชนทหารผ่านศึก ซึ่งแต่ละคนมีเหรียญกล้าหาญห้อยเต็มหน้าอก ตามแบบฉบับของทหารประเทศสังคมนิยม
      เราใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงเข้าแถวรอคอย ท่ามกลางทหารยืนรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด จนไม่มีใครกล้าแตกแถว กว่าจะหลุดเข้าไปในสุสานที่เป็นอาคารสร้างด้วยหินอ่อน หินแกรนิตและไม้มีค่าจากทั่วประเทศ ภายในมีทหารกองเกียรติยศในชุดสีขาว ถือดาบปลายปืนยืนรักษาการณ์ ทางเดินแคบ ๆพาเราเดินขึ้นบันได ไหลไปตามฝูงชนที่เบียดเสียดเรียงหนึ่งเข้าไปถึงห้องโถงใหญ่ ตรงกลางมีโลงแก้วครอบศพของลุงโฮตั้งอยู่บนแท่นหิน ทางเดินและทหารที่คอยสั่งให้ผู้คนรีบเดิน ทำให้เราสามารถเห็นใบหน้าของลุงโฮ ในระยะใกล้ได้เพียงแวบเดียว แต่ก็สังเกตได้ว่าใบหน้ายังมีสีชมพูฝาด เหมือนคนนอนหลับ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ประเทศสังคมนิยมมักดองศพผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน และเวียดนามให้กลายเป็นเทพเจ้า หรือบุคคลอมตะ ซึ่งมักขัดกับความประสงค์ของเจ้าตัว โดยเฉพาะโฮ จิ มินท์ ผู้สั่งนักสั่งหนาให้เผาร่างของตัวเองหลังจากท่านตาย แต่รัฐบาลเวียดนามไม่ยอม สุสานแห่งนี้สร้างในปีค.ศ. ๑๙๗๓ หลังจากลุงโฮเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๙
      การดองศพให้มีลักษณะคล้ายคนนอนหลับ ถือเป็นความลับทางการแพทย์รัสเซีย ซึ่งแพทย์ทางโลกตะวันตกยังไม่มีความชำนาญในการดองศพเทียมเท่า สุสานแห่งนี้มักจะปิดเป็นเวลา ๓ เดือนในฤดูใบไม้ร่วง ศพของลุงโฮจะถูกนำไปรัสเซียเพื่อรับการเปลี่ยนน้ำยาและทำความสะอาด ให้ร่างของลุงโฮมีอายุไปชั่วนิรันดร์ ตราบเท่าที่คนเวียดนามยังกราบไหว้บูชาบิดาแห่งประเทศผู้นี้
      เราเดินผ่านทำเนียบประธานาธิบดี อาคารใหญ่สีเหลืองรูปทรงโคโลเนียลของฝรั่งเศส เป็นอาคารที่ลุงโฮใช้เป็นที่ทำงาน ด้านหลังอาคารมีสวนสาธารณะ สระน้ำและบ้านหลังเล็ก ๆที่เป็นที่อยู่ของลุงโฮช่วงปีค.ศ. ๑๙๕๘ จนถึงวาระสุดท้ายของท่านในปีค.ศ. ๑๙๖๙ เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง คุณเพ็ญเล่าให้ฟังว่า ใต้ถุนแห่งนี้คือใช้เป็นที่ประชุมของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพื่อวางแผนการรบกับทหารอเมริกันในสมัยสงครามเวียดนาม ส่วนข้างบนเป็นห้องนอนเล็ก ๆเพียงห้องเดียวของบิดาแห่งชาวเวียดนามผู้นี้
      คุณเพ็ญเล่าต่อไปว่า สมัยหนุ่ม ๆ ลุงโฮเคยมีคนรักเป็นสาวเมืองเว้ ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะแต่งงานด้วยกัน แต่ได้พลัดพลากจากกันเมื่อท่านเดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส และหลังจากนั้นลุงโฮก็อุทิศให้กับงานปฏิวัติเพื่อประเทศเวียดนามตลอดชีวิต จนไม่มีชีวิตครอบครัว ไม่มีลูกหลานสืบสกุล แต่ท่านไม่เคยเสียใจ
      "เพราะลุงโฮถือว่าคนเวียดนามทั้งหมดคือลูกหลานของท่าน และตลอดชีวิตท่านทำเพื่อคนเหล่านี้" คุณเพ็ญกล่าวต่อว่า
      "ก่อนตายลุงโฮได้เรียกให้เด็กนักเรียนมาร้องเพลงพื้นบ้านให้ฟัง พอฟังเสร็จท่านก็จากไปอย่างสงบ"
ใกล้เที่ยงเรามีเวลาเล็กน้อยที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ เป็นอาคารสีเหลืองสวยงามสไตล์โคโลเนียล ในอดีตเคยเป็นสถาบันวิจัยโบราณคดีอันเก่าแก่ L'Ecole Francaise d'Etreme Orient ของฝรั่งเศส ซึ่งยอร์ช เดเซย์นักโบราณคดีฝรั่งเศสผู้ค้นพบหลักศิลาจารึกก็เคยนั่งทำงานอยู่ในอาคารหลังนี้มาก่อน
      ภายในอาคารเป็นที่จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ชี้ว่าดินแดนแห่งนี้มีมนุษย์อาศัยตั้งมาบ้านเรือนมาหลายพันปีก่อนคริสตกาล เราเห็นกลองสำริดวัฒนธรรมดอง เซิน อายุสองพันกว่าปีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗๙ เซ็นติเมตร หน้ากลองเป็นรูปพระอาทิตย์ แวดล้อมด้วยดวงดาว และมีภาพสลักของนก กวาง มนุษย์ เป็นลวดลายที่ชัดเจนมาก ที่น่าสนใจอีกแห่งคือภาพวาดสงครามระหว่างมองโกลกับเวียดนาม เมื่อทหารของแม่ทัพเตริ่นฮึงเด่าสามารถรบชนะกองทัพเรืออันยิ่งใหญ่ของกุบไลข่านได้สำเร็จ ในปีค.ศ. ๑๒๘๘ หลักฐานชิ้นสำคัญคือขวากยักษ์โบราณที่จัดแสดงอยู่ และสิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ธงดาวแดงผืนแรก เป็นธงผืนแดงมีดาวสีทองอยู่ตรงกลาง เป็นธงที่โฮจิมินท์ประกาศใช้เป็นธงชาติของเวียดนามเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ.๑๙๔๕
 

เว้ และ อ๋าวหย่าย

 (คลิกดูภาพใหญ่)       บ่ายวันนั้นเราจับเครื่องบินเวียดนามแอร์ไลน์มุ่งหน้าสู่ภาคกลางของประเทศ จุดหมายคือเว้ เมืองหลวงเก่า ของกษัตริย์ราชวงศ์เหวียน ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศพอดี คือห่างจากฮานอยมาทางใต้ประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตร และห่างจากโฮจิมินท์ซิตี้หรือไซง่อนเป็นระยะทาง ๑,๐๐๐ กิโลเมตร 
      ในปลายศตวรรษที่ ๑๖ กษัตริย์แห่งราชวงศ์เลมีความอ่อนแอ ศูนย์กลางการปกครองที่มีกรุงฮานอยเป็นราชธานี ไม่สามารถรวบรวมแคว้นต่าง ๆให้เป็นเอกภาพได้ มีการแตกแยกสองแคว้นใหญ่คือทางใต้และทางเหนือ ทางเหนือปกครองโดยขุนพลชื่อตริงห์ เกี่ยม ส่วนทางใต้ปกครองโดยขุนพลชื่อเหวียน ฮวาง ผู้สร้างเว้เป็นเมืองหลวงทางตอนใต้แห่งใหม่ ต่อมาขุนพลทั้งสองได้ขัดแย้งกันจนเกิดสงครามนองเลือด สุดท้ายขุนพลเหวียน ฮวางประสบชัยชนะสามารถปกครองดินแดนทางตอนใต้ได้ต่อไป กระทั่งในปีค.ศ. ๑๘๐๒ ขุนนางเหวียนที่ปกครองเว้คนที่สิบได้ประกาศตั้งตนเองเป็นกษัตริย์นามว่า พระเจ้ายา ลอง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของ องเชียงสือ ผู้เคยหลบหนีเข้ามาของความช่วยเหลือ จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นำกำลังกลับไปสู้กับกบฎไตเซินจนได้ชัยชนะ และพระองค์ทรงสถาปนาราชวงศ์เหวียนขึ้นปกครองประเทศ สามารถรวมแคว้นทั้งทางเหนือและใต้เป็นปึกแผ่น และเรียกดินแดนที่มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนจีนทางเหนือมาจรดคาบสมุทรก่าเมาทางตอนใต้ว่า ประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 
      พระองค์ทรงสร้างเว้เป็นราชธานีที่สวยงามที่สุดในเวียดนาม 
      มีการสร้างพระราชวัง สุสาน วัดและเจดีย์อย่างวิจิตรพิสดาร จนกล่าวกันว่าหากจะรู้จักวัฒนธรรมชั้นสูงของเวียดนาม ต้องมาที่นครเว้แห่งนี้
      พอลงจากเครื่องบิน คุณเพ็ญพาเราไปที่พระราชวังเว้ หรือนครจักรพรรดิแห่งเว้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม หรือแม่น้ำซงเฮือง หันหน้าไปทางทิศใต้ กำแพงล้อมรอบสองชั้น มีธงดาวแดงผืนใหญ่ชักอยู่เหนือกำแพงด้านนอก ราวกับจะประกาศถึงชัยชนะของระบอบสังคมนิยม ที่มีชัยต่อระบอบการปกครองอื่น ๆ 
      เวียดนามเป็นตัวอย่างของประเทศสังคมนิยมที่นิยมให้ประชาชนติดธงชาติ ตลอดเวลาที่เดินทางผ่านเวียดนามจากเหนือจรดใต้ สถานที่ราชการทุกแห่ง อาคารบ้านเรือนมักติดธงชาติ ร้านค้าส่วนใหญ่ก็มีธงดาวแดงประดับ หรือหมู่บ้านห่างไกลความเจริญก็ยังเห็นธงดาวแดงเด่นเป็นสง่าแต่ไกล จนอดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลสังคมนิยมทั่วโลก มักใช้ธงชาติเป็นเสมือนสัญญลักษณ์การรวมชาติ และการทำงานหนักเสียสละเพื่อสร้างชาติ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เราเดินผ่านกำแพงเหลือง กำแพงชั้นกลางที่ล้อมรอบพระราชเว้ ผ่านประตูโหงะ โมน หรือประตูเที่ยงวัน เป็นประตูขนาดใหญ่สร้างด้วยหินแกรนิต ชั้นบนเป็นพระที่นั่งหงส์ทั้งห้า หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีเหลืองสดและมีสีเขียวขลิบริมทั้งสองด้าน ในอดีตกษัตริย์จะมาปรากฏพระองค์ในงานฉลองพิธีต่าง ๆ บนพระที่นั่งแห่งนี้ 
      พระที่นั่งแห่งนี้ใช้งานเป็นครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อจักรพรรดิเบ๋า ได่ ได้มอบพระราชลัญจกรและดาบอาญาสิทธิ์อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจ ให้กับรัฐบาลสังคมนิยมของโฮจิมินห์ สิ้นสุดราชวงศ์เหวียน ปิดฉากพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของเวียดนาม และเวียดนามได้ หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๓ ที่ฝรั่งเศสได้ส่งทหารเข้ายึดเวียดนาม ต่อมาได้รวมเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเข้าเป็นอาณานิคมแห่งเดียวเรียกรวมกันว่า อินโดจีน
      เราเดินไปยังข้ามสะพานน้ำทองเข้าไปในพระราชวังไท ฮวา หรือพระราชวังสันติสุขสูงสุด พระราชวังสำคัญที่สุดในนครจักรพรรดิ กษัตริย์ใช้เป็นสถานที่รับรองเชื้อพระวงศ์ระดับสูง และทูตจากต่างประเทศที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี วังแห่งนี้สร้างในปีค.ศ. ๑๘๐๕ ในสมัยพระเจ้ายา ลอง ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกโดยพระเจ้ามิงห์ หม่าง ในปีค.ศ. ๑๘๓๔ เพดานและคานตกแต่งด้วยน้ำมันสีครั่งและฝังลายทอง ยังอยู่ในสภาพดีมาก พระราชวังแห่งนี้เป็นสุดยอดสถาปัตยกรรม และการตกแต่งที่ผสมผสานกันลงตัวระหว่างศิลปะจีนและของเว้ 
พระราชวังแห่งนี้สงวนไว้เป็นที่เฉพาะของจักรพรรดิ เป็นที่ต้องห้ามของสามัญชน แต่บัดนี้มีแต่นักท่องเที่ยวทั้งฝรั่งและเอเชียเต็มไปหมด เดินปีนป่ายไปตามที่ต่าง ๆได้อย่างชอบใจ และยังมีบริการให้นักท่องเที่ยวแต่งตัวเป็นจักรพรรดิและพระมเหสี ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์แอ๊กท่าถ่ายรูปได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ให้ความสนใจดูแล หรือทำให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ยังมีพระราชวังอีกหลายแห่งในพระราชวังเว้ อาทิพระตำหนักเตรือง แซงห์ ที่พระจักรพรรดิทรงมาพักผ่อน ตำหนักโก ฮา ที่ทรงพระอักษร ตำหนักเฮียม ลาม กั๊ก ที่มีโกศของกษัตริย์ในอดีต ๙ โกศตั้งเรียงราย ฯลฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ตำหนักที่ยังเหลืออยู่ในพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งมีความงดงามมาก เป็นเพียงตำหนักส่วนน้อยที่เหลืออยู่ เมื่อเทียบกับตำหนักส่วนใหญ่ที่โดนระเบิดพังพินาศ ในสงครามเวียดนาม ช่วงเทศกาลเต๊ดหรือเทศกาลปีใหม่ของชาวญวนในปีค.ศ. ๑๙๖๘ ทหารฝ่ายเวียดนามเหนือได้เข้าโจมตีเมืองสำคัญของเวียดนามใต้พร้อมกันหลายแห่ง และยึดเมืองเว้ได้สำเร็จ ทหารสหรัฐได้ยิงปืนใหญ่และทิ้งระเบิดเมืองเว้อย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อกดดันให้ทหารเวียดนามเหนือถอยทัพออกจากเว้ และการโจมตีครั้งนั้นทำให้พระราชวังเว้ถูกทำลายย่อยยับเกือบหมด 
      เย็นนั้นเราแวะมาชมเจดีย์เทียน หมุ เจดีย์เก่าแก่รูปทรงจีนแปดเหลี่ยมสูงเจ็ดชั้น สร้างมาตั้งแต่นครเว้เป็นราชธานีของเวียดนาม ก่อนจะลงเรือล่องไปตามแม่น้ำหอม ชมพระอาทิตย์ตกดิน แม่น้ำหอมเป็นลำน้ำค่อนข้างใส ถือกำเนิดมาจากต้นน้ำสองแห่งบนภูเขาที่ไหลผ่านป่าไม้หอม แม้จะเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ แต่เป็นแม่น้ำหัวใจสำคัญของชาวเว้ที่ไหลผ่ากลางเมือง หล่อเลี้ยงชาวเว้มาช้านาน คุณเพ็ญบอกกับเราว่า เธอเกิดและเป็นสาวชาวเว้มาก่อนที่จะอพยพไปอยู่ฮานอย
      "ในบรรดาสาวเวียดนามทั่วประเทศ สาวชาวเว้แต่งชุดเอ๋าหย่าย ชุดประจำชาติ ได้สวยงดงามที่สุด ส่วนหนึ่งสาวเว้เป็นสาวชาววัง มีรูปร่างผิวพรรณดี ผมยาวสลวย และมารยาทงามกว่าสาวเมืองอื่น เวลาสาวเว้ใส่ชุดเอ๋าหย่ายจึงมีเสน่ห์มาก จนเรียกว่าเป็นผู้หญิงสวยแบบอำพราง " คุณเพ็ญกล่าว
      "cover everything but hide nothing" ดูจะเป็นคำอธิบายชุดที่ใส่แล้วจะกลายเป็นผู้หญิงสวยแบบอำพรางได้เป็นอย่างดี เอ๋าหย่ายเป็นชุดประกอบด้วยกางเกงยาวรัดรูปและเสื้อคลุมยาวผ่าข้างมาถึงขอบกางเกง เนื้อผ้าบางเบาเวลาเดินผ้าจึงพริ้วไปตามลม และขับทรวดทรงของผู้ใส่ให้โดดเด่น ผู้ที่ใส่ชุดเอ๋าหย่ายได้ดีจึงต้องมีรูปร่างหุ่นดีเป็นพิเศษ 
      เว้มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายเมืองทางเหนือของไทย ไม่ว่าจะเป็นเมืองแห่งขุนเขา สายน้ำ เมฆหมอก และสาวเว้ผู้มีความงามและผิวพรรณคล้ายสาวชาวเหนือของไทย จนไม่นานมานี้ เมืองเว้ได้ผูกสัมพันธ์ประกาศเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงราย และทุกวันนี้ทั้งสองจังหวัดมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าอยู่เป็นประจำ
 

พระราชสุสานของจักรพรรดิ

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันต่อมาเราไปเยี่ยมชมพระราชสุสานของจักรพรรดิเว้หลายองค์ จักรพรรดิเหล่านี้มักจะสร้างสุสานขนาดใหญ่โตมโหฬาร ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ บนทำเลที่ถูกหลักฮวงจุ้ย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินเขาบริเวณสองฟากฝั่ง แม่น้ำหอมทางทิศตะวันตกของเมืองเว้ 
      สุสานพระเจ้าตึดิ๊ก จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์เหวียน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเว้ เป็นสุสานที่สร้างได้อย่างกลมกลืน ภายใต้ธรรมชาติของป่าสนผืนใหญ่ ตามอุปนิสัยของพระองค์ที่ทรงเป็นกวีมากกว่านักปกครอง แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ต่อต้านฝรั่งเศส และคริสต์ศาสนาที่กำลังแผ่อำนาจเข้ามาในเวียดนามอย่างรุนแรง จนกระทั่งในปีค.ศ. ๑๘๘๓ ฝรั่งเศสใช้นโยบายเรือปืนเข้ายึดเวียดนามและบังคับให้จักรพรรดิตึดิ๊ก ทำสัญญาแบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วน คือ แคว้นโคชิน-ไชน่า ทางตอนใต้ ให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แคว้นอานนาม ตอนกลาง และแคว้นตังเกี๋ย ตอนเหนือ ให้เป็นดินแดนในอารักขา ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา เวียดนามก็กลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์
      คนที่ผ่านไปมาคงจะสังเกตเห็นว่าขนาดของพระราชวังในสุสานค่อนข้างเล็กกระทัดรัด หน้าลานพระราชวังจะมีรูปปั้นหินของขุนนาง ช้าง ม้า มีลักษณะค่อนข้างเตี้ยคล้ายคนแคระ อันเนื่องจากพระเจ้าตึดึ๊กเป็นกษัตริย์ที่มีพระวรกายเตี้ยมาก เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆไปจนถึงเตียงบรรทมหรือพระที่นั่งจึงเล็กกระทัดรัด 
      แม้ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่รักความสงบ มักปลีกวิเวกมาอยู่ในสุสานเพื่อทรงตกปลาในทะเลสาบ หรือทรงพระอักษร นิพนธ์บทกวีที่ตำหนักริมสระน้ำ แต่ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำลายพระราชวังในกรุงฮานอย ราชธานีเดิมจนหมดสิ้นในปีค.ศ. ๑๘๔๘ เพราะทรงพิโรธที่จักรพรรดิจีนทรงยอมรับว่าฮานอยยังเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม และให้ย้ายของมีค่าทังหลายไปไว้ที่เมืองเว้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       สุสานอีกแห่งที่เราไปเยี่ยมคือสุสานพระเจ้าไค ดิงห์ ผู้เป็นกษัตริย์ร่วมสมัยกับรัชกาลที่หก สุสานแห่งนี้เป็นสุสานขนาดมหึมาที่ใช้ปูนซีเมนต์ก่อสร้างเป็นครั้งแรก เป็นปูนซิเมนต์ที่นำเข้าจากประเทศไทยในเวลานั้น ใช้เวลาสร้างนาน ๑๑ ปี จนแล้วเสร็จในปีค.ศ. ๑๙๓๑ สุสานแห่งนี้เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งตะวันออกและตะวันตก จึงมีสิ่งก่อสร้างที่ดูคล้ายศิลปะขอม บางแห่งเหมือนศาลเจ้าจีน และเห็นเสาใหญ่ที่ได้อิทธิพลจากศิลปะแบบโรมันตั้งตระหง่านแต่ไกล
      ภายในศาลาใหญ่ที่เก็บพระศพสร้างอย่างวิจิตรพิสดาร บนหลังคามีมังกรคอยปกป้อง ยามเย็นเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงมาจะกระทบดวงตาแก้วสีแดงของมังกรส่องเป็นประกายจ้า แต่ภายในยิ่งตบแต่งอย่างวิจิตร มีการใช้กระเบื้องสีปูพื้น ด้านบนมีจิตรกรรมภาพฝาผนังสวยงามมาก วาดเป็นรูป "มังกรในม่านเมฆ" แต่จิตรกรไม่ได้ใช้มือวาดภาพ แต่ใช้ตีนวาดภาพแทน ด้วยความเกลียดชังพระเจ้าไค ดิงห์ผู้ทำให้ชาวเวียดนามได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ต่อมาความทราบถึงพระองค์ จึงเรียกตัวเข้าเฝ้า แต่ไม่ได้ลงโทษจิตรกรผู้นี้แต่อย่างใด พระองค์ตรัสเพียงว่า 
      "เป็นความโชคดีของเจ้าผู้มีฝีมือสูงส่งจนหาผู้ใดเปรียบได้ยาก มิฉะนั้นข้าจะฆ่าให้ตาย"
      บรรดาพระราชวังในสุสานเหล่านี้ เคยเป็นสถานที่ต้องห้ามในอดีต แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยว สามารถเดินเข้าไปดูได้เกือบทุกแห่ง และแทบจะไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษา ระวังไม่ให้คนปีนป่ายอย่างไม่เคารพ หรือทำความเสียหายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ทางการเวียดนามได้ทำให้สุสานเหล่านี้ มีค่าเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ในการนำรายได้เข้าประเทศ มากกว่าที่จะทำให้คนเวียดนามรำลึกถึงพระจักรพรรดิในอดีต ที่ห่างไกลจากการรับรู้ของคนรุ่นปัจจุบันมาก นับว่าแตกต่างจากสุสานของลุงโฮ ในกรุงฮานอย มีการจัดเวรยามดูแลคอยระแวดระวังอย่างใกล้ชิด มีทหารกองเกียรติยศเฝ้าสุสานตลอดวัน มีกระบวนการต่าง ๆทางวัฒนธรรมและสังคม ไม่ว่าเพลง ภาพยนตร์ ละคร หนังสือ วันหยุด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงลุงโฮอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการให้ค่าของผู้นำในอดีตของเวียดนาม ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินทีเดียว
      ฟ้าในอดีตกลับเป็นธุลีดินที่ไม่มีคนสังเกตเห็นในปัจจุบัน แต่ธุลีดินในอดีตที่ถูกเหยียบย่ำกลับลอยสูงสู่ฟากฟ้าให้คนเห็นกราบไหว้อยู่ตลอด
 

ฮอยอัน เมืองมรดกโลก

 (คลิกดูภาพใหญ่)       จากเมืองเว้เรานั่งรถออกนอกเมืองลงใต้เลียบชายฝั่งทะเลจีนใต้ ตามเส้นทางหมายเลข ๑ เส้นทางที่น่างดงามและตื่นตาตื่นใจ เราขับรถลัดเลาะข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า จนกระทั่งรถไต่ขึ้นไปยอดเขาสูงสุดมีชื่อเรียกว่า ไฮวาน หรือ เขาดั้นเมฆ มีป้อมค่ายโบราณ ซึ่งคนสมัยก่อนสร้างไว้คอยสังเกตการณ์ และป้องกันข้าศึกจากทางใต้ที่จะมารุกราน
      ตลอดทางเราสังเกตเห็นป่าไม้ข้างทาง อาทิ ไม้พะยูน ไม้มะเกลือ และไม้มะค่าแต่ยังขึ้นไม่หนาแน่นมาก ต้นไม้พวกนี้เป็นป่าไม้รุ่นสองมีอายุประมาณยี่สิบกว่าปี ในสงครามเวียดนาม ป่ารุ่นแรกหรือป่าดั้งเดิมของเวียดนามที่มีพื้นที่ถึง ๓ ใน ๔ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ถูกทหารสหรัฐทิ้งระเบิดเผาและโปรยฝนเหลืองทำลายป่าไปเกือบหมดประเทศ ป่าที่เราเห็นจึง
      เหลือเพียงป่ารุ่นสองหรือป่าปลูก
      พ้นจากยอดเขาไฮวาน รถมุ่งหน้าสู่เมืองดานัง หมู่บ้านชาวประมงในอดีต แต่กลายเป็นเมืองท่าสำคัญตั้งแต่เมื่อทหารฝรั่งเศสมาขึ้นฝั่งที่นี่เป็นครั้งแรกเพื่อมายึดเวียดนาม ต่อมากลายเป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ของประเทศ เมื่อทหารนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกันชุดแรก ๓,๕๐๐ คนได้ยกพลขึ้นบกที่ประเทศเวียดนามใต้ในปีค.ศ. ๑๙๖๕ เพื่อเริ่มทำสงครามกับกองทหารปลดแอกเวียดนามใต้ หรือเวียดกง และกองทหารเวียดนามเหนือ สามปีต่อมา ทหารจีไอเพิ่มขึ้นเป็น ๕ แสนกว่าคน ดานังจึงเป็นเมืองทหารอเมริกันโดยแท้ และเป็นเมืองหน้าด่านที่ไม่มีทางถูกเวียดกงตีแตกได้ ธุรกิจหลายอย่างผุดขึ้นมาเพื่อเสนอบริการทุกชนิดแก่ทหารอเมริกัน 
      ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันโสเภณี จนอาจเรียกว่าดานังคือพัทยาของเวียดนามใต้ในเวลานั้น มีเด็กลูกครึ่งเยอะที่สุดในประเทศ แต่ไม่กี่ปีให้หลังตามท้องถนนในเมืองดานัง กลับเกลื่อนไปด้วยเครื่องแบบทหาร และรองเท้าบู้ทหลายพันคู่ของทหารเวียดนาม ใต้ที่ต่างพากันถอดทิ้งไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นทหารฝ่ายรัฐบาล และพากันหนีตายออกจากเมือง เมื่อทราบข่าวว่าดานังแตกแน่นอน รุ่งเช้ารถบรรทุกทหารติดตราดาวแดงสองคัน พาทหารหญิงเวียดกงเข้ามายึดเมืองดานัง ที่ถูกทิ้งร้างไว้ โดยปราศจากการต่อสู้ใด ๆ
      เราแวะทานอาหารมื้อเที่ยงในเมืองดานัง และขับรถออกนอกเมืองไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร จุดหมายคือเมืองฮอยอัน เมืองโบราณเล็ก ๆ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำทูโบนเมืองแห่งนี้เป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณสามสี่ร้อยปีก่อน พ่อค้าชาวจีน ญี่ปุ่นและโปรตุเกสมักมาจอดเรือขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่เมืองฮอยอัน จนเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๙ ปากแม่น้ำทูโบนเกิดตื้นเขินกีดขวางการสัญจรทางทะเล เมืองท่าดานัง จึงถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ กลายเป็นเมืองท่าสำคัญของเวียดนามแทนเมืองฮอยอันมาจนถึงทุกวันนี้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ชื่นชมตัวเมืองเก่าเงียบสงบ คล้ายบรรยากาศของเมืองหลวงพระบาง ต่างมุ่งหน้ามาเยือนฮอยอัน เมืองที่มีการบูรณะรักษาบริเวณย่านเก่าแก่ ให้มีบรรยากาศของบ้านไม้โบราณ เมื่อหลายร้อยปีก่อนได้อย่างดี และได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในฐานะที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมจากการเป็นเมืองท่า เมืองค้าขายจากนานาชาติในอดีต และยังมีกลุ่มบ้านไม้เก่าแก่ที่ยังรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
      เรานั่ง ซี่โคร รถสามล้อถีบของเวียดนามเข้าไปตามถนนเลเลย ถนนสายเล็ก ๆในเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน เดินข้ามสะพานญี่ปุ่น สะพานโค้งมีหลังคามุงกระเบื้องสีเขียวและเหลือง ที่ชุมชนญี่ปุ่นสร้างไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๗ สองฟากฝั่งของถนนเป็นบ้านญี่ปุ่นและบ้านแบบจีนโบราณสองชั้น วัดวาอาราม เจดีย์ ศาลเจ้าประจำตระกูลที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ โครงสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นไม้ราคาแพงเหมือนบ้านเรือนสมัยก่อน สลักลวดลายไม้อย่างวิจิตรตามแบบศิลปะเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น จนทำให้บ้านแต่ละหลังมีความงามแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกัน คือหน้าบ้านทุกแห่งกลายเป็นร้านขายของที่ระลึก ให้แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าถ้วย ชาม เซรามิก เสื้อผ้า เครื่องเงิน ไม้แกะสลักลวดลายงดงาม และที่สะดุดตาคือภาพศิลปะสมัยใหม่ ของศิลปินรุ่นใหม่จำนวนมากที่วางขายเป็นแกลลอรี่เล็ก ๆ 
      เย็นนั้นเราเปลี่ยนบรรยากาศอาหารมื้อเย็น เดินมาที่ริมท่าน้ำนั่งม้านั่งยาวที่วางเรียงรายอยู่รอบร้านเฝอ ก๊วยเตี๋ยวเวียดนามที่คนไทยรู้จักดี คนเวียดนามบอกเราว่า รสชาติของเฝอจะอร่อยหรือไม่ เคล็ดลับอยู่ที่ฝีมือการปรุงน้ำซุปกระดูกหมู หรือกระดูกวัว และจะกินเฝอให้อร่อยต้องมากินเฝอตอนบ่ายแก่ ๆ หรือตอนเย็น อันเป็นช่วงที่น้ำซุปกระดูกที่ถูกเคี่ยวมาตั้งแต่เช้า กำลังอร่อยได้ที่ สักพักหนึ่งแม่ค้าจึงหยิบก๊วยเตี๋ยวใส่ชาม โปะเนื้อวัวแล่บาง ๆ ใส่เนื้อกมาม หรือน้ำปลาเวียดนามที่ทำจากการหมักกุ้งเคยกับเกลือในถังไม้ใหญ่ และตักน้ำซุป พร้อมโรยเครื่องเคียง หัวหอมซอย สะระแหน่ ใบโหระพา พริกไทย ส่งกลิ่นหอมกรุ่น และรสชาติกลมกล่อม จนไม่ต้องปรุงรสใด ๆเลย นับเป็นการกินเฝอแบบเวียดนามเป็นครั้งแรก
      คุณเพ็ญบอกเราภายหลังว่า เฝอ นอกจากจะเป็นอาหารประจำชาติของเวียดนามแล้ว ยังมักถูกเปรียบเป็นชู้รักด้วย กล่าวคือชาวเวียดนามมักจะกินข้าวกับกับข้าวที่บ้านทั้งสามมื้อ แต่เมื่อออกนอกบ้าน จะนิยมกินเฝอ จึงมีการเปรียบเปรยว่า เมื่อผัวเบื่อกินข้าวหรือเบื่อเมียในบ้าน ก็มักจะออกไปหากินเฝอ หรือ ชู้รัก
      ส่วนคนไทยก็มักเปรียบเปรยคนที่บ้านว่าเป็นน้ำพริกถ้วยเก่า ส่วนชู้รัก หรือเฝอ สำหรับอาหารไทยยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นอาหารชนิดใด
 

อุโมงค์มหัศจรรย์ที่กู๋จิ

 (คลิกดูภาพใหญ่)       หากจะมีใครถามว่า พื้นที่ตรงไหนในเวียดนาม ที่โดนเครื่องบินอเมริกาทิ้งระเบิดหนักที่สุด ในสงครามเวียดนาม
      คนเวียดนามจำนวนมากที่เคยสู้รบกับทหารอเมริกันเมื่อสามสิบปีก่อนทราบดีว่า พื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นดินแดนแห่งสวนผลไม้ และสวนยาง เป็นดินแดนบ้านนาอันสงบสุข ของชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่เรียกรวมกันว่า กู๋จิ อยู่ห่างจากกรุงโฮจิมินท์ซิตี้ หรือไซง่อน ระยะทางเพียง ๗๐ กิโลเมตร
      เมื่อสามสิบปีก่อนชาวบ้านยากจนแถบนี้ ได้เคยทำสงครามยืนหยัดต่อสู้กับทหารอเมริกันอย่างทรหด จนฝ่ายที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อันเหนือกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ไม่สามารถเอาชนะต้องพ่ายแพ้กลับไป
      ยุทธวิธีสำคัญที่ทำให้ชาวกู๋จิยืนหยัดมาได้จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก คืออุโมงค์ใต้ดินที่ขุดเชื่อมต่อกันเป็นโยงใย โดยชาวบ้านใช้เพียงจอบ เสียมค่อย ๆ ขุดดินและนำใส่ตะกร้าออกมาทิ้งข้างนอก ไม่ให้คนเห็น จนทำให้พื้นที่กู๋จิที่มีขนาดประมาณแสนไร่ สามารถขุดอุโมงค์ใต้ดินติดต่อกันได้เป็นระยะทางยาวถึง ๒๕๐ กิโลเมตร
      เมื่อเราเดินทางมาถึงกู๋จิ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเวียดนาม สิ่งแรกที่ได้พบคือ การฉายวิดีโอ เล่าถึงประวัติการต่อสู้อย่างดุเดือดของชาวกู๋จิ และรอบที่ฉายครั้งนี้ ไกด์ในชุดเครื่องแบบทหารเวียดกงในอดีต ได้หยิบวิดีโอพากย์ไทยเสียงชัดเจนมาฉายให้ดู นับว่าทางการเวียดนามให้ความสำคัญกับภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากทีเดียว 
      เราพบว่าคนเวียดนามที่อ่าน เขียน พูดภาษาไทยได้แตกฉานแบบคุณเพ็ญ มีหลายคนทีเดียว อาทิคุณฝน ล่ามสาวของเราในโฮจิมินท์ซิตี้ อายุเพียง ๒๖ ปี แต่ก็ใช้ภาษาไทยได้ชัดเจนมาก แม้จะเรียนภาษาไทยเพียง ๓ ปี ในมหาวิทยาลัย และเวียดนามยังมีผู้เชี่ยวชาญภาษาลาว เขมร พม่า มาเลเซีย อยู่อีกจำนวนมาก ขณะที่มองย้อนกลับมาบ้านเรา แทบจะไม่มีคนไทยสักคนที่พูดภาษาเวียดนามได้ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านมากน้อยเพียงใด
 (คลิกดูภาพใหญ่)       หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ เกิดสงครามระหว่างขบวนการกู้ชาติเวียดนามกับฝรั่งเศส ฝ่ายเวียดนามได้ใช้ยุทธวิธีขุดอุโมงค์ใต้ดิน เป็นสถานที่ปิดลับ มีการขุดอุโมงค์เป็นโครงข่ายโยงใยใต้ดินเป็นระยะทางยาว อุโมงค์ใต้ดินบางเส้นทางทอดยาวลึกเข้าไปในดินแดนของศัตรู เพื่อให้ทหารฝ่ายปฏิวัติขึ้นจากอุโมงค์มาทำลายศัตรูในเวลากลางคืน และหายลับลงไปในใต้ดิน โดยที่ฝ่ายศัตรูไม่มีทางหาเจอได้เลย 
      กู๋จิเป็นอุโมงค์เล็ก ๆที่สร้างขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๔๘ เพื่อเป็นสถานที่หลบซ่อนของนักรบฝ่ายกู้ชาติ และเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อฝ่ายกู้ชาติที่สมรภูมิเดียนเบียนฟู ชาวเวียดนามคิดว่าสงครามเพื่อกู้เอกราช ที่ยืดเยื้อมานานจะสงบเสียที แต่ฝ่ายอเมริกันกลัวว่าเวียดนาม จะกลายเป็นประเทศสังคมนิยม จึงส่งทหารเข้ามาแทรกแซง จนทำให้เกิดการแบ่งออกเป็นสองประเทศตามเส้นขนานที่ ๑๗ คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นที่นิยมอเมริกาขึ้นในเวียดนามใต้ พร้อมส่งทหารอเมริกันห้าแสนคน เข้ามารบกับขบวนการปลดปล่อยเวียดนามใต้ หรือฝ่ายเวียดกง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามเหนือ จนกลายเป็นสงครามเวียดนาม อุโมงค์กู๋จิจึงเริ่มมีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะกองบัญชาการใต้ดินของฝ่ายเวียดกง ที่อยู่ใกล้กรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของฝ่ายเวียดนามใต้มากที่สุด ระยะทางเพียงแค่กรุงเทพ-ชลบุรี
      ไกด์ในชุดทหารพาเราเดินลึกเข้าไปในป่ายูคาลิปตัส ป่ารุ่นสองที่ปลูกได้ไม่นาน เพื่อทดแทนป่าที่ถูกเครื่องบินอเมริกาโปรยฝนเหลืองจนป่าโกร๋นยืนตายหมด ข้างทางแห่งหนึ่งเป็นพื้นดินคลุมด้วยเศษใบไม้ ไกด์เอาเท้าเกลี่ยดินออก เราเห็นฝาไม้สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก พอเปิดฝาออกคือปากหลุมขนาดผู้ชายตัวเล็กสามารถรอดลงไปได้ 
      "นี่คือปากหลุมอุโมงค์ที่ทอดตัวยาวคดเคี้ยวอยู่ภายใน บริเวณรอบ ๆในอดีตจะมีหลุมขวาก กับระเบิด ป้องกันไม่ให้ศัตรูบุกรุกเข้ามาถึงปากอุโมงค์ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๐ เซ็นติเมตร ทุกคนต้องคลานอย่างเดียว แต่ปัจจุบันปากหลุมมีขนาดกว้างขึ้นประมาณ ๑ เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถรอดลงไปได้" ไกด์กล่าวพลางเชื้อเชิญพวกเรามุดลงไปเป็นทหารเวียดกง แต่หลายคนที่มีรูปร่างใหญ่และไม่ชินกับทางเดินที่คับแคบและมืดสลัวส่ายหน้าทันที
      เรามุดลงไปตามทางแคบ ๆ มีหลอดไฟสลัว ๆพอมองเห็นทาง ในอดีตบรรดานักรบมีเพียงแสงจากเทียนไขส่องทางอย่างเดียว บางครั้งต้องดับไฟในที่อากาศไม่เพียงพอ อุโมงค์ใต้ดินคดเคี้ยวไปมา ตามทางมีห้องสำคัญหลายห้อง อาทิห้องเก็บอาวุธ ห้องพยาบาล ห้องผ่าตัด ห้องประชุม ห้องครัว ไปจนถึงห้องฉายภาพยนตร์
      อุโมงค์ใต้ดินมีความลึกถึงสามชั้น มีความแข็งแกร่งพอจะป้องกันภัยจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน หรือปืนใหญ่ หากบริเวณใดถูกถล่มเสียหายหนัก ชาวกู๋จิจะอพยพลงมาชั้นถัดไป จนเมื่อการโจมตีรุนแรงมากขึ้น อุโมงค์บางตอนจะพังทลาย ทั้งหมดจะหนีออกไปตามทางเดินฉุกเฉินที่ลัดเลาะออกไปสู่แม่น้ำ และทางเดินบางแห่งยังมีแนวป้องกันคอยสกัดไม่ให้ควันจากอาวุธเคมีของฝ่ายศัตรูเล็ดรอดเข้ามาได้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "คนสมัยนั้นฉลาดในการกลบเกลื่อนร่องรอยไม่ให้ศัตรูพบเห็น อาทิท่ออากาศจำนวนมากที่ต่อจากใต้ดินขึ้นมาเหนือดิน จะกระจายอยู่ในป่ากลมกลืนไปกับกิ่งไม้ ใบไม้ หรือควันอันเกิดจากการหุงข้าว จะมีการต่อท่อระบายอากาศให้ออกมาตามริมน้ำ เวลาฝ่ายศัตรูพบเห็น ก็จะนึกว่าเป็นหมอกที่ลอยตามริมแม่น้ำ " ไกด์เล่าให้เราฟัง
      ครั้งหนึ่งทหารอเมริกันส่งหมาดมกลิ่นสามพันตัว เพื่อมาหาปากหลุม พวกเวียดกงใช้เศษผ้า พรมน้ำหอมที่ตกทอดมาจากฝรั่งเศสนำมาทิ้งในป่า หลอกล่อหมาเหล่านี้จนสับสนกลิ่น และยังใช้พริกไทยกับพริกทุกชนิดที่หาได้ มาโปรยในป่า จนทำให้หมาเกิดอาการจามตลอด สุดท้ายต้องล้มเหลวกลับไป
      "่บางครั้งเมื่อทหารอเมริกันจับพวกเวียดกงได้ และนำมาทรมานให้บอกที่ซ่อน สายของเวียดกงในเมืองจะพยายามเข้ามาลอบฆ่าพวกตัวเองให้ได้ เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดกับพลพรรคในใต้ดิน ตามหลักที่จำต้องฆ่าสหายหนึ่งคน เพื่อรักษาชีวิตสหายอีกร้อยคน" ไกด์อธิบายให้ฟังระหว่างพาเราเดินลอดใต้อุโมงค์
      ในเดือนมกราคม ๑๙๖๖ ทหารอเมริกัน ๑๒,๐๐๐ นาย ภายใต้การสนับสนุนของรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบินทิ้งระเบิด พยายามทำลายอุโมงค์โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำระบายลงสู่กู๋จิ หวังจะทำให้ฝ่ายเวียดกงที่อยู่ในอุโมงค์จมน้ำตายให้หมด แต่ล้มเหลวเนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอที่จะท่วมอุโมงค์ ในขณะที่ทหารอเมริกันบาดเจ็บล้มตาย ๑,๖๐๐ คน รถถัง ๗๗ คันถูกทำลายและเครื่องบิน ๘๔ ลำถูกยิงตก ด้วยฝีมือการรบแบบกองโจรของทหารชาวกู๋จิ
      ปีรุ่งขึ้น ทหารอเมริกันประกาศล้างความอับอาย ด้วยการเปิดยุทธการ "ปอกเปลือกผิวโลก" ส่งทหาร ๓๐,๐๐๐ คน พร้อมรถถัง ปืนใหญ่เข้าสู่สมรภูมิกู๋จิ ด้วยการใช้เครื่องบินบี-52 ทิ้งระเบิดนาปาล์มปูพรมแทบทุกตารางนิ้ว เผาไร่นาและป่าในบริเวณกู๋จิจนวอดสิ้น ส่งรถแทรกเตอร์เข้าตัดต้นไม้จนเหี้ยน และแบ่งทหารเป็นกลุ่มย่อย ๆ เมื่อพบปากหลุมจะโยนระเบิดสังหาร ระเบิดควันพิษลงไป เพื่อทำลายหลุมอุโมงค์ให้สิ้นซาก
 (คลิกดูภาพใหญ่)       แต่ทหารอเมริกันประเมินความซับซ้อนคดเคี้ยวของอุโมงค์ต่ำเกินจริง อุโมงค์ใต้ดินระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรที่ถูกทำลาย แต่อุโมงค์ใต้ดินสองร้อยกว่ากิโลเมตรยังใช้การได้ และยังถูกนักรบกองโจรบุกเข้ามาโจมตีในเวลากลางคืน และมุดหายไป จนทำให้ทหารอเมริกัน ๓,๕๐๐ นายต้องจบชีวิตลงที่กู๋จิ นายพลอเมริกันคนหนึ่งยอมรับว่า "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายระบบอุโมงค์แห่งนี้ เพราะไม่เพียงแต่มีความลึกเท่านั้น แต่ยังซับซ้อนเกินไป และการหาปากหลุมเพื่อทำลายยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก"
      เราเดินผ่านห้องประชุมแห่งหนึ่ง มีรูปลุงโฮติดอยู่บนผนัง ไกด์บอกว่าห้องแห่งนี้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของบรรดานายทหารเวียดกง ที่คอยวางแผนรับมือกับทหารอเมริกันตลอดสงครามที่ดำเนินมาสิบกว่าปี สามารถทำลายข้าศึกได้ ๒๐,๐๐๐ คน รถถัง ๕,๐๐๐ กว่าคัน และเครื่องบินรบทุกชนิด ๒๕๖ เครื่อง และแน่นอนว่าฝ่ายเวียดกง ก็สูญเสียกำลังไปในจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน หรือบางทีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ 
      นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า " ผมสงสัยมาหลายสิบปีแล้วว่าทำไมชาวเวียดนามจึงยืนหยัดต่อสู้กับทหารอเมริกันได้ ทำไมประเทศที่ติดอันดับความยากจนจึงเอาชนะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกได้ แต่เมื่อผมมุดลงไปในอุโมงค์แคบ ๆ ผมพบคำตอบแล้ว" 
      ขากลับเราเดินผ่านซากรถถังอเมริกันที่ถูกกับระเบิดจนสายพานลำเลียงขาดออกจากกัน เป็นอนุสรณ์เตือนความจำให้กับนักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามครั้งนี้ ร่วมกับฝรั่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่พากันมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 
      ไกด์บอกเราว่า ฝรั่งจำนวนมากที่มาเยือนกู๋จิ หลายคนเป็นทหารผ่านศึกอเมริกัน ที่เคยมารบในเวียดนาม แต่ไม่มีคนใดยอมบอกว่า เป็นคนอเมริกัน
      เหตุผลง่าย ๆ คือ อับอาย สงครามเวียดนามเป็นร่อยด่างในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ที่ยักษ์ใหญ่อย่างพวกเขาไม่เคยรบชนะคนเวียดนามตัวเล็ก ๆ ได้สำเร็จ แถมยังพ่ายแพ้กลับมาอย่างย่อยยับ
 

ลาก่อนโฮจิมินห์ซิตี้

 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ในเวียดนาม เราแบ่งคนเป็นสามรุ่น รุ่นแรกคือรุ่น ๑๙๔๕ เป็นคนรุ่นที่เวียดนามประกาศเอกราชหลุดพ้นจากฝรั่งเศส รุ่นสองคือรุ่น ๑๙๗๕ เป็นคนในรุ่นสงครามเวียดนาม สุดท้ายคือคนรุ่นใหม่ คือรุ่น ๒๐๐๐ หรือคนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยมีอุดมการณ์สังคมนิยมเคร่งครัดเหมือนกันรุ่นก่อน ๆ ฝนก็เป็นคนรุ่นนี้ด้วย " 
      คุณฝน ล่ามสาวผู้มีพ่อแม่เป็นเวียดกงรุ่น ๑๙๗๕ อธิบายให้เราฟังระหว่างนั่งรถจากกู๋จิกลับเข้าสู่กรุงโฮจิมินท์ซิตี้ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคนเวียดนามโพ้นทะเล ที่เคยอพยพหนีคอมมิวนิสต์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ได้ทยอยกลับมาลงทุนทำธุรกิจในเวียดนามมาก คนเหล่านี้จัดเป็นคนรุ่น ๒๐๐๐ เช่นกัน
      ตามท้องถนนที่ผ่านมาตลอดการเดินทางจากเหนือจรดใต้ เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงนกร้องเลย ไม่ว่าในชนบท หรือในเมือง คุณฝนเองก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุเพราะถูกคนล่านกไปกินหมดหรือไม่ แต่ยอมรับว่ายาดองที่ชาวเวียดนามนิยมมากที่สุด คือ งูดองเหล้า ร้านขายของส่วนใหญ่จะมีงูนานาชนิด ไม่ว่างูเห่า งูจงอาง ฯลฯ ที่ถูกจับจากท้องนามาดองเหล้า ใส่ขวดโหลคอยบริการลูกค้า ที่เชื่อว่าเป็นยาโป๊วชั้นดี เรียกได้ว่าเป็นไวอากร้าของคนเวียดนามเลยทีเดียว 
      งูในท้องนาแทบจะสูญพันธุ์ไปหมด เช่นเดียวกับชะตากรรมของหมาในเวียดนาม คุณฝนอธิบายเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำให้ฟังว่า
      " พี่ไม่ต้องเสียเวลามองหาหมาในเวียดนามหรอกค่ะ ถูกจับกินเป็นประจำ หมาของฝนสี่ตัวที่เลี้ยงไว้ในบ้านยังถูกขโมยไปขายที่โรงฆ่าสัตว์ 
      ตัวสุดท้ายพอฝนรู้ว่าถูกขโมย จึงรีบไปที่โรงฆ่าสัตว์ ปรากฏว่าเพิ่งถูกตัดคอไป"
      แม้คนเวียดนามอาจจะไม่ค่อยใส่ใจในการอนุรักษ์สัตว์ แต่สำหรับการเกษตรแล้ว คนเวียดนามไม่เคยหยุดนิ่งที่จะปลูกพืชลงดินเลย สภาพสองข้างทางตามท้องถนนแน่นไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี และตามทางเดินบนคันนา เราเห็นชาวนาเวียตนามกำลังเก็บพืชผักที่ปลูกแซมไว้ สภาพเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ คนเวียดนามไม่เคยปล่อยให้พื้นดินรกร้าง ความยากจนในอดีตสอนให้คนเวียดนามปลูกพืชผักทุกอย่างลงบนผืนดิน เพื่อปากท้องของตัวเองและครอบครัว
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ภายหลังจากที่โฮจิมินห์ประกาศเอกราช ปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในปีค.ศ. ๑๙๔๕ ลุงโฮได้ให้ความสำคัญกับการสร้างชาติสองประการ คือ การสร้างระบบชลประทานทั่วประเทศ วิดน้ำจากคูคลองเข้านา ขุดสระน้ำเลี้ยงปลา เพื่อให้ชาวไร่ชาวนาสามารถปลูกข้าว และเลี้ยงปากท้องของคนเวียดนามให้ได้ 
      คนเวียดนามมักไม่ค่อยปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อย ๆเฉื่อย ๆ พวกเขาจะหาอะไรทำตลอดเวลา ชีวิตที่ยากลำบาก ยากจนขนาดกินมันต่างข้าวในสมัยสงคราม ทำให้คนเหล่านี้ถูกหล่อหลอมให้อดทนและทำงานหนัก
      เมื่อหลายปีก่อนเวียดนามประสบปัญหา ผลิตข้าวไม่พอบริโภคภายในประเทศ ต้องซื้อจากไทย แต่ปัจจุบันเวียดนามสามารถทำนาได้ปีละ ๓ ครั้ง และเป็นประเทศส่งข้าวเป็นสินค้าขาออกอันดับสองของโลก รองจากไทย
      ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือการศึกษา ลุงโฮให้ความสำคัญกับการศึกษามาก แม้ประเทศจะยากจนอย่างไร แต่นักเรียนทุกคนไปโรงเรียนฟรี ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และ บังคับให้นักเรียนในชนบทต้องเรียนจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในขณะที่การศึกษาภาคบังคับของนักเรียนในเมืองคือชั้นมัธยมตอนปลาย และการศึกษาระดับอุดมศึกษามีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกระจายอยู่ทั่วประเทศมากถึง ๒๐๐ แห่ง
      "ตอนเป็นนักเรียนและนักศึกษา เวลาปิดภาคเรียนฝนต้องออกไปทำงานใช้ชีวิตกับชาวนาในชนบทด้วย" คุณฝนเล่าให้ฟังถึงวิธีการที่รัฐบาลเวียดนาม พยายามสอดแทรกให้เด็กนักเรียนมีจิตใจเสียสละให้แก่สังคม 
      เมื่อปี ๒๐๐๐ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศความสำเร็จว่า คนเวียดนาม ๙๙ % สามารถอ่านออกเขียนได้ และการแข่งขันคณิตศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิกหลายครั้ง เด็กเวียดนามคว้ารางวัลเหรียญทองมาคล้องคอมากมาย ปัจจุบันเวียดนามมีนักคณิตศาสตร์เก่ง ๆ จำนวนมาก ปีที่ผ่านมาอาจารย์คณิตศาสตร์จากเวียดนาม ได้รับเชิญให้มาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 
      ยิ่งใกล้ตัวเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เสียงแตรรถยิ่งดังถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีรถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้า ปาดหลังรถยนต์ที่เรานั่งตลอดเวลา แต่ดูเหมือนไม่มีคนหงุดหงิดหรือใส่ใจกับเสียงบีบแตร หรือการขับรถมอเตอร์ไซค์ของคนประเทศนี้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "สมัยก่อนประเทศนี้มีแต่ความตายของสงคราม พวกเราเจอเรื่องที่โหดร้ายมามากมาย เรื่องจราจรแค่นี้จิบจ๊อย ไม่มีใครซีเรียสหรอกค่ะ เราเพิ่งผ่านสงครามมาได้ไม่ถึงสามสิบปี " คุณฝนอธิบายให้ฟังแข่งกับเสียงแตรรถที่บีบกันดังลั่นทั้ง ๆที่รถยนต์ก็ไม่สามารถขยับไปไหนได้ด้วยสภาพการจราจรที่เป็นอัมพาต จนเธอพูดติดตลกว่า เมืองแห่งนี้จำกัดความเร็วของรถยนต์ไว้ที่ ๒๕๐ กม./อาทิตย์
      พอเข้ามาในกรุงโฮจิมินห์ซิตี้ เรามีเวลาอีกหลายชั่วโมงก่อนจะขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย รถจึงมาจอดหน้าภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง ให้คณะของเราได้ทานอาหารมื้อสุดท้าย บนดินแดนที่เต็มไปด้วยเหยื่อของสงครามที่บาดเจ็บ และล้มตายไปหลายสิบล้านคน ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามกับจีน สงครามกับฝรั่งเศสและสงครามกับสหรัฐอเมริกา 
      พอทานอาหารมื้อเที่ยงได้ไม่นาน ผมเองก็ตกเป็นเหยื่อในเมืองกรุงแห่งนี้ เมื่อโจรคนหนึ่งกระชากกล้องถ่ายรูปนิคอนไปจากมือ ต่อหน้าผู้คนบนถนนนับสิบคน
      คุณฝนรีบมาแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับ ตำรวจพร้อมกับแจ้งทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ของคนร้ายที่คนแถวนั้นจำได้ 
      แม้ว่าเธอทราบดีว่า โอกาสจับคนร้ายได้แทบจะเป็นไปไม่ได้ 
      อันเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวตามเมืองใหญ่ ๆทั่วโลก
      ตั๋มเบี้ยด (ลาก่อน) เวียดนาม